บันทึกความทรงจำ
: ๑๒ เพล(า) ในไต้หวัน
-
ระหว่างวันที่ ๗ - ๑๘ เมษายน ๒๕๔๕
(ตอน ๑)
คณะผู้เดินทาง
ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ประธานคณะทำงาน ต.อ.กลาง
นายแก่นฟ้า แสนเมือง ต.อ.กลางด้านการพัฒนาน้ำหมักชีวภาพ
น.ส.ปัทมาวดี กสิกรรม ที่ปรึกษาคณะทำงาน ต.อ.กลาง
นายสุรชัย วงศ์ปิยชน ที่ปรึกษา ต.อ.กลางด้านคอมพิวเตอร์
นางสุรีย์ วงศ์ปิยชน ที่ปรึกษา ต.อ.กลางด้านอาหาร
นางอาภรณ์ วิชัยดิษฐ์ ต.อ.กลางด้าน ๕ ส.
น.ส.ต้นกล้า มากสุข ต.อ.ชุมชนศาลีอโศก
น.ส.เพชรตะวัน ธนะรุ่ง ต.อ.ชุมชนราชธานีอโศก
พ.ท.หญิงสุวิไล วงศ์ธีระสุต ผู้ช่วยเลขานุการ ต.อ.กลาง
นางมนทิรา ติยะวัชรพงศ์ ชุมชนปฐมอโศก
ทีมไต้หวัน
๑. ท่านลักขโณ
๒. ท่านมหาชุติโรจน์
๓. ภิกษุณีเหยียนติ้ง วัดเมี่ยวคงซื่อ (MIAO KONG TEMPLE)
ตั้งอยู่ที่ NO.4, LANE 45, LAO CHYUAN ST. WENSHAN DIST. (116)
TAIPEI TAIWAN TEL 001-886-2-22344100
๔. ท่านสมชาย
๕. ท่านตุ๋ย
ไต้หวันเป็นประเทศที่ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว
จะเข้าประเทศเรียกว่าโหดสุด เพราะกลัวคน ไปลักลอบ หางานทำ ไปแล้วไม่กลับ
โดยเฉพาะ คนที่มาจากชุมชน โนเนมทั้งหลาย ต้องมีหลักฐานการเงิน อาชีพที่มั่นคง
พวกเราสี่คนเป็นข้าราชการ แต่คิดว่าประเทศทั้งสอง ไม่มีสัมพันธ์การทูตกัน
และ ได้ยินว่า เขาจะปฏิเสธ จึงไม่ได้ใช้หลักฐานนี้
เบื้องหลังการขอวีซ่า
จึงตื่นเต้นพอสมควรกว่าวีซ่าจะคลอดได้ คุณประจวบ ก็มาช่วย ผู้ประสานงาน
และ ช่วยเหลือ ในการขอวีซ่า เพราะเคยเป็น อดีตพระไทย ที่ไต้หวัน เก่งภาษาจีน
และกุศลผลบุญ เสริมหนุน ให้อดีต ท่านสมณะลักขโณ ในขณะนั้น ยังอยู่ที่
ประเทศไทย ได้ช่วยเจรจา กับทางสถานทูต ตลอดจน ท้ายที่สุด ต้องรบกวน
พลตรีจำลอง ศรีเมือง เอ่ยปากรับรองกับอุปทูตว่าทั้ง ๑๐ คนนี้ กลับเมืองไทย
แน่นอน วีซ่าทั้ง ๑๐ เล่ม จึงคลอดออกมา ทันกำหนด
อาทิตย์ที่
๗ เมษายน ๒๕๔๕ : วันโล่ง วันแรก วันเดินทาง
พวกเราออกจากบ้านกันตั้งแต่ตี ๔ จาก ๓ แห่ง เริ่มที่รถตู้ไปรับคุณปัทม์
อาอ๋อย คุณเพชร และคุณนุช ที่บ้านลาดพร้าว ต่อด้วยแวะรับน้าติ๋ว พี่สงกรานต์
และคุณแก่นฟ้าที่สันติอโศก รถตู้มุ่งตรงไปยัง สนามบินดอนเมือง เพื่อสมทบเพื่อนร่วมทางอีก
๓ ท่าน คือ พี่โม่งเหลียง (มาจากอ้อมน้อย) คุณจิ๋ว และคุณรีย์ (มาจากเยาวราช)
รวม ๑๐ ชีวิต (หญิง ๗ ชาย ๓) มาพร้อมเพรียงกัน เมื่อเวลาประมาณ ๐๕.๐๐
น. เพื่อใช้ชีวิตเดินทาง ร่วมกันอีก ๑๒ วันข้างหน้า เมื่อเช็คอินเสร็จแล้ว
ก็มานั่งปฐมนิเทศ ทำความรู้จัก ให้คุ้นเคยกันทั้งทีม และแบ่งหน้าที่กัน
พี่สงกรานต์รับถ่าย กล้องดิจิตอล คุณปัทม์ ถ่ายฟิล์มสี คุณแก่นฟ้า
ถ่ายวิดีโอ น้าติ๋วกับพี่โม่งเหลียง ดูแลเรื่องของที่ระลึก คุณนุชกับคุณจิ๋ว
ช่วยดูเรื่องการเงิน คุณเพชร กับคุณสุรีย์ ช่วยจดบันทึก การดูงาน ส่วนคุณจิ๋ว
และพี่โม่งเหลียง มีหน้าที่ เป็นล่ามพิเศษ เพราะพูด จีนกลางกันได้
อาอ๋อยในฐานะคนป่วย สุขภาพไม่ดีนัก ให้มาพักผ่อน และก็จะเป็น ผู้ช่วยทั่วไป
เรื่องการแลกเงิน คุณแก่นฟ้าขนมาหนึ่งล้าน (NT) พอดิบพอดี เพราะจะเอามาวางมัดจำ
เครื่องทำเต้าหู้ด้วย
พี่โม่งเหลียงดูสีหน้าไม่ค่อยสบาย
สอบถามได้ความว่า ในงานปลุกเสกฯ ได้ตบะจาก ท่านโสรัจโจ รับประทาน แต่ข้าวกล้อง
๓ วัน ทำให้รู้สึก แน่นอึดอัด ปั่นป่วนในท้อง รวมทั้ง มีอาการ ท้องเสียด้วย
แต่ก็สู้ สู้ ! จะไปบุกลุยไต้หวัน เสียงกระซิบมาว่า อุ่นใจกับทีมนี้
เนื่องจากมีทั้งหมอยา นักสาธารณสุข และพยาบาล มากันเพียบ อย่างไรก็ไม่ทิ้งกันอยู่แล้ว
พวกเราเหิรฟ้าไปกับการบินไทย เที่ยวบินที่ TG 634 เมื่อเวลาประมาณ
๐๗.๐๐ น. ใช้เวลา ในการบิน ประมาณ ๓ ชั่วโมง ๑๐ นาที (เวลาในไต้หวัน
จะเร็วกว่าเมืองไทย ประมาณ ๑ ชั่วโมง เพราะฉะนั้น ก็เป็นเวลา ๐๘.๐๐
น. ทางไต้หวัน.)
สิบเอ็ดโมงเช้าถึงสนามบินเจียงไคเชค
สนามบินนานาชาติของไต้หวัน อยู่ที่เมืองเถาหยวน ห่างจากไทเปเมืองหลวง
ประมาณ ๔๐ กิโลเมตร พี่โม่งเหลียงและคุณจิ๋ว เริ่มทำหน้าที่ส่งภาษาจีน
ที่เคาน์เตอร์ ตรวจคนเข้าเมือง ท่านลักขโณ ท่านมหา ชุติโรจน์ ท่านสมชาย
(พระไทยในไต้หวัน) และภิกษุณีเหยียนติ้ง มารอรับพาทีมงาน (มีพระ และภิกษุณี
ขับรถให้นั่ง หาก ไม่ได้รับการบอกกล่าวมาก่อน คงจะรู้สึกเกรงใจ ไม่กล้านั่ง
แต่ที่ไต้หวัน ถือเป็นเหตุการณ์ปกติ ที่พระหรือภิกษุณี จะขับรถ ให้ฆราวาสนั่ง
หรือเพศบรรพชิตขับรถและ ผู้นั่งข้างหน้า คู่กัน จะเป็นเพศที่ต่างกัน
ก็ไม่เป็นเรื่องผิดแปลก) มุ่งหน้าสู่ไทเป วันแรก พวกเราก็ได้รับบทพิจารณา
มรณานุสติ คือ รถยนต์ทั้ง ๓ คัน ขับตามกันไปเป็นขบวน นำโดย ภิกษุณีและมีท่านสมชาย
พร้อมกับ ทีมชายอีก ๓ คนปิดท้าย ถึงทางแยก ที่จะขึ้นทางด่วน รถภิกษุณีเกิดหยุดกะทันหัน
ทำให้ รถคันที่สอง ต้องเหยียบเบรค จนตัวโก่ง รถคันที่สาม (ซึ่งเบรคไม่ค่อยดี)
ก็เบรคสุดกำลัง แต่เบรคไม่อยู่ชนรถคันที่สองดังโครม !!!
เดชะบุญไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บสาหัส
เพียงแต่ทีมหญิงที่นั่งในรถคันที่สอง ได้รับการ จัดกระดูก จากแรงกระแทกพอทน
ด้วยความห่วงใยชีวิต ในรถคันที่สาม ทีมหญิงในรถ คันที่สอง จึงเหลียวหลังไปดูรถคันที่สาม
แล้วก็ต้องใจหายวาบ เมื่อพบภาพ รถผสมปูนซีเมนต์ ๑๐ ล้อ ๒ คันจอดติด
ๆ อยู่ท้ายรถคันที่สาม แต่หัวรถเบี่ยงออกไป ทางขวาเล็กน้อย หากรถ ผสมปูน
ไม่เบนออกขวา รับรองได้เลยว่า สภาพรถคันที่สาม จะต้องแบน อัดติดแน่น
แน่นอน นี่คันที่สามโชคดีปลอดภัย ไม่ได้อันตรายแต่อย่างไร นึกชมเชยน้ำใจ
และสติของ คนขับรถปูน ที่ไม่กระหน่ำซ้ำเติม ตามวิสัยของ ผู้ที่ขับรถคันใหญ่
อีกทั้งยังได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า คนขับรถ ในไต้หวัน จะตระหนักและคำนึงถึงความปลอดภัย
ของผู้เดินทาง ตามท้องถนน อยู่เสมอ เหตุการณ์ครั้งนี้ เตือนตนเองว่า
อย่าได้ประมาทความตาย จะมาเยือนเมื่อใด ก็บ่ฮู้ เร่งทำความดี ๆ ๆ
เป้าหมายแรกโรงงานผลิตเต้าหู้
บ่ายโมง เป้าหมายแรกซึ่งเป็นทางผ่านก่อนเข้าไทเป คือโรงงานผลิตเต้าหู้
ซึ่งคุณแก่นฟ้า ตั้งใจมาถ่ายวิดีโอ กระบวนการผลิต โดยละเอียด ท่านลักขโณ
จึงให้เวลานานหน่อย โรงงานนี้เป็นโรงงานผลิต ขนาดกลาง เต้าหู้นับเป็นอาหารหลัก
ของชาวไต้หวัน มีโรงงาน ขนาดเล็ก เป็นพันแห่ง กระบวนการผลิต ได้แก่
การนำวัตถุดิบ (เมล็ดถั่วเหลืองนำเข้า จากสหรัฐอเมริกา - ไม่ต้องสงสัยเลยว่า
จะไม่ใช่ ถั่วเหลือง GMO) มาแช่น้ำค้างคืน จากนั้น ถูกส่งเข้าเครื่องบด
เติมอบเชยผง แล้วเข้าเครื่องต้ม แยกน้ำแยกกากถั่วให้หมู น้ำเต้าหู้
ส่งเข้าถังปั่น / กวน ใส่ดีเกลือ ประมาณ ๑๐ ใบ ให้ตกตะกอน จับตัวเป็นก้อน
เทใส่ถาด สี่เหลี่ยม เลื่อนไปตามราง จนเย็น วางถาดซ้อนกัน ทับอัดเอาน้ำออก
จนเป็นก้อนแข็ง เทออกจากถาด ตัดเป็นชิ้น ใส่กระด้งไม้ไผ่ให้ พัดลมเป่าจนเย็น
นำเก็บเข้าตู้แช่เย็น ๑ คืนแล้วจึงนำไปทอด โดยใส่น้ำตาล ซี่อิ๊วปรุงรส
ได้เป็นเต้าหู้ทอดสี น้ำตาลเหลือง ขายเป็นถุง ๆ ละ ๗ กิโลกรัม ราคา
๑๐๐ NT (อัตราการแลกเปลี่ยนเงิน ๑ NT = ๑.๒๕ บาทไทย เฉลี่ยกก. ละประมาณ
๑๘ บาท ซึ่งถูกกว่า เนื้อสัตว์มาก ถึงชื่อว่า เป็นอาหารคนจน ในไต้หวันได้)
เครื่องนี้สามารถผลิตได้ ๒๕๐ กิโลกรัมต่อ ๑ ชั่วโมง มีคนปฏิบัติงาน
๑๐ คน
สรุปกระบวนการผลิต
ถั่วเหลือง - ถั่วเหลือง - แช่ในน้ำ ๒๔ ชม. - บด + อบเชยผง - ต้ม (แยกกากนำไปเลี้ยงหมู)
- น้ำเต้าหู้ปั่น - เติมดีเกลือ - เต้าหู้จับเป็นก้อน - เทใส่ถาด -
กดทับเป็นก้อน - ตัดเป็นชิ้น ๆ - เป่าเย็น - แช่แข็ง - ทอด - บรรจุใส่ถุง
ข้อดีในการผลิตของโรงงานนี้
๑. สามารถผลิตได้รวดเร็ว ปริมาณมาก
๒. ใช้แรงงานคนน้อย
๓. ทำเต้าหู้ได้มีคุณภาพ คงตัว เพราะสูตรคงที่ รสชาติอร่อย
๔. มีการคัดขนาด นำเต้าหู้ที่แตกออก
ข้อสังเกต (จากนักสุขาภิบาลอาหาร
ต.อ.) ใช้เทคโนโลยีเครื่องจักรชั้นดี แต่สุขลักษณะไม่ดี กระด้งไม้ไผ่
ที่ใช้ตากเต้าหู้ดำ ขึ้นรา การวางรังใส่เต้าหู้ ติดพื้นที่มีน้ำแฉะ
หลายครั้ง ที่เต้าหู้ หล่นกับพื้น แต่ก็เก็บขึ้นมาบรรจุถุง เตรียมจำหน่าย
ขั้นตอนการบรรจุ คนงานไม่มี การสวมผ้า ปิดปาก -จมูก ใช้มือสัมผัสเต้าหู้
โดยไม่สวมถุงมือ พนักงาน (ผู้ชาย) ใส่เสื้อบ้าง ไม่ใส่บ้าง (เป็นแบบอุตสาหกรรม
ในครอบครัว)
ข้อที่ต้องพิจารณาปรับปรุง
๑. หากจะผลิตเต้าหู้มากเช่นโรงงานนี้ จะทำความสะอาดกระด้งไม้ไผ่อย่างไร
ไม่ให้ขึ้นรา หรือ ควรใช้ วัสดุอื่น
๒. สุขลักษณะส่วนบุคคลของคนผลิต
๓. การจัดการน้ำเสีย
ข้อมูลทั่วไป ไต้หวันมีคน
๒๒ ล้าน กินเจประมาณ ๕ ล้านคน เพราะฉะนั้นโรงงานผลิตเต้าหู้ จึงมีเป็นพันแห่ง
อาหารกลางวันแบบง่ายๆ
กว่าจะออกจากโรงเต้าหู้ไปรับประทานอาหารกลางวัน ก็เป็นเวลาบ่ายสองกว่าแล้ว
คุณนุชมองเห็น ร้านบะจ่าง ห่อห้อยเป็นพวงอยู่ ดูแปลกตา ก็วิ่งรี่ เข้าไป
ด้วยเป็นของชอบ และคงหิวจนตาลาย ร้านก๋วยเตี๋ยวเจ เป็นร้านเล็กๆ ที่เมืองจงลี่
เจ้าของเมื่อเห็นหน้า ท่านลักขโณ ก็รีบออกมาต้อนรับ เพราะพาลูกค้ามาให้
เพราะทีมที่แล้ว ท่านก็พามาที่นี่ ก๋วยเตี๋ยวมีสูตรต่างๆ หน้าตาต่างไปจากบ้านเรา
และมีก๋วยเตี๋ยว ผสมกระเพาะปลาเจด้วย ระหว่างรอ คนขายปรุงรส พวกเราก็เริ่มฝึกเรียน
ตัวหนังสือจีน โดยมีคุณจิ๋วนำ อย่างน้อยก็รู้ว่า "ไจ" แปลว่า
"เจ" สำหรับ "ซู่" แปลว่า "มังสวิรัติ"
พวกเรา หัดสังเกต ตัวอักษรไว้ ถ้าไม่ใช่สองตัวนี้ ก็อย่าได้เฉียดไปทีเดียว
เดี๋ยวจะวิ่งออกมาไม่ทัน
อร่อยมากน้ำซุปรสชาติดีผสมพริกเผ็ดนิดๆ
(แต่ที่ไต้หวันน้ำส้มสายชูพริกดอง หากินยากนะ) ขาเห็ดหอมทุบ ก็ขาใหญ่มาก
จนแอบไปเปิดตู้เย็น ดูยี่ห้อ เผื่อจะซื้อ กลับเมืองไทยบ้าง ก๋วยเตี๋ยวยังไม่หมดชาม
ก็เริ่มสังเกต ความเอาใจใส่ เป็นธุระของภิกษุณี ที่ไปหาขนมน้ำแข็ง
มาบริการพวกเรา ถ้วยใหญ่ๆ หลายถ้วย จนอิ่มแปร้
ช่วงบ่าย
แวะร้านหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ และวิทยาลัยภิกษุณี
แวะร้านขายขนมแป้งไส้ต่าง ๆ หลากสี หลายสูตร มีซาลาเปาลูกโต (มาก)
ยัดไส้ กะหล่ำปลี เห็ดหอม รสชาติดี เป็นร้านหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์
(ของดี ของเมืองจงลี่)
จากนั้นเดินทางไปวิทยาลัยสงฆ์เหยียนกวง
ซึ่งเป็นวิทยาลัยสงฆ์แห่งแรก ที่อนุมัติให้มีปริญญาได้ (ปัจจุบันทั้งประเทศ
มีประมาณ ๔๐ แห่ง และ สาขาย่อย รวมเป็น ๘๐ แห่ง) ในไต้หวัน มีความเสมอภาค
ในการบวช ทั้งชายและหญิง หลายๆ สำนัก มีภิกษุณี เป็นผู้นำ และมีข้อดีที่
"ความเป็นแม่บ้าน" ทำงานละเอียด คุมฆราวาส ทำงานได้มวลมาก
วัดมหายานส่วนใหญ่ จะเน้นที่การทำงานรับใช้สังคม การลดกิเลสเป็นรอง
"คุณจะผิด วินัยบ้างก็ได้ ถ้าทำเพื่อเมตตา" หรือ "ก่อนที่จะปฏิญาณตนว่า
เป็นอรหันต์ ให้ลองทำงานรับใช้ ช่วยเหลือคนอื่นดูก่อน จึงจะรู้ว่า
หมดกิเลสหรือไม่" ขณะนี้องค์กรศาสนา ในไต้หวัน เข้มแข็งมาก เริ่มส่งคนออกไปทำงาน
ด้านการศึกษา โรงพยาบาล เผยแพร่ วัฒนธรรม และ ศาสนาไปทั่วโลก โดยจะรวมตัว
ช่วยเหลือกัน ระหว่างสำนัก แต่เมื่อเทียบกับ ฝ่ายเถรวาท ถือคติแบบปัจเจก
คือต้อง "บรรลุ" ก่อนจะไปโปรดสัตว์อื่น
ซือฟู่(ภิกษุณี)
"ยุ่น" หรือเหมือนหมาย (ญาติธรรมเก่าของอโศก) มาบวชอยู่ที่นี่
แต่ไม่ได้พบ เนื่องจาก เป็นช่วงฝึกอบรม คุณนุช เอาหนังสือของวัดเรา
ที่พิมพ์ใหม่ๆ ไปฝาก พวกเราได้เดิน ชมวัด และแอบแวะ ไปดูที่พัก ของพระไทย
ซึ่งได้มาเรียนหนังสือที่นี่ ค่อนข้างแออัด และ อยู่กันแบบ "ไทยๆ"
เจ้าอาวาส ออกมาต้อนรับ เจี๋ยเหยียน ด้วยขนม และหนังสือ นับเป็นครั้งแรก
ที่เราได้รู้จักคำว่า "เจี๋ยเหยียน" ซึ่งแปลว่า "การผูกเหตุปัจจัย"
เป็นวัฒนธรรม ชั้นสูง ของการให้ สำหรับชาวพุทธสายมหายาน ที่พวกเราได้เห็น
ตลอดช่วงเวลา ที่อยู่ในไต้หวัน ซึ่งมี ความหมายว่า "ทำบุญด้วย
ความเต็มใจ ด้วยการให้ วัตถุสิ่งของ หรือธรรมะ โดยอาศัยหลักว่า ฉันขอผูกปัจจัยกับคุณ
(ขอร่วมบุญบารมีด้วย) หากคุณบรรลุธรรมแล้ว มาโปรดฉันบ้าง
หมอจาง หมอทางเลือกคนแรกที่ไปหา
ห้าโมงเย็น ไปพบหมอจาง รักษาโรคด้วยการนวด ขูด ตี พี่โม่งเหลียงซึ่งกำลังปวดท้องอยู่
อาสาเข้ารับการบำบัด เป็นคนแรก การรักษา กระทำโดย การนวดหลังด้วยมือ
แล้วใช้วัตถุ ลักษณะ คล้ายเขาสัตว์ ขนาดฝ่ามือ ขูดบริเวณหลัง จนห้อเลือดแดงเป็นปื้นๆ
เพื่อรีดเอา สารพิษออกมา พี่โม่งเหลียง (กัดฟัน) อดทนมาก จะมีก็แต่คนดู
(อนุญาต เฉพาะผู้หญิง) ที่ได้แต่ร้องโอยขึ้นมา เป็นระยะๆ
คุณแก่นฟ้าเป็นรายต่อมา
ดูหมอเหนื่อยพอควร (คนดูก็เหนื่อยพอกัน) ก่อนจาก หมอจาง ไม่คิดสตางค์
ซึ่งโดยปกติ หมอจะคิดค่ารักษา ครั้งละประมาณ ๑ พัน NT แต่กลับเจี๋ยเหยียน
(การผูกเหตุผูกปัจจัย) ด้วยไม้พลาสติก สีชมพูหวานแหวว (ราคาถึง ๑๐๐
NT ราว ๑๒๕ บาท) คนละ ๑ อันไว้ตีกระตุ้นจุดเส้นประสาทต่าง ๆ ให้เลือดและลมปราณ
ไหลหมุนเวียน เป็นการรักษาสุขภาพ ช่วงเย็นๆ หมอจางเอง ก็เปิดสอนวิชานี้ฟรี
ให้แก่ผู้สนใจด้วย
ร้านพืชงอก ร้านผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ
ออกจากหมอจาง ก็ได้แวะร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพไร้สารพิษ มีผลิตภัณฑ์
จากเมล็ดพืชงอก ธัญพืชชนิดต่าง ๆ ที่ถือว่า ให้คุณค่าอาหารแบบ "พลังสด"
เช่น เมล็ดทานตะวัน อัลฟัลฟ่า ข้าวบาร์เล่ย์ ข้าวสาลี ฯลฯ พร้อมอุปกรณ์
ในการเพาะต้นกล้า จำหน่าย
เจ้าของพาเข้าไปหลังร้านชมวิธีการเพาะต้นกล้าโดยการใส่เมล็ดพืชที่ต้องการเพาะ
ในถาด สี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง X ยาว = ๑๒ X ๒๔ นิ้ว ประมาณ ๓ -
๔ ชั้น จากนั้น ปล่อยน้ำเข้า โดยเครื่องปล่อยน้ำ อัตโนมัติ ควบคุมโดยวาวล์ของท่อน้ำ
สามารถ ปรับให้ ไหลมาก-น้อยได้ ซึ่งจะช่วยให้เมล็ดพืช ได้รับความชื้น
ที่พอเหมาะ ทำให้งอกได้ง่าย และงาม ถั่วอัลฟัลฟ่า เมล็ดเล็ก เพาะโดยแช่น้ำ
ไว้ประมาณ ๕ ชั่วโมง จากนั้น เทน้ำออก ให้หมด นำแช่ในตู้เย็น ๑ คืน
นำออกรดน้ำทุก ๒ ชั่วโมง ต้นกล้าจะค่อย ๆ งอกออกมา พวกเราหลายคน ตื่นเต้นกับถั่ว
ซึ่งรูปลักษณ์ คล้ายมันสมอง (Walnut) มีรสชาติมัน
ๆ ขมนิดๆ ในร้านนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้น ของการช็อป ของกินของฝาก ตั้งแต่วันแรกเลยทีเดียว
คุณแก่นฟ้า หิ้วมากที่สุด เพราะเหมาเอาถาด เพาะพืชงอก ไปฝากชาวชุมชน
ศีรษะอโศก (ไม่ทราบว่า จนป่านนี้ ได้ใช้งานแล้วหรือยัง)
(ยังอุตส่าห์มี)รายการพิเศษก่อนเข้าที่พัก(อีก)
จากนั้นรถ ๑ คัน นำพี่โม่งเหลียงซึ่งยังต้องการไปหาร้านหมอจีนจับชีพจร
(แมะ) ซึ่งจ่ายยา โดยไม่คิดมูลค่า ส่วนอีก ๒ คัน (ทีมชาย ๑ คัน หญิง
๑ คัน) ล่วงหน้าไปก่อน รถของท่าน ชุติโรจน์ เอาไปเปลี่ยนกับญาติธรรมไต้หวัน
เป็นรถแวนโฟร์วีล คันใหญ่จุได้ ๗ คน ใช้สองคัน พอประหยัดน้ำมัน ถือว่าคนที่นี่
เขาก็ศรัทธาพระ และมีน้ำใจ ช่วยเหลือเป็นอย่างดี วัดที่พัก ชื่อเมี่ยวคงซื่อ
(MIAO KONG TEMPLE - ) เป็นสถานที่ ที่ทีมงานได้อาศัยพัก
เมื่อยามอยู่ที่ไทเป เป็นวัดที่ภิกษุณีเหยียนติ้ง ออกทุนสร้างขึ้น
(ท่านมีอาชีพเป็นพยาบาลมาก่อน และพอมีเงิน สะสมอยู่บ้าง) อยู่บนเขามู่จ้า
(muja - ) ซึ่งวิ่งอยู่ หลายโค้ง กว่าจะถึง
ปลูกเป็นเรือนไม้ฉำฉา แบบเรียบง่าย แต่ตกแต่งอย่างมีศิลปะ เห็นอุปกรณ์การรักษา
และส่งเสริมสุขภาพ มากมายหลายชนิด พวกผู้หญิงแยกไปนอน ที่เรือนสองชั้น
เป็นห้องโถงใหญ่ หน้าต่างติดมุ้ง รอบด้าน วันนี้อากาศเริ่มเย็น ที่นี่มีเสื่อนอน
(เสื่อพลาสติกแผ่น ต่อแบบจิ๊กซอร์ ที่พวกเรา หลายคนชอบ เพราะถอดเก็บทำความสะอาดง่าย
ไม่เปลืองเนื้อที่) และผ้าห่มพร้อม (บางคน ก็หิ้วถุงนอนมา ตามคำแนะนำ
ของท่านลักขโณ ซึ่งไม่เสียหลาย เพราะบางคืนฝนตก อากาศเย็นเจี๊ยบเลยทีเดียว)
ท่านลักขโณแจกนามบัตรพร้อมมีเบอร์โทรศัพท์ให้ทุกคนไว้
หากเกิดการพลัดหลงสามารถ โทรติดต่อกลับมาได้ รถคันทีมชาย หายไปนาน
กระเป๋า สาว ๆ หลายคน อยู่ในรถคันนั้น ก็รอด้วยความเป็นห่วง ปรากฏว่าไปติดใจ
คุยกับท่านตุ๋ย (พระไทยที่เชี่ยวชาญ ทั้งมหายาน และ เถรวาท) อยู่เป็นนาน
(พี่สงกรานต์เขียน บันทึกเรื่องอรหันต์ ตายสูญ? ความเชื่อของ มหายาน
- เถรวาท ความต่างที่สุดขั้ว จริงหรือ? อยู่ท้ายบท)
จันทร์ที่
๘ เมษายน ๒๕๔๕ : วันที่สองในไทเป ไต้หวัน ยามเช้าบนภูเขา
ตื่นขึ้นมาด้วยความสดชื่น อากาศดีมาก ต้นไม้เยอะ เพราะอยู่ชานเมือง
ทำให้บรรยากาศ เป็นธรรมชาติ แต่บางคน ก็ยังนอนผวาอยู่บ้าง เพราะมีข่าว
แผ่นดินไหว ในไทเปก่อนมา ๒-๓ วัน อาหารเช้าเป็นน้ำเต้าหู้ ซาลาเปาผัก
และอาหารเบาๆ ที่ซื้อกันมา ตั้งแต่เมื่อวาน ซึ่งภิกษุณีตื่นแต่เช้า
เมตตา ช่วยอุ่น ช่วยเตรียมให้ ช่วงเช้าเป็นเวลา ที่เราได้สนทนารวมหมู่
ดูทีวีช่องต่างๆ ของไต้หวัน เพื่อเรียนรู้ชีวิต ความเป็นอยู่ ของคนที่นี่
ด้วยความที่ ท่านลักขโณ เป็นผู้ใฝ่การเรียนรู้ พวกเราจึงได้รับความรู้
จากท่านในหลายๆ แง่มุม ทำให้หูตากว้างขวาง มากขึ้น ที่นี่มีทีวี หลายสิบช่อง
เป็นช่องศาสนา โดยเฉพาะ เสียสองช่อง ช่องการแพทย์ ทางเลือก และสุขภาพหนึ่งช่อง
เคลื่อนขบวนไปซันฉง
ดูงานสหกรณ์ผู้ผลิต-ผู้บริโภค Co-op
เจ็ดโมงเช้า เราออกเดินทางไปซันฉงถึงสหกรณ์หนิงหมงซึ่งเป็นองค์กรเอกชน
รับหน้าที่ เป็นศูนย์กลาง การรับซื้อ บรรจุผลิตภัณฑ์ อาหารสุขภาพ ที่มีคุณภาพ
ไร้สารพิษ (organic food) และจัดส่งสมาชิก ตามกลุ่มเครือข่าย
ทั่วประเทศ ถือว่าเป็นทั้งสหกรณ์ ของผู้ผลิต และ ผู้บริโภค ที่เป็นตัวกลาง
แลกเปลี่ยนสินค้า ไปในเวลาเดียวกัน มีสาขาอยู่ทั่วประเทศ แต่ละเมือง
จะมีสมาชิกเป็นกลุ่ม กลุ่มละประมาณ ๕ คน สมาชิกจะคัดเลือก ผลผลิต เด่นของตน
ส่งมาที่ศูนย์กลาง ในขณะเดียวกัน ก็จะสั่งซื้อผลผลิตจากที่อื่นๆ ที่ตนไม่มี
เพื่อนำไปบริโภค ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า ๕,๐๐๐ คน เก็บค่าสมาชิก ครอบครัวละ
๒,๐๐๐ NT ปันผลตามกำลังซื้อ ของแต่ละคน ตั้งมากว่าแปดปีแล้ว รัฐบาลไต้หวัน
ซึ่งเป็นพรรคสีเขียว ให้การสนับสนุน งบประมาณ สมทบด้วย กำลังจะขยายการจัดตั้งสหกรณ์
ซึ่งทำหน้าที่ เดียวกันนี้อีก ทางภาคใต้ เพื่อลดต้นทุนการขนส่ง
เรามีโอกาสเดินดูกิจการไปรอบๆ
และบุกขึ้นทุกชั้น จนถึงห้องเย็น ซึ่งมีขนาดใหญ่ พอที่จะบรรจุพวกเราได้เป็นสิบๆ
คนเลยทีเดียว อาคารที่ทำการชั้น ๑ เป็นห้อง คัดเลือกผัก ผลไม้ และบรรจุ
ชั้น ๒ เป็นห้องเก็บของ ชั้น ๓ เป็นห้องเย็น ห้องแช่แข็ง (อุณหภูมิ
ลบ ๒๐ องศาเซลเซียส) สำหรับ เก็บอาหารแห้ง เครื่องปรุงรส เมล็ดธัญพืช
ปลาแช่แข็งต่าง ๆ มีพื้นที่ เป็นสำนักงาน และห้องแล็ปด้วย
สหกรณ์มีที่ปรึกษาจบปริญญาเอก
ทำหน้าที่ให้คำแนะนำ แก่เกษตรกรเครือข่าย ว่าด้วยเรื่องดิน ที่เหมาะกับการปลูกพืช
แต่ละชนิด หลักการเพาะปลูก และมีเจ้าหน้าที่ ทำงานกึ่งอาสาสมัคร เงินเดือนน้อย
ช่วยคัดผลิตภัณฑ์ ที่มีคุณค่าทางอาหาร ซึ่งจะเน้น อาหารสุขภาพ สมาชิกลุ่มใด
ต้องการอะไร จะสั่งล่วงหน้า ๑ สัปดาห์ ศูนย์ฯ จะส่งของ ให้หัวหน้ากลุ่ม
นำไปจ่ายต่อ ให้สมาชิก แต่ละครอบครัวต่อไป การเชื่อมโยง ข้อมูลกับเครือข่าย
ใช้การสื่อสารทาง E-mail โทรศัพท์ และโทรสาร
สหกรณ์นี้แยกตัวเป็นเอกเทศมาจากสหพันธ์สตรี
และมูลนิธิปกป้องสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นองค์กร ที่ทำงานรณรงค์ และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
(ซึ่งเราจะได้ไปดูงานในรายการต่อไป) รูปแบบ บรรจุภัณฑ์ จะมีภาพผลไม้/ผัก/ของแห้ง
ในกล่องจะมีฉลาก บอกสรรพคุณต่าง ๆ ซึ่งทำให้ ผู้บริโภค ได้รับข้อมูล
ที่เป็นประโยชน์ และเป็นการเผยแพร่สินค้า อีกอย่างหนึ่ง
ด้านการตรวจสอบความปลอดภัย
จะมีห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์เล็กๆ (ท่านลักขโณ ขอให้ตัวแทน ต.อ.เข้าไปดู
๔-๕ คน เพราะห้องเล็กจริงๆ) ทำหน้าที่ คัดกรองเบื้องต้น โดยใช้ test
kit ที่เป็นชุดน้ำยาทดสอบ หรือแผ่นทดสอบ สำเร็จรูป เช่น การทดสอบ
สารไนไตรท์ตกค้าง ซึ่งถือว่า เป็นสาร ก่อมะเร็ง โดยจะทดสอบพืชผักทุก
Lot ที่ส่งมา กรณีที่พบสารเคมี เกินกำหนด จะส่งคืนผู้ผลิต ราคาของผลิตภัณฑ์
จะแพงกว่า ผักตลาด ที่ใช้สารเคมี ประมาณ ๑ เท่าตัว เนื่องจากได้ผลผลิต
น้อยกว่าผลผลิตทั่วไป ในตลาด ๑ ใน ๓ เท่า
สหพันธ์สตรีและมูลนิธิปกป้องสิ่งแวดล้อม
รายการนี้ท่านลักขโณเพิ่มให้เป็นพิเศษสืบเนื่องจากรายการแรกที่ พวกเราซักกันมาก
เรามีเวลาสั้นๆ ก่อนอาหารกลางวัน สหพันธ์ตั้งอยู่ชั้น ๘ ของอาคารชุด
ที่ทำเป็นสำนักงาน ไม่มีเวลา พูดคุยเท่าใด ได้แต่อ่าน อุดมการณ์ขององค์กร
ที่ติดเอาไว้ แปลได้ความว่า "กินน้อย ใช้น้อย ประหยัดทรัพยากร
รักษาสิ่งแวดล้อม และ ช่วยเหลือชุมชน
ภายในบริเวณเล็กๆ
ยังเป็นที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพ และขายของใช้แล้ว ของที่ซ่อมแซมใหม่
แล้วนำมาใช้อีก เช่น เสื้อผ้า กระเป๋า กระติกน้ำร้อน ซึ่งบางคน ถือโอกาสซื้อมา
ในราคาเพียง ๒๐ NT (ถูกมากๆ จนป่านนี้ ก็ยังไม่รู้ว่า มันไม่ดีตรงไหน
นอกจากรอยบุบนิดเดียว)
อาหารกลางวัน
บุฟเฟ่ต์เจที่หลายคนโหวตว่าประทับใจที่สุด
พวกเราลงเดินเลียบถนนผ่านหลายแยกเข้าไปในตรอก เป็นร้านบุฟเฟ่ต์เจ ตกแต่งด้วย
อาหารนานาชนิด ได้สวยงามมาก มีทั้งผักสด สลัด ผักต้ม หลากสี อีกทั้งสารพัดสาหร่าย
เต้าหู้ (วิตามินเพียบ) เลือกตักได้ตามอัธยาศัย
การคิดเงินใช้วิธีชั่งเอา
โดยยกไปที่โต๊ะของเจ้าของร้าน เจ้าของใช้ตาชั่ง ย้ำใช้สายตาจริง ๆ
ชั่ง คืออาศัยการประมาณเอา (คงดู ที่ประเภท อาหารด้วยมั้ง) น้ำหนักอิ่มละประมาณ
๑๐๐ - ๑๒๐ NT ข้าวสวย และซุปแถมฟรี เท่าที่จะกินได้
วินิจฉัยโรคผ่านม่านตา
บ่ายโมงครึ่งนั่งรถต่อไปย่านธุรกิจ ขึ้นคอนโดชั้นดีไปหาหมอเหลียน หมอเหลียนเป็น
เมดิคอลด็อกเตอร์ จบวิชาแพทย์แผนปัจจุบัน จากอเมริกา และได้เรียนวิชา
ที่ชื่อเป็น ภาษา อังกฤษว่า Iridology ซึ่งมีรากศัพท์มาจากคำว่า
Iris แปลว่า ม่านตา มีเรื่องเล่าว่า สมัยเมื่อหมอ ชาวยุโรปท่านหนึ่ง
เป็นเด็ก เคยช่วยรักษา นกฮูกตาโตซึ่งขาหัก และสังเกตเห็น ม่านตา ของนกตัวนั้น
มีร่องรอยแผลเป็น แต่เมื่อนกฮูกขาหายเจ็บ และเป็นปรกติดี รอยนั้น ก็หายไป
เขาจึงสนใจศึกษา และพัฒนาศาสตร์นี้ขึ้นมา ด้วยความเชื่อที่ว่า มีความเชื่อมโยงกัน
ระหว่าง เส้นประสาทตา กับอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เช่นเดียวกับชาวจีน
เชื่อว่ามี ความเชื่อมโยง ระหว่างประสาทที่หู หรือที่ปลายฝ่าเท้า กับอวัยวะต่างๆ
ของร่างกาย (Reflexology)
การวินิจฉัยปัญหาสุขภาพ
ผ่านเลนส์ม่านตาเดิม ใช้การมองด้วยตาเปล่า หรือเลนส์ ช่วยส่องขยาย
ต่อมาได้พัฒนา เป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ ที่ขยายรายละเอียด และพิมพ์ออก
ทางเครื่องพิมพ์ ส่วนการอ่านวิเคราะห์ผล ต้องอาศัยประสบการณ์ของหมอ
ควบคู่ไปกับตำรา ซึ่งความรู้ ของศาสตร์นี้ ต่อมาได้พัฒนาโดย
Dr. Bernard จาก California U.S.A. ซึ่งมีตำรา
รวบรวม ความรู้ โดยละเอียด ลักษณะม่านตา (ตาซ้ายและตาขวา ก็จะบอก ความผิดปกติ
ของอวัยวะ ที่อยู่ข้างซ้าย และข้างขวา แตกต่างกันด้วย) จะมีความเป็นหลุม
เป็นบ่อ เป็นวงเป็นขอบ สีจางสีเข้ม แตกต่างกัน แต่ละบุคคล โดยแต่ละพื้นที่
(ทั้งหมดมี ๑๐๔ area) จะบ่งบอกรอยโรค หรือความเจ็บป่วย
ของอวัยวะต่างๆ ภายในทั่วเรือนร่าง ได้อย่าง น่าอัศจรรย์จริงๆ
คลินิกของหมอเหลียนตกแต่งแบบทันสมัย
มีรสนิยมดี ใช้ศิลปะ ภาพถ่าย และรูปปั้น มาตกแต่ง อีกทั้งเครื่องไม้เครื่องมือ
ก็ดูทันสมัย เมื่อวานนี้ ท่านลักขโณ ให้พวกเรา ๑-๒ คน สมัครเอาไว้
โดยมีเงื่อนไข ให้จ่ายค่ารักษาเอง เพราะต้องนัดหมอ ไว้ก่อนล่วงหน้า
เมื่อเราไปถึง แม้คนไข้จะมีไม่มาก แต่พวกเรา ก็รอนานพอควร เพราะหมอมีความเป็นหมอที่ดีมาก
คือให้เวลา แก่การอธิบายโรค สาเหตุ และวิธีการดูแลตนเองด้วย คนละหลายสิบนาที
พี่โม่งเหลียง เป็นอาสาสมัครตามเคย เพราะกำลังปวดท้องอยู่ อาอ๋อยก็สุขภาพไม่ค่อยจะดี
ส่วนพวกเรา ที่ไม่มีความเจ็บป่วยปรากฏ ก็ไม่ค่อย อยากจะเสียสตางค์
กับค่าเงินสูงๆ ของไต้หวันสักเท่าใด แต่เมื่อหมอลงมือวินิจฉัยโรค พวกเราก็เริ่มตาโต
เพราะแม่นยำอะไรปานนั้น เหตุผล ที่หมออธิบาย ก็มีความเป็นวิทยาศาสตร์
และเป็นแบบองค์รวม น้าติ๋วรีบขอโควต้าพิเศษ ให้ตนเอง (อีกหลายคนทำตาปริบๆ
แต่ไม่กล้าเอ่ยปาก เพราะท่านลักขโณ เบรคเอาไว้ว่า แค่นี้ก็กินเวลาเขา
ไปหลายแล้ว) หมอก็แสนจะใจดี ใช้เวลากับพวกเรา ไปเกือบสองชั่วโมง ภรรยาหมอ
คงตะหงิดๆ นิดหน่อย เพราะยังมีคนไข้ คอยอีกหลาย ตกลงทีมเรา ได้ตรวจ
สุขภาพ ๔ คน คือพี่โม่งเหลียง น้าติ๋ว อาอ๋อย และคุณแก่นฟ้า แต่ละคน
ก็พบโรค ที่แตกต่างกัน ซึ่งก็ตรงกับสภาวะของโรค ที่แต่ละคนเป็นอยู่
วินิจฉัยเสร็จ หมอก็ส่งไปรักษา ด้วยวิธีต่างๆ กัน เช่น ใช้เครื่องอัลตราซาวด์บ้าง
เครื่องจัดกระดูกบ้าง เครื่องส่องด้วยรังสี และเครื่องมืออื่น ๆ ที่ไม่รู้จัก
รวมถึงยา ซึ่งเป็นยาจากต่างประเทศ (ค่าใช้จ่าย ในการตรวจรักษา ของทีมเรา
ตกอยู่ระหว่าง ๑,๗๐๐ - ๕,๗๐๐ NT) ตัวอย่างคำวินิจฉัย และข้อแนะนำ ที่ได้รับจากการตรวจ
ได้แก่ :-
พี่โม่งเหลียง หมอวิเคราะห์ภาพถ่ายจากดวงตา
๒ ข้าง ว่า สำไส้ใหญ่ มีปัญหาอุดตัน ถูกครูด เป็นแผล (ตรงกับสาเหตุ
การทานข้าวกล้องอย่างเดียว ติดต่อกัน ๓ วัน เคี้ยวไม่ละเอียด อาหารไม่ย่อย)
หมอแนะนำ ให้กินอาหาร ให้พอเหมาะหลากหลาย โดยเคี้ยวข้าวกล้อง ให้ละเอียด
การกินอาหาร ยา จุลินทรีย์ เสริมอื่น ๆ ต่อเนื่อง จะกลับเป็นโทษ จะต่อต้าน
จุลินทรีย์ธรรมชาติ ในร่างกาย การกินของบำรุงมากไป อุดตันปิดกั้น การดูดซึมอาหาร
ของเซลล์ ที่ลำไส้ ถ้าทำชี่กง ผลดีต่อลมปราณภายใน หรือถ้าฝึกโยคะ ก็จะช่วยจัด
โครงสร้าง กระดูกกล้ามเนื้อ
น้าติ๋ว มี white
ring หรือ วงแหวนสีขาวรอบตาดำ จาก blood vessel (เส้นเลือดที่เลี้ยง
บริเวณรอบ ๆ อวัยวะนั้น ๆ ) แสดงว่ากินเค็มเกิน จะมีผล ต่อหัวใจ ปลายมือ-เท้าจะเย็น
ให้ลดอาหารเค็ม เพราะทำให้แก่ไว ดื่มน้ำให้เพียงพอ งดของทอด งดอาหารเผ็ดจัด
เค็มจัด น้ำมันงา ให้พลังงานมากไป หมอจ่าย flaxseed
oil เพื่อล้างเส้นเลือด ให้สะอาด
องค์กรศาสนานำการรณรงค์กสิกรรมไร้สารพิษ
ออกจากหมอเหลียนก็ห้าโมงเย็นแล้ว เดินทางไปยังองค์กรที่แปลชื่อได้ว่า
"ใจกรุณา" ทำงานรณรงค์ การทำกสิกรรมธรรมชาติ และ รับรองคุณภาพ
ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ไร้สารพิษ อยู่บนคอนโดเช่นกัน เราได้เห็นการขึ้นลิฟท์
อย่างมีวัฒนธรรม ของชาวไต้หวัน ซึ่งเข้าแถวกันเข้าลิฟท์ (ต่างกับ บ้านเรานะ)
เราขึ้นไปชั้นเจ็ดก่อน เพื่อดูซูเปอร์มาร์เก็ต พืชผักไร้สารพิษ
เขาใช้สัญลักษณ์
"ใบโพธิ์" สีต่างๆ รับรองคุณภาพของผักผลไม้ แม้แต่อาหารกระป๋อง
ของนำเข้า จากต่างประเทศ ติดอยู่ที่ชั้นวางของ ทุกผลิตภัณฑ์ สีที่ทำให้ผู้บริโภครู้
และ ตัดสินใจ เลือกซื้อได้ คือ สีเขียวหมายถึง ไร้สารพิษ สีเหลือง
หมายถึงปลอดสารพิษ และสีชมพู ใช้สำหรับผลไม้ ที่มีการปลูก แบบไร้สาร
๓ ปีขึ้นไป
เมื่อถึงเวลานัดก็ลงมาชั้น
๗ ฟังคำบรรยายเพิ่มเติม องค์กรใจกรุณา อยู่ภายใต้การนำ ขององค์กรสงฆ์
ทำงานร่วมกับฆราวาส มีสมาชิก ประมาณหนึ่งหมื่นคน มีสาขาขององค์กรวัด
๓ แห่ง และโชว์รูมร้านค้า ๑๓ แห่งทั่วประเทศ มี พระอาจารย์กัง เป็นผู้นำ
คัมภีร์ที่สอน คือ เส้นทางโพธิสัตว์ ที่มีแนวคิดว่า การปฏิบัติธรรม
กับวิถีชีวิต จะต้องไปด้วยกัน ต้องฝึก ทำงานร่วมกับ คนที่มีจริต หลากหลาย
ถ่ายทอดอุดมการณ์ ธรรมะ การศึกษาเยาวชน และ กสิกรรมไร้สารพิษ เหตุที่ต้องมาทำ
เรื่องกสิกรรมไร้สารพิษ ก็เพราะ หนึ่ง ปัจจุบัน
มีภัยธรรมชาติมาก ต้องปลูกอาหาร เตรียมพร้อมไว้เสมอ
สอง คนปลูกผัก ไม่กล้ากินผัก ของตนเอง คนไต้หวันเป็นมะเร็ง
๑ ใน ๑๐ คน มีผู้ป่วยใหม่ ในแต่ละปีถึง ๕๐,๐๐๐ คน และมีเด็กๆ ที่ถูกล้างไตแล้ว
ดังนั้น จึงเป็นเรื่องเร่งด่วน ที่ต้องส่งเสริมทุกฝ่าย ที่เกี่ยวข้อง
ขึ้นมาแก้ปัญหา เพื่อให้ ผู้ปลูก และผู้บริโภค มีสุขภาพดีขึ้น ได้เกื้อกูล
ซึ่งกันและกัน และ มีผลต่อสิ่งแวดล้อม
อาหารเย็น
สไตล์ ชมร.
เสร็จแล้วก็กลับขึ้นไปที่ชั้น ๘ อีก เพื่อรับประทานอาหารเย็น คนแน่นผิดตา
เพราะกลายเป็น ที่ชุมนุม ของสมาชิกองค์กร และ ประชาชนผู้สนใจ คล้ายๆ
กับชมร. ของเรา คือ มีอาสาสมัคร ทำงานฟรี รณรงค์อาหารไร้สารพิษ แต่รสชาติอาหาร
เหมาะสำหรับ คนล้างกิเลส
ข้อที่น่าชื่นชม
คือ ทุกคนที่มาตักอาหารจะเข้าคิวและหยอดเงิน (คนละ ๑๒๐ NT
ไม่ว่าจะ รับประทาน มากน้อยเท่าใด) ใส่กล่อง หรือทอนสตางค์เอง
ก่อนตักอาหาร (แสดงให้เห็น ถึงความซื่อสัตย์) หลังจากรับประทานอาหารเรียบร้อยแล้ว
จะเช็ดโต๊ะ บริเวณที่ตนรับประทาน ให้สะอาด เพื่อผู้มาทีหลัง จะได้นั่งรับประทานต่อได้ทันที
พร้อมทั้ง นำภาชนะอุปกรณ์ ที่ใช้ไปล้างยังจุดที่จัดไว้ให้ ด้วยตนเอง
(เรื่องนี้น่าจะค่อยๆ นำมาปรับปรุงที่ ชมร.ของเรา โดยทำมุม สำหรับลูกค้า
ที่มารับประทานอาหาร ซึ่งอาจจะมีความคิด ที่จะช่วย ลดแรงงาน ด้วยการล้างภาชนะที่ตน
รับประทาน ทำไปนาน ๆ เข้าจะเกิดความเคยชิน และมีหมู่มวล ปฏิบัติตามมากขึ้น)
= ต่อตอน ๒ =
(ดอกหญ้า
อันดับที่ ๑๐๓ กันยายน - ตุลาคม ๒๕๔๕)
|