หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >เราคิดอะไร

ชีวิตนี้มีปัญหา () สมณะโพธิรักษ์


(ต่อจากฉบับที่ ๑๔๐)

และเป็นการชี้ชัดถึงความเป็น"ฌาน"ว่า หาก "ฌาน" ใดก็ตาม ที่ได้แต่ "ฌาน" ต่อให้ได้ถึงขั้น "อรูปฌาน" ขั้นสูงสุด ทว่าไม่ได้กำจัด "สังโยชน์" นั้นย่อมไม่สามารถตัดวัฏสงสารได้ หรือยังต้องวนเวียน กลับไปเกิดในภพต่ำอีก

ดังนั้น แม้แต่รูปของ "อารมณ์ฌาน" ถ้าทำเพื่อ "เสพสุข" หากมีขึ้นในจิต ไม่ว่าจะได้ "รูปฌาน" สูงสุดถึง ฌาน ๔ เสวยอารมณ์ อุเบกขา แต่ยังเป็น "โลกียฌาน" หรือจะอาศัยฌานปั้นรูปปั้นร่าง ให้เป็นรูปโฉม แสงสีเสียง ขึ้นในจิต จนเหมือนของจริง ได้เท่าใด ก็ยิ่งจะหลง "มโนมยอัตตา" (รูปที่สำเร็จด้วยจิต) นั้นๆยิ่งๆเท่านั้นๆ เพราะยังไม่มี "วิชชา ๙" ที่จะรู้แจ้ง ในความเป็น "อัตตา" อย่างสัมมาทิฏฐิ ไม่รู้แจ้งความเป็น "ตัวตน" (อัตตา) จนถูกถ้วน

หรือแม้แต่อรูปของ "อารมณ์ฌาน" ถ้าทำเพื่อ "เสพสุข" หากมีขึ้นในจิต ไม่ว่าจะได้ "อรูปฌาน ๔" สูงสุด ถึงขั้น เสวยอารมณ์ เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน แต่ยังเป็น "โลกียฌาน" ใครก็ตามที่ปั้น "อรูป" สร้าง "อรูป" ใดๆ ขึ้นในใจ แม้จะเป็น "อรูปฌาน" ขั้นสูงสุดก็เถอะ แล้วก็เสพสภาพนั้น เป็น "สุข" นี่คือ "เทวดาโลกีย์" ที่คนผู้นั้นเสพ "อรูปอัตตา" อยู่ใน "อรูปภพ" นั้นๆ เพราะยังไม่มี "วิชชา๙" ที่จะรู้แจ้ง ในความเป็น "อัตตา" อย่างสัมมาทิฏฐิ

ใครก็ตาม ที่ไม่มี "วิชชา ๙" จนสามารถรู้แจ้งรู้จริง ในความเป็น "อัตตา ๓" (โอฬาริกอัตตา.. มโนมยอัตตา.. อรูปอัตตา) ก็ย่อมไม่ได้ ลดละ "อัตตา" ต่อให้ก่อ "กุศล" ด้วยการถือ "ศีล" หรือ "ทำทาน" มากมายปานใด ก็ไม่เป็น "โลกุตรกุศล" อย่างเก่งก็เป็นได้แค่ "โลกียกุศล" เพราะผู้ถือ "ศีล" ก็ตาม "ทำทาน" ก็ตาม หากไม่สามารถ มีญาณ หยั่งรู้ลงไปถึง "เหตุ" (สมุทัย) ภายในจิต.. เจตสิกของตน และมี "ธัมมวิจัย" ถึงขั้น "สัมโพชฌงค์" หรือมี "ปริญญา ๓" ได้ละอัตตา ก็ไม่ชื่อว่า บรรลุ "ภาวนามัย" แม้จะนั่งสะกดจิต ทำ "โลกียฌาน" ได้สูงสุดถึง "อรูปฌาน" ขั้นที่ ๔ ก็ตาม ดังที่กล่าว มาแล้ว เพราะ "ละสังโยชน์" ไม่ได้ ซึ่งก็เนื่องมาจาก "ข้อปฏิบัติ ที่เป็นเครื่องพา บรรลุวิชชา ๙ (จรณะ ๑๕) คลาดเคลื่อน (วิบัติ) หรือผิดเพี้ยน (วิบัติ) ดังพระพุทธพจน์ ที่ยกอ้างมา ให้อ่านแล้ว ที่ว่า "...บุคคลผู้มีจรณะวิบัติ ย่อมไม่รู้ไม่เห็น ตามความเป็นจริง..." นั่นเอง จึงไม่สามารถ "ละสังโยชน์"

นั่นก็หมายความว่า"การประพฤติปฏิบัติ "ศีล" (สังวรศีล) ของคนผู้นั้น วิบัติ หรือ คลาดเคลื่อน ผิดเพี้ยน

หรือไม่...ความสำรวมตาหูจมูกลิ้นกายใจ(อินทรียสังวร) ของคนผู้นั้นก็ วิบัติ หรือ คลาดเคลื่อน ผิดเพี้ยน

หรือความรู้จักประมาณในการกินการใช้(โภชเนมัตตัญญุตา) ของคนผู้นั้น วิบัติ หรือ คลาดเคลื่อน ผิดเพี้ยน

หรือไม่ว่า ความพากเพียรประกอบเครื่องตื่นให้แก่ตน (ชาคริยานุโยคะ) ก็ดี ความเชื่อ (ศรัทธา) ก็ดี ความละอาย ต่อความผิดบาป (หิริ) ก็ดี ความเกรงกลัวต่อความผิด บาป (โอตตัปปะ) ก็ดี ความรู้มากเรียนมาก (พาหุสัจจะ) ก็ดี ระดมความพากเพียร (วิริยารัมภะ) ก็ดี ความรู้ตัวทั่วพร้อม (สติ) ก็ดี ความรู้เห็นตามความเป็นจริง (ปัญญา) ก็ดี ฌาน ๑ ก็ดี ฌาน ๒ ก็ดี ฌาน ๓ ก็ดี ฌาน ๔ ก็ดี ของคนผู้นั้น วิบัติ หรือ คลาดเคลื่อน ผิดเพี้ยน

สรุปก็คือ ถ้าแม้น "จรณะ" ๑๕ ข้อนั้น วิบัติ หรือ คลาดเคลื่อน ผิดเพี้ยน แม้จะวิบัติแค่ข้อเดียวก็ตาม ยิ่งวิบัติหลายข้อ ก็ยิ่ง "ไม่รู้ไม่เห็น ตามความเป็นจริง" หรือยิ่งผิดไปจาก "ความเป็นจริง" (สัจธรรม) ยิ่งๆขึ้น นั่นก็คือ ยิ่ง "อวิชชา" หรือยิ่ง "ไม่มีวิชชา" ที่จะรู้ความจริง อย่างถูกต้อง หรือถูกถ้วน (สัมมา) ยิ่งๆขึ้นนั่นเอง

"จรณะ ๑๕" คือ ข้อปฏิบัติที่เป็นเครื่องพาบรรลุวิชชา ๙ ถ้า "ผิดเพี้ยน" (วิบัติ) หรือ "คลาดเคลื่อน" (วิบัติ) ก็ไม่บรรลุ "วิชชา" ก็ไม่สามารถ "กระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้"

ใน"จรณะ"ทั้ง ๑๕ ข้อนั้น แบ่งออกเป็น ๔ ส่วน
ส่วนที่หนึ่ง มี ๑ ข้อคือ ศีล
ส่วนที่สอง มี ๓ ข้อคือ อปัณณกปฏิปทา ๓
ส่วนที่สาม มี ๗ ข้อคือ สัทธรรม ๗
ส่วนที่สี่ มี ๔ ข้อคือ ฌาน ๔

เรื่องของ "ศีล" ก็เคยอธิบายมามากแล้วว่า จะต้องปฏิบัติ "ศีล" ให้เป็น "สัมมาทิฏฐิ" ไม่ใช่ปฏิบัติ "ศีล" มีผลมีอานิสงส์ กันแค่พัฒนา "กายกับวจี" เท่านั้น หากจะมีผล มีอานิสงส์พัฒนา "จิต" ก็ต้องไปนั่ง "สมาธิ" เอาอีกต่างหาก ตามที่สอน กันผิดๆ มานานแล้ว ในวงการพุทธศาสนา

ปฏิบัติ"ศีล"ก็ต้องปฏิบัติให้ถูกถ้วน (สัมมา) ไม่แยก "ศีล" แยก "สมาธิ" ไปปฏิบัติกันคนละเวลา คนละส่วน คนละ การกระทำ "ศีล..สมาธิ..ปัญญา" ต้องเป็นเรื่องเดียวกัน ปฏิบัติร่วมกัน เป็นปฏิสัมพัทธ์ แก่กันและกัน ไปด้วยกัน พร้อมกัน ไม่ได้แยกกัน คนละส่วน ทำกันคนละเวลา จึงจะมีผล มีอานิสงส์ ถึงขั้น "จิตเจริญเป็นอธิจิต" ดังนั้น ปฏิบัติ"ศีล" จึงมิใช่มีผล มีอานิสงส์แค่ "ขัดเกลากาย ขัดเกลาวจี" เท่านั้น แต่ต้อง "ขัดเกลากิเลสในจิต" อย่างถูก "ตัวตน" (อัตตา, สักกายะ, อาสวะ) ของกิเลสชนิดมี "ของจริง" ให้สัมผัส "รู้" (ชานติ) "เห็น" (ปัสสติ) กันทีเดียว

ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในพระไตรปิฎก เล่ม ๒๔ ข้อ ๑ และข้อ ๒๐๘ ผู้ปฏิบัติ "ศีล" จะมีผล มีอานิสงส์เจริญ เป็น "อธิจิต" หรือเป็นฌาน เป็นสมาธิ เป็นวิมุติชัดๆ ซึ่งได้แก่ จิตมีคุณสมบัติเป็น "อวิปปฏิสาร.. ปราโมทย์.. ปีติ.. ปัสสัทธิ.. สุข.. สมาธิ.. ยถาภูตญาณทัสสนะ.. นิพพิทา.. วิราคะ.. วิมุติญาณทัสสนะ" หากผู้ใดปฏิบัติจนกระทั่ง "ศีล" เป็นกุศล (เป็นโลกุตรกุศล) ถูกถ้วน ตามพระพุทธพจน์ "ศีลที่เป็นกุศล ย่อมยังความเป็นอรหันต์ ให้บริบูรณ์โดยลำดับ" ก็ต้องเกิดจริงเป็นจริง ตรงคำตรัส ของพระพุทธองค์ แน่ยิ่งกว่าแน่

หมายความว่า ปฏิบัติ "ศีล" จนมี "ผล" มี "อานิสงส์" อย่าง "สัมมาทิฏฐิ" จริง ก็ต้องเกิด "อธิจิต" ที่เข้าสู่ความเป็น "โลกุตรภูมิ" ได้จริง นั่นคือ ต้องเป็น "ฌาน" ซึ่งจะเห็นได้ว่า ความเป็น "อวิปปฏิสาร.. ปราโมทย์.. ปีติ.. ปัสสัทธิ.. สุข (วูปสมสุข).." เหล่านี้ ล้วนคือ คุณสมบัติ ต่างๆของ "ฌาน" นั่นเอง และ "สมาธิ" ซึ่งเป็น "ผล" ตัวต่อไปนั้น ก็ย่อมเป็น "สัมมาสมาธิ" ตามแบบพุทธแน่ๆ ยิ่ง "ผล" ต่อจากนั้น อันได้แก่ "ยถาภูตญาณทัสสนะ..นิพพิทา.. วิราคะ.. วิมุติญาณทัสสนะ" ก็ยิ่งชัดว่า คือ ความเป็น "ปัญญา และ วิมุติ" แท้ๆ

ส่วนที่สอง"อปัณณกปฏิปทา"นั้น มี ๓ ข้อ คือ สำรวมอินทรีย์...โภชเนมัตตัญญุตา...ชาคริยานุโยคะ ซึ่งก็ได้อธิบาย ผ่านมาแล้ว ทั้งสิ้น

สำรวมอินทรีย์ นั้นคือ "อินทรีย์ ๖" ได้แก่ ตา..หู..จมูก..ลิ้น..กาย..ใจ ที่ต้องอบรมฝึกฝน ปฏิบัติประกอบ พร้อมทั้ง "อายตนะ" ภายนอก ๖ ภายใน ๖ พร้อมทั้ง "วิญญาณ" อันเกิดจากทวาร ๖ พร้อมทั้ง "สัมผัส" อันเกิดจากทวาร ๖ พร้อมทั้ง "เวทนา ๓" ที่เกิดจากการมี สัมผัส ๖นั่นแหละเป็นปัจจัย กระทั่งมีญาณสามารถ "รู้" (ชานติ) "เห็น" (ปัสสติ) โดยความเป็นของไม่เที่ยง (อนิจจโต) โดยความเป็นทุกข์ (ทุกขโต) โดยความไม่เป็นตัวตน (อนัตตโต) บริบูรณ์

โภชเนมัตตัญญุตา ก็คือ รู้จักปฏิบัติธรรม กับการกินการใช้ ต้องประมาณให้ดีแก่ตน อย่าให้มันสร้างกิเลสให้แก่ตน ต้องลดกิเลส ในการกิน การใช้ให้ได้ และจะต้องสัมพันธ์ไปกับ "การสำรวมอินทรีย์" อันจะพาไปสู่ การกำจัดกิเลส จนสิ้นตัวตนถึงขั้น "หมดอาสวะ" นั่นเทียว

ชาคริยานุโยคะ ก็คือ การประกอบความเพียรเครื่องตื่นอยู่ หมายความว่า ต้องเป็นผู้มีความเพียรพยายาม ทำตนให้มี "ความตื่นตัว- รู้ตัวด้วยสติ" ทุกทวาร อันครบถ้วนทั้งทวาร ๕ ภายนอก และทวารใจภายใน ต้องฝึกตน ให้มี ความสามารถ รู้รอบกับปัจจุบัน ที่มีชีวิตอยู่ และจะต้องสัมพันธ์ไปกับ "การสำรวมอินทรีย์" อันจะพาไปสู่ การกำจัด กิเลส จนสิ้นตัวตน หมดอาสวะเช่นกัน

"อปัณณกปฏิปทา" แปลว่า ข้อปฏิบัติที่ไม่ผิด ดังนั้น หากผู้ปฏิบัติใด ได้ปฏิบัติอยู่ ในกรอบของ... "การสำรวมอินทรีย์.. โภชเนมัตตัญญุตา.. ชาคริยานุโยคะ" ก็ยังเป็นผู้ไม่ปฏิบัติผิดศาสนาพุทธ ยังไม่ออกนอกทางพุทธ ย่อมหวังได้มรรค ได้ผล ของศาสนาพุทธ ที่เป็น"อาริยะ" เป็น "โลกุตระ"

แต่ถ้าแม้นผู้ใดปฏิบัติผิดเพี้ยนไปจาก "อปัณณกปฏิปทา ๓" เช่น ไปปฏิบัตินั่งหลับตาทำ "สมาธิ" เป็นต้น โดยหลงว่า นี้คือวิธีปฏิบัติ "สัมมาสมาธิ" ของพุทธ ก็เป็นการปฏิบัติ ผิดไปจากศาสนาพุทธแล้ว เพราะเข้าใจผิดว่า การนั่ง หลับตาทำ "สมาธิ" เป็นการปฏิบัติ "อธิจิตสิกขา"แบบพุทธ ก็หลงพากเพียร ปฏิบัติผิดๆกันไป นี่คือการ ออกนอก "อปัณณกปฏิปทา" ของพุทธ หรือออกนอกกรอบของ "การปฏิบัติที่ถูกต้องของพุทธ" ไปแล้วนั่นเอง ซึ่งมีกันมากจริงๆ ในวงการศาสนาพุทธ ทุกวันนี้

ส่วนที่สาม "สัทธรรม" มี ๗ ข้อ ได้แก่ ศรัทธา..หิริ..โอตตัปปะ..พาหุสัจจะ..วิริยารัมภะ..สติ..ปัญญา ก็อีกแหละ ล้วนได้อธิบาย ผ่านมาแล้วทั้งสิ้น แม้บางข้อ จะไม่ได้หยิบเป็นหัวข้อ ออกมาอธิบายโดยตรง เช่น หิริ หรือ โอตตัปปะ เป็นต้น ก็ได้อธิบาย โดยปริยาย ไปแล้วทั้งนั้น

ศรัทธา ซึ่งหมายถึง ความเชื่อก็ดี หิริ อันหมายถึง ความละอายต่อความผิดบาปก็ดี โอตตัปปะ อันหมายถึง ความเกรงกลัว ต่อความผิดบาปก็ดี พาหุสัจจะ อันหมายถึง ความรู้มาก เรียนมากก็ดี วิริยารัมภะ อันหมายถึง ระดม ความพากเพียรก็ดี สติ อันหมายถึง ความรู้ตัวทั่วพร้อมก็ดี ปัญญา อันหมายถึง ความรู้เห็น ตามความเป็นจริงก็ดี

(มีต่อฉบับหน้า)

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๔๑ เมษายน ๒๕๔๕)