เราคิดอะไร.

ชีวิตนี้มีปัญหา
๑. ชีวิตนี้ประกอบขึ้นด้วยอะไร? เป็นอยู่อย่างไร? มีความสำคัญอย่างไร?
๒. เมื่อชีวิตนี้มีปัญหา สังคมมีปัญหา ใครเล่าจะเป็นผู้แก้ปัญหาทั้ง ๒ นั้น?
(และปัญหาอื่นๆ อีกตั้ง ๑๐ ข้อ)
(ต่อจากฉบับที่ ๑๓๖)

ฉบับที่แล้วได้อธิบายถึงการปฏิบัติ"ศีล"จนนำพาให้เกิด "สัมมาสมาธิ"และเกิด"ปัญญา" ชนิดมีปฏิสัมพัทธ์ซึ่งกันและกัน ทั้ง "ศีล-สมาธิ-ปัญญา" อย่างเป็น "องค์รวม" ไปแล้ว และเมื่อมีผลของการปฏิบัติ "ศีล" ก็ ย่อมเกิด "ศรัทธา" และ "ศรัทธา" ก็มีความเจริญ ตามองค์ธรรม สูงขึ้นๆ บริบูรณ์ด้วย "องค์ธรรม" นั้นๆ เป็นลำดับๆ ถึง ๑๐ ลำดับแล้ว และอาตมาได้อธิบายถึงผู้มี "วิชชา ๙" ที่สามารถรู้ "ปรโลก" หรือ "โลกหน้า" แบบพุทธ เชิญอ่านต่อได้]


จะเห็นได้ว่า "ทาน"เป็นเรื่องยิ่งใหญ่มากสำหรับ "การเกิดมาเป็นมนุษย์" ย่อมไม่เหมือนสัตว์เดรัจฉาน มิเช่นนั้น ก็จะเสียชาติเกิด ที่ได้เกิด มาเป็น "คน" ทีเดียว

การศึกษาใดๆ การประพฤติบำเพ็ญฝึกฝนใดๆ การดำรงชีวิตในวิถีใดๆก็ตาม สำหรับ "ความเป็นมนุษย์" [ไม่ใช่สัตว์เดรัจฉาน ที่มันพัฒนาไม่ขึ้น เพราะมันเป็น อเวไนยสัตว์แท้] หากศึกษา หรือประพฤติบำเพ็ญ ฝึกฝนตน และการดำรงชีวิต ไม่เป็นไป เพื่อพัฒนาตน
ให้ถึงความบรรลุ "ทาน" หรือบรรลุเป็นคน ที่ต้อง "ได้ให้" (ทินนัง) อย่าง "สัมมา" แล้วไซร้

นั่นแหละคือ การศึกษาหรือการประพฤติบำเพ็ญฝึกฝน และการดำเนินชีวิตที่ ไม่พาไปสู่ความเป็น "มนุษย์อาริยะ" แม้จะจบ ดอกเตอร์ ๕ ใบก็เถอะ

ผู้จะเข้าใจ "โลกุตรภูมิ" ได้ดีถ่องแท้ และจะปฏิบัติตน จนสามารถบรรลุ "อาริยธรรม" ได้ จึงต้องรู้แจ้งเห็นจริง ละเอียดลออ ใน "ประโยชน์" (อัตถะ) ของการเกิดมาเป็นมนุษย์ อย่าง "สัมมาทิฏฐิ" ไม่ว่าจะเป็น "ประโยชน์ตน" (อัตตัตถะ) "ประโยชน์ผู้อื่น" (ปรัตถะ) "ประโยชน์ ๒ ฝ่าย" (อุภยัตถะ) "บรมประโยชน์ หรือ ประโยชน์ขั้นสูงเลิศ ที่ทำให้จิต เจตสิก บรรลุมรรคผล" (ปรมัตถะ) และ ความเป็น "ประโยชน์อันสูงสุด หรือ ประโยชน์ขั้นอรหันต์" (อุตตมัตถะ)

แม้แต่ "ทิฏฐธัมมิกัตถะ" อันเป็น "ประโยชน์" เบื้องแรก และเป็นรูปธรรมสามัญ มีกันได้ทั่วไป เห็นกันได้รู้กัน ได้ (ทิฏฐ) ง่ายๆ กับ "สัมปรายิกัตถะ" อันเป็น "ประโยชน์" นามธรรมที่สูงขึ้นไปกว่า ประโยชน์สามัญในโลก ที่เรียกว่าโลกีย์ ซึ่งหมายถึง ประโยชน์เบื้องหน้า, ประโยชน์ขั้นสูง, ประโยชน์ในความเป็น 'โลกอื่น หรือโลกใหม่ ที่ต่างจากโลกีย์' อัน จะมีต่อไป ในเบื้องหน้า ที่ละเอียดกว่า สูงส่งกว่า ดีกว่าโลก ที่ตนเป็นอยู่ แบบเก่าๆ เดิมๆ อันวนเวียน อยู่ในความเป็นโลกธรรม ๘

"โลกหน้า (สัมปรายภพ) แบบพุทธ" จึงมิใช่ "เทวนิยม" กล่าวคือ มิใช่ "ตายแบบร่างกายแตกตายแล้วไปเกิด"

จากพระไตรปิฎก เล่ม ๒๓ ข้อ ๑๔๔ ซึ่งเป็นข้อยืนยันถึงธรรม ๘ ประการ

คือ "ทิฏฐธัมมิกัตถะ ๔" ได้แก่ ๑. อุฏฐานสัมปทา ๒. อารักขสัมปทา ๓. กัลยาณมิตตตา ๔. สมชีวิตา

และ "สัมปรายิกัตถะ ๔" รวมเป็น ๘ ประการ ได้ แก่ ๕. ศรัทธาสัมปทา ๖. ศีลสัมปทา ๗. จาคสัมปทา ๘. ปัญญาสัมปทา และที่ควร จะเข้าใจกัน อย่างสำคัญ ก็คือ ไม่ว่าจะเป็น "ทิฏฐธัมมิกัตถะ" ทั้ง ๔ ข้อ คือ ๑. อุฏฐานสัมปทา ๒. อารักขสัมปทา ๓. กัลยาณมิตตตา ๔. สมชีวิตา และ "สัมปรายิกัตถะ" อีก ๔ ข้อ อันคือ ๕. ศรัทธาสัมปทา ๖. ศีลสัมปทา ๗. จาคสัมปทา ๘. ปัญญาสัมปทา ทั้งหมด จะเป็นคุณสมบัติ ที่อยู่ในคนคนเดียวกัน และย่อมทำงาน สอดประสาน ช่วยกันเป็นองค์รวม อยู่ในคนคนนั้น ไม่แยกแต่ละข้อ แต่ละส่วน ไปต่างหาก ดังที่มีบางคน เข้าใจผิด

หมายความว่า คนผู้ปฏิบัติ ที่มีความรู้ความสามารถใน "ทิฏฐธัมมิกัตถะ ๔" และ "สัมปรายิกัตถะ ๔" แล้ว ก็ย่อมจะมีคุณสมบัติ หรือ มีคุณธรรมทั้งหลาย ทั้ง ๘ ข้อนั้น ประกอบอยู่ในพฤติกรรม ของคนผู้นั้นทีเดียว คุณสมบัติทั้ง ๘ นั้น จะต่างก็ทำหน้าที่ ของมันอยู่ในคนผู้นั้น ไปตามสมรรถนะ ที่มีจริงของเขา

"อุฏฐานสัมปทา" นั้นพระองค์ก็ตรัสว่า เกิดเป็นคน ต้องยังชีพเลี้ยงชีพ ด้วยความขยันหมั่นเพียร ประกอบการงาน ซึ่งขยัน ของชาวโลกียะ กับ โลกุตระ มีนัยต่างกัน

กล่าวคือ ผู้มีภูมิรู้เป็น "โลกียะ" ก็จะขยันหมั่น เพียรประกอบการงาน ที่ยังไม่รู้อะไรดี อะไรชั่ว หรือรู้ ก็รู้อย่าง "อวิชชา" นั่นคือ ย่อมจะขยัน ด้วยความโลภ.. โกรธ..หลง หรือขยันอย่างเห็นแก่ตัว ส่วนมากในโลก ก็ประกอบกิจ ไปตามทฤษฎี "ทุนนิยม" ยิ่งได้มาก ก็ยิ่งชอบ ยิ่งโลภ ยิ่งได้ก็ยิ่งหลง เป็นต้น

หรือแม้แต่ "อาชีพ" ใดที่เป็น "มิจฉาชีพ" ก็จะไม่ค่อยรู้แจ่มแจ้ง ชัดเจนอะไรกันเท่าไหร่ เช่น...
๑. อย่างไรคือ อาชีพทุจริตขี้โกงชัดๆ (กุหนา)
๒. อย่างไรคือ อาชีพที่ยังเป็นคนพูดโกหกหลอกๆ ลวงๆเขากิน
(ลปนา)
๓. อย่างไรคือ อาชีพที่พ้นทุจริตจาก ๒ ขั้นต้นนั้นขึ้นมาได้บ้างแล้ว แต่ก็ยังมีการตลบตะแลงอยู่ ยังไม่สะอาด เสียทีเดียว (เนมิตตกตา)
๔. อย่างไรคือ อาชีพที่ตัวเองสุจริตได้แล้ว แต่ผู้นั้นก็ยังมอบตน อยู่ในทางผิด หรือ ตนสะอาด แต่ก็ยังร่วมหัว จมท้ายอยู่กับคน หรือกลุ่มคน ไม่สุจริตอยู่ (นิปเปสิกตา)
๕. อย่างไรคือ อาชีพทำงานยังมี "การใช้ลาภต่อลาภ หรือ ความปรารถนาแรงกล้า อยู่ในลาภ หรือ ความต้องการได้ลาภ ยิ่งๆขึ้น" (ลาเภน ลาภัง นิชิคิงสนตา) ยังไม่ถึงขั้น ทำงานฟรี หรือ ถึงขั้นทำอาชีพ โดยไม่รับเงินเดือน

ซึ่งทั้ง ๕ ข้อ ดังกล่าวมานั้น ล้วนยังชื่อว่า เป็น "มิจฉาชีพ" ตามลำดับ ผู้มีภูมิรู้ถึงขั้น "โลกุตระ" ก็จะพากเพียร ให้หลุดพ้น "มิจฉาชีพ" จากข้อต้น ไปให้ได้สูงขึ้นๆ สูงขึ้นได้ขั้นใด ก็จะเป็น "อาริยะ" ไต่ระดับขึ้นไปเรื่อยๆ แต่ก็มีสภาพซับซ้อน ภายนอกสูง ภายในยัง ไม่หลุดพ้น หรือ ภายในหลุดพ้น แต่ภายนอก ดูเหมือน ยังเกี่ยวข้อง ก็เป็นสัจจะที่เป็นความจริง ของแต่ละคน อยู่อีกด้วย หากใครยังไม่พ้น ข้อที่ ๕ ก็ยังไม่ชื่อว่า "พ้นมิจฉาชีพ" อย่างสุดยอดของ "โลกุตรธรรม" หรือยังเป็น "อาริยะ" ชั้นสูงขั้นสุด ยังไม่ได้

หรือแม้แต่ "มิจฉาวณิชชา ๕" ซึ่งพระพุทธเจ้า ก็ทรงระบุอยู่ชัดๆว่า เป็น "การค้าที่มิจฉา" อันก็คือ "มิจฉาชีพ" นั่นเอง ชาวพุทธที่ยัง เป็นฆราวาส ที่ต้องค้าต้องขายอยู่ หากเป็นผู้มีภูมิ "โลกีย์" สามัญ เป็นปุถุชนแท้ๆ เต็มๆ ก็จะขยันหมั่นเพียรทำ "มิจฉาชีพ" เหล่านี้อยู่ ทั้งปรุง ทั้งแต่ง

"มิจฉาชีพ"ที่ชื่อว่า"มิจฉาวณิชชา ๕" ได้แก่
๑. การค้าขายอาวุธ (สัตถวณิชชา)
๒. การค้าขายสัตว์เป็น (สัตตวณิชชา)
๓. การค้าขายเนื้อสัตว์ (มังสวณิชชา)
๔. การค้าขายสิ่งมอมเมา (มัชชวณิชชา)
๕. การค้าขายสิ่งที่เป็นพิษ (วีสวณิชชา)

ดังนี้เป็นต้น คนที่ยังไม่ได้ศึกษาพุทธศาสนากันดีๆ ก็จะไม่รู้ว่า ใน "อาชีพ" ที่พระพุทธเจ้า ทรงสอนเอาไว้นั้น อะไรดี ไม่ดีอย่างไร อะไรควรละเว้น ไม่ละเว้นแค่ไหน

ซึ่งพระพุทธองค์ทรงตราทฤษฎีหลักการประพฤติไว้ ให้เราชาวพุทธอย่างดีเยี่ยมหมดแล้ว เพื่อชีวิตที่เกิดมา ทั้งที จะได้ดำเนินชีวิตไป อย่างมีความเจริญแท้จริง เป็นคนประเสริฐได้แท้จริง แต่ชาวพุทธบุตรเอง ไม่ค่อยสนใจ ใฝ่ศึกษา จึงทำบาป ทำกรรมชั่ว กันอยู่ ไม่ได้สังวร เว้นขาด กันเอาเสียเลย คนจึงไม่เจริญ อย่างเป็นสัจจะ สังคมจึงพลอยเละเทะ เสื่อมโทรมไปด้วย

ผู้ปฏิบัติ "มรรค อันมีองค์ ๘" ก็จะได้รู้จัก การดำเนินชีวิต และปฏิบัติพัฒนาชีวิตไป ตั้งแต่ "การดำรินึกคิด" ที่เป็น "มิจฉาสังกัปปะ ๓" ว่า คืออย่างไรกันบ้าง ก็จะได้ปฏิบัติละล้างออกไปจากจิต หรือรู้จัก "การพูด" ที่เป็น "มิจฉาวาจา ๔" ก็จะได้ปรับปรุงแก้ไข รู้จัก "การกระทำ ต่างๆ" ที่เป็น "มิจฉากัมมันตะ ๓" ก็จะได้สังวร ละล้างกิเลส ให้หลุดพ้นไป รู้จัก "อาชีพ" ที่เป็น "มิจฉาอาชีวะ ๕" ก็จะได้พัฒนาตน สู่อาชีพที่สูง ที่ประเสริฐขึ้นได้

และต้องทำงานด้วยปัญญา ไม่ใช่ทำด้วยความงมงาย หรือทำด้วยความเต็มไปด้วย "อวิชชา" ที่ยิ่งฉลาด เฉลียวมากยิ่งเท่าใดๆ ก็นั่นแหละ ยิ่งทำลายตน ทำลายสังคม ให้เสื่อมต่ำ เลวร้ายเท่านั้นๆ ดังได้อธิบายมาแล้ว

จึงไม่ใช่เอาแต่ "ขยันยิ่งยอด" แถมฉลาดเฉลียว สุดแสน แต่ "อวิชชา" อันหมายความว่า ไม่มี "ศรัทธา..ศีล.. จาคะ..ปัญญา" พอจะเป็น ผู้ได้ชื่อว่า "อาริยะ" เสียบ้างเลย

ผู้จะ "พ้นอวิชชา" ได้นั้นต้องเข้าถึง "ศรัทธา..ศีล.. จาคะ..ปัญญา" ต้องรู้จัก "การสร้างสรร" หมายความว่า ต้อง "สร้าง" อย่างใช้ปัญญา "สรร" นั่นคือ ใช้ปัญญา "สรร" ใช้ปัญญา "เลือก" ใช้ปัญญา "คัด" (สรร แปลว่า เลือก, คัด) ให้ได้ผลเป็น "สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีพ" ไม่ใช่ "สร้างๆ" ตะพึดไปแค่นั้น กล่าวคือ ได้แต่ "สร้าง" กับ "สรรค์" หมายความว่า "สร้าง" กับ "สร้าง" (เพราะ "สรรค์" แปลว่า "สร้าง" ซ้ำคำอยู่ตามเดิม) ซึ่งต่างกับคำว่า "สร้างสรร" ที่แปลว่า "สร้างแบบมีการเลือก การคัดด้วยปัญญา" โดยเฉพาะ ผู้มี "โลกุตรปัญญา" ย่อมคัดเลือก อย่างประเสริฐ (อาริยะ)

คำว่า "สร้างสรรค์" กับ "สร้างสรร" จึงมีนัยสำคัญต่างกัน ด้วยประการฉะนี้

หากคนที่มี "ภูมิปัญญา" อยู่แค่ภูมิ "โลกียะ" และเป็น "ปุถุชน" สามัญ แม้จะเป็นผู้ "ถึงพร้อมด้วยความหมั่นขยัน" (อุฏฐานสัมปทา) และต่อให้เป็นการ ประกอบอาชีพสุจริต ตามแนวคิดของ "ทุนนิยม" ด้วยซ้ำ แถมเป็นผู้มี "ความฉลาดยิ่ง" ใช้ปัญญาเลือก คัดอีกด้วย ถ้าคนผู้ชื่อ ว่า เป็น "ปุถุชน" แท้ๆยังไม่มี "กัลยาณธรรมห รืออาริยธรรม" ก็จะขยันหมั่นเพียร ด้วยอำนาจ ของกิเลส ที่ยังมีบทบาท บงการอยู่ในจิต ของแต่ละคนนั้นเอง สร้าง "ความ เห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้" โลภ มักได้ กอบโกย สะสม กักตุน ตามที่ยอมรับ นับถือกันว่า "สุจริตยุติธรรม" ในแบบในระบบ ระเบียบของลัทธิ "ทุนนิยม" นั่นแหละ ก็ได้เคยอธิบายมาแล้ว ว่า ระบบ "ทุนนิยม" นั้นยังไม่พ้น "แนวคิดอันเป็นกลวิธี ที่ผู้ฉลาดได้เปรียบนั้นแหละ เป็นผู้ตราข้อกำหนดไว้ ในสังคม อย่างเป็นการเอาเปรียบ" ไปได้หรอก

ดังนั้น จึงยังไม่พ้น "มิจฉาอาชีวะ ๕"ไปได้ง่ายๆเป็นเด็ดขาด ยิ่งขยันยิ่งฉลาดก็ยิ่ง"ได้เปรียบ" อยู่ในสังคม เพราะคนที่ฉลาด และมี ความสามารถ กับพวกที่มีอำนาจ ในธุรกิจ หรือในการบริหาร จะเป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์ ตั้งอัตรา ค่าตัว ตั้งราคาอะไรต่ออะไรต่างๆ ให้แก่สังคม ด้วยเชิงชั้น ที่ได้เปรียบ ไว้ให้แก่ตน กับพวกพ้อง ตามความ จริงของ "อคติ ๔" ซึ่งเป็นสมุนเอก ของกิเลส โลภโกรธหลง ทั้งหยาบ - กลาง - ละเอียด ที่ยังทำงานอยู่ อย่างซื่อสัตย์ ในภายในจิต เพราะมันเป็นนาย ที่จะบงการปุถุชน อยู่เสมอ

เพราะฉะนั้น แม้จะขยันหมั่นเพียรปานใด หากไม่ได้ศึกษา และพยายามปฏิบัติ ตามทฤษฎี ของพระพุทธเจ้า คนขยันก็มี "มิจฉาชีพ" หรือ "มิจฉาอาชีวะ" ข้อที่เรียกว่า "กุหนา" เป็นข้อที่ ๑ ซึ่งต่ำหยาบที่สุด คือ ยังมีการโกงมา เพื่อตน เพื่อพวกของตัว ได้ง่ายที่สุด อันเป็นการทุจริต แท้ๆ เพราะในจิต ยังมีความโลภ โกรธหลง ความเห็นแก่ตัวอยู่ เป็นสามัญของปุถุชน ที่ไม่ได้ฝึกฝน ละล้างกิเลส

"มิจฉาชีพ" หรือ "มิจฉาอาชีวะ" ขั้นที่ ๒ แม้ไม่หยาบถึงขั้น "กุหนา" แต่ก็ยังมี "พูดหลอกๆลวงๆ พูดมีเล่ห์" (ลปนา) ยังมีอาชีพ ไม่บริสุทธิ์ สะอาด ตามเชิงฉลาด ที่ตนยังมีกิเลส ยังเห็นแก่ได้ เห็นแก่ตัว เห็นแก่พวก เมื่อยังไม่ได้เรียนรู้ และพากเพียร ละล้างกิเลส ให้ได้อย่าง "สัมมาทิฏฐิ" ก็ต้องมีลักษณะของ "ลปนา" นี้อยู่แน่ ต่อให้ขยันหมั่นเพียร ปานใดก็ตาม ยิ่งฉลาด ก็ยิ่งจะพูด มีเล่ห์ลึกซึ้ง ผู้คนก็ยิ่งหลงคารม ก็ยิ่งได้เปรียบ ยิ่งทำอาชีพได้บาป

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๓๗ ธันวาคม ๒๕๔๔)