เราคิดอะไร.

ข้าพเจ้าคดอะไร ‘ สมณะโพธิรักษ์ ‘
กำไรขาดทุนแท้ของอาริยชน

(ต่อจากฉบับที่ ๑๓๕)

คราวนี้ก็มาถึงข้อที่ ๖ ที่ว่า "กำไร" แบบอาริยะ
"ประโยชน์ตน" (อัต-ตัตถะ) ที่แท้จริง หรือ"กำไร"ของชีวิตชาวบุญนิยมนี้ ออกจะแปลก! เพราะในเวลา ขณะเดียวกัน และ ในกรรมเดียวกัน ที่ชาวบุญนิยม กำลังกระทำการ "ให้" หรือ ทำการ "เสียสละ" ผู้ให้ก็ได้ "ประโยชน์" ที่ได้ เสียสละ และทันทีนั้น ก็จะมี "ผู้รับ" ไม่ว่าจะเป็น การได้รับวัตถุ หรือได้รับความรู้ ที่เป็นนามธรรมก็ตาม ผู้รับวัตถุก็ดี รับความรู้ก็ดี จากผู้ให้ ผู้รับก็ได้ "ประโยชน์" จากผู้ให้ ประโยชน์ชนิดนี้ เรียกว่า "ประโยชน์ผู้อื่น" (ปรัตถะ)

ซึ่ง "ประโยชน์ตน" และ "ประโยชน์ผู้อื่น" นี้ เกิดพร้อมกันในกรรมเดียวกัน ในขณะเวลาเดียวกันกับ "ผู้ให้" ที่ได้ "เสียสละ" และ "ผู้รับ" ที่ได้ "รับ" อยู่บัดเดี๋ยวนั้นทีเดียว ผู้เสียสละก็มี "ประโยชน์ตน" (อัตตัตถะ) ที่ตน "ได้ให้" เป็น "บุญ" แท้ๆ เป็นกุศลจริงๆ ส่วน "ผู้รับ" ก็ "ได้รับ" ก็เป็นประโยชน์ด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย

เรียกความเป็นประโยชน์ทั้ง "ผู้ให้" และทั้ง "ผู้รับ" ต่างก็เป็นผู้ "ได้" พร้อมๆกันนี้ว่า "อุภยัตถะ" (ประโยชน์ ๒ ฝ่าย)

แต่ถ้า "ผู้ให้" ที่ไม่มีความรู้ความสามารถ ถึงขั้นโลกุตระ หรือ เข้าข่าย "บุญนิยม" ก็จะไม่มี "ประโยชน์ตน" ที่ถึงเขต เรียกว่า "ปรมัตถะ" ซึ่งแปลว่า "บรมประโยชน์" หรือหมายถึง "ประโยชน์ ขั้นสูงเลิศ ที่ทำให้จิตเจตสิก บรรลุมรรคผล เดินทางเข้าสู่ นิพพาน"

ส่วน "ประโยชน์ที่สูงสุดเยี่ยมยอดที่สุด" ที่คนควรได้ เรียกว่า "อุตตมัตถะ" ก็คือ "ความเป็นอรหันต์"

สรุป "ประโยชน์แบบโลกียะ" มี ๒ อย่าง
๑. "ประโยชน์ตน" (อัตตัตถะ) ซึ่งตนต้องพึ่งผู้อื่น นั่นคือ เราได้รับวัตถุ หรือ ได้รับความเสพทางอารมณ์ หรือ ได้รับความรู้ จากผู้อื่น
๒. "ประโยชน์ผู้อื่น" (ปรัตถะ) ซึ่งตนเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น นั่นคือ เราได้ให้วัตถุ หรือ ได้ให้ความเสพ ทางอารมณ์ ได้ให้ความรู้ แก่ผู้อื่น

ส่วน "ประโยชน์แบบโลกุตระ" ซึ่งเป็นประโยชน์ของอาริยบุคคล ก็คือ เราสามารถ ทำจิตใจให้ลดกิเลสไป กับการทำ กรรมนั้นๆ ได้ นี่คือ "ประโยชน์ตน" ที่เป็น "ปรมัตถะ" อันเกิดพร้อมกันกับ..เราได้ให้วัตถุ หรือได้ให้ ความเสพ ทางอารมณ์ หรือได้ให้ความรู้ แก่ผู้อื่น เรียกว่า "ประโยชน์ ๒ ฝ่าย" (อุภยัตถะ)

ซึ่งเป็น "ผลประโยชน์" หรือเป็น "กำไร" (อัตถะ) ของชาวบุญนิยม โดยแท้

เรื่อง "กำไร" หรือ "ประโยชน์" (อัตถะ) นี้ ยังมีนัยที่ควรจะได้อธิบาย เพิ่มเติมกันอีก เพราะมีความสำคัญ และลึกล้ำอยู่มาก

ประเด็นที่ใคร่จะอธิบายขยายความให้เห็นความสำคัญ ลึกซึ้งต่อไปนั้น คือ "ประโยชน์แบบโลกียะ" ที่มีนัยสำคัญ แตกต่างไปจาก ที่ได้อธิบายมาแล้ว คราวนี้ แบ่งเป็น ๓ ประการ ซึ่งมีความลึกซ้อน เพิ่มยิ่งขึ้นไปอีก

๑. "ประโยชน์ตน" (อัตตัตถะ) ประโยชน์ชนิดนี้ ไม่มีศักดิ์ศรีเลย ไม่มีคุณค่าด้วย ไม่น่าภาคภูมิใจสักนิด เพราะ "ตนต้องพึ่งผู้อื่น" กล่าวคือ ตน "เอา" จากผู้อื่นมา ให้แก่ตน หรือตน "ได้รับ" จากผู้อื่น

เช่น ได้รับวัตถุ ได้รับทรัพย์สินเงินทอง ได้รับแรงงาน ได้รับความเสพทางอารมณ์ อันมาจากรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ได้รับ ความรู้ หรือ รับอะไรอื่นๆมา "จากผู้อื่น" แล้วเรียกผลชนิดนี้ว่า "ประโยชน์ตน" เพราะตนเป็น "ผู้เอา" "ตน" เป็น "ผู้ได้" จากผู้อื่น

ลักษณะนี้ คนทุกคนเข้าใจดี และต่างก็ยอมรับนับถือกันว่า เป็น "ประโยชน์ตน" กันอยู่ทั่วไปในสังคมโลกียสามัญ หรือ สังคมทุนนิยม โดยมองด้วยเชิงตื้นๆว่า "ตนเป็นผู้รับ อยู่โทนโท่" ก็เป็น "กำไร" หรือ "ตนได้" อยู่แท้ๆ มันก็คือ "ประโยชน์ตน" แน่ๆ ยิ่งเป็นการ "ได้เปรียบ" มาให้แก่ตน มากเท่าใดๆ ก็ยิ่งหลงว่า นี่คือ "กำไร" หรือ "ประโยชน์ตน" มากยิ่งๆเท่านั้น จึงเป็น "การโลภ มาให้แก่ตน" แล้วก็หลงดีใจใน "ความโลภของตน" ที่เจริญงอกงาม

๒. "ประโยชน์ผู้อื่น" (ปรัตถะ) ประโยชน์ชนิดนี้ น่าภาคภูมิใจกว่า มีทั้งศักดิ์และศรีกว่า และนับว่าเป็นคนมีคุณค่า เพราะ "ตนเป็นประโยชน์ ต่อผู้อื่น" กล่าวคือ ตนเป็น "ผู้ให้" เช่น ได้ให้วัตถุ ได้ให้แรงงาน ได้ให้ทรัพย์สินเงินทอง ได้ให้ความเสพ ทางอารมณ์ อันมาจาก รูปเสียงกลิ่นรสสัมผัส ได้ให้ความรู้ หรือ ได้ให้อะไรอื่นๆไป "แก่ผู้อื่น" ผลชนิดนี้ จึงเรียกว่า "ประโยชน์ ผู้อื่น" เพราะตนเป็น "ผู้ให้" "ผู้อื่น" เป็น "ผู้ได้" จากเรา

ลักษณะนี้ หากจะเรียกขานว่า "ตนได้กำไร" ก็เข้าใจยากขึ้นกว่าลักษณะที่ ๑ เพราะ "ตนเป็นผู้จ่ายออกให้ไปแก่ผู้อื่น" แท้ๆ แล้วจะชื่อว่า "ตนได้" ได้อย่างไร แต่ถ้าตั้งใจตรองตามดีๆสักนิด ก็พอรู้พอเข้าใจได้ ว่า "ตนเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น" เพราะเรา ได้ให้แก่ผู้อื่น อย่างนี้คือ "ความเป็นประโยชน์ ที่จริงยิ่งกว่า" และควรเรียกว่า "กำไร" ยิ่งกว่า เพราะใครๆก็รู้ว่าเป็น "กุศล หรือ คุณงามความดี" แน่ๆ เป็นประโยชน์ ต่อผู้อื่นแท้ๆ มีคุณมีค่า ต่อผู้อื่นกัน อย่างเห็นๆ เป็นรูปธรรม จึงเป็น "ประโยชน์"
หรือเป็น "กำไร" ที่คนทั้งหลาย ต่างก็รู้ว่า ผู้เสียสละ คือ ผู้ "ได้บุญ" นี่คือ "กำไร" หรือ "ผลได้" ที่แท้ของชาวบุญนิยม

๓. "ประโยชน์ ๒ ฝ่าย" (อุภยัตถะ) ซึ่งทั้งตนและทั้งผู้อื่น หรือ ทั้งผู้ให้และทั้งผู้รับ ต่างก็ได้รับประโยชน์ด้วยกัน พร้อมๆกัน ในขณะเดียวกัน และกรรมเดียวกัน ทว่า "ผู้ให้หรือผู้รับ" ยังไม่สามารถทำจิตใจ ให้ลดกิเลสไปกับ กิริยากรรมนั้น แต่ทั้ง "ผู้ให้" และ "ผู้รับ" ต่างก็ได้ "ประโยชน์" เป็นนามธรรม จากกรรมกิริยา ที่ทำกันในขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็น การให้วัตถุ แรงงาน ทรัพย์สิน เงินทอง ความเสพทางอารมณ์ อันมาจาก รูปเสียงกลิ่นรสสัมผัส ความรู้หรือให้ อะไรอื่นๆ "แก่กันและกัน" หากมอง ทางรูปธรรม "ผู้ให้" เป็น "ผู้จ่ายออก" รูปธรรมนั้นๆ อยู่โทนโท่ ไม่น่าจะเป็น "ผู้ได้"

[มีต่อฉบับหน้า]

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๓๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๔)