หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >เราคิดอะไร

ฉบับที่ ๑๔๗

(ต่อจากฉบับที่ ๑๔๖)
"บุญนิยม"นี่แหละ ที่ทำงานทำอาชีพ ด้วยความขยัน สร้างสรร เสียสละ "สงเคราะห์มนุษยชาติ
และ สังคม" ด้วยความจริงใจ เต็มที่เต็มใจและสุขใจ อย่างเป็นสัจจะ

เพราะคุณธรรมที่ผู้ปฏิบัติแบบพุทธ เมื่อ"สัมมาทิฏฐิ"จริง ก็จะสมบูรณ์ พร้อมไปด้วย "สัมมาสมาธิ... สัมมาญาณ... สัมมาวิมุติ" ซึ่งผู้มี "สัมมาสมาธิ.. สัมมาญาณ.. สัมมาวิมุติ" ได้นั้น จะต้องมีการฝึกฝน อบรมมาครบ สมบูรณ์ไปหมดทั้ง "แนวคิดความริเริ่ม (สังกัปปะ) .. การพูดการจา (วาจา) ..การกระทำ อะไรต่ออะไรต่างๆ (กัมมันตะ) .. การงานอาชีพ (อาชีวะ) .. ความพยายาม (วายามะ) .. ความรู้ตัวทั่ว ทั้งกายวาจาใจ (สติ) "ล้วนถูกหลัก ถูกเกณฑ์ ของพระพุทธเจ้า จนมีมรรค มีผลเป็น "สัมมาสังกัปปะ.. สัมมาวาจา.. สัมมากัมมันตะ.. สัมมาอาชีวะ.. สัมมาวายามะ.. สัมมาสติ"

นั่นคือ ต้องมี"สัมมาทิฏฐิ"เป็นประธานก่อน "มรรค"ข้ออื่นๆ จึงจะ "สัมมา" ตามที่ได้อบรม ฝึกฝน ปฏิบัติ สั่งสมความสามารถ สร้างความรู้ ความเข้าใจ ความเห็นจริง จากสิ่งที่เกิด ที่ทำได้ บรรลุจริง เจริญขึ้นเรื่อยๆ แล้วจึงเกิดเป็น "สัมมาสมาธิ.. สัมมาญาณ.. สัมมาวิมุติ" ตามที่ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ใน "มหาจัตตารีสกสูตร" (พระไตรปิฎก เล่ม ๑๔ ตั้งแต่ข้อ ๒๕๒ ถึงข้อ ๒๘๑)

ดังคำตรัสที่พระองค์สรุปลงใน ข้อ ๒๗๙ ว่า
"บรรดาองค์ทั้ง ๗ นั้น สัมมาทิฏฐิ ย่อมเป็นประธาน ก็สัมมาทิฏฐิ ย่อมเป็นประธานอย่างไร
คือ เมื่อมีสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ จึงพอเหมาะได้
เมื่อมีสัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา จึงพอเหมาะได้
เมื่อมีสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ จึงพอเหมาะได้
เมื่อมีสัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ จึงพอเหมาะได้
เมื่อมีสัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ จึงพอเหมาะได้
เมื่อมีสัมมาวายามะ สัมมาสติ จึงพอเหมาะได้
เมื่อมีสัมมาสติ สัมมาสมาธิ จึงพอเหมาะได้
เมื่อมี"สัมมาสมาธิ" สัมมาญาณ จึงพอเหมาะได้
เมื่อมีสัมมาญาณ สัมมาวิมุติ จึงพอเหมาะได้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการฉะนี้แล พระเสขะผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ จึงเป็นพระอรหันต์ ประกอบด้วย องค์ ๑๐ ฯ"

ดังนั้น กรรมกิริยา หรือพฤติกรรม ทั้งกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมของชาวบุญนิยม จึงเป็น การสงเคราะห์ ที่สัมมา (ถูกถ้วน) และมัชฌิมา (เป็นกลาง) โดยชอบ โดยเหมาะ โดยควร เพราะรู้จัก อนุโลมปฏิโลม ตามภูมิ แห่งสัปปุริสธรรม ของแต่ละคน และ เพราะชาวบุญนิยม มิได้ทิ้งการงาน มิได้เรื้อการงาน มิได้หนีสังคม ออกสู่ป่า เขาถ้ำ แบบลัทธิฤาษี มิได้หลบลี้สังคม หรือไม่รับรู้ ความเป็นไปของสังคม ของการงาน กับผู้คน แต่ยังทำการงานอาชีพ ด้วยความขยัน สร้างสรร อยู่กับสังคม จึงรู้เท่า รู้ทันการงาน รู้เท่าทันเศรษฐกิจ ในสังคม รู้เท่ารู้ทัน "โลกียสุข" อันเกิดจาก โลกธรรม ลาภยศสรรเสริญ อบายมุข กามารมณ์ อัตตามานะ ซึ่งผู้ปฏิบัติ ตามทฤษฎี "มรรค มีองค์ ๘" ต้องเรียนรู้ "ตัวกิเลส" ที่เป็น "เหตุ" (สมุทัย) แท้ และ ดับถูกตัว กิเลสนั้นๆ ให้หมดสิ้นตัวตน ในตนจริง จึงไม่เห็นแก่ตัวจริงๆ

เมื่อไม่เห็นแก่ตัว และมีสมรรถนะ จึงเป็นคนสร้างสรร ทั้งวัตถุและนามธรรม อยู่ในสังคม อย่างผู้ "มีบุญ" หรือ อย่างชาวบุญนิยม จึงเป็น "ผู้ให้ผู้เสียสละแก่สังคม เกื้อกูลสังคม" แม้จะยังเหลือ กิเลสอยู่บ้าง แต่ก็มี สัมมาทิฏฐิแล้ว มีศรัทธินทรีย์ (มีน้ำหนักแห่งความเชื่อสูง ถึงขั้นมีกำลัง พยายามเพื่อให้เกิดผล ตามที่ตนเชื่อ) จะไม่เป็นคน ผู้ตั้งใจได้เปรียบ ในสังคมแล้ว และ ไม่ใช่ผู้พยายาม ให้ได้เปรียบมากขึ้นๆ จนไม่มีที่สิ้นสุด เหมือนชาว ทุนนิยมแล้ว

คงจะยังไม่ลืมนะว่า เรากำลังพูดถึงคุณลักษณะของ "บุญนิยม" ข้อที่ ๗ "เน้นการสร้างคน" ให้มีคุณธรรม จนประสบผลสำเร็จ "เป็นหลัก" กันอยู่ และ คงจะต้องพูดกันไปอีก พอสมควร เพราะยังมีรายละเอียด ที่น่าจะพูด สู่กันฟัง จะได้รู้ ได้เข้าใจ ชัดเจนยิ่งๆขึ้น ก็ต้องขออภัย ผู้อ่าน เป็นอย่างมาก ที่ใช้ภาษาบาลี หรือ อ้างตำรา มากไปหน่อย เจตนาก็เพื่อ ยืนยันหลักฐาน และ อาจจะเป็นประโยชน์ สำหรับผู้สนใจ ที่จะค้นคว้าเพิ่มเติม หรือ ประสงค์จะตรวจสอบ ก็สามารถทำได้

ตามคำตรัสของพระพุทธเจ้าใน "มหาจัตตารีสกสูตร" (พระไตรปิฎก เล่ม ๑๔ ข้อ ๒๕๒) ซึ่งได้นำมา ให้อ่านกันแล้ว ว่า "คนที่ถูกสร้าง หรือ คนจะบรรลุธรรม" ถึงขั้น ประสบผลสำเร็จได้นั้น ต้องมี "สัมมาทิฏฐิ" เป็นประธาน หากแม้น ประธานคือ "ทิฏฐิ" เบื้องต้นก็ "ไม่สัมมา" ก่อนแล้ว ก็เป็นอัน ไม่เกิด "สัมมา" ในข้ออื่นๆ ทั้งมรรค ๘ ทั้งผล ๒ แน่ๆ

ที่สำคัญยิ่ง คือ "สมาธิ" ที่พระพุทธเจ้าทรงระบุ ของพระองค์ว่า เป็น "สัมมา" ซึ่งเป็นสมาธิ แบบพุทธ โดยเฉพาะ เพราะต่างจาก "สมาธิ" อื่นๆ อย่างมีนัยพิเศษ

[มีต่อฉบับหน้า]

หนังสือพิมพ์ เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๔๗ ตุลาคม ๒๕๔๕