๙ มีนาคม ๒๕๔๔ เป็นวันสีดำอีกวันหนึ่ง
ในแผ่นดินไทยแผ่นดินธรรมยุค คิดใหม่ทำใหม่ เพราะวุฒิสภาซึ่งเป็นความหวังของชาติ
ได้มีมติไม่อนุญาต ให้ศาลพิจารณาคดี นายเฉลิม พรหมเลิศ ส.ว. สุราษฎร์ธานี
ในระหว่างสมัยประชุม กรณีกระทำผิดทางเพศ ต่อนักเรียนหญิงรุ่นราวคราวลูกหลาน
อ้างเอกสิทธิ์ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๖๖ ด้วยคะแนนเสียงไม่อนุญาต ๘๗ เสียง
อนุญาต ๕๔ เสียง งดออกเสียง ๘ ไม่ลงคะแนน ๔ ไม่มาประชุมหรือมาแต่อุบไต๋ไว้
๔๗ วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจากการเลือกตั้ง ๒๐๐ ซึ่งประเมินค่าไว้ว่า ถึงพร้อมด้วยวุฒิภาวะ
วันนี้จึงถึงบางอ้อว่าบ้างยังขาดธรรมวุฒิภาวะหมิ่นค่าศักดิ์ศรี ความเป็นมนุษย์ของผู้เสียหาย
ซึ่งเป็น ผู้เยาว์และอ่อนต่อโลกร้อยเล่ห์กล แต่กลับเชิดชู คุณค่าพวกพ้องต้องคดีกาม
รัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๖๕ ในระหว่างสมัยประชุม ห้ามมิให้จับ คุมขังหรือหมายเรียกตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา
ไปทำการสอบสวนในฐานะที่สมาชิกผู้นั้นเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาเว้นแต่ในกรณี
ที่ได้รับอนุญาตจากสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิก หรือในกรณีที่จับในขณะกระทำความผิด
มาตรา ๑๖๖ ในกรณีที่มีการฟ้องสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา
ในคดีอาญา ไม่ว่าจะได้ฟ้องนอก หรือในสมัยประชุม ศาลจะพิจารณาคดีนั้น ในระหว่างสมัยประชุมมิได้
เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิก หรือเป็นคดีอันเกี่ยวกับกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ
...แต่การพิจารณาคดี ต้องไม่เป็นการขัดขวางต่อการที่สมาชิกผู้นั้นจะมาประชุมสภา
เอกสิทธิ์นี้มิใช่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดกระมังครับ
เพราะยังมี "..เว้นแต่จะได้รับอนุญาต จากสภา" และ ... "แต่การพิจารณาคดีต้องไม่เป็นการขัดขวาง
ต่อการที่สมาชิกผู้นั้น จะมาประชุมสภา" แสดงว่ากฎเกณฑ์ยังเปิดช่องให้คนใช้ปัญญา
ถ้าสภาอนุญาตและประสานงานกันให้ศาลนัดพิจารณาคดีในวันเว้นว่างการประชุม
มันจะเสียงานตรงไหนครับ สภานัดประชุมทุกวันซะเมื่อไร ได้ทั้งงานได้ทั้งธรรม
ไว้เป็นบรรทัดฐานเชิดชูวุฒิสภา เป็นตราประดับสังคมและยังสนองนโยบายนายกฯ
"คิดใหม่ทำใหม"่ ที่ให้ยึดเป้าหมายสำคัญกว่ากฎระเบียบ นั่นคืออย่าเอาแต่ตัวหนังสือ
จนไม่คำนึงถึงเจตนารมณ์ งานมดจะกลายเป็นงานช้าง งานบริหาร นิติบัญญัติ
และ ตุลาการมันเกี่ยวข้องกันยังงี้แหละ...เพื่อประชาชน ใช่เพื่อ ส.ว. นี่
ผมบังอาจขบคิดโง่ๆ ตามประสาเรียนรัฐศาสตร์ ผิดพลาด สอยได้เลยขอรับ
|