เราคิดอะไร.

ชีวิตนี้มีปัญหา ๑ - สมณะโพธิรักษ์ - (ฉบับ ๑๔๘)
(ต่อจากฉบับที่ ๑๔๗)

ถึงกระนั้น แม้จะกำหนดกันว่า เทวดาคือ ภูมิของสัตว์ที่เป็นกุศลเท่านั้น หากไม่ใช่กุศล ก็ไม่ใช่ "เทวดา" แต่เอาไปเอามา.. ก็ยังมีตำนานเล่าขานกันว่า มีเทวดาเลวอยู่ด้วย เหมือนกันแหละ ซึ่งนั่นก็คือ สามัญลักษณ์ของ โลกีย์ ไม่ว่าจะเป็นโลกีย์ ระดับไหน สูงสุดๆปานใดก็ตาม ในความเป็น "โลกียะ" ย่อมมี "ความไม่เที่ยงแท้" (อนิจจัง) เป็นเทวดา ก็ตกสวรรค์ ไม่สามารถ เป็นเทวดาได้นิรันดร์ ดอก อย่างเก่งก็ยึดมั่นถือมั่น อยู่ได้นาน แสนสุดจะนาน แต่ไม่วาระใด ก็วาระหนึ่ง ไม่ส่วนใดก็ส่วนหนึ่ง จะต้องเปลี่ยนแปลง แปรปรวน เสื่อมถอย ไปสู่ต่ำ ได้อยู่นั่นเอง เป็นธรรมดาของสมมุติสัจจะ หรือของความเป็น "โลกียะ"

แม้แต่ในสังคม"โลกุตระ"แท้ๆ คุณธรรมใดที่ยังไม่แท้ถึงขีดถึงขั้น "อวินิปาตธรรม" (ไม่ตกต่ำแล้วจนเป็นธรรมดา) หรือถึงขั้น "นิยต" (ซึ่งแท้,แน่นอน) ก็ยังสามารถเวียนกลับ หรือกลับกำเริบ (กุปปะ) ขึ้นมาใหม่ได้

แต่ชาว"เทวนิยม"ทั้งหลายนั้น ต่างได้กำหนดหมายกันไว้ อย่างเชื่อมั่นถือมั่นกันลงไป อยู่แล้วว่า ถ้าผู้ใด ทำกุศลมากเพียงพอ ก็เชื่อมั่นถือมั่นกันว่า ผู้นั้นย่อมได้อยู่ภูมิภพสวรรค์ กับพระเจ้า นิรันดร ซึ่งหลงความเที่ยง

สำหรับสัตว์อบายนั้น ก็มี"ความกำหนดหมาย"ต่างกันไปอีก ว่า ต้องเป็นสัตว์ที่ทำกรรมชั่วบาป กำหนด กันลงไปว่า ความเป็นจิตวิญญาณที่มีภูมิ "อกุศล" จึง จะชื่อว่า สัตว์อบาย (วินิปาติกะ) ซึ่งกำหนด เจาะจงลงไปเช่นกันว่า สัตว์อบายนรกนี้ ต้องเป็นพวก "อกุศล" เท่านั้น ก็กำหนด ต่างกันไป คนละขั้วกับเทวดา

ดังนั้น สัตว์อบายนรก ก็มี"ความกำหนดหมาย" ไปอีกอย่างหนึ่ง ต่างกันกับเทวดา และ ต่างกับมนุษย์ด้วย ฉะนี้เองคือ มี"สัญญา"ต่างกัน หรือมี "ความกำหนดหมาย" ต่างกัน

ผู้ที่ตกอยู่ในภพภูมิแต่ละภูมิดังกล่าวนี้ เพราะยังไม่มีความรู้ ไม่มีการศึกษา หรือแม้ศึกษา แต่ก็ยังวนอยู่ ได้แค่เป็นมนุษย์ เป็นเทวดาบางชนิด และเป็นสัตว์นรก (วินิปาติกะ) บางชนิด ก็นี้แหละคือ "ภพเป็นที่อยู่ของสัตว์" ที่ชื่อว่า สัตตาวาสที่ ๑ ซึ่งเป็นภพภูมิตามที่มีอยู่จริง และ เป็นกันอยู่จริง

๒. สัตว์พวกหนึ่ง มีกายต่างกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน เช่น เทวดาผู้อยู่ในชั้นพรหม ซึ่งเกิดในภูมิ ฌาน ๑

สัตว์พวกที่ ๒ ก็ขอขยายความ สู่กันฟัง ดังนี้

คำว่า กาย ในที่นี้ หมายถึง ความเป็นองค์ประชุมของภายนอกนั่นเอง ที่ต่างกัน ซึ่งได้แก่ รูปธรรมต่างๆ อันหมายถึงอะรต่ออะไรหลากหลาย ตั้งแต่รูปกายสรีระไปทีเดียว หรือ พฤติกรรมต่างๆ พิธีกรรมต่างๆ จารีตประเพณีต่างๆ วัฒนธรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบก็ดี วิธีการก็ดี ของคนแต่ละคน ของคณะหมู่กลุ่มแต่ละหมู่ หรือ ของนิกายแต่ละนิกาย แต่ละศาสนา

ซึ่งที่จริงก็คือ "ทิฏฐิ"ของคนนั่นแหละ เป็นสำคัญ ที่จะเห็นไป เชื่อถือไป ตามภูมิธรรมของตนๆ แล้วต่างก็ประพฤติ ต่างก็กระทำ ต่างก็ประกอบขึ้น เกิดอะไรต่ออะไร ที่เป็นรูปธรรม เป็นเรื่องภายนอกทั้งหลาย แตกต่างกันไปได้หลากหลาย คำว่า กายจึงต่างกันไป กลายเป็น รูปลักษณ์ภายนอก ที่หมายถึง อะไรต่ออะไร หลายๆอย่าง ตามที่กล่าวมาแล้วเป็นต้น ต่างกัน แต่ละร่าง แต่ละกาย แต่ละตน แต่ละตัว แต่ละหมู่กลุ่ม แต่ละนิกาย แต่ละลัทธิ แต่ละศาสนา นั่นเอง ที่ต่างกันได้ ไปหลากหลายมากมาย

ส่วนที่ว่า มี"ความกำหนดหมาย"หรือ"สัญญา"อย่าง เดียวกัน นั่นก็คือ สามารถทำจิต ให้สิงสู่อยู่ในภพภูมิ ของความเป็น"ฌาน ๑"(รูปฌาน) อันมีการกำหนดหมาย อย่างเดียวกัน มีอารมณ์อย่างหนึ่ง อย่างเดียวกัน ก็นี้แหละ คือ สัตตาวาสที่ ๒ หรือภพเป็นที่อยู่ของสัตว์พวกนี้

ที่ว่า "ความกำหนดหมาย" หรือ "สัญญา" อย่างเดียว กัน คือ "ฌาน ๑" (ปฐมฌาน) ของสัตว์พวกนี้ ก็หมายความว่า พวกที่ปฏิบัติบำเพ็ญ จนสามารถมีจิตเป็น "ปฐมฌานภูมิ" ซึ่งนับเป็น "รูปพรหม" ภูมิที่ ๑ ภูมิของความเป็นพรหมขั้น "ฌาน ๑" นี้ ท่านแบ่งละเอียดกันไว้ ๓ สถานะ ได้แก่

(๑) พรหมปาริสัชชา อันหมายถึง ฌานจิตที่เริ่มเข้าสู่อารมณ์"เอกัคคตา" อันได้แก่ อารมณ์ ที่เป็นความสงบ จุดหมายเดียวกัน ก็คือ เข้าสู่ "ความสงบ" นั่นเอง ทุกลัทธิ ซึ่งเป็น เอกัคคตา ขั้นต้น จึงนับว่า เป็นแค่บริวารของ "มหาพรหม"

(๒) พรหมปุโรหิต อันหมายถึง ฌานจิตขั้นสูงขึ้น มี"เอกัคคตา"แข็งแรงขึ้นสูงขึ้น มีทั้งสมรรถนะ และ ปัญญาเจริญขึ้นจริง จึงสามารถบอกกล่าว แนะนำสั่งสอนผู้อื่น ช่วยผู้อื่นได้ จนเก่งถึงขั้น ถือได้ว่า เป็นที่ปรึกษาของผู้เป็นใหญ่ หรือผู้บริหารประเทศ ปานฉะนั้น ทีเดียว

(๓) มหาพรหม อันหมายถึง ผู้มีฌานจิตขั้น"ปฐมภูมิ"นี้สูงขึ้นเป็นที่สุดของขั้นต้นแล้ว จึงนับว่า มี "เอกัคคตา" ถึงขั้นเป็นท้าวมหาพรหม คือผู้มีจิตระดับนี้เต็มที่สูงสุดของ "ปฐมฌาน"

ความเป็น"ฌาน"ชนิดนี้ เป็นฌานแบบ "เทวนิยม" ยัง นับเป็น "โลกีย์" อยู่ เพราะยังไม่มี "สัมมาทิฏฐิ" ถูกถ้วน (สัมมา) แบบพุทธ หรือถูกแท้ (สัมมา) แบบ "อเทวนิยม" ฌานของ "สัตตาวาส" เป็นฌานแบบที่รู้กันอยู่ทั่วๆไป คือ จะต้องทำจิตให้เข้าไปอยู่ในแต่ "ภวังค์" หมายถึง สภาพที่ไม่รับรู้อารมณ์ จากภายนอกแล้ว ไม่เห็นรูป ไม่ได้ยินเสียง เป็นต้น ครบทั้ง ๕ ทวาร จะรับรู้อยู่แค่ ภายในจิตทวารเดียวเท่านั้น ซึ่งเป็น "ฌานในภวังค์" เหมือนๆกันทั้งหมด ทุกลัทธิ ทุกนิกาย ทุกคณะหมู่กลุ่ม ทุกศาสนา ที่เป็นเทวนิยม

ซึ่งไม่ใช่"ฌานลืมตา" หรือไม่ใช่"ฌาน"ที่เกิดในขณะมีทวารรับรู้อยู่เต็มสภาพทั้ง ๖ ทวาร เพราะเป็น "ฌาน" ที่มีแต่ในภวังค์เท่านั้น มิใช่เป็น "ฌาน" ที่เกิดในขณะปฏิบัติด้วย "มรรค ๗ องค์" ตามแบบของพุทธ และ เป็นฌานอันมีทวารทั้ง ๖ ทำหน้าที่รับรู้ อยู่เต็มสภาพ ซึ่งพระพุทธเจ้า ตรัสไว้ชัดๆ ในพระไตรปิฎก เล่ม ๑๔ ข้อ ๒๕๒-๒๘๑ ผู้สนใจ ควรหาอ่านดู ละเอียดๆ

[มีต่อฉบับหน้า]

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๔๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๕)