วิถีชาวอโศก (๑๕)
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
‘ สมณะโพธิรักษ์

เราพูดกันถึง "นวัตกรรม" (innovation) ของสังคมนุษยชาติที่ชื่อว่า "บุญนิยม" และกำลังอธิบาย "นิยาม ๑๑ ข้อของบุญนิยม" ยังไม่จบ คงต้องอีกหลายคราว คราวที่แล้ วอาตมาได้อธิบาย ถึงข้อที่ ๕ ว่า "เป็นสัจธรรม"

คราวนี้ ก็มาถึงข้อที่ ๖ ที่ว่า "กำไร" หรือที่เรียกว่า "ผลได้" หรือ "ผลประโยชน์" (อัตถะ)สำหรับตน

เรื่องนี้ต้องทำความเข้าใจอย่างสำคัญ เพราะ "กำไร" ของชาวบุญนิยม กับ "กำไร" ของชาวทุนนิยมนั้น จะเห็น ต่างกันไป คนละขั้ว ทีเดียว

สำหรับชาว "ทุนนิยม" ก็นับเอา "การได้มาให้แก่ตน หรือได้มาเป็นของตัวของตนทวีขึ้นๆได้เปรียบยิ่งๆขึ้น" ไม่ว่าสิ่งที่ได้ จะเป็น วัตถุทรัพย์ ที่ชื่อว่า สมบัติภายนอก หรือจะเป็นนามธรรม เป็นความเสพอารมณ์ ที่ชื่อว่า สมบัติภายในจิตในใจ ทางฝ่ายชาว "ทุนนิยม" ถือว่า ลักษณะที่มี "การได้มาให้แก่ตน หรือ ได้มาเป็นของตัว ของตนทวีขึ้นๆ

ได้เปรียบยิ่งๆขึ้น" นี่แหละคือ "กำไร"

ส่วนชาว "บุญนิยม" ก็นับเอา "การได้ให้ออกไปแก่ผู้อื่นได้เสียสละ หรือได้ละล้าง ความเป็นของตัว ของตนออก" ไม่ว่าสิ่งที่ได้ให้ ได้สละนั้น จะเป็นวัตถุทรัพย์ ที่ชื่อว่าสมบัติภายนอก หรือจะเป็นนามธรรม เป็นความเสพอารมณ์ ที่ชื่อว่า สมบัติ ภายในจิต ในใจ ก็ตาม ทางฝ่ายชาว "บุญนิยม" ถือว่าลักษณะที่มี "การได้ให้ออกไปแก่ผู้อื่น ได้เสียสละ หรือ ได้ละล้าง ความเป็นของตัว ของตนออก หรือ ได้ปล่อยวาง ไปจากตัว จากตน" นั่นคือ "ตนได้-ตนกำไร"

จะเห็นว่า ความหมายหรือลักษณะของ "กำไร" หรือ "ผลได้-ผลประโยชน์" (อัตถะ) ที่ "ทุนนิยม" กับ "บุญนิยม"

ยึดถือมุ่งหวังและพากเพียรลงทุนลงแรงเหน็ดเหนื่อย สะสมกันนั้น ต่างสะสมกันไปคนละขั้ว มีลักษณะ ไปคนละแบบ

แต่ชาว "บุญนิยม" นั้น อยู่กับชาว "ทุนนิยม" ได้อย่างสอดคล้อง ไม่ขัดแย้ง ไม่เป็นศัตรูกันเลย

สำหรับรายละเอียด "กำไรแบบทุนนิยม" อาตมาจะไม่อธิบายขยายความล่ะ คนทุกคน ไม่ละเว้นใครทั้งสิ้น ต่างรู้กันอยู่แล้ว เพราะล้วน มีเลือด และ วิญญาณของ "ทุนนิยม" ติดสัญชาตญาณ แห่งปุถุชน มาทั้งนั้น เพียงแต่ว่า ใครจะมีจัดจ้าน ร้ายแรง น้อยมากกว่ากัน

ในที่นี้จะขอพูดถึงแต่ด้าน "บุญนิยม" ซึ่งเป็นนวัตกรรมสังคม อันเป็นเลือดและวิญญาณใหม่ ของคนพันธุ์ใหม่ สู่กันฟัง พอสมควร

"กำไร" ของชาว "บุญนิยม" หรือ "ผลได้-ผลประโยชน์" หรือจะหมายถึง "สมบัติ" หมายถึง "ความเจริญ" ก็ได้ทั้งนั้น เพราะความหมาย ต่างๆเหล่านี้ ล้วนคือ เนื้อหาของคำว่า "อัตถะ" ทั้งสิ้น

ดังนั้น "อัตถะ" หรือ "กำไร-ผลได้-ผลประโยชน์-สมบัติ-ความเจริญ" สำหรับ "บุญนิยม" ก็คือ สิ่งที่ให้ออกไป คุณค่าที่ได้สละจริง เพื่อผู้อื่น เพื่อมวลมนุษย์ และ สัตวโลกทั้งหลาย อย่างสุจริตใจ ไม่ต้องการ สิ่งตอบแทนกลับคืนมา ชาวบุญนิยม ที่แท้ทุกคน แม้จะยัง ไม่หมดกิเลส ก็จะพยายาม ตั้งใจเสียสละให้จริง พยายามไม่ให้มีเล่ห์เชิง ซับซ้อน ซ่อนอยู่ในจิต ไม่ให้มีส่วนเหลือ ของความเห็นแก่ตัว จะพากเพียร ขัดเกลา กิเลสตนเองให้ได้มรรคผลเสมอ จนกระทั่ง หมดสิ้นเกลี้ยงสนิท จึงจะเป็นผู้ได้ "กำไร" หรือได้ "ประโยชน์" สัมบูรณ์

"กำไร" จึงคือ "บุญ" ที่มีกุศลเจตนาและจาคสัมปทาด้วยปัญญาอันยิ่ง (ญาณทัสสนะ) เพราะได้ลดกิเลส แบบโลกุตระ ชนิดมีญาณ หยั่งรู้กิเลส ของตนเอง รู้ความละ จางคลายในจิตตน อย่างรู้ๆ เห็นๆ "ของจริง" ทั้งกิเลสของตน ทั้งจิต ที่สะอาดขึ้นๆ เพราะกิเลสลดละ จางไปๆ ด้วยการปฏิบัติ ฝึกฝน อบรมตน กระทั่งกิเลสาสวะ หมดสิ้นสนิท

ซึ่งเป็นการ "รู้เห็นของจริงที่ชื่อว่ากิเลสของตนเอง รู้ความละจางคลายในจิตตน อย่างมีภาวะนั้นๆ ปรากฏอยู่โต้งๆ" แม้จะเป็น นามธรรม ก็รู้แจ้งเห็นจริง "สภาพนั้นอาการนั้น" ด้วยญาณด้วย "ภาวนามยปัญญา" อยู่โทนโท่หลัดๆ การปฏิบัติ แบบบุญนิยม จึงรู้เห็นของจริงแท้ๆ ไม่งมงาย ไม่คลุมเครือ ไม่ลึกลับแต่อย่างใด

"ประโยชน์ตน" (อัตตัตถะ)ที่แท้จริง หรือ "กำไร" ของชีวิตชาวบุญนิยมนี้ ออกจะแปลก! เพราะในเวลาขณะเดียวกัน และ ในกรรมเดียวกัน ที่ชาวบุญนิยม กำลังกระทำการ "ให้" หรือทำการ "เสียสละ" ผู้ให้ก็ได้ "ประโยชน์" ที่ได้เสียสละ และทันทีนั้น ก็จะมี "ผู้รับ" ไม่ว่าจะเป็น การได้รับวัตถุ หรือได้รับความรู้ ที่เป็นนามธรรมก็ตาม ผู้รับวัตถุก็ดี รับความรู้ก็ดี จากผู้ให้ ผู้รับก็ได้ "ประโยชน์" จากผู้ให้ ประโยชน์ชนิดนี้ เรียกว่า "ประโยชน์ผู้อื่น" (ปรัตถะ)

ซึ่ง "ประโยชน์ตน" และ "ประโยชน์ผู้อื่น" นี้เกิดพร้อมกันในกรรมเดียวกัน ในขณะเวลาเดียวกัน กับ "ผู้ให้" ที่ได้ "เสียสละ" และ "ผู้รับ" ที่ได้ "รับ" อยู่บัดเดี๋ยวนั้นทีเดียว ผู้เสียสละก็มี "ประโยชน์ตน" (อัตตัตถะ) ที่ตน "ได้ให้" เป็น"บุญ" แท้ๆ เป็นกุศลจริงๆ ส่วน "ผู้รับ" ก็ "ได้รับ" ก็เป็นประโยชน์ด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย เรียกความเป็นประโยชน์ทั้ง "ผู้ให้" และทั้ง "ผู้รับ" ต่างก็เป็นผู้ "ได้" พร้อมๆกันนี้ว่า "อุภยัตถะ" (ประโยชน์ ๒ ฝ่าย)

แต่ถ้า "ผู้ให้" ที่ไม่มีความรู้ความสามารถถึงขั้นโลกุตระหรือเข้าข่าย "บุญนิยม" ก็จะไม่มี "ประโยชน์ตน" ที่ถึงเขต เรียกว่า "ปรมัตถะ" ซึ่งแปลว่า "บรมประโยชน์" หรือหมายถึง "ประโยชน์ขั้นสูงเลิศ ที่ทำให้จิต เจตสิก บรรลุมรรคผล เดินทาง เข้าสู่นิพพาน"

"ประโยชน์ที่สูงสุดเยี่ยมยอดที่สุด" ที่คนควรได้ที่สุด เรียกว่า "อุตตมัตถะ" ก็คือ "ความเป็นอรหันต์"

สรุป "ประโยชน์แบบโลกียะ" มี ๒ อย่าง

๑. "ประโยชน์ตน" (อัตตัตถะ) ซึ่งตนต้องพึ่งผู้อื่น นั่นคือ เราได้รับวัตถุ หรือ ได้รับความเสพ ทางอารมณ์ หรือได้รับความรู้ จากผู้อื่น

๒. "ประโยชน์ผู้อื่น" (ปรัตถะ) ซึ่งตนเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น นั่นคือ เราได้ให้วัตถุ หรือ ได้ให้ ความเสพทางอารมณ์ ได้ให้ความรู้ แก่ผู้อื่น

ส่วน "ประโยชน์แบบโลกุตระ" ซึ่งเป็นประโยชน์ของอาริยบุคคล ก็คือ เราสามารถ ทำจิตใจ ให้ลดกิเลส ไปกับการทำ กรรมนั้นๆ ได้ นี่คือ "ประโยชน์ตน" ที่เป็น "ปรมัตถะ" อันเกิดพร้อมกันกับ.. เราได้ให้วัตถุ หรือ ได้ให้ความเสพ ทางอารมณ์ หรือ ได้ให้ความรู้ แก่ผู้อื่น เรียกว่า "ประโยชน์ ๒ ฝ่าย" (อุภยัตถะ)

ซึ่งเป็น "ผลประโยชน์" หรือเป็น "กำไร" ของชาวบุญนิยมโดยแท้


อ่านต่อ วิถีชาวอโศก ตอน ๑๖