เราคิดอะไร.

เรื่องสั้น - ธารธรรม -

รอยกรรม
( ต่อจากฉบับที่ ๑๕๑ )
"ชีวิตชาวบ้านอย่างพวกเรา จากอดีตจนถึงปัจจุบัน อยู่ในสภาพของปัญหาด้านรายได้ ความยากจน และ ปัญหา ด้านคุณภาพชีวิต ถ้าพ่อเป็นรัฐบาลพ่อจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร?" พี่ชายของข้าพเจ้า เริ่มตั้งให้พ่อ เป็นรัฐบาล กลางครัวเข้าแล้ว

"เอ้อ หึ หึ.....พ่อไม่ใช่นักการเมือง หรือนักวิชาการอะไร จะให้พ่อตอบว่า อย่างไรดีล่ะ" พ่อกล่าว พร้อมเสียง หัวเราะ

"ตอบลูกไปซี ตาเฒ่า ถ้าเป็นรัฐบาลจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร?ชอบ วิเคราะห์ดีนัก"

แม่กล่าวพร้อมกับค้อนสายตา

"เอาเถอะ เมื่อลูกตั้งคำถามมาให้พ่ออย่างนี้ พ่อคนไถนา ก็ต้องตอบอย่างหัวหมูไถนานั่นแหละ พ่อว่าความ สำคัญของการพัฒนาชนบทอยู่ที่การพัฒนาทรัพยากร มนุษย์เป็นสำคัญ รองลงมาได้แก่ การพัฒนาระบบ การบริหารงาน ระบบบริการและระบบสื่อสาร เพื่อพัฒนา ประชาชน ซึ่งจำเป็นต้องมีทิศทางที่ถูกต้อง เหมาะสม ตามความต้องการ ของท้องถิ่น หรือ ชุมชนในท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ปัญหา ระยะยาว การแก้ปัญหา อย่างต่อเนื่องนั้น จะช่วยให้ ต้นตอของปัญหา จะถูกขจัดจนสิ้นเชื้อ โดยที่รัฐไม่ต้องมาซ้ำซาก อยู่กับปัญหาเก่าๆ อีกต่อไป"

"แต่รัฐบาลเขาก็กำหนดแผนพัฒนาประเทศไว้อย่างต่อเนื่องแล้วนี่พ่อ?" พี่นิดกล่าวเชิงถาม

"แผนพัฒนา ประเทศที่รัฐบาลกำหนดซึ่งเป็นแผนพัฒนาต่อเนื่องอยู่เวลานี้ เป็นแผนของ พวกฝรั่ง หัวแดง ให้คำแนะนำ ต่อรัฐบาล ว่าควรจะทำอย่างนั้น พัฒนาอย่างนี้ แต่พ่อว่า คนไทย กับคนฝรั่งนั้น ต่างกัน ปัญหา ต่างๆ ก็ไม่เหมือนกัน แผนของฝรั่ง อาจใช้ไม่ได้ กับคนไทย การที่จะนำเอาแนวคิด หรือ ทางเลือกใด มาใช้ พัฒนาประเทศ จำเป็นต้องคำนึงถึ งสภาพของปัญหา สภาพเศรษฐกิจ และสังคมที่เป็นอยู่ ของแต่ละชุมชน มากกว่า เพื่อที่จะได้ กำหนด แนวทางพัฒนา ให้สอดคล้องกับปัญหา และ สภาพสังคม และ ความต้องการ ของประชาชน ในท้องถิ่นนั้นๆ มากกว่าที่จะเหมาแผนลงพื้นที่" พ่อกล่าวจากความรู้สึก ที่ตรึกตรองอย่าง จริงจัง ก่อนที่จะถอนหายใจแล้วกล่าวต่อ

"พ่อเคยประทับใจนักเศรษฐศาสตร์และนักบริหารชั้นนำของเมืองไทยท่านหนึ่ง ที่เคยพูด ออกอากาศทาง สถานีวิทยุเมื่อไม่นานมานี้ว่า การพัฒนาประเทศต้องพัฒนาสามส่วน คือเศรษฐกิจ สังคมและการ เมือง ไปพร้อมกัน เพราะทั้งสามส่วน ย่อมมี ความเกี่ยวข้อง สัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ถ้าหาก เศรษฐกิจไม่ดี กิจการ ทางสังคม ตลอดจนกระทั่ง การครองชีพ ของแต่ละครอบครัว ย่อมจะดีขึ้นไม่ได้ และถ้าการ เมืองไม่ดี ไม่มี เสรีภาพ ไม่เปิดกว้างทางความคิด ก็ย่อมไม่มีโอกาส ที่จะใช้สมอง อันประเสริฐ ของมนุษย์เรานี้ เพื่อที่จะค้นหา วิธีการที่จะทำให้บ้านเมือง เจริญขึ้นมาได้ หากมัวแต่จำเจ อยู่ในเฉพาะเรื่อง ที่จะพัฒนาแบบ เดียวกัน อยู่เรื่อยๆ ความคิดความอ่าน ในการประกอบการ สิ่งใด ก็ถูกจำกัดไว้ ให้อยู่ ในวงแคบๆ เศรษฐกิจก็ อาจประสบแต่ปัญหา และในที่สุด ก็เกิดความหายนะ" พ่อกล่าว

"ฉันได้อ่านลัทธิการปกครองบางลัทธิโจมตีศาสนาพุทธว่าทำให้ประชาชนงมงาย เป็นศาสนา ที่เหนี่ยวรั้ง หรือ ถ่วงความเจริญ ของบ้านเมือง พ่อว่าจริงมั้ยข้อนี้?" พี่นิดป้อนคำถามอีกข้อ

"ไม่จริงหรอกลูกข้อนี้พ่อยืนยัน ศาสนาพุทธไม่เคยถ่วงความเจริญของบ้านเมือง เว้นแต่ ผู้ที่นับถือ ศาสนา แบบไม่ศึกษา งมงายอยู่กับผีสางนางไม้ อะไรทำนองนั้น

"ถ้าเรานับถือศาสนาพุทธล้วนๆ แล้วจะพบว่าแนวปรัชญาหรือคำสอนทางพุทธ เป็นแนว ปรัชญา ที่ลึกซึ้ง ศาสนาพุทธ สอนให้คนเข้าใจโลก เข้าใจธรรมชาติ เข้าใจสังคม และ เข้าใจ ตนเอง เช่นสอน ให้คน พึ่งตนเอง สอนให้คน มีความพยายาม สอนให้คนรู้จัก วิเคราะห์ปัญหา แก้ปัญหา ให้รู้ว่าอะไรคือความทุกข์ อะไรคือ เหตุแห่งทุกข์ อะไรคือเหตุ แห่งปัญหา เมื่อรู้แล้ว ก็ดับมันเสีย และการดับมันต้องดับที่เหตุ หรือแก้ที่ของมัน และ ในการดับ การแก้ศาสนา พุทธศาสนา สอนให้รู้จักเลือก แนวทางที่เหมาะสม หลักการ วิเคราะห์ ปัญหา และแก้ปัญหานี้ เรียกว่า อริยสัจ ๔

"เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ปรัชญาของพุทธศาสนาไม่ได้สอนให้คนงมงายไร้เหตุผล ไม่ได้สอนให้คนจำ นนต่อปัญหา ท่านทรงให้สาวหาเหตุ แล้วแก้ตรงจุดนั้น "เพราะมันมีสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงมี" ข้อนี้กล่าวสอนไว้ ในหลัก อิทัปปัจจยตา ให้คนที่ศึกษาแนวทางของพุทธแท้ๆ ได้วิเคราะห์เหตุวิเคราะห์ปัจจัย ท่านไม่ได้ ให้คนมีความทุกขเวทนา แล้วไปอ้อนวอน ต่อสิ่ง ไม่มีตัวตน หรือ เทวดาฟ้าดินมาช่วยเหลือเฟือฟาย แต่ประการใด และ ใครที่ เชื่อถือ งมงาย สืบทอดกันมา ในทำนองนี้ พ่อขอสรุปได้เลยว่า ไม่ใช่แก่นแท้ ของศาสนาพุทธ เพราะศาสนาพุทธ ไม่เคยสอนให้คนงมงาย ไร้เหตุผล แต่ความเป็นจริงแล้ว คนงมงาย ประเภทนี้ มีอยู่มาก ศาสนาพุทธ ในชีวิตประจำวันของพี่น้องคนไทยเราส่วนใหญ่ จึงมัก จะเหลือ เพียงด้าน ที่เป็นพิธีกรรม ส่วนเนื้อหา ที่มีคุณค่า กลับถูกละเลย จึงไม่ใช่ เรื่องแปลก ที่ลัทธิอื่น จะสอดแทรกเข้ามา โจมตีได้บ้าง" พ่ออธิบายยืดยาว

"พ่อคิดว่าประเทศไทยปัจจุบันนี้จะมีโอกาสเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ไปเป็นอย่างอื่น อีกมั้ย?" พี่ชาย ยังไม่สิ้นคำถาม

"อืมม์...เรื่องนี้เป็นเรื่องของการเมืองในอนาคตพ่อเองก็ไม่อาจจะตอบลูกได้" พ่อกล่าวในที่สุด สภากลางครัว ก็ยุติลง เมื่อทุกคนอิ่ม และก่อนที่พ่อจะลุก ก็หันมายิ้มให้ข้าพเจ้า พร้อมกับ เอ่ยปากถาม ด้วยความเป็นห่วง "เอาข้าวให้แมวหรือยังลูก ? "

"ยังครับพ่อ"

"แม่คลุกข้าวให้แมวซิ" พ่อหันไปกล่าวกับแม่

"แมวเมิวที่ไหน..." แม่กล่าวพร้อมกับเก็บถ้วยชามลงกะละมัง อย่างไม่สนใจ

แต่ขณะเดียวกันเสียงร้องเหมียวๆ ก็ดังมาให้ได้ยิน โดยมีแม่นำหน้า พากันเดินเข้ามา ที่ครัว ทั้งฝูง เมื่อได้ยิน เสียงดูเหมือนแม่ชะงักนิดหนึ่ง อย่างสงสัย แต่ก็ไม่พูดอะไร แล้วแม่ ก็หันไป จับไม้กวาด มาปัดกวาด เศษขยะ อาการเหมือนไม่สนใจ ส่วนพ่อ ไม่กล่าวอะไรต่อ เพียงเดิน ไปหยิบจาน มาตักข้าว คลุกเคล้า ด้วยเศษอาหาร ที่เหลือค้างถ้วย พ่อยื่นให้ข้าพเจ้า "เอาไปให้แมวซิลูก" แล้วพ่อ ก็หันไปที่ตุ่ม ตักน้ำล้างมือ ข้าพเจ้าเดินถือจานข้าว ปากก็ร้องเรียก เหมียวๆ เจ้าพวกมัน ก็ส่งเสียงร้อง วิ่งตามกัน เป็นพรวน เมื่อเข้ามาใกล้ขา ต่างก็เอาหัวถูทอ ข้อเท้าของข้าพเจ้าอยู่ไปมา แมวเมื่อมันหิว มันจะรู้จักเอาใจ เจ้าของ เป็นพิเศษ

"เอาไปให้มันกินเร็วๆ เข้า จะได้ไปหลับไปนอน มัวแต่เล่นกับมันอยู่นั่นแหละ" แม่กล่าวเหมือน เกิดความ รำคาญ ในความรู้สึก ของข้าพเจ้า

ตอนนี้ แมวกับแม่เหมือนจะเป็นศัตรูกันเสียแล้วส่วนพ่อนั้นเมื่อกินข้าวเสร็จก็ออกมานั่งพักผ่อน รับลมโชย มาเย็นๆ อยู่ที่ระเบียง ส่วนแม่หลังจากเสร็จงานครัว ก็ออกมากางมุ้ง ปูที่หลับที่นอน จากนั้น จึงลงไป ข้างล่าง ก่อไฟไล่ยุงให้ควายที่คอก เสร็จสิ้นหมดทุกอย่าง แม่จึงจะเข้านอน ข้าพเจ้า รีบเข้านอน ตามคำสั่ง ของแม่ก่อน ใครๆ

สำหรับพี่นิดพี่ชายคนโปรดของข้าพเจ้าหลังจากกินข้าวเย็นแล้วก็รีบเข้าห้องนอนอ่านหนังสือ เป็นประจำวัน เพราะพี่นิด ชอบอ่านหนังสือมาก แต่ไม่มีโอกาสได้เรียนสูงๆ กับเขา เพราะฐานะ ทางครอบครัว ไม่อำนวย ข้าพเจ้า จำได้ว่า หนังสือที่พี่นิดชอบอ่าน คือหนังสือ ที่เกี่ยวกับ การบ้านการเมือง และหนังสือ เกี่ยวกับลัทธิ ระบอบการปกครองต่างๆ เช่น เหมา มาร์กซิสต์

รุ่งขึ้นวันใหม่ พ่อตื่นแต่เช้าเหมือนเคย เอาผ้าขาวม้าคาด เอวเหน็บมีดตอก บ่าแบกจอบ มือถือตอกมัดกล้า ออกเดินนำหน้าไปก่อน โดยพี่นิดแบกคันไถไล่ควาย เดินตามหลัง สำหรับ ข้าพเจ้า หลังจากตื่นมา หน้ายัง ไม่ทันได้ล้าง ก็ถือโอกาส ตอนแม่เผลอๆ เดินเลียบๆ เคียงๆ ไปดูแมว หันไปดูที่ครัว เห็นแม่ไม่อยู่ ก็ถือโอกาส นั่งเล่นกับแมว เสียพักหนึ่ง เวลาเดียวกัน สายตาต้องระวัง การกลับมาจากสวน ของแม่ด้วย เพราะเกิด แม่มาเห็นเข้า แล้วไม่พอใจ

ตอนเช้าๆ แม่จะเข้าสวนทุกวันเพื่อหาเก็บพืชผักต่างๆ มาทำอาหารไปส่งพ่อ กับพี่ชายที่นา ในเช้าวันนั้น แม่ไปไม่นาน ก็กลับมา พร้อมกับหอบหิ้ว เอาของมา พะรุงพะรัง มีทั้งยอดฟักทอง ข้าวโพด หัวเผือก แตงอ่อน และ ฝักถั่ว เต็มตะกร้า ข้าพเจ้ารีบลุกไปรับเอาตะกร้า แต่แม่ โบกมือห้าม โดยบอกว่า "มันหนัก ลูกรับไม่ไหวแน่" แต่ประเดี๋ยว แม่ก็เรียกใช้ "น้อยเอ๊ย..... ไปเอาถุงปุ๋ย ที่บ้านป้าพินมาให้แม่หน่อย เร็วๆ นะ"

"ครับแม่.." ข้าพเจ้าตอบรับแล้วรีบไป

บ้านป้าพินอยู่ห่างจากบ้านข้าพเจ้าพอสมควร กว่าจะไปขอยืมถุงปุ๋ยป้าพินกลับมาถึงบ้าน ก็เกือบสี่โมงเช้า เมื่อมาถึง ก็เห็นแม่เตรียมหม้อข้าวหม้อแกง ใส่กระจาดหาบ เตรียมที่จะไป ส่งอาหารพ่อ ที่นาเรียบร้อยแล้ว และวันนั้น เป็นวันหยุดประจำสัปดาห์ ข้าพเจ้า ไม่ได้ไป โรงเรียน แม่จึงพาข้าพเจ้าไปนาด้วย

พอมาถึง แม่ก็เอ่ย ถาม "ได้มั้ยลูก?"

ข้าพเจ้าก็ยื่นถุงให้ แม่รีบรับเอาถุงปุ๋ยแล้วไต่บันไดขึ้นบ้าน โดยที่ข้าพเจ้ายืนเฝ้า หาบสัมภาระ ระวัง สุนัขเข้า มาคว่ำ หม้อข้าว หม้อแกงเสียหาย สักครู่ แม่ก็หิ้วถุงมา ได้ยินเสียงร้องเหมียวๆ อยู่ภายใน ข้าพเจ้าสงสัย จึงเอ่ยถาม

"แม่จะเอาแมวไปนาด้วยรึ?"

"จ้ะ เอามันไปด้วย.." แม่ตอบ แล้วยื่นถุงใส่แมว ให้ข้าพเจ้าเป็นผู้ถือ "ถือเอาลูก.."

"ครับแม่.." ข้าพเจ้าสุดแสนจะดีใจ และตื่นเต้นเอามากๆ เพราะให้พาแมวไปเล่นที่นาด้วย

ข้าพเจ้ายกถุงลูกแมวขึ้นพาดบ่า เดินตามหลังแม่ไปติดๆ เสียงแมวน้อยสี่ตัว ร้องเหมียว เหมียว อยู่ในถุง "อดทนเอานะเหมียว เดี๋ยวไปถึงทุ่งนา จะปล่อยให้วิ่งเล่น อย่างสนุก สนานเลย" ข้าพเจ้ารำพึงอยู่ในใจทาง จากบ้าน ไปหาทุ่งนานั้น ไกลเกือบห้ากิโล ตลอดสอง ฟากทาง ยังมีป่าดงอยู่เป็นช่วงๆ กว่าจะถึงทุ่งนา ซึ่งเป็นที่ราบลุ่ม ก็ต้องผ่านป่าดง และ สวนยางพาราปลูกใหม่ หลายเจ้าของ เมื่อได้ยินเสียงลูกแมว ส่งเสียงร้อง ก็นึก อยากจะวาง ลงเล่นกับมัน แต่แม่ก็ร้องเรียก ให้เดินเร็วๆ เมื่อเดินทางจากบ้าน มาได้สาม กิโลเมตรเศษๆ เห็นจะ ได้ ก็ต้องผ่านป่าใหญ่ ซึ่งสมัยนั้น เจ้าของยังไม่ทันแผ้วถาง เพื่อทำประโยชน์ใดๆ เข้าเขตป่ายังได้ยินเสียงนก เสียงกระแต ร้องทัก เค็ก เค็ก แล้วกระโดด ไต่กิ่งไม้ ลับหาย เข้าป่า

ข้าพเจ้าก็เพลินไปกับการดูนั่นดูนี่ บางครั้งก็ได้ยินเสียงนกกะลางหัวขาวฝูงใหญ่ ส่งเสียงร้อง อยู่กวางๆ รับกัน เป็นทอดๆ แม่หยุดยืน แล้วหันมากล่าวว่า

"ลูกแบกถุงแมวมาไกล คงจะเหนื่อยสิท่า แก้ถุงออกแล้วปล่อยมัน ตรงนั้นแหละลูก กว่าจะถึงนา เรายังต้อง เดินอีกไกลนะ" เสียงแม่กล่าวแนะนำ

"ปล่อยมันทำไมแม่ ยังไม่ถึงนาเลย" ข้าพเจ้าสงสัย

"ปล่อยเถอะ ให้มันวิ่งเล่นอยู่แถวนี้แหละ ตอนเย็น เราค่อยมารับมันกลับบ้าน" แม่กำชับ

"ไม่ครับแม่ ผมไม่เหนื่อย เอามันไปด้วยสนุกดี" ข้าพเจ้ายืนกราน ไม่ปล่อยท่าเดียว

"ไอ้น้อยนี่ พูดฟังไม่รู้เรื่อง แม่บอกให้ปล่อยก็ปล่อยสิ ทำไมต้องรั้นกับแม่ด้วยหือ?" แม่เริ่ม อารมณ์เสีย

"ผมไม่อยากปล่อยครับแม่ อยากพามันไปเล่นที่นาด้วย ฮือ ฮือ.. "ข้าพเจ้าร้องไห้ พร้อมกับ มองดูแมวในถุง ซึ่งต่างส่งเสียงร้อง อย่างน่าสงสาร

"แม่บอกแล้วไงว่า ตอนเย็นเราค่อยมารับมันกลับ ปล่อยให้มันเล่น หากินอยู่แถวนี้ก่อน..." เสียงแม่อ่อนลง นิดหน่อย

ข้าพเจ้ายืนร้องไห้ ไม่ยอมปล่อยท่าเดียว ในที่สุด แม่ก็ใช้มาตรการเด็ดขาด เดินไปหักกิ่งไม้ ริมทาง พร้อมกับ ตะคอกเสียงดุใส่

"จะปล่อยหรือไม่ปล่อย หือ ไอ้น้อย?" ว่าแล้วแม่ก็ถือไม้เรียว เดินรี่เข้ามาหา

"ปล่อยมันเดี๋ยวนี้นะ ไม่งั้นแม่จะตีให้ขาหัก..."

เมื่อเห็นแม่เงื้อไม้เรียวขึ้นสุดแขน ข้าพเจ้าก็ต้องรีบวางถุงลงกับพื้นดิน เพราะกลัวเจ็บ แม่ไม่เคย พูดเล่น ว่าตีก็ตี

"ดึงถุงเข้าไปปล่อยข้างทางเร็วๆ เข้า" แม่ออกคำสั่ง

ข้าพเจ้าทั้งร้องไห้ ทั้งดึงถุงเข้าหาทางเดิน แล้วแก้ปากถุงออกเททั้งน้ำตา ลูกแมวน้อยๆ สี่ตัว ถูกเทออก จากถุง เดินออก ตัวละทิศละทาง พร้อมกับส่งเสียงร้อง เหมียวๆ กันตัวละทิศละที่ พวกมันคงแปลกใจว่า ที่นี่เป็นที่ไหนไ ม่คุ้นเคย เมื่อมันหันมาเห็นข้าพเจ้า ก็รีบวิ่งเข้ามาหา

แม่รีบออกคำสั่งให้ข้าพเจ้ารีบถอยออกมา
"ปล่อยแล้วก็ออกมาเร็วๆ ไปยืนเฝ้ามันอยู่นั่นแหละ แดดมันร้อนนะ"

ข้าพเจ้าสงสารลูกแมวจนก้าวขาไม่ออก ได้แต่ยืนร้องไห้ จนแม่ต้องเดินมากระชากแขน แล้วบังคับ ด้วยไม้เรียว ให้เดินออกหน้า อย่างรวดเร็ว ข้าพเจ้า เดินสะอื้นไป ตลอดทาง

เมื่อมาถึงนา แม่วางหาบอาหารไว้บนห้าง ขณะนั้นพ่อปล่อยไถแล้ว พี่นิดยืนถือเชือก ให้ควาย เล็มหญ้า อยู่บนคันนา ส่วนพ่อแบกจอบ ไปหาขุดดิน อัดร่องน้ำ อัดช่องคันนาขาด เมื่อพ่อ เหลือบมา เห็นแม่ กับข้าพเจ้ามาถึง แล้วก็วางจอบ เดินลงร่องน้ำ ล้างมือ ล้างขา ถูตรงนั้น ตรงนี้ เห็นว่า ไม่เปรอะเปื้อน ขี้โคลนแล้ว ก็กวักน้ำขึ้น ล้างหน้า วักน้ำเข้าปาก อมเขย่าขลุกๆ แล้วบ้วนทิ้ง จากนั้น ก็ขึ้นจากร่องน้ำ จับเอาจอบแบก เดินมาห้าง เห็นปู ก้ามโง้ง พ่อรีบจับ หักเอาก้าม มาให้ข้าพเจ้า "นี่ก้ามปูลูก" พ่อกล่าว กับข้าพเจ้า อย่างยิ้มแย้ม ไม่มีร่องรอย ของ ความเหน็ดเหนื่อย ก่อนที่จะหันไปเรียกพี่ชาย อย่างใจเย็น

"นิดเอ๊ย..เอาควายไปผูกไว้ก่อน แล้วมากินข้าวกันเถอะลูก" พ่อเรียกพี่นิด แล้วหันมาทางแม่
"วันนี้แม่เรา ได้อะไรมากินหือ ไอ้น้อย?"

"ลวกผัก น้ำพริกปลาทูกับแกงเผือก" พ่อถามข้าพเจ้า แต่แม่เป็นคนตอบ เพราะข้าพเจ้ายืน
หน้างอ ไม่พูด ไม่จาอะไร

"อ้าว ไอ้น้อย ทำไมถึงยืนหน้าบูดอยู่ล่ะลูก ?" พอได้ยินพ่อทัก ข้าพเจ้าก็ปล่อยสะอื้น ออกมาอีก

"ฮือ ฮือ.." พร้อมกับยกหลังมือขึ้นปาดน้ำตา

"ร้องไห้ทำไมล่ะลูก หือ?" พ่อเดินเข้ามาปลอบ

"แม่ทำอะไรลูกล่ะ ถึงได้ร้องไห้" หันไปถามแม่

"ใครจะไปทำอะไรมัน อยากเอาแมวมาเล่นด้วย แม่ไม่ให้เอามาก็ไม่ยอม รั้นอยู่ท่าเดียว แม่เอา ไม้เรียวขู่มัน ก็เลยร้องไห้ มาตลอดทาง" แม่กล่าว

"อ๋อ เรื่องเท่านี้เอง แค่ไม่ให้เอาแมวมาเล่นด้วย ก็ร้องไห้เอาเสียยกใหญ่เลยนะ

เดี๋ยวตอนเย็นค่อยกลับไปเล่นมันก็ได้นี่ลูก เดี๋ยวตอนบ่ายๆ แม่ก็พาลูกกลับแล้ว ไปกินข้าว กับพ่อ นั่นเห็น ไหมแม่ตักข้าวให้แล้ว" พ่อปลอบแบบเอาใจ จนแม่ต้องหันมาค้อน

"ไปปลอบมันทำไม ปล่อยให้มันยืนร้องไห้ตากแดดอยู่นั่นแหละ เดี๋ยวแม่จะเอาไม้เรียวให้มัน
กินแทนข้าว มันจะได้อิ่มนาน" แม่กล่าวประชด

"แม่กับน้องผิดใจกันเพราะเรื่องแมวนี่แหละฉันว่า" พี่นิดกล่าวเบา ๆ

ข้าพเจ้าอยากจะบอกกับพ่อเหลือเกินว่าแม่ให้ปล่อยแมวไว้ที่กลางป่าทางมานานี่เอง แต่เห็นแม่ ทำนัยน์ตาดุ ก็เลยไม่กล้าเอ่ยปากพูด เพราะกลัวถูกตี

ตลอดบ่ายจนถึงค่ำวันนั้น พ่อกับแม่ลงไปถอนกล้าเพื่อจะเอาไว้ดำในวันรุ่งขึ้น ส่วนพี่นิด เอาควายลงไถ และ คราด สำหรับข้าพเจ้า ก็นั่งเหงา อยู่ที่ห้างตามลำพัง

แม่ห้ามไม่ให้ลงไปเล่นในท้องร่องเพราะกลัวตากแดด จึงกำหนดบริเวณ ให้อยู่แต่ภายในห้าง เท่านั้น ใจก็คิด เป็นห่วงแต่แมว กลัวว่า มันจะเข้าป่า หลงทาง ตอนขากลับ จะหาไม่พบ มันคงต้อง อดกินข้าวแน่ๆ เลย

อ่านต่อฉบับหน้า

(เราคิดอะไร ปีที่ ๙ ฉบับที่ ๑๕๒ มีนาคม ๒๕๔๖)