วิถีชาวอโศก (๑๐)
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
' สมณะโพธิรักษ์

จำเดิมแต่"ชาวอโศก"อุบัติ แล้วมีวิถีชีวิตดำเนินมาถึงวันนี้ ก็ได้ก่อให้เกิดทั้งกิจกรรม เกิดทั้งพิธีกรรม เกิดทั้งพฤติกรรม แบบอโศกขึ้น อันเนื่องมาจากทิฏฐิ มโนทัศน์ เจตจำนง รวมทั้งวิสัยทัศน์ ของชาวอโศกทั้งหลาย และตลอดสาย แห่งวิวัฒนาการ "ความเป็นชาวอโศก" ล้วนเกิดจากคติความเชื่อที่มุ่ง "บุญ" เป็นที่ตั้ง หรือ ดำเนินตามกรอบของ "บุญนิยม" นั่นเองมาตลอด

ดังนั้น รูปธรรมก็ดี นามธรรมก็ดี ที่ก่อให้เกิดกิจกรรม เกิดพิธีกรรม เกิดพฤติกรรม และที่สำคัญถึงขั้น เกิดวัฒนธรรมก็ตาม กลายเป็น "การเปลี่ยนแปลงใหม่" (นวัตกรรม=innovation) อันประกอบกันเข้าเป็น "กลุ่มมนุษย์หรือสังคมอีกแบบหนึ่ง" ซึ่งแปลกไปจากสังคมสามัญ ยุคนี้อย่างยิ่ง เพราะมีลักษณะ แตกต่างจาก สังคมทุนนิยม หรือ สังคมโลกีย์ทั่วไป คนละขั้ว ราวกับมนุษย์ คนละโลก

และแล้วชาวอโศกก็ได้รับการกล่าวตู่ว่า เป็นพวก"สุดโต่งหรือสุดขั้ว" (extreme) เพราะดูมันช่างค้านแย้ง ช่างกลับตาลปัตร หรือ ช่างทวนกระแส กับชาวโลกสามัญ เขาเป็นเขามีกันไปอีกขั้วหนึ่ง อย่างสุดๆเหลือเกิน

ซึ่งความเข้าใจเช่นว่านั้น ก็ถูกต้องในความผิวเผิน หรือถูกต้องอย่างตื้นเขิน แต่ผิดสิ้นเชิงในสัจจะ เพราะ "ความสุดโต่ง" มีนัยสำคัญ ที่ลึกซึ้งยิ่ง

ที่จริงแล้ว.. ถูกต้องยิ่งกว่านั้นก็คือ "ยังสุดโต่งไม่พอต่างหาก" เราน่าจะสุดโต่งได้มากกว่านี้อีกนักกว่านัก เพราะพวกเรา ชาวอโศกเอง ต่างรู้กันดีว่า เรายัง "สุดโต่ง" ไปสู่จุด "อาริยะหรือบุญนิยม" ที่สูงที่สุด ยังไม่ได้สุดโต่ง ยังไม่ได้ไกล ยังไม่ได้เก่ง ยังไม่ได้ลึก ยังไม่ได้มาก หรือยังไม่ได้ดีเลิศกว่านี้ อยู่อีกหลากหลาย เราเป็น "อาริยะหรือบุญนิยม"ได้ ยังไม่สุด ไม่สูง ไม่ไกล ไม่โต่ง หรือเป็น "สังคมอาริยะ" ที่มีคุณภาพแห่งการเป็น "มนุษย์บุญนิยม" ได้ ยังไม่เท่าไหร่เลย

เพราะความเป็น "บุญนิยม" หรือเป็น "อาริยะ" ของพุทธนั้น สูงถึงขั้นอรหันต์กันทีเดียว แต่เราเป็นได้แค่โสดาบัน สกิทาคามี และ มีอนาคามี ก็ไม่มากนัก ส่วน "อรหัตผล" นั้นก็เพียงมีซ้อนอยู่ ในระดับต่างๆ ดังกล่าวมานั้นบ้าง เท่านั้น

ขออภัยเถิด หากจะถาม ชาวทุนนิยมบ้าง ว่า ตัวเองหรือชาวโลกีย์ทั้งหลาย ทั้งปวงนั่นแหละ จะรู้กันบ้างไหมว่า ณ ปัจจุบันนี้ ท่านยืนอยู่ตรงไหน จึงมองชาวอโศกว่า ยืนอยู่ตรงจุด "สุดโต่ง"

เมื่อมองชาวอโศกเป็น "ผู้สุดโต่ง" แล้วชาวทุนนิยม ได้มองตนเองหรือไม่ ว่า ชาวทุนนิยมได้วิวัฒนาการ (หรือหายนะ) ชาวทุนนิยม ได้ปรุงแต่ง ความเป็น"โลกีย์" ให้แก่ตนเอง จนเข้มข้น จัดจ้าน แล่นไปไกลแสนไกล ถึงจุดใด ไกลโต่งไปแค่ไหนแล้ว ไกลไปสู่จุดเข้มข้น จุดสูงโด่ง หรือจุดสุดไกลของโลกีย์ ที่จัดจ้าน จนกระทั่ง "สุดโต่ง" ไปเท่าไหร่ ชาวทุนนิยม ได้ตรวจ ความเป็นตนเอง บ้างหรือเปล่า?

ชาวอโศกได้ถอยลดลงมาจากจุดสุดโต่งของ"โลกีย์"ที่จัดจ้านดังว่านั้น เพื่อมาสู่จุดที่พระพุทธเจ้า ทรงชี้ทางให้ ด้วยพระ กรุณาธิคุณ พระองค์ตรัสว่า เป็นแดนอันเกษม เป็นทาง "บุญ" ที่ชื่อว่า "โลกุตระ" ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อ มวลมนุษยชาติ (พหุชนหิตายะ) เป็นสุขต่อมวลมนุษยชาติ (พหุชนสุขายะ) เป็นการช่วยเหลือ เกื้อกูล กอบกู้โลก (โลกานุกัมปายะ)

"ความเป็นโลกีย์ กับ ความเป็นโลกุตระ"นั้น มีเส้นแบ่งเขตอยู่จุดหนึ่ง เป็นจุดกลาง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้น หรือต่ำสุด ของทั้งโลกียะ และ โลกุตระ จากจุดกลางนี้ "โลกียะ" ก็มุ่งหรือโต่ง ไปทิศทางหนึ่ง ส่วน "โลกุตระ" ก็มุ่งหรือโต่งไปอีก ทิศทางหนึ่ง ซึ่งตรงกันข้ามกัน ความโต่ง หรือความสูงขึ้น มากขึ้น จึงวิ่งกันไปคนละทิศ

ถ้าจุดศูนย์กลางที่เป็นเส้นแบ่งเขต "ความเป็นโลกีย์ กับ ความเป็นโลกุตระ" อยู่ ณ จุดใด ชาวอโศกก็ข้ามเส้นตรงนั้น ไปสู่ด้าน "ความเป็นโลกุตระ" ได้เพียงนิดเดียว ยังไม่ไกล ยังไม่สูง ไม่โต่งอะไรเลย ซึ่งมุ่งทิศไปทางหนึ่ง ส่วนชาวทุนนิยม ข้ามเส้นตรงนั้น เช่นกัน แต่มุ่งทิศตรงกันข้าม กับชาวอโศก วิ่งไปสู่อีกด้านหนึ่งคือ "ความเป็นโลกียะ" ไกลโต่งสูงมาก จัดจ้าน ไกลแสนไกล แล้วชาวทุนนิยม ก็มองมายังชาวอโศกว่า ชาวอโศกช่างวิ่งไปสู่จุดต่ำ ไกลจากความโด่งเด่น ซึ่งเป็นโลกียะ ที่ชาวทุนนิยม ยืนอยู่ แสนสูงนั้นเหลือเกิน แล้วก็ทึกทักเอาว่า "ชาวอโศกช่างสุดโต่ง" ยิ่งนัก

ที่จริงชาวอโศกถอยลดจาก"ความเป็นโลกียะ"ลงมา และข้ามจุดกลาง หันทิศไปสู่ความเป็น "โลกุตระ" เป็น "คนบุญนิยม" ได้ก็เพียง นิดน้อยเท่านั้น ซึ่งยังไม่ได้มาก ได้ไกลเท่าไหร่เลย ก็ถูกชาวทุนนิยม กล่าวตู่ว่า "สุดโต่ง" ไปเสียแล้ว โดยชาวทุนนิยม ไม่มองตนบ้างว่า ตัวเองต่างหาก ที่ไม่ได้ลดความ "โต่ง" ของโลกีย์ ที่ตนพากันหลงติดอยู่ ลงมาให้ลดละ "การติดโลกียะ" แต่ยังคงหลงเห็นว่า ตน "ติดโลกียะ" หนักหน้าสูงขึ้นๆ เท่าใดๆก็ไม่ใช่ "ความสุดโต่ง" แม้จะจัดจ้าน ไปไกลสุดไกล จนไม่มี ที่สิ้นสุดก็ตาม ทุกจุดที่ถึงของชาวทุนนิยม ยังพร้อมจะรุดหน้า จะไม่ยอมลดรา วาศอกลงไป เป็นอันขาด

พอเห็นได้ไหมว่า "ความสุดโต่ง" ของชาวโลกียะ หรือชาวทุนนิยมนั้น ไม่เคยลดน้อยถอยลงมาเลย มีแต่ยิ่งโต่งจัดจ้าน หนักหน้าไป ไม่มีกำหนดหยุด "ความสุดโต่ง" ของโลกียะนั้น จะเกิดประโยชน์ที่ชื่อว่า "อุภยัตถะ" ไม่ได้

แต่"โลกุตระ"นั้น จะมีทั้ง"ประโยชน์ตน และมีทั้งประโยชน์ท่าน"ทั้ง ๒ ประโยชน์ในกรรมเดียวกัน ขณะเดียวกัน เรียกว่า "อุภยัตถะ" ประโยชน์ตน นั้นคือ "ตนลดโลภ, โกรธ, หลง" ได้มรรคผล สูงขึ้นไปเรื่อยๆ อย่างเป็นปรมัตถธรรมถูกต้อง ส่วนประโยชน์ท่าน ก็คือ ช่วยคนอื่นได้สำเร็จ ไม่ว่าช่วยด้วยการให้วัตถุ ให้แรงงาน หรือ ให้นามธรรม ที่เป็นกุศล ยิ่ง "สุดโต่ง ไปในทางโลกุตระ" มากเท่าใดๆ ก็จะเป็นประโยชน์ทั้งตน และท่านพร้อมกัน มากขึ้นเท่านั้นๆ

สำหรับ"โลกียะ"หรือปุถุชน จะเข้าใจกันก็แต่"ประโยชน์ท่าน"เท่าที่รู้ที่เห็นได้ เช่นว่า ช่วยคนอื่นได้สำเร็จ ไม่ว่าช่วยด้วยการให้วัตถุ ให้แรงงาน หรือให้นามธรรม ที่เป็นกุศล ส่วน "ประโยชน์ตน" แม้ผู้ทำกุศลเอง ก็จะไม่รู้ไม่เข้าใจกัน เป็นส่วนมาก กล่าวคือ ไม่มีปัญญารู้จักรู้แจ้งความจริง (อวิชชา) จะหลงเข้าใจผิด ด้วยซ้ำว่า สิ่งที่ตน ได้เปรียบมา นั่นคือ "ประโยชน์ตน" แต่ที่แท้ "เป็นโทษตนหรือเป็นความผิดบาปของตน" หาใช่ "ประโยชน์ตน" ไม่ หรือจะเข้าใจแต่เพียงว่า "ตนได้วัตถุ ตนได้ "ประโยชน์ตน" ซึ่งเป็นแค่ "ประโยชน์ทางโลกีย์" ยังไม่ใช่ "ประโยชน์ตนทางโลกุตระ" อันเป็นปรมัตถธรรมที่ "ตนได้ลดละกิเลส" ในขณะเดียว กับที่ตนได้ "ให้" หรือได้ "เป็นประโยชน์ท่าน" พร้อมกัน ในกรรมเดียวกัน ขณะเดียวกัน ที่ชื่อว่า "อุภยัตถะ" (ประโยชน์ทั้ง ๒ ฝ่าย)

ความเป็น "โลกีย์" กับความเป็น "โลกุตระ" ยังมีความลึกซึ้งอีกมาก ถ้าไม่ศึกษาดีๆ จะไม่สามารถรู้แจ้ง ความถูกต้อง และ ความแท้จริง ได้ง่ายๆเลย


อ่านต่อ วิถีชาวอโศก ตอน ๑๑