วิถีชาวอโศก (๑๔)
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
' สมณะโพธิรักษ์

อาตมาได้พูดถึง"บุญนิยม"ตามนิยามข้อ ๔ ที่ว่า "เป็นไปได้"ให้ได้อ่านกันแล้ว โดยยกอ้างเอาชาวอโศกเอง เป็นตัวอย่าง ซึ่งก็เกรงใจ อย่างหาที่สุดมิได้ ที่ต้องยกเอาพวกของตัวของตน ขึ้นมาอวดมาอ้าง และในข้อต่อไป คือ ข้อที่ ๕ ที่ว่า "เป็นสัจธรรม" หรือ "เป็นของจริงของแท้" โดยเฉพาะ" ของจริงของแท้ สำหรับความเป็นมนุษย์ และสังคม" ซึ่งก็คง จะต้องยกอ้าง เอาที่ชาวอโศกเป็น ชาวอโศกมี ขึ้นมาอ้างมาอวดอีกแหละ ถ้าถึงคราวที่จะต้อง ยกตัวอย่างกัน อย่างไร ก็ขอความเห็นใจ ได้โปรดเห็นใจเราเถิด เพราะอาตมาไม่รู้จะยกเอา "ของจริงของแท้ สำหรับความเป็นมนุษย์ และสังคม" ที่เป็นจริง เป็นได้แล้ว จากที่ไหน มายกมาอ้างอิง เป็นตัวอย่างจริงๆ จึงจำเป็นต้องขอใช้ "ความจริง" ของเรา ที่ชาวอโศก ได้ปฏิบัติ มีผลจริงผลแท้มาแล้ว เป็นเครื่องยืนยัน

สัจธรรม หมายถึง ความจริง และความจริงนั้น ต้องเป็น "ธรรม" ด้วย

ดังนั้น "ความจริงที่เป็นธรรม" สำหรับความเป็นมนุษย์และสังคม ในที่นี้ จึงไม่ใช่หมายเอาแค่ ความจริงที่เป็นสิ่งทั้งหลาย, ความจริง ที่เป็นธรรมดา หรือแค่ "ความจริงที่มีสภาพที่ทรงไว้" เท่านั้นแน่ๆ

แต่เป็น "สัจธรรม" ที่เจาะจงลงไปถึงความเป็นมนุษย์และสังคม จึงต้องนิยามเฉพาะ ระบุนัยสำคัญ ชี้กันให้ชัดๆ ถ้าทั้งชัด และ ทั้งเป็นธรรม ที่เข้าข่าย "ประโยชน์เลิศเยี่ยม" อันเรียกว่า "ปรมัตถะ" ก็ต้องถึงขั้น "โลกุตระ"

เพราะฉะนั้น คำว่า"สัจธรรม"หรือ"ความจริงที่เป็นธรรม"ดังกล่าว จึงมีนิยามดังนี้

๑. เป็นความดี ซึ่งก็ชี้บอกอยู่โต้งๆแล้ว ถ้าหากไม่เป็นความดี ก็ไม่ชื่อว่า "สัจธรรม" เพราะ"สัจธรรม" นี้หมายเอา ความเป็นมนุษย์ และสังคม มิใช่ "สัจธรรม" ที่หมายเอาแค่ สิ่งทั้งหลาย หรือแค่ความเป็นธรรมดา แค่ "ความจริง ที่มีสภาพที่ทรงไว้" เท่านั้น

๒. เป็นความถูกต้อง ข้อนี้ก็นัยเดียวกันกับข้อ ๑ และความถูกต้องนั้น ต้องเข้าขั้น "สัมมา" อีกด้วย จึงจะ เป็น "ประโยชน์เลิศเยี่ยม" (ปรมัตถะ) จึงจะเข้าข่าย "โลกุตระ" หากถูกต้องแค่ขั้น "โลกียะ" ก็ยัง "ไม่เที่ยงแท้" (อนิจจัง) ยังไม่เป็น ความถูกต้องที่ "ถาวรยั่งยืน" (ธุวัง) ยังมีความถูกต้องอื่น ที่จะสามารถ "หักล้างหรือเอาชนะได้" (สังหิรัง)

๓. เป็นคุณค่าประโยชน์ เพราะแม้จะดี จะถูกต้องปานใด แต่ถ้า "ไม่เป็นประโยชน์" ก็ไม่ชื่อว่า "สัจธรรม" และ "ประโยชน์" ที่ว่านี้ ก็ต้องเข้าขั้น "ประโยชน์เลิศเยี่ยม" (ปรมัตถะ) ไม่ว่าจะเป็น "ประโยชน์ตน" (อัตตัตถะ) หรือเป็น "ประโยชน์ผู้อื่น" (ปรัตถะ) ก็ต้องเข้าขั้น "อภิธรรม" ถึงขั้นมรรคผล จึงจะชื่อว่า "สัจธรรม" ไม่เช่นนั้นก็ยัง "ไม่เที่ยงแท้" (อนิจจัง) ยังไม่เป็นความถูกต้องที่ "ถาวรยั่งยืน" (ธุวัง) ยังมีความถูกต้องอื่น ที่จะสามารถ "หักล้างหรือเอาชนะได้" (สังหิรัง)

๔. เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์(อาริยสัจ) สภาพที่ดีเยี่ยมหรือจะนับกันว่าถูกต้องปานใด และแถมเป็นประโยชน์ มหาศาล ขนาดไหน หากยังไม่ใช่ "โลกุตระ" หรือยังไม่เป็นไป เพื่อความพ้น "ทุกขอาริยสัจ" สภาพนั้นยังไม่ชื่อว่า "สัจธรรม"

๕. เป็นไปได้ ข้อนี้ชี้บ่งสำคัญมาก เพราะหากเป็นสภาพที่ดีเยี่ยม เป็นสิ่งประเสริฐสุด หรือถูกต้อง และเชื่อว่า จะเป็นประโยชน์ ยิ่งใหญ่ มหาศาลกันแต่เพียง ในมโนคติ เป็นเพียงฝันเฟื่อง หรือแค่ในความคิดนึก ความเชื่อถืออยู่เท่านั้น แต่ "เป็นไปไม่ได้" ก็ย่อมไม่ชื่อว่า "สัจธรรม"

๖. รู้ได้แม้ขั้นนามธรรมระดับสูง ที่สุดถึงขั้น "อนัตตา,สุญญตา,นิพพาน" ข้อนี้เป็นเครื่องชี้บ่ง ที่ชัดเจนว่า สภาพใด จะเรียกได้ว่า "สัจธรรม" ผู้มี "สัจธรรม" นั้นๆในตน ต้องมีญาณทัสสนะ สามารถ "รู้ได้แม้จะเป็นนามธรรมระดับอุตริมนุสสธรรม หรือนามธรรมขั้นสูง ที่มนุษย์ธรรมดาสามัญ เป็นไม่ได้ มีไม่ได้"

เช่น จิตของตนเป็น "ฌาน" ก็รู้ก็เห็นภาวะนั้นๆในตน กล่าวคือ ฌานแบบพุทธนั้น เกิดในขณะที่ทวารทั้ง ๖ ทำงานอยู่เต็มหน้าที่ ตามสามัญคนตื่น ซึ่งเป็นการปฏิบัติฌาน ทั้งในขณะมี "ความดำรินึกคิด" (สังกัปปะ) ทั้งในขณะมี "การพูด" (วจีกรรม) ทั้งในขณะมี "การกระทำต่างๆ" (กัมมันตะ) และทั้งในขณะ "ทำงานอาชีพ" (อาชีวะ) หมายความว่า ทำ "ฌาน" ได้ในทุก อิริยาบถ เพราะเป็น "ฌาน" ที่เกิดในขณะปฏิบัติ "มรรค ทั้ง ๗ องค์" แล้วจึงจะก่อคุณสมบัติเป็น "สัมมาสมาธิ" (พระไตรปิฎก เล่ม ๑๔ ข้อ ๒๕๒ ถึง ๒๘๑) ซึ่งไม่ใช่ทำ "ฌาน" เฉพาะนั่งหลับตา ทำสมาธิ เท่านั้น และ "อธิจิต" ของตนเจริญขึ้นๆ กระทั่งเป็น "สัมมาสมาธิ" ก็รู้ก็เห็นภาวะนั้นๆในตน ไม่ว่าฌานเจริญ จนมีคุณภาพเป็นสมาธิ หรือ วิมุติเจริญ จนมีคุณภาพ เป็นสมาธิ ก็สามารถรู้แจ้ง เห็นจริงสภาพนั้นๆ ว่าเป็นอย่างไร แค่ไหน ว่าต่างกันอย่างไร

และเวทนาในเวทนา ผู้ปฏิบัติก็สามารถมีญาณเพ่งเข้าไปรู้แจ้งละเอียด ถึงสภาพของ "เวทนาที่เป็นเคหสิตะ" (อารมณ์ที่ ยังเป็นโลกีย์) ว่าแตกต่างจาก "เวทนาที่เป็นเนกขัมมสิตะ" (อารมณ์ที่ออกจากโลกีย์เข้าหาโลกุตระ) ซึ่งสำคัญมาก

รู้ชัดเจนว่า อาการของวีติกกมกิเลส (กิเลสอย่างหยาบ) แตกต่างจากปริยุฏฐานกิเลส (กิเลสอย่างกลาง) และ แตกต่างจาก อนุสัยกิเลส (กิเลสอย่างละเอียด) โดยรู้เห็นภาวะนั้นๆ ของตน หรือ อารมณ์จางคลาย จากกิเลส ก็รู้สภาพนั้นๆ ชัดแจ้ง อารมณ์วิมุติ ก็รู้สภาพนั้นๆ ชัดแจ้ง

ที่สุดถึงขั้นที่เรียกว่า "อนัตตา, สุญญตา, นิพพาน" ก็สามารถรู้แจ้งเห็นจริงสภาพนั้นๆได้ ว่าเป็นเช่นไร

หาก "สิ่งเหล่านั้นรู้ไม่ได้" ก็ไม่ใช่ "สัจธรรม"

๗. เข้าถึง"ความจริง"นั้น หรือตนเองเป็นได้ตามความรู้นั้นๆแล้ว อย่างเต็มใจ แม้จะยังไม่สมบูรณ์ ยิ่งสมบูรณ์ชนิด สิ้นกิเลสาสวะ ก็ยิ่งจริงแท้ ยิ่งใจเต็ม หมายความว่า หากชื่อว่า "สัจธรรม" ตนเองต้องเป็นได้ ตามความรู้นั้นๆ ของตนทีเดียว แค่รู้เฉยๆ ทว่าตนเอง ยังเป็นไม่ได้ ก็ไม่ชื่อว่า "สัจธรรม"

๘. เป็นเรื่องที่ผู้ฉลาดหรือปราชญ์จำนนต่อเหตุผลต่อความจริง ที่เป็นที่มีนั้น แต่ถ้าไม่ใช่ผู้มีความฉลาด หรือ ปราชญ์แท้ เช่น ผู้ยังฉลาดเฉโก หรือปราชญ์เทียม ก็แน่ละว่า จะไม่มีภูมิพอ ที่จะยอมต่อเหตุผล ความจริงที่เป็นที่มีนี้

๙. ไม่เป็นอื่นอีกแล้ว เป็นอยู่อย่างนั้นมั่นคง ยั่งยืน ไม่เปลี่ยนแปลง เป็นแล้วเป็นเลย จึงจะชื่อว่า "สัจธรรม"

๑๐. เป็นสภาพที่สามารถท้าทายให้มาพิสูจน์ได้ ใครก็ตาม หากนำตนเอง เข้ามาปฏิบัติพิสูจน์ ด้วยตนเองแล้ว ตนเองก็ยัง ไม่สามารถ พิสูจน์ให้เกิด ให้เป็นในตน จนรู้แจ้งเห็นจริง ของตนได้ว่า นี่แท้ นี่จริง ก็ยังไม่ชื่อว่า "สัจธรรม"


อ่านต่อ วิถีชาวอโศก ตอน ๑๕