หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >เราคิดอะไร

 
ชีวิตนี้มีปัญหา ๑
สมณะโพธิรักษ์
หนังสือพิมพ์ เราคิดอะไร ฉบับ 131 มิถุนายน 2544
หน้า 1/1

ทีนี้ลองมาทบทวนไล่เรียง “ประโยชน์” (อัตถะ)ไปตามลำดับตั้งแต่ขั้นต้น “ประโยชน์ตน” สามัญที่สุดสำหรับผู้ “ทำทาน” ก็คือ ผู้ที่ “ทำทาน” ในสายตาของผู้อื่น ของสังคมที่รู้ที่เห็นย่อมนับถือว่า เป็น “คนดี” แม้ในจิตเบื้องลึกของผู้ที่ “ทำทาน” นั้นจะยังไม่ “เสียสละ” จริงบริสุทธิ์ใจ เป็นการ “ทาน” ที่จิตผู้ทำทานยังมี “ความโลภ” หรือยังมี “ความตระหนี่” แฝงอยู่ในจิต จะมากหรือน้อยที่หลงเหลือ อยู่จริง ก็ตาม [คือ “ให้” แต่ก็ยังหวงหรือยังเสียดาย ซึ่งการคิด ‘มูลค่า’ เป็นตัวเลขยากมาก ทว่าเมื่อมีจริงก็ต้องเป็นไปตามสัจจะ] แต่ “ประโยชน์ตน” ที่พึงได้จากสังคมอันคนทั้งหลายต่างก็รู้จักสภาพของ “กิริยาการทาน” นี้ว่า เป็นคุณค่าประโยชน์ในโลก ซึ่งอยู่ในรูป “สรรเสริญ” นี่คือ “ประโยชน์ปัจจุบันชาติ, ประโยชน์อันเห็นได้กันทั่วไป” ซึ่งเป็น “ประโยชน์ขั้นต้นขั้นพื้นฐาน” และเป็นประโยชน์ผิวเผิน ที่โลกรู้โลกเห็นในปัจจุบัน เรียกว่า “ทิฏฐธัมมิกัตถะ” (จบเล่ม ๑๓๐) (อ่านต่อเล่ม ๑๓๑) / 1

นี่คือ “ประโยชน์” ที่เข้าใจกันทั่วไปเป็นโลกธรรมในปัจจุบัน และใครจะเป็นคนผู้มี “ประโยชน์” เช่นนี้ได้ ก็ต้องมี “สิ่งของวัตถุ” หรือมี “ความรู้ความสามารถ” ที่จะออก แรง เป็นแรงกายแรงความคิด “ให้ทาน” แก่ผู้อื่นได

แต่ตามสัจจะที่แท้ที่ถูกต้องที่สุด ไม่บิดเบี้ยวเลย นั้น ตนยังไม่มี “ประโยชน์ตน” ทั้งรูปและนามด้วยซ้ำ เพราะทางรูปธรรม “ตน” ก็ให้วัตถุหรือแรงงานออกไป แก่ผู้อื่นอยู่ชัดๆ และทางนามธรรม “ตน” ก็ยังไม่ได้อะไร ซ้ำมิหนำผู้ทำทานส่วนมากจะ “เสียคุณค่าทางจิตของตน” เอาด้วย จึงไม่ชื่อว่า “ตนได้ประโยชน์”

ที่ว่า “ตน” ยังไม่ได้ “ประโยชน์ตน” หรือ “เสียคุณค่าทางจิตของตน” ซ้ำเสียอีกนั้น ก็คือ ในความเป็นจริงแนวลึก เพราะ “ผู้ทำทานยังไม่รู้จัก ‘พุทธธรรม’ ถึงขั้นสัมมาทิฏฐิที่จะปฏิบัติ” โดยเฉพาะยังไม่รู้ลึกถึงขั้น “อภิธรรม” ยังไม่รู้จัก “อกุศลจิต-กุศลจิต” ภายในจิตของผู้ทำทานก็เป็น “จิตไม่บริสุทธิ์” เพราะยังมีมโนกรรมที่ขี้โลภอยู่ในจิตอีกนักหนา บ้างก็เป็นกิเลสที่ต้องการสิ่งตอบแทน บ้างก็ใช้ความฉลาดคิดเอาเปรียบกลับคืนมาให้แก่ตนอีกให้ได้มากมายทับทวี ตามประสาคน ที่ยังไม่มีภูมิโลกุตระ ไม่รู้สัจจะที่ก่อเกิด “ประโยชน์ขั้นมรรคผล” (ปรมัตถะ) บางทีถึงขั้นจิตคิด ทำการคดโกงไปพร้อมกับการทำทานนั้นๆ ซึ่งเข้าข่ายทุจริตบาปหยาบช้าก็ยังมี

เป็นต้นว่า ขณะที่ “ทำทาน” อยู่แท้ๆ จิตก็ยัง “อธิษฐาน” ผิดๆ ซึ่ง “อธิษฐาน” จริงๆแปลว่า “ตั้งใจให้ดี ให้สูงขึ้นๆ” แต่ก็ไป “ตั้งจิตให้ชั่ว ให้ต่ำลงๆ” กล่าวคือ ตั้งความขี้โลภลงใส่จิตตน โดยการตั้งจิต “ขอ” มาให้แก่ตน[ทั้งๆที่กำลังทำทานหรือกำลังทำการเสียสละอยู่ในปัจจุบันนั้น] ก็ยัง “ขอ” ให้เราร่ำรวยได้อะไรตอบแทนการทำดี [ทำทานขณะนี้] มา “มากกว่า” ที่ตนทำทานครั้งนี้ด้วยซ้ำ ยิ่งมากเท่าใดก็ยิ่งดี ไม่เกี่ยงเลย จึงชื่อว่า “ตน” ตั้งจิตขี้โลภแน่แทนี่คือ มโนทำกรรมชั่วโดยสัจจะ เมื่อเกิดกรรม ‘โลภ’ ทันทีก็ต่ำลงทันท ก็เท่ากับ “ตน” ยังไม่ได้ “ประโยชน์ที่เป็นขั้นสูง หรือ ขั้นปรมัตถธรรม” เลย แต่"จิตของตนเติมกิเลสหรือกิเลสอ้วนขึ้น ด้วยเนื้อหาของ ‘ความโลภ’ ได้เกิดแก่จิตตนแล้วจริง” เห็นไหมว่า ทำทานซึ่งเป็นรูปธรรม “ดี” แท้ๆ แต่ “นามธรรมของตน” กลับเกิดจิตต่ำลงโดยสัจจะ

แม้ตามสังคมโลกีย์จะเห็นเป็น “ดี” เพราะในรูปของ “วัตถุ” ผู้อื่นได้รับวัตถุ ก็ถือว่า ผู้ทำทานเป็น “คนดี” มีประโยชน์ต่อผู้อื่น ..นั่นก็ถูกแล้ว ไม่ผิดอะไรเลยในโลกหยาบๆตื้นๆ เขาก็รู้ก็เห็นกันแค่นั้น ภายนอกจึงนับว่า นี่คือ “ประโยชน์ปัจจุบัน,ประโยชน์ในสังคมที่รู้ ที่เห็นที่เข้าใจกันดีทั่วไป, ประโยชน์ตามสมมุติสัจจะ, ประโยชน์ขั้นต้น” จึงต่างถือกันว่าเป็น “ทิฏฐธัมมิกัตถะ” ซึ่งหมายความว่า ประโยชนที่คนโลกีย์ต่างก็เข้าใจกันแล้ว หรือประโยชน์อันให้ผลในปัจจุบันของโลกีย์ทั่วไป

กล่าวคือ คนในสังคมจะเห็นใน “กรรมกิริยาภายนอกแห่งการทาน” นั้น ว่า “ผู้ทำทานนี้คือผู้ทำดี” เขาทั้งหลาย ก็จะให้ “ค่า” ว่าเป็น “คุณงามความดีทางกายกรรม ทางวจี กรรม” เพราะคนในสังคมทั้งหลาย ที่เห็น “การทำทาน” ของผู้ทำทานก็เห็นเพียงภายนอก ย่อมไม่สามารถหยั่ง เข้าไปรู้เห็นภายในใจของผู้ทำทาน หรือรู้ไม่เท่าไม่ทัน แม้ภายในใจของผู้ทำทาน จะเป็นเล่ห์กล หรือมโนกรรมที่มีบทบาทขี้โลภยิ่งขึ้น บาปหนาขึ้นๆอยู่ปานใดก็ตาม ก็นี่แหละคือ “ประโยชน์” แบบโลกีย์สามัญ ที่ปุถุชนทำๆและเข้าใจกันอยู่ทั่วไป ผู้ทำทานก็นิยมจะพยายามให้ประชาชนคนทั่วไป รู้เห็นกายกรรมวจีกรรมแห่งการ “ทำทาน” นั้นๆของตน ยิ่งคนเห็นคนรู้มากเท่าใด ยิ่งนับเป็นประโยชน์มาก เพราะได้รับ “สรรเสริญ” มากเท่านั้น

ด้วยความรู้ความเชื่อเช่นนี้เอง ผู้ทำทานจึง “ดีใจ สุขใจ” ไปกับกายกรรมวจีกรรม ที่ตนได้ทำทานภายนอก และได้รับสรรเสริญ ทั้งๆที่ภายในจิตตนมีเล่ห์กล หรือคดโกงอยู่ “เป็นบาป” ซึ่งได้รับอกุศลใส่ตนอยู่ ก็ตาม

นั่นเป็นเรื่อง “ทิฏฐธัมมิกัตถะ” (ประโยชน์เห็นๆพื้นๆ ในปัจจุบัน) ที่เป็น “ภายนอก” ต่างก็รู้กันได้อยู่ทั่วไป

ส่วนประโยชน์แนวลึกของ “การทำทาน” ซึ่งเป็นภาวะ “ภายใน” ที่เกิดพร้อมกันในขณะที่ “ทำทาน” อยู่นั้นแหละ คือ ความเป็น “สัมปรายิกัตถะ” ที่แปลว่า “ประโยชน์ถึงขั้นโลกหน้าหรือโลกอื่น” หรือพูดให้ชัดขึ้น ก็คือ ภาวะของจิตที่พัฒนาก้าวออกไปสู่ “โลกอื่น” (ปรโลก หรือสัมปรายภพ) ซึ่งเป็น “โลกหน้าหรือโลกใหม่หรือโลกที่ต่างจากโลกเก่า” (สัมปรายภพหรือปรโลกแบบพุทธ)ได้สำเร็จ อัน “โลกเก่า” นั้นก็คือ “โลกีย์” ที่เป็น “โลกของปุถุชน” นั่นเอง

“สัมปรายิกัตถะ” จึงเป็นความสามารถของคนผู้ปฏิบัติก้าวหน้าจนเกิดได้จริงใน “โลกใหม่” อันเป็นโลกที่เรียกว่า “โลกุตระ” หรือ “สัมปรายภูมิ” (โลกของอาริยชน)

ดังนั้น “ประโยชน์” หรือ “อัตถะ” ที่สูงขึ้นไปกว่า “ประโยชน์สามัญในโลกที่เรียกว่าโลกีย์” จึงเรียกว่า “สัมปรายิกัตถะ” ซึ่งหมายถึง ประโยชน์เบื้องหน้า,ประโยชน์ขั้นสูง,ประโยชน์ในความเป็น ‘โลก’ อันจะมีต่อไปในเบื้องหน้าที่ละเอียดกว่าสูงส่งกว่าดีกว่า ‘โลก’ ที่ตนเป็นอยู่แบบเก่าๆเดิมๆ อันวนเวียนอยู่ในความเป็นโลกธรรม ๘ ซึ่งหมายเอานามธรรมและเป็น “ภายใน” นั่นแหละที่คือ เนื้อหาสำคัญ

“สัมปรายิกัตถะ” ประโยชน์เบื้องหน้าหรือประโยชน์โลกขั้นสูงนี้ จึงคือ จิตเกิดใหม่สู่ “โลกุตรภูมิ” นั่นเอง

และเกิดได้จริงหรือไม่ได้จริงนั้นวัดด้วยอะไร ก็วัดด้วย...
๑. จิตของคนบรรลุธรรมถึงขั้นศรัทธา (ศรัทธาสัมปทา)
๒. จิตของคนบรรลุธรรมในศีลนั้นๆ (ศีลสัมปทา)
๓. จิตของคนบรรลุธรรมในการให้หรือ การสละความโลภออกจากจิตได้ (จาคสัมปทา)
๔. จิตของคนบรรลุธรรมถึงขั้นมีภาวนามยปัญญา คือมีความรู้ในสิ่งที่ตนทำให้เกิดผลสำเร็จ (ปัญญาสัมปทา)

จะเห็นได้ว่า “ประโยชน์ตน” อย่างแท้จริงในการ “ทำทาน” นั้น คือ “ตน” จะต้องได้ละล้างกิเลสโลภ ของตนออกจากจิต ชนิดตั้งใจพากเพียรละล้างอย่าให้ “ตระหนี่” อย่าให้หวงแหน และที่สำคัญ “อย่าให้จิตของตนมีอาการโลภเกิด” ให้ได้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้

หากตนได้ปฏิบัติละ “ความตระหนี่” แม้จะ “ทำทาน” อย่างไม่เข้าถึงขั้น “โลกุตระ” เพราะยังไม่รู้แจ้ง “ปรมัตถสัจจะ” ก็ตาม ก็ยังได้ฝืนใจตนละ “ความโลภ” ซึ่งใจจริงๆ นั้นจะ “ฝืน” ใจจะ “ไม่อยากให้” อยู่ขนาดไหนก็ตาม แต่ก็ได้ “ฝืนใจ” ได้ข่มใจ จึงเป็น “ผลสมถะ” แก่จิตตน อานิสงส์ ยังเป็น “กัลยาณผล-กัลยาณธรรม” จะมากจะน้อยก็เท่าที่ “ผลสำเร็จที่ไม่ให้อาการโลภเกิด” ได้สนิทเท่าใดๆ ถ้ามัน “ฝืนมาก” ก็ได้ “กัลยาณผลน้อย” แต่ถ้า “ฝืนน้อย” ก็มี “กัลยาณผล” มาก ถ้ายิ่ง “ไม่ฝืนเลย” ก็ยิ่งมี “กัลยาณผล” มากยิ่งขึ้น นี้คือ “สมถวิธี” อันยังไม่ใช่ “อาริยผล”

และคนที่มี “ใจทำทานด้วยความไม่ฝืน” นี้ ก็ยังมีนัยละเอียดออกไปอีก เป็นต้นว่า ผู้ที่ “ไม่ฝืนใจเลย” ทานหรือให้เพราะ “รัก” และในการให้ทานที่ “ไม่ฝืนใจ” นี้ต้องให้ด้วยใจ “ไม่มีเล่ห์กล ไม่หวังผลตอบแทน“ กรณีเช่นนี้ หากผู้ที่เราให้เพราะ “รัก” เป็นคนดี ผู้รับเอาของทานที่ได้ไป ทำประโยชน์มากน้อยเท่าไหร่ ก็ย่อมมี “กัลยาณผล” เป็นบุญกุศลมากน้อย ตามคุณค่าความจริง ของประโยชน์ อันเป็น “โลกียกุศล” ก็ย่อมมีมูลค่าจริงตามสัจจะ ซึ่งเป็นอจินไตย เพราะคิดคำนวณมูลค่าได้ยากยิ่ง

(อ่านต่อเล่ม ๑๓๒) / ชีวิตนี้มีปัญหา๑

อ่านฉบับ 130    
ชีวิตนี้มีปัญหา ๑ สมณะโพธิรักษ์ ( เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๓๑ มิถุนายน ๒๕๔๔ หน้า ๒๑ )