เราคิดอะไร.

กำไรขาดทุนแท้ของอาริยชน (ต่อจากฉบับที่ ๑๔๗)


ที่สำคัญยิ่ง คือ "สมาธิ"ที่พระพุทธเจ้าทรงระบุของพระองค์ว่า เป็น "สัมมา" ซึ่งเป็นสมาธิ แบบพุทธ โดยเฉพาะ เพราะต่างจาก "สมาธิ" อื่นๆ อย่างมีนัยพิเศษ

"สมาธิ"ของพระพุทธองค์ จึงเรียกว่า "สัมมาสมาธิ"

"สัมมา" หมายความว่า ดี, ถูกต้อง, ถูกถ้วน, สมบูรณ์, จริง, แท้, โดยชอบ, โดยควร, โดยทั่วถึง ซึ่งตรงกันข้ามกับ"มิจฉา"

ส่วน "ทิฏฐิ" หมายถึง ความเห็น, ทฤษฎี, ความเชื่อถือ, หลักลัทธิ

"สัมมาทิฏฐิ" จึงมีความหมายว่า ความเห็นดี, ความเห็นชอบ, ความเห็นควร, ทฤษฎีที่ถูกต้อง, ความเชื่อถือที่ถูกถ้วน, หลักลัทธิที่สมบูรณ์, ทฤษฎีที่จริง, หลักลัทธิที่แท้, ความเชื่อถือที่ทั่วถึง เป็นต้น

ดังนั้น ต้องมี"สัมมาทิฏฐิ" เป็นประธานให้ได้เป็นเบื้องแรก ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสว่า "เมื่อมี สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ จึงพอเหมาะได้"

นั่นก็หมายความว่า ต้องมี "ความเห็น, ทฤษฎี, ความเชื่อถือ, หลักลัทธิ" ที่คุณภาพเข้าขั้น"ดี, ถูกต้อง, ถูกถ้วน, สมบูรณ์, จริง, แท้, โดยชอบ, โดยควร, โดยทั่วถึง" อย่างเป็นสัจจะเสียก่อน

เมื่อ"ความเห็นดี,ความเห็นถูกต้อง,ความเห็นถูกถ้วน หรือทฤษฎีถูกต้อง, ความเชื่อถือสมบูรณ์, หลักลัทธิจริง, ทฤษฎีนั้นแท้" การปฏิบัติให้เกิด "สัมมาสังกัปปะ" จึงจะ "ดำเนินไป อย่างเหมาะ อย่างควร" (ปโหติ) แนวคิดความดำริก็ "ดีถูกถ้วน" (สัมมา) ดำเนินไป อย่างเหมาะอย่างควร (ปโหติ) และจะมีผลต่อเนื่องไปถึง "การพูด-การกระทำ-อาชีพ" นั่นคือ เมื่อ"ทิฏฐิ" ดีถูกถ้วน ชอบควร แนวคิดความดำริ ก็ดีตาม ถูกต้องตาม ดำเนินไป อย่างเหมาะอย่างควร (ปโหติ) ดำเนินได้อย่างสามารถ (ปโหติ) ซึ่งสำนวนในพระไตรปิฎก ก็คือคำว่า "ปโหติ" นั่นเอง ที่ท่านแปลว่า "พอเหมาะได้" หรือ "อย่างเหมาะอย่างควร" นั่นแหละ

หาก"ทิฏฐิ"ตัวประธาน ไม่"สัมมา"แต่ต้น "สัมมาสังกัปปะ"ก็ไม่เกิด หรือแม้เกิด ก็ไม่ใช่ "สังกัปปะ" ที่เป็น"สัมมา" แต่เป็น"มิจฉาสังกัปปะ" แล้วการพูด-การกระทำ-อาชีพ ก็จะ"มิจฉา" คือ ผิดไป ไม่ดีไปตามกันไปหมด นั่นก็คือ ไม่เหมาะไม่ควร ไปตามๆกัน แม้ที่สุด "จิต" ก็จะสั่งสม ความแข็งแรง "ตั้งมั่น" ตามความเห็น, ตามทฤษฎี, ตามความเชื่อถือ, ตามหลักลัทธิ ที่ "มิจฉา" ของผู้นั้นๆ

แล้วคำว่า "สังกัปปะ"ล่ะ คืออะไร ก็คือ"ความดำรินึกคิดขึ้นในจิต" วิธีปฏิบัติ เพื่อให้ได้มาซึ่ง "สัมมาสังกัปปะ" ก็ต้องพิจารณากาย..เวทนา..จิต..ธรรม ตามหลัก "สติปัฏฐาน ๔" ซึ่งผู้ปฏิบัติ จะต้องศึกษา ฝึกหัดอ่าน "กายในกาย..เวทนาในเวทนา..จิตในจิต..ธรรมในธรรม" หยั่งเข้าไป ให้รู้ถึงภาวะ ที่เกิดจริงเป็นจริง อยู่ในตน

การปฏิบัติวิปัสสนา ก็ปฏิบัติได้ในทุกอิริยาบถทุกกรรมกิริยา ทุกสถานที่ ทุกเวลา ทุกโอกาส เท่าที่ผู้ปฏิบัติ จะสามารถฝึก "ญาณ" หยั่งรู้ อ่านให้เป็น อ่านให้ทัน ทั้งในขณะที่มี "การดำริ นึกคิด" (สังกัปปะ) ทั้งในขณะที่มี "การพูดการจา" (วาจา) ทั้งในขณะที่มี "การทำนั่นทำนี่" (กัมมันตะ) ทั้งในขณะที่มี "การปฏิบัติงานอาชีพ" (อาชีวะ) โดยไม่ต้องพัก ไม่ต้องหยุด กิจการงานใด ไม่ต้องหยุดกรรมกิริยาสามัญ หาเวลาพิเศษไป เพื่อปฏิบัติ วิปัสสนาเลย เพราะการปฏิบัติเพื่อให้เกิด "ฌาน" เกิด "สมาธิ" หรือ ปฏิบัติวิปัสสนา ที่ถูกต้องตาม "สัมมาทิฏฐิ" ของพุทธนั้น ปฏิบัติได้ตลอดเวลา ทุกขณะ ทุกกรรมกิริยา ตามหลัก "มรรค มีองค์ ๘" อยู่ที่ว่า..ใครจะสามารถ พยายามมีสติ ระลึกรู้ตัว จับอารมณ์ทัน และ หยั่งญาณ เข้าไป พิจารณา "กายในกาย.. เวทนาในเวทนา.. จิตในจิต.. ธรรมในธรรม" ได้ทัน ได้มากขณะที่สุด เท่านั้น

ซึ่งในพระไตรปิฎกเล่ม ๑๔ "มหาจัตตารีสกสูตร" ข้อ ๒๕๓ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ชัดเจน ดังที่เคยยกอ้างมา ให้อ่านผ่านมาแล้วว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็"สัมมาสมาธิ" ของพระอริยะ อันมีเหตุประกอบ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง ประกอบแล้ว ด้วยองค์มรรคทั้ง ๗ เหล่านี้แล เรียกว่า "สัมมาสมาธิ" ของพระอริยะ อันมีเหตุบ้าง มีองค์ประกอบบ้างฯ"

นั่นคือ "สมาธิ"ของพระพุทธเจ้าแท้ๆนั้น เรียกว่า "สัมมาสมาธิ" อันเป็นข้อที่ ๘ ของ "สัมมามรรค" หาใช่ "สมาธิ" ที่เรียกว่า "สมาธิ" เฉยๆดังที่มีกันอยู่ทั่วไป อันได้จากการนั่งหลับตา เพ่งกสิณ แบบฤาษี เก่าแก่ดั้งเดิม ตามที่ได้พากันหลงเข้าใจผิด ต่อเนื่องกันมา นานแสนนานนั้นไม่

[มีต่อฉบับหน้า]

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๔๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๕)