หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >เราคิดอะไร

สีสันชีวิต แนะนำ...
บุญลอย เตรียมอุดม
หนังสือพิมพ์ เราคิดอะไร ฉบับ 118
หน้า 1/2

ผู้หญิงธรรมดาๆคนหนึ่ง ที่ไม่มีจุดเด่นสะดุดตาใคร แต่วิธีคิดและการดำเนินชีวิตของเธอ อาจสะดุดใจคุณ จนต้องหยุดคิดตามก็ได้!

แนะนำ บุญลอย ไตรอุดม

"…เกิดวันที่ ๑ ม.ค.๒๕๐๒ ชาวลพบุรี พี่น้อง ๙ คน เป็นคนที่ ๖ พ่อแม่อาชีพทำไร่ทำนา ฐานะค่อนข้างยากจน ตอนลูกๆเรียนจบป.๔ พ่อแม่จึงไม่ได้ให้ลูกคนไหนเรียนต่อ ยกเว้นดิฉันที่ค่อนข้างหัวดี เลยได้เรียนต่อ เพียงคนเดียว ทำให้มีโอกาส มากกว่าพี่น้องคนอื่น ที่ได้ไปเรียนระดับมัธยมในเมือง และได้เรียนต่อเพียงคนเดียว ทำให้มีโอกาส มากกว่าพี่น้องคนอื่น และได้เรียนต่อจนจบปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เหตุที่เลือกเรียนคณะนี้ เพราะตอนอยู่ชั้นป.๗ ชอบวิชาหน้าที่พลเมือง เรียนจบ ตั้งใจจะสมัครเป็น บัณฑิตอาสา หรือทำงานเป็นพัฒนากร เพราะอยากช่วยเหลือชาวบ้าน…"

เส้นขนานระหว่างความใฝ่ฝันกับความจริง

"…แต่เมื่อกลับมาใกล้ชิดครอบครัว หลังจากห่างเหินไป ๔-๕ ปี ระหว่างเรียนอยู่กรุงเทพฯ ก็พบว่าพ่อแม่ พี่ๆ ในครอบครัว อยู่กันลำบากมาก มีหนี้สิน และมีปัญหามากมาย ทำให้ความคิด ที่จะไปเป็นบัณฑิตอาสา เพื่อช่วยเหลือผู้อื่น ต้องหยุดชะงัก

ตอนนั้นเกิดความคิดขัดแย้งมาก แต่ในที่สุดก็ตัดสินใจเลือกทำในสิ่งที่ถูกต้องมากกว่าถูกใจ จึงอยู่บ้านช่วยเหลือ พ่อแม่ พี่น้องร่วมทุกข์กับพวกเขา ตั้งแต่นั้นมา…"

ย้อนระลึกเวลาแสนสั้นของความสุข สงบ สันโดษจากวิถีชีวิตดั้งเดิมของบรรพบุรุษ

"ตอนเด็กครอบครัวเรามีความสุขมาก อาหารการกินอุดมสมบูรณ์ มีที่ดินอยู่ประมาณ ๗๕ ไร่ พ่อแม่ปลูกพืชผัก ทุกชนิดไว้กิน ไม่ต้องไปซื้อหามาจากที่อื่น มีกินกันเหลือเฟือ แจกจ่ายเพื่อนบ้านบ้าง และนำไปขาย ถึงได้เงิน แลกเปลี่ยนมานิดหน่อย ก็พอกินพอใช้ ไม่เคยอดอยากหรือทุกข์ร้อน แม้มีเงิน ไม่มากนัก ที่สำคัญ เราไม่ต้องเป็นหนี้ เป็นสินใคร…"

ตราบหายนธรรมคืบคลานเข้ามา

"…มีนักวิชาการจากกระทรวงเกษตร เข้ามาให้ความรู้ สาธิตทำแปลงทดลอง มาแนะนำให้ใช้ปุ๋ยเคมีและมีบริษัทไบเออร์ ซึ่งผลิตยาฆ่าแมลงศัตรูพืช มาส่งเสริมให้ปลูกฝ้ายและข้าวโพด โดยปลูกอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นแปลงใหญ่ ซึ่งจะมีคนกลางมารับซื้อ เขาบอกว่า พวกเราจะรวยและจะได้เงินเป็นกอบเป็นกำ พ่อเป็นคนที่ค่อนข้างทันสมัย ก็เชื่อตามเขาหันมาปลูกพืชเศรษฐกิจแทนการปลูกแบบเดิมๆของเรา ความโลภอยากได้เงินมากๆ เมื่อปลูกในที่ดิน ของเราไม่พอ ต้องไปขอเช่าที่ดินเพิ่มขึ้นทำกัน ๕-๖ ร้อยไร่ พอที่ดินมากขึ้นทำเองไม่ไหว ก็ต้องซื้อรถไถ เครื่องทุ่นแรง ต่างๆมาช่วย เพื่อนบ้านใกล้เคียง มองว่าเราคงร่ำรวยขึ้น แต่จริงๆแล้ว คนในครอบครัวรู้ดีว่า ชีวิตมีแต่การดิ้นรน เพื่อความอยู่รอดเท่านั้น พวกเราไม่มีความสุขอีกต่อไป หนี้สินก็พอกเพิ่มจำนวนมากขึ้นๆ

พอเก็บเกี่ยวได้เงินมา ก็ต้องส่งใช้คืนเจ้าหนี้ คือ ธนาคารทุกเดือน บางเดือนเจอปัญหา เพราะการลงทุน ปลูกพืชพร้อมกัน เป็นจำนวนหลายร้อยไร่ ต้องใส่ปุ๋ยแยะ เราก็ต้องกู้เงินมาซื้อ พอเจอปัญหาฝนแล้งเป็นเดือน ผลผลิตไม่ได้ตามที่กำหนด เราก็ขาดทุนย่อยยับ เมื่อไม่มีเงินใช้หนี้ ธนาคารไม่ผ่อนผัน แถมแนะให้ไปกู้ยืมเงินชาวบ้านมาใช้หนี้ธนาคารก่อน เราก็เลยมีเจ้าหนี้เพิ่มขึ้น ต้องเจออัตราดอกเบี้ยค่อนข้างแพง หนี้สินพันพัวกันอีนุงตุงนังไปหมด เงินทองใช้จ่ายในบ้าน แทบจะไม่มี ความอุดมสมบูรณ์แต่ก่อนๆหายไปหมด จะกินอะไรสักอย่าง ก็ไม่มีเงินซื้อ…"

ผู้กอบกู้

"…ดิฉันอายุประมาณ ๑๕ ปี ช่วยเหลือพ่อแม่ทำงานหนักตลอด ในขณะเดียวกันก็เรียนหนังสือไปด้วย ปัญหาทั้งหมดเกิดขึ้นต่อเนื่องจนดิฉันไปเรียนต่อที่กรุงเทพฯ ช่วงนั้นตั้งหน้าตั้งตาเรียนอย่างเดียว ทำให้ลืมเลือน บรรยากาศ สภาพในครอบครัวไปบ้าง พ่อแม่ยังคงส่งเงิน มาให้ใช้ทุกเดือน ซึ่งเบื้องหลังคือ ทุกคนในครอบครัว ต้องทำงานหนัก เพื่อส่งเสียเรา อย่างไรก็ตาม ดิฉันก็ไม่ทำ ให้ครอบครัวผิดหวัง เพราะเป็นเด็กดี ใช้เงินทุกบาท ทุกสตางค์อย่างประหยัด เนื่องจากคิดถึง ความลำบาก ที่บ้านเสมอ…"

วงจรอุบาทว์

"…หนี้สินยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลังจากที่การปลูกพืชเศรษฐกิจไม่ประสบความสำเร็จ พ่อก็คิดว่า ขืนทำแบบนี้ต่อไป คงไม่มีทางใช้หนี้แน่ เรื่องหนี้ยังไงช้าเร็วก็ต้องใช้เขา เบี้ยวไม่ได้อยู่แล้ว บังเอิญตอนนั้นรัฐบาลส่งเสริมการเลี้ยงโคนม พ่อหันมาเลี้ยงโคนม และมีบริษัทซีพีมาส่งเสริมให้ชาวบ้านเลี้ยงหมู บ้านเราเป็นรายแรก ของหมู่บ้าน ที่บริษัทซีพี เจาะจงมาหา วิธีการของเขาก็คือ ให้เราลงทุนสร้างโรงเรือนสำหรับเลี้ยงหมูเอง เขาจะเป็นผู้นำลูกหมู มาให้เราเลี้ยง ตั้งแต่ยังตัวเล็กๆ พอเลี้ยงโต ได้ขนาดที่เขาต้องการแล้วก็รับซื้อไป ตอนนั้นเลี้ยงอยู่ ๑๐๐ กว่าตัว ทำเงินได้ประมาณหนึ่ง ส่วนการเลี้ยงโคนม มีแต่ขาดทุน เนื่องจากโคนมในโครงการที่รัฐบาลส่งเสริมให้ชาวบ้านเลี้ยงนั้น เป็นวัวที่ผอมแห้ง ไม่แข็งแรง ได้น้ำนมน้อย เราจึงมีรายได้จากโคนมน้อยมาก…"

แสงสว่างแห่งปัญญา

"…ปัญหาสะสมต่างๆเหล่านี้ ดิฉันต้องเผชิญเมื่อตัดสินใจจะกลับมาช่วยกู้สถานการณ์ในครอบครัว ขณะนั้นมีความมั่นใจอยู่ลึกๆว่า เราต้องทำได้ ส่วนหนึ่งมาจากพ่อกับแม่และพี่ๆ ให้ความเชื่อมั่น ยอมให้ดิฉันเข้ามาจัดการ ดิฉันบอกพ่อแม่ว่า ก่อนอื่นเราต้องยุติการจุนเจือเงินลูกบางคน ซึ่งได้แยกครอบครัวไปแล้ว แต่ยังจะมาขอเงินพ่อแม่เสมอ ซึ่งพ่อแม่ก็ใจอ่อนทั้งๆที่ไม่ค่อยมีเงินและยังมีหนี้สิน ทำให้ลูกไม่รู้จักโต ดิฉันบอกว่า ถ้าครอบครัวใหญ่ล้มแล้ว จะเป็นที่พึ่งได้อย่างไร ดังนั้นต้องทำให้ครอบครัวหลักแข็งแรงก่อน มิฉะนั้นต่างจะพากันไม่รอด พี่น้องไม่เข้าใจก็ต่อต้านดิฉัน กล่าวหาว่า ได้เรียนมาสูงแล้ว ก็หวงสมบัติ เรียนจบมาน่าจะออกไปทำงานหาเงินนอกบ้านซิ ซึ่งดิฉันก็เข้าใจไม่ว่าอะไร หลังจากนั้น ดิฉันก็กู้เงินมาเพิ่มซื้อแม่วัวอีกหลายตัว เลือกเอาพันธุ์แข็งแรง ที่มีน้ำนมดีๆ เมื่อมันมีลูกออกมา ลูกก็แข็งแรง ทำให้สามารถขยายคอกวัวใหญ่ขึ้น เฉพาะโคมนมทำรายได้เดือนละถึง ๓ หมื่นบาท แล้วก็เลี้ยงหมูเพิ่มขึ้นอีก ใช้เวลาอยู่ ๗ ปี ก็ปลดหนี้ได้ทั้งหมด พี่ๆน้องๆ จึงเข้าใจดิฉันมากขึ้น เพราะตอนช่วย เราก็ลุยเองทำทั้งหมด ไม่ใช่เป็นลักษณะสั่งการให้ใครๆ ทำ ซึ่งก็ยอมรับว่าช่วงนั้นหนักมาก…"

ความมุ่งมั่นสร้างความมั่นใจ

"…คล้ายกับว่า เมื่อเราประสบความสำเร็จเรื่องการศึกษา เพราะตอนเรียนได้ตั้งเป้าหมายไว้เลย จะเรียนจบ เวลาเท่านั้นเท่านี้ เรียนวิชาไหนไม่ผ่านก็หาวิธีใหม่ไปเรื่อยๆ ไม่เคยท้อ ทั้งที่มีเพื่อนๆหลายคนท้อ เรียนไม่จบกันเยอะ แต่เราเรียนจนจบ ในระหว่างเรียนได้ไปทดลองทำงานอยู่พักหนึ่งเกี่ยวกับธุรกิจก่อสร้าง ทำให้ได้รู้ตัวเองว่า เป็นคนที่มีความตั้งใจจริง ขยันขันแข็งในหน้าที่การงาน ดังนั้นพอมาถึงเรื่องปัญหาครอบครัว จึงมั่นใจว่า เราต้องช่วยพ่อแม่ปลดหนี้ได้…"

พบทางรอด

"…ตอนช่วยงานที่บ้านเต็มตัว เคยบอกกับแม่ว่า เดือนหนึ่งขอไปพบปะสังสรรค์กับเพื่อนๆสักครั้ง ครั้งนั้นก็ได้พบคนรู้จักคนหนึ่ง เขาทำอาชีพเกษตรได้พูดคุยกัน เขาเห็นดิฉันสนใจเรื่องการเกษตร เห็นไม่แต่งเนื้อแต่งตัว ซอยผมสั้น เขาคุยเล่าเรื่องคุณจำลอง ศรีเมืองให้ฟัง และให้หนังสือมา ๑ เล่ม ชื่อ"ทางรอด" พอได้อ่านดิฉันเกิดความประทับใจ นี่แหละคือวิถีชีวิตที่เราแสวงหา จริงอยู่เมื่อก่อนเราก็รู้สึกตนเองเป็นคนคิดดี ทำดีแต่ยังเป็นไปแบบสะเปะสะปะ ไม่ตรงเป้าเท่าไร

ส่วนในเรื่องเกี่ยวกับศาสนาพุทธยิ่งห่างไกล เพราะเราไม่ศรัทธาเลย เห็นภาพของศาสนามีแต่การเรี่ยไร ทำบุญทอดผ้าป่าแล้วจะได้ขึ้นสวรรค์ เป็นเทวดา นางฟ้า รู้สึกเป็นเรื่องไร้สาระ นึกถึงสมัยเรียนวิชาศีลธรรม บอกว่าพระพุทธเจ้าประสูติจากครรภ์มารดาก็เดินได้ ๗ ก้าว ยิ่งรับไม่ได้ ใจมันไม่เชื่อ เป็นได้ยังไง ขาดเหตุผลและครูก็ไม่มีความรู้ลึกซึ้งพอจะอธิบายให้เข้าใจ พอมาอ่านหนังสือ"ทางรอด" ก็คิดว่าใช่เลย มันเป็นความจริงที่สอดคล้องกับเหตุผล จึงได้ติดต่อติดตามอ่านหนังสือของชาวอโศกมาตลอด และได้เข้าใจเรื่องมรรคมีองค์ ๘ ว่าจะนำไปสู่นิพพานได้ ช่วงนั้นปี ๒๙ เริ่มรู้จักชาวอโศก แต่ยังไม่จริงจังเท่าไร พอปี ๓๓ เริ่มกินอาหารมังสวิรัติ ถือศีล ๕…"

เข้าถึงธรรม

"…รู้ว่าอาชีพที่ทำอยู่เป็นบาป แต่การจะเลิกทีเดียวยังทำไม่ได้ เพราะพ่อแม่ยังไม่เข้าใจ คงไม่ยอม ขณะนั้น มันกำลังทำเงินได้ดี จึงต้องค่อยๆทำ โดยเลิกเลี้ยงวัวก่อน เนื่องจากมีความผูกพัน ใกล้ชิดกับพวกเรา ที่เป็นคนเลี้ยง อย่างเช่นวัวตัวไหนเป็นโรค เราจำเป็นต้องขาย พวกเราก็จะร้องไห้สงสารมัน เพราะต้องขายเข้าโรงเชือด เป็นความรู้สึกที่ทรมานจิตใจพวกเราอยู่ แต่ตอนนั้นต้องทำเพราะเป็นอาชีพ โดยส่วนตั วดิฉันไม่กินเนื้อวัว ตั้งแต่เริ่มเลี้ยงมันแล้ว

พูดเรื่องนี้จึงง่ายกว่าเรื่องอื่น เพราะพวกเรารักและสงสารวัวอยู่แล้ว พอยกเรื่องบาปบุญคุณโทษ ก็เข้าใจได้ง่าย ประจวบกับตอนนั้นพ่อตายก็เลยนำมาเป็นข้อคิดเล่าให้พี่ๆน้องๆฟังว่า พ่อตายเรายังเสียใจ สัตว์อื่นก็มีความรู้สึก เหมือนเรา เมื่อเลิกอาชีพเลี้ยงวัว รายได้ก็ตกลง แต่ยังไม่กระทบมากนัก เพราะยังเลี้ยงหมู ส่งให้บริษัทซีพีอยู่ พอทำต่ออีกสักระยะก็คิดเรื่องเลิกเลี้ยงหมูอีก โดยพยายามพูดหว่านล้อมพวกพี่ๆ ว่าอาชีพที่เราทำ นี้เป็นบาป เงินทองที่หามาได้ต่อให้มากแค่ไหน ตอนเราตายก็ติดตัวไปไม่ได้ แต่บาปบุญ ที่ทำจะติดตัวเราไป ก็พูดไปเรื่อยๆ ในขณะเดียวกัน ดิฉันก็ทำงานหนักในบ้านทุกอย่าง พิสูจน์ให้ดูว่า ถึงไม่มีอาชีพหลัก ในการเลี้ยงหมู เราก็สามารถทำเรื่องเกษตรทดแทนได้ ในที่สุดพวกพี่ๆก็ยอมเลิกเลี้ยงหมู แม้บางคนยังทำใจไม่ได้ เมื่อเห็นเพื่อนๆ มีเงินจับจ่าย ใช้สอยมากๆ ก็ยังรู้สึกเสียดายเงินที่ต้องทิ้งไปก็ตาม