หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >เราคิดอะไร


กำไรขาดทุนแท้ของอาริยชน
(ต่อจากฉบับที่ ๑๕๐)


แต่ถ้าเป็น"สัมมาวิมุติ"แล้ว ผู้มีความหลุดพ้นชนิดนี้ จะหลุดพ้นจากอำนาจของโลกียะ หลุดพ้น จากอำนาจ ของทุนนิยม หลุดพ้นจากอำนาจ ของวัตถุ ที่ชาวทุนนิยม ปรุงแต่งขึ้นมา หลอกล่อ มอมเมา กันอยู่เต็มสังคม และหลุดพ้นจากอำนาจ ของจิตนิยม เช่น รสนิยม ค่านิยม อารมณ์อย่าง โลกียนิยม แม้แต่ปัญญานิยม เป็นต้น จึงอยู่กับสังคมโลกียะ สังคมแบบ ทุนนิยม ได้อย่างดีแท้ ถูกพุทธธรรม เพราะมี "สัมมาญาณ - สัมมาวิมุติ และ สัมมาสมาธิ" ดังกล่าวแล้ว

ดังนั้น เมื่อสร้าง"คน"ให้มีคุณธรรม และพ้นทุกข์ จนประสบผลสำเร็จ "เป็นหลัก" อย่าง "สัมมาทิฏฐิ" ได้แล้วจริง แม้การสร้างรายได้ สร้างทุน หรือวัตถุทรัพย์ อันได้แก่ ลาภ, ยศ, สรรเสริญ, โลกียสุข ที่บอกว่า "เป็นรอง" ผู้มีจิตหลุดพ้นจริง ย่อมไม่ติดไม่หลง จึงไม่ดูดมา ให้แก่ตน แต่จะสร้างอย่างขยันหมั่นเพียร สำหรับตน ก็เอาไว้เพียง พอกินพอใช้ พออาศัย อย่างมีคุณธรรม ของความมักน้อย..สันโดษ เมื่อมีส่วนเหลือ ส่วนเกิน ก็เสียสละออก เพราะ ชาวบุญนิยม มีคติความเชื่อ ที่ชัดเจนว่า การ"ให้แก่ผู้อื่น" เป็นคุณค่า ประโยชน์แท้ ที่ตนมี ตนได้แน่แท้ ความเป็นคน ต้องมีประโยชน์ต่อตน ก็คือ ช่วยตนเองได้ ต่อผู้อื่นก็คือ "ให้แก่ผู้อื่น" ซึ่งจะไม่ใช่ให้แบบแลกเปลี่ยน เอาอะไรอื่น กลับคืนมา ชนิดที่ตนได้เปรียบ ไม่ว่าจะเป็นเงิน หรือเป็นของอื่น เหมือนลัทธิทุนนิยม เด็ดขาด ดังนั้น ชาวบุญนิยมจึง "ให้" จริง ไม่หวงแหน ไม่สะสม กักตุน จะพยายามสะพัด เผื่อแผ่เกื้อกูลออกไป เพื่อมวลมนุษยชาติ อย่างเข้าใจ และ เต็มใจ ที่จะ"ให้" เป็นการสร้าง"บุญ" ยิ่งมากก็ยิ่งดี เท่าที่ฐานะของแต่ละคน จะสามารถ ทำได้

"การสงเคราะห์"ของชาวบุญนิยม แม้จะเรียกว่า "เป็นรอง"แต่ก็"เป็นจริง" จะไม่เต็มไปด้วย เชิงแฝง เหมือนชาวทุนนิยม แม้ในระยะต้น ผู้บรรลุธรรมยังไม่สูง ก็ย่อมเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น ยังไม่ได้มาก เพราะตน ยังลดตัวตน ไม่ได้ดีพอ และส่วนเหลือ จากที่ตนสร้าง ก็ยังไม่มาก แต่เมื่อบรรลุธรรมได้สูง ตัวเอง ก็จะมักน้อย และสันโดษ ได้ยิ่งขึ้น จึงจะเป็นผู้"สงเคราะห์ผู้อื่น "ได้มากกว่า ชาวทุนนิยม ในที่สุด ซึ่งเกิด จากสัจจะ ที่ได้ที่เป็น ตามลำดับที่เหมาะควร ถูกถ้วน สมสัดส่วน เหมาะฐานะ เหมาะกาละ ด้วยนัยประการฉะนี้

เมื่อมีผู้บรรลุมรรคผลพุทธธรรมที่เป็นอาริยะกันจริงๆ รวมเป็นหมู่กลุ่ม หรือคณะสังคมที่เป็น "โลกุตระ" เป็น "อาริยะ" ก็จะมีการดำเนินชีวิต ที่"หลุดพ้นจากทุกข์ภัย "อยู่ท่ามกลาง สังคม ทุนนิยม หรือ สังคมโลกีย์ ที่วิกฤติเลวร้าย ได้อย่างเป็นระบบ ที่เห็นๆ ได้ชัดเจน โดยไม่ต้อง "หลบหนี" ออกไปจากสังคม เอาตัวรอด แบบลัทธิ ฤาษีดาบส แต่กลับจะช่วย "สงเคราะห์ สังคม" อย่างจริงใจ เพราะมี "ทฤษฎีที่ถูกถ้วน" (สัมมาทิฏฐิ) มี"แนวดำรินึกคิด ที่ชอบที่ควร" (สัมมาสังกัปปะ) ไปตลอดจนครบ "มรรค ๘ และผล ๒" ก็ล้วน "สัมมา" กันทั้งหมด

สัมมาทิฏฐินั้น ยังมีคุณลักษณะอีกหลากหลาย ที่ยังไม่ได้กล่าวถึง แต่ก็จะได้รู้จักเพิ่มเติม ขึ้นไปอีกเรื่อยๆ จากการอธิบาย ขยายความ ในข้อที่ ๘ บ้าง ข้อที่ ๙ บ้าง ๑๐ บ้าง ๑๑ บ้าง ต่อๆไป ติดตามอ่านให้ดีๆ ก็แล้วกัน ซึ่งจะมีภาษาที่ยากๆ เข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น แต่อาตมา ก็จะพยายาม อธิบายประกอบ ให้ง่ายๆ เท่าที่สามารถ

[มีต่อฉบับหน้า]

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๕๑ เดือน กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖)