วิถีชาวอโศก (๑๓)
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
' สมณะโพธิรักษ์

อาตมาได้พูดถึง "บุญนิยม ๑๑ ประการ" ไปแล้ว ๒-๓ ประการ ก็ขอพูดถึงประการที่ ๔ ที่ว่า เป็นไปได้ มิใช่ฝันเฟื่อง ต่อ และก็ขอต่อ ข้อที่ ๕..๖..๗..๘.. ไปจนถึงข้อ ๑๑ เสียให้ครบ

ที่ว่าเป็นไปได้นั้น มิใช่คาดคะเน แต่เป็นความจริงที่มีคนพากันทำจนเกิด จนปรากฏผลขึ้นได้แล้ว ตามลักษณะข้อ ๑ "ทวนกระแส" ข้อ ๒ ถึงขั้นเข้าเขต "โลกุตรธรรม" และข้อ ๓ "ทำได้ยาก" นี่แหละ มีคนทำได้ จนเป็นหมู่เป็นกลุ่มขึ้นมา ในสังคมไทยเองนี่ด้วย

ก็ไม่ใช่ใครที่ไหนดอก ก็ชาวอโศกนี่เองแหละ ที่ว่าทำได้ จนเกิดจนปรากฏผล จึงเป็นสัจจะที่ยืนยันว่า "เป็นไปได้" ยังไงๆ ก็ขออวดตัว อวดตน อีกสักหน่อยเถอะ คงไม่ว่ากันนะ

ชาวอโศกฝึกฝนปฏิบัติธรรมะของพระพุทธเจ้า ตามทฤษฎี"มรรค มีองค์ ๘" ตั้งแต่ "สัมมาทิฏฐิ" ก็พยายามประพฤติให้บรรลุ "สัมมา" ครบองค์แห่งมรรคทั้ง ๘ จนก่อเกิด "เป็นส่วนแห่งบุญ" (ปุญญภาคิยา) "ให้ผลแก่ขันธ์ "(อุปธิเวปักกา) และ ถึงขั้น เป็นผล ๒ คือ "สัมมาญาณ" กับ "สัมมาวิมุติ" กันคนละพอสมควร จึงมีประชากรชาวอโศกที่ลด ละกิเลสได้ ในระดับ "พ้นมิจฉาชีพ" ถึงขั้นที่ ๕ คือ พ้นสภาพที่ยัง "แลกลาภแลกผลประโยชน์กันอยู่" (พ้น "มิจฉาชีพ" ข้อ ๕ ที่ว่า ลาเภน ลาภัง นิชิคิงสนตา) หมายความว่า ปฏิบัติธรรม กระทั่ง ลดละกิเลส เป็นผู้มักน้อยสันโดษ ได้ถึงขนาด สามารถทำงานอาชีพ โดยไม่เอา เงินค่าจ้าง หรือ ทำงานฟรี ทำงานไม่แลกเอา สิ่งตอบแทน ค่าแรงใดๆเลย ปานนั้นทีเดียว

ในชุมชนชาวอโศก การทำงานให้แก่ชุมชน โดยไม่รับเงินรายได้ใดๆ จึงเกิดจึงเป็นจริง และ "วิถีชาวอโศก"นั้น คนผู้มี สมรรถนะยิ่งสูง สร้างสรรได้มาก ก็ยิ่งเสียสละมาก จะเอาไว้เป็นของตนน้อยลงๆๆ ผู้มีภูมิยิ่งสูง ก็ยิ่งจะลดการเอามา ให้ตนลงไป กระทั่ง สามารถทำงานฟรีได้ ก็คือดีที่สุด ใช้ชีวิตอยู่กับหมู่กลุ่ม เป็นคนส่วนกลาง หรือเป็นคนของ สังคมบุญนิยม ร่วมวัฒนธรรม "สาธารณโภคี" หมายความว่า ร่วมกันอยู่ในสังคมเดียวกัน มีอะไรก็กินใช้ร่วมกันได้ทั่วไป ทำมาหาได้ ก็เอาเข้า เป็นส่วนกลาง ซึ่งมันต้องได้ฝึกตน เป็นคนเสียสละ ความเป็นของตน ลดละกิเลสได้จริง พอสมควร จึงจะเกิดสังคม "สาธารณโภคี" สำเร็จ ผู้ละลดกิเลสในจิตได้จริง ก็เป็นอาริยบุคคล ก็มีทั้งที่ลดละได้มาก ได้ปานกลาง และได้น้อย ตามฐานานุฐานะ

นี่คือ "ความเป็นบุญนิยม" ของสังคมชาวอโศก อันมีทั้งเศรษฐศาสตร์บุญนิยม มีทั้งสังคมศาสตร์บุญนิยม มีทั้งรัฐศาสตร์ บุญนิยม มีทั้งธนศาสตร์บุญนิยม มีทั้งพาณิชยศาสตร์บุญนิยม ฯลฯ มีทั้ง "บุญนิยม" อื่นๆอีก หลากศาสตร์ หลายศิลป์ ซึ่ง "เป็นไปได้" กันมาแล้ว เกือบ ๓๐ ปี

ชุมชนชาวอโศกเป็นแค่สังคมเล็กที่ยังไม่กว้างใหญ่ระดับประเทศ ได้พิสูจน์ระบบ"บุญนิยม"แล้วว่า"เป็นไปได้" แม้แต่ "สัมมาอาชีพ" ก็สามารถปฏิบัติ พิสูจน์ได้ถึงขนาด "พ้นมิจฉาอาชีวะ" ขั้นที่ ๕ กันทีเดียว กล่าวคือ สังคมนี้ มีประชากร ประกอบ อาชีพสุจริต สูงถึงขนาด... พ้น "มิจฉาชีพ" ขั้นที่ ๕ ได้จริง นั่นคือ สามารถพ้น "ลาเภนะ ลาภัง นิชิคิงสะนะตา" ซึ่งหมายความว่า "ทำงานโดย ไม่รับรายได้ใดๆ ทำงานฟรี ก็สามารถยังชีพอยู่ได้" ดังกล่าวแล้ว

นั่นก็หมายความว่า ในสังคมนี้มีความเป็นอยู่ที่ได้พัฒนาประชากร ให้มีอาชีพสุจริตสูงขึ้นได้ ตามที่พระพุทธเจ้า ตรัสไว้ ในหลัก มรรคองค์ ๘ ข้อ "มิจฉาอาชีวะ" ซึ่งมีถึง ๕ ระดับ สังคมชาวอโศกสามารถ "พ้นมิจฉาอาชีวะ" ไม่มี "มิจฉาชีพ" ตั้งแต่ขั้น หยาบต่ำ ไปจนถึงละเอียดสูงสุดขั้นที่ ๕ นั่นก็คือ สามารถประกอบอาชีพกันได้ถึงขนาด "พ้นมิจฉาชีพ" ขั้นละเอียดสูงสุด คือขั้น "ทำอาชีพโดยไม่รับ เงินค่าแรงงาน ไม่ว่าในรูปใดๆ ทำงานฟรี ก็ยังชีพอยู่ได้" ซึ่งทำอาชีพสุจริต หรือ "สัมมา" ถึงขั้นนี้ คนทำได้ยากแน่ ยิ่งทำกันเป็นระบบแข็งแรง เป็นกลุ่มเป็นแกน ในสังคม เป็นวัฒนธรรมของสังคม ก็ยิ่งยากมาก ที่จะทำได้ แต่ก็ทำได้ "เป็นไปได้" ในชาวอโศกทุกวันนี้เป็นได้ และเป็นอยู่จริง

"มิจฉาชีพ" ๕ ขั้น ได้แก่ ขั้นต่ำหยาบสุดคือ "อาชีพทุจริตขี้โกงชัดๆ"(กุหนา) ขั้นต่ำที่ ๒ "อาชีพที่ยังเป็นคนพูดโกหก หลอกๆ ลวงๆ เขากิน" (ลปนา) ขั้นที่ ๓ "อาชีพพ้นทุจริตขั้น ๒ ขึ้นไปอีก แต่ก็ยังมีการตลบตะแลง" (เนมิตตกตา) ขั้น ๔ "อาชีพที่ตัวเอง สุจริตได้แล้ว แต่ก็ยังมอบตนอยู่ในทางผิด หรือตนสะอาด แต่ก็ยังร่วมหัวจมท้ายอยู่กับคน หรือกลุ่มคนไม่สุจริต" (นิปเปสิกตา) ส่วนขั้นที่ ๕ "อาชีพทำงานยังเอารายได้ หรือยังมีลาภแลกลาภ" (ลาเภน ลาภัง นิชิคิงสนตา) มิจฉาชีพทั้ง ๕ ขั้นนี้ ชาวอโศก พยายามปฏิบัติ พิสูจน์ ถึงวันนี้ ขอยืนยันว่า "เป็นไปได้" แม้ขั้นที่ ๕ ก็มี ก็เป็นได้ ในปริมาณที่เป็นแก่นแกน อย่างมีรูปธรรม ที่เด่นชัด ยืนยัน เข้าขั้นมีพฤติกรรมเป็น "วัฒนธรรมของชุมชน" ทีเดียว

นี่แค่ในสังคมเล็กๆ เป็นแค่ชุมชนเล็กทำธุรกิจกับสังคมภายนอก มีรายได้เข้าชุมชน ก็ยังไม่มาก และซ้ำมิหนำ "ธุรกิจพาณิชยศาสตร์ ก็แบบบุญนิยม" ซึ่งมีแนวคิดทวนกระแสกับ "ธุรกิจพาณิชยศาสตร์แบบทุนนิยม" กันคนละขั้วเสียอีก กล่าวคือ ชาวบุญนิยม พยายามพัฒนาธุรกิจ "ให้มีกำไร" น้อยลงๆ กระทั่งสามารถ "ขาดทุน" แต่อยู่ได้ จึงจะเรียกว่า เป็นความเจริญ "บรรลุบุญนิยม" แท้ หรือ "เสียสละ" ให้แก่ผู้อื่น ให้แก่สังคมวงกว้าง และมากขึ้นๆ เพิ่มทุนทางสังคม รายได้ส่วนเกิน เข้าสู่ชุมชน ย่อมไม่มากมาย เหมือนทุนนิยมด้วยซ้ำ ก็ยังสามารถเลี้ยงดูชุมชน เลี้ยงดูคน ผู้ไม่รับ รายได้ นั้นแหละ อย่างพอเพียง ชาวอโศกได้พิสูจน์แล้วว่า สวัสดิการส่วนกลาง ของชุมชน เลี้ยงดูกันได้ เพื่อนฝูง เกื้อกูล กันและกัน ไว้ได้ กลุ่มเล็กๆแค่นี้ยัง "เป็นไปได้" แล้ว หากเป็นสังคมที่ใหญ่ กว้างลึกกว่านี้ มีคนที่มีภูมิธรรม และมี สมรรถนะสูงกว่านี้ ปริมาณคนก็มากกว่านี้ และมีองค์ประกอบ ที่สมบูรณ์กว่านี้ มันก็ยิ่งเป็นไปได้ง่ายกว่า แข็งแรงกว่า ดียิ่งกว่า เป็นไหนๆ อย่างแน่นอน

เพราะฉะนั้น ถ้าแม้นเป็นสังคมกลุ่มใหญ่ ที่มีคุณลักษณะ "บุญนิยม" ถึงขีดเป็นคนมีภูมิธรรม ขั้นโลกุตระจริง และ มีความสามารถ สร้างสรร ได้เก่งกาจอีกด้วย ย่อม "เสียสละ" ให้แก่ผู้อื่น ให้แก่สังคมได้มากขึ้นๆ รับใช้ประชาชน กว้างใหญ่ ระดับประเทศชาติ หากประชากร ในสังคมระดับประเทศ มีภูมิธรรมระบบบุญนิยม มากเพียงพอ ร่วมมือร่วมใจกัน เหมือนประชากร ชุมชนชาวอโศก ดำเนินอยู่ และเป็นไป ก็จะมีพลังมากมาย มหาศาลยิ่งๆกว่า เพราะจะยิ่งกว้างขวางมากมาย ด้วยพลังสร้างสรรที่ยิ่งกว่า มีพลังปริมาณ ทั้งวัตถุ และแรงงานที่ยิ่งกว่า ยิ่งกว่าไปพร้อมหมด ทั้งพลังแห่งวัฒนธรรมบุญนิยม ทั้งพลังแห่งจิตวิญญาณ ที่มีคุณลักษณะ สะอาด สุขสงบ สุภาพ สมรรถนะ สามัคคี ซึ่งเป็นไปในทิศทางของโลกุตระ

ทำไมจะ"เป็นไปไม่ได้"เล่า..?'


อ่านต่อ วิถีชาวอโศก ตอน ๑๔