เราคิดอะไร.

ศาสนธรรมจะเป็นมโนธรรมของสังคม
ในภาวะปัจจุบันได้อย่างไร

' ส.ศิวรักษ์
(ต่อจากฉบับที่ ๑๔๗)


ยิ่งศาสนาที่มีนักบวชด้วยแล้วนักบวชนักพรตเหล่านี้ มีเวลาถามตัวเองแค่ไหน ว่ารูปแบบ แห่งเครื่องแต่งกายภายนอก ของพระคุณท่าน ห่อหุ้มความน่าเกลียด ของร่างกายไว้อย่างไร และความเน่าเหม็นของจิตใจ ซึ่งส่อให้ท่านเป็นคน หน้าไหว้หลังหลอก กึ่งดิบกึ่งดี อย่างปราศจาก ความกล้าหาญทางจริยธรรม ในขณะที่คน ซึ่งไม่มีศาสนา เขายังกล้าท้าทาย อำนาจอันยุติธรรมได้ แล้วนักพรตนักบวชของเรา ไปหลบซ่อนอยู่ ณ ที่ใด เว้นแต่ประกอบ พิธีกรรมไปวันๆ โดยหวังอามิส จากพิธีกรรมนั้นๆ ด้วย

ที่ว่ามานี้ไม่ได้เป็นจริงในทั้งหมด หากโดยมากที่นักพรตนักบวช หมดสถานะความเป็นผู้นำ ในด้านการปลุก มโนธรรมสำนึกให้มหาชน อย่างน้อยทางอเมริกาละติน ก็มีเทววิทยา แห่งการปลดปล่อย ดังพระคาดินัลอานส์ แห่งบราซิล ได้อุทิศตำหนัก พระสังฆราชของท่าน ให้องค์กร พัฒนาเอกชน ไปร่วมกันใช้ เพื่อรวมพลังกัน ท้าทายอำนาจรัฐ และ อภิมหาอำนาจ ตลอดจน บรรษัทข้ามชาติ ยังพระอัครสังฆราชโรเมโร ก็กล่าวว่า เวลาอาตมาเทศน์ ให้คนรวย ช่วยคนจน เขายกย่องว่า อาตมาเป็นนักบุญ ครั้นเวลาอาตมาเทศน์ให้คนจน รวมพลังกัน เรียกร้องสิทธิ อย่างสันติวิธี โดยไม่สยบยอม ต่อนายทุน และเจ้าที่ดิน เขากล่าวหาว่า อาตมาเป็นคอมมิวนิสต์ และแล้วพระคุณเจ้ารูปนี้ ก็ถูกซีไอเอ จากสหรัฐ สั่งสังหาร ขณะที่ ท่านทำพิธี มิสซามหาบูชา

ที่ประเทศศรีลังกานี้เอง ข้าพเจ้าก็มีเพื่อนชื่อ บาทหลวงไมเกิล โรดริโก ซึ่งไปทำงาน ร่วมกับคนจน ในละแวกของ ชาวสิงหฬ ซึ่งส่วนมาก เป็นพุทธศาสนิก พระภิกษุรูปหนึ่ง ถามว่า คุณพ่อเตรียมเอาน้ำ มาไว้คอยล้างบาป ให้พุทธศาสนิกหรือ ท่านบาทหลวง บอกว่าเปล่าเลย ถ้าพระคุณเจ้า ต้องการคำมั่นสัญญา ก็จะเขียนถวายไว้ให้ สำหรับท่านโรดริโก การรับใช้ พระผู้เป็นเจ้า ไม่ใช่การหาคนมาเข้ารีต ท่านถือว่านั่นคือความเลวร้าย คล้ายพวกขายยาสระผม หรือ ผงซักฟอก นั้นแล สำหรับท่าน การรับใช้พระผู้เป็นเจ้า คือรับใช้คนยากไร้ทั้งมวล เท่าที่เรา จะมีศักยภาพพอเพียง โดยไม่ต้องการ ให้เขามานับถือ ศาสนาเดียวกับเรา

คุณพ่อโรดริโกทำงานของท่าน จนคนจนทั่วๆ ไปในละแวกนั้นเกิดมโนธรรมสำนึก ในการรวมตัว กันเรียกร้อง และต่อรอง กับนายทุน อย่างมีศักดิ์ศรียิ่งๆ ขึ้น และแล้วขณะที่คุณพ่อไมเกิล โรดริโก ทำพิธีมหาบูชามิสซาอยู่นั้น ท่านก็ถูกสังหาร โดยคำสั่งของนายทุน เจ้าที่ดิน ในบริเวณนั้น จนท่านดับขันธ์ ลงไปในทันที

สำหรับข้าพเจ้า ศาสนธรรมสำคัญเหนือจริยธรรม ก็ตรงที่ ผู้ประพฤติตามคำสอน ของศาสนา มีความเชื่อ ในสิ่งซึ่งสูงสุด ประเสริฐสุด ซึ่งอยู่เหนือการรับรู้ ของสามัญมนุษย์ และศาสนิก จะปลุกมโนธรรมสำนึก ของคนร่วมสมัยได้ แม้เขาจะไม่นับถือ ศาสนาใดๆ เลยก็ตาม ก็ต่อเมื่อ ศาสนิกพวกเรา กระทำการอย่างจริงใจ โดยอาจไม่ต้องใช้คำพูดก็ได้ แต่วิถีชีวิตของเรา ต้องเป็นไปตามแนวทาง แห่งศาสนธรรม คือ การรับใช้ผู้อื่น โดยเฉพาะก็ผู้ซึ่งต่ำต้อย และ ด้อยโอกาส ยิ่งกว่าเรา พร้อมกันนั้น เราก็ไม่เกลียด หรือโกรธ ผู้ซึ่งกดขี่ข่มเหงเรา แม้จนสังหารชีวิต หรือ โพนทะนาว่าร้ายเรา ตลอดจน ทำลายเรา ด้วยประการต่างๆ ถ้าเราทำไม่ได้ถึงขั้นนี้ แสดงว่าเรายังไม่ถึงองค์คุณ ในทางศาสนา เพราะคนไร้ศาสนา ก็ยืนหยัด อยู่ข้างผู้ยากไร้ได้ หากพวกนี้ มักใช้ความรุนแรง ทำลายล้างผู้กดขี่ ในขณะที่ ในทางศาสนา ไม่ว่าพุทธ คริสต์ หรือ อิสลาม สอนให้เรารักทุกๆ คน แม้เราจะรังเกียจบาป แต่เราก็ให้อภัย คนที่ทำบาป หากเราต้องการทำลาย โครงสร้างทางความคิด และทางสังคม ที่ช่วยให้คนเป็นมิจฉาทิฐิ และติดอยู่ในความหน้าไหว้ หลังหลอก เพื่อสร้างความรุนแรง และเอารัด เอาเปรียบไปเรื่อยๆ

ว่าถึงสภาพของสังคมในปัจจุบันอันเรียกว่ายุคสมัยแห่งโลกาภิวัฒน์ด้วยแล้ว ผู้ที่ศรัทธา ในศาสนา จะมุ่งเพียง เพื่อทำความดี และสอนคน ให้เป็นคนดีเท่านั้น ย่อมไม่อาจปลุก มโนธรรม สำนึกขึ้นได้

จะปลุกมโนธรรมสำนึกของคนอื่นๆ ได้ เราต้องปลุกตัวเราให้ตื่นขึ้นก่อน โดยต้องมอง ไปให้ตระหนัก ถึงอุดมการณ์ หรือ ค่านิยม ที่ครอบคลุมสังคม ในปัจจุบัน แล้วตีประเด็น ให้ชัดเป็นข้อๆ ไป ดังนี้ คือ

๑) วิทยาศาสตร์กระแสหลัก ซึ่งอ้างว่าเป็นคำตอบล่าสุดของสังคมร่วมสมัยนั้น ให้โทษ ยิ่งกว่าให้คุณ เพราะนักวิทยาศาสตร์ สามารถพิสูจน์ได้ ก็จำเพาะแต่สิ่งซึ่ง เป็นสสาร หรือวัตถุ ทั้งขบวนการคิด ของนักวิทยาศาสตร์ หรือ นักปรัชญาสมัยใหม่ ก็มีบริบทอันจำกัด อยู่ที่หัวสมอง และ วิธีการแห่งตรรกะ ซึ่งโยงไปในทาง คณิตศาสตร์เท่านั้น

ถ้าตีประเด็นนี้ไม่แตก ศาสนาจะสยบยอมกับวิทยาศาสตร์อย่างเซื่องๆ หาไม่ก็คัดค้าน วิทยาการด้านนี้ อย่างหัวชนฝา ซึ่งผิดทั้งคู่

เมื่อศาสนจักรแห่งกรุงโรมคัดค้านกาลิเลโอ โดยไม่ยอมใช้กล้องโทรทัศน์ส่องดูดาวต่างๆ ในสกลจักรวาล โดยไม่ยอม ละจากทิฐิเดิม ของอริสโตเติล ที่ว่าโลกเป็นศูนย์กลาง ของจักรวาลนั้น บัดนี้ทางศาสนจักร ยอมรับแล้วว่าผิด

อ่านต่อฉบับหน้า

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๔๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๕)