บทความชุดนี้ตั้งใจจะเขียนขึ้นเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของ
"อำนาจรัฐ" และชี้ให้เห็นช่องทาง ที่จะเป็นทางออกจาก ตรรกะแห่งความขัดแย้ง
ของขุมอำนาจดังกล่าว จากรากฐานทางพุทธปรัชญา อันอาจกล่าวได้ว่า เป็นแนวคิด
"เศรษฐศาสตร์การ เมืองเชิงพุทธ"
เศรษฐศาสตร์การเมืองเชิงพุทธ
ตอน ๖
ข้อจำกัดของมโนทัศน์เรื่อง สิทธิ
ทฤษฎีกำเนิดอำนาจรัฐในอัคคัญญสูตร
ถึงแม้จะมีเนื้อหาคล้ายคลึงกับทฤษฎี สัญญาประชาคมของนักคิดทางตะวันตก
แต่มีการวางตำแหน่งแห่งที่ของมโนทัศน์ สำคัญซึ่งเปรียบเสมือนเป็นรหัสทางพันธุกรรมในสายพันธ์แห่งกระบวนทัศน์
(paradigm) ของความรู้ ที่แตกต่างกันเป็นคนละกระบวนทัศน์* ( * ดูแนวคิดเกี่ยวกับ เรื่องรหัสทางพันธุกรรม ในสายพันธุ์แห่งกระบวนทัศน์ของความรู้ใน
สุนัย เศรษฐบุญสร้าง, การเปลี่นแปลง กระบวนทัศน์ของ พุทธศาสนา ในสังคมไทย,
(กรุงเทพฯ : สำนักพิพม์ กลั่นแก่น, ๒๕๔๒) หน้า ๑๒๖ - ๑๕๔ )
ขณะที่ทฤษฎีสัญญาประชาคมวางอยู่บนรากฐานของมโนทัศน์สำคัญในเรื่อง
สิทธิตามธรรมชาติ (natural right)
โดย ถือว่า สิทธิ เป็นคุณสมบัติสำคัญ
ของแก่นสาร แห่งความเป็นมนุษย์ที่มีติดตัวทุกคน มาตั้งแต่เกิด ครั้นเมื่อมนุษย์
มาอยู่รวมกัน เป็นกลุ่มก้อนในสังคม ภาวะของสงครามหรือความขัดแย้ง
ระหว่าง มนุษย์ด้วยกันในสังคม ตลอดจนระหว่างสังคมมนุษย์กลุ่มหนึ่ง
กับสังคมมนุษย์ อีกกลุ่มหนึ่ง จะทำให้ สิทธิ
ที่เป็นแก่นสารของความเป็นมนุษย์นี้ ถูกบ่อนทำลาย อำนาจรัฐจึงจำเป็นต้องได้รับ
การสถาปนาขึ้น เพื่อวัตถุประสงค์ในการปกป้องแก่นสาร แห่งสิทธิในความเป็นมนุษย์
ดังกล่าว
ตัวอย่าง เช่น ถ้าปล่อยให้บุคคลบางคนในสังคม
ตั้งตัวเป็นผู้ทรงอิทธิพล รีดไถปล้น ชิงทรัพย์สินของผู้อื่น เอามาเป็นของตน
สิทธิในชีวิต และทรัพย์สิน ของผู้คน ในสังคมนั้นๆ ก็จะถูกคุกคาม
หรือถ้าหากให้รัฐหนึ่งๆ ทำสงครามเอาชนะอีกรัฐหนึ่ง
ฝ่ายที่ชนะในสงคราม ก็จะสามารถยึดครอง ทรัพย์สินต่างๆ จากชนชาติที่พ่ายแพ้
รวมทั้งจะประหารชีวิต หรือกวาดต้อนเชลย ที่พ่ายแพ้ในสงคราม ไปเป็นข้าทาสอย่างไรก็ได้
ตามอำเภอใจ ส่งผลให้ผู้ที่พ่ายแพ้ในสงคราม ต้องสูญเสีย"สิทธิต่างๆ"
ที่เคยมีอยู่ แม้กระทั่งสิทธิพื้นฐาน
ที่จะดำรงชีวิตอยู่บนโลกนี้ ตลอดจนสิทธิที่จะได้รับการเคารพ ในศักดิ์ศรี แห่งความเป็นมนุษย์
เช่นเดียวกับมนุษย์คนอื่นๆ ด้วยกัน เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้ มนุษย์จึงได้หันมาทำข้อตกลงร่วมกัน ที่จะยอมสละสิทธิ
(ส่วนน้อย) บางส่วน เพื่อสถาปนาอำนาจรัฐ ขึ้นมาเป็นเครื่องมือปกป้อง
คุ้มครองสิทธิ (ส่วนใหญ่) ของมนุษย์ ไม่ให้ถูกคุกคามทำลาย
อาทิ ยินยอมสละสิทธิ ที่จะสามารถใช้ชีวิตส่วนตัวตามใจชอบ
โดยยอมให้รัฐมีอำนาจ เรียกเก็บภาษี และบังคับการเกณฑ์ทหาร (เหนือสิทธิส่วนบุคคลในส่วนนี้)
เพื่อรัฐ จะได้มีทรัพยากร สำหรับสร้างกองกำลัง ทางทหารที่แข็งแกร่ง
ขึ้นมาทำหน้าที่ คุ้มครอง ปกป้องรักษาสิทธิส่วนใหญ่ ของประชนชนในรัฐนั้นๆ
ไม่ให้ถูกล่วงละเมิด ทั้งจากสมาชิกด้วยกัน ภายในสังคม ตลอดจนจากการถูกคุกคาม
โดยศัตรูผู้รุกราน จากภายนอกสังคม เป็นต้น
ภายในเงื่อนไขข้อตกลงในพันธะสัญญาประชาคม
"สิทธิ" จึงเป็นทั้งรากฐานแห่งจุดเริ่มต้น ที่นำไปสู่การก่อเกิดอำนาจรัฐ
ขณะเดียวกัน ก็เป็นจุดหมายสุดท้าย ที่อำนาจรัฐ จะต้องทำการปกป้อง
คุ้มครองด้วย รัฐในอุดมคติตามนัยแฝง ของทฤษฎีสัญญาประชาคมนี้ จึงได้แก่รัฐที่สามารถเอื้ออำนวย
ให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพที่สมบูรณ์ เข้าใกล้ภาวะดั้งเดิมตามธรรมชาติ
ที่มนุษย์มีสิทธิเต็มเปี่ยม มากที่สุด
เปรียบเทียบกับทฤษฎีกำเนิดอำนาจรัฐ
ในอัคคัญญสูตร รากฐานสำคัญ ที่เป็นจุดเริ่มต้นของอำนาจรัฐ เกิดจากกิเลส
ตัณหา อุปาทาน หรือความต้องการ ส่วนเกินความจำเป็นของมนุษย์ ที่ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น
จนนำไปสู่ภาวะ ความบีบคั้น เป็นทุกข์ ถึงระดับที่มนุษย์ทนต่อไปได้ยาก
จึงต้องสถาปนาอำนาจรัฐขึ้นมา เพื่อช่วยคลี่คลาย ภาวะความขัดแย้งต่างๆ
ที่เกิดขึ้น ในมิติทางสังคม ดังกล่าว
ขณะที่ความต้องการส่วนเกินของชีวิต เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญ ที่นำไปสู่การก่อเกิด
อำนาจรัฐ เป้าหมายสุดท้ายของแก่นสาร แห่งอำนาจรัฐ จึงอยู่ที่การคลี่คลาย
ความต้องการส่วนเกิน ของสังคมนั้นๆ ให้เบาบาง ลดน้อยลงในที่สุดด้วย
** ( ** ความต้องการจำเป็นแท้ๆ ของชีวิตมีเพียงปัจจัย ๔ ซึ่งในคีรีมานนทสูตร
พระพุทธเจ้าตรัสว่า ได้แก่บริโภค ๒ คือ จีวรและเสนาสนะ ซึ่งเป็นบริโภคนอกหนึ่ง
กับบิณฑบาตและคิลานเภสัชที่เป็นบริโภคในอีกหนึ่ง แต่เพราะมีกิเลสตัณหา
อุปาทานครอบงำ มนุษย์จึงมีความต้องการส่วนที่กินจากความจำเป็นแท้ๆ
ของชีวิตงอกเงยเพิ่มขึ้น ฉะนั้น ผู้เขียน จะใช้คำว่า "ความต้องการส่วนเกิน"
ในความหมหายเดียวกับ "กิเลสตัณหาอุปาทาน" เพื่อลดการใช้ศัพท์ ทางภาษาศาสนา)
รัฐในอุดมคติตามนัยแฝงของพุทธปรัชญา
ที่ปรากฏในอัคคัญญสูตรนี้ จึงได้แก่ "รัฐที่ไม่มีรัฐ"
เพราะเมื่อผู้ปกครองรัฐที่เป็น "ราชา"
ในระบอบ ธรรมมาธิปไตย "ยังชนเหล่าอื่น ให้สุขใจ ได้โดยธรรม" จนสามารถคลี่คลาย
ทำให้ความต้องการ ส่วนเกิน ของผู้คนในสังคม บรรเทาลดน้อยลง ถึงจุดจุดหนึ่ง
ผู้คนก็จะอยู่ร่วมกัน อย่างสงบสันติ โดยไม่มีความจำเป็น ต้องอาศัยอำนาจรัฐมาไกล่เกลี่ย
ข้อพิพาทต่างๆ อีกต่อไป ถึงจุดนั้น รัฐก็จะอันตรธานหายไปโดยอัตโนมัติ
(withering away) เหลือแต่สังคม ของมนุษย์
ที่อยู่ร่วมกัน อย่างสุขสงบ
อำนาจรัฐ
--> ความต้องการส่วนเกินของสังคม --> ภาวะความขัดแย้งของสังคม --> อำนาจรัฐ
จากที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่าปรัชญาการเมือง
๒ แนวความคิดนี้ มีสาระที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ คือ
๑) มโนทัศน์เรื่อง "สิทธิ" ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือทางความคิด ในการต่อสู้และโค่นล้มอำนาจ
ของสถาบันกษัตริย์ ในลัทธิเทวสิทธิ์ แต่เมื่อมโนทัศน์นี้ ได้ทำหน้าที่ทางประวัติศาสตร์จบแล้ว
การที่มนุษย์ขยายมโนทัศน์เรื่องนี้ออกไป จนเกินขอบเขต มโนทัศน์เรื่อง "สิทธิ" ก็อาจกลายเป็นเครื่องมือ ที่ย้อนกลับมา ทำลายสังคมมนุษย์
เพราะจะไปทำลายรากฐาน ทางจริยธรรมของสังคม และเสริมสร้างให้ "อัตตาตัวตน"
(ที่นำไปสู่ความต้องการส่วนเกินในจิต วิญญาณของมนุษย์) ขยายตัวกว้างออกไป
อย่างไม่มีขอบเขตที่สิ้นสุด
๒) มโนทัศน์เรื่อง "สิทธิ" จะเสริมสร้างให้ผู้คนเกิดการยึดถือใน "อัตตาตัวตน" หรือความเป็น "ตัวกู-ของกู" ที่แน่นแฟ้นยิ่งๆ ขึ้น เกิดการยึดมั่นถือมั่น
ในสิทธิแห่ง ความเป็น ทรัพย์สินของตัวฉัน ศักดิ์ศรีของตัวฉัน ยศถาบรรดาศักดิ์
ของตัวฉัน ฯลฯ อันเป็นสิ่งที่ "ตัวฉัน" พึงมีพึงได้ โดยไม่พึงที่ใครๆ จะมาก้าวก่ายสิ่งซึ่งเป็น
"สิทธิอันชอบธรรม" ของ
"ตัวฉัน" ดังกล่าว
๓. จากข้อ ๒. มีตัวอย่างของแนวโน้มหลายเรื่อง
ที่ชี้ให้เห็นว่า มโนทัศน์เรื่องสิทธิ ได้ก้าวล่วงเข้าไป บั่นทอนรากฐาน
ทางจ ริยธรรมของสังคม เช่น การเรียกร้อง "สิทธิในการทำแท้ง"
โดยอ้างว่า ถ้าทารกคลอดออกมานั้น จะทำความเดือดร้อน ให้แก่ตัวเอง
คนรอบข้าง และผู้ให้กำเนิด ผู้หญิงที่เป็นเจ้าของ ครรภ์ดังกล่าว
ก็พึงมี "สิทธิ" ที่จะทำแท้งได้ หรือพวกรักร่วมเพศ ก็เริ่มเรียกร้อง
"สิทธิที่จะแต่งงาน กับเพศเดียวกัน" อย่างถูกต้อง ชอบธรรม
ผู้หญิงก็เรียกร้อง "สิทธิความเท่าเทียม กับผู้ชาย"
ในด้านต่างๆ ซึ่งหลายเรื่อง เป็นสิ่งที่พึงเรียกร้อง แต่บางเรื่อง
ก็เป็นความเท่าเทียม ที่ไม่พึงเรียกร้อง (เมื่อมองจากกรอบมิติทางจริยธรรม) อาทิ ผู้ชายในสังคมไทยมี "สิทธิ" ที่จะเที่ยวกลางคืน กินเหล้า เมายา เที่ยวโสเภณีฯลฯ
โดยสังคมไทย ถือเป็นเรื่องปรกติ ถ้าหากผู้หญิงจะเรียกร้อง ความเท่าเทียมในสิทธิ
ที่จะประพฤติ ออกนอกกรอบ ของศีลธรรม เหมือนผู้ชายบ้าง มโนทัศน์เรื่อง
"สิทธิ" ก็จะกลายเป็นเป็น มโนทัศน์ที่ทำลายรากฐาน ทางจริยธรรมของสังคม
เป็นต้น
๔. จากข้อ ๓ จะเห็นว่า มโนทัศน์เรื่อง
"สิทธิ" ไม่มีศักยภาพเพียงพอ ที่จะครอบคลุม
ปริมณฑล ของมโนทัศน์ด้านจริยธรรม ฉะนั้น ถ้าไปกำหนดให้มโนทัศน์เรื่องนี้
อยู่ในตำแหน่งแห่งที่สำคัญ ของกรอบอุดมการณ์ทางการเมือง ทดแทน มโนทัศน์
ทางจริยธรรม ที่เคยเป็นรากฐานของสังคมมนุษย์ ในอารยธรรมต่างๆ
(ที่มีพื้นฐาน มาจากศาสนาสำคัญๆ ในอดีต) ความแปลกแยก ระหว่างอำนาจรัฐ
กับพันธะ ทางจริยธรรม ของสังคมมนุษย์ก็จะเกิดขึ้น
๕. ตัวอย่างเช่น สังคมไทยเคยอาศัยรากฐาน
ความเชื่อในลัทธิเทวสิทธิ์ ของศาสนา พราหมณ์ และแนวคิดเรื่องธรรมราชา
ในพุทธปรัชญา เป็นฐานรองรับ ความชอบธรรม แห่งอำนาจรัฐ ทำให้พระมหากษัตริย์
ที่เป็นผู้ปกครองรัฐไทยในอดีต ต้องวางพระองค์ อยู่ภายใต้กรอบจริยธรรม
ของศาสนาพราหมณ์ และพุทธศาสนา ตลอดจนต้อง กระทำหน้าที่ เป็นองค์อัครพุทธศาสนูปถัมภก
และจะทรงทราบ เรื่องเกี่ยวกับ การพระศาสนาเป็นอย่างดี ทำให้สามารถทรงใช้อำนาจรัฐ
ช่วยสนับสนุน ให้สถาบัน พุทธศาสนา และ คณะสงฆ์ไทยตั้งมั่นอยู่ในกรอบ
ของพระธรรมวินัยด้วยดี ในระดับหนึ่ง
๖. สืบเนื่องจากข้อ ๕. เมื่อมีการปฏิวัติเปลี่ยนเแปลงการปกครองแผ่นดิน
มาเป็นการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตย ที่อาศัยมโนทัศน์เรื่อง "สิทธิ"
เป็นฐานรองรับ ความชอบธรรมแห่งอำนาจรัฐ นักการเมืองที่เข้ามา ทำหน้าที่เป็น
ผู้ปกครองรัฐ จึงไม่มีความจำเป็น ต้องวางตัวอยู่ภายใต้ กรอบจริยธรรม
ทางศาสนา ตลอดจนทำหน้าที่ เป็นผู้ค้ำจุนพุทธศาสนาอีกต่อไป โดยถึงตัวเอง
จะประพฤติ ผิดศีลธรรม โป้ปดมดเท็จ ให้ร้ายป้ายสี ทุจริต โกงกินอย่างไรก็ตาม
ตราบที่ยังหา ใบเสร็จ มายืนยันไม่ได้ นักการเมืองผู้นั้น ก็จะอ้างความชอบธรรม
ที่จะอยู่ในอำนาจ จากการได้รับเลือกตั้ง โดยประชาชน หากใครเรียกร้องให้ลาออก
จากตำแหน่ง ทางการเมือง นักการเมืองผู้นั้น ก็อาจจะท้าทาย ให้มาลงสมัคร
รับเลือกตั้งแข่งกัน เพื่อให้ประชาชน เป็นผู้ตัดสิน ชี้ขาด นักการเมืองที่เป็น
ผู้ปกครองรัฐ จึงกลายเป็น "ผู้ตาม" ไม่ใช่ "ผู้นำ" ทางด้านจริยธรรมของสังคม
(เพราะถ้าประชาชนส่วนใหญ่ ไม่เห็นว่าเรื่อง จริยธรรม
ส่วนตัว เป็นเรื่องสำคัญอะไร และเลือกนักการเมืองที่ขาดจริยธรรม
ให้เข้ามามีอำนาจ นักการเมือง ก็จะพากันละเลย ความสำคัญของเรื่อง
จริยธรรมส่วนตัว ดังกล่าว) ความแปลกแยกเหินห่าง ระหว่าง อำนาจรัฐ
กับพันธะทางจริยธรรมของสังคม จึงเกิดขึ้น
๗. มโนทัศน์เรื่อง "สิทธิตามธรรมชาติ" ที่มนุษย์คิดค้นพัฒนาขึ้นนี้ ยังเป็นรากฐาน
ทางความคิด ที่ช่วยค้ำยันลัทธิ ทุนนิยมบริโภค ให้ดำรงอิทธิพล ครอบงำแบบชีวิต
ของมนุษย์ในโลก ทุกวันนี้ด้วย เพราะเรื่อง "สิทธิ" ได้กลายเป็นข้ออ้าง อันชอบธรรม สำหรับ การขูดรีด
(exploitation) เอามูลค่าส่วนเกิน
(surplus value) จากแรงงานของชนชั้น ที่เสียเปรียบกว่า ไปสู่การสะสมทุน
ของชนชั้นที่ได้เปรียบกว่า เนื่องจากถือเป็น ความถูกต้องชอบธรรมที่
"ปลาใหญ่" จักพึงมี "สิทธิตามธรรมชาติ" ที่จะกิน "ปลาเล็ก" และ คนที่มีความสามารถในการกอบโกย แสวงหาทรัพย์สมบัติ
มาสะสมกักตุน ไว้มากๆ ก็พึงมี "สิทธิ" ที่จะได้เสพเสวยความสุข
จากการบริโภคทรัพย์สมบัติดังกล่าว โดยถึงจะกินทิ้งกินขว้างอย่างไร
ก็เป็นสิทธิอันชอบธรรม ที่บุคคลผู้เป็นเจ้าของ
ทรัพย์สินดังกล่าว จะพึงกระทำอย่างไร กับทรัพย์สินของตนเองก็ได้
ส่งผลให้เกิด แบบชีวิตการบริโภค ในทิศทางที่มีการทำลาย ทรัพยากรของโลก
อย่างเปลืองเปล่า เพิ่มมากขึ้นๆ
๘. สืบเนื่องจากข้อ ๗ ในขณะที่ลัทธิบริโภคนิยม
ที่ครอบงำวิธีคิด ของสังคมมนุษย์ ปัจจุบัน นิยมประเมินแก่นสาร คุณค่าของ
ความเป็นมนุษย์ จากศักยภาพ ในการบริโภค กล่าวคือ จะจัดลำดับชั้น
ทางสังคม ของบุคคลที่มีความมั่งคั่งร่ำรวย (อันหมายถึง
การมีศักยภาพในการบริโภค ที่เหนือกว่าคนอื่น) ให้อยู่ในตำแหน่งแห่งที่ทางสังคม
ซึ่งมีฐานะสูงกว่า บุคคลที่มีทรัพย์สมบัติน้อย (อัน
หมายถึง การมีศักยภาพ ในการบริโภค ที่ด้อยกว่าคนอื่น)
เมื่อคนที่ยิ่งบริโภค ทรัพยากรธรรมชาติ อย่างผลาญพร่า ฟุ้งเฟ้อ
ได้มากเท่าไร กลับกลายเป็นบุคคลที่ได้รับการเชิดชู ยกย่องจากสังคม
มากเท่านั้น ผู้คนก็จะพากัน มีค่านิยม ในการบริโภคทรัพยากรของโลก
ที่มีจำนวนจำกัด อย่างฟุ่มเฟือย เปลืองเปล่า ผลที่สุดทรัพยากร และระบบนิเวศน์
ของดาวเคราะห์ สีน้ำเงิน ที่เรียกว่า "โลก" ดวงนี้ ก็เลยถูกทำลาย
ให้เสื่อมสลายลง อย่างรวดเร็ว เพราะมโนทัศน์เรื่อง "สิทธิตามธรรมชาติ"
ที่มนุษย์ได้คิดค้นพัฒนาขึ้นดังกล่าว
อ่านต่อฉบับหน้า
|