หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >เราคิดอะไร

ชีวิตนี้มีปัญหา ๑ - สมณะโพธิรักษ์ -


(ต่อจากฉบับที่ ๑๔๒)
ก็คงเห็นแล้วว่า "เอกัคคตา"แบบพุทธ ที่เป็น "สัมมาสมาธิ" นั้น ประกอบไปด้วยการปฏิบัติ "องค์ ๗" หรือมี "องค์ ทั้ง ๗" ใน "สัมมาอาริยมรรค องค์ ๘" นั่นเอง เป็นเหตุให้เกิด "เอกัคคตา" ที่อาตมาแปลว่า "ความเป็น หนึ่งเดียวกัน ของจิตประเสริฐ (อัคค)" หรือ "จิตที่มีแต่กุศลชนิดสัมมา (อัคค) พันธุ์เดียว (เอก)"

ซึ่งเป็น "เอกัคคตา" ที่ต่างจาก "เอกัคคตา" แบบนั่งหลับตาสะกดจิต แล้วเข้าไป"เป็นหนึ่ง"อยู่ในภวังค์

เพราะ "เอกัคคตา" แบบพุทธนั้น มิใช่จิตที่เข้าไปมีความ "เป็นหนึ่ง" แค่อยู่ในภวังค์ ซึ่งมีความรับรู้ ได้เพียง แคบๆ อยู่เฉพาะในทวารใจ ทวารเดียวเท่านั้น และที่สำคัญ คือ มิใช่ "เอกัคคตา" ที่ไม่สามารถ เกี่ยวข้อง รับรู้ไปกับ ความดำริ ความจำนง(สังกัปปะ) ไม่สามารถ เกี่ยวข้อง รับรู้ไปกับการพูดการจา (วาจา) ไม่สามารถ เกี่ยวข้องรับรู้ ไปกับการกระทำต่างๆ ทางทวารทั้งนอกทั้งใน (กัมมันตะ) และ ไม่สามารถเกี่ยวข้อง รับรู้ไปกับ การงานอาชีพ (อาชีวะ)

"เอกัคคตา" แบบพุทธ คือ จิตที่ได้ปฏิบัติตามหลักใน "มหาจัตตารีสกสูตร" (พระไตรปิฎก เล่ม ๑๔ ข้อ ๒๕๒-๒๘๑) จนจิตเจริญขึ้น มีสมรรถนะ ถึงขั้นที่เรียกว่า "อัคค" (ประเสริฐ, ดีเลิศ) กันแล้ว ก็เพราะสามารถปฏิบัติ โดยมี..ทิฏฐิ สังกัปปะ วาจา กัมมันตะ อาชีวะ วายามะ สติ ทั้ง ๗ องค์ ของมรรค ต่างก็เจริญขึ้นสู่ "สัมมา" ปฏิสัมพัทธ์กันเป็นหนึ่งเดียว (เอก) จิตที่ดีเลิศ ประเสริฐ (อัคค) แบบนี้ จึงจะก่อเกิดเป็น "สัมมาสมาธิ" ซึ่งเป็น "สมาธิ" พิเศษตามแบบของพุทธ โดยเฉพาะ และ "เอกัคคตา" ก็มีคุณลักษณะ แบบพุทธ โดยเฉพาะ

ในขณะที่"จิต"เรามีความสามารถเข้าขั้นเรียกว่า "ฌาน ๑" ก็หมายถึง จิตที่มีคุณภาพ อันประกอบไปด้วย "วิตกวิจาร.. ปีติ.. สุข.. เอกัคคตา" นั่นเองอยู่พร้อม

"วิตกวิจาร" หมายถึง อาการของจิตส่วนหนึ่ง ลักษณะหนึ่ง กำลังทำหน้าที่เพื่อให้เกิดฌาน คือ กำลัง ตริตรึกนึกคิด และ ตรวจตรา พิจารณา เพ่งจนรู้ตัวตนของกิเลส และ ทำการกำจัด หรือ เผากิเลสนั้นๆลงไป นั่นคือ การใช้เจตสิก หรือ อาการจิต ที่เรียกว่า "วิตกวิจาร" ทำงาน

คำว่า "วิตก" คือ อาการของจิตที่ทำหน้าที่ ตริตรึก หรือการคิด ความดำริ คำว่า "วิจาร" คือ การไตร่ตรอง การตรวจตรา การพิจารณา ซึ่งขณะนี้ร่วมกันทำงาน เพิ่งจะได้ผลเป็น "ฌาน" ขั้นต้น งานของ "วิตกวิจาร" จึงยังหนักอยู่ ต้องลำบาก ต้องกังวล กล่าวคือ จิตจะต้องทำหน้าที่ เพ่งทำงาน ให้ได้ผล คอยระวังเคร่งคุม เพื่อให้เกิดฌานอย่างจดจ่อ เอาใจใส่ระวังระไว วางมือยังไม่ได้

นี่คือ อาการของ"วิตกวิจาร"ส่วนที่ยังต้องหนัก ต้องมาก ต้องลำบากอยู่ ในช่วงที่นับว่า เป็น "ฌาน ๑"

ไม่ใช่หมายเอารวมไปทั้งหมดทุกส่วนของ "ความตริตรึกนึกคิดหรือความดำริ (วิตก) และการไตร่ตรอง ตรวจตรา หรือ การพิจารณา (วิจาร) เต็มสภาพของ "วิตกวิจาร"

ผู้เรียนรู้ "ฌาน" จะต้องจับประเด็นของเนื้อหาให้ดีว่า ที่เรายังต้องหนัก ต้องลำบาก ต้องทำให้ผู้ปฏิบัติ เป็นกังวลอยู่นั้น ส่วนใดแน่ ที่ทำให้หนัก ส่วนไหนแน่ที่ทำให้ลำบาก อะไรแน่ที่ยังต้องเป็นกังวลอยู่

ซึ่งขณะนี้ ความเป็น"สัมมาทิฏฐิ"ที่จะใช้นำการไตร่ตรองตรวจตราพิจารณาเราก็มีแล้ว ไม่บกพร่อง และ การปฏิบัติจนเกิด "สัมมา" อื่นๆ อีก "๗ สัมมา" ก็ทำได้แล้ว กระทั่งจิตกำลังเข้าสู่ความเป็น"ฌาน ๑" ที่มีจิตเป็น "เอกัคคตา" ขั้นต้นอยู่โทนโท่แท้ๆ ความบกพร่อง เหล่านี้ ไม่มีแล้ว จึงไม่ใช่เหตุที่ทำให้หนัก ให้ลำบากแน่

ดังนั้น ในความเป็น"วิตกวิจาร"ที่ว่าหนัก ว่าลำบาก นั้น จึงหมายถึง ส่วนหนึ่งของ "วิตกวิจาร" คือ อาการ จดจ่อ เอาใจใส่ คอยระวัง เคร่งคุม เพื่อให้เกิดฌานนี่เอง ที่ยังหนักอยู่เพราะต้องใช้ เพื่อช่วยให้เกิด สภาพที่เรียกว่า "ฌาน" อันมี "เอกัคคตา" กระทั่งเข้าขั้น"ฌาน ๑"อยู่ขณะนี้ และขณะนี้ ก็ยังใช้อาการจดจ่อ เอาใจใส่คอยระวัง เคร่งคุมนี้หนักอยู่ ยังไม่เบา น้อยลงยังไม่ได้ เพราะความชำนาญ ความสามารถ ยังไม่มากพอ ยังไม่เก่งพอ จึงทำให้ ยังมีความลำบาก ยังไม่สงบใจสนิท ยังวางมือหรือวางใจไม่ได้ ยังหนักอยู่ ยังมีความกังวลอยู่ [คนไทยเอาคำว่า "วิตก" มาใช้ในความหมายว่า กังวล หรืออาการใจที่ยังไม่สบาย ก็จาก ความหมายตรงนี้]

คงไม่งงแล้วนะว่า ฌาน ๑ ใน "วิตกวิจาร" นั้นส่วนที่ยังหนักหรือกังวลอยู่ ก็หมายถึงสภาพ ของอาการ จดจ่อเอาใจใส่ คอยระวังคุมแจ นี่แหละที่ยังหนัก ยังวางมือไม่ได้ จุดนี้เป็นตัวสำคัญที่บ่งชี้ว่า ผู้ปฏิบัติได้ "ฌาน ๑" มีคุณภาพเท่านี้ นั่นคือ แม้จะเป็น "ฌาน" แล้ว ก็ยังมีอาการของ ความไม่สมบูรณ์ หรือยังมี ความบกพร่อง ที่จะต้องทำให้ดีให้เจริญ ยิ่งขึ้นกว่านี้ขึ้นไปอีก จึงเรียก อารมณ์ฌาน หรือ สมาธิจิต ที่มีคุณภาพของ "เอกัคคตา" ขั้นต้นนี้ว่า "ฌาน ๑"

เพราะฉะนั้น การจดจ่อคอยระวังเอาใจใส่เคร่งคุมทำหน้าที่เพื่อให้เกิดฌาน นี้แลคือ เนื้อแท้ประเด็นจริงของ "วิตกวิจาร" ที่มันยังมี อาการบกพร่อง ไม่สูง ไม่ดีพอ

ดังนั้น ถ้าเราสูงขึ้นชำนาญขึ้น ก็คือ เราจะต้องทำให้อาการเฉพาะส่วนของจิต ที่ทำหน้าที่จดจ่อ คอยระวัง เคร่งคุม เพื่อให้เกิดฌาน นี้เท่านั้นที่ต้อง "ลดลง"

ตรงนี้แหละคือประเด็นเนื้อหาที่จะต้องแม่นๆชัดๆ คมๆให้ได้ ว่า อะไรที่จะต้องทำให้"ลดลง เบาลง น้อยลง" และ สุดท้าย "ไม่มีอาการ" นั้นๆเลย จึงจะถึงขั้นดียอด

ฉะนั้น การจะ"ออกจากฌาน ๑"(วุฏฐาน)สูงขึ้นไป"เข้าฌาน ๒"(สมาบัติ) ก็จะต้องทำให้อาการจดจ่อ คอยระวัง เคร่งคุม เพื่อให้เกิดฌาน นี่เอง เบาลง ลดลง น้อยลง จนที่สุดหมดไป

เมื่ออาการของการจดจ่อคอยระวังเคร่งคุมนี้ลดลง นั่นก็กล่าวได้ว่า "วิตกวิจาร"ลดลง หากถึงขั้นไม่ต้อง จดจ่อระมัดระวัง เคร่งคุมกันแล้ว ภาษาที่ใช้พูดกันอย่างเข้าใจง่ายๆ ก็ว่า ไม่ต้อง"วิตกวิจาร"แล้ว ถึงขั้น ทำได้อย่าง "เป็นเอง" หรือ เก่งชำนาญ จนเป็นปกติแล้ว ภาษาของนักปฏิบัติฌานที่พูดกันเป็นขั้นจบ ก็คือ วิตกวิจาร ระงับไป หรือถึงกับพูดกันว่า "ไม่มีวิตกวิจาร" คุณภาพของจิต ต้องถึงอย่างนี้จึงจะนับว่า เจริญขึ้นสู่ "ฌาน ๒"

แต่ไม่ได้หมายความว่า เนื้อแท้ของ"วิตกวิจาร" ในส่วนที่เป็น "การตริตรึกนึกคิด และ ตรวจตราพิจารณา" หรือ คุณภาพของ "การเพ่งเผากิเลส" นั้น ลดลง น้อยลง แน่ๆ กลับจะยิ่งเก่ง ยิ่งชำนาญ ยิ่งมีประจำในคนผู้นั้น แน่นแนบเนียน ในนิ่งลึก ดีเลิศยิ่งขึ้นอีก เสียด้วยซ้ำ

หากไม่รู้แจ้งรู้จริง ก็คงงุนงงได้ว่า "วิตกวิจาร" นั้น หมดสิ้นไปจริง ตามที่พูด แต่ก็มิใช่ "วิตกวิจาร" ไม่มี ในส่วนที่มี กลับนิ่งแน่นดียิ่งขึ้น ไปกว่าเก่าไปเสียอีก

นี่คือ นัยลึกล้ำที่เป็นอจินไตย ในฌานวิสัย

เมื่อความสามารถของผู้ปฏิบัติมีมากขึ้นเก่งขึ้นสู่คุณภาพที่เรียกว่า "วิตกวิจารระงับไป" สภาพสูงขึ้นมานี้ก็คือ "การเข้าถึง" ความเป็นฌาน ๒ หรือพูดง่ายๆว่า "การเข้าฌาน" ซึ่งขณะนี้เป็นการเข้าสู่ "ฌาน ๒"

"การเข้าถึง"หรือ"การเข้าฌาน" ในภาษาบาลีที่เรียกอย่างไทยๆ ก็คือ "สมาบัติ" ส่วนภาษาบาลีแท้ๆ คือ "สมาปตฺติ" (สมาปัตติ) หรือ "สมาปชฺชน" (สมาปัชชะนะ)

"การออกจากฌาน"หรือ"การล่วงพ้นจากฌานหนึ่ง ไปสู่อีกฌานหนึ่ง" ภาษาบาลีก็ว่า "วุฏฐาน" ซึ่งมีความ หมายว่า การออก หรือ สภาพที่ออกไปจนพ้นจาก

ดังนั้น เมื่อมี"การเข้าถึง"สภาพที่ทำให้ไม่มีนิวรณ์หรือทำให้ "เข้าฌาน" ขั้นแรกได้แล้ว ซึ่งเรียกว่า "ฌาน ๑" เราอยู่ใน ฌาน ๑ ก็คือ เรามีสมาบัติ "ฌาน ๑" หรือเราเข้าสมาบัติ "ฌาน ๑" ต่อไปก็ต้องเจริญขึ้น

การเจริญขึ้นก็คือ เราจะต้องออกจาก "ฌาน ๑" เข้าถึง "ฌาน ๒" นั่นคือ จิตเราเจริญเพราะการออกจาก "วิตกวิจาร" หรือ สภาพที่ออกไป จนพ้นจากอาการ ที่ต้องจดจ่อ คอยระวัง เคร่งคุม ได้สำเร็จ ตามที่อธิบาย มาแล้ว หรือพูดง่ายๆว่า "วิตกวิจาร" ได้ระงับไปแล้ว ไม่มีแล้ว อาการของจิตสภาพเช่นนี้ เรียกว่า "การออก หรือ สภาพที่ออกไปจนพ้นจาก" ซึ่งภาษาบาลีก็คือ "วุฏฐาน"

ผู้สามารถปฏิบัติกระทั่งจิตมีคุณภาพสูงขึ้นมาถึงขั้น "ฌาน ๒" ก็คือ ผู้นั้นสามารถ "ออกจากฌาน ๑" (วุฏฐาน) สำเร็จ เพราะได้ ปฏิบัติจน "วิตกวิจารระงับไป" แล้วจึง "เข้าฌาน ๒" หรือเรียกว่า ได้ "สมาบัติฌาน ๒"

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๔๓ มิถุนายน ๒๕๔๕)

เราคิดอะไร ชีวิตนี้มีปัญหา ๑ - สมณะโพธิรักษ์ -