>เราคิดอะไร

พ่อหลวงคิดอะไร
- ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล -
กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ๔ ก.ย. ๔๕ ณ ศาลากลาง จ.นครราชสีมา


กราบเรียนท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านผู้นำชุมชน ส่วนราชการและแขกมีเกียรติที่เคารพ

วันนี้เรียกว่าเป็นการเชิญแบบเหมา ให้มาเล่าสู่กันฟังหรือว่าสนทนาธรรมกันเกี่ยวกับเรื่องการพัฒนา เมื่อมาถึงแล้ว ท่านผู้ว่าฯ ก็ได้ให้เกียรติผมเป็นอย่างมากนะครับ ขอให้เป็นประธานเปิดเสียเลย

ขณะนี้ เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงพูดกันเยอะ สัมมนากันมาก มีเล่าขานอะไรมากมายก่ายกองทีเดียว แต่ผมคิดว่าคนที่จะเข้าใจจริงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะนำหลักการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชทานมานี้ ไปปฏิบัติในวิถีชีวิตของตนเองนั้น รู้สึกจะมีเครื่องหมายคำถามอยู่เยอะ ผมว่าเพื่อให้เรามีความเข้าใจอย่างแจ่มชัด ขอถือโอกาสที่ได้มาในวันนี้ เล่าเรื่องราวอะไรในบ้านในเมืองให้ฟังเสียก่อน เพื่อจะได้เข้าใจคำว่าเศรษฐกิจพอเพียงให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

แต่เดิมมานั้น การพัฒนาประเทศก่อนพ.ศ. ๒๕๐๔ ดำเนินการไปตามสะดวก ยังไม่มีแผนพัฒนาอะไรทั้งสิ้น ทุกอย่างดำเนินการไปตามสมควร และในประเทศไทยตอนนั้นพลเมืองก็มีไม่ถึง ๒๐ ล้านคน ทรัพยากรต่างๆ ยังมีอยู่อย่างมากมาย จนกระทั่งมีสุภาษิตต่างๆ เกิดขึ้น เช่น ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ที่เราพูดกันอยู่เสมอ มองไปทางไหนก็เขียวชอุ่มฝนฟ้าตกตามฤดูกาล ถึงแม้ผู้คนจะไม่ได้ร่ำรวย แต่คิดว่าสมัยนั้นมีความสุข ซึ่งสังคมโดยทั่วไปจะปนคำสองคำด้วยกันนั่นก็คือ ความสุข กับ ความสนุก

แท้ที่จริงคำว่าสนุกกับสุขนั้นมันคนละเรื่องกัน พระคุณเจ้าที่นั่งฟังอยู่ด้วยคงจะแยกแยะให้พวกเราได้รับความกระจ่างว่า ความสนุกกับความสุขมันไม่ได้เหมือนกันเลยแม้แต่น้อย เมื่อ ๕๗ ปีที่แล้ว ในวาระที่เสด็จขึ้นครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสออกมาสองประโยคที่เราจำกันได้ เป็นประโยคที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ได้ทรงรับสั่งสัญญากับพวกเรา ว่า พระองค์จะขึ้นครองแผ่นดินอย่างไร และเพื่อจุดประสงค์อะไร ประโยคนั้นเรารู้จักกันในชื่อพระปฐมบรมราชโองการ มีความสองประโยคที่เราท่องกันได้ขึ้นใจเลยคือว่า เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม ผมคิดว่าน้อยคนเหลือเกินที่จะมานั่งพิจารณาว่า สองประโยคนั้นมีความหมายอย่างไร และลึกซึ้งอย่างไร

ประโยคแรกนั้น เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม มีคำว่าธรรมะ อยู่ คำว่า ธรรมะ คำเดียวนั้น ก็รู้สึกว่ามีความหมายที่ลึกซึ้งเป็นอย่างมาก เพราะธรรมะที่พระองค์ท่านรับสั่ง ความจริงมีอยู่หลายข้อด้วยกัน แต่จะเอาข้อที่ง่ายที่สุด และเปนหลักการที่ใช้อยู่เสมอนั่นคือ ทศพิธราชธรรม ที่เราก็รู้จักกันว่ามีอยู่ ๑๐ ข้อ ซึ่งผมเองจะไม่ขอกล่าวรายละเอียดณ ที่นี้ เพราะว่าพระคุณเจ้าจะอธิบายได้ดีกว่า

แต่ประโยคที่สองนั้น ผมอยากจะดึงความสนใจของทุกท่านมาสู่เป้าหมาย หรือวิสัยทัศน์ ก็คือเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม ผมไม่ทราบว่าประโยคนี้สะกิดใจท่านอย่างไร แต่ผมคิดว่าประโยคนี้มีความหมายลึกซึ้งเป็นอย่างยิ่ง เพราะว่าเวลานักพัฒนามาบอกเรา ให้เพิ่มรายได้ ให้สร้างประโยชน์นั่น ประโยชน์นี่ หรือไปเรียนต่างประเทศที่ไหนก็แล้วแต่ เขาสอนให้ทำกำไร วิธีจะทำกำไรให้สูงสุดได้อย่างไร จะหาประโยชน์อย่างสูงสุดได้อย่างไร ไปที่ไหนทั่วโลกก็แล้วแต่ ผมไปเรียนมาแล้วทั่วโลก ไม่มีใครสอนเหมือนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสอน เป็นเพราะทุกคนค้างอยู่แค่คำว่าประโยชน์เท่านั้น แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงไปไกลกว่านั้นอีก คือ ประโยชน์สุข อันนี้สำคัญ ประโยชน์ที่ให้ความสุข เพราะหลายสิ่งหลายอย่างที่หน่วยราชการทำก็ดี หรือพวกเราแต่ละคนทำก็ดีนั้น หลายครั้งหลายคราวเราหลงผิดคิดไปว่าทำประโยชน์ แต่ประโยชน์นั้นเองก่อให้เราเกิดทุกข์ขึ้นมา

การพัฒนาได้ทำกันอย่างไม่นึกคิดพิจารณาให้ดีก่อน เช่น เกิดน้ำท่วมขึ้นมา ถนนที่เราคิดว่ากรมทางหลวงวางได้อย่างดีแล้ว โดยใช้งบก่อสร้างที่ถูกที่สุดแล้ว ไปทางสั้นที่สุดแล้ว แต่กลับลืมมองการศึกษาเรื่องน้ำไป

ผลสุดท้ายพอน้ำท่วมขึ้นมา น้ำก็ไหลไปไหนไม่ได้ เพราะถนนมันขวางอยู่ แล้วเราทำอย่างไร หน่วยราชการก็เอารถแบ๊คโฮไปตัดถนนออก ทำเป็นช่อง ช่อง ช่อง เพื่อให้น้ำมันระบายไป ตัวอย่างที่หาดใหญ่นี่เห็นชัดเจน สร้างถนนรอบเมืองไว้ ดูผิวเผินก็สะดวกดี แต่พอฝนตกเข้าหน่อย น้ำท่วมทั้งเมืองเลย อย่างรวดเร็วด้วย เพราะน้ำออกที่ไหนไม่ได้

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งว่า ขนาดคลองต่างๆ ได้บอกเราแล้วว่าเขาจะมาทำเท่าไหร่ เวลาเขามาน่ะเต็มที่นะ ลองสังเกตดูสิครับ พอถึงทางรถไฟ พอถึงทางหลวงเข้าก็ประหยัดงบประมาณ คลองขนาดนี้ พอลอดใต้สะพานเข้า เหลือแค่ท่อสามท่อเท่านั้น น้ำจะไหลไปได้อย่างไร เมื่อน้ำมันไปไม่ได้ก็ไหลออกสองข้างทาง น้ำก็ท่วมหมด

อันนั้นคือการคิดอย่างไม่รอบคอบ คิดอย่างไม่เป็นระบบ เหมือนอย่างที่ท่านใช้คำในเอกสารที่แจกให้ ระหว่างที่นั่งรถมาผมพยายามอ่าน ใช้คำว่าบูรณาการอย่างที่เราคิดกัน คือคิดทุกแง่ทุกมุม

ความจริงเรื่องคำศัพท์นี่ก็ต้องเตือนกันนิดหนึ่ง นักวิชาการชอบใช้คำอะไรที่บางครั้งบางคราวมันไม่สื่ออะไรเท่าไรนักนะครับ ผมเจอพอเอ่ยถึงพวกท่านทีไรหรือในเอกสารที่พวกท่านอ่านเองยังเรียกตัวเองว่ารากหญ้า ผมค่อนข้างจะรังเกียจคำนี้นะครับ พวกท่านที่อยู่ในห้องนี้ทั้งหมดคือชาวเกษตรกรโดยเฉพาะ ท่านเป็นรากแก้วนะครับ ไม่ใช่รากหญ้า ทำไมคนอื่นเรียกท่านอย่างนั้น แถมท่านเรียกตัวท่านเองว่ารากหญ้า ไม่ใช่เลย ถ้าขาดพวกท่านไปนี้นะครับ ต้นไม้มันจะอยู่ได้ไหม คนทั้งประเทศต่อให้อยู่ระดับสูงอย่างไรจะอยู่ได้หรือเปล่า เพราะเขาเหล่านั้นถึงแม้จะมีธุรกิจพันล้าน หมื่นล้าน ก็ต้องกินข้าว เขาต้องกินผัก เขาต้องบริโภคสิ่งต่างๆ ที่ท่านผลิตขึ้นมา แล้วท่านเรียกตัวเองว่ารากหญ้าได้อย่างไร อันนี้ก็ชวนให้คิดถึงการมองกลุ่มคนต่างๆในประเทศ ที่สังคมมอง เพราะฉะนั้นต่อไปนี้ขอให้เรียกตัวเองว่า รากแก้ว ขอร้องเถอะ ถ้าใครไม่เรียก ผมก็จะเรียกท่านว่าอย่างนี้แหละ เป็นรากแก้ว อย่าเป็นรากฝอย อย่าเป็นรากหญ้า คิดถี่ถ้วนอย่างไร ก็เป็นรากแก้วอยู่นั่นเอง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งบอกว่า แท้ที่จริงธรรมชาตินั้นเขาให้เราหมดแล้ว ดิน น้ำ ลม ไฟ นี่แหละครับ เป็นสิ่งมหัศจรรย์อย่างยิ่ง ธรรมชาติถูกสร้างให้มาเอื้อกัน เสริมกัน สร้างความสมดุลขึ้นอยู่ในธรรมชาติอย่างมหัศจรรย์ทีเดียว แต่มนุษย์เราไปทำลายห่วงลูกโซ่ของความสมดุลอันนั้น เพราะมัวแต่คิดถึงประโยชน์ นับตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๔ เป็นต้นมา จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ เริ่มคิดที่จะมีแผนการพัฒนาประเทศและจุดเริ่มต้นอยู่ที่ภาคอีสานนี่เอง ถ้าใครไปจังหวัดขอนแก่น ที่จวนผู้ว่าราชการจังหวัดจะมีบ้านพักหลังหนึ่ง ลอยอยู่กลางน้ำ ท่านขอไปเปิดดูเถอะครับ ในนั้นจะมีประวัติศาสตร์ว่า จุดเริ่มต้นแผนพัฒนาฉบับที่หนึ่งนั้นเกิดขึ้นในบ้านหลังนั้นนั่นเอง ประวัติศาสตร์หลายอย่างอยู่ในภาคอีสานนี่แหละครับ

เมื่อครู่ที่เล่าให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดฟังว่า ผมเองก็มีส่วนสัมพันธ์กับจังหวัดนครราชสีมาด้วยเช่นกัน พวกท่านหลายท่านที่อายุอานามมากๆ หน่อยคงจำกันได้ พ่อผมเป็นผู้แทนนครราชสีมาถึงสี่สมัยด้วยกัน จนกระทั่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสหกรณ์ สมัยก่อนแยกเกษตรกับสหกรณ์ สมัยคุณคงฤทธิ์ สมัยนั้น โดยที่ไม่ได้เป็นคนโคราชเลยนะครับ แต่เหตุไฉนมาสมัครผู้แทนราษฎรที่โคราชก็ไม่รู้ โดยความจริง ผมจะบรรยายเป็นภาษาอีสานก็ได้นะครับ เพราะผมการศึกษาเบื้องต้นที่ประเทศลาวครับ ใครเขาจะไปอังกฤษ ใครเขาจะไปอเมริกา ใครเขาจะไปฝรั่งเศส แต่ผมจบที่ประเทศลาวนี่เอง นครเวียงจันทน์ เพราะฉะนั้นจะให้ข้อยเว้าอีสานก็ได้อยู่ด๊อก

กลับมาดูที่เรื่องการพัฒนา พอเริ่มต้นการพัฒนา เราทำการวางแผนไม่เป็น เพราะไม่มีวิชาการตัวนี้ สมัยก่อนง่าย เอาผู้เชี่ยวชาญฝรั่งเข้ามาก่อน แล้วพอผู้เชี่ยวชาญฝรั่งมาสอนวิชาการวางแผนให้เรานั้น สิ่งที่เขาเอาติดมาด้วย โดยที่เราไม่รู้ตัว คือวัฒนธรรม ความคิด หลักปรัชญาของชีวิต ที่เรียกว่าวิถีชีวิตชาวอเมริกันอย่างนี้เป็นต้น American way of life อย่างที่เราพูดกันคือวิถีชีวิตของเขานำติดมาด้วย โลกอีกฟาก โลกหนึ่งนั้นเป็นโลกของวัตถุ เป็นสังคมบริโภค สร้างความร่ำรวยอย่างเดียวแล้วที่เหลือจะได้ทุกอย่าง อันนี้คือความคิดหลัก

ฝรั่งสองคนเวลาเขาเจอกันนี่นะครับ เขาถามว่า คุณสำเร็จในชีวิตหรือยัง เขาถามว่าคุณทำล้านแรกได้หรือยัง ถ้าใครมีล้านเหรียญแรกนะเขาถือว่าประสบความสำเร็จในชีวิตแล้ว แต่คนไทยเราเจอกัน ขืนมาถามว่าอาจารย์สุเมธทำล้านแรกได้หรือยัง เอ๊ะ คุณหาว่าผมโกงกินรึยังไง มาถามว่า มีเงินล้านแรกได้หรือยัง เราไม่ถามกัน เจอกันก็ถามว่า ท่านผู้ว่าฯ มาเป็นปลัดเมื่อไรนี่ รองอธิบดีเมื่อไหร่จะเป็นอธิบดี ซีอะไรแล้ว อะไรต่อมิอะไร ในลักษณะเกียรติยศ ชื่อเสียง อะไรอย่างนี้เป็นต้น แต่ใครพูดเรื่องเงินไม่ได้ สังคมไทยเราถือ ถึงแม้อยากจะพูดก็พูดไม่ได้ เป็นสิ่งที่ต้องห้าม เพราะวัฒนธรรมเราไม่ได้ผูกติดกับสิ่งนี้ แต่ฝรั่งเขาถามกันเป็นเรื่องธรรมดาเลย ทำล้านแรกได้แล้ว แหมทุกคนภูมิใจ

เห็นไหมครับวัฒนธรรมสองโลกนั้นไม่เหมือนกัน นี่พอเขาเริ่มวางแผนเขาก็นำความคิดสร้างความร่ำรวยอย่างหน้ามืดตามัวผมอยากจะบอกอยู่วันนี้ ทฤษฎีฝรั่งนั้นคือมีเงินแล้ว ทุกอย่างตามมาเอง ทุกอย่างดีเองหมด พอมาวันนี้เป็นอย่างไรครับ เมืองนอก ถ้าใครได้ไป รวยครับ แต่รวยและก็ร้ายด้วย เวลานี้เดินที่กรุงปารีส กรุงวอชิงตัน หรือที่ไหนก็แล้วแต่ ต้องเอามือกุมกระเป๋าอยู่ตลอดเวลา เพื่อนมือดีมาแล้วเอาไปตั้งแต่เมื่อไรก็ไม่รู้ มีคนไทยถูกคนผิวดำในประเทศสหรัฐอเมริกาไล่แทงในรถไฟใต้ดินอย่างนี้เป็นต้น เป็นของธรรมดาเลย มีคณะรัฐมนตรีคณะหนึ่ง ไปประชุมที่กรุงปารีส ไปเช็คอินเข้าโรงแรม เอาขาหนีบกระเป๋าเอกสารไว้ พอเซ็นชื่อเสร็จเหลียวมาดูเหลือแต่ขาเปล่าๆ ขนาดหนีบเอาไว้นะครับ เพราะฉะนั้นจะมุ่งไปสู่ความร่ำรวยอย่างเดียว เราก็ตามสิครับ วัฒนธรรมเขาค่อยๆ หลั่งไหลมา คนไทยเคยอยู่อย่างสมถะ อยู่อย่างเรียบง่าย ชีวิตอยู่ใกล้กับธรรมชาติ ก็บ้าตามเขาไป จนเกิดสี่บ้าขึ้นมา

เมื่อ ๒-๓ วันนี้ ฯพณฯ พลเอกเปรม ท่านไปบรรยายอยู่ที่แห่งหนึ่ง แล้วพูดเกี่ยวกับวิถีชีวิตไทยนี่แหละ แล้วผมเป็นคนบรรยายคนที่สอง ผมก็ไม่รู้จะบรรยายอะไร นึกแว่บขึ้นมาบอกเดี๋ยวนี้สังคมของเราสืบเนื่องจากผลพวงของการพัฒนาอย่างไม่มีลืมหูลืมตา ตามหลังฝรั่งขึ้นมา จนกระทั่งเกิดบ้าสี่บ้าขึ้นมาเลย หนึ่งคือบ้าเงิน ท่านก็เขียนไว้เองเป็นเอกสาร ไม่มีเงินเดี๋ยวนี้ทำอะไรไม่ได้สักอย่าง ขุดสระ ขุดบ่อเองไม่ได้ ทฤษฎีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบอกต้องขุดสระ ปรากฏว่าขุดบ่ได้ เฮ็ดหยังบ่ได้ บ่มีเงิน เอ๊ะมันเกี่ยวอะไรกับมีเงินด้วย มือไม่มีหรือ คิดถึงสมัยตอนที่เราเด็กๆ เห็นไหมครับมีหางปลาตักดินแล้วก็ส่งไป แป๊บเดียวก็ได้สระแล้ว ลงแขกกัน เดี๋ยวพรุ่งนี้ไปช่วยบ้านโน้นขุด เดี๋ยวนี้ไม่มี เดี๋ยวนี้ต้องกู้เงินต้องมีเงิน ไปจ้างแบ๊คโฮมาขุด ทุกอย่างเป็นเครื่องจักรเครื่องกลหมด มือของเรานี้ง่อยลงทุกวัน

มือของมนุษย์นี่ถูกสร้างมาให้กอบกู้หมดทุกสิ่งทุกอย่าง บรรพบุรุษรักษาชาติบ้านเมืองด้วยมือของเขา แต่คนยุคนี้ มือง่อยไปหมดแล้วครับ กลายเป็นบ้าเงิน ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเงินหมด แก้ไขตั้งแต่ระดับชาติ จนถึงระดับท้องถิ่น เงิน เงิน เงิน อย่างเดียว แล้วง่อยนั้นไม่ใช่ง่อยแค่แขนขา ง่อยความคิดด้วย ไม่มีความคิดด้วย

พระมหาประยุทธ์บอกว่า สังคมยุคนี้มองแคบ คิดสั้น ใฝ่ต่ำ นี่พระท่านเทศน์ให้ฟัง หลวงปู่ขาว อนาลโย สอนผมครั้งหนึ่งบอกพวกเอ็งนั้นพวกติดซาก ฟังแล้วฉงนใจมากติดซาก ซากคือต้องมาดีๆ ต้องมารถคันโตๆ ต้องใส่ของแพงๆ แล้วผู้คนนับถือทั่วบ้านทั่วเมือง แต่ความดิบความดี มองข้ามไปหมด

บ้าแรก เขาเรียกบ้าเงิน บ้าที่ ๒ ควบคู่กันไปเลย ๒ บ้านี่จะตามติดกันเลยคือ บ้าอำนาจ ทุกคนขวนขวายหมด มีเงินเสร็จแล้วต้องมีอำนาจ มีอำนาจเสร็จแล้วมีเงินมันต่อพ่วงกันเป็นลูกโซ่อย่างนี้

บ้าที่สาม คือ บ้าวัตถุ ลงทุนเยอะๆ ไม่มีกู้เขามา แล้วเวลานี้เรียบร้อย พังทลายเป็นที่เรียบร้อย เพราะว่าไม่มีฐานอะไรรองรับเลย

บ้าที่สี่ คือ บ้าตะวันตก เอะอะอะไรก็สากล ความจริงไม่ใช่สากลหรอก บ้าตามฝรั่ง คิดตามฝรั่ง ซึ่งมันถูกต้องสำหรับในภาคของเขา ประเทศของเขา

( อ่านต่อฉบับหน้า )

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๕๙ ตุลาคม ๒๕๔๖)