ชีวิตนี้มีปัญหา
๑-
สมณะโพธิรักษ์ - ฉบับที่ ๑๕๘
(ตอนท้ายของฉบับที่
๑๕๗)
แต่ที่อาตมานับเอา
"ฌาน" เป็น "วิชชาที่ ๑" นั้น ก็เพราะอาตมาเจตนาอย่างมากที่จะนำมายืนยันว่า
"ปัญญา" สำคัญมาก มันต้องมีมาตลอดสาย
แม้อยู่ใน "จรณะ" ทั้ง ๑๕ โดยเฉพาะใน "ฌาน"
ถ้าไม่มี "ปัญญา" ก็ไม่ใช่ "ฌาน" พระพุทธเจ้าตรัสไว้
ในพระไตรปิฎก เล่ม ๒๕ ข้อ ๓๕
"ฌานย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีปัญญา
ปัญญาย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีฌาน ฌานและปัญญามีอยู่ในผู้ใด ผู้นั้นแล
อยู่ในที่ใกล้นิพพาน"
(ต่อจากฉบับที่
๑๕๗)
ปัญญา แปลว่า
ความรู้ ใครๆก็คงรู้กันดีอยู่แล้ว
วิชชา ก็แปลว่า
ความรู้ เช่นกัน เมื่อเติม"อธิ"เข้าไป เป็น"อธิปัญญา"
ก็คือ ความรอบรู้ หรือรู้ยิ่ง อธิ แปลว่า ยิ่ง ซึ่งก็เป็น สัมมาญาณ
นั่นเอง เพราะเป็นความรู้ที่ได้จากการปฏิบัติตามทฤษฎี"มรรค องค์
๘" และรู้แจ้ง เห็นจริงในประดาสภาวธรรมทั้งหลายมาตลอดนั่นแล คงไม่มีใครจะตะแบงแย้งได้
ดังนั้น ผู้ปฏิบัติที่สัมมาทิฏฐิ
ปฏิบัติไตรสิกขา หรือปฏิบัติตามมรรค
องค์ ๘ ก็ย่อมเกิด..สัมมาสมาธิ และ สัมมาญาณ สัมมาวิมุติ เพราะใน
ขณะ ปฏิบัติธรรม โดยเฉพาะขณะที่มี"ปริญญา ๓" ซึ่งได้แก่
ญาตปริญญา ตีรณปริญญา ปหานปริญญา นั่นคือ เรากำลัง ปฏิบัติ "ฌาน"
อยู่นั่นเอง และในขณะปฏิบัติ "ฌาน" อยู่นั่นแหละ จิตต้องมี"ปริญญา
๓"นี้ทำงานอยู่อย่างสำคัญ จึงจะสำเร็จผล ในความเป็น "ฌาน"
คือ "เพ่ง-เผา" ได้สำเร็จ ไม่มี"ปริญญา ๓"ไม่ได้
ถ้าไม่มี ก็คือ ไม่ใช่การปฏิบัติ "ฌาน"
แบบพุทธ นั่นเอง เพราะเท่ากับ ไม่มี "อธิปัญญา"
การปฏิบัติ"ฌาน"
ก็คือ การจับอารมณ์ตนที่กำลังเป็นอยู่ขณะนั้นได้ชัดเจนครบครัน (ญาตปริญญา)
แล้วเพ่งพิจารณา ไตร่ตรอง ตัดสินภาวะนั้นๆ จนรู้ว่าอะไรคือกิเลสคือสมุทัย
(สำเร็จตีรณปริญญา) และ กำจัดเหตุนั้น หรือเผากิเลสนั้น
(สำเร็จปหานปริญญา) ซึ่ง"ฌาน" จะสำเร็จได้ก็ต้องมี
"ปริญญา ๓" หรือ ความรู้ยิ่ง เห็นจริงในภาวะที่ตนปฏิบัติอยู่ตลอด
นี่คือ "อธิปัญญาสิกขา"
ปริญญา ๓ ก็คือ ปัญญา
คือ การกำหนดรู้ ก็เป็นความรู้ อีกหนะแหละ
ซึ่งก็อันเดียวกันกับ "อธิปัญญา"
สรุปแล้ว หากไม่มีปัญญา
ก็ไม่ชื่อว่า "วิชชา" และ"ปัญญา"ที่เราหมายถึงที่แท้นี้
เป็น "ปัญญา หรือ ความรอบรู้" ที่เป็น
"ความรู้ในปรมัตถธรรม" ทั้งสิ้น ถ้า "ไม่รู้"
(อวิชชา) ตั้งแต่ "ฌาน" เป็นต้นไป
นั่นก็ หมายความว่า ไม่มี "วิปัสสนาญาณ" แท้ๆกันเท่านั้น
"ฌาน" แบบพุทธ
จึงเป็น..อาการของจิตที่เราพากเพียรปฏิบัติเพื่อลดละกิเลสให้หมดไปจากจิต
เมื่อสามารถลด หรือกำจัด (ปหาน) ลงไปได้เรื่อยๆ
ถูกตัวตนของ "เหตุแท้" อย่างมี
"ปัญญา" รู้จักรู้แจ้งรู้จริง ก็คือ มีฌานสูงขึ้นๆไปตามลำดับ
๑-๒-๓-๔ จนเป็นอรูป-ฌาน ๑-๒-๓-๔ จนที่สุดเป็น "สัญญาเวทยิตนิโรธ"
ผู้ปฏิบัติที่มี "สัมมัตตะ
๑๐ หรือ อเสขธรรม ๑๐" ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา
สัมมา กัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณ
สัมมาวิมุติ อันเป็น "ความมี มรรคผลที่ถูกต้อง"
ของศาสนาพุทธ หากไม่มี "สัมมาทิฏฐิ" แต่ต้น ซึ่งเป็นประธาน
ก็เป็น "มิจฉัตตะ ๑๐" คือ ผิดไปทั้งหมดเป็น "มิจฉา"
ไปทั้ง ๑๐
ดังนั้น จึงจะต้องมี"ปัญญา"
หรือมี"วิชชา" หมายความว่า
ต้องมีความรู้หรือปัญญา รู้ติดรู้ตามมาตลอด ทั้งมรรค ทั้งผล ที่ตนปฏิบัติ
และต้องมี "ปัจจเวกขณญาณ" คือ มีการทบทวน สำรวจตรวจสอบ หยั่งรู้
ติดตาม มาตลอดสายของมรรคผล ที่เราปฏิบัติอีกด้วย
ถ้าแม้แต่"ฌาน"
ก็ไม่สามารถรู้แจ้งเข้าใจได้อย่างชัดเจน "ถูกต้อง-ถูกถ้วน"
(สัมมา) ตั้งแต่ "สัมมาทิฏฐิ" มาตลอดสาย
แห่งมรรคและผล เป็นปฏิสัมพัทธ์กันมาอย่างไร ผู้นั้นจะไม่สามารถปฏิญาณตนเอง
ได้จริง เลยว่า ตนเข้าเขตโสดาปัตติมรรคแล้ว ได้โสดาปัตติผลแล้ว และเป็นสกทาคามีมรรค
ไปเรื่อย... กระทั่ง อรหัตมรรค และ อรหัตผล อย่างรู้แจ้งเห็นจริง ด้วย
"อธิปัญญาหรือวิชชา" เป็นแน่นอน จะเรียกว่า รู้แจ้ง เห็นจริงเป็น
"ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ" ย่อมไม่ได้
ธรรมะของพระพุทธเจ้าอันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน
จะต้องรู้แจ้งเห็นจริงได้ด้วยตนของตนเอง ตามสภาวะ จริงในตน จึงจะถูกต้องตามที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า
"ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ"
ผู้ปฏิบัติ"ไตรสิกขา"
อย่างสัมมาทิฏฐิ ย่อมเกิด
"อธิปัญญาสิกขา" และเจริญเป็น "วิชชา
๙" ไม่ขาดหกตกหล่น เพียงแต่ว่า ใครจะมีมากมีน้อย และมีเชิงใดเด่น
เชิงใดด้อยบ้าง ก็เท่านั้น แต่มิใช่ว่า ไม่มี
"วิชชา ๙" หรือ ไม่เจริญด้วย "อธิศีล-อธิจิต-อธิปัญญา"
ครบครัน
โดยเฉพาะ "ปัญญา"
หรือ "ความรู้" นั้น
เป็นความสำคัญยิ่งสำหรับศาสนาพุทธ เพราะศาสนาพุทธชื่อว่า เป็นศาสนาแห่งปัญญา
มี"ปัญญา"นำ และสมบูรณ์ด้วย"ปัญญา" พุทธ คือ ผู้รู้
ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ไม่มีอะไร หม่นหมองมัวพราง ทุกอย่างต้อง "รู้แจ้งเห็นจริง"
ทุกอย่างต้องชัดเจนแจ่มแจ้งแทงทะลุรอบถ้วน นั่นคือ ต้องสมบูรณ์ด้วย
"ปัญญาอันยิ่ง" (อธิปัญญา)
ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่า ธรรมะของพุทธนั้น
ผู้บรรลุ ย่อมเห็นเอง รู้เอง ประจักษ์แจ้งกับตน ไม่ต้องขึ้นต่อผู้อื่น
จึงจะตรงตามความหมายของสันทิฏฐิโก
เมื่อมี "ความรู้" อยู่พร้อมเช่นนี้ ก็นั่นแหละคือ
ผู้ปฏิบัติต้องมี "ปัญญา" จึงจะรู้จึงจะประจักษ์แจ้งกับตน
และพระพุทธเจ้า ทรงกำชับอีกว่า พึงรู้เฉพาะตน
ต้องรู้แจ้งเห็นจริงได้ด้วยตนของตนเอง ...ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ
มิใช่ศาสนา ที่ยิ่งปฏิบัติก็ยิ่งไม่รู้ ยิ่งลึกลับ หรือรู้บ้างไม่รู้บ้าง
แม้ไม่รู้ก็บรรลุได้ รู้กะพล่องกะแพล่ง ไม่บริบูรณ์ อะไรอย่างนั้น
เป็นอันขาด
เฉพาะอย่างยิ่ง ต้องรู้จักรู้แจ้งรู้จริงสภาพที่เป็น
"ทางปฏิบัติอันประเสริฐ" ที่เรียกว่า "อาริยมรรค"
รู้จัก รู้แจ้ง รู้จริง สภาพที่เป็น "กิเลส" รู้จักรู้แจ้งรู้จริงสภาพที่เป็น
"จิต..เจตสิก..รูป..นิพพาน" ดังนี้เป็นต้น ซึ่งต้องอาศัย
"ปัญญา" ทั้งนั้นที่จะรู้จักรู้แจ้งรู้จริงด้วยตนเอง มิใช่เดาเอา
มิใช่อนุมานเอา และมิใช่อาจารย์ หรือคนอื่นเป็น "ผู้สอบญาณให้เรา"
อาจารย์จะเป็นผู้แจ้งให้เรารู้ว่า "เราบรรลุญาณนั้นญาณนี้แล้ว"
ตามที่มีผู้เข้าใจผิด เพี้ยนออกนอกคำสอน ของพระพุทธเจ้า เป็นอันขาด
ไม่ว่า..ศีล สมาธิ
ปัญญา วิมุติ วิมุตญาณทัสสนะ ผู้ปฏิบัติจะต้องรู้จักรู้แจ้งรู้จริงด้วยตนเองทั้งสิ้น
แม้ผู้ปฏิบัติ จะไม่รู้อย่างคนมี "ปฏิสัมภิทา"
(ปัญญาที่แตกฉาน) ก็ต้องมี "วิชชา ๙" รู้สภาวธรรมของตน
ตามธรรม สมควรแก่ธรรมทุกคน ต้อง "พ้นวิจิกิจฉาสังโยชน์"
หรือ พ้นความสงสัยในพุทธ-ธรรม-สงฆ์ โดยเฉพาะ "ธรรม" ที่มีสภาวะ
ดังนั้น
สภาวธรรมของการปฏิบัติศีล จนเกิดฌาน เกิดสมาธิ เกิดวิมุติ ต้องประกอบด้วย"ปัญญา"ทั้งสิ้น
(เราคิดอะไร
ฉบับที่ ๑๕๘ กันยายน ๒๕๔๖) |