กำไรขาดทุนแท้ของอาริยชน
(ต่อจากฉบับที่ ๑๔๘)
นั่นคือ "สมาธิ"
ของพระพุทธเจ้าแท้ๆนั้น เรียกว่า "สัมมาสมาธิ" อันเป็นข้อที่
๘ ของ "สัมมามรรค" หาใช่ "สมาธิ" ที่เรียกว่า
"สมาธิ" เฉยๆ ดังที่มีกันอยู่ทั่วไป อันได้จากการนั่งหลับตา
เพ่งกสิณ แบบฤาษี เก่าแก่ดั้งเดิม ตามที่ได้พากันหลงเข้าใจผิด ต่อเนื่องกันมา
นานแสนนานนั้นไม่ เพราะเป็น "สัมมาสมาธิ" ที่เกิดจาก การปฏิบัติ
"มรรค ทั้ง ๗ องค์" ดังคำตรัส ของพระพุทธองค์ แน่นอนที่สุด
"การสร้างคน"
ให้มีคุณธรรม ต้องประพฤติปฏิบัติตามที่เน้น "สัมมาทิฏฐิ"
ดังที่ยืนยันมานี้ เป็นผลสำเร็จจริง จึงจะแก้ปัญหาชีวิต แก้ปัญหาเศรษฐกิจ
ล้มเหลวของตน ของครอบครัว และของสังคมได้ เพราะถ้าแม้นปฏิบัติถูกต้อง
ตามหลัก "มรรค มีองค์ ๘" ได้จริง ผลจึงจะเกิด "สัมมา"
ไปหมดทั้ง "มรรค ๘" และ "ผล ๒" (สัมมาญาณ..สัมมาวิมุติ)
ที่สำคัญยิ่งก็คือ
จะเกิด "สัมมาสมาธิ" ซึ่งเป็น"สมาธิ" พิเศษเฉพาะ
ของศาสนาพุทธเท่านั้น อันต่างจาก "สมาธิ" สามัญที่รู้กันทั่วไป
เพราะ "สมาธิ"
สามัญที่รู้กันทั่วไปนั้น จะไม่เกิดผล "สัมมาญาณ..สัมมาวิมุติ"
เป็นอันขาด จึงไม่สามารถ รู้เท่าทันการเป็นอยู่ หรือ การดำเนินชีวิต
ได้อย่างประเสริฐ ในสังคม เมื่อไม่มี "สัมมาญาณ" มีกันแต่
"มิจฉาญาณ" ก็ไม่รู้เท่า รู้ทันสังคม ไม่สามารถทำตน อยู่กับสังคม
อย่างประเสริฐได้ ก็เพราะ "ญาณ" และ" วิมุติ"
ไม่ "สัมมา" แท้จริง
"สัมมาญาณ"
ที่เป็น "วิชชา" ของพระพุทธเจ้านั้น สามารถรู้เท่าทันสังคมที่เป็น
"โลกียะ" และ ไม่เป็นทาสโลกียะนั้นๆ ได้แล้วมั่นคง เพราะมีความเป็น
"โลกุตระ" นั่นเอง จึงสามารถ ดำเนิน ชีวิตอยู่กับสังคม แม้จะเป็นโลกียะได้อย่างประเสริฐ
หรือไม่ถูกโลกียะ ทำให้ทุกข์ร้อน ผู้ไม่มีภูมิ "โลกุตระ"
ไม่มี "สัมมาวิมุติ" มีกันแต่ "มิจฉาวิมุติ" จึงไม่มีสมรรถนะ
ที่จะปฏิบัติให้เกิด "การงาน ที่เป็นอาชีพดี, ถูกต้อง, ถูกถ้วน,
สมบูรณ์, จริง, แท้, โดยชอบ" (สัมมาอาชีวะ) แม้แต่ จะทำนั่น ทำนี่
ก็ไม่เป็น "การกระทำที่ดี, ถูกต้อง, ถูกถ้วน, สมบูรณ์, จริง,
แท้, โดยชอบ" (สัมมากัมมันตะ) การพูดการจาก็ไม่เป็น "การพูดที่ดี,
ถูกต้อง, ถูกถ้วน, สมบูรณ์, จริง, แท้, โดยชอบ" (สัมมาวาจา) การดำรินึกคิดก็ไม่เป็น
"แนวคิดที่ดี, ถูกต้อง, ถูกถ้วน, สมบูรณ์, จริง, แท้, โดยชอบ"
(สัมมาสังกัปปะ) ให้แก่ตนให้แก่สังคม จึงจมไปกับสังคม หรือตกเป็นทาสสังคม
โงหัวไม่ขึ้น หลุดพ้นไม่ได้นั่นเอง ก็ช่วยเหลือเกื้อกูลโลก หรือโลกียะเขา
(โลกานุกัมปา) ไม่ได้
"ความหลุดพ้น"
(วิมุติ) คือ การไม่ติดโลกีย์นั้น เพราะปล่อยวางได้ด้วย "สัมมาวิมุติ
และ สัมมาญาณ" ที่ถูกที่แท้
นี่คือ ประเด็นที่สำคัญมาก
ต้องการยืนยันให้รู้กัน จึงจำเป็นต้องพูดย้ำ พูดซ้ำหลายนัย
"สมาธิ"
สามัญที่ทำกันอยู่ทั่วไปนั้น ไม่ได้บำเพ็ญด้วย "มรรค มีองค์ ๘"
แต่กลับหนีสังคม ไม่รู้เท่าทันสังคม ไม่กล้าหาญกับสังคม เอาแต่หลบไปสะกดจิต
เพ่งกสิณ จึงไม่ใช่ "สัมมาสมาธิ" ที่เป็นอาริยะ ของพระพุทธเจ้า
ก็ย่อมไม่เจริญ พัฒนาไปพร้อมด้วย "การปฏิบัติงานอาชีพ" (อาชีวะ)
"การทำนั่นทำนี่" (กัมมันตะ) "การพูดการจา" (วาจา)
"การดำรินึกคิด" (สังกัปปะ) อย่างประเสริฐ ชนิดปราศจากการเห็นแก่ตัว
หรือ ประเสริฐ เพราะไม่มีกิเลส และ มีความสามารถรู้เท่าทัน ความเป็นโลกีย์
ของสังคมนั้นๆ พร้อมทั้ง "หลุดพ้นความเป็นโลกีย์" นั้นจริง
จึงอยู่ท่ามกลางโลกีย์ ที่มีอำนาจ กับผู้ยัง "ไม่หลุดพ้น"
ได้ ชนิดที่ "โลกีย์" นั้นไม่สามารถทำให้ทุกข์ ให้ลำบากลึกซึ้งยิ่ง
ดังที่อาตมาได้เคยพูดมาแล้วว่า
สังคมทุกวันนี้ "ไม่นิยม หรือไม่เน้นการสร้างคน" ให้มีคุณธรรม
และพ้นทุกข์อาริยสัจ จนประสบผลสำเร็จ "เป็นหลัก"
จะนิยมก็ "การสงเคราะห์คน"
นั่นแหละ "เป็นโก้ เป็นเด่น" "การสร้างคน" ก็แค่มีบ้างเท่านั้น
ไม่ว่าจะเป็น "นักบริหารบ้านเมือง" หรือ "นักธุรกิจ"
แม้แต่ "สำนักศึกษา มหาวิทยาลัย" ตลอดจนกระทั่ง "สำนักศาสนา"
แท้ๆ ก็ "ไม่สร้างคน" ให้มีคุณธรรม และพ้นทุกข์อาริยสัจ
[มีต่อฉบับหน้า]
(เราคิดอะไร
ฉบับที่ ๑๔๙ ธันวาคม ๒๕๔๕)
|