วิถีชาวอโศก (๑๒)
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
' สมณะโพธิรักษ์

คราวที่แล้วเราได้พูดกันถึง ลักษณะสำคัญของ"บุญนิยม" ที่มี ๑๑ ประการ และเราก็ได้พูดถึงข้อ ๑. ทวนกระแส (คนละทิศ กับทุนนิยม) ข้อ ๒. ต้องเข้าเขต"โลกุตรธรรม" ไปได้นิดหน่อยเท่านั้น

ข้ออื่นๆ ข้อ ๓. ทำได้ยาก ข้อ ๔. เป็นไปได้ ๕. เป็นสัจธรรม ๖. "กำไร"ของชาวบุญนิยม คือ สิ่งที่ให้ออกไป คุณค่าที่ได้สละจริง เพื่อผู้อื่น เพื่อมวลมนุษย์และสัตวโลกทั้งหลาย อย่างสุจริตใจ ไม่ต้องการสิ่งตอบแทนกลับมา

หรือแม้ข้อ ๗. ข้อ ๘. ไปจนถึง ข้อ ๑๑. เรายังไม่ได้พูดถึง มาพูดต่อก็แล้วกัน ก่อนอื่น ขอย้ำความเข้าใจ ให้ถูกต้องอีกที ในข้อที่ว่า "ทวนกระแส" (คนละทิศกับทุนนิยม) นั้น อย่าเข้าใจผิด เป็นอันขาด ว่า "บุญนิยม" เกิดขึ้นท่ามกลาง "ทุนนิยม" แล้ว จะเป็นการก่อความแตกแยก ก่อความไม่สงบ ทะเลาะวิวาท ขัดแย้ง แย่งชิง ต่อสู้ใดๆ ทำให้สังคมเดือดร้อน หรือ ไม่สมาน สามัคคี กับทุนนิยม ขอยืนยันว่าไม่ใช่เด็ดขาด

กล่าวคือ ถ้าจะว่าด้วยแนวคิดหรืออุดมคติ ก็จริงอยู่ ที่บุญนิยมกับทุนนิยม มันตรงกันข้ามหรือไปกันคนละทิศ แต่พฤติภาวะนั้น ไม่ได้เป็นศัตรู ไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งแย่งชิงกันเลย ออกจะร่วมกันดี ลงกันได้อย่างสนิทสนม กลมเกลียวด้วยซ้ำ เพราะบุญนิยมนั้น ประพฤติตนชอบเป็น "ผู้ให้หรือพยายามสละออก" ด้วยคติความเชื่อ และเป็นอยู่จริง ส่วนทุนนิยม ก็ประพฤติตนชอบเป็น "ผู้เอา หรือ พยายามหามาให้ตน" ด้วยคติความเชื่อ และเป็นอยู่จริง ดังนั้น คนหนึ่ง"ให้" อีกคนก็"เอา" ก็ไม่แย่งกัน ไปด้วยกันได้ สามัคคีกันดี อยู่ชัดๆ ไม่ขัดไม่แย้ง ไม่ทะเลาะกันเลย

ด้วยความจริงฉะนี้ "บุญนิยม"จึงไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นศัตรูกับ"ทุนนิยม"แต่อย่างใด กลับเป็นมิตรที่ดีแท้ๆ เพราะ" บุญนิยม" นั้น ไม่ได้ไปแย่งชิง วัตถุทรัพย์จากทุนนิยมดังกล่าว และหากชาวทุนนิยม ไม่ยินดีเต็มใจ ที่จะเปลี่ยนตัวเอง มาเป็นอย่าง ชาวบุญนิยม ก็ไม่มีใครบังคับ เป็นเรื่องของอิสรเสรีภาพเต็มที่ ทุนนิยม ก็อยู่ตามแบบทุนนิยมไป อย่างมาก ก็อาจจะมีบางคน ปากยาว ปากยื่น ยกเอาข้อดี ข่มข้อด้อย ของกันและกันบ้าง ติเตียนเอาบ้าง ก็เท่านั้นเอง

คนในสังคมชาวทุนนิยมด้วยกันเสียอีก ที่มีแนวคิดเดียวกัน มีโลกียะเหมือนกัน จิตมุ่งตรงกัน คือมุ่งล่าลาภ, ยศ, สรรเสริญ, โลกียสุข ต่างคนก็ต่างจะ"เอา"มาให้ตนให้ได้มากๆ นั่นต่างหากที่แย่งกัน จึงขัดกัน ในพฤติภาวะจริง คนในทุนนิยมเอง ด้วยกัน นั่นแหละ ถ้าจะว่าไปแล้ว.. แก่งแย่งกัน เป็นศัตรูถึงขั้นฆ่าแกงกัน ยิ่งกว่าทุนนิยมกับบุญนิยมเป็นไหนๆ

ดังนั้น บุญนิยมกับทุนนิยม แม้จะ"ทวนกระแส"กัน แต่กลับร่วมกันได้ ลงกันดีอย่างสนิทสนมกลมเกลียว

ทีนี้ก็มาว่ากันถึงเรื่องเกี่ยวกับ"โลกุตรธรรม"อีกนิด อาตมาเคยพูดถึงมาหลายคราในคอลัมน์นี้ แต่เอาเถอะ พูดแล้วก็พูดอีกได้ เพราะแม้พูดซ้ำ ก็ไม่เสียประโยชน์แน่

"โลกุตระ"นั้น ต่างจาก"โลกียะ"อย่างสำคัญ ก็ตรงที่ "โลกุตระ"หมายถึง จิตของคนผู้ปฏิบัติ ถึงขั้นมีผล "กำจัดกิเลสลงได้" ชนิดเจตนากระทำ และสามารถละลด ถูกตัวถูกตน ของกิเลสนั้นๆ โดยเจ้าตัว "รู้ๆ" (ชานติ) "เห็นๆ" (ปัสสติ) ด้วย "ญาณทัสสนะ" ของตนเอง หมายความว่า ตัวผู้ปฏิบัติต้องมี "ความรู้ยิ่ง" นั้นๆในตน หยั่งเข้าไปรู้ๆเห็นๆ ในรายละเอียดต่างๆ ของกิเลส ในตนเอง ในการปฏิบัติของตนเองว่า สัมมาทิฏฐิ มีมรรคมีผลให้ตนเอง รู้เห็นเป็นที่ยืนยัน อยู่โต้งๆ

แต่ถ้ากิเลสมันพักยก หรือมันหยุดลงไปเองตามธรรมชาติ อย่างนี้ไม่เรียกว่า มรรคผล ไม่เรียกว่า ได้กุศล อะไรเลย กุศลแบบ "โลกียะ" ก็ไม่ได้ กุศลแบบ "โลกุตระ" นั้นไม่ต้องพูดถึง เพราะมันแค่ธรรมชาติสามัญของ "โลกียะ" ปุถุชนทั่วไป ซึ่งใครๆ ก็เป็นก็มีกันปกติ ตามกาละ

หรือแม้จะเจตนาปฏิบัติ พยายามทำด้วยวิธีใดก็ตาม และทำให้ตนเองสงบ ระงับลงได้ด้วยซ้ำ เช่น นั่งสมาธิ เพ่งกสิณต่างๆ เป็นต้น จนสามารถทำให้กิเลส ไม่แสดงฤทธิ์ได้จริง ทว่าตัวผู้ปฏิบัติเองไม่ "รู้" (ชานติ) ไม ่"เห็น" (ปัสสติ) ตัวตน (อัตตา) ของกิเลส อย่างถูกตัว ถูกตน ไม่รู้วิธีวิปัสสนา ชนิดที่ทำให้ "ตัวตน" ของกิเลส มันลดละ จางคลาย ถึงที่สุด ดับสนิท ชนิดมีญาณ รู้แจ้งชัดเจนไปตลอด ในการปฏิบัติ กล่าวคือ ตัวผู้ปฏิบัติเอง ไม่ได้ "รู้" (ชานติ) ไม่ได้ "เห็น" (ปัสสติ) ตลอดสาย แห่งการปฏิบัติ ที่เรียกว่า รู้แจ้งเห็นจริง (ญาณทัสสนะ) หรือ รู้ความจริง ตามความเป็นความมีจริงของ "กายในกาย, เวทนาในเวทนา, จิตในจิต, ธรรมในธรรม" อันเป็น "จิต เจตสิก รูป นิพพาน" โดยเฉพาะไม่รู้จัก "เจ้าตัวกิเลส" ถูกตัว ถูกตนมันจริง และไม่มี "สัมมัปปธาน ๔" จนบรรลุผล เห็นมรรคเห็นผลนั้นๆ แล้วไซร้

แม้จะสามารถทำให้สงบระงับได้ แบบนี้ก็ยังเป็นแค่ "โลกียะ" เท่านั้น ยังไม่ใช่ "โลกุตระ"

"โลกุตระ" ต้องมีเจตนากระทำ และสามารถทำให้กิเลสไม่แสดงฤทธิ์ได้จริง ชนิดที่มี "ญาณของตน หยั่งรู้แจ้ง เห็นของจริง" (ญาณทัสสนะ) แบบ "รู้ๆ" (ชานติ) "เห็นๆ" (ปัสสติ) โดยตามเห็น (อนุปัสสี) สภาวะในจิตตน อย่างรู้ยิ่ง เห็นจริง ไม่ลังเล สงสัยใดๆ ตามเห็นทั้งความไม่เที่ยงของกิเลส (อนิจจานุปัสสี) ตามเห็นทั้งความจางคลายของกิเลส (วิราคานุปัสสี) ตามเห็น ทั้งความดับของกิเลส (นิโรธานุปัสสี) ตามเห็นทั้งความสลัดคืน ที่ตนอยู่เหนือกิเลสได้ แบบสูงสุด คืนสู่สามัญ (ปฏินิสสัคคานุปัสสี) เพราะปฏิบัติถูกต้อง เป็นสัมมาทิฏฐิ ตรงตามหลัก "โพธิปักขิยธรรม ๓๗"

"โลกุตระ"จึงไม่ใช่เรื่องงมงาย หรือลึกลับ หรือไม่ชัดไม่เจน แม้โดยความจริง "โลกุตระ" จะเป็นเรื่องลึก เป็นเรื่องนามธรรม ที่ละเอียด สุขุม ประณีต ซับซ้อนยิ่งก็ตาม ผู้ที่ปฏิบัติจนนับได้ว่า เข้าเขต "โลกุตรธรรม" นั้น ต้องรู้แจ้งเห็นจริง ชัดเจนถ่องแท้ ทั้งชัดเจน ถ่องแท้ ในภาวะตัวตนของกิเลส ทั้งชัดเจนถ่องแท้ในภาวะที่ตน ประพฤติปฏิบัติ ทั้งชัดเจนถ่องแท้ในภาวะ มรรคผลที่ได้ อันเกิดอันดับจริงนั้นๆ ทั้งชัดเจนถ่องแท้ในภาวะอารมณ์ที่เป็น "โลกุตระ" ซึ่งต่างจากอารมณ์ที่เป็น "โลกียะ" แน่ๆ

"โลกุตระ" จึงเป็นเรื่องที่ประกอบด้วย "อภิปัญญาหรือญาณทัสสนะ" แท้ ที่เห็นแจ้งความจริงนั้นๆ เป็นปัจจุบันโทนโท่ ด้วยตนเอง ที่เรียกว่า ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ มิใช่เรื่องคลุมเครือ คลางแคลง หรือยังต้องเดาเอา ต้องคะเนคำนวณ เปรียบเทียบเอา ด้วยตรรกะ ต่อไปอยู่อีก แต่เป็นภาวสัจจะ ที่ไม่มีความสงสัยใดๆ เหลืออีกเลย

บุญนิยมที่ทวนกระแส จึงเป็นโลกุตระ อันทำได้ยากแน่ๆ แต่เป็นไปได้ และเป็นสัจธรรม


อ่านต่อ วิถีชาวอโศก ตอน ๑๓