>เราคิดอะไร

การฟื้นฟูพระศาสนา จากหายนะสู่วัฒนะ
- ส.ศิวรักษ์ -
*ปาฐกถา เนื่องในโอกาสครบ ๖ รอบนักษัตร พระครูพิพิธประชานาถ (หลวงพ่อนาน สุทฺธสีโล)
วันเสาร์ที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๔๔ ณ ห้องจุมภฎ-พันธุ์ทิพย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

(ต่อจากฉบับที่ ๑๕๔)

อาศัยญาณบารมีที่เจริญสมาธิภาวนาเป็นขั้นๆ โดยเริ่มง่ายๆ จากการติดตามลมหายใจ โดยสลัดความคิด ทิ้งเสีย หากให้สติเกิดขึ้นอย่างรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ในปัจจุบัน

จากจุดนี้เอง เราอาจเปลี่ยนนิสัย สันดาน แม้จนมิจฉาทิฐิ ที่ติดอยู่ในค่านิยมของสังคมร่วมสมัยเสียได้ และ ถ้าสมาธิ ภาวนาดังกล่าวอาจช่วยคนใกล้เคียงให้เข้าสู่ญาณบารมีได้ด้วย ความเป็นกัลยาณมิตร ย่อม จัก เกิดขึ้น แม้จะต้องเผชิญอุปสรรคใดๆ ใหญ่โตเพียงไหน ก็จะไม่หลีกลี้หนีไปเสีย หากเผชิญกับทุกขสัจนั้นๆ อย่างรู้เท่าทันด้วยการสาว หาเหตุแห่งทุกข์ให้ได้และรู้จักดับทุกข์ตามแนวทางของ อารยางอัษฎางคิกมรรค หาไม่ก็นำเอาทานบารมี ศีลบารมี ขันติบารมี และวิริยะบารมีมาเป็นอุปกรณ์ในการขจัดทุกข์โรคภัยต่างๆ

ผลของญาณบารมี ย่อมช่วยให้เรามีสติอยู่เสมอไป ให้เห็นอะไรๆ อย่างชัดเจนอย่างเป็นองค์รวม อย่างรู้ตัว ทั่วพร้อม และยินดีเผชิญปัญหาต่างๆ อย่างเบิกบาน อย่างรู้เท่ากันยิ่งเราสำนึกได้ว่า เรามีพุทธภาวะ อยู่ใน ตน จะไปกลัวเกรงอะไรกับมาร ดังศัพท์ในทางมหายานใช้คำว่า ตถาคตครรภ หรือเรามีความเป็น เช่นนั้นเอง อยู่ในท้องของเราทุกคนนั้นแล

๖)ปัญญาบารมี หรือปรัชญาปารมิตา
บารมีทั้งห้าที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น ถือว่าเป็นสัมพัทธภาพ มีการโยงใยถึงกันระหว่างผู้ปฏิบัติธรรม ซึ่งสมาทาน โพธิสัตวมรรคกับอีกฝ่าย ซึ่งอาจเป็นหนึ่งเดียวหรือรวมทั้งสรรพ-สัตว์ที่เผชิญความทุกข์อยู่ ผู้ปฏิบัติธรรม อาจ ช่วยเกื้อกูล ผู้อื่น และสัตว์อื่นได้บ้าง โดยที่ปัญญาบารมี หรือปรัชญาปารมิตา นี้ถือว่า เป็นปรมัตถ ประโยชน์อย่างสูงสุด ไม่มีการแบ่งแยก ระหว่างเรากับเขา ปราศจากความเป็นทวิภาค หากเข้าถึงธรรมชาติ ที่แท้ เพื่อเข้าถึงสภาวะ อันปลอดไป จากความนึกคิด ไม่มีอีกแล้วในเรื่องผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ โดยเข้าถึง สภาวะแห่งสุญตา ซึ่งก็คือสาระของสรรพสิ่ง

ถ้าปราศจากปัญญาบารมีเสียแล้ว บารมีห้าขั้นแรกก็เป็นไปดังหนึ่งกิจกรรม สำหรับคนตาบอด เท่านั้น โดยที่ ขั้นสุดท้าย นี้เป็นตัวนำดุจดังแสงสว่าง ที่พาบารมีทั้งห้าให้กระจ่างขึ้นให้ทำกิจต่างๆ อย่างกระชับ และ แม่น ยำ ท่านเปรียบเทียบว่า พระเจ้าจักรพรรดิ เสด็จออกสงคราม ด้วยจาตุรงคเสนา เปรียบเทียบได้ว่า บารมีทั้งห้า ก็ ดุจดังจา ตุรงคเสนานั้นเอง โดยปัญญาบารมีคือ องค์พระจักรพรรดิ ผู้เป็นจอมทัพ ถ้าปราศจาก พระองค์ท่าน เสียแล้ว กองทัพจักได้ชัยชนะล่ะหรือ

นี้ฉันใด ปัญญาบารมีก็ฉันนั้น เพราะปัญญาบารมีช่วยให้เห็นสภาพการณ์ต่างๆ อย่างกระจ่างชัด เมื่อใช้ ทาน ศีล ขันติ วิริยะ และสมาธิ อย่างบรรสานสอดคล้องกันด้วยความเหมาะสมกลมกลืนกัน ไม่ใช่บารมี อย่างหนึ่ง อย่างใดเกินไป หรือน้อยเกินไป

อนึ่ง การเข้าถึงปรัชญาบารมี ช่วยให้ผู้ประพฤติธรรมเข้าใจถึงวิสุทธิทั้งสามขั้นตอนอีกด้วย เช่น ทาน การให้ ถ้าผู้ให้โดยคิดถึงตน ในฐานะผู้ให้ โดยมีผู้รับ การให้ดังกล่าวถือว่า เป็นทานอย่างธรรมดา หาใช่ทานบารมีไม่ แม้การให้ดังกล่าว ย่อมอำนวยประโยชน์ แก่ทั้งผู้ให้และผู้รับก็ตาม แต่ถ้าใช้วิธีของวิสุทธิ ทั้งสามแล้วไซร้ ผู้ที่สมาทาน โพธิสัตวธรรมบารมี ต้องฝึกใจไว้ว่า ไม่มีผู้ให้ ไม่มีผู้รับ และไม่มีการให้ คือให้อย่างไม่มีแนวคิด เกี่ยวกับการให้ อยู่ในกิจกรรมนั้นๆ เลย อย่างไม่มีความคิด ในเรื่องการให้ อยู่ในหัวสมอง ด้วยประการใดๆ ปัญญา เกิดขึ้นมาเอง ว่าการให้เป็นการแสดงออก ของทานบารมี ตามที่เราแต่ละคน มีพุทธสภาวะ อยู่ในตน การให้จึงเป็นไป โดยไม่มีการนึกคิด หรือตรึกตรองใดๆ สิ้น นับเป็นทานอันบริสุทธิ์ อย่างแท้จริง

ที่กล่าวถึงบารมีทั้งหกของมหายานทั้งหมดนั้น เก็บความมาจากข้อเขียนของกัลยาณมิตรชื่อ เรย์นัล เรย์ ซึ่งสอนหนังสืออยู่ด้วยกันกับข้าพเจ้า ณ มหาวิทยาลัย นาโรปะในสหรัฐเรื่อง Indestructible Truth ใช่ว่า ข้าพเจ้าจะเข้าถึงโพธิสัตวธรรมบารมีดังกล่าวก็หาไม่ หากอยากเตือนใจพวกเราว่าบารมีทั้ง ๑๐ ของเรา เคยเป็น เนื้อหาสาระ ที่พาพวกเรา ให้เข้าถึงอุดมคติ ในพุทธศาสนา มานานนักแล้ว รับฟังบางอย่าง ของ มหายานเ ขา เพื่อเอามาเปรียบเทียบกับของเรา เพื่อเข้าหาภูมิปัญญาเดิม ของบรรพชนของเรา คงช่วยให้เรา ถอนตัวออกได้ จากหายนภัย ที่เป็นอยู่กับพุทธศาสนาเวลานี้ โดยที่พระมหาเถระ โดยเฉพาะ ก็ในวงการของ พระสังฆาธิการ ชั้นสูงนั้น ไม่แน่ใจว่า ท่านมุ่งปัญญาบารมีกัน มากน้อยเพียงใด ถ้าขาดหัวใจ ในข้อนี้ไป ทั้งยังขาด สมาธิภาวนา ด้วยแล้วไซร้ สีลสิกขา ก็จะเป็นเพียง เครื่องร้อยรัด ดุจดัง สีลัพพตปรามาส ที่ทำให้ ติดยึดในยศ ในศักดิ์ ในอำนาจ และเงินตรา ตลอดจน ความสะดวกสบาย ซึ่งล้วนเป็นหายภัยทั้งสิ้น

ถ้าศีล สมาธิ และปัญญาบกพร่อง จะทำให้ท่านนั้นๆ กล้าๆ กลัวๆ ไม่กล้าเผชิญหน้ากับทุกขสัจ ไม่กล้า เพียงแม้เพียงพูด วาจาสัตย์ ที่ขัดกับความนิยม ของคนใหญ่คนโต ในสังคมร่วมสมัย นี้แลคือ เหตุ แห่ง ความเสื่อม ที่สำคัญ

ถ้าพระและอุบาสกอุบาสิกาของเรา จะหันกลับมาหาบารมีธรรมทั้ง ๑๐ ของเราหรือทั้งหก ของมหายานเขา ก็จะช่วยให้เราถอนตนขึ้นได้ จากหายนภัย ในบัดนี้ โดยเริ่มได้ง่ายๆ จากสมถภาวนา และ วิปัสสนาภาวนา ซึ่งจักช่วยให้ เราเกิดความเบิกบาน อาจหาญ อย่างโยงหัวใจมานำหัวสมอง ให้มองเห็นอันตราย ของ อัตวาทุปาทาน หากเห็นคุณประโยชน์ ของการให้ ยิ่งกว่าการรับ (ทาน) ของความเป็นปกติ ในตัวเรา และสังคมรอบๆ เราให้เกิดความยุติธรรม ทางสังคม (ศีล)

นี่ก็คือเอาทาน ศีล ภาวนา กลับมาเป็นเป้าเพื่อเข้าถึงความวัฒนาสถาพร ดังคำว่า ภาวนานั้น มีคุณค่า ยิ่งกว่า กล่าวว่า วัฒนาหรือพัฒนาเป็นไหนๆ โดยเราต้องเข้าใจว่า ภาวนาหมายถึง

๑.กายภาวนา (การเจริญกาย พัฒนากาย การฝึกอบรมกาย ให้รู้จักติดต่อเกี่ยวข้องกับสิ่งทั้งหลายภายนอก ทางอินทรีย์ ห้าด้วยดี และปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านั้นในทางที่เป็นคุณมิให้เกิดโทษ ให้กุศลธรรมงอกงาม ให้ อกุศล ธรรมเสื่อมสูญ การพัฒนาความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ)

๒. สีลภาวนา (การเจริญศีล พัฒนาความประพฤติ การฝึกอบรมศีล ให้ตัวอยู่ในระเบียบวินัย ไม่เบียดเบียน หรือ ก่อความเดือดร้อน เสียหาย อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ด้วยดี เกื้อกูลแก่กัน)

๓. จิตตภาวนา (การเจริญจิต พัฒนาจิต การฝึกอบรมจิตใจ ให้เข้มแข็งมั่นคง เจริญงอกงามด้วยคุณธรรม ทั้งหลายเช่น เมตตา กรุณา ขยันหมั่นเพียรอดทน มีสมาธิและสดชื่นเบิกบาน เป็นสุขผ่องใส เป็นต้น)

๔. ปัญญาภาวนา (การเจริญปัญญา พัฒนาปัญญา การฝึกอบรมปัญญา ให้รู้เข้าใจสิ่งทั้งหลาย ตาม ความเป็นจริง รู้เท่าทัน เห็นแจ้งโลกและชีวิตตามสภาวะ สามารถทำจิตใจให้เป็นอิสระ ทำตนให้บริสุทธิ์ จากกิเลส และปลอดพ้นจากความทุกข์ แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ด้วยปัญญา)

ในบาลี ท่านแสดงภาวนา ๔ นี้ในรูปที่เป็นคุณบทของบุคคล จึงเป็น ภาวิตกาย ภาวิตศีล ภาวิตจิต ภาวิต ปัญญา (ผู้ได้เจริญกาย ศีล จิต และปัญญาแล้ว) บุคคลที่มีคุณสมบัติ ชุดนี้ครบถ้วน ย่อมเป็น พระอรหันต์

อีกนัยหนึ่ง ภาวนาในแง่ของเรา ก็รวมตลอดหมด ทั้งทางกาย ทางจิต ทางสังคม (สีล) และปัญญา และ โดยเนื้อหาสาระแล้ว ก็ไม่ขัดกับโพธิสัตวธรรมบารมี ของฝ่ายมหายาน เป็นแต่เขาอธิบาย กว้างขวาง ออกไป และในบางแง่มุม ลุ่มลึกลงไป อย่างควรแก่การรับฟัง อย่างยิ่ง

หากการบรรยายมาทั้งหมดนี้ ถ้าจะมีประโยชน์ ผู้ฟังน่าจะนำไปตรึกตรองแล้วหาทางคิดร่วมกัน พูดจา หารือกัน จนเป็นการกระทำร่วมกัน ในหมู่กัลยาณมิตร แม้จะนอกแวดวง ของกลุ่มเสขิยธรรม ออกไป ก็ยังได้ ซึ่งรวมถึง เครือข่ายชาวพุทธ เพื่อพุทธศาสนา และสังคมไทย กลุ่มพุทธศาสน์เพื่อสังคม และผู้คน ในแวดวง ของคณะ กรรมการศาสนา เพื่อการพัฒนา ซึ่งรวมถึงศาสนิกเหล่าอื่นด้วย โดยเราไม่ถือว่า เขานั้นๆ ด้อยกว่าเรา หรือเป็นบุคคลนอก ที่ต่างไปจากเรา ถ้าเราเป็นกัลยาณมิตร ของกันและกัน เราย่อม ร่วมกัน เจริญบารมีธรรม เท่าที่จะทำได้ จากสามัญบารมี ขึ้นสู่อุปบารมี จนถึง ปรมัตถบารมี ในที่สุด

ถ้าเป็นเช่นนี้แล้วไซร้ หายนภัยในปัจจุบัน อันเป็นสนิมที่เกาะแน่นอยู่ในสถาบันหลักของ พุทธศาสนาไทย ก็จะเป็น ตัวบ่งชี้ ให้พวกเราที่รู้จักวางท่าที อย่างถูกต้อง เพราะคนในกระแสหลัก รวมทั้งผู้ทรง สมณศักดิ์สูง ที่หลงในยศ ในอำนาจ และในความรู้แค่หางอึ่ง อย่างปราศจาก โยนิโสมนสิการ ก็ต้องปล่อยให้เขา ล่มลงไป โดยที่นี่ ไม่ใช่ครั้งแรก ดังเมื่อตอน ก่อนกรุงแตก ในปี ๒๓๑๐ สภาพของคณะสงฆ์ ในสถาบันหลัก ก็คงไม่ดี ไปกว่า เวลานี้มากนัก แม้เวลานั้น ลัทธิบริโภคนิยม ยังไม่มี ทุนนิยมยังไม่แข็งกล้า แต่เจ้ากู ก็ติดใน ไสยเวท วิทยา กันมิใช่น้อย เฉกเช่น การปลาสนาไป ของคณะสงฆ์ ในลังกาทวีป ในสมัยพระเจ้าบรมโกศ ก็เช่นกัน แม้จนการล่มสลาย ของพระพุทธศาสนา ในชมภูทวีป ก็ส่อเค้า แต่ก่อนการรุกราน ของพวกมุสลิม ด้วยซ้ำไป

และแล้วบัดนี้ พุทธศาสนาก็มีทีท่าแห่งการฟื้นฟูขึ้น แม้ในชมภูทวีป โดยอาศัยการกดขี่ อย่างเลวร้าย ของสินธูธรรม ที่ทำให้เกิดบุคคลอย่าง นายแอมเบตก้า ขึ้นจากวรรณะจัณฑาล จนคนจัณฑาล จำนวน มหาศาล หันมาสมาทาน พระพุทธศาสนา แม้จะยังขาดไตรสิกขาอยู่มาก ก็มีทางที่จะช่วย กันพยุง ให้ กระเตื้อง ขึ้นได้ ยิ่งจีนทำลายล้าง พุทธศาสนาในธิเบต องค์พระประมุข และ พุทธศาสนิก จากประเทศนั้น ได้นำ แสงธรรมกลับมา สู่ชมภูทวีป เป็นเหตุให้ชนชั้นนำ ในประเทศนั้น หันคืนกลับ มาสู่พุทธศาสนา อย่างน่าชื่นชม เป็นจำนวน มิใช้น้อย มิไยต้องเอ่ยถึง การแผ่พระศาสนา ไปในประเทศต่างๆ ทางอัษฎงคต

ถึงสถาบันหลักในทางพุทศาสนาของไทยจะไม่ฟื้นขึ้นมาได้ง่ายๆ ตราบใดที่เรายังมีอลัชชี และ สมี อยู่ในวงการ พระมหาเถระชั้นสูง หาไม่เราก็มีแต่พระสังฆาธิการ ที่มีแต่ความกล้าๆ กลัวๆ หรือ กลัวยิ่งกว่ากล้า ที่จะเจริญเนกขัมปฏิปทา อย่างโยงใยไปถึงบารมีอีก ๙ ประการ ก็คงต้องปล่อย ให้หายนภัย กลืนกินท่านนั้นๆ ไป และตราบใด ที่สถาบันสงฆ์ ยังเป็นเพียงทางผ่าน ให้พระหนุ่มเณรน้อย ได้รับการศึกษา เพียงแค่ ในระดับ หัวสมอง ให้เขาไปมีอาชีพ ที่ดีขึ้นกว่าเดิม ในทางเศรษฐทรัพย์ แม้เขาไม่จำเป็น ต้องเป็น คนดี โดย คณะสงฆ์เอง ก็เลิกทำหน้าที่ ตามพระวินัยบัญญัติ เพื่ออบรม พระนวกะ ให้เป็นมัชฌิมะ และเถระ อย่างรู้ เท่าทัน พระวินัย ให้สีลสิกขา โยงใยไปถึงจิตสิกขา เพื่อเข้าถึงปัญญาสิกขาแล้วไซร้

เราวางเฉยกับสถาบันหลักเสียเลยจะดีกว่า หันมาหาพวกเรา ซึ่งเป็นพระหนุ่มเณรน้อย แม้อายุ ๖ รอบ นักษัตร แล้วหลวงพ่อนาน ก็ยังมีความเป็นหนุ่มฉกรรจ์อยู่ ทางสติปัญญา ซึ่งพร้อมจะเจริญ บารมีธรรม ถ้าเราร่วมกัน ทั้งกับฆราวาส รวมถึงเปิดโอกาส ให้มีสามเณรี และ ภิกษุณี

ต่อไปเราจะมีบริษัท ๔ ครบถ้วนอย่างมีคุณภาพ แม้จะด้อยในทางปริมาณ แต่คุณภาพสำคัญ เหนือสิ่งอื่นใด โดยเรา ไม่ต้องการ พระมหาธรรมกายเจดีย์ อันยิ่งใหญ่ และเลวร้าย หากเราต้องการ ธรรมเจดีย์ ที่มีฐานอัน ประกอบ ไปด้วยศรัทธา ในทางสัมมาทิฐิ หุ้มไปด้วยวิริยะบารมี ที่มีสติ คอยตักเตือน ให้เกิดความรู้ตัว ทั่วพร้อม อยู่เสมอ ไม่แต่รู้เท่าทัน ตัวเองเท่านั้น หากยังต้องรู้เท่าทันโลกสันนิวาส ในปัจจุบัน อันมีทั้ง สังคมบ้าน สังคมเมือง และบรรษัทข้ามชาติอีกด้วย โดยทั้งหมดนี้ ต้องมีปัญญาบารมี เป็นดุจดังยอด ขององค์ พระธรรมเจดีย์

ขอให้เรามาช่วยกันก่อสร้างพระธรรมเจดีย์กันขึ้นใหม่ ดังในสมัยโบราณ เราก่อพระเจดีย์ทราย กันตาม ลานวัด เพื่อช่วยถมวัด และช่วยให้เกิด อนิจจลักษณะ ในความไม่ติดยึด ในวัตถุต่างๆ อย่างที่ ถ้าต้องการ แสวงหาธรรม จากพระเจดีย์ทราย เราก็จะเข้าได้ถึงอนิจจลักษณะ และ อนัตตลักษณะด้วย

พระธรรมเจดีย์ที่เราร่วมกันก่อสร้างขึ้นใหม่นี่จะไม่เป็นไปทางวัตถุ แต่จะเป็นไปในทางบารมีธรรม อันนำเรา ให้เข้า ได้ถึงพุทธภูมิ และจะช่วยให้สังคมของเราเป็นไปได้ ดังแดนสุขาวดี หรือพุทธเกษตร ของพระ อมิตภพุทธเจ้าก็ยังได้

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๕๕ มิถุนายน ๒๕๔๖)