กำไร
ขาดทุนแท้ ของอาริยชน
(ต่อจากฉบับที่
๑๔๓)
ที่จริง ในพระไตรปิฎก
(เล่ม ๒๕ ข้อ ๓๐) ก็มียืนยันกันโต้งๆว่า"มรรค มีองค์ ๘"นั้นคือ
"ทางเอกทางเดียว ไม่มีทางอื่น"(เอเสวมัคโค นัตถัญโญ) อันจะพาไปสู่ความบริสุทธิ์จนถึงสัมมาวิมุติ
แต่ เพราะศาสนาพุทธ ได้ถูกปฏิรูปมานาน ถึงวันนี้ก็หลงยึด"ทางผิด"จนเชื่อกันว่า
เป็น"ทางถูก"เสียแล้ว และเชื่อว่า มีหลายทาง เสียอีก ที่พูดขึ้นนี้
ก็คงมีคนแย้งออกมาเกรียวกราว อาตมาขอบอก ในที่นี้เลยว่า จะไม่ขอแย้งไม่ขอถกเถียง
แต่จะขออธิบายเท่านั้น
"มรรค
มีองค์ ๘"นี้ หากปฏิบัติถูกต้อง ก็จะเป็นคนเจริญไปพร้อมครบทั้ง
"ทฤษฎีที่ดี เป็นอาริยะ" (สัมมาทิฏฐิ) ทั้ง"ความริเริ่มแนวคิดที่ดี
เป็นอาริยะ" (สัมมา สังกัปปะ) ทั้ง "การเจรจา
ภาษาพูดดี มีคุณค่าเป็นอาริยะ" (สัมมาวาจา) ทั้ง"พฤติกรรม
กิจกรรม พิธีกรรม ล้วนดี อย่างมีนัยอาริยะ" (สัมมากัมมันตะ)
ทั้ง "อาชีพการงานดี พัฒนาเป็นอาริยะ" (สัมมาอาชีวะ)
ทั้ง"ความพยายามอุตสาหะ ที่แข็งแรงอย่างอาริยะ" (สัมมาวายามะ)
ทั้ง"ความรู้สึกผิดชอบ ที่เป็นอาริยะ เป็นโลกุตระ" (สัมมาสติ)
ทั้ง"ความมีจิตใจที่ตั้งมั่น แข็งแรง ไม่เป็นทาสโลกียะ
เพราะจิตมีอาริยธรรม ดังกล่าวมาทั้ง ๗ นั้น" (สัมมาสมาธิ)
และจะเป็นคนมีผลอีก
๒ คือ
๑. มีความรู้ทั้งในโลกียธรรม
ทั้งในโลกุตรธรรม หรือรู้แจ้งเห็นจริง ทั้งความดี ทั้งความไม่ดี ที่เป็นโลกียธรรม
และที่เป็นอาริยธรรมแท้จริง แล้วช่วยสังคมช่วยโลก ให้ดีขึ้น ตามขั้นตอน
(สัมมาญาณ)
๒. มีความหลุดพ้นจากโลกีย์
หรือจิตไม่เสพ ไม่ติด เพราะพ้นความเป็นทาส โลกธรรม เป็นโลกุตรจิต ที่อยู่เหนือโลกธรรมได้แล้วจริงๆ
(สัมมาวิมุติ)
ดังนั้น ผู้มีสัมมาอาริยผลทั้งหลาย
จึงเป็นคนที่มี งานอาชีพ (สัมมาอาชีวะ) เจริญพัฒนาเป็น "อาชีพบุญนิยม"
บุญนิยมเน้นการ"สร้าง"คนให้มีคุณธรรมและพ้นทุกข์จนประสบผลสำเร็จ
ด้วยประการฉะนี้เอง "เป็นหลัก"
แต่ถึงแม้จะสงเคราะห์สังคมด้วยการ"สร้าง"รายได้
สร้างวัตถุทรัพย์ หรือช่วยสร้างสามัญโลกีย์ อันได้แก่ ลาภ,ยศ,สรรเสริญ,โลกียสุข
อย่าง"เป็นรอง" ก็ตาม ก็จะเป็นไป เพื่อ"ประโยชน์ แก่มวลมนุษยชาติทั้งหลาย"
(พหุชนหิตายะ) เพื่อ"ความสุขของมวลมนุษยชาติทั้งหลาย"
(พหุชนสุขายะ) เพื่อ"ช่วยเหลือโลก"
(โลกานุกัมปายะ) ไม่ใช่เพื่อตัวเอง "เป็นหลัก"เลย
เพราะลดกิเลส อย่างถูกตัวตนได้จริง เพราะความเห็นแก่ตัว เบาบาง จางคลายลง
จนถึงที่สุด ไม่เห็นแก่ตัวเลย ได้อย่างเป็นสัจจะ
ดังนั้น บุญนิยมจึงมุ่ง"สร้างคน"ให้มีคุณธรรมและพ้นทุกข์
จนประสบ ผลสำเร็จ"เป็นหลัก" และมี "การสงเคราะห์"
ไปในตัว แม้จะ"เป็นรอง" ก็มีอยู่แท้ๆ ซึ่งบริสุทธิ์จริงใจกว่า
"การสงเคราะห์" ที่มีกิเลสเต็มๆ นั่นหมายความว่า ต้องชัดใน"หลัก"
และมุ่งแม่น ใน"การสร้าง" จนกว่า คนจะลดกิเลสได้จริง เมื่อคน
ลดกิเลสได้จริง เป็นคนผู้มีคุณธรรม "ลดโลภโกรธหลง" หรือ
"ลดความเห็นแก่ตัว เพราะติดยึด อยู่ในโลกธรรม ๘" ได้อย่างเป็นสัจจะ
จึงจะเป็นผู้ "เห็นแก่ผู้อื่น" หรือ สามารถปล่อยวาง แล้วเสียสละ
"ลาภ ยศ สรรเสริญโลกียสุข" ให้แก่ผู้อื่น ได้จริง เป็นไปตาม
สัจจะแห่ง "อาริยธรรมที่คนผู้นี้ มีผู้นี้บรรลุถึง" และ
จะแข็งแรง มั่นคง ยั่งยืน ซื่อสัตย์ สะอาด บริสุทธิ์ ไม่แฝงเล่ห์
เพราะธรรมดา"คนปุถุชน"ติดยึด
หรือปล่อยวางไม่ได้ใน"โลกธรรม ๘" ใน"โลกีย์" อันหมายถึง
ลาภ, ยศ, สรรเสริญ, สุขแบบโลกีย์, เสื่อมลาภ, เสื่อมยศ, นินทาติเตียน,
ทุกข์ทั้งหลาย แล้วก็วนเวียน หลงอยู่กับ "ทุกข์ๆ-สุขๆ" ของโลกธรรม
๘ นี้ อย่างไม่รู้จักจบสิ้น เหตุก็เนื่องมาจาก ไม่สามารถ รู้จักตัวตน
(อัตตา) ของกิเลส และดับไม่ถูกตัวตน (อัตตา)
ของกิเลสได้จริง ยังไม่มีอาริยปัญญาใน "อัตตทัตถะ หรือ อัตตัตถะ"
(ประโยชน์ตน หรือ ความสุขของตน ในเรื่องโลกีย์) จึงยังล้าง"อัสสาทะ"
(รสอร่อยของโลกีย์ หรือ รสสุขทุกข์ ของโลกธรรม ๘)
ไม่หมดสิ้น สะอาดเกลี้ยง
ดังนั้น ย่อมยัง
"เห็นแก่ตนในส่วนของอัตตทัตถะ หรือ อัสสาทะ" ที่ยังปล่อยวาง
ไม่ได้หมดเกลี้ยงนั้นๆอยู่จริง
หากไม่ได้ปฏิบัติ
ตามทฤษฎีของพระพุทธเจ้า อย่างสัมมาทิฏฐิแน่แท้ ก็จะไม่สามารถรู้จัก
"ตัวตน" (อัตตา) ของกิเลส จึงดับไม่ถูก"ตัวตน"
(อัตตา) ของกิเลส ก็จะเหมือนลัทธิฤาษีดาบส หรือลัทธิอื่นๆ
ที่นั่งสมาธิ สร้างนิมิตต่างๆ ขึ้นมาหลอกล่อ ให้ตนเองติดยึด เช่น นิมิตที่ชื่อว่า
"อรูปฌาน" อากาส (ความว่าง) อากิญจัญญ
(ความไม่มีอะไร ชนิดดับความรับรู้ ไม่ให้รู้อะไรเลย ในภวังค์) เป็นต้น
หรือไม่ก็ใช้วิธีกดๆข่มๆ
ให้อำนาจของการกดข่ม ทับถมแน่นหนาแข็งแรง จนจิตหยุดลงไป นิ่งลงไป ให้มากที่สุด
เท่าที่จะทำได้ โดยไม่รู้แจ้ง เห็นจริงในกิเลส แต่ละสภาพ ชนิดถูก"ตัว"
(อัตตา) ถูก "ตน"
(อัตตา) ซึ่งมีทั้งหยาบ กลาง ละเอียด จึงได้แต่สะกดจิต ข่มจิตทั้งหมด
เอาไว้อย่างตีขลุม แบบตีถัวไปทั้งกิเลสทั้งจิต รวมๆกันอยู่ในจิต โดยไม่มีการแยกแยะ
ให้เห็นชัดถึง "ความเป็นตัวตน ของกิเลสนั้นๆ" ชนิดรู้แจ้งเห็นจริง
กิเลสเกิด เพราะ
"โลกียสุข" ซึ่งมาจากลาภ, ยศ, สรรเสริญ, สุข, เสื่อมลาภ,
เสื่อมยศ, นินทาติเตียน, ทุกข์ นั่นแหละเป็นเหตุ สุขในโลกอบายมุข สุขในโลกกามารมณ์
สุขในโลกอัตตามานะ ที่คนทั้งหลายยังติดอยู่ หรือ แม้แต่ผู้ปฏิบัติ
ที่ยังหลงติด อยู่ในโลกแห่ง "ธรรมรส"
[มีต่อฉบับหน้า]
(เราคิดอะไร
ฉบับที่ ๑๔๔ กรกฎาคม ๒๕๔๕)
|