>เราคิดอะไร


ชีวิตนี้มีปัญหา
- สมณะโพธิรักษ์ -
(ต่อจากฉบับที่ ๑๕๕)

ยังปฏิบัติธรรม เพียงลูบๆคลำๆ จับๆต้องๆ ไม่พากเพียรเอาจริง จนสามารถกำจัดกิเลส สักกายะนั้น ให้จางคลาย นับเป็นมรรค เป็นผลได้บ้าง ผู้นั้นก็ยังไม่พ้นสังโยชน์ข้อ ๓ คือ "สีลัพพตปรามาส"

(ถือศีลประพฤติธรรมกันได้แค่ลูบๆคลำๆจับๆจดๆ ยังไม่สามารถปฏิบัติจนเกิด มรรคเกิดผล)

เพราะฉะนั้น ถ้าตรวจดูจากประชาชนคนไทยในประเทศทั้ง ๖๐ กว่าล้านคนที่ต่างก็เป็นพุทธ ศาสนิกชนว่า ในพฤติกรรมของผู้ยืนยันว่าตนเป็นพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย มี"จรณะ"(พฤติกรรม)แม้แค่ข้อ ๑ คือ "มีศีล" (ศีลสัมปทา) เพียงข้อใดข้อหนึ่งหรือทั้ง ๕ ข้อ กันจริงๆ บ้างไหม จึงจะเรียกได้ว่า ผู้นั้น"เป็นพุทธ" และ ในประชาชน ๖๐ กว่าล้านก็ต้องมีคน "มีศีล"ปริมาณมากเพียงพอด้วย จึงจะชื่อว่าเป็น "เมืองพุทธ" ถ้ามีไม่มากพอ ก็ไม่น่าจะเรียกว่า เป็นเมืองพุทธ ดังนั้นเริ่มจาก"มีศีล" ซึ่งเป็นแค่"จรณะ" ขั้นตื้นขั้นต้น ของพุทธ ก็สำรวจ "ความเป็นพุทธ"ด้วยเนื้อจริง (ภาวสัจจะ)ว่า มีกันหรือยัง

เพราะสิ่งนี้คือ เครื่องส่อแสดงชี้บ่งได้ว่า เป็นพุทธศาสนิกแท้ เนื่องจากมีจรณะ (พฤติกรรม) กันจริงๆ จึงนับ ได้ว่า เป็น"พุทธแท้" ที่มีคุณสมบัติในความเป็นพุทธ อย่างน้อยเป็น"จรณะข้อที่ ๑" คือ มีศีล ๕ อันเป็น ขั้นตื้น ขั้นพื้นแท้ๆ ของเครื่องแสดงความเป็นพุทธโดยยืนยัน "เนื้อจริง" (ภาวสัจจะ) กันขั้นหนึ่ง

จากความประพฤติหรือพฤติกรรมของประชาชน ที่ต่างก็เป็น "ผู้มีความประพฤติชอบ" (จรณวันตุ) มี สภาพ
ของ "ความมีศีล" ให้เห็นได้ว่า ประชาชนคนไทยเป็นพุทธ เพราะเห็นได้จาก ความประพฤติ ไม่ละเมิด "ศีล ๕"กัน ไม่ว่าจะเป็นศีลข้อ ๑ ที่ว่า ไม่ฆ่าสัตว์บ้าง ข้อ ๒ ไม่ลักทรัพย์หรือไม่โกงทรัพย์ ของคนอื่น ในฐานะ แห่งความเป็นขโมยบ้าง ข้อ ๓ ไม่ประพฤติผิดในกามบ้าง ข้อ ๔ ไม่โกหกบ้าง ข้อ ๕ ไม่ดื่มน้ำเมาบ้าง ใครเห็น ใครก็รู้ได้ทันทีว่า นี่คือ คนมีศาสนา คือ ชาวพุทธ เมืองพุทธ

ยิ่งมี"ความประพฤติ"หรือมี"จรณะ"ข้ออื่นๆอีกมากขึ้นๆจนครบ ๑๕ โดยมีทั้งพฤติกรรมภายนอก และลีลา ที่ส่อแสดงถึงภายใน ให้เห็นได้ให้รู้ได้มากยิ่งขึ้น
[มีต่อฉบับหน้า]

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๕๖ กรกฎาคม ๒๕๔๖)