หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >เราคิดอะไร

ชีวิตนี้มีปัญหา ๑ สมณะโพธิรักษ์


(ต่อจากฉบับที่ ๑๔๑)
ศรัทธา ซึ่งหมายถึง ความเชื่อก็ดี
หิริ อันหมายถึง ความละอายต่อความผิดบาปก็ดี
โอตตัปปะ อันหมายถึง ความเกรงกลัวต่อความผิดบาปก็ดี
พาหุสัจจะ อันหมายถึง ความรู้มากเรียนมากก็ดี
วิริยารัมภะ อันหมายถึง ระดมความพากเพียรก็ดี
สติ อันหมายถึง ความรู้ตัวทั่วพร้อม หรือการคุมใจไว้กับกิจ กุมจิตไว้กับสิ่งที่เกี่ยวข้องก็ดี
ปัญญา อันหมายถึง ความรู้เห็นตามความเป็นจริง ก็ดี

ทั้ง ๗ นั้น ล้วนแต่เป็นคุณภาพทางจิตที่พัฒนา เจริญขึ้นๆ ซึ่งเกิดสอดซ้อนสูง เสริมอยู่ในการสังวร "ศีล" สำรวม อินทรีย์ โภชเนมัตตัญญุตา ชาคริยานุโยคะ นี่เอง มิได้แยกกันไปคนละเรื่องละส่วนแต่อย่างใด ได้แก่ ความเชื่อ (ศรัทธา) ก็จะเจริญขึ้น ซึ่ง "ศรัทธา" ก็ประกอบด้วย "ความรู้เห็น ตามความเป็นจริง" (ปัญญา) ว่า พระพุทธ.. พระธรรม.. พระสงฆ์คืออย่างไร ที่สำคัญคือ เราจะเกิดมี "พุทธคุณ" (พระพุทธ)..มี "โลกุตรธรรม" (พระธรรม) ..มีความเป็น "อาริยสงฆ์" (พระสงฆ์) ขึ้นมาจริงๆในตน จึงได้เชื่อ เพราะมี "ของจริง" ดังกล่าวนั้น เกิดจริงเป็นจริง ในตนชัดๆ เราเชื่อเพราะ เราเป็นเรามี ฉะนี้แล ที่เรียกว่า "ศรัทธินทรีย์" คือ เชื่อตามเนื้อแท้ที่เรามี เชื่อจริง มีกำลัง ยิ่งๆขึ้น

และเรารู้สึก ละอายต่อ "ผิดบาป" ต่อ "สิ่งไม่ดี" ที่ถ้ามันเกิดขึ้นกับตน เผชิญอยู่กับตน หรือที่เกิดอยู่ ในตนนั้นๆ จริงๆ เราก็จะ "ละอาย" (หิริ) ต่อสิ่งที่เกิดนั้นๆ เช่น เราเกิดอาการอยากฆ่าสัตว์ขึ้นในจิต เราเกิดอาการ อยากขโมยขึ้นในจิต เราเกิดอาการ อยากในกาม อย่างมิบังควรขึ้นในจิต เราเกิดอาการอยากโกหกขึ้นในจิต เราเกิดอาการ อยากดื่มเหล้า ขึ้นในจิต เป็นต้น เราก็จะมีการสำนึก ขึ้นมาทันที จะรู้สึกละอายต่อ "อาการอยาก" ตามที่ "ศีล" ของเราได้ สมาทานไว้ เมื่อมันมีความ "ผิดบาป" เหล่านี้เกิดขึ้นในใจเรา เราจะเกิดอาการ "ละอาย" (หิริ) ในใจตนเอง เป็นความรู้สึกจริงๆ ในตน หากยังมีอาการน้อย ก็คือ "หิริ" (ความละอาย) ยังมีน้อยอยู่ ถ้ามีอาการมากขึ้น ก็เจริญขึ้น

อาการที่สูงขึ้นไปกว่าแรงขึ้นกว่า "หิริ" (ละอาย) คือ "โอตตัปปะ" ได้แก่ อาการ "เกรงกลัวต่อความผิดบาป หรือ ความไม่ดี" โดยเฉพาะ "ผิดศีล" ที่เราได้สมาทาน และอาการนั้นก็เกิดขึ้น ขณะที่เกิดที่เผชิญกับตนอยู่นั้นๆ อาการ "เกรงกลัว" (โอตตัปปะ) ก็จะเกิดจริงเป็นจริงทีเดียว หรือถ้าแม้นมันยังมีอาการไม่ถึงขั้นดังกล่าวนี้ นั่นก็คือ คุณธรรม หรือคุณภาพจิตใจเรายังไม่สูงขึ้น เราก็จะต้อง ขวนขวายปฏิบัติให้กิเลสลดลงอีก "หิริ"(ความละอายต่อความ ผิดบาป) ก็จะมีคุณภาพสูงขึ้นเป็น"โอตตัปปะ" (ความเกรงกลัวต่อความผิดบาป) นี่คือการอภิวัฒน์ พัฒนาขึ้นไป ตามลำดับ

ซึ่งจะสูงขึ้นได้ก็ด้วยความขวนขวายให้มี "การเรียนมากรู้มาก" (พาหุสัจจะ) เพิ่มขึ้นไปอีก ทั้งปริยัติ และปฏิบัติ และ ต้อง "ระดมความพากเพียร" (วิริยารัมภะ) ให้ยิ่งๆขึ้น

การสังวรให้มี "ความรู้ตัวทั่วพร้อม หรือ การคุมใจไว้กับกิจ กุมจิตไว้กับสิ่งที่เกี่ยวข้อง" (สติ) ก็ต้องขวนขวาย ปฏิบัติ ให้ดียิ่ง ให้เจริญยิ่งขึ้นๆ

การตรวจสอบหรือการได้รู้ "ความจริงที่เกิดที่เป็นตามความเป็นจริง" (ปัญญา) ทั้งนอกตน และในตน ก็ต้องมี ประสิทธิภาพ ให้รู้แจ้ง เห็นจริงยิ่งๆขึ้น

จะเห็นได้ว่า "สัทธรรม ทั้ง ๗" นั้น คือ ประสิทธิภาพของผู้ปฏิบัตินั่นเอง ที่เป็นนามธรรม ก้าวหน้าขึ้น เสริมซ้อน อยู่อย่างลึก และกว้าง ช่วยหนุนให้ความเจริญของ "ผล" อภิวัฒน์พัฒนาเจริญยิ่งๆขึ้น

สำหรับ "จรณะ" ๔ ตัวสุดท้าย คือ "ฌาน" ทั้ง ๔ นั้น หมายถึง ปฏิบัติ "จรณะ" ข้อต้นๆ มาอย่างไม่มี "วิบัติ" ก็จะถึงขั้น "เกิดผลทางจิต" เป็น "อธิจิต" ที่สัมมา ซึ่งต้องเป็นนักปฏิบัติ ที่มีความรู้ ความสามารถใน "จรณะ" ข้อ ต้นๆ มาอย่าง สัมมาทิฏฐิ และปฏิบัติได้ ปฏิบัติเป็นทีเดียว มีความสามารถพิจารณา "กายในกาย.. จิตในจิต.. เวทนาในเวทนา.. ธรรมในธรรม" (สติปัฏฐาน ๔) เป็นแล้ว ปฏิบัติ "สัมมัปปธาน ๔" ก็มีมรรคมีผล กล่าวคือ "พากเพียรปฏิบัติระมัดระวัง" (สังวรปธาน) เป็นแล้ว จนสามารถ "พากเพียรกำจัดอกุศลเหตุ" (ปหานปธาน) ได้จริง "พากเพียรทำให้คุณธรรม หรือ กุศลธรรมนั้นๆ มีขึ้นเกิดขึ้น" (ภาวนาปธาน) ก็สำเร็จเป็นมรรคเป็นผล "พากเพียรรักษาผลที่ได้ มิให้เสื่อม" (อนุรักขนา ปธาน) ก็สามารถทำได้ มีความสามารถปานฉะนี้ จึงจะเป็น "ฌาน" หรือ "เกิดฌาน" พัฒนาไปสู่ความเป็น "สมาธิ" ที่แปลว่า "ความตั้งมั่น" ตามลำดับ

หมายความว่า การปฏิบัติสามารถทำให้ "จิต" เกิดการเปลี่ยนแปลงพัฒนา ถึงขั้นมีปัญญา "รู้" (ชานาติ) "เห็น"
(ปัสสติ) ตัวตนถูกตัวตน และกำจัดตัวตนลงไปได้จริง ตามประสิทธิภาพของ "ฌาน" เป็นขั้นเป็นตอน

"ฌาน" ที่ ๑ ก็คือ มรรคผลที่เกิดจริงในจิต หรือการเจริญของ "อธิจิต" จากการปฏิบัติ "สำรวมอินทรีย์.. โภชเน มัตตัญญุตา.. ชาคริยานุโยคะ" ในขอบเขตของ "ศีล" ที่เราสมาทาน นั้นแหละ

กล่าวคือ สามารถกำจัด "เหตุ"(สมุทัยอาริยสัจ) ภายในจิตลงได้ เช่น "กามวิตก" หรือ "พยาบาทวิตก" เป็นต้น แต่ประสิทธิภาพ ของความสามารถ ยังต้องมี "วิตกวิจาร" หนักอยู่มากอยู่ การปฏิบัตินั้น ยังไม่อยู่ในขั้น เบาสบาย ง่ายคล่อง

"วิตกวิจาร" ก็หมายถึง จิตที่พยายามทำหน้าที่เพ่ง เผากิเลสอย่างตั้งใจ ผู้ปฏิบัติ ต้องทำการจดจ่อ คอยระวังเคร่งคุม อยู่อย่างวางมือ หรือวางใจยังไม่ได้ เพราะทำได้ยังไม่ถึงขั้นดี ยังไม่เก่ง ยังไม่ตั้งมั่นแข็งแรงสมบูรณ์ ยังต้องกังวล ยังต้องคอยระวัง ยังไม่เบาสบายง่ายคล่อง "ฌาน ๑" จึงหมายถึงสภาพที่มี "วิตกวิจาร" นำหน้าอยู่

และแน่นอนย่อมมี "ปีติ" คือ มีความปลาบปลื้มกับการเกิดมรรคผลที่ตนทำได้นั้น แถม "สุข" อันเป็นอารมณ์สามัญ ของผู้ได้ สิ่งที่ต้องการสมใจ แม้จะเป็นผลขั้นต้น ที่ยังไม่ดีพอ ยังไม่สมบูรณ์ก็ตาม

ส่วน "เอกัคคตา" ก็หมายถึงสภาพของจิตเมื่อปฏิบัติ จนเข้าเขตที่ยอด (อัคค) ที่สูงสุด (อัคค) ตามความมุ่งหมาย
คือ ไปถึงสภาพ "จิตไม่มีกิเลส" ตามที่ตนได้พยายามกระทำให้ได้ กระทั่งเป็นได้ หรืออีกนัยหนึ่ง ปฏิบัติจนสามารถ กำจัดสิ่งที่ไม่ใช่พวกเดียวกัน (ได้แก่กิเลส) กำจัดปฏิปักษ์ (กิเลส) ออกไปได้ กระทั่งเหลืออยู่แต่จิต เผ่าพันธุ์แท้ พันธุ์เดียว จะเรียกว่า "ความเป็นหนึ่งเดียวกันของจิตประเสริฐ (อัคค)" หรือ "จิตที่มีแต่กุศลชนิดสัมมา (อัคค) พันธุ์เดียว" ก็ได้

แต่ถ้าเป็นภาษาของ"ฌาน" หรือ "สมาธิ" แบบนั่งหลับตาสะกดจิต ก็มักจะเรียกว่า ความที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง หรือ ความมีอารมณ์เดียว เพื่อให้สอดคล้อง กับการปฏิบัติฌาน หรือ สมาธิแบบเพ่งกสิณ หรือ การปฏิบัติฌาน แบบฤาษีชีไพร ดั้งเดิม ที่อาศัยการสะกดจิต รวมจิตให้เป็นหนึ่งด้วยอุบาย ทำจิตให้เหลืออารมณ์หนึ่ง อารมณ์เดียว ไม่ฟุ้งออกไปคิดถึงสิ่งอื่นๆ ได้สำเร็จ

ส่วน "เอกัคคตา" แบบพุทธ ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในพระไตรปิฎก เล่ม ๑๔ ข้อ ๒๕๓ ก็แปลกันไว้ว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาสมาธิ ของพระอริยะ อันมีเหตุ มีองค์ประกอบ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง (เอกัคคตา) ประกอบแล้วด้วยองค์ ๗ เหล่านี้แล เรียกว่า สัมมาสมาธิของพระอาริยะ อันมีเหตุบ้าง มีองค์ประกอบบ้าง"

ก็คงเห็นแล้วว่า "เอกัคคตา" แบบพุทธ ที่เป็น "สัมมาสมาธิ"นั้น ประกอบไปด้วยการปฏิบัติ "องค์ ๗" หรือมี "องค์ ทั้ง ๗" ใน "สัมมาอาริยมรรค องค์ ๘" นั่นเอง เป็นเหตุให้เกิด "เอกัคคตา" ที่อาตมาแปลว่า "ความเป็นหนึ่งเดียวกัน ของจิต ประเสริฐ (อัคค)" หรือ "จิตที่มีแต่กุศลชนิดสัมมา (อัคค) พันธุ์เดียว (เอก)"

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๔๒ พฤษภาคม ๒๕๔๕)