หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >เราคิดอะไร

ชีวิตนี้มีปัญหา ๑ - สมณะโพธิรักษ์ -

(ต่อจากฉบับที่ ๑๔๔)
ดังนั้น ผู้ไม่มี "สมาบัติ" ก็ไม่มี "ปฏิเวธ" จึงไม่อาจจะ "กำหนดรู้" (สัญญา) ความเป็น "สมาบัติ" ความเป็น "ปฏิเวธ" ที่เป็นของจริงได้ อย่างเป็นสัจจะ มีแต่เดาเอา มิใช่รู้แบบตรัสรู้ หรือมิใช่รู้แบบการรู้จากมรรคผลของตนๆ

ผู้มีภูมิ"ตรัสรู้"(สัมโพธิ)หรือ"รู้ในอุตตริมนุสสธรรมที่ตนบรรลุ" จึงเป็นผู้รู้แจ้งเห็นจริง "ของจริงที่เป็นสภาวะ แห่งมรรคผล ชนิดปรากฏในตน" (ภาวสัจจะ)

ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่ไม่มี"สมาบัติ"ย่อมไม่มี"ปฏิเวธ" แม้จะกล่าวจะอธิบาย จะพูดถึง"สมาบัติ"ถึง"ปฏิเวธ" ก็พูดโดยมิชอบ (มิจฉา) หรือพูดได้อย่างไม่ "สัมมา" เพราะพูดโดยการคาดคะเนหรือเดา ไม่ได้พูดจาก "ของจริง" ที่ตนเป็นจริงแล้ว ตนมีจริงแล้วในตน

และ"สมาบัติหรือฌาน"ที่พระพุทธเจ้าตรัสนี้ ก็ชี้ชัด ว่า เป็น "สมาบัติหรือฌาน" แบบพุทธ อย่างแน่นอน ไม่ใช่ฌานแบบ ฤาษีดาบสเด็ดขาด เพราะเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสถึง "สัญญาเวทยิตนิโรธ" ก็ย่อมชัดเจนอยู่แล้วว่า ต้องเป็น "อนุบุพพวิหาร ๙" แน่ๆ เพราะ "ฌาน" ของศาสนาอื่น ที่ไม่ใช่พุทธ จะมีมากที่สุดเพียง "สมาบัติ ๘ หรือ ฌาน ๘" เท่านั้น อันประกอบด้วย "รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔" จะไม่มี "สัญญาเวทยิตนิโรธ" ในลัทธิใดๆ ดังนั้น เมื่อพระองค์กล่าวถึง "สัญญาเวทยิตนิโรธ" ก็ยืนยันอยู่โต้งๆว่า สมาบัตินี้ ต้องหมายถึง "อนุบุพพวิหาร ๙" อันได้แก่ "รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔" และ "สัญญาเวทยิตนิโรธ ๑"

เพราะ "สัญญเวทยิตนิโรธ"นั้น คือ "สมาบัติขั้นที่ ๙" ซึ่งมีในศาสนาพุทธโดยเฉพาะเท่านั้น ในศาสนาอื่น ลัทธิอื่นใด ไม่มี ดังนั้น เมื่อกล่าวถึง "ฌาน" ที่มีไล่ไปตั้งแต่ "รูปฌาน ๔ จนถึงอรูปฌาน ๔" แล้วก็ "สัญญาเวทยิตนิโรธ" อีก ๑ เช่นนี้ จึงเป็น "ฌานแบบพุทธ" แน่นอน เป็น "ฌาน"แบบอื่นไปไม่ได้

ฉะนี้เอง หากมิใช่ผู้บรรลุ "อนุบุพพวิหาร ๙ หรือ สมาบัติ ๙" ได้จริง ก็จะกล่าว "ฌานแบบพุทธ" ตามสัจจะของพุทธ ได้โดยยาก ได้อย่างไม่ชัดเจน ไม่ถูกต้อง หรือกล่าวโดยมิชอบ (มิจฉา) เป็นแน่แท้

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็น "รูปฌาน หรือ อรูปฌาน" ผู้ที่รู้และทำได้แต่เฉพาะ "ฌาน" แบบฤาษีเก่าๆเดิมๆ หรือฌาน แบบสามัญทั่วไป จึงกล่าวถึง หรืออธิบายได้ก็เฉพาะ "ฌาน" แบบสามัญทั่วไป ที่ตนรู้ ตนทำได้เท่านั้น ย่อมกล่าวถึง หรืออธิบาย "ฌานแบบพุทธ" ไม่ถูกถ้วน (มิจฉา) แน่ๆ ก็ขนาด "ผู้ที่ทำฌานแบบพุทธได้แล้วจริงเป็นจริง" แท้ๆ พยายามอธิบายออกมา เป็นภาษาสู่กันฟัง ก็ยากสุดยากเหลือเแสน

ทีนี้ก็มาอธิบายต่อความเป็น "รูปฌาน" ที่เราได้พูดค้างกันไว้ คือ เมื่อเรา "เข้าฌาน ๑" (สมาบัติ) ได้แล้ว และ "ออกจากฌาน ๑" (วุฏฐาน) จนมีความชำนาญ(วสี) "เข้าสู่ฌาน ๒" (สมาบัติ) ได้สำเร็จ ก็หมายความว่า ไม่ต้อง "จดจ่อ เคร่งคุมทำหน้าที่เพื่อให้เกิดฌาน ๑" ให้แก่ตนกันแล้ว ซึ่งก็คือส่วนหนึ่งของ "วิตกวิจาร" นั่นเอง ระงับลง เพราะมีความชำนาญ หรือมี "วสี" (ความสามารถเก่งขึ้นดีขึ้นยืนยงอยู่ในตน) เพียงพอแล้ว

และความเป็น "วิตกวิจาร" เนื้อแท้ส่วนสำคัญ อันหมายถึง "การตริตรึกนึกคิด และตรวจตรา พิจารณาในการ ปฏิบัติให้เป็นฌาน หรือการเพ่งเผา" นั้นก็ไม่ได้หายไปแต่อย่างใด ยังคงมีทำงานอยู่ แต่ทำหน้าที่ใหม่ ที่เจริญขึ้นไปอีก กล่าวคือ ไม่ต้อง "เพ่งเผากิเลสตัวนั้น" กันอีกแล้ว แต่ต้องไปทำหน้าที่ "ตรวจตราพิจารณาเพ่งเผาอุปกิเลส" ตัวที่ชื่อว่า "ปีติ" อันยังมีอยู่ในความเป็น "ฌาน ๒" ต่อไป

และก็นัยะคล้ายกันอีกแหละ การทำให้ "อุปกิเลส" ในความเป็น "ปีติ" ระงับดับไปนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่า ความเป็น "ปีติ" อันหมายถึงลักษณะ "ความยินดีต่อ "ฌาน" ที่เราปฏิบัติสำเร็จ" จะหายไปจากใจผู้นั้น แต่กลับจะเป็น "ปีติ" นั้นซึมลึกเข้าไป แนบแน่นเนียนสนิท นิ่งประทับไว้ในจิตยิ่งๆซ้ำเสียอีก

จะต้องเรียนรู้ให้แม่นคมชัดว่า "ปีติ" ที่เป็นส่วนจะต้องกำจัดให้ระงับ หรือดับไปนั้น คือ "อุปกิเลส" ต่างหาก ที่จะต้องทำให้ "ระงับไป" ให้ได้ ซึ่งเป็นอาการของ "รสอัสสาทะ" ที่ซ้อนอยู่ในความเป็น "ปีติ" อีกต่างหาก ซึ่งเป็นอาการของ "รส" ที่ปนปลอมอยู่อีกส่วนหนึ่ง อันละเอียดมาก

ขอยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมชัดๆเป็นขั้นๆก่อน เมื่อเข้าใจแล้ว ขั้นนามธรรมก็จะเข้าใจง่ายขึ้น เพราะมีนัยคล้ายกัน เช่น พริก เป็นต้น ก็จะมี "รส" ธรรมชาติของพริก คือ เผ็ด แต่คนที่ยังชอบพริกชอบเผ็ด ก็จะกินพริกแล้วเกิด "รสอร่อย" รสอร่อยนี้ไม่ใช่ "รสพริก" แต่เป็นรสที่ปนปลอม อยู่ในจิตอีกต่างหาก "รสแท้" ของพริกนั้นคือ "เผ็ด" ส่วน "รสอร่อย" (อัสสาทะ) นี้เป็นอีก "รสหนึ่ง" ส่วนหนึ่งต่างหากจาก "รสเผ็ด" ดังนั้น เราจะไม่ไปหลง "ดับรสเผ็ด" แต่จะต้องพิจารณา แยกแยะ "กิเลส" หรือรสที่เป็น "อัสสาทะ" (ความอร่อยที่เป็นรสปน ปลอมอยู่ในจิต) ให้ถูกตัวตนของมัน แล้ว "ดับรสอร่อย" ที่เกิดจากการได้กินเผ็ดนั้น ให้หมดสิ้น จนสำเร็จ ซึ่งหากผู้ปฏิบัติ ได้พิจารณา "กายในกาย..เวทนาในเวทนา..จิตในจิต..ธรรมในธรรม" จนสามารถรู้ทัน "ตัวตนของกิเลส" แล้วกำจัดถูก "กิเลส" ที่เป็นตัวต้นเหตุแท้ "อัสสาทะ" หรือ "รสอร่อย" ก็จะจางคลาย และหมดสิ้นไป

การจะทำให้ "จางคลาย หรือ ดับ" จึงมิใช่ไปหลงกำจัด หรือไปดับเอา "รสเผ็ดหรือรสพริก" แต่ต้องแม่นคมชัด ลงไปให้ถูกตรงว่า "ดับเฉพาะตัวกิเลส หรือ รสอัสสาทะ" เท่านั้น

ฉันใด การดับ "อุปกิเลส" หรือดับ "รสของความอร่อย" (อัสสาทะ) ที่ปลอมปนอยู่กับ "ปีติ" ก็ฉันนั้น "ปีติ" หรือ ความยินดี ก็จะมีอยู่เป็นธรรมชาติ ที่ยิ่งเนียนในสนิท นิ่งลึกอยู่กับจิต

สิ่งที่ "ถูกกำจัด" (ปหาน) จนกระทั่ง "ดับสนิท" ไปนั้น เป็น "รสอร่อยในปีติ" หรือ "อุปกิเลส หรือ วิปัสสนูปกิเลส" สำหรับ "ฌาน ๒" มิใช่ "รสของปีติ" ตรงๆ และต้องดับ "รสอร่อยในสุข" หรือ "อุปกิเลส หรือ วิปัสสนูปกิเลส" สำหรับ "ฌาน ๓" อีกด้วยเช่นกัน นัยเดียวกัน ซึ่งจะต้องเรียนรู้อย่าง "สัมมาทิฏฐิ" แล้วปฏิบัติให้ "ถูกต้อง-ถูกถ้วน" (สัมมา) จนสำเร็จให้ได้

การปฏิบัติ "ฌาน" แบบพุทธนั้น พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ว่า "ฌาน" ของพุทธจะต้องพิจารณา ให้ละเอียดลึกซึ้ง แล้วปฏิบัติให้ได้ ตามคำตรัส ซึ่งลึกซึ้ง (คัมภีรา) จริงๆ

"ฌาน" คือ การเพ่งและเผากิเลส โดยเฉพาะกิเลส ที่ต้อง "รู้" มันให้ได้ ด้วย "ธัมมวิจัย" หรือ "วิตกวิจาร" ดังที่ได้อธิบาย ผ่านมาแล้ว และตัวสำคัญที่เป็น "เหตุ" (สมุทัย อาริยสัจ) ในขณะนั้น ก็ได้แก่ "กิเลสหรืออุปกิเลส" ที่เป็นที่มีจริงในตน "สติปัฏฐาน ๔...สัมมัปปธาน ๔...อิทธิบาท ๔" ก็เหมือนกัน ยิ่งละเอียดขึ้น

ดังนั้น การปฏิบัติจริงๆ ก็คือ เดินตามสูตร "โพธิปักขิยธรรม ๓๗" ครบสูตร นั่นแหละเป็นที่สุด จนกระทั่งเกิด "ฌาน" เกิด "วิตกวิจาร" ซึ่งเริ่มต้นด้วยการใช้ "สัญญา" หรือลงมือ "กำหนดรู้" เพ่งลงไปที่จิต ที่อารมณ์ (เวทนา) ตั้งแต่ให้เกิด "ญาตปริญญา" แล้วก็ "ตีรณปริญญา" และ "ปหานปริญญา" จนสำเร็จครบทั้ง ๓ ปริญญา

ในการฝึกหัดก็ต้องปฏิบัติตั้งแต่ "รู้" ให้ถ้วนรอบเป็น "ญาตปริญญา" ว่า "อารมณ์ทั้งหมดโดยรวม" นั้นเรามีอย่างไร แค่ไหน แล้วก็ "เพ่งวิจัยเพื่อรู้ความมีความเป็นของกิเลสสักกายะในนั้น" ให้ได้ หรือมี "ตีรณปริญญา" จนเกิดผล นี่คือ "มีวิตก" และเมื่อ "ละล้างสักกายะ" ในจิตของเราได้ด้วย นั่นคือมี "ปหานปริญญา" สำเร็จอีก ขณะใด ขณะนั้นก็คือ "มีวิจาร" (มีพฤติ) อันคือเรา "เป็นได้" จึงครบทั้ง "รู้" (มีวิตก) ทั้ง "เป็นได้" (มีวิจาร) ครบครัน

การทำได้ปานฉะนี้ นี่เอง จึงชื่อว่า "วิตกวิจาร" มีประสิทธิภาพ เมื่อ "วิตกวิจาร" มีประสิทธิภาพ ก็จงฝึกฝนไปฉะนี้ๆ เสมอๆ กับกิเลสตัวอื่นต่อไป

นี่แหละคือ "การปฏิบัติธรรม" ในชีวิตประจำวันทุกอิริยาบถให้เป็น "ฌาน" สำเร็จตามนัยนี้ไปเรื่อยๆ ครั้นได้ฝึกฝน จนกระทั่ง มีความตั้งมั่น แน่วแน่เกิดขึ้น (เอโกทิภาวะ) แล้ว บัดนั้น "วิตกวิจาร" ก็แข็งแรงถึงขั้น "ตั้งมั่น" จึงเรียก คุณภาพขั้นนี้ว่า "สมาธิ" [ตั้งมั่น ก็จะมีเป็นขั้นๆไป ตั้งมั่นได้เป็นขณะๆ ก็เรียกว่า "ขณิกสมาธิ" ทำได้ดีขึ้นมากขึ้น ถึงระดับกลางเรียกว่า "อุปจารสมาธิ" จนถึงขั้นแน่วแน่ มั่นคง จึงจะเรียกว่า "อัปปนาสมาธิ"]

[มีต่อฉบับหน้า]

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๔๕ สิงหาคม ๒๕๔๕)