หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >เราคิดอะไร

ชีวิตนี้มีปัญหา ๑ - สมณะโพธิรักษ์ -


(ต่อจากฉบับที่ ๑๔๓)

ผู้สามารถปฏิบัติกระทั่งจิตมีคุณภาพสูงขึ้นมาถึงขั้น "ฌาน ๒" ก็คือ ผู้นั้นสามารถ "ออกจากฌาน ๑" (วุฏฐาน) สำเร็จ เพราะได้ ปฏิบัติจน "วิตกวิจารระงับไป" แล้วจึง "เข้าฌาน ๒" หรือเรียกว่า ได้ "สมาบัติฌาน ๒"

และ "การออก" (วุฏฐาน)หรือที่ว่า "วิตกวิจารระงับไป" (วิตักกวิจารานัง วูปสมา)นั้น ก็ไม่ได้หมายความว่า "ออกจาก" คุณสมบัติที่สามารถเพ่งรู้และเพียรเผากิเลส หรือ "ออกจาก" คุณสมบัติ ที่สามารถตริตรึกนึกคิด และไตร่ตรองเผากิเลส" ให้หมดสิ้นไป จริงๆแล้วคุณสมบัติ ดังกล่าวนี้ กลับทวีคุณภาพยิ่งๆขึ้น ยิ่งมีสมรรถนะแข็งแรง ตั้งมั่น นิ่งสนิท เนียนใน สูงขึ้นด้วยซ้ำ

คงสังเกตได้ชัดแล้วนะว่า "การเข้าฌาน" (สมาบัติ) ของพุทธแท้ๆ ไม่ได้หมายเอาแค่ "การเข้าไปอยู่แต่ข้าง ในภพของจิต แล้วทวารภายนอกก็ไม่รับรู้" และ "การออกจากฌาน" (วุฏฐาน) ก็ไม่ได้หมายเอาแค่เพียง "การออกจาก ในภพของจิต ออกมารับรู้ กับทวารภายนอก"

ดังนั้น "การเข้าฌาน" (สมาบัติ) และ "การออกจากฌาน" (วุฏฐาน) ในแบบพุทธ จึงพิเศษ มีนัยที่ลึกล้ำไปกว่า ความเป็น "ฌาน" แบบที่เป็นฌาน อยู่ในภพของจิต หรือ ฌานที่ได้จาก การสะกดจิต เข้าไปอยู่ในภวังค์ หากสามารถ เข้าใจเพียงพอ แท้จริง ก็จะเห็นได้ว่า "ฌาน" ของพุทธนั้น มีความประณีต ลึกซึ้งยิ่งนัก จนกล่าวด้วยภาษา ก็ดูเหมือนยอกย้อน ซับซ้อนในบางนัย

เพราะฉะนั้น แม้แต่ผู้ที่สามารถ "เข้าฌาน ๑" (สมาบัติ) ก็ไม่ได้หมายเอาแค่ว่า อาการที่ผู้ปฏิบัติ จนสามารถ "เข้าไปอยู่ ในภวังค์ ไม่รับรู้ทวารภายนอก" ได้สำเร็จเท่านั้น ผู้ "เข้าฌาน ๑" แบบพุทธ จะนับเป็น "ฌาน ๑" กัน ก็ต่อเมื่อ ในขณะนั้น สามารถทำให้ "กิเลสนิวรณ์ หรือ สมุทัยที่เราต้องการ กำจัดนั้นๆ ดับลงไปได้แล้ว" โดยมี "วิตก วิจาร.. ปีติ.. สุข.. เอกัคคตา" อยู่ แม้จะเพียงแค่ได้ ในขณะที่ทำอยู่นั้นเท่านั้น ก็เรียกว่า "ขณิกสมาธิ" (จิตตตั้งมั่นขณะนั้น)

คงจะชัดขึ้นแล้วนะว่า ผู้ที่มี"ฌาน"อย่าง"สัมมาทิฏฐิ" จริงแบบพุทธนั้น มิได้หมายความว่า ต้องนั่งหลับตา สะกดจิต แล้วก็ตัด "ทวาร ๕" ไม่รับรู้อะไร ภายนอกไปหมด กลายเป็นคนมี "ความรู้สึก" (เวทนา) มี "ความกำหนดได้
หมายรู้" (สัญญา) อยู่แค่เท่ากับคนปิดหูปิดตา รับรู้ได้แต่เพียงภายในภพของจิต หรือในภวังค์เท่านั้น แล้วเรียกว่า เป็นผู้ "เข้าฌาน" ตามศัพท์ที่ว่า "สมาบัติ"

การมี"ฌาน"แบบพุทธจะเรียกขานกันว่า "เข้าฌาน" หรือ "สมาบัติ" หรือ "เข้าสมาบัติ" ก็เรียกได้ เป็นแต่ว่า ผู้มี "สมาบัติ" หรือ "เข้าฌาน" อย่าง "สัมมาทิฏฐิ" จริงแบบพุทธนั้น มิใช่ "ผู้ตกอยู่ในสภาพรู้แต่เฉพาะ ในภวังค์แห่งรูปภพ - อรูปภพ เท่านั้น" เหมือนอย่าง "ฌาน" แบบฤาษีดาบส เก่าก่อน แต่ "ฌาน" แบบพุทธนั้น จะอยู่ในสภาพคนเปิดทวารทั้ง ๖ ครบ รับรู้ทุกสิ่งอย่าง ที่มาสัมผัส อย่างคนผู้มีสติสัมปชัญญะ พึงรับรู้ได้แบบคนลืมตา สามัญนี่เอง

ผลของการปฏิบัติใด ที่ทำได้สำเร็จถึงขั้นเรียกว่า "สมาบัติ" ซึ่งแปลว่า"เข้าฌาน" ที่จริงก็คือ "ออกจากฌาน หรือ ล่วงพ้น จากฌานหนึ่ง ไปสู่อีกฌานหนึ่ง"ได้แล้ว แต่ก็มีความเป็นอยู่อย่างคนสามัญ ที่มีตาหูจมูกลิ้นกายใจ รับรู้ภายนอก ภายในปกติ รู้เห็นอะไรต่ออะไรเยี่ยงคน ลืมตาตื่นเปิดทวาร ๖ ทำงานทำการอยู่ตามธรรมดาทั่วไป เพียงแต่ว่า "คนผู้นี้มีฌาน" ซึ่งคนอื่น จะดูไม่ออก เพราะท่านผู้"เข้าฌาน"แบบพุทธ จะมีอิริยาบถต่างๆ ตามปกติ ไม่มีอาการ ที่ผิดสามัญ เหมือนผู้ "เข้าฌาน" ที่มิใช่พุทธอื่นๆ

เช่น ฌานที่ไม่ใช่พุทธนั้น เมื่อ"เข้าฌาน" จะต้องนั่งอยู่นิ่งๆ หรือไม่ก็มีอาการไม่เหมือนคนปกติ หรือผู้เข้าฌาน จะต้องอยู่ในสภาพ หลับตา ผู้เข้าฌานจะต้องตัดทวาร ๕ ไม่รับรู้ "กามภพ" ภายนอกแล้ว ต้องเข้าไปอยู่ในภวังค์ รู้ได้แต่เพียงภายใน "ธรรมารมณ์" เท่านั้น เป็นต้น

ซึ่ง "เข้าฌาน" แบบพุทธ มิใช่เช่นนั้น ฌานพุทธรู้ทั้ง "กามภพ" ตาหูจมูกลิ้นกาย เปิดรับเปิดรู้อยู่ เป็นสามัญ และ รู้เห็นทั้ง "ธรรมารมณ์" ภายใน ครบทั้ง ๖ ทวาร

การ"เข้าฌาน-ออกฌาน"แบบพุทธ จึงเป็นเรื่องจะรู้จะเห็นกันไม่ได้ง่ายๆ เพราะเป็นเรื่อง"รู้เฉพาะตน ผู้อื่นไม่สามารถ ตามรู้ตามเห็น ด้วยได้" (ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ) ซึ่งคนอื่นจะดูจากอาการ หรือ รูปภายนอกของผู้ "เข้าฌาน - ออกฌาน" แบบพุทธ ไม่ออก

ผู้มี "ฌาน" แบบพุทธ ก็จะฝึกฝนให้ตั้งมั่นแข็งแรงด้วย "การเข้าฌาน" (สมาบัติ) และ "ออกฌาน" (วุฏฐาน) อยู่ในอิริยาบถ ของชีวิตปกติ โดยปฏิบัติตามหลัก "มรรคองค์ ๘" หรือ ตามทฤษฎีใหญ่ก็คือ "โพธิปักขิยธรรม ๓๗"

เป็นต้นว่า ในขณะ "ดำริคิดนึก" (สังกัปปะ) ก็พยายาม ปฏิบัติให้เป็น "สัมมาสังกัปปะ" ให้ได้ นั่นคือ ฝึกฝน การ "เข้าฌาน-ออกฌาน" อยู่ หรือในขณะ "พูด" (วาจา) ก็พยายามปฏิบัติให้เป็น "สัมมาวาจา" ให้ได้ นั่นคือ ฝึกฝน การ "เข้าฌาน-ออกฌาน" อยู่ และในขณะ "กระทำอะไรต่างๆ" (กัมมันตะ) ก็ดี ในขณะ "ทำงานอาชีพ" (อาชีวะ) ก็ดี ก็พยายาม ปฏิบัติให้เป็น "สัมมากัมมันตะ - สัมมาอาชีวะ" ให้ได้ นั่นคือ ฝึกฝนการ "เข้าฌาน-ออกฌาน" อยู่ในทุกอิริยาบถ ขณะมีการดำเนินชีวิตไป ตามปกติสามัญ

หากปฏิบัติจนควบคุม"ความดำริ" (สังกัปปะ) ได้ ถึงขั้นมีสมรรถนะอันประกอบไปด้วย "วิชชา ๙" จัดการอาการของ "ตักกะ.. วิตักกะ.. สังกัปปะ.. อัปปนา.. พยัปปนา.. เจตโส อภินิโรปนา.. วจีสังขารา" กระทั่งมีคุณภาพของ สมาธิจิต เจริญสูงขึ้น จาก "อัปปนา" (แน่วแน่) ซึ่งเป็นการตั้งมั่นขั้นต้น แล้วก็ตั้งมั่น แข็งแรงยิ่งขึ้น เป็น "พยัปปนา" (แนบแน่น) ในขั้นต่อมา สุดท้าย พัฒนาสูงถึงขั้น "เจตโส อภินิโรปนา" (ปักมั่น) ก็เป็นขั้นตั้งมั่น ถาวรสมบูรณ์ จึงไม่ต้องทำอีก เพราะ "ฌาน" แบบพุทธนั้น ทำได้แล้ว ก็ได้เลย เป็น "ฌาน" อยู่ในตัวเลย หากสมบูรณ์แล้ว ก็เป็นอัน "เป็นเอง" หรือ "เป็นได้เองแล้ว" โดยอัตโนมัติ อยู่ในตัวเอง เรียกว่า "ตถตา" เป็นเช่นนั้นเอง เป็นการจบกิจ ไม่ต้องไปทำ เอาใหม่อีก เป็นได้แล้ว ก็เป็นอยู่กับตัวตลอดเวลา

ซึ่งประสิทธิภาพ อันพิเศษดังกล่าวนี้ ในขณะที่พระอาริยะผู้ได้ "ฌาน" ใด ขั้นใด ที่แข็งแรงตั้งมั่นเท่าใด ตามที่จริงแล้ว ก็จะเป็นอยู่ ชนิดที่มีคุณภาพพิเศษ เท่าที่ท่านได้สั่งสม "คุณธรรมแห่งฌาน จนแทงทะลุ" นั้นๆในตน ดังที่พระพุทธเจ้า ตรัสไว้ ในตอนท้ายๆ ของพระไตรปิฎก เล่ม ๒๓ ข้อ ๒๔๐ ว่า "ด้วยประการฉะนี้แล สัญญาสมาบัติ มีเท่าใด สัญญาปฏิเวธ ก็มีเท่านั้น"

ขอยกตัวอย่างจากฌานที่เป็นขั้นสูง จะเห็นได้ชัด

เป็นต้นว่า ท่านผู้บรรลุ "อรูปฌาน" ขั้นที่ ๑ "อากาสานัญจายตนฌาน" ซึ่งเป็นขั้น "ล่วงรูปสัญญา" อันพ้น "รูปฌาน" ขั้นที่ ๔ มาได้แล้ว ก็จะเป็นอยู่ตามปกติ ชีวิตหรือทำงาน ทำการอะไรอยู่ก็ตาม ท่านจะ "มีสุข" ด้วย มี "อุเบกขา" ด้วย เพราะได้ฝึกฝน จนกระทั่ง ครบครันพร้อม "อนุปัสสี ๔" อันได้แก่ "อนิจจานุปัสสี, วิริคานุปัสสี, นิโรธานุปัสสี และ ปฏินิสสัคคานุปัสสี" โดยเฉพาะ "ปฏินิสสัคคานุปัสสี" (ตามเห็นความสลัดกลับ) ที่มีวสีช่ำชอง อย่างเป็นจริงแล้ว จึงเป็นคนผู้ทำงานอยู่ด้วย "ความเบิกบานร่าเริง ชนิดมีสุขเป็นเครื่องอาศัย แต่ไม่ติดสุข, มีความวางเฉย (อุเบกขา) เป็นเครื่องอาศัย แต่ไม่ติด ความวางเฉย" เพราะท่านเป็นผู้มี "วิมุติ" (มีภูมิหลุดพ้นตามแบบพุทธ) แล้วจริง หรือ เป็นผู้สมบูรณ์ด้วย "การเข้าฌานแล้ว-ออกฌานแล้ว" ซึ่ง "สัญญาสมาบัติ" มีเท่าใด "สัญญาปฏิเวธ" ก็มีเท่านั้น ด้วยประการอย่างนี้เอง

สัญญาสมาบัติ หมายถึง กำหนดรู้ "ฌาน" หรือ "สมาบัติ" ที่เราได้ แค่ไหนเท่าใด สัญญาปฏิเวธ ก็คือ ผู้นั้นก็จะสามารถ กำหนดรู้ "ผลที่บรรลุธรรมอย่างรู้แจ้งแทงตลอด" เท่าที่เราได้จริงเป็นจริง แค่นั้นเท่านั้น

นัยสำคัญของคำตรัสที่ว่า "สัญญาสมาบัติ มีเท่าใด สัญญาปฏิเวธ ก็มีเท่านั้น" นั่นคือ ผู้มีฌานเท่าใดๆ ก็กำหนดรู้ได้ เท่าที่ตนมีเท่านั้นๆ เมื่อมีฌานแล้ว จะต้องกำหนดรู้ ให้เป็นปฏิเวธ จึงจะเป็นผลทั้งเจโต ทั้งปัญญา ครบสมบูรณ์ "สองส่วน" (อุภโตภาค) และ ผู้ที่กำหนดรู้ว่าตนมี "ฌาน" เท่าใดๆ ตนก็จะกำหนด "การรู้แจ้งแทงตลอด" (ปฏิเวธ) ผลธรรม ที่บรรลุ ของตน ได้จริงเท่านั้นๆ

ดังนั้น ผู้ไม่มี "สมาบัติ" ก็ไม่มี "ปฏิเวธ" จึงไม่อาจจะ "กำหนดรู้" (สัญญา) ความเป็น "สมาบัติ" ความเป็น "ปฏิเวธ" ที่เป็น
ของจริงได้อย่างเป็นสัจจะ มีแต่เดาเอา มิใช่รู้แบบตรัสรู้

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(สารอโศก ฉบับที่ ๑๔๔ กรกฎาคม ๒๕๔๕)