ข้าพเจ้าคดอะไร ? - สมณะโพธิรักษ์ -

ต่อจากฉบับที่ ๑๖๑


ความจริง "สัมมามรรค"หรือ"มรรค อันมีองค์ ๘"นี้ ในวงการผู้รู้หรือผู้ศึกษาพุทธศาสนาต่างก็รู้กันทั้งนั้น ว่า เป็นทางปฏิบัติอันสำคัญของพุทธ และเข้าใจด้วยว่า เป็นทางพาไปสู่"นิพพาน" หรือเป็นทางไปสู่"โลกุตระ" แต่ผู้รู้ก็อธิบายความของ "มรรค อันมีองค์ ๘" เป็นทางไปสู่"โลกียะ"กันเสียทั้งนั้น

แล้วมันใช้ได้ไหมล่ะ? ก็ใช้ได้ ก็มีประโยชน์แน่ แต่มัน "ไม่ถูกต้อง" มัน "มิจฉา" หนะซี..! เพราะ"สัมมามรรค"นั้นเป็นเหตุให้เกิด"สัมมาผล" และ"สัมมาผล"นั้นก็คือ "โลกุตระ" ไม่ใช่"โลกียะ"

ทำความเข้าใจกับนัยสำคัญนี้ให้แม่นๆคมๆชัดๆ

หากจะมีผู้แย้งว่า "สัมมาผล" หมายถึง"โลกียะ" ไม่ได้หรือ? ก็ตอบว่า ได้ แต่เป็นการพูดเอาเอง เพราะมันเป็นได้แค่ "การพ้นทุกข์แบบโลกีย์" ซึ่ง ไม่ใช่"พาพ้นทุกขอาริยสัจ" อันเป็นความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า

เมื่อ ไม่ใช่"การพ้นทุกขอาริยสัจ" ก็ไม่ใช่สูตรหรือไม่ใช่ทฤษฎีของพระพุทธเจ้า เพราะ "มรรค อันมีองค์ ๘" นี้ พระพุทธเจ้าตรัสตรงๆเปรี้ยงๆ ว่า เป็นทางปฏิบัติอันเอกที่จะพาไปสู่ "นิพพาน" ซึ่งเป็น"ความพ้นทุกขอาริยสัจ" และ"นิพพาน"ก็เป็น"โลกุตระ"แท้ๆ การ"พ้นทุกข์โลกีย์"นั้น ยังไม่เข้าขั้น "ปรมัตถ์" ยังไม่เป็น"โลกุตระ" ยังไม่รู้จัก"ทางที่จะพาไปสู่นิพพาน" ยังไม่"สัมมาทิฏฐิ" จริง อาจจะหลงตนว่า ตนเข้าใจดีแล้ว"สัมมาทิฏฐิ"แล้วก็ได้ แต่ที่แท้..เพียงตนหลงว่า ตนรู้ ทว่ายังไม่สามารถมี"ญาณหรือวิชชา ๙" หยั่งรู้ "จิต..เจตสิก" จริง และปฏิบัติจนเกิด "ญาณหรือวิชชา" รู้แจ้งเห็นจริงเข้าไปถึง"เจตสิก ๗"ของ"สังกัปปะ" จึงจะเนกขัมมะ หรือทำให้เกิด "วิราคะ" สำเร็จเป็น"สัมมามรรค-สัมมาผล"

"เจตสิก ๗"ของ"สังกัปปะ" (พระไตรปิฎก เล่ม ๑๔ ข้อ ๒๖๓) ได้แก่

"ความตรึก" (ตักกะ) "ความวิตก" (วิตักกะ) "ความดำริ" (สังกัปปะ) "ความแน่ว" (อัปปนา) "ความแน่" (พยัปปนา) "ความปักใจ" (เจตโส อภินิโรปนา) "ปรุงเป็นคำพูด" (วจีสังขาร)

ขยายความให้ง่ายๆขึ้น ก็คือ ใน "ความดำริ" หรือ "สังกัปปะ" นี้ พระพุทธเจ้าทรงค้นพบว่า มีเจตสิก หรืออาการที่เกิดขึ้นกับจิต หลายลักษณะปรุงแต่งกันอยู่ เป็นรายละเอียดของจิต ซึ่งทำหน้าที่ อย่างซับซ้อน และมีปฏิสัมพัทธ์กันเป็นระบบ

"ความตรึก" หรือ"ตักกะ" เจตสิกตัวแรกนี้ คือ อาการของจิตเริ่มแรก ที่มีภาวะขึ้นมาในจิต ยังไม่มีอะไรปรุงแต่ง หรือ บทบาทของจิตที่เริ่มดำริเป็นอาการขั้นต้น

เมื่อเริ่มแล้วขั้นที่ ๒ ก็มีอะไรปรุงแต่งเข้าไป เรียกว่า "วิตักกะ" คำนี้ใช้แบบไทยๆก็คือ "วิตก" นั่นเอง ไทยได้ความหมายจากลักษณะธรรมของคำนี้ คือ ความรู้สึก ที่มีอาการกังวล ร้อนใจ ลังเลใจ หวั่นกลัวไปในเชิงเสียหายเลวร้าย สรุปได้ว่า "วิตก" คำนี้มาจากพุทธธรรมที่เรียกว่า "วิตักกะ" อันเป็นอาการของจิตที่ปุถุชน ไม่รู้ (อวิชชา) ย่อมกังวล ย่อมร้อนใจ เพราะพุทธสอนว่า สังขารเป็นทุกข์

ผู้ศึกษาอย่างสัมมาทิฏฐิก็จะพบสัจธรรมว่า ในจิตช่วง"วิตก"นี้จะมีอะไรต่ออะไรเข้าไปสังขาร (ปรุงแต่ง) อัน คือ กุศลเหตุบ้าง อกุศลเหตุบ้าง เช่น มีกาม หรือพยาบาท หรือวิหิงสา เข้ามาร่วมปรุงแต่งเป็นธรรมชาติแล้วเกิดเป็น "จิตสังขาร" ขึ้นมา กระทั่งก่อรูป "ปรุงเป็นคำพูด" (วจีสังขาร) อันเป็นขั้นสุดของขบวนการ "สังกัปปะ"

เมื่อปรุงแต่งเสร็จก็ก้าวขึ้นป็น "สังกัปปะ" ดังนั้น "วิตกเจตสิก" ใด ถ้ามี "กาม" เข้าไปปรุงแต่ง ก็เป็น "กามวิตกหรือกามสังกัปปะ" ถ้ามี "พยาบาท" เข้าไปปรุงแต่งก็เป็น "พยาบาทวิตก หรือ พยาบาทสังกัปปะ" ถ้ามี "วิหิงสา" เข้าไปปรุงแต่งก็เป็น "วิหิงสาวิตกหรือวิหิงสาสังกัปปะ" [มีต่อฉบับหน้า]

- เราคิดอะไร ปีที่ ๑๐ ฉบับที่ ๑๖๒ มกราคม ๒๕๔๗ -