เราคิดอะไร

ข้าพเจ้าคดอะไร? - สมณะโพธิรักษ์ -
กำไร ขาดทุนแท้ ของอาริยชน

(ต่อจากฉบับที่ ๑๖๐)


กล่าวคือ "ผลวิบากของกรรม" นี้แหละ

ที่เป็นทรัพย์เป็นสมบัติของตนแท้ๆ จริงแท้ยิ่งกว่าทรัพย์ทางวัตถุใดๆทั้งสิ้น (กัมมัสโกมหิ)

และตนก็ต้องเป็นทายาทรับมรดกกรรมของตนไม่หกตกหล่นไปไหนเลย แบ่งใครก็ไม่ได้ ไม่เอาก็ไม่ได้ ต้องเป็นทายาท แต่ผู้เดียว ตามสัจจะ ไม่มีใครโกง ใครเบี้ยวได้เด็ดขาด กุศลกรรม กับอกุศลกรรม จะสังเคราะห์กัน ออกฤทธิ์ให้ผลอยู่ อย่างซื่อสัตย์ จนกว่าจะบรรลุอรหันต์ (กัมมทายาโท) แม้กระนั้นวิบากกรรม ก็ยังเป็นที่พึ่งไปกระทั่งที่สุดท่านผู้นั้น ตั้งจิตจบปรินิพพาน จึงจะไม่มีกรรมใดๆ

อำนาจของกรรมที่ตนได้สั่งสมไว้นี้แหละ ที่พาตนเกิดตามคุณภาพของกรรมต่างๆ ที่ได้สังเคราะห์กัน ส่งผล เป็นวิบาก พาเกิดแต่ละช่วง แต่ละชาติ ซึ่งจะได้เกิดดี-ตกยาก ผิวพรรณดี - ผิวพรรณทราม ก็เพราะฤทธิ์อำนาจของกรรมวิบาก ที่ตนได้สั่งสมมาจริง มีจริงนั้นๆแล (กัมมโยนิ)

กรรมที่ได้ทำแล้วทำเล่ามาแต่ละชาตินั้นแหละสังเคราะห์กันแล้วสั่งสมผลวิบากจนตกผลึก ลงเป็นเนื้อ เป็นเชื้อ เป็นพันธุ์ ให้แก่ตน ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์ สัตว์นรก เป็นพันธุ์เทวดา เป็นพันธุ์ปุถุชน เป็นพันธุ์กัลยาณชน หรือเป็นพันธุ์ อาริยชน ก็เป็นได้ตามจริงทั้งนั้น (กัมมพันธุ)

และกรรมนี้เองที่เป็น"ที่พึ่ง"แท้จริงของอเทวนิยม (กัมมปฏิสรโณ) ซึ่งสำคัญยิ่งของแต่ละบุคคล สามารถศึกษาได้ พิสูจน์ได้ สัมผัสได้ชัดเจน เป็นวิทยาศาสตร์ยิ่งกว่า "ที่พึ่ง" ที่ลึกลับอื่นๆ ของ เทวนิยม แม้จะนับถือกันว่าเป็น "จิตวิญญาณ" ที่ยิ่งใหญ่ ปานใดก็ตาม หาก "จิตวิญญาณ" ที่เป็นต้นเหตุบ่อเกิดของ "ผลวิบาก" ต่างๆนั้น ศึกษาไม่ได้ พิสูจน์ไม่ได้ สัมผัสแตะต้องไม่ได้ ก็ยากที่จะรู้จัก รู้แจ้งรู้จริงได้กระจะกระจ่าง แต่ "จิตวิญญาณ" หรือ"ผลของกรรม" ที่เป็น"ที่พึ่ง" ของชาว "อเทวนิยม"นั้น ศึกษาได้พิสูจน์ได้สัมผัสแตะต้องได้ จนสามารถรู้จักรู้แจ้งรู้จริง อย่างยืนยันสัจจะ ไม่เป็นสิ่งลึกลับ จึงแตะต้องได้ ไม่ใช่สิ่งยกเว้นยกไว้ ห้ามสัมผัส จึงรู้แจ้งเห็นจริง อย่างหมดสงสัย คลางแคลงคลุมเครือ

ส่วน"มิจฉาทิฏฐิ" เพราะมี "มิจฉามรรค" (ทางปฏิบัติที่ผิด) จึงพลอยผิดเพี้ยนไปเป็น "มิจฉาผล" (ผลธรรมที่ผิด)

นั่นก็คือ ไม่เข้าใจทางปฏิบัติของพุทธแท้ๆ ที่จะพาไปสู่"ผล"(สัมมาผล) อันเป็นความประเสริฐ เป็นมนุษย์ผู้เจริญ ชนิดที่พระพุทธเจ้า ทรงเห็นว่า ความเป็นคนควรจะเจริญแบบนี้ จึงจะเรียกว่า "อาริยะ"

ไม่ใช่แค่เจริญแบบความเห็นของคนอื่นทั่วไป ตามที่เรียกว่า "อารยะ" (civilized) บ้าง หรือ "อริยะ" (holy) ตามที่เข้าใจกันอยู่ ในวงการพุทธของไทย ปัจจุบันนี้บ้าง เท่านั้น

คำว่า "อาริยะ" แตกต่างจาก"อารยะ" (civilized) และ"อริยะ" (holy) อย่างมีนัยสำคัญ คุณสมบัติของ "อาริยะ" ที่สัมมาทิฏฐิจริงๆนั้น มีในศาสนาพุทธที่เป็น "อเทวนิยม" ศาสนาเดียว จึงยังไม่มีคำ ภาษาอังกฤษ ที่จะมีความหมาย ตรงกับเนื้อธรรมเนื้อแท้ หากจะใช้ ก็ต้องทับศัพท์ หรือไม่เช่นนั้น ก็ต้องอธิบาย ความเอาจึงจะได้

"อาริยะ" หรือความเป็นคนประเสริฐหรือเจริญแบบพุทธ ก็คือ คนผู้มีคุณธรรมบรรลุขั้น "โลกุตระ" ซึ่งเป็นผู้เข้าใจใน "สัมมามรรค" และได้ปฏิบัติ จนเกิด "สัมมาผล" หรือรู้แจ้งใน "อาริยมรรค" และได้ปฏิบัติ จนเกิด "อาริยผล"

ความจริง "สัมมามรรค" หรือ "มรรค อันมีองค์ ๘" นี้ ในวงการผู้รู้หรือผู้ศึกษาพุทธศาสนา ต่างก็รู้กันทั้งนั้น ว่าเป็นทางปฏิบัติ อันสำคัญของพุทธ และเข้าใจด้วยว่า เป็นทางพาไปสู่ "นิพพาน" หรือเป็นทางไปสู่ "โลกุตระ" แต่

มีต่อฉบับหน้า

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๖๑ ธันวาคม ๒๕๔๖ -