วิถีชาวอโศก ()
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
' สมณะโพธิรักษ์

คราวที่แล้ว ได้พูดถึง"การเมืองทุนนิยม"และ"การเมืองบุญนิยม" และได้อ้างประเด็นเปรียบเทียบ เพื่อให้เห็นชัดเจนขึ้น ระหว่างความเป็น "ทุนนิยม" กับ "บุญนิยม" มากมายหลายนัย ทว่ามีคำที่พิมพ์ผิด ระหว่างคำว่า "บุญ" กับ "ทุน" สับกันอยู่หลายแห่ง ซึ่ง ๒ คำนี้ ถ้าขืนพิมพ์ผิด จากต้นฉบับ สับคำกันเสีย เช่น ต้นฉบับคือ "บุญนิยม" แต่พิมพ์ผิดไปเป็น "ทุนนิยม" เป็นต้น ก็แน่นอนว่า ผู้อ่านต้องไม่เข้าใจ หรือเข้าใจผิดไปได้ แต่สำหรับบางท่าน ก็คงจะเดาเอา ด้วยปฏิภาณปัญญา พอเข้าใจได ้และรู้เหตุว่า มาจากการพิมพ์ผิด หลายคราที่การพิมพ์บกพร่อง บางครั้งพิมพ์ตกไป เป็นประโยคๆ ก็เคยมี อาตมาได้ขอความกรุณา ทางเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ ให้ดูแลกวดขัน ในการพิมพ์ไปแล้ว ก็ต้องขออภัยท่านผู้อ่าน เป็นอย่างมาก

พูดถึงการเมืองประชาธิปไตยปัจจุบันนี้ ที่เกิดที่เป็นอยู่จริงทั่วโลก หากอ่านจากอดีต มาถึงวันนี้ ก็จะเห็นว่า ระบบการเมือง ได้วิวัฒนาการ (หรือหายนะ) มาอย่างมีเชิง ซับซ้อนซ่อนแฝง ด้วยความสุดเฉลียวฉลาดของคน โดยเจตนา สร้างภาพ ให้ประชาชนเห็น และเชื่อถือว่า "ดี" แต่ความจริงนั้น "เลวร้ายรุนแรง" ฝังลึกไปด้วยความโลภ และ อาฆาตแก้แค้น ซึ่งแต่ละคน แต่ละกลุ่มอำนาจ ต่างก็พยายามพัฒนา ภาพลักษณ์ของตนๆ ให้ดูดีขึ้นไปเรื่อยๆ จึงได้แปรตัว เป็นภาพใหม่ กระบวนทัศน์ใหม่ มาตลอดสาย ของวินาทีแห่งกาล ถึงวันนี้ แต่ละประเทศ ที่ปกครองด้วย ระบอบประชาธิปไตย ต่างก็มี "ความเป็น" ของตนๆ อันตั้งอยู่บนนามเดียวกัน คือ "ประชาธิปไตย" ทว่าหลากหลายรูปลักษณ์ เพราะต่างคนต่างเป็น

อย่างไรก็ตาม ประชาธิปไตยทั้งหลายเหล่านั้นแทบร้อยทั้งร้อย ต่างก็ล้วนตกอยู่ภายใต้ ความเป็น "ทุนนิยม" ทั้งสิ้น ไม่ละเว้น แม้แต่จีนแดง ในวันนี้ เพราะความเป็นสังคม ของแต่ละกลุ่มคนเหล่านั้น มี"แนวคิดและวิถีชีวิต" ดำเนินอยู่ในวังวนของ "โลกียะ" หรืออยู่ในกรอบของ "โลกธรรม" ซึ่งก็มี..ผู้พากเพียร จะไม่เป็นทาส "โลกธรรม" บ้างเหมือนกัน แต่ถ้าไม่มี "สัมมาทิฏฐิ" ย่อมไม่สามารถเข้าถึงขั้น โลกุตระ ดังนั้น ผู้สามารถลดละ ความเป็นทาส "โลกธรรม" จึงลดละได้บ้างเท่านั้น และ แม้จะละ ได้เก่ง จะลดได้มากมายอย่างไร ก็ได้แค่แบบ "โลกียะ" ยังไม่ใช่แบบ "โลกุตระ"

ผู้ลดละความเป็นทาสในแบบ"โลกียะ"ได้ เรียกว่า "กัลยาณบุคคล"ซึ่งยังไม่ใช่"อาริยบุคคล" เพราะไม่มี "วิชชา ๙" ที่สามารถ รู้เท่าทัน กิเลส ตัณหา อุปาทาน อย่างถูกตัว ถูกตน (ถูกอัตตา) จึงไม่สามารถลดล้างละกิเลส ชนิดรู้เห็น "ตัวตนของกิเลส" ด้วยวิปัสสนาญาณ หรือญาณทัสสนะว่า มีอยู่ขนาดหยาบ (วีติกกมกิเลส) ก็รู้ว่ามีอยู่ ขนาดหยาบ มีปานกลาง (ปริยุฏฐานกิเลส) ก็รู้ว่ามีปานกลาง เหลืออยู่ขั้นละเอียด (อนุสัยกิเลส) ก็รู้ว่ามีอยู่ ขนาดละเอียด และ ไม่สามารถลด ละ"รสโลกีย์ที่สุขๆทุกข์ๆ" (อัสสาทะ) อันเกี่ยวข้องกับลาภ, ยศ, สรรเสริญ, โลกียสุข ได้ถูก "ตัวตนของรสโลกีย์" (ถูกอัตตา) นั้นๆ อย่างไม่ผิดพลาดตัวตนจริงๆ "ตัวตนจริงๆที่แท้จริงที่สุด" นี้แหละ ที่พุทธศาสนา สอนให้จับตัวตน ของมันให้ได้ หากผู้ใด มีภูมิขั้นโลกุตระ มีญาณทัสสนะ หรือวิชชาขั้น "ปรมัตถ์" ก็จะสามารถรู้แจ้งเห็นจริง และกำจัดมันได้ ถูกตัวถูกตน

แต่ถ้าไม่มีสัมมาทิฏฐิดังกล่าวนี้ ก็ก้าวขึ้นสู่ภูมิ"อาริยบุคคล"ไม่ได้ เมื่อไม่ใช่"อาริยบุคคล" ที่เป็นโลกุตระ ก็ทำงานการเมืองแบบ "บุญนิยม" ด้วยจิตใจที่มี "พลังอันเกิดจากวิมุติ" ไม่ได้ ดังนั้น หลักประกันตามสัจจะ ที่กิเลสได้ถูกทำลายลงไป ชนิดถูกตัว ถูกตนจริง ก็ไม่มี ความมั่นคง อย่างยั่งยืน ชนิดที่ "กิเลสไม่กลับกำเริบ" (อกุปปะ) ก็ไม่มี จึงไม่สามารถ รับประกันได้ว่า หากถูก "ลาภ,ยศ,สรรเสริญ,โลกียสุข" ที่มีฤทธิ์ มีปริมาณมากๆ สูงๆ ยั่วยวน ก็อาจจะทำให้กิเลส กำเริบได้ เพราะกิเลส ไม่ได้ถูกกำจัดอย่าง "ถูกตัวถูกตน" จริง (กำจัดถูกอัตตา) กระทั่ง "จิตเกิดเป็นอาริยบุคคล" แท้ (โอปปาติกโยนิ)

ผู้เป็น "อาริยบุคคล" คือ ผู้ที่ได้ลดละ หรือได้หลุดพ้นออกจากกรอบ ของค่านิยมสามัญ อันปุถุชนทั้งหลาย เป็นอยู่กับ "ทุกข์สุข ซึ่งเนื่องมาแต่ลาภ, ยศ, สรรเสริญ, โลกียสุข" ตามฐานานุฐานะ เช่น โสดาบัน ก็มีภูมิที่ได้ลดละ จนหลุดพ้น มาขั้นหนึ่ง ตามฐานะ สกิทาคามี ก็มีภูมิสูงขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง ตามฐานะ อนาคามี ก็มีภูมิสูงขึ้นไปกว่า สกิทาคามี และอรหันต์ ก็สูงขึ้นไป ยิ่งกว่าทั้ง ๓ ฐานะนั้น ดังนี้

อาริยบุคคลจะมี "วิถีชีวิตใหม่" แปลกเปลี่ยนไปเป็นความเห็นใหม่, แนวคิดใหม่ ซึ่งเป็นความเห็นดีเห็นงามใน "การลดละ" รสโลกีย์ที่สุขๆทุกข์ๆ" (อัสสาทะ) หรือลดละ ความเป็นทาสลาภ, ยศ, สรรเสริญ, โลกียสุข" เมื่อปฏิบัติถูกต้องเป็นสัมมา กระทั่งบรรลุมรรคผลจริง คนเหล่านั้น จึงทำงานการเมือง ที่เป็นประชาธิปไตยแบบ "บุญนิยม" ได้จริง ตามฐานะ และ ตามสมรรถนะ ของแต่ละท่าน เพราะท่านมี "สุขวิเศษ" (วูปสมสุข) ที่ต่างจาก "สุขสามัญทั่วไปของโลกีย์" (สุขัลลิกะ) และท่านเห็นจริงใน "ความดีเลิศแบบโลกุตระ" (อาริยะ) ว่า ต่างจาก "ความดีเลิศแบบโลกีย์" (กัลยาณะ) ด้วย "ญาณอาริยะ" (โลกุตรปัญญา) หรือด้วย "ดวงตาแห่งธรรม" (ธรรมจักษุ) ชื่อว่า เป็นผู้มี "โลกุตรจิต"

เพราะฉะนั้น การเมืองแบบ"โลกุตระ" หรือการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยแบบ"บุญนิยม" จึงเป็นการเมืองที่ มั่นใจได้ว่า เป็นประโยชน์ต่อ มวลมนุษยชาติ (พหุชนหิตายะ) แน่ ก่อสุขให้มวลมนุษยชาติ (พหุชนสุขายะ)แท้ และ เป็นการเมือง ที่ช่วยเหลือ อุ้มชูกู้โลก (โลกานุกัมปายะ) ได้จริงๆ

เพราะการเมือง"บุญนิยม"ประกอบไปด้วยคนที่..มีทั้งคุณธรรม เป็นสมบัติประจำตัว และสมบัติที่ว่านี้ เป็นคุณธรรมถึงระดับ "โลกุตรธรรม" กันทีเดียว

..มีทั้งอำนาจในตนที่สามารถ"อยู่เหนือโลกีย์"อันได้แก่ ลาภ,ยศ,สรรเสริญ,โลกียสุข และอำนาจนี้ เป็นอำนาจที่ชื่อว่า "พลังแห่งวิมุติ" อีกด้วย

..มีทั้ง"ความมั่นคงยั่งยืนถาวร ไม่กลับกลอก"เป็นหลักประกัน เพราะได้ฆ่ากิเลสถูกตัวตนของมัน จนตายไปจริง ชนิดที่ถูกตัวมัน อย่างแม่นมั่น

..มีทั้งความรู้ความสามารถในเรื่องของโลกที่เป็นที่มีจริง (โลกวิทู) เพราะอาริยบุคคล ของของพระพุทธเจ้านั้น คือ ผู้ปฏิบัติชนิด ต้องรู้จัก "โลกีย์" หรือ "โลกธรรม" นั้นๆ ว่า มันก่อให้เกิดกิเลสอย่างไร จึงจะปฏิบัติได้ถึงขั้น ไม่ต้องสุขทุกข์ เพราะเหตุแห่ง "โลกีย์หรือโลกธรรม" นั้น ได้จริง

การเมือง"บุญนิยม"หรือเศรษฐศาสตร์"บุญนิยม" จึงเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ (พหุชนหิตายะ) แท้จริง

ขอให้เรียนรู้พุทธศาสนาให้เป็นสัมมาทิฏฐิเถิด และพากเพียรปฏิบัติอย่างเอาจริงเอาจังกัน ให้เกิดมรรคเกิดผลจริง ให้ได้ สภาพจริง ดังกล่าว จะอุบัติขึ้นมา แน่ยิ่งกว่าแน่ แต่ต้องใช้เวลา อุตสาหะกันหน่อย ทว่าแท้จริงถาวร


อ่านต่อ วิถีชาวอโศก ตอน ๑๐