บันทึกความทรงจำ : ๑๒ เพล(า)
ในไต้หวัน -
ระหว่างวันที่ ๗ - ๑๘ เมษายน ๒๕๔๕
(ตอน ๓)
(ต่อจากตอน ๒)
วันศุกร์ที่ ๑๒
เมษายน ๒๕๔๕
..อิ่มใจในธรรมชาติ
(มีบางคน) ลุกขึ้นมาทำวัตรเช้า
ตีห้าลงมาร่วมสวดมนต์ ภิกษุณีไทย
เมตตามาช่วยเปิด หน้าหนังสือสวดมนต์ให้อีก ทำวัตรจนถึงเวลา ประมาณ
หกโมงเช้า กลับทำภารกิจส่วนตัว แล้วกลับลงมาที่วัด ได้เห็นภิกษุณี
อายุประมาณ ตั้งแต่ ๒๐ ถึง สูงอายุ ๖๐-๗๐ ปี จำนวนประมาณ ๓๐-๔๐ รูป
ทำงานตามหน้าที่ อย่างขะมักเขม้น ดูแลสถานที่ ทำอาหาร ท่านเหล่านั้น
ดูหน้าตา ผ่องใส สะอาด บริสุทธิ์ ทำให้รู้สึกว่า ชีวิตของผู้หญิง ที่ได้ประพฤติพรหมจรรย์
และสร้างประโยชน์แก่สังคม แก่โลก เป็นชีวิต ที่น่าชื่นชม และเป็นแบบอย่าง
แก่สตรีที่ดี
หลังอาหารเช้า ไปแอบดูการบรรยากาศการสอนภิกษุณี
โดยพระอาจารย์พิเศษ จากธิเบต จากนั้นเข้าไปกราบ นมัสการลา ท่านเจ้าอาวาส
ซึ่งอายุ ๘๔ ปีแล้ว สีหน้าแววตาของท่าน ดูเมตตา ท่านเล่าว่า พ่อแม่พาไปวัด
ตั้งแต่เด็ก ได้บวชปฏิบัติธรรม ทางใจ ตั้งแต่นั้น ตั้งปณิธานว่า ถ้ามีบุญมีโอกาส
ก็จะออกบวช ก็ได้สม ปรารถนา ท่านได้แจก พระอติคพุทธ/ โพธิสัตว์กวนอิม/
พระพุทธ สีหไสยาตร แก่พวกเรา คนละองค์ เพื่อเป็น เครื่องเตือนสติ ในการปฏิบัติ
ธรรมต่อไป ก่อนกลับ ไม่ลืมที่จะไปอุดหนุน ของที่ระลึก ฝากคนที่บ้าน
และวัด ที่ฮิตมาก คือสาหร่าย ขวดใหญ่ (ยังนึกไม่ออกว่า จะหอบกลับหมด
ไปอย่างไรนะนี่)
หมู่บ้านซันอี้
แดนไม้แกะสลัก
ออกจากวัดผ่านหมู่บ้านซันอี้ซึ่งแปลว่าสามยุติธรรม
(แต่ก็ไม่ได้รู้ประวัติหรอกนะว่า ทำไมถึงชื่อนี้) สองข้างทาง เต็มไปด้วย
ร้านโชว์ และขาย ไม้แกะสลัก สวยงามมาก ไม้ที่ใช้แกะ ส่วนใหญ่เป็น ไม้จันทน์หอม
และนิยมแกะ เป็นรูปโพธิสัตว์กวนอิม โพธิสัตว์ตั๊กม้อ พระสังขจาย เทพเจ้ากวนอู
ตอนนแรกที่แวะ ไม้สลักแต่ละชิ้น
แกะได้ละเอียดประณีต งดงาม และชิ้นใหญ่ๆ ทั้งนั้น แต่ก็มีของที่ระลึก
ชิ้นเล็กๆ ที่พอจะหอบหิ้วได้ แต่ก็ได้รับสัญญาณเตือนว่า อย่าเพิ่งรีบซื้อนะ
แถวนี้แพง
ภิกษุณีพาแวะ เลี้ยวเข้าซอย ไปยังหมู่บ้านด้านใน
มีร้านเล็กๆ หลายร้าน ขนาดพอเหมาะ กับกระเป๋า ของพวกเรา ที่นี่จึงเป็น
แหล่งซื้อ ของที่ระลึก แหล่งใหญ่ ที่พวกเราได้ซื้อมาฝาก คนที่เมืองไทย
ที่น่าสนใจ มีหลากหลายแบบคือ ชุดเครื่องนวด มีทั้งนวด แบบกดจุด นวดแบบถูไถ
นวดแบบขยุ้ม (มีหลายขา) ใช้มือบีบ ลูกสามเหลี่ยม แบบขนมเทียน ไม้นวดหลัง
เป็นต้น
สวน(ป่า)เกษตรธรรมชาติฉืนซิน
จากนั้นเรารีบเดินทางขึ้นสู่ภาคกลางของไต้หวัน
พื้นที่ตลอด ๒ ข้างทางมีบ้านคนอยู่หนาแน่น ผ่านป่าจงฉิน วิ่งผ่านเขา
เขียวชอุ่ม เดินทางถึง สวนเกษตรธรรมชาติฉืนซิน ตำบลกวนซี ที่หุบเขา
อากาศกำลังเย็น มีฝนปรอยๆ อุณหภูมิราว ๑๕ องศาเซลเซียส
พวกเรารับเลี้ยงอาหารกลางวันท่ามกลางบรรยากาศสดชื่น เป็นบะหมี่ต้มซุปผักแบบง่ายๆ
ฝีมือของทีม เกษตรกร หนุ่มทั้ง ๔ คนที่เป็นหุ้นส่วนกันอยู่ที่นี่ พื้นที่ราว
๑๓ ไร่ รอบๆ เป็นป่าธรรมชาติ ทำกสิกรรม แบบไร้สารพิษมาได้ ๙ ปีแล้ว
ในอดีตพื้นที่ เต็มไปด้วย สารเคมีมากว่า ๓๐ ปี พบเห็นสิ่งแวดล้อม งู
เขียด โดนสารเคมีทำลาย เลยมาได้คิดว่า ตัวเขาเองโดนสารพิษ ซึมเข้าร่างกาย
ก็จะต้องตาย เช่นกัน จึงคิด ไม่อยาก ทำสวนต่อ จะยกให้วัด หลวงพ่อบอก
ให้เปลี่ยนวิธีการเพาะปลูกใหม่ ไม่ใช้สารเคมี เขาบริจาค ที่ให้มูลนิธิเมตตา
ซึ่งก่อตั้งโดยหลวงพ่อ ที่แห่งนี้ จึงเป็นที่ ศึกษาดูงาน สวนเกษตรไร้สารพิษ
จัดกิจกรรม ให้ความรู้ แก่ผู้สนใจ ทุกเพศวัย ตลอดปี ทั้งครู ผู้อำนวยการโรงเรียน
นักศึกษามหาวิทยาลัย ฯลฯ ให้แนวคิด เกี่ยวกับ อาหารไร้สารพิษ วิธีการเพาะปลูก
และอื่น ๆ อีก ดังนั้น แม้จะมี ที่ดินน้อย แต่ก็ทำประโยชน์ แก่หมู่มวลมนุษย์
มากมาย
พวกเราก็เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้มาดูงานเดือนละหลายๆ
กลุ่ม แม้ฝนจะตก พื้นจะแฉะ แต่ก็ยืนหยัดเดินดูรอบๆ บริเวณ เป็นเนินป่าผลไม้
ข้างๆ ทางจะเป็น เจดีย์เล็กใหญ่ บรรจุพระพุทธรูปเล็ก ๆ ก่อไว้ให้ผู้มาเยือน
นึกถึง พุทธคุณ และ การเจริญเมตตา แก่ผู้อื่น
เจ้าของถิ่นเล่าว่า เป้าหมายหลักของการทำเกษตรไร้สารพิษนั้น
เพื่อนำชีวิต คืนสู่ธรรมชาติ หวังให้คน รักษาศีล ๕ ปฏิบัติ กุศลกรรมบท
๑๐ เป็นการดำรง คำสอนพุทธเจ้า ให้อยู่ชั่วกาลนาน ไม่ใช่เพื่อ เกษตรกรรม
อย่างเดียว เพื่อธรรมะ คือเป้าหมายสำคัญ หากทุกคนมีธรรมะ โลกก็จะสันติสุข
การทำเกษตร ธรรมชาติ สิ่งสำคัญเบื้องต้น จึงเริ่มที่จิต แบ่งปันเผื่อแผ่
จิตคิดจะเอื้อ ต่อธรรมชาติ เวลานก หนอน มากินผัก ผลไม้ จะรู้สึกแบ่งปัน
เจองูพิษปล่อยไป ต่างคน ต่างอยู่ จับไปปล่อยเขาสูง ดังนั้น นักเกษตรธรรมชาติ
จึงได้ใช้ การเกษตร เป็นฐาน พัฒนาจิต ให้สูงขึ้น และ ผลพลอยได้ ของเกษตรธรรมชาติ
จะช่วยอนุรักษ์ดิน แม่น้ำ ลำธาร สิ่งแวดล้อม
จากนั้นทีมก็พาเราไปดูกองปุ๋ยธรรมชาติสาธิต
โดยใช้เศษอาหาร แกลบ รำข้าว หมักคลุกกัน เป็นปุ๋ย ธรรมชาติ ทำให้ดินอุดมสมบูรณ์
เป็นการพลิกฟื้น ปรับพื้นดินขึ้นมา นอกจากนี้ ยังมีปุ๋ยหยาบ จากใบไม้
ข้าวเปลือก ขี้วัว คลุกถ่านขนาด ๑ นิ้วผสม จะช่วยดูดซับกลิ่น ดูดซับอาหารแล้วค่อย
ๆ ปล่อยให้ต้นไม้ และ มีปุ๋ยละเอียด จากกาก ถั่วเหลือง กากเม็ดชา จุลินทรีย์
รวมทั้งปุ๋ย จากเปลือกหอย บดเป็นผง กระดูกปลาสด ในช่วง ที่ไม้ผลบางชนิด
ยังเป็น ต้นเล็กๆ อาจจะมีการใช้ สารเคมีบางอย่าง ช่วยประคับประคอง
พอต้นโต แข็งแรง ก็ไม่ใช้ สวนนี้มีไม้ผลกว่า ๖๐ ชนิด ได้แก่ บ๊วย ส้ม
สับปะรด น้อยหน่า กะทกรก (เสาวรส) ส้มโอ ส้มกิ๊ก (ส้มจิ๊ด) สาลี่ มะเฟือง
มะละกอ ลิ้นจี่ ฯลฯ นอกจากนี้ ก็ยังมีผักต่างๆ อีกมากมาย เช่น คาวตอง
(ที่นี่เชื่อว่า แก้พิษงู) สะระแหน่ (ไล่แมลง) ฯลฯ ที่อาอ๋อยนักกินผัก
เด็ดไว้เป็นอาหารมื้อต่อไป ของพวกเรา หอบใหญ่ รวมทั้งขอ มะละกอเขา
แถมอีกสองลูก เพราะบางคน เปรี้ยวปาก ห่างส้มตำ มาหลายเพลาแล้ว
หัวหน้าทีม ได้ฝากข้อคิด ก่อนจากว่า
พวกเราคนไทย คนจีน ต่างดำเนินชีวิต ตามคำสอน มีจิตโพธิสัตว์ มีหลัก
พุทธธรรม เดียวกัน หวังว่า พวกเรามุมานะ เพื่อธรรมชาติ นำสุขสู่มวลมนุษย์
สมกับคำที่เขียนไว้ "ที่ใดมีจิตเมตตา ที่นั่นเป็น แดนสุขาวดี
เป็นแดนมหัศจรรย์"
เดินทางกลับขึ้นไปไทเป
บ่ายสามโมงออกจากสวนป่าเพื่อเดินทางกลับขึ้นไทเป
ระหว่างทางออกจากหมู่บ้าน ผ่านวัด เฉาอินตันซือ สังเกต หลังคาโบสถ์
ศาลามีช่อฟ้าใบระกา รูปหางหงส์ แบบไทย ท่านเล่าว่าหลวงพ่อเจินตุ้น
เคยมา เมืองไทย ชอบรูปลักษณ์ ของวัดไทย เลยนำแบบไปสร้าง ภายในโบสถ์
พระพุทธรูปหน้าขาว แบบพระพุทธรูป ของพม่า
จากนั้นเราก็ขึ้นทางด่วนฟรีเวย์
และแวะลงที่เมืองเซรามิค เครื่องปั้นดินเผา อีเกิล Engle (นกอินทรีย์)
ซึ่งท่าน ลักขโณเอง ก็ไม่เคยไป มาก่อน ท่านชุติโรจน์ จึงเป็นผู้นำทีม
ฝ่ายหญิงโชคดีเดินตามผู้นำที่รู้ทาง เลยมีเวลา ได้ชมความงาม ของเครื่องปั้นดินเผา
และ เซรามิค บนถนนคนเดินสายหลัก ที่มีร้านค้า จัดตกแต่ง แสดงนิทรรศการ
และ จำหน่ายสินค้า นานาชนิด www. chinahouse. com. Tw
แต่ละคนได้ของที่ถูกใจคนละชิ้น (หนักพอประมาณ)
เช่น พี่สงกรานต์ได้รูปปั้นพระพักตร์ พระโพธิสัตว์ หินทรายสีขาว มีแสงไฟ
ส่องจากด้านล่าง ไม่ว่าจะมองจากมุมไหน ก็จะเห็นว่า ท่านมองตามเรา ตลอดเวลา
ให้เป็นเครื่องเตือนใจว่า "ให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ที่จะเร่งสร้าง
กรรมดี" ส่วนคุณนุชได้ของ ไปฝาก คุณพ่อ เป็นหีบเพลง รวมบทสวด
มหายาน ที่มีรูปหน้าพระพุทธเจ้า และ พระโพธิสัตว์ ปางต่างๆ ที่ทำจาก
กระจก แกะสลัก ส่องด้วยแสงไฟ จากด้านใน ดูงดงาม สงบยิ่งนัก
มื้อเย็นภิกษุณีท่านพาเราแวะตลาดอาหารกลางคืน
คล้ายๆ โต้รุ่ง มีทั้งรถเข็น และห้องแถว สองข้างทาง เปิดไฟ สว่างไสว
อาหารก็คงเป็นร้านเต้าหู้เหม็น ที่มีชื่อของเมืองนี้ ตามเคย แต่คราวนี้
ไม่ใช่เต้าหู้ทอด อย่างเดียว เขาเอา เต้าหู้เหม็น มาปรุงเป็นอาหาร
ที่หลากหลาย ทั้งต้ม ผัด แกง เฉพาะแกงเผ็ด ก็มีให้เลือก สองชาม คือ
ปรุงด้วย เต้าหู้ที่เหม็น ๒ ระดับ ให้เลือกตามความพอใจ สังเกตว่า อายุของคน
ที่อยู่ไต้หวัน นานๆ จะสัมพันธ์กับดีกรี ความเหม็น ที่เลือก คงไม่ต้องบอกว่า
พวกเราเอง ถึงไม่ค่อยอยากเลือกเท่าไร แต่ก็ หมดทุกอย่าง
วันเสาร์ที่ ๑๓
เมษายน ๒๕๔๕ วันหยุด
ตามอัธยาศัย
รถไฟฟ้ามหานคร
วันนี้อาอ๋อยกับคุณเพชรซึ่งอากาศเปลี่ยน
พักผ่อนน้อย เป็นหวัดเจ็บคอ งอมพระราม มาหลายวันแล้ว จึงขอตัวพักรบ
และบำเพ็ญประโยชน์ อยู่ที่วัดไม่ได้
ออกไปกับทีมที่เหลือที่ยึดคติว่าขอใช้เวลาให้คุ้มค่าที่สุด พอหลังอาหารเช้าภิกษุณีกรุณาขอยืมรถตู้
รับ-ส่ง นักเรียน ไปส่งนักลุยอีก ๘ ชีวิตโดยมีท่านลักขโณนำทีมขึ้นรถไฟฟ้าชมทัศนียภาพเมืองไทเป
และตึกสูงสุด ในไทเป และสูงที่สุด ในโลก (๑๐๑ ชั้น โดยขณะนี้สร้างถึงชั้นที่
๕๖)
ณ วันนี้พวกเรา รวมหมู่กันดีมาก
ไปไหนไปด้วย ไม่ให้คลาดสายตากันทีเดียว ต่อรถเพียงต่อเดียว ทั้งหมดราว
๗-๘ สถานี ก็ถึงสถานีซุนยัดเซ็น แล้วเดินต่อไปอีกนิด ก็ถึงพิพิธภัณฑ์
ซึ่งเราโหวตกันแล้วว่า มาทั้งที ก็ต้องดู ของคู่บ้าน คู่เมือง ของเขาให้ได้
พิพิธภัณฑ์ ดร.ซุนยัดเซ็น
ที่ Sun-Yat-Sen Memorial Hall เป็นตึกโอ่โถงกว้างใหญ่
๓-๔ ชั้นกระมัง รอบอาคาร เป็นสนามหญ้ากว้าง นับสิบไร่ จึงกลายเป็นที่พักผ่อน
ของชาวเมือง ที่จูงพ่อ แม่ คนรัก ลูกเด็กเล็กแดง มาออกกำลังกาย นานาเทคนิค
ตั้งแต่ไทเก็ก ชี่กง เว่ยตันกง ฯลฯ รวมไปถึงการลีลาศ เต้นรำจังหวะต่างๆ
ดูเพลินตาไปอีกแบบ
แม้กระทั่งม้านั่ง ก็สามารถนวดฝ่าเท้า
และดัดหลังได้ไปในตัว
เข้าไปในตัวตึกมีรูปปั้นนั่งของดร.ซุนยัดเซ็นขนาดใหญ่ ที่คล้ายๆ จะจำลองแบบมาจาก
อนุสาวรีย์ ของประธานาธิบดี ลินด์คอน ในสหรัฐอเมริกา จุดที่ทุกคนจะต้องแวะมาเยี่ยมชมอยู่ที่นี่
เฝ้ามองลีลา ของทหาร (จังหวะเดินตรง ไม่กระพริบตา) ที่ตั้งแถวคารวะรัฐบุรุษของชาติ
ก่อนและหลัง ที่จะเข้ามา ผลัดเปลี่ยน เวรยามทุก ๑ ชั่วโมง ภายใน พิพิธภัณฑ์
แบ่งเป็นหลายโซน เพื่อแสดงประวัติของ ดร.ซุนยัดเซ็น พร้อมผู้กล้าในขบวนปฏิวัติ
ที่เกี่ยวข้อง ทำให้ทราบ ถึงประวัติศาสตร์ จีนแผ่นดินใหญ่ และจุดเริ่มต้น
ของประเทศไต้หวัน มีทั้งห้องแสดง นิทรรศการภาพ ห้องสมุดหนังสือ ห้องสมุดสื่อที่ทันสมัย
ที่สามารถ เข้าไปนั่งชมได้ ในหลายรูปแบบ ทั้งแบบกรุ๊ป หรือส่วนตัว
เรียกว่าอยู่ในนั้นทั้งวัน ยังไม่สามารถ เก็บเกี่ยว ความรู้ และความบันเทิงได้หมด
แวะเยี่ยมท.ท.ท.ไต้หวัน
Travel Information Center of the
Tourism Bureau หรือ ท.ท.ต. ให้บริการข้อมูลการท่องเที่ยว ในรูปแบบ
นิทรรศการ ภาพ หนังสือ วิดีโอ ซีดี้ เป็นร้อยๆ เรื่อง แนะนำข้อมูล
ของทั้งประเทศ และแยก ตามเมืองต่างๆ ในแต่ละภูมิภาค ของไต้หวัน แสดงวิถีชีวิต
สภาพเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ขนมธรรมเนียม ประเพณี รวมถึงจุดที่น่าท่องเที่ยว
นอกจาก ให้บริการ แก่คนต่างชาติ ด้วยภาษาต่างๆ แล้วยังให้บริการ แก่คนไต้หวัน
ที่ต้องการไปท่องเที่ยว ณ ประเทศต่างๆ อีกด้วย
ชั้นบนมีห้องปรับอากาศ ให้นั่งชมวิดีโอและซีดี
ด้วยอุปกรณ์ทันสมัย แบ่งเป็นล็อคๆ เลือกใช้บริการ ตามอัธยาศัย พวกเราได้โอกาสนั่งพักเมื่อย
เลยเลือกกันมาคนละเรื่อง สองเรื่อง ตอนแรก ก็ชี้ชวนแบ่งกันดู นานเข้า
นานเข้าก็ค่อยๆ เงียบเสียงกันไป และมีเสียงฟี้ๆ ดังมาเป็นระยะๆ
อาหารกลางวันจากร้าน
7-eleven
เราสัญญากันตั้งแต่เช้าแล้วว่า เที่ยงนี้งดพันธะเรื่องอาหาร
อดได้ก็ให้อด รู้สึกเสียงดังขันแข็งดี เพราะเพิ่งอิ่ม กันใหม่ๆ พอเดินไปเดินมา
ชักออกอาการ (หิวน่ะซิ) บริเวณสถานี รถไฟฟ้าใต้ดิน ที่พอจะหามังสวิรัติได้
ก็คงเป็นขนมปัง จากร้าน 7-eleven ก็หาที่นั่งกันแถวๆ นั้นแหละ ได้บรรยากาศดี
ใครเป็นใคร ไม่มีใคร สนใจกันหรอก ไม่เสียชื่อเมืองไทยด้วย เพราะพวกเรา
ก็หน้าตี๋หมวย ซิ้มแป๊ะกันอยู่แล้ว จากนั้น ก็เดินลัดเลาะ ทางต่อไป
ผ่านสถานีรถไฟ Railway Station ข้ามถนนลงใต้ดิน
ช้อปสรรพสินค้าใต้ดิน
ย่านสรรพสินค้าใหญ่แห่งหนึ่งของไต้หวันอยู่ใต้ดิน
ด้านบนเป็นถนนสายยาว มีทางขึ้นลง ๑๓ ประตู พวกเรา ไม่ค่อยสนใจเท่าใด
เพราะคล้ายๆ สยามสแควร์ โบ๊เบ๊ที่ขายแต่เสื้อผ้า เป็นหลัก ส่วนใหญ่
มีแต่วัยรุ่น
มีเพียงร้านหนึ่งที่พวกเราแวะนานหน่อย คือ ร้านจำหน่ายไม้ไผ่ ตีกระตุ้นเลือดลม
กล้ามเนื้อทั่วร่างกาย แก้ปวดเมื่อย คนนิยมแวะดู แวะลอง เพราะเดินช้อปกันจนเมื่อย
ข้อสำคัญ คนขายมีวิญญาณ นักบริการ ที่ไม่รู้เหน็ดเหนื่อย ตี ตี ตี
สาธิตให้ลูกค้าตั้งแต่หัวจรดเท้า(ไม่รู้ตีมากี่เท้ากันแล้ว) จนลูกค้าเห็นความดี
ต้องขอซื้อไปคนละอันสองอัน สนนราคา ตั้งแต่ ๕๐๐-๑,๒๐๐ NT (ตอนนี้เห็น
มาฮิตแถวๆ อโศก ตีได้ตีดี) เรื่องการนำเข้าเทคโนโลยี จากต่างประเทศนั้น
เราเรียนรู้ จากที่อื่นได้ แต่จะรู้จักประยุกต์ใช้วัตถุดิบ (ไม้ไผ่)
จากบ้านเรา แบบทำเองใช้เอง ก็น่าจะดีกว่า เอาแต่ซื้อ เอาแต่นำเข้า
อย่างเดียวนะ ช่วงเย็นภิกษุณี นัดมารับที่ หน้าห้างสรรพสินค้า Shin
Kong Mitsukoshi สูง ๑๒ ชั้น คล้ายห้างเซ็นทรัล ระหว่างทางเดิน มีเซลล์แมนข้างถนนชั้นเยี่ยม
ขายที่เจาะผลไม้ ยกดื่มได้ทั้งผล ลีลาการสาธิต ทำให้พวกเราอยากซื้อ
ไปลองกัน เพราะอันละไม่กี่สตางค์ เรียกว่าขายถูกย่อมขายดี ขายได้มาก
เมื่อมาถึงจุดนัดก่อนเวลา
วกเราที่หยุดนิ่งไม่ได้ ก็ขอบึ่งขึ้นไป
ดูห้างใหญ่ ของเขาสักหน่อย ขาลงคนแน่นมาก ทำให้ช้าไป สองสามนาที ในขณะที่
ภิกษุณี ท่านมาถึงก่อนเวลาและต้องมาวนรถรอ และหาที่จอดรถไม่ได้ คุณจิ๋วเลยต้อง
เป็นฑูตสันถวไมตรี อีกตามเคย เย็นนี้คุณโย่ง ขอเป็นเจ้าภาพอีกตามเคย
ที่ภัตตาคาร ห้องแถว คุณโย่งกับคุณแก่น มานั่งเตรียมเอกสาร บริษัทภูมิบุญ
เลยทำให้ได้รู้จัก ภูมิบุญมากขึ้น
ก่อนกลับที่พักเรายังมีอีกรายการหนึ่ง ซึ่งพวกเราไปสายกว่าที่นัดไว้
คือมาเยี่ยม"ท่านถนอม" และดู การจัดกระดูก ในแบบไคโรแพรคติก
(Chiropractic) ซึ่งท่านมาบวชเรียน ในวัดสายธิเบต ที่อยู่บนเขาสูง
อีกฟากหนึ่ งของวัดมู่จา แม้ท่านจะไม่เชี่ยวชาญเท่าหมออู๋ แต่ท่านก็มีประสบการณ์
มาระดับหนึ่ง ข้อสำคัญ ท่านมีเมตตามาก ขนาดที่ท่าน นั่งรอพวกเรา ช้าไปหลายชั่วโมง
แต่ท่านก็ยังใจเย็น ต้อนรับพวกเรา ด้วยอัธยาศัยดียิ่ง ขณะที่ท่านจัดกระดูก
ให้พวกเราแต่ละคน ท่านก็พยายามสอน พยายามอธิบาย ให้พวกเราเข้าใจหลักการ
วิธีการ แถมท่านยังดัดกระดูก โดยเฉพาะ กระดูกคอ ได้อย่างนุ่มนวล จนไม่รู้สึก
ต้องสยอง เหมือนที่หมออื่นๆ ทำ แม้จะดึกมากไปหน่อย แต่พวกเรา ก็กลับบ้านมา
ด้วยความกระปรี้กระเปร่า เพราะเมื่อกระดูกเข้าที่ เลือดลม เดินสะดวก
หายใจโล่ง สายตาแจ่มชัดขึ้น ถ้าไม่มีประสบการณ์ตรง ก็คงไม่อยากจะเชื่อ
ในประสิทธิภาพ ของศาสตร์นี้เป็นแน่
วันอาทิตย์ที่ ๑๔
เมษายน ๒๕๔๕
งามแต่วิบาก
ต่างคนต่างคันมุ่งลงภาคกลาง
รถเก๋งคันของท่านภิกษุณีสภาพดีกว่าขอผ่านขึ้นภูเขาสูงชัน
มุ่งลงภาคกลาง เพราะเส้นทางสั้นกว่า ส่วนรถ คันที่ท่านสมชายขับ ซึ่งเป็นขอยืมมาจากวัดท่านตุ๋ย
ปุโรทั่ง กว่าออกเดินทางราบๆ ไปตะวันออก ตามถนนหมายเลข ๕, ๒ ไป Northeast
Coast Scenic Area โดยใช้ freeway ลอดอุโมงหลายแห่ง ขึ้นเขาเป็นช่วงๆ
เลียบชายทะเล ถึงจีหลง เป็นเมืองท่าทางเหนือ มีท่าเรือใหญ่ชื่อ "ไทพิงยัง"
แปลว่าใหญ่ ราบเรียบ หมายถึงมหาสมุทรแปซิฟิค รับส่งสินค้า จากญี่ปุ่น
จะมาขึ้นลงที่นี่ มีเรือขนส่งสินค้า ขนาดใหญ่จอด ทะเลบริเวณนี้ เป็นทะเลน้ำจืด
ลัดเลาะตามถนน ชายฝั่งแปซิฟิค ซึ่งเผยให้เห็น ทัศนียภาพ มหาสมุทร ที่แผ่นน้ำเรียบสงบ
สวยงามในเดือนเมษายน แต่กลับมีคลื่นลม แรงมาก ในเดือนสิงหา กันยา ดังนั้น
ชายฝั่งตะวันออก จึงไม่มีหาดทราย มีแต่โขดหิน และสังเกต พบซีเมนต์หล่อ
รูปสี่แฉก วางเป็น แนวยาว ไว้ต้านคลื่นที่มาแรง ๆ
ภายใต้พื้นผิวน้ำทะเลที่แลราบเรียบ
กลับมีกระแสน้ำอุ่น กระแสน้ำเย็นที่เรียก "ไถ่มิง" แปลว่า
ลมแรง จึงก่อให้เกิด ภูเขาหินแข็งตามแนวฝั่ง โดยจะมีวัด ตั้งอยู่ตามซอกหลืบเขา
อาบน้ำแร่แช่น้ำเย็น
พวกเราต้องแวะมาร่วมงานที่สำนักสงฆ์เปิดใหม่
ในตลาดที่ซูเอ้าซึ่ง ท่านชุติโรจน์ล่วงหน้ามาก่อนแล้ว เป็นสำนักสงฆ์
อีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นตึกแถว ในตลาด ดูผู้คนศรัทธามาก แขกมาร่วมงานกัน
ขวักไขว่ พวกเราได้รับการต้อนรับ อย่างดี เนื่องจากมาถึงช้า เขาเสร็จพิธีแล้ว
ถึงเวลาอาหารพอดี เลยต้อง มาตั้งโต๊ะใหม่ หน้าตลาด เขินเหมือนกัน
หลังรับประทาน อาหารกลางวัน สมาชิกบางคน
ได้โอกาสลงแช่น้ำแร่เย็นซูเอ้า ซึ่งเป็นน้ำแร่เย็น หนึ่งในจำนวน สองแห่ง
ในโลก อีกแห่งอยู่ที่นิวซีแลนด์ อัตราค่าผ่านประตู คนละ ๗๐ NT จากนั้น
จะเสียค่าห้อง (ในห้องอาบน้ำ ส่วนตัว) อีกห้องละ ๑๐๐ NT ซึ่งอนุญาตให้อาบได้
๒ คน แต่พวกเรา ขอแบบประหยัด คือ ๓ คน
เขาให้เวลาทั้งแช่ ทั้งอาบห้องละ
๔๐ นาที ลักษณะของห้อง เป็นห้องไม้ไผ่ มีบ่อที่น้ำแร่ไหลผ่าน อยู่ด้านหนึ่ง
มีบันได นั่งข้าง ๆ จะใช้วิธีการตักอาบ หรือลงไปแช่ทั้งตัว ก็สุดแล้วแต่ความสมัครใจ
ลักษณะของน้ำเย็น มีการไหลเวียนถ่ายเท ซึ่งกว่าจะลงแช่ทั้งตัวได้ ก็ต้องค่อย
ๆ ปรับสภาพร่างกาย ให้ชินกับความเย็นเฉียบ ของน้ำแร่ เมื่อใกล้จะครบเวลา
เจ้าหน้าที่ก็จะมาเคาะประตูหน้าห้อง ให้เตรียมเปลี่ยนเสื้อผ้า ให้เรียบร้อย
ทุกคนที่ลงแช่น้ำแร่ เมื่อขึ้นจากบ่อ ต่างบอก เป็นเสียงเดียวกันว่า
รู้สึกสดชื่น และแปลกใจ ที่แทนที่จะรู้สึก หนาวเย็น กลับพบกับความอบอุ่น
ของร่างกาย อย่างประหลาด ซึ่งก็เป็นประสบการณ์อย่างหนึ่ง ที่น่าจะทดลองสัมผัส
ด้วยตนเอง
เทือกเขาหินอ่อน
"ไถ้หลู่เก๋อ"
เวลาบ่ายคล้อยเดินทางต่อตามเส้นทางเลียบเขาและชายฝั่งแปซิฟิค
ซึ่งเป็นทางสองเลนแคบๆ คดเคี้ยว ไปมา ท่านลักขโณ ชี้ให้ดูเส้นทางเดิม
ซึ่งวิบากกว่ามาก เรียกว่าเวลารถสวนกัน ต้องแขม่วท้อง กลั้นหายใจ เพื่อให้รถผอมลง
และผ่านกันได้ แม้ทางจะกว้างกว่าเดิม แต่ก็เต็มไปด้วยรถบรรทุกใหญ่ๆ
ที่เร่งคันเร่ง ด้วยความเร็วสูง ช่วงทางโค้ง พอจะมีระบบความปลอดภัยอยู่
เพราะจะมีกระจกเงา ให้ทุกโค้ง แต่ก็มิวายตื่นเต้นสุดๆ เมื่อสิบสี่ล้อคันใหญ่
ต้องการแซง ในระยะกระชั้น และเป็นทางโค้ง เสียงคนหนึ่ง (ใครๆ ก็เดาถูกว่าต้องเป็นคุณปัทม์)
ร้องว่าท่านสมชาย ปล่อยให้เขาไปเถอะ แต่ท่านกลับ เร่งเครื่องหนี ซึ่งถือว่า
ท่านตัดสินใจถูกแล้ว เพราะถ้าปล่อยให้แซงขึ้นไป คงแหลก ทั้งสามคัน
เพราะมีรถบรรทุกอีกคัน (มหึมา) สวนมาพอดี ยิ่งเร่งเครื่องหนี ดูเหมือนปีศาจคันนี้
ก็พยายาม จะวิ่งตาม ไม่ห่าง เรารู้สึกว่า ไม่น่าหลงระเริง อยู่กับน้ำแร่เย็นนานนักเลย
เพราะเส้นทางวิบากนี้ ยาวไกลมาก อากาศเริ่มเย็น เราก็ยิ่งขับ ลึกเข้าไป
ใจกลางอุทยานแห่งชาติ "ไถ้หลู่เก๋อ" มากขึ้นเรื่อยๆ ความงามของเทือกเขาหินอ่อน
ที่สวยงาม ตระการตา ที่ไม่เคยคิดว่า ประเทศอุตสาหกรรมแบบไต้หวัน จะหลงเหลือธรรมชาติ
แบบนี้ให้เห็น พอทำให้จิต คลายตัวลงได้บ้าง (แต่หลายๆ คนไม่ได้ปอดแหก
ก็จะได้ซึมซับความงาม อย่างเต็มที่)
รถแวะจอดให้พวกเราถ่ายรูปและชื่นชมธรรมชาติเป็นระยะๆ
น้ำตก ลำธารน้ำบางแห่งสะท้อนแสง เป็นสีฟ้า มรกต (เหมือนสีหยก) เส้นทางคดเคี้ยว
เลี้ยวลด ลาดเขาและอุโมงค์ทิวทัศน์ บ่งบอกถึงความสงบ เยือกเย็น งดงามยิ่งนัก
หากแต่เบื้องหลังความงดงาม แห่งธรรมชาติ ที่ผู้คนปัจจุบัน ได้มีโอกาสชื่นชม
สัมผัสนี้ ได้มาจากการอุทิศเลือดเนื้อของ "คนที่ทำทาง" เจาะเขานับพัน
นับหมื่นชีวิต ทำให้นึกถึงบทเพลง ท่อนหนึ่งที่ว่า
"ด้วยเลือดด้วยเนื้อ ของคนทำทาง ฝังนามฝังร่างอยู่กลางแผ่นดิน"
วัดเอี๋ยนเจี๋ยว
แบบอย่างของการฝึกฝืนใจตนเอง
ค่ำแล้วเมื่อรถย้อนกลับทางเก่าบางคนค่อยผ่อนลมหายใจออก
รู้สึกเห็นอนาคตขึ้นบ้าง แต่ก็ไม่รู้ว่าคืนนี้ จะได้นอน ที่ไหน มีคนลุ้นให้หยุดพักผ่อน
สำหรับวันนี้ ที่วัดบนยอดเนินเขา แต่พระท่านเป็นห่วงว่า จะไม่มี อาหารเย็น
รถวิ่งเข้าเมือง แวะรับประทานอาหารเย็น แบบบุฟเฟ่ ที่ภัตตาคารแห่งหนึ่ง
คิดว่า เมื่ออิ่มหนำแล้ว คงจะได้นอนหลับ พักผ่อนกันเสียที เพราะระหว่างทาง
ที่วนไปเวียนมา หาร้านอาหารนั้น เราก็ได้ผ่าน โรงพยาบาลฉือจี้ ที่เป็นเป้าหมาย
ของเรา ในวันพรุ่งนี้ แต่โชค (คิดว่าดีก็แล้วกัน) ที่เราจะได้ฝึก ความยากลำบาก
ไปอีกกว่า ๒ ชั่วโมง ถึงจะได้นอน เพราะต้องไปพัก ที่วัดอีกเมืองหนึ่ง
ได้ยินเสียงบางคน แซวว่า อยากนอนโรงพยาบาลฉือจี้ ก็ต้องแกล้งถูกชนซิ
รับรอง เขาหามไปแน่ ยังไม่ทันจะขาดคำ ก็พบอุบัติเหตุ ที่น่าสยดสยองครั้งแรก
ที่ไต้หวัน ชนิดที่นองเลือด กันสดๆ เลย ที่ไต้หวัน ระบบการสื่อสาร
คงดีมาก เพราะรถพยาบาล ก็มาได้ทันใจ รถเราหลงทางนิดหน่อย จนต้องโทรตามเจ้าบ้าน
ออกมารับ ที่ปากทาง ถึงวัดเอี๋ยนเจี๋ยว (แปลว่า ความรู้สึก) มีวิธีบำเพ็ญเพียร
โดยการไม่นอนหลับ ที่ประทับใจมาก คือ แม้ว่าคณะเราจะมาถึง ค่อนข้างดึกแล้ว
(ประมาณ ๒๒.๐๐ น.)
ท่านเจ้าอาวาสก็มาต้อนรับด้วยตนเอง
ร่วมกับภิกษุณี และฆราวาสที่มาปฏิบัติธรรม พร้อมทั้ง ให้โอกาส พวกเรา
ซักถามข้อธรรมะต่าง ๆ ด้วยจิตที่ตื่น เบิกบานไม่มีท่าทีอาการง่วง หรือหาวนอนเลย
จนพวกเรา บางคน หนังตาเริ่ม จะริบหรี่ ๆ ลง (ท่านคงสังเกตเห็น) จึงจบการสนทนาธรรม
แยกย้ายกันไปพักผ่อน โดยให้โอกาสพวกเราว่า พรุ่งนี้ หากใครมีข้อธรรมะ
หรือปัญหาใด ๆ ก็สามารถมาคุยต่อได้
วัดนี้ มีลักษณะเด่น ที่แตกต่างจากวัดอื่นคือ
การปฏิบัติธรรมแบบไม่นอนหลับ แต่จะนั่งหลับ และยืนหลับ การฝึกปฏิบัติ
จะเข้มข้นมากน้อย ขึ้นอยู่ที่ลำดับขั้น ของผู้ที่ฝึก บางคนจะยืน เดิน
ภาวนา ตลอด ๓ เดือน โดยไม่ออกจากห้องที่ปฏิบัติ ยกเว้น เข้าห้องน้ำเท่านั้น
โดยถือหลักว่า ถ้ากล้าตายจะได้บรรลุธรรม ขณะที่เรามานี้ มีหลักสูตรอบรมเข้ม
๙๐ วัน ภิกษุณีตั้งใจฝึก ๓๖ รูป ผ่านไปได้ ๔๘ วันแล้ว ออกจาก การฝึกแล้ว
๒ รูป เจ้าอาวาสวัดนี้ถือปฏิบัติ โดยการนั่งหลับ ไม่นอนหลับมากว่า
๑๐ ปีแล้ว ท่านกล่าวว่า อานิสงค์ ไม่อาจเรียนรู้ จากพระไตรปิฏก ต้องได้จากการปฏิบัติ
ด้วยตนเอง (การนั่งหลับ ๑ ชม. เท่ากับ การนอนหลับ ๔ ชม.)
วันจันทร์ที่ ๑๕
เมษายน ๒๕๔๕
ฉือจี้ที่ยิ่งใหญ่
เดินจังหวะ "นะโม
อมิตตาพุทธ"
ตีสี่ครึ่งตื่นไปร่วมทำวัตรกับภิกษุณี
ไม่มีใครหลับเลย เพราะเป็นการเดินจังหวะ พร้อมการภาวนา "นะโม
อมิตตาพุทธ" เดินๆ ไปก็เริ่มเร็วขึ้น คล้ายการ Jogging แล้วกลับมาเดินช้าลง
แบบเดินจงกรม ใช้เวลา ประมาณ ๑ชั่วโมง ๓๐ นาที
อาหารเช้า มีบทสวดมนต์ก่อนรับประทาน
เป็นการสรรเสริญคุณพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ขณะที่พิจารณา
รับประทานอาหาร ถวายข้าวพระพุทธเจ้า ทางมหายาน เชื่อว่ามี ๓ กาย กายพุทธ
ธรรมกาย กายเนรมิต (นิรนาม การแปลงร่างในรูปต่าง ๆ เพื่อโปรดสัตว์)
ศากยมุนี เป็นองค์แปลงร่างพุทธเจ้า องค์จริงใหญ่มาก ขนาดตา เท่าพระอาทิตย์
แปลงร่างไปโลกอื่น ๆ ที่หาประมาณมิได้ พันร้อยล้าน แดนสุขาวดี มีพระพุทธเจ้าชื่อ
อามิตถอผอ ทุกอย่างเป็นทอง ที่นั่นเป็นทองทั้งหมด มีแต่เสียงธรรมะ
นกร้อง ลมพัดเป็นธรรมะ เป็นแดนที่มีความสุขสูงสุด ผู้ที่เกิดที่นี่
จะเกิดจากดอกบัว ต่อไปจะเกิดเป็น พระพุทธเจ้า ในอนาคตจะมีพระศรีอริยะเมตรัยมาเกิด
เป็นพระพุทธเจ้า องค์ต่อไป ต้าจือปูเสียภูซ่า ตี่จังโพธิสัตว์ มีปฏิภาณ
แรงกล้ายิ่งใหญ่ ที่จะขอโปรดสัตว์ ในนรกทุกขุม จนหมด จึงจะบรรลุ เป็นพระพุทธเจ้า
หลังการรับประทานอาหาร ให้มีการพิจารณาว่า
ผู้ให้ทานจะได้ความสุข เมื่อรับประทานข้าวเสร็จ ควรจะนึกถึง สัตว์โลก
การรับประทานข้าว จึงเป็นไปเพื่อไปช่วยโปรด สรรพสัตว์
ห้องบำเพ็ญเพียร
เจ้าอาวาสพาไปเยี่ยมภิกษุณีรูปหนึ่ง
ซึ่งกำลังบำเพ็ญเพียรฝึกปฏิบัติเข้มอยู่ในห้อง ทั้งวันทั้งคืน ๙๐ วัน
โดยไม่นั่ง ไม่เอน พัก
ถ้าเมื่อย ก็ยืนห้อยแขนบนเชือก ถ้าง่วงก็กระทืบเท้าแรง
ๆ ตะโกนเสียงสวดมนต์ พื้นห้องปูด้วยพรม กันเท้าบาดเจ็บ และเป็นการนวดเท้า
นวดเส้นประสาท เชื่อว่าการเดิน วิ่ง ร้อง "อมิตตาพุทธ" จะช่วย
ระบายพิษ จิตใจสงบง่าย ร่างกาย ปล่อยตามสบาย ใช้การเดินลมปราณ อาจารย์ได้สอน
สืบต่อกันมาว่า ระหว่างปฏิบัติสมาธิ ต้องพิจารณาว่า เรากำลังสวดอะไร
ใครกำลังสวด เปรียบคล้ายกับ จิตผูกพัน ระหว่างแม่-ลูก ดังนั้น เมื่อต้องการไปแดนสุขาวดี
การบริกรรม "อามิตถอผอ" (อมิตพุทธ) ก็เหมือนลูก ร้องหาแม่
ส่งกระแสจิตถึงแม่ แม่คือพุทธะ บนแดนสุขาวดี ที่รับรู้สึกถึงสัมผัสได้
ก็จะมาช่วย การปฏิบัติธรรม จึงต้องตั้งใจ ตั้งปณิธาน พุทธฝ่ายมหายานกินเจ
ไม่มีจิตใจ ทำร้ายสัตว์ มีแต่จิตโปรดสัตว์ ดังนิทานเซ็น เรื่อง สาวกำลังจะจมน้ำ
พระมีจิตตั้งใจช่วยขึ้นจากน้ำ การสัมผัสหญิงสาว ก็ไม่ผิดศีล ศีลยังบริสุทธิ์
ดังนั้น อยู่ที่ว่าจิตคิดอย่างไร ไม่ได้อยู่ที่รูปแบบภายนอก เมื่อมีจิตเป็นพุทธะชั่วคราว
ปฏิบัติไป นาน ๆ จิตจะเป็นพุทธะถาวร พระพุทธเจ้า ท่านพูดถึง ความเสมอภาค
ทุกคนมีโอกาสเป็นพุทธะ ขึ้นอยู่กับว่า เติบโต ภายใต้การอบรม เลี้ยงดูอย่างไร
ที่พวกเราได้มาพบ มาเจอกัน เนื่องจากชาติก่อน เคยมีความสัมพันธ์ เมื่อมีโอกาส
มาวัด ได้สังเกต การปฏิบัติ ได้ฝึกปฏิบัติ อย่าโลภกับความสุข ฉาบฉวย
แบบโลก ๆ ควรมุ่งไปสู่ความสุขลึก ๆ เป็นพระพุทธเจ้า เดินสวดอามิตถอผอ
รู้ตัว มีตัวรู้ รับรู้การเคลื่อนไหว กายเคลื่อนใจสงบ ความเชื่อที่นี่
ถ้าตั้งใจเกิด แดนสุขาวดี ท่องอมิตพุทธ เป็นพลังสมัครใจ เสริมพลัง
ไปได้เร็ว ความเพียรต่างรูปแบบ ไม่ว่าแบบใด ต้องมานะ ทำต่อเนื่อง จึงจะบรรลุผล
การปฏิบัติธรรม ไม่ต้องแบ่งคิดว่า เราเป็นหญิง เป็นชาย เจ้าอาวาสตั้งเป้า
ฝึกทายาทไว้ ๑๒๐ รูป ฝึกเอาชนะธรรมชาติ นั่งหลับ ไม่นอนหลับ
พี่สงกรานต์ ให้ข้อคิดเสริมว่า ให้พิจารณาว่า
ทุกคนเป็นว่าที่พระพุทธเจ้า ก็จะไม่โกรธ ไม่ถือสา
คุณสุรีย์ บอกกับตนเองว่า การฝึกปฏิบัติที่นี่
เป็นวิธีการบำเพ็ญ ขันติบารมี การศึกษาเรียนรู้หลาย ๆ แนวสอน แล้วปรับให้สมดุล
ใช้กับตนเอง
องค์กรฉือจี้ที่ยิ่งใหญ่
ออกจากวัดเดินทางกลับมา Hualien City
(เมืองฮวาเหลียน) ที่เราผ่านไปแล้ว เมื่อคืนนี้ วันนี้ทั้งวัน เป้าหมายอยู่ที่
องค์กรฉือจี้ ซึ่งอาจารย์หญิง (อ.รัศมี) และคุณหมอวีรพงศ์ ทีมไต้หวัน
๒ ประทับใจมาก บอกว่ารายการนี้ ห้ามพลาด พวกเรามาถึงเช้าเกินไป ก่อนเวลานัด
ภิกษุณีท่านใช้ทุกวินาทีให้มีค่า โดยพาเราไปดู ร้านแกะสลักหิน เจ้าของร้าน
ยังไม่ได้เปิดประตู แต่เดชะบุญ มีคนแถวนั้น ช่วยติดต่อให้ เลยเป็นบุญตาแถม
ในเช้านั้น
คำว่าฉือจี้ มีความหมายว่า สงเคราะห์ด้วยเมตตา
(ฉือ = เมตตา จี้ = สงเคราะห์) ก่อตั้งโดย ภิกษุณี เจิ้งเอี๋ยน (แปลว่า
รับประกัน อย่างเข้มงวด) เนื่องจาก ทางภาคตะวันออก เผชิญภัยพิบัติ
แผ่นดินไหวตลอด ท่านจึงตั้งองค์กร ช่วยเหลือ ผู้ทุกข์ยาก จนได้รับความเคารพรัก
นับถือ เป็นเจ้าแม่กวนอิม ที่มีชีวิต ของชาวไต้หวัน ทีเดียว ท่านเป็นลูกศิษย์
อาจารย์อิ้นซุ่น และได้จดจำ คำสอน "จงปฏิบัติ เพื่อพุทธศาสนา
เพื่อเวไนยสัตว์ทั้งมวลในทุก ๆ ขณะ"
โรงพยาบาลฉือจี้ (Tzu Chi General
Hospital) เปิดให้บริการมา ๑๖ ปีแล้ว ด้วยความเชื่อว่า "ทุกนาทีมีค่า
ช่วยผู้ทุกข์ ผู้ป่วย" สมกับสัญลักษณ์ของโรงพยาบาล ที่เป็นรูป
"เรือ" ในความหมายเดียวกับ "นาวาบุญนิยม" ของชาวอโศก
โรงพยาบาลฉือจี้ จึงมีอาสาสมัครกว่า
๑,๕๐๐ คนให้ความช่วยเหลือในแผนกต่าง ๆ ควบคู่ไปกับเจ้าหน้าที่ โดยใช้เสื้อกั๊ก
เป็นเครื่องบ่งชี้ โรงพยาบาล ได้ริเริ่มและก่อตั้ง คลังเก็บรวบรวมข้อมูล
เกี่ยวกับไขกระดูก ที่ใหญ่ที่สุด ในเอเซีย และ เป็นคลังไขกระดูก ใหญ่อันดับ
๓ ของโลก
โรงพยาบาลได้รับการออกแบบวางผังสัดส่วนต่าง
ๆ รวมถึงการตกแต่ง ที่สะท้อนถึงความใส่ใจ คิดถึง จิตใจผู้ป่วย ที่เขามารับการรักษา
รู้สึกผ่อนคลาย สภาพโดยทั่วไป สะอาดมาก อากาศถ่ายเทดี การปฏิบัติงาน
แบ่งออกเป็น แผนกต่างๆ เช่น แผนกดูแลเด็กที่มีปัญหา พร้อมทั้งเป็นศูนย์ศึกษาวิจัย
ห้องดูแลผู้สูงอายุ ประเภทไปเช้า-กลับเย็น นโยบายการบริหารงาน จะคำนึกถึง
สภาพจิตใจ เป็นสำคัญ เช่น ในแผนกผู้ป่วยมะเร็ง จะแบ่งห้องเป็นสัดส่วน
สำหรับให้ผู้ป่วย ได้โทรศัพท์พูดคุย กับญาติพี่น้อง ตามลำพัง จัดห้องพักไว้
สำหรับญาติที่มาจากแดนไกล ซึ่งมาเยี่ยม ผู้ป่วยเป็นครั้งคราว จัดให้มีห้อง
ประกอบพิธีกรรม ทางศาสนา ทั้งศาสนาพุทธ และ ศาสนาคริสต์ ในห้องผู้ป่วย
แต่ละห้อง จะไม่มีประตูปิด-เปิด เข้า-ออก แต่จะใช้ผ้าม่านแทน เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยรู้สึกว่า
ถูกปิดกั้น มีห้องอาบน้ำ ทำความสะอาดด้วย อ่างอาบน้ำ ธรรมชาติ ห้อง
Aromatherapy นวดด้วยน้ำมันหอม ให้ร่างกายผ่อนคลาย
ท้ายที่สุดสำหรับผู้ป่วยที่อยู่ในวาระสุดท้ายใกล้จะสิ้นลมปราณจะมีห้องที่มีรูปพระ
จัดไว้รำลึกถึงแดนสุขาวดี ในส่วนของผู้ป่วย ที่นับถือพุทธศาสนา และ
รูปพระแม่มารี และ พระเยซู ในส่วนที่นับถือ คริสต์ศาสนา โดยอาศัย การปิด-เปิดผ้าม่าน
ตามศาสนา ที่ผู้ป่วยนับถือ และเมื่อหมดลมหายใจ ก็จะมีพิธีกรรม ทางศาสนา
ตามความนับถือ ทางศาสนา ของผู้วายชนม์
บริเวณสิ่งแวดล้อมด้านนอก จัดเป็นสวนดอกไม้
อยู่บนอาคาร ทางขึ้น-ลงบันได มีป้ายไฟ บ่งบอกให้ทราบว่า ขณะนี้ เรากำลังอยู่ที่ชั้นใด
พร้อมมีลูกศรี ชี้ทางขึ้น-ลง
ในขณะที่คณะของเรา เยี่ยมชมสถานที่อยู่นั้น
มีเจ้าหน้าที่ จากสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่น มาทำการถ่ายภาพ และ สัมภาษณ์
ความรู้สึกของคณะคนไทย ที่มาดูงาน ในโรงพยาบาลนี้ และจะนำไปออกอากาศด้วย
ซึ่งน้าติ๋ว ก็ได้ทำหน้าที่ เป็นโฆษก ประจำทีมตามระเบียบ ระหว่างทาง
มีป้ายติดคำขวัญ ที่เป็นข้อคิดว่า "ไม่มีอุปสรรคใด
ที่จะขวางกั้น จิตที่เมตตา"
มหาวิทยาลัยฉือจี้
จากมูลนิธิข้ามสนามหญ้าที่เขียวขจี
แวะถ่ายรูปกับรูปปั้น ที่แสดงเจตนารมย์ของฉือจี้ ตรงไปยังมหาวิทยาลัย
Tzu Chi University
ทางเข้าห้องโถง มีภาพสัญลักษณ์ ความหมาย
ความเมตตากรุณา ความเห็นอกเห็นใจ (compassion joy) และการให้ (giving)
ผู้พาชมให้ข้อมูลว่า จุดเริ่มต้น ของมหาวิทยาลัย เริ่มจาก ตั้งโรงเรียนแพทย์
ในปี ค.ศ. ๑๙๖๖ ซึ่งในอดีต พื้นที่ ทางตะวันออกของเกาะ ด้านการแพทย์
ยังล้าสมัย ขาดหมอ และในปี ค.ศ. ๑๙๙๔ จึงเกิดมหาวิทยาลัยขึ้น โดยเปิดคณะ
พยาบาล เทคนิคการแพทย์ และ ทันตแพทย์เพิ่มขึ้น
ภาพยนต์ที่เขานำมาฉาย ในห้องประชุม
ไม่ใช่ประวัติหรือการแสดงผลงาน ของมหาวิทยาลัย แต่เป็นเรื่อง ของความสัมพันธ์
ระหว่าง "อาจารย์" (ผู้อุทิศร่างกาย) กับ "นักศึกษา"
ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึง มิติทาง จิตวิญญาณ ที่มหาวิทยาลัย เพียรสร้าง
และพัฒนานักศึกษาของเขา ดังนั้น นักศึกษาแพทย์ ซึ่งจบปีละ ประมาณ ๕๐
คน จึงไม่ได้ถูก ผูกมัดว่า จบแล้วต้องทำงานที่นี่ อย่างเดียว
จากนั้นก็นำชมห้องเรียนวิชาพื้นฐาน
ที่นักศึกษาแพทย์ต้องผ่าน เพื่อฝึกพลังสมาธิ และพัฒนาการทางจิต เช่น
การคัดลายมือ ยกเก้าอี้ไม่ให้มีเสียง เรียนจัดดอกไม้ ถือเป็นการปูพื้นฐาน
สู่การเป็นแพทย์ ที่มีปณิธาน ยิ่งใหญ่ มีจิตใจเข้มแข็ง แต่ละเอียดอ่อน
ทางอารมณ์
อาหารกลางวันในโรงพยาบาล
กลางวันได้เชิญให้ไปใช้บริการในห้องอาหารโรงพยาบาล
ซึ่งจัดไว้เป็นสวัสดิการ ของเจ้าหน้าที่ และ นักศึกษาแพทย์ พยาบาลของโรงพยาบาล
มีข้อน่าสังเกต คือ ทุกคนต้องเสียสตางค์ แม้แต่อาสาสมัคร ที่ทำหน้าที่
เป็นไกด์ให้เรา ทุกคนพร้อม ที่จะเสียสละจริงๆ แต่สำหรับพวกเรา เขายินดีเจี๋ยเยี๋ยน
พวกเรายอมรับ ด้วยความขอบคุณ แต่ก็ขอบริจาค บำรุงครัวเช่นกัน
วัฒนธรรมของที่นี่ ทุกคนจะนำภาชนะ
และอุปกรณ์ ในการรับประทานอาหาร มากันเอง เมื่อรับประทาน เรียบร้อยแล้ว
ก็จะนำไปล้างเก็บของตนเอง ไม่เป็นภาระ ให้กับส่วนกลาง สมาชิกในกลุ่มของเรา
บางคน มีความเห็นว่า ในการดูงาน คราวหน้า น่าจะมีการเตรียมอุปกรณ์
ในการรับประทานอาหาร มากันเอง เนื่องจาก ไปที่ภัตตาคาร หรือร้านอาหารใด
ๆ ก็ตาม ต้องไปเปลืองจาน และโฟมใส่อาหาร ตลอดจน ตะเกียบไม้ ทิ้งไปครั้งละมากหลาย
(หากไม่ติดขัด เรื่องความสะดวก ในการพกพาติดตัวไป ทุกหนทุกแห่ง ก็เป็นข้อเสนอ
ที่น่าสนใจมากทีเดียว)
มูลนิธิฉือจี้
หลังจากอิ่มท้องกันแล้ว ก็เดินต่อไปยังพิพิธภัณฑ์มูลนิธิฉือจี้
ภารกิจหลักของมูลนิธิมี ๘ ประการ คือ งานการกุศล การรักษาพยาบาล การศึกษา
วัฒนธรรม งานบรรเทาทุกข์ระหว่างประเทศ การบริจาคไขกระดูก งานอาสาสมัคร
ชุมชน และ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ตัวอาคารมี ๔ ชั้น
จัดตกแต่งแบ่งเป็นห้องนิทรรศการหลายสิบห้อง เริ่มตั้งแต่ประวัติของท่านภิกษุณีเจิ้งเหยียน
ตั้งแต่เด็กๆ การออกบวช จนถึงกิจกรรม การสงเคราะห์ ช่วยเหลือผู้ทุกข์ยาก
ผู้ประสบภัยพิบัติแผ่นดินไหว เครื่องบินตก อุบัติภัยต่าง ๆ ปัจจุบัน
ท่านภิกษุณีเจิ้งเหยียน อายุ ๖๕ ปี มูลนิธินี้ได้ขยายความช่วยเหลือ
ไปประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกกว่า ๓๐ สาขา ในประเทศไทย มีสาขาอยู่จังหวัดเชียงราย
ในกรุงเทพฯ ที่ทำการมูลนิธิ เมตตา สงเคราะห์ (ฉือจี้) ตั้งอยู่ที่
๓๒๒/๔๒๔ ซอยอยู่เจริญ ข้างสถานทูตจีน ถ.รัชดาภิเษก เขตดินแดง ห้วยขวาง
โทรศัพท์ ๐-๒๖๔๒-๑๘๘๘
ชั้นบน มีห้องจำหน่ายของที่ระลึก
ที่ดูประณีต ส่วนใหญ่เป็นของใช้ประจำตัว ของอาสาสมัคร เช่น เสื้อ กระเป๋า
หลากรูปแบบ ร่ม ตะเกียบ แก้วน้ำ ฯลฯ
เมื่อขึ้นไปชั้นบนสุด ยังอยู่ในระหว่าง
การตกแต่งภายใน เป็นหอประชุมขนาดมโหฬาร เก้าอี้จุ ๑,๐๐๐ ที่นั่ง เก้าอี้
ได้รับการออกแบบ เอนกประสงค์ ที่สามารถใช้นั่งประชุม ใช้คุกเข่าสวดมนต์
ในพิธีกรรมได้ ภาพผนังเวที ห้องประชุม เป็นภาพพระเมตตาโลก ทำด้วยกระเบื้องโมเสสขนาด
๑ X ๑ ตารางเซนติเมตร ผลิตในประเทศจีน จำนวน ๔ ล้านชิ้น ที่ช่างนำมาแปะ
อย่างใจเย็น บานประตูหอประชุม เป็นไม้สนหอม แกะสลักได้งามต าเช่นกัน
ความยิ่งใหญ่ เหล่านี้ สะท้อนถึงศรัทธาที่ประชาชน
มีต่อท่านภิกษุณี ซึ่งได้รับคำบอกเล่าว่า ในกาลข้างหน้า ไม่แน่ใจว่า
จะมีผู้มีบารมีพอที่จะสืบทอด เจตนารมณ์ของท่านต่อไป ได้หรือไม่
วัดฉือจี้
ไม่น่าเชื่อว่าภาพลักษณ์ของมูลนิธิ
โรงพยาบาล และมหาวิทยาลัยฉือจี้ที่ยิ่งใหญ่นั้น ตรงกันข้ามกับ วัดฉือจี้
ที่เป็น ที่พำนัก ของท่านภิกษุณีผู้นำ ที่เราได้มาเยือน ด้วยความทึ่ง
เพราะเป็น สถานที่เล็กๆ ที่เรียบง่าย ร่มเย็น
สาธุชนที่อยู่ประจำดำรงชีพของตน ด้วยการปลูกผัก โม่แป้งถั่ว ทำตุ๊กตาเทียนไข
ฯลฯ ตามหลักการ ที่ยึดมั่นว่า "วันไหนไม่ทำงาน วันนั้นไม่กิน"
ก่อนจาก ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ อาสาสมัคร ที่มาทำงานที่วัด แบบเช้าไปเย็นกลับ
ทำให้รู้ว่า ที่นี่ไม่ได้มีชุมชนคนวัด และคนข้างวัด แบบเราชาวอโศก
ค่ำคืนนี้ เดินทางต่อ ไปนอนพักค้างที่มูลนิธิ
ตรงข้ามวัดฉานกวงซื่อ ซึ่งดูแลเด็กพิการ และเด็กที่ไร้ที่พึ่งพิง เรามาถึง
ดึกมาก ด้วยความเกรงใจแม่บ้าน และเด็กที่ต้องมาเปิดห้อง ต้อนรับ ที่พักเป็นตึกใหญ่
แต่กั้น เป็นห้องๆ เล็กๆ สำหรับ เด็กๆ ดูเหมือนตึกร้าง ไม่มีคนอยู่มากกว่า
ต้องมากวาดถูใหม่ พวกเราทีมหญิง นอนเบียดกัน ๓ เตียง ไม่มีใคร อยากแยกไปนอนห้องอื่น
ด้วยมันดูเวิ้งว้าง วังเวงชอบกล
วันอังคารที่ ๑๖
เมษายน ๒๕๔๕
กลับคืนไทเป
อาหารเช้ากับเด็กที่มีปัญหาทางสมอง
(อ่านต่อตอน
๔)
|