หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >เราคิดอะไร

 
ชีวิตนี้มีปัญหา ๑
สมณะโพธิรักษ์
หนังสือพิมพ์ เราคิดอะไร ฉบับ 129 เมษายน 2544
หน้า 2/2

(อ่าน ฉบับ๑๒๙ ต่อจากหน้าแรก ) /๑

พุทธศาสนา มีความแตกต่างจากศาสนาอื่น ที่พระพุทธเจ้าทรงกล่าวอยู่เสมอๆ ก็คือ เรื่อง “โลกุตระ” หรือ “ธรรมอันเป็นอาริยะ-วินัยอันเป็นอาริยะ” (อริยธรรม-อริยวินัย) ซึ่งเป็นเรื่อง วิสามัญ ส่วนเรื่อง “โลกียะ” นั้น เป็นเรื่อง สามัญทั่วไป ทุกศาสนาล้วนกล่าวถึงความลึกซึ้งของกุศลธรรม และอกุศลธรรม ตามทฤษฎีของตนๆอยู่ทั้งสิ้น ส่วนใหญ่ทุกศาสนาจึงมีตรงกันสอดคล้องกัน จะต่างกันก็เพียงส่วนย่อย หรือส่วนละเอียดเท่านั้น

สำหรับเรื่อง “โลกุตระ” หรือ “ธรรมอันเป็นอาริยะวินัยอันเป็นอาริยะ” นี้ พระพุทธเจ้าตรัสยืนยันว่า มีแต่ในศาสนาพุทธศาสนาเดียวเท่านั้น ศาสนาอื่น “ว่าง” จากโลกุตระ หรือว่างจาก “ธรรมอันเป็นอาริยะวินัยอันเป็นอาริยะ” (อริยธรรม-อริยวินัย) ซึ่งความเป็น “โลกุตระและอาริยะ” นี้แล ที่เป็น “ธรรมะถึงขั้นนิพพาน”

“นิพพาน” คือ “ความดับโลก” ดังนั้น ผู้จะ “ดับโลก” ได้ ก็ต้องรู้แจ้งเห็นจริงในความเป็น “โลกนี้” (โลกียะ) อย่างถูกตัวถูกตนของสภาวะ และรู้แจ้ง “โลกหน้า” (ปรโลก,โลกุตระ) อย่างสัมมาทิฏฐิถึงขั้นปรมัตถสัจจะ เมื่อสามารถรู้แจ้ง “โลกนี้” (โลกียะ) แล้วปฏิบัติให้ถึง “ความดับโลกนี้” (ดับโลกียะ) หมายความว่า “ดับกิเลสที่ติดยึดโลกนี้หรือดับ ความเป็นทาสโลกนี้” ถูกสภาวะจริงนั่นเอง ในตนลงหมด สิ้นได้ จึงสามารถเข้าสู่ โลกหน้า (ปรโลก,โลกุตระ) สำเร็จ

การดับหรือการตายจาก “โลกนี้” (โลกียะ) สู่ “โลกหน้า” (โลกุตระ,ปรโลก) ตามปรมัตถสัจจะของพุทธ จึงมิใช่ “การดับหรือการตาย” ของชีวิตที่หมายเอาร่างกายตายหมดลมหายใจ แต่หมายเอา กิเลสในจิตดับ หรือตาย เมื่อมี “การตายในจิตจริง” (กิเลสตาย) จิตก็เป็น “การเกิดจริง” เรียกการเกิดนี้ว่า “โอปปาติกโยนิ” (การผุดเกิดของจิตในจิต,ผู้เกิดพร้อมทันที)

ผู้เกิดใน “โลกหน้า” (โลกุตระ,ปรโลก) ซึ่งเป็นการเกิดทางปรมัตถ์แบบพุทธตามนัยดังกล่าวนี้ได้สำเร็จ จึงเป็น การเกิดใน ” โลกหน้า” (ปรโลก,โลกุตระ) ชนิดที่ไม่ใช่การตายทางร่างกาย ที่หมดลมหายใจแล้ว ไปเกิดแน่ ดังนั้น เมื่อผู้บรรลุโลกุตระสูงสุดแล้วแต่ยังมีชีวิตอยู่ ก็ย่อมยังมีกรรมกิริยาทำการงานอยู่ ตามประสาคนที่ไม่มีความขี้เกียจ และการงานหรือกรรมกิริยาของท่านผู้ “จบกิจ” ซึ่งเป็นการจบ “ประโยชน์ตน” (อัตตัตถะ) แล้วนี้ การงานหรือกรรมกิริยาของท่าน จึงเป็นไปเพื่อผู้อื่นทั้งสิ้น นั่นคือ เป็น “ประโยชน์ท่าน” (ปรัตถะ) ทั้งสิ้นนั่นเอง

ศาสนาพุทธมี “นิพพาน” เป็น “ประโยชน์ตน” (อัตตัตถะ) อันสูงสุด ผู้ใดมีนิพพานสมบูรณ์ ถือว่า “จบกิจ” ใน การมี “ประโยชน์ตน” บริบูรณ์

กล่าวคือ “สมบัติทางนามธรรม” ได้แก่ ปัญญา และวิมุติ เป็น “โลกุตรสมบัติสำคัญสูงสุด” สำหรับตน ซึ่งจะต้อง “รู้ตัวตนและดับตัวตน” ก็ได้รู้แจ้งและได้ปฏิบัติ จนดับถูกตัวถูกตน “จบ” สัมบูรณ์แล้ว หรือ “สมบัติทางรูปธรรม” อันได้แก่ ลาภ,ยศ,สรรเสริญ,โลกียสุข ที่เป็น “โลกียสมบัติ” ก็หมดสิ้นการติดยึด ที่จะสะสมมาเพื่อตนอีกแล้ว เพราะฉะนั้นการงาน หรือกรรมกิริยาของท่านผู้ “จบกิจตน” แล้วนี้ จึงเป็นไปเพื่อ “ประโยชน์ท่าน” (ปรัตถะ) ทั้งสิ้น เพราะส่วนที่เป็นไปเพื่อ ประโยชน์ตนนั้น ครบถ้วนแล้วจริงๆ ท่านไม่ต้องทำเพื่อตนอีกแล้ว แม้ท่านผู้นี้จะศึกษาอะไรต่อ จะมีความรอบรู้ยิ่งๆขึ้นต่อไป เป็นสัมมาสัมโพธิญาณก็ตาม จะฝึกฝนหรือทำกิจการงานอะไรเพิ่มขึ้น มีความสามารถชำนิชำนาญ เก่งกาจเจริญก้าวหน้าขึ้น ในเรื่องอื่นใดไปอีกเท่าใดๆ ก็เป็นอัน “ไม่ใช่เพื่อตน” อีกแล้ว เพราะท่านหมดตัวตน มี “สันโดษ” (ใจพอ) แท้แน่จริงแล้ว กล่าวคือ ชีวิตเป็นอยู่ท่าน ก็เพียงอาศัยกินใช้จากแรงงาน ความสามารถของท่านเองนั่นแหละ และมีชีวิตอยู่ทำงาน ช่วยรื้อขนสัตว์ ไปเท่าที่ท่านประสงค์ ซึ่งท่านบรรลุ “อัปปิจฉะ, สันตุฏฐิ, ปวิเวกะ, อสังสัคคะ” และท่านมี “วิริยารัมภะ” บริบูรณ์แล้วจริงแท้แน่นอน

ดังนั้น เมื่อท่านผู้เป็น “อรหันต์” แล้วนี้ ท่านจะศึกษาฝึกฝนความรู้ขั้น “สัมมาสัมโพธิญาณ” สั่งสมเพิ่มเติมขึ้นไปอีกเท่าใดๆ “สัมมาสัมโพธิญาณ” ที่เจริญขึ้นๆในตัวท่านอีกนั้น ก็ไม่นับว่าเป็น “ประโยชน์ตน” (อัตตัตถะ) เพราะความรู้ความสามารถที่เกิดเพิ่มขึ้นๆทั้งหลายทั้งปวงล้วนแต่จะเป็นไปเพื่อ “ประโยชน์ผู้อื่น” (ปรัตถะ) ต่อไปๆๆๆทั้งสิ้น แม้กุศลใดๆที่ท่านเกิดท่านทำก็ตาม สิ่งที่เกิดที่มีนั้นล้วนเป็นไปเพื่อ “ประโยชน์ผู้อื่น” (ปรัตถะ) ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมแท้จริง เพราะสำหรับท่าน ไม่ว่า จะเป็นนิพพาน หรือลาภ,ยศ,สรรเสริญ,โลกียสุขที่คน ทั้งชาวโลกุตระและชาวโลกีย์พึงถือกันว่า คือ “ผล” คือ “ประโยชน์” กันนักหนานั้น ท่าน “จบกิจ” สิ้นยึดถือเป็นอารมณ์ ที่จะต้องได้ ต้องเป็นต้องมี สำหรับตนอีกแล้วจริงๆ ท่านต้องลำบากเหน็ดเหนื่อยเพื่อผู้อื่นต่างหาก สำหรับตัวท่านเอง ไม่ต้องสะสมหรือบำเรอตน อีกเด็ดขาดแล้ว ท่านอยู่ จึงอยู่เพื่อ “ช่วยรื้อขนสัตว์” ต่อไป มิใช่ “เพื่อตน” ใดๆเลย

ท่านผู้ใดบรรลุ “นิพพาน” ครบจบสำหรับตนได้แล้ว และเป็น “อรหันต์” ที่ยังมี “ขันธ์ ๕” เมื่อท่านผู้นี้ยังไม่ “ปรินิพพาน” ท่านก็ยังมีกรรมกิริยาทำการงานอยู่ในสังคมอยู่แน่ๆ กรรมกิริยาเหล่านั้นล้วนเป็นกุศลที่ถึงพร้อมและเป็นกรรมที่ “สักแต่ว่ากิริยา” ไม่สุขไม่ทุกข์สำหรับตน หากดำเนินไปอยู่ตราบใด ก็เป็น “ประโยชน์แก่ผู้อื่น” (ปรัตถะ) อยู่ตราบนั้น ดังนั้นแม้อรหันต์ท่านนี้ จะยังศึกษาฝึกฝน “โพธิสัตวภูมิ” ต่อไป หรือจะบำเพ็ญกิจต่อไปสู่ “พุทธภูมิ” อีก ก็ถือว่า ท่านไม่ได้ “ทำเพื่อตน” แล้ว กรรมกิริยาหรือความรู้ความสามารถ ที่จะต้องพึงเกิดพึงพัฒนาเป็น “พระโพธิสัตว์มหาสัตว์” สูงขึ้นๆไปอีกปานใดๆ “ผลแห่งวิบากกรรม” ที่ต้อง “เป็นของตน” (กัมมัสสกะ) ตามสัจจะนั้นก็ตาม ก็เป็นเรื่องของ “สัมภารวิบาก” ที่สั่งสมขึ้นเป็น “บุญบารมี” อันจะเสริมส่งซ้อน ย้อนกลับไปเป็นสมรรถนะ ทำ “ประโยชน์แก่มวลมนุษยชาติ..รื้อขนสัตว์” ได้ยิ่งๆขึ้นนั่นเอง ซึ่ง “พ้นประโยชน์ตน” อย่างสิ้นจบแล้วจริงๆ

ผู้มี “นิพพาน” จึงเป็นทั้ง “ประโยชน์ตน” (อัตตัตถะ) สุดสูงสุดและเป็นทั้ง “ประโยชน์ท่าน” (ปรัตถะ) อย่างอภิมหาศาล

ในขณะที่ผู้ปฏิบัติยังเป็น “เสขบุคคล” (อาริยบุคคลที่ยังไม่ได้นิพพานสมบูรณ์เป็นที่สุด) พากเพียรบำเพ็ญเพื่อ “ประโยชน์ตน” (อัตตัตถะ)อยู่นั้น หากทำกรรมใดก็จะเป็นผู้มี “ประโยชน์ทั้งตนและทั้งประโยชน์ผู้อื่น” (อุภยัตถะ)ไปพร้อมกันในกรรมเดียวกันและในขณะเดียวกัน ต่อเมื่อ “จบกิจ” เป็น “อเสขบุคคล” (อาริยบุคคลที่ได้นิพพานสมบูรณ์เป็นอรหันต์) แล้ว จึงจะเป็นผู้ทำกรรมใดก็เป็นกรรมกิริยาที่มีแต่ “ประโยชน์ผู้อื่น” (ปรัตถะ) ชนิดไม่เห็นแก่ตัวสัมบูรณ์ เพราะหมดตัวตนแล้ว ท่านผู้นี้จึงมีแต่ “ประโยชน์ผู้อื่น” (ปรัตถะ) ไปตลอด จนกว่าจะ “ปรินิพพาน”

นิพพาน จึงเป็นยอดแห่ง “ประโยชน์” ที่มนุษย์พึงมีพึงได้เป็นที่สุด

และที่สุดแห่งที่สุด ก็คือ “ปรินิพพาน” ซึ่งเป็นการดับสิ้นหมดทุกสิ่งอย่าง ไม่มีอะไรอีกเลย หมายความว่า ไม่มีทั้ง “โลกนี้” (อดีตและปัจจุบันกาล)สำหรับตน ไม่มีทั้ง “โลกหน้า” (อนาคตกาล)สำหรับตนอีกแล้ว เป็นสุดท้าย ตัดวัฏฏสงสาร ไม่มีโลกหน้า และไม่มีโลกนี้หรือโลกไหนๆ กันอีกนิรันดร์ สุดสิ้นอันติมสัจสัมบูรณ์สำหรับบุคคลผู้นี้

“ปรินิพพาน” คือ การสิ้นสุด “จบปรมัตถ์” ทั้งในอดีต ในปัจจุบันในอนาคต สิ้นสุดแม้แต่ “ประโยชน์ผู้อื่น” ที่เป็น “บรมประโยชน์” (ปรมัตถ์) ต่อมวลมนุษย์ก็หยุดสนิทเด็ดขาด กรรมกิริยา หรือการยังมีบทบาทลีลาทั้งทาง “รูปธรรม” และทั้งทาง “นามธรรม” ก็เป็นอันหมดจบ สุดสิ้นสำหรับมนุษย์คนใดคนหนึ่ง ทั้งโลกนี้และโลกหน้าสิ้นเชิง

เพราะฉะนั้น “ประโยชน์” (อัตถะ)ตามปรมัตถสัจจะ จึงลึกซึ้งมีคุณค่าแท้ และจะรู้แจ้งถูกต้องตรงสัจธรรมได้ยากมาก เนื่องจาก “นามธรรม” หรือ “จิตวิญญาณ” เป็น ความละเอียดลออลึกซึ้งซับซ้อนยิ่งนัก และ “นามธรรม” จะได้ชื่อว่า “สละออก” หรือ “ทาน” หรือ “จาคะ” ก็ต้องมี “ญาณหยั่งรู้ในภาวะจริงของนามธรรมนั้นๆ” (ญาณทัสสนะ) หรือ “รู้แจ้งเห็นความจริงของใจว่า ใจเราเกิดภาวะการสละ จริงๆ อย่างถ่องแท้” (โยนิโส มนสิการ)

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ชัดว่า “จิตวิญญาณเป็นประธานสิ่งทั้งปวง” หากไม่ศึกษาปฏิบัติจนสามารถรู้แจ้ง “นามธรรม” หรือ “จิตวิญญาณ” อย่างสัมมาทิฏฐิ จนเห็นแจ้ง ความจริงตามที่มี “ปรากฏการณ์” (ปาตุภาวะ)ในจิต(มนสิ) ก็ไม่สามารถจะเป็นคนที่มี “ประโยชน์” ได้แท้จริง เพราะใครก็ตาม ที่จะรู้จักสัจธรรมของ “ประโยชน์” จะต้องรู้จัก “ทาน” หรือ “จาคะ” อย่างสัมมาทิฏฐิ แล้วปฏิบัติจนกระทั่ง “เกิดความสละนั้น ‘ที่ใจ’ (มนสิ)จริงๆ” (สัจจภาวะ)

เพราะ “กรรมด้านนามธรรม” นั้น ลึกซึ้งยิ่งกว่า “กรรมด้านรูปธรรม” มากกว่ามากนัก ผู้ไม่สนใจด้าน “นามธรรม” เฉพาะอย่างยิ่งไม่เข้าใจถึงขั้น “ปรมัตถสัจจะ” ก็จะไม่รู้ได้ว่า “ทาน” ของตนในครั้งนั้นๆ จะเป็นบุญหรือบาป และอย่างไรจึงจะเป็น “โลกุตรกุศล” ก็ขึ้นอยู่กับ “มโนกรรม” ของผู้ “จาคะหรือทำทาน” เป็นนัยสำคัญ

(อ่านต่อ ฉบับที่ ๑๓๐) / ๑

ย้อนกลับไปหน้าแรก   อ่านต่อฉบับที่ 130
ชีวิตนี้มีปัญหา ๑ สมณะโพธิรักษ์ (เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๒๙ เมษายน ๒๕๔๔)