กระแสธาร กระบวนการทัศน์ภารตวิทยา
และจีนวิทยาในไทยและอุษาคเนย์
'
ส.ศิวรักษ์
(แสดงในการเสวนาอาศรมความคิดเรื่อง"ภูมิปัญญานิเทศศาสตร์ตะวันออก"
ณ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๔๓)
' ต่อจากฉบับที่ ๑๔๔
สำหรับฝรั่งที่ให้ความรู้กับเราทางด้านนี้ที่เป็นองค์รวมอย่างสำคัญ
ย่อมได้แก่ศาสตราจารย์ยอช เซเดส อย่างไม่ต้องพึงสงสัย แม้ความคิด และข้อเสนอบางอย่าง
บางประการของท่าน จะพ้นสมัย แต่ถ้าเรา ไม่ยอมรับ ในบุญคุณของท่าน ที่ถางทางไว้ให้เรา
ก็แสดงว่า เราเป็นคนเนรคุณ เฉกเช่น พระคุณูปการ ของสมเด็จ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
และพระยาอนุมานราชธน ก็เช่นกัน
พร้อมกันนี้ก็ต้องตราไว้ว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ
ได้ทรงพระอุตสาหะมาก ในด้านการบุกเบิก วิชาภารตวิทยา ในประเทศนี้ จนถึงกับโปรดให้จ้างพราหมณ์
ผู้เป็นปราชญ์เข้ามาไว้ในราชสำนัก ตราบจนถึง นาย ป.ส.ศาสตรี เป็นคนสุดท้าย
ในรัชกาลที่ ๗ ที่ ๘ เสียดายที่ กระแสธารสายนี้ ได้ขาดหายไปเสียแล้ว
อย่างน้อยก็ขาดการต่อเนื่อง อย่างลึกซึ้ง มีแต่การสรรเสริญเยินยอ อย่างเกินเลยไป
โดยเฉพาะ ก็เจ้านาย บางพระองค์นั้น ยกย่องกันให้เป็นเลิศ ทั้งทางภารตวิทยา
จีนวิทยา รวมถึงฟรังฆวิทยา ในภาษาต่างๆ ทั้งอังกฤษ เยอรมัน และฝรั่งเศส
ซึ่งข้าพเจ้าไม่เห็นว่า เป็นไปได้ เว้นไว้แต่ว่า ท่านผู้นั้นจะเป็นเป็
๒
ขอย้ำไว้ตรงนี้อีกครั้ง ว่าเรารับภารตวิทยาจากภาคใต้ ยิ่งกว่าจากภาคเหนือหรือภาคกลาง
(มัชฌิมประเทศ) และต่อมาผ่านลังกาวิทยา แล้วภายหลัง กลายเป็นสิงหฬวิทยา
โดยที่กระแสธารสายนี้ เพิ่งปลาสนาการไป ในรัชกาลที่ ๕ นี่เอง แม้ชินวรวงศ์
จะไปทรงผนวช อยู่ที่ลังกา เป็นเวลาราวๆ ๒ ทศวรรษ ในรัชกาลนั้น ท่านก็เข้าไม่ถึง
ความลุ่มลึก ในกระแสธารดังกล่าว ท่านทรงเป็นนักปฏิรูปการศึกษา และทรงศึกษาตาม
อย่างอังกฤษ ที่สนใจอารยธรรมพื้นเมือง จากแง่มุมของอาณานิคมมากกว่า
และว่ากันอย่าง ไม่เกรงใจแล้ว ชนชั้นบนของเรา ในรัชกาลที่ ๖ ก็มองภารตวิทยา
จากแว่นตาของผู้รู้ฝรั่ง ยิ่งกว่าอะไรอื่น
ชนชั้นบนในสมัยอยุธยาเสียอีก
ที่รับวัฒนธรรมจากประเทศเพื่อนบ้านได้ดีกว่า ดังเจ้าสตรี ที่ทรงพระนิพนธ์
เรื่อง อิเหนา ในแผ่นดิน พระเจ้าบรมโกศนั้น
ทรงสดับถ้อยคำมาจาก นางกำนัลชาวชะวานั้นเอง แล้ว อิเหนา
ก็กลายเป็นวรรณคดีอมตะ ของเราไปได้ เฉกเช่น สมุทโฆษ
ซึ่งเกิดจากปัญญาสชาดก ซึ่งพระเถระ ชาวเชียงใหม่ อาศัยพุทธวิทยา
ยิ่งกว่าภารตวิทยา รจนาขึ้น จนเป็นเอกลักษณ์พิเศษ ของไทยเรา ไปเอาเลย
สำหรับจีนวิทยานั้น
เข้าไม่ถึงภูมิปัญญาไทยสยามเอาเลย ดังวัฒนธรรมตะเกียบ ผูกติดอยู่กับชนชั้นกลาง
หรือผู้ที่มีเชื้อสายจีนเท่านั้น ในขณะที่การเปิบข้าวด้วยมือ และการนุ่งโจงกระเบน
เป็นวัฒนธรรมการกินอยู่ รวมตลอดไปถึงหยูกยา ที่อยู่อาศัย และการทำมาหากินเรื่อยไป
จนศิลปวิทยา และศาสนธรรม ทั้งหมดนี้ โยงไปถึงภารตวิทยา
สามก๊ก
อาจมีค่าเท่า
ราชาธิราช
สำหรับเป็นมหายุทธการวงศ์ ดังที่พระราชพงศาวดาร
เป็นจุลยุทธการวงศ์ ตามที่สมเด็จพระพันรัต วัดพระเชตุพน กำหนดไว้ในรัชกาลที่
๑ โดยที่ชนชั้นปกครองของเราไม่รู้จัก
อรรถศาสตร์
ของจารัณยกะ (หรือที่รู้จักกัน ในอีกนามหนึ่งว่า เกาติลิยะ)
ดังที่เราไม่รู้จักคัมภีร์ พิชัยสงคราม ของซุนวูนั้นเอง ว่าไปทำไมมี
แม้จนบัดนี้ เราก็ยังตีมาคิอาเวลลีไม่แตก ทั้งๆ ที่เราทิ้งภารตวิทยา
และ ลังกาวิทยา มาสมาทานฟรังฆวิทยา กว่าศตวรรษแล้วก็ตาม โดยที่คนซึ่งรู้ซึ้งถึงภาษากรีก
และละติน ก็ไม่มีเอาเลย ดุจดังที่บรรพบุรุษของเรา ไม่รู้ภาษาสันสกฤต
อย่างแตกฉานนั่นเอง
ถ้าเป็นเช่นนั้น
จะแสวงหาภูมิปัญญานิเทศศาสตร์ตะวันออก ให้แยบคายได้อย่างไร ในเมื่อภูมิปัญญา
ตะวันตก เราก็รู้กันอย่างตื้นเขิน โดยเดินตามรอยเท้า ของอเมริกาวิทยา
ยิ่งกว่ายุโรปวิทยาเป็นไหน
๓
ที่กล่าวมาในวรรคข้างบนนี้ ไม่ใช่เพื่อยั่วให้แย้งสำหรับปฏิเสวนาเท่านั้น
หากใครที่อ่าน The Revolt of Elite and The Betrayal
of Democracy by Christopher Lash ก็คงจะเข้าใจความข้อนี้ได้
โดยเฉพาะบทที่ว่าด้วย Academic Pseudo Radicalism
ยิ่ง The Closing of The American Mind by Alan Bloom ด้วยแล้วก็จะเห็นได้ว่า
นั่นก็เป็น อีกตัวอย่างหนึ่ง ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ระบบอุดมศึกษาของสหรัฐ
มาถึงจุดอุดตันแล้ว โดยที่บุคคลผู้นี้ เคยแปล Plato's
The Republic มาอย่างลือชื่อ และเคยสอนมาแล้ว ทั้งที่คอแนล
และ ชิคาโก โดยเราต้องไม่ลืมว่า ชิคาโก เป็นสดมภ์หลัก ในการนำเอายุโรปวิทยา
มาเป็นพื้นฐานด้านอุดมศึกษา ของสหรัฐอย่างสำคัญยิ่ง ในขณะที่ ฮาวาร์ด
และเยล เดินตามออกซบริดจ์ที่อังกฤษ
ออกซบริดจ์เองยังคงมีค่าอยู่หรือไม่
ก็น่าสงสัย โดยเราจะอ่านเรื่อง The Oxbridge Conspiracy
by W. Ellis หรือไม่ก็ตาม แม้นั่นจะเป็นหนังสือ ที่โจมตีสถาบันหลัก
ทั้งสองนี้ โดยที่ข้อเขียนของคนในเองอย่าง The Dons
by Noel Annan ก็ชี้ให้เห็นถึงสภาพความทรุดโทรม ของภูมิปัญญาหลัก
ในมหาวิทยาลัยอังกฤษ โดยเฉพาะ ก็จำเดิมแต่นางแทตเชอร์ เอาอย่างอเมริกามา
ยิ่งทำให้ระบบทุน มากำหนดทิศทาง ของการศึกษา อย่างเหนือ อำนาจรัฐด้วยแล้ว
จะเกิดอาศรมทางความคิด ขึ้นได้อย่างเป็นองค์รวม และลึกซึ้งล่ะหรือ
โดยเฉพาะก็ในแวดวง ของนักวิชาการ ซึ่งไม่ได้มุ่งที่ความเป็นเลิศ หากมุ่งเพียงความสำเร็จ
อย่างฉาบฉวย ยิ่งในสมัยที่เกิดความลื่นไหลว่า มหาวิทยาลัย ควรอยู่นอกระบบรัฐอย่างไร
ยิ่งคงไม่แสวงหาอะไรอื่น นอกเหนือไปจาก สถานภาพทางความมั่นคง ของวิชาชีพตน
โดยที่ถ้าจะเอาอย่าง มหาวิทยาลัยเอกชน ก็คงต้องถือเอา ลัทธิทุนนิยม
เป็นสรณะยิ่งๆขึ้นทุกที
ขอให้ดูไปที่สถาบันการศึกษาในสหรัฐที่
เคยสนใจไทยคดีศึกษา และเอเชียอาคเนย์ศึกษาดูก็ได้ ว่าที่โดดเด่น ขึ้นมาได้
ก็เพราะสงครามโลก ครั้งที่ ๒ และ สงครามเกาหลี ตลอดจนสงครามเวียดนาม
หรือมิใช่ โดยที่บัดนี้ มหาวิทยาลัยนั้นๆ กับวิชาที่เอ่ยถึงมาแล้วนั้น
กำลังอยู่ในขั้น วิสัญญีภาพใช่หรือไม่
SOAS
เองก็เกิดขึ้นเพื่อรับใช้อาณานิคมของอังกฤษ เฉกเช่น
Ecoled' extreme orient ของฝรั่งเศสก็เช่นกัน โดยที่ทั้งสองสถาบันนี้
อาจยังมีคุณค่าอยู่ แต่ก็คงสถานภาพเดิมไว้ ยิ่งไปกว่าอะไรอื่น ใครที่อ่านงานของ
Edward Said เรื่อง Orientalism คงเข้าใจประเด็นนี้ได้ไม่ยากนัก
ที่คอแนล นอกจาก
เบน แอนเดอสัน แล้ว มีใครบ้างที่โดดเด่นทางกระแสธารด้านเอเชียอาคเนย์
ยัง SE Asian Consortium อันประกอบไปด้วย มหาวิทยาลัย
วอชิงตัน ที่ซีอาเติล มหาวิทยาลัยโอเรกอน ที่ปอร์ตแลนด์ และมหาวิทยาลัยบริติช
คอลัมเบีย ที่แวนคูเวอร์ ก็ปลาสการไปแล้ว มิใช่หรือ โดยที่เยลนั้น
มีคนจับทาง กัมพูชาวิทยา อยู่เท่านั้นกระมัง ในขณะที่มิชิแกน เมื่อสิ้น
บิล เกตนีย์ แล้ว มีใครโดดเด่นเป็นพิเศษ ขึ้นมาบ้าง ทางไทยวิทยา แม้ในทางพุทธวิทยา
จะมีอยู่อย่างน้อยก็สองคน
เมื่อพูดถึงพุทธวิทยากร
ก็ต้องบอกว่าเวลานี้เอง ที่ฮาวาร์ดก็หาศาสตราจารย์ วิชานั้นไม่ได้
จนถึงกับต้องขอให้ ดอน สแวเร่อ จากสวาทมัวร์ ไปรักษาการไว้ ปีหนึ่งก่อน
ดังที่ออกซฟอร์ด ก็มีเพียง ริชาร์ด คอมบริดจ์ โดดเด่นอยู่คนเดียว แม้
ไมเกิล แอริส สามีของอองซานสุจี จะมีชื่อเสียง ทางด้านธิเบตวิทยา ณ
มหาวิทยาลัยนั้น มหาวิทยาลัยนั้นก็เกือบจะไม่ได้ เกื้อกูลอะไรกับเขาอย่างจริงจัง
จนเขาตายจากไป
ยิ่งยุโรปวิทยาด้วยแล้ว
ถ้าได้อ่านประวัติ Lord Acton by Roland Hill ก็จะเห็นได้ว่า
ในศตวรรษก่อน อังกฤษ มีผู้ที่รอบรู้ ในเรื่องวิชาการ ของทวีปตน อย่างค่อนข้างจะลึกซึ้ง
และจริงจัง ทั้งยังโยงไปถึงความรู้ ที่ควบคู่ ไปกับคุณงามความดี โดยที่ผู้รู้
ยังมีผลกระทบโดยตรง ถึงการเมือง การปกครองอีกด้วย ดัง เคมบริดจ์ คงสภาพเช่นนี้
จนถึง Keynes ซึ่งอาจเป็นคนสุดท้ายก็ได้ โดยที่
Noel Annan นั้นก็มีบทบาท คล้ายๆ กัน แต่อิทธิพลของนักวิชาการ
กับนักการเมือง ลดน้อยถอยลงไป เป็นลำดับๆ ดังที่เคเนดี้เอาอย่างมาใช้
Think Thank จาก ฮาวาร์ด จนเกิด หายนภัยขึ้น ที่
Henry Kissinger และ Sam Huntington โดยที่คนแรก
ขีดแวดวงไว้ที่ ยุโรปวิทยา และคนหลังขยายออกไป จนเอเชียวิทยาด้วยเอาเลย
ที่พูดมาทั้งหมดนี้
ออกจะเป็นนัยลบมากกว่านัยบวก ก็เพื่อเตือนสตินักวิชาการของเรา ที่ไปจบมาจาก
ทิศาปาโมกข์ในเมืองนอก ให้เกิด ความสำนึก การศึกษาของตนนั้น บางทีจะมีข้อที่ให้โทษ
พอๆ กับให้คุณ หรือให้โทษยิ่งกว่าให้คุณก็ได้ ดังข้าพเจ้าชอบยกเอาคำ
ของเพื่อนคนหนึ่ง ที่บัดนี้อำนวยการ สถาบัน สันติศึกษา อยู่ที่มหาวิทยาลัย
แมกมาสเตอร์ ในคานาดา มาเอ่ยถึงอยู่เนืองๆ โดยเฉพาะ ก็ตอนที่เขาเรียน
ณ ฮาวาร์ด
คำขวัญของฮาวาร์ดคือ
"Veritas" ตามความหมายเดิมในภาษาละติน แปลว่า สัจจะ
อันเป็นคำขวัญ ที่ทรงเกียรติ ของมหาวิทยาลัย แต่ด้วยเหตุอันใดเล่า
ในฮาวาร์ด จึงไม่มีใครเอ่ยปากถึงสงคราม หรือ เป็นเพราะสัจจะของฮาวาร์ดนั้น
สูงค่าเกินกว่า จะแปดเปื้อนชีวิต และเลือดเนื้อ ของผู้คนที่เครื่องบินบี
๕๒ ทิ้งระเบิดสังหาร หากเป็นเช่นนั้นจริง สัจจะของฮาวาร์ด ต้องผิดพลาด
อย่างมหันต์ หรือมิฉะนั้น สัจจะของ ฮาวาร์ด ก็คือสิ่งที่บี ๕๒ นำไปมอบให้
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาจจะเป็นไปได้ ที่บางส่วนของ สัจจะฮาวาร์ด
คือ โครงสร้างเศรษฐกิจ ของวัฒนธรรมคนผิวขาว ของอเมริกา ที่ผู้ชายครอบงำ
เป็นสิ่งที่ ดีที่สุด เป็นคำตอบของอนาคต และ จะดำรงอยู่ตลอดไป เป็นสิ่งที่ทุกคน
ต้องคล้อยตาม ไม่ว่าจะชอบ หรือไม่ เพราะฉะนั้น จะโดยทางอ้อม และอย่างไม่เปิดเผย
ฮาวาร์ดเกี่ยวข้องกับประเด็นนี้ อย่างเต็มที่ โดยเป็นผู้เติมเชื้อเพลิง
ให้กับฝูงเครื่องบินบี ๕๒ แต่เราไม่ได้พูด ถึงเรื่องเหล่านี้เลย ข้อเท็จจริงนี้
รบกวน จิตใจผม มากขึ้นเรื่อยๆ และค่อยๆ ปรากฏชัดขึ้นทุกที สิ่งที่ผมพูด
ดูเหมือนกับเป็นการถากถาง พอสมควร ว่ากันตามจริง มิใช่ว่าฮาวาร์ด จะไม่ได้เกี่ยวข้อง
สงคราม เวียดนามเลย ฮาวาร์ดได้มอบเฮนรี่ คิสซิงเจอร์ ให้กับโลก แล้วยังมี
แซมมูเอล ฮันติงตัน ผู้เป็นนักวิชาการที่ยิ่งใหญ่ จากฮาวาร์ดอีกคน
และคนๆ นี้ยังคงอยู่ ในตำแหน่ง อันทรงเกียรติ ท่านทั้งหลายคงจะจำได้ว่า
นายแซม ฮันติงตัน ได้ให้กำเนิดทฤษฎี "การใช้กำลัง เพื่อสร้างเมือง"
ทฤษฎีนี้สอนเราว่า หากต้องการสร้างความทันสมัย ให้กับเวียดนามใต้ อย่างรีบด่วน
ก็จงทิ้งระเบิด ใส่ประชาชน เพื่อที่เขาจะได้ อพยพออกจากชนบท เป็นการบังคับให้ชาวบ้าน
มาแออัด อยู่ในเมือง เช่นไซ่ง่อน แล้วพวกเขา ก็ตกอยู่ใต้อำนาจทหาร
และการช่วยเหลือ ทางเศรษฐกิจ จากต่างชาติ ส่งผลให้เขาไม่สามารถ สนับสนุนพวกเวียดกง
หรือกองกำลัง ชาวเวียดนามใต้ ในชนบท ที่ทำการต่อต้านได้ บุคคลเยี่ยง
นายแซม ฮันติงตัน ได้เสนอกฎหมายรับรอง กองทัพอากาศอเมริกัน ให้ปฏิบัติการก่อการร้าย
ขนานใหญ่ ดังนั้น ฮาวาร์ด จะไม่เกี่ยวข้องได้อย่างไร พูดไปทำไม ในปี
๑๙๔๒ บรรดาศาสตราจารย์ ของฮาวาร์ด ได้มอบระเบิดนาปาล์ม เป็นของขวัญ
แก่ชาวโลก แน่นอน คนๆ นั้นคือ นายหลุยส์ ฟิชเชอร์ ด้วยเหตุนี้ ชาวพุทธในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
จึงยังระลึกถึงบุญคุณของเรา ตลอดเวลา"
(จาก ไทยคดีศึกษากับองค์รวมแห่งความรู้
ของ ส.ศิวรักษ์ หน้า ๒๔-๒๕)
ที่จริง เบล๊กบอกกล่าวเป็นกลอนมาก่อนนานแล้ว
ว่ามหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด รับใช้ชนชั้นปกครอง และ อาณานิคม หาได้เป็นต้นตอ
ที่มาของวิชาการ อันบริสุทธิ์ไม่ แม้บางทีจะมีปัญญา ที่เป็นเลิศหลุดออกมาบ้าง
ก็ตามที
(อ่านต่อฉบับหน้า)
(เราคิดอะไร
ฉบับที่ ๑๔๕ สิงหาคม ๒๕๔๕)
|