เราคิดอะไร.

ชีวิตนี้มีปัญหา ๑
๑. ชีวิตนี้ประกอบขึ้นด้วยอะไร? เป็นอยู่อย่างไร? มีความสำคัญอย่างไร?
๒. เมื่อชีวิตนี้มีปัญหา สังคมมีปัญหา ใครเล่าจะเป็นผู้แก้ปัญหาทั้ง ๒ นั้น? (และปัญหาอื่นๆ อีกตั้ง ๑๐ ข้อ)
(ต่อจากฉบับที่ ๑๓๕)

ฉบับที่แล้วได้อธิบายถึงการปฏิบัติ"ศีล"จนนำพาให้เกิด "สัมมาสมาธิ" และเกิด "ปัญญา" ชนิดมีปฏิสัมพัทธ์ซึ่งกันและกัน ทั้ง "ศีล-สมาธิ-ปัญญา" อย่างเป็น "องค์รวม" ไปแล้ว และเมื่อมีผลของการปฏิบัติ "ศีล" ก็ ย่อมเกิด "ศรัทธา" และ "ศรัทธา" ก็มีความเจริญ ตามองค์ธรรม สูงขึ้นๆ บริบูรณ์ด้วย "องค์ธรรม" นั้นๆเป็น ลำดับๆถึง ๑๐ ลำดับแล้ว และอาตมาได้อธิบายถึงผู้มี "วิชชา ๙" ที่สามารถรู้ "ปรโลก" หรือ "โลกหน้า" แบบพุทธ เชิญอ่านต่อได้]


พระพุทธเจ้าเคยตรัสไว้ว่า การทำทานใส่บาตร แก่พระโสดาบัน ๑ ครั้ง มีอานิสงส์ยิ่งกว่า ทำนิจทาน (ทำทานอยู่เสมอ หรือ ใส่บาตรแก่ พระสามัญ อยู่เสมอ) ใส่บาตรแก่พระสกิทาคามี ๑ ครั้ง มีอานิสงส์เท่ากับ ใส่บาตรแก่พระโสดาบัน ๑๐๐ ครั้ง ใส่บาตรแก่ พระอนาคามี ๑ ครั้ง มีอานิสงส์เท่ากับใส่บาตรแก่พระสกิทาคามี ๑๐๐ ครั้ง ใส่บาตรแก่ พระอรหันต์ ๑ ครั้ง มีอานิสงส์ เท่ากับ ใส่บาตรแก่ พระอนาคามี ๑๐๐ ครั้ง เป็นต้น

อนึ่ง จิตของผู้ทำทาน(ทายก) ในขณะที่"ทำทาน" มีกิเลสหรือไม่มี และถ้ามีกิเลสนั้นมากหรือน้อยเท่าใด กิเลสโลภ หรือโกรธ หรือหลง ซึ่งมีค่าเป็นบวกเป็นลบหักล้างกันได้อีก ล้วนเป็นภาวะจริง ขั้นนามธรรม อันเป็น "พลังงาน "ที่มี "ค่า" อยู่ในตัวทั้งนั้น ซึ่งก่อให้เกิด "ราคาบุญ-ราคาบาป" มากน้อยต่างกันไป แถมยังมี ทั้งรัก ทั้งศรัทธา ทั้งบูชาเทิดทูน เสริมเติมเข้าไปอีก เป็นต้น ภาวะจริงต่างๆเหล่านั้น จะบวกลบ คูณหารกัน ออกมาเป็น "ค่าบุญ-ค่าบาป" ก็ย่อมสูงต่ำ ต่างกัน ตามสัจจะนั้นๆ อีกหลากหลาย อย่างครบครัน

อจินไตย...จริงๆ [อจินไตย คือ ยากเกินกว่าที่จะรู้ได้แค่คิด,สิ่งที่ไม่คิด (เพราะแค่คิดเอาก็ไม่ได้), สิ่งที่รู้ได้ด้วยญาณเท่านั้น]

ซึ่งโดยสัจจะแล้ว การมีประโยชน์คุณค่าที่ผู้รับ (ปฏิคาหก) นำของทานที่เขาให้ แล้วเอาไปก่อเกิดประโยชน์แก่ตน โดยของนั้น ช่วยทำให้ผู้รับนั้นเอง อยู่ดีหรือเจริญขึ้น ทานนั้นก็เป็นบุญแล้ว ถ้ายิ่งทำให้ผู้รับนั้นแหละ มีเรี่ยวมีแรง ไปก่อประโยชน์ แก่ผู้อื่นต่อๆไป ทานนั้นก็ยิ่งเป็นบุญมากขึ้น หรือยิ่งกว่านั้น ผู้รับของทาน ไม่ใช้ของทานนั้น เป็นประโยชน์ส่วนตนเลย แต่นำของทานนั้น ไปขยายผล ก่อประโยชน์แก่ผู้อื่นได้มากประโยชน์ หลายคุณค่ายิ่งๆขึ้นไปอีก ดังคำที่ว่าเป็น "นาบุญ" นั่นแหละ ยิ่งมี "กัลยาณผล" มาก เป็นปฏิภาคทวี หรือ เป็นปฏิกิริยา ลูกโซ่ แผ่กระจายทับทวี

สูงไปกว่านั้นคือ ผู้ทำทาน (ทายก) ชนิดเข้าใจใน "ภูมิ โลกุตระ" นั่นคือ สามารถรู้จัก "ปรมัตถธรรม" กล่าวคือ อ่าน"จิต-เจตสิก" ของตนเองได้ ในขณะ "ทำทาน" รู้จัก "กายในกาย..เวทนาในเวทนา..จิตในจิต..ธรรมในธรรม" แล้ว "ทำทาน" ชนิดวิเคราะห์ วิจัยพิจารณา "กายในกาย- เวทนาในเวทนา -จิตในจิต -ธรรมในธรรม" อย่างรู้รอบ และรู้แจ้ง รู้จริงไปด้วย จนสามารถ ปฏิบัติกับ "เวทนาในเวทนา" ของตน ถึงขั้นทำให้เกิด "เนกขัมมสิตเวทนา" ที่เจริญขึ้นๆสำเร็จ กระทั่งเป็นฌาน เป็นวิมุติ ผู้นั้นก็ได้ "ประโยชน์ตน" (อัตตัตถะ) ที่เป็น "ปรมัตถะ" (บรมประโยชน์ หรือ ประโยชน์ยิ่งใหญ่ ขั้นโลกุตระ) ทีเดียว แม้ผู้รับของทาน (ปฏิคาหก) จะไม่เป็น "นาบุญ" ก็ตาม ก็นับได้ว่า เป็น "ประโยชน์ทั้ง ๒ ฝ่าย" (อุภยัตถะ) แล้ว

ส่วน "ประโยชน์ท่าน" (ปรัตถะ) นั้น ในความรู้สามัญง่ายๆก็คงรู้กันเข้าใจกันชัดเจนอยู่แล้ว ไม่ยากเย็นอะไร ว่า "ผู้รับ" (ปฏิคาหก) ที่เหมาะสม กับของทาน และเป็นผู้ไม่เอา ของทานไปบำเรอตน แบบเสียหายตกต่ำ หรือเอา ไปทำเลว ขยายผล ทำร้ายต่อผู้อื่น ก็ย่อมได้ประโยชน์จาก "ของทาน" ที่ตนได้รับนั้นอยู่ตรงๆ ไม่ว่าจะเป็น "วัตถุทาน" ก็มีผลระดับหนึ่ง หรือ "อภัยทาน" ก็มีผล ทาง "ปรมัตถธรรม" สูงขึ้น หรือยิ่งเป็น "ธรรมทาน" ที่เป็น สัจธรรมขั้นโลกุตระ ก็ยิ่งดีวิเศษ มีค่าสูงกว่าทานใดๆแน่

ยิ่งถ้าแม้นผู้ทำทาน (ทายก) ได้ทำทานอย่างดีครบพร้อม ทั้ง "ผู้รับ" (ปฏิคาหก) ก็อยู่ในฐานะถึงขั้น เป็นเนื้อนาบุญ และทั้งตนเอง ก็รู้ตนว่า ได้ "ลดละจางคลายอกุศลเหตุนั้นๆ" ในจิตตนอย่างชัดแเจ้ง ในขณะนั้นๆเกิด "มรรค ผล" จริงไปกับการทำทาน ก็นี่แหละคือ "ประโยชน์ตน" (อัตตัตถะ) ที่มีคุณค่าสูงขั้น "บรมประโยชน์ หรือประโยชน์ ยิ่งใหญ่" (ปรมัตถะ) ซึ่งประโยชน์ชนิดนี้ จะมีอานิสงส์ ทั้ง "ตน" ก็ได้ประโยชน์ ระดับ "โลกุตระ" และทั้ง "ผู้อื่น" ก็ได้รับประโยชน์โลกียกุศล ที่เป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ต่อ และต่อแผ่กว้างออกไป เป็น "อุภยัตถะ" ที่ทรงคุณค่า แห่งบุญมหาศาล ซึ่งเป็นพฤติกรรมสำคัญ ในความเป็น สังคม มนุษยชาติ ทีเดียว

ยิ่งไปกว่านั้น หากสามารถ "ทำทาน" ชนิดที่ทั้ง "ผู้ทาน" (ทายก) ก็ได้รับ "ประโยชน์โลกุตระ" (ปรมัตถะ) และทั้ง "ผู้รับของทาน" (ปฏิคาหก) ก็ได้รับ "ประโยชน์โลกุตระ" (ปรมัตถะ) เพราะรับ "ของทาน" นั้นๆ ด้วยจิตที่ผู้รับเอง ก็พิจารณา "กายในกาย.. เวทนาในเวทนา.. จิตในจิต.. ธรรมในธรรม" กระทั่งสามารถ ปฏิบัติตน ลดกิเลสลงได้ อันเกิดจาก "ขณะที่ได้รับของทาน" นั้น ตั้งแต่ละลด กิเลสได้น้อย ทวีขึ้นมากขึ้น จนถึงมากสุด ไม่มีกิเลส ไม่มีความโลภ ไม่มีความอยากได้ ไม่มีทั้ง.. ความไม่ชอบ ใจ และความชอบใจ จิตเกิดโลกุตรกุศล แม้ที่สุด รับของทาน ด้วยจิตว่าง แถมมี "ปัตตานุโมทนามัย" (จิตเกิดบุญ เพราะยินดี ในการทำดี ของผู้อื่น) อีก ก็ยิ่งเป็น "ทานที่ยิ่งใหญ่" ครบ สมบูรณ์ ที่สุด

สรุป ทั้ง "ผู้ให้" (ทายก) และ "ผู้รับ" (ปฏิคาหก) หากมีการ "ทาน" เกิดขึ้นขณะใด "ผู้ให้" สามารถ "ทำใจในใจ" (มนสิการ) ของตนเอง ให้เกิดมรรคผลได้ ในขณะนั้นๆ "ผู้ให้" นั้น ก็มี "ประโยชน์ตน" (อัตตัตถะ) ถึงขั้นมีความจริง เป็น "บรมประโยชน์ หรือประโยชน์ ขั้นโลกุตระ" ที่เรียกว่า "ปรมัตถะ"

หรือในขณะที่มีการ "ทาน" และขณะเดียวกันนั้น "ผู้รับ" ก็สามารถ "ทำใจในใจ" (มนสิการ) ของตนให้เกิดมรรคผลได้ ในขณะนั้นๆ เช่นกัน "ผู้รับ" คนนั้นก็มี "ประโยชน์ตน" (อัตตัตถะ) ถึงขั้นเรียกว่า "ประโยชน์ที่เป็นโลกุตระ "พร้อมกันด้วย

"ทาน" ใดมี "ประโยชน์" ถึงขั้นสามารถลดละกิเลสได้ ไม่ว่า "ประโยชน์ตน" (อัตตัตถะ) หรือ "ประโยชน์ผู้อื่น" (ปรัตถะ) ต่างก็นับเป็น "ประโยชน์ขั้นโลกุตระ"

แต่ถ้าการ"ทาน"นั้น ทั้ง"ผู้ให้"และ"ผู้รับ"ไม่สามารถ"ทำใจในใจ"ให้เกิดมรรคผลเลย ในขณะทานนั้น "ประโยชน์" ชนิดนี้ ก็เป็น "ประโยชน์ ขั้นโลกีย์" แก่กัน และกันเท่านั้น

และหากผู้หนึ่งผู้ใด "ทำใจในใจ" ของตนมีมรรคผล เพราะกรรมอันเกิดจากการ "ทาน" นั้นๆ ผู้นั้นก็มี "ประโยชน์โลกุตระ" ผู้ใด "ทำใจในใจ" ของตนให้ถึงขั้น มีมรรคผลไม่เป็น หรือทำเป็น แต่ในครั้งนั้น ทำไม่ได้ ผู้นั้นก็ได้ "ประโยชน์ที่เป็นกุศลโลกีย์" เท่านั้น "ประโยชน์โลกุตระ" ในคราครั้งนั้น ก็ไม่มี

หรือถ้า "ทำทาน" ในขณะใด หากผู้ทำมีกิเลสมากแรง อาจจะได้ "ประโยชน์ที่เป็นอกุศล" ในการ "ทาน" ครั้งนั้น ด้วยซ้ำ ก็เป็นจริง

จะเห็นได้ว่า "ทาน" เป็นเรื่องยิ่งใหญ่มากสำหรับ "การเกิดมาเป็นมนุษย์" ย่อมไม่เหมือนสัตว์เดรัจฉาน มิเช่นนั้น ็จะเสียชาติเกิด มาเป็น "คน" ทีเดียว

การศึกษาใดๆ การประพฤติบำเพ็ญฝึกฝนใดๆ การดำรงชีวิตในวิถีใดๆก็ตาม สำหรับ "ความเป็นมนุษย์" [ไม่ใช่สัตว์เดรัจฉาน ที่มันพัฒนาไม่ขึ้น เพราะมันเป็นอเวไนยสัตว์แท้] หากศึกษา หรือประพฤติบำเพ็ญ ฝึกฝนตน และการดำรงชีวิต ไม่เป็นไป เพื่อพัฒนาตน ให้ถึงความบรรลุ "ทาน" หรือบรรลุเป็นคนที่ต้อง "ได้ให้" (ทินนัง) อย่าง "สัมมา" แล้วไซร้

นั่นแหละคือ การศึกษาหรือการประพฤติบำเพ็ญฝึกฝน และการดำเนินชีวิตที่ ไม่พาไปสู่ความเป็น "มนุษย์อาริยะ"

ผู้จะเข้าใจ "โลกุตรภูมิ" ได้ดีถ่องแท้ และจะปฏิบัติตน จนสามารถบรรลุ "อาริยธรรม" ได้ จึงต้องรู้แจ้งเห็นจริง ละเอียดลออใน "ประโยชน์" (อัตถะ) ของการเกิดมาเป็นมนุษย์ อย่าง "สัมมาทิฏฐิ" ไม่ว่าจะเป็น "ประโยชน์ตน" (อัตตัตถะ) "ประโยชน์ผู้อื่น" (ปรัตถะ) "ประโยชน์ ๒ ฝ่าย" (อุภยัตถะ) "บรมประโยชน์ หรือ ประโยชน์ขั้นสูงเลิศ ที่ทำให้จิตเจตสิก บรรลุมรรคผล" (ปรมัตถะ) และความเป็น "ประโยชน์อันสูงสุด หรือ ประโยชน์ขั้นอรหันต์" (อุตตมัตถะ)

แม้แต่ "ทิฏฐธัมมิกัตถะ" อันเป็น "ประโยชน์" เบื้องแรกและเป็นรูปธรรมสามัญ มีกันได้ทั่วไป เห็นกันได้รู้กัน ได้ (ทิฏฐ) ง่ายๆ กับ "สัมปรายิกัตถะ" อันเป็น "ประโยชน์" นามธรรมที่สูงขึ้นไปกว่า ประโยชน์สามัญในโลก ที่เรียกว่าโลกีย์ ซึ่งหมายถึง ประโยชน์ เบื้องหน้า, ประโยชน์ขั้นสูง, ประโยชน์ในความเป็น 'โลกอื่น หรือโลกใหม่ ที่ต่างจากโลกีย์' อันจะมีต่อไป ในเบื้องหน้า ที่ละเอียดกว่า สูงส่งกว่า ดีกว่า โลกที่ตนเป็นอยู่ แบบเก่าๆ เดิมๆ อันวนเวียนอยู่ ในความเป็นโลกธรรม ๘

จากพระไตรปิฎก เล่ม ๒๓ ข้อ ๑๔๔ ซึ่งเป็นข้อยืนยันถึงธรรม ๘ ประการ

คือ "ทิฏฐธัมมิกัตถะ ๔" ได้แก่ ๑. อุฏฐานสัมปทา ๒. อารักขสัมปทา ๓. กัลยาณมิตตตา ๔. สมชีวิตา

และ "สัมปรายิกัตถะ ๔" รวมเป็น ๘ ประการ ได้ แก่ ๕. ศรัทธาสัมปทา ๖. ศีลสัมปทา ๗. จาคสัมปทา ๘. ปัญญาสัมปทา

และที่ควรจะเข้าใจกันอย่างสำคัญ ก็คือ ไม่ว่าจะเป็น "ทิฏฐธัมมิกัตถะ" ทั้ง ๔ ข้อ คือ ๑. อุฏฐานสัมปทา ๒. อารักขสัมปทา ๓. กัลยาณมิตตตา ๔. สมชีวิตา และ "สัมปรายิกัตถะ" อีก ๔ ข้อ อันคือ ๕. ศรัทธาสัมปทา ๖. ศีลสัมปทา ๗. จาคสัมปทา ๘. ปัญญาสัมปทา ทั้งหมด จะเป็นคุณสมบัติ ที่อยู่ในคนคนเดียวกัน และ ย่อมทำงานร่วมกัน เป็นองค์รวม อยู่ในคนคนนั้น ไม่แยกแต่ละข้อ แต่ละส่วน ไปต่างหาก ดังที่มีบางคน เข้าใจผิด

หมายความว่า คนผู้ปฏิบัติ ที่มีความรู้ความสามารถใน "ทิฏฐธัมมิกัตถะ ๔" และ "สัมปรายิกัตถะ ๔" แล้ว ก็ย่อมจะมี คุณสมบัติ หรือ มีคุณธรรม ทั้งหลาย ทั้ง ๘ ข้อนั้น ประกอบอยู่ ในพฤติกรรม ของคนผู้นั้นทีเดียว คุณสมบัติทั้ง ๘ นั้น จะต่างก็ทำหน้าที่ ของมันอยู่ ในคนผู้นั้น ไปตามสมรรถนะ ที่มีจริงของเขา

"อุฏฐานสัมปทา" นั้นพระองค์ก็ตรัสว่า เกิดเป็นคน ต้องยังชีพเลี้ยงชีพ ด้วยความขยันหมั่นเพียร ประกอบการงาน

ดังนั้น ผู้มีภูมิรู้เป็น "โลกียะ" ก็จะขยันหมั่นเพียร ประกอบการงาน ที่ยังไม่รู้อะไรดีอะไรชั่ว หรือรู้ก็รู้อย่าง "อวิชชา" นั่นคือ ย่อมจะขยัน ด้วยความโลภ.. โกรธ.. หลง หรือ ขยันอย่างเห็นแก่ตัว ส่วนมากในโลก ก็ประกอบกิจ ไปตามทฤษฎี "ทุนนิยม" ยิ่งได้มาก ก็ยิ่งชอบ ยิ่งโลภยิ่งได้ ก็ยิ่งหลง เป็นต้น

หรือแม้แต่ "อาชีพ" ใดที่เป็น "มิจฉาชีพ" ก็จะไม่ค่อยรู้แจ่มแจ้ง ชัดเจนอะไรกัน เท่าไหร่ เช่น...

๑. อย่างไรคือ อาชีพทุจริตขี้โกงชัดๆ (กุหนา)
๒. อย่างไรคือ อาชีพที่ยังเป็นคนพูดโกหกหลอกๆ ลวงๆเขากิน (ลปนา)
๓. อย่างไรคือ อาชีพที่พ้นทุจริตจาก ๒ ขั้นต้นนั้นขึ้นมาได้บ้างแล้ว แต่ก็ยังมีการตลบตะแลงอยู่ ยังไม่สะอาดเสียทีเดียว (เนมิตตกตา)
๔. อย่างไรคือ อาชีพที่ตัวเองสุจริตได้แล้ว แต่ผู้นั้นก็ยังมอบตนอยู่ในทางผิด หรือตนสะอาดแต่ก็ยังร่วม หัวจมท้าย อยู่กับคน หรือกลุ่มคน ไม่สุจริตอยู่ (นิปเปสิกตา)
๕. อย่างไรคือ อาชีพทำงานยังเอารายได้ หรือยังมีลาภแลกลาภ ยังทำงานเอาเงิน เอาสิ่งแลกเปลี่ยน กลับคืนมาให้ตนอยู่ ยังไม่ถึงขั้น ทำงานฟรี (ลาเภน ลาภัง นิชิคิงสนตา)

(มีต่อฉบับหน้า)

เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๓๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๔)

}