แว้งที่รัก ตอน

พ่อจ๋า แม่จ๋า (ตอนจบ)

 

หนังสือพิมพ์ เราคิดอะไร ฉบับที่ 130 เดือน พฤษภาคม 2544
หน้า 1/1

สายหน่อย แม่บอกลูกทั้งสองว่า "แม่จะไปซื้อพลูซื้อผักที่ลูโบ๊ะ ดาแลนะ ลูกอยู่กันเองได้ไหม ข้าวในหม้อก็มีแล้ว กลางวันถ้าแม่ยังไม่กลับก็กินข้าวกับ ปลาทอดเครื่องใต้ฝาชีนะแมะ น้อยอย่าซนมากนัก ห้ามทะเลาะกันอย่างเด็ดขาด แล้วก็ห้ามไปเที่ยว เล่นไกลบ้านด้วย" น้อยไม่กล้ามองแม่ ได้ยินแต่ เสียงพี่แมะรับคำเบาๆ ว่า "ค่ะ" ขณะที่แม่หยิบกระเชอ กับกระจาด ลงมาจากหิ้งเหนือแม่ไฟ แม่เดินออกไปทางประตูหน้าถังที่เปิดไว้แค่สองบาน แวะไปพูดอะไรไม่ทราบกับโต๊ะ(ยาย)ตาบอดห้องติดกันหน่อยหนึ่ง แล้วแม่ก็ออกเดิน อย่างรวดเร็ว ไม่หันมาดูลูกทั้งสองอีกเลย

น้อยทรุดตัวลงนั่งตรงหน้าถัง สะอื้นฮักๆ ออกมาอย่างหมดความอดทน พี่แมะลงนั่งด้วย เหมือนกัน แต่ไม่ร้องไห้ เพียง แต่ตาแดงๆ ถามน้องว่า "น้อยว่าพ่อกับแม่กูปิ๊(ภาษามลายู = ขี้เหนียว)ใช่ไหม ที่ไม่พักที่โรงแรม ?" น้อยสะอื้นฮักอีกสองสามที พลางเช็ดน้ำตา ก่อนพยักหน้า

พี่แมะพูดต่อว่า "ตอนแรกพี่ก็ว่าพ่อกับแม่ กูปิ๊เหมือนกัน แต่ไม่ใช่หรอกน้อย เมื่อคืนตอนน้อยนอนหลับแล้ว พี่ได้ยินพ่อบอกแม่ว่า ตอนนี้ พ่อยังไม่ได้ทำงาน บ้านเราไม่ค่อยมีสตางค์ แม่ว่าแม่อยากไปเยี่ยมยาย เหมือนกัน แต่ถ้าพ่อให้แม่ไปด้วย แล้วเราสองคนจะอยู่กับ ใคร_จะเป็นยังไง" น้อยปล่อยโฮออกมาสุดเสียง _ก็จะเหลืออยู่แค่ สองคนพี่น้อง ก็จะไม่มีพ่อ ไม่มีแม่ เหมือนตอนนี้นี่แหละ_เธอรู้สึกเย็น ยะเยือก สะท้าน ไปตลอดตัว ทั้งที่เป็นเวลาสาย แดดจัดจ้า ว้าเหว่เหมือนไม่มีใครเหลือเลย ทั้งอำเภอแว้ง ทั้งที่ในห้องแถวติดกัน โต๊ะ ตาบอดนั่งสับเศษไม้ทำเชื้อไฟดังแก๊กๆ อยู่ในครัวของแก

พี่แมะ พูดต่อว่า "แม่ว่าถ้าไปหมดทั้งสี่คนก็ต้องเสียเงินมาก ยายก็ค่อย ยังชั่วแล้ว ถ้าแม่ไม่ไป แม่ก็จะได้ขายของได้เงินด้วย พ่อว่าพ่อ เป็นห่วงบ้านมาก จะไปให้เร็วที่สุด แล้วจะกลับ ให้เร็วที่สุดด้วย พี่ได้ยินพ่อบอกแม่ว่า ถ้าพ่อไปกลางคืนก็จะเร็วขึ้นหนึ่งวัน ไม่ต้อง เสียค่าโรงแรม_ " เสียงสะอื้นของน้อยที่เบาลงไปบ้างแล้วนั้น กลับดังโฮขึ้นมาอีก ขณะพูดว่า "แล้วถ้าเสือมัน..."

"พี่ว่าไม่หรอก พ่อกับแม่ต้องรู้แล้วซีว่าไม่เป็นไร พี่ได้ยินพ่อบอกแม่ว่า เดือนหงายอย่างนี้ พ่อไม่กลัว และบางทีนะ..." พี่แมะทำท่าคิด น้อยจ้องพี่สาวเขม็ง พี่แมะพูดต่อ ทำท่ามั่นใจ "บางทีคนแว้งก็คิดเหมือนพ่อเรา พ่อเราอาจจะมีเพื่อนเดินกันไป หลายคนก็ได้ สนุกดีด้วย"

น้อยรู้สึกเหมือนหัวใจเบาขึ้น ไม่หนักอึ้งแบบเดิม ภาพน่ากลัวๆ ในความคิดเปลี่ยนไป เป็นภาพพ่อกำลังเดินอย่างรวดเร็ว มีแขกเดิน ไปด้วยหลายคน พ่อถือเรียวไม้หวดลม ดังเควี้ยว เควี้ยว ส่วนแขกเหล่านั้นล้วนนุ่งโสร่งพับข้างหน้า ม้วนชายกระชับรอบ สะเอว ทุกคน ยังหนุ่มและแข็งแรง พ่อจะเป็นอะไรไปเล่าในเมื่อแขกทุกคนมีพร้าหรือไม่ก็ขวาน หรือไม่ก็กริชเป็นอาวุธเหน็บสะเอว ไว้ด้วยตามธรรมเนียมของเขา แถมทุกคนรวม ทั้งพ่อล้วนมีความรู้เรื่องกลิ่นสาบ ของสัตว์ป่าเป็นอย่างดี

โธ่เอ๋ย! น้อยลืมไปได้อย่างไร นะว่า พ่อเคยเล่าให้ฟังว่าสัตว์ป่ามันไม่สู้ไฟ พ่อเคยเดินป่ากับแขก ตอนเดือนมืด ทุกคนถือ คบทาง มะพร้าวแห้งไว้ในมือ ต่อให้เป็นช้างป่า พอเห็นคบไฟเป็นแถวอย่างนั้น มันก็จะหลบไปเสีย!

โธ่เอ๊ย! พ่อของน้อยน่ะนะ เคยขึ้นไปทำงานเป็นสมุห์บัญชีอยู่บนเหมืองทองโต๊ะโมะตั้งนาน ทางไปโต๊ะโมะลำบากกว่า ไป สุไหง-โกลกตั้งไม่รู้กี่เท่าพ่อยังไปได้เล้ย!

สองพี่น้องจับมือจูงกันด้วยความรู้สึกดีขึ้นทั้งคู่ ตกลงกันว่าต้องพยายาม ยกกระดานหน้าถัง ออกอีกสักแผ่นให้ได้ เพื่อจะได้เอาโต๊ะเล็ก ออกไปวางหน้าบ้าน ช่วยกันขายโกฟี่ และพลูที่เหลืออยู่อีก ๕ กำ แต่กระดานหน้าถังนั้นหนักและสูงเกินไป ยกออกไม่ได้ จึงเปลี่ยนแผน เป็นช่วยกันตะแคง โต๊ะออกแทน พี่แมะอุ้มขวดโหลออกไปวาง ขณะที่น้อย ตักน้ำใส่ถังเล็ก เอาพลูลงชุบน้ำ แล้ว สะบัดๆ แบบแม่ทำ เพื่อให้พลูที่สยบแล้ว กลับสดขึ้นใหม่ ก่อนที่จะเอาใส่ถาดเล็กมาวางข้างขวดโหล

สองพี่น้องเฝ้าของขาย จนกระทั่งเที่ยง ก็เข้าไปตักข้าวในหม้อ ออกมานั่งรับประทาน กันเงียบๆ ปลาทอดเครื่อง ฝีมือแม่นั้น อร่อยเสมอ แต่แปลกที่วันนี้น้อยรู้สึกเหมือนทุกคำข้าวแสนจะกลืนยากกลืนเย็น ต้องมึก *น้ำตาม จึงจะล่วงลงลำคอได้ ( * คำนี้ภาคใต้ยังใช้กันอยู่เป็นสามัญ หมายถึง ลักษณะการ ดื่มของเหลวลงคออย่างเร็ว ตรงกับที่ปัจจุบันใช้ว่ากรึ้บ เป็นศัพท์ที่หาย ไปจากภาษากลางแล้ว แต่จะพบได้เสมอในวรรณคดีโบราณ เช่นใน อนิรุทคำฉันท์ หรือ สมุทโฆษคำฉันท์ ที่มักเขียนว่า “เหมือนชายมวยมึกเหล้าเมากลิ้ง”)

รับประทานข้าวเสร็จแล้วก็นั่งขายของต่อ พร้อมกับผลัดกันออกไปที่มุมถนน ชะเง้อมองไปทางควน(เนิน)สูง ครั้งแล้วครั้งเล่า แม่น่าจะกลับมาในไม่ช้า และคงจะ ดีใจที่นอกจากลูกทั้งสอง จะทำตามคำสั่งแล้ว ยังช่วยหาเงินเข้าบ้านได้ด้วย

พลูหมดถาดแล้วโกฟี่ก็ขายได้มาก ทุกอย่างน่าจะเรียบร้อยดี ถ้าไม่ใช่เพราะทั้งสอง เกิดความคิด อยากรับประทานของหวานกันขึ้นมา ในตอนบ่าย

"เราต้องไม่เอาตังค์ในกะโหลก ไปซื้อนะพี่แมะ" น้อยพูดด้วยความหวังซ่อนอยู่นิดๆ ว่า พี่แมะ อาจจะพูดว่า ค่อยขอแม่ทีหลังก็ได้แต่ผิดหวัง พี่แมะกลับพูดว่า "ใช่ เราต้องช่วยแม่ หาเงินด้วยไง" แล้วพี่แมะก็นึกอะไรขึ้นมาได้ บอกน้องว่า "นึกออกแล้วหละน้อย คราวนี้ได้อร่อยกันแน่แล้วเรา ลูกเนียงต้มไง น้อยชอบไม่ใช่หรือ มาทำกันเหอะ ขวดโกฟี่วางไว้นี่ก่อนก็ไม่เป็นไร แว้งไม่มีขโมย เดี๋ยวใครมาซื้อ เขาก็เรียกเราเองแหละ" น้อยกลืนน้ำลายก่อนพูดว่า "น้อยชอบลูกเนียงต้มมากที่สุด แต่แม่ไม่เคยทำนะ เราเคยแต่ซื้อของแขกมากิน พี่ทำเป็นเหรอ?"

"ลูกเนียงต้ม เก๊าะเอาลูกเนียง มาต้มน่ะซี ลูกเนียงเรามีตั้งกะเยอะ น้อยไปขุดในโคมมาไป๊ พี่จะติดไฟ เดี๋ยวนี้แหละ ของ ง่ายๆ พอสุกเราก็จิ้มน้ำตาลทรายกินกันได้เลย ใส่เกลือนิดนึง มะพร้าวไม่มีไม่เป็นไรหรอก ช่างมันเหอะ" พี่แมะ พูดอย่างมั่นใจ

น้อยนั้นเชื่อความสามารถของพี่แมะเสมอมา เธอรีบออกไป ขุดเอาลูกเนียง ที่แม่เพิ่งจะเพาะลงในโคม เมื่อเช้านี้เอง น้อยขุดขึ้นมาตั้ง ๑๐ ลูก คือ ๒๐ ซีก กะจะรับประทานเล่นกันให้เต็มที่ ขุดแล้วก็เอามาล้างน้ำ จนสะอาดดี พี่แมะใส่ลูกเนียง ลงในหม้อทองเหลืองใบเล็ก ตักน้ำจากโอ่งน้ำกินใส่ลงไปจนท่วม พอไฟในเตาติด พี่แมะก็ยกหม้อขึ้น วางบนก้อนเส้า

ลูกเนียงต้มเริ่มเดือดส่งกลิ่น อบอวลไปทั่ว ตามปรกติลูกเนียงสด ที่แก่จัดจะกลิ่นแรงมาก แต่พอต้มแล้ว สีของมันจะเปลี่ยน เป็นคล้ำเกือบดำ เนื้อเหนียว รับประทานกับมะพร้าวทึนทึกขูด เคล้าด้วยน้ำตาลทราย และเกลือป่น เป็นของกินเล่น ที่รู้จักกันดีทั่วปักษ์ใต้ มลายู และอินโดนีเซีย

"สุกแล้วยัง พี่?" น้อยถาม "ไม่รู้ซี ไม่เห็นมันดำ เหมือนที่เขาขายในตลาดเลย" พี่แมะตอบด้วยท่าทางไม่แน่ใจเสียแล้ว

เสียงใครคนหนึ่งมาที่หน้าบ้าน สองพี่น้องคิดว่าเด็กมาซื้อโกฟี่ กำลังจะเดินออกไปขาย ก็พอดีโต๊ะตาบอดส่งเสียงเข้ามา อย่างดุดันว่า "บูวะ อะปอ ตู แฮะห์ (ทำอะไรกันน่ะ)?"

น้อยถอยกรูดเพราะกลัวแกเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ตาข้างขวาของโต๊ะบอดและลึกบุ๋มเข้าไป ตาซ้ายก็เหล่ มิหนำซ้ำหน้ายัง เป็นแผลฝีดาษเต็มไปหมด แกเดินตรงเข้ามาในครัว พี่แมะยิ้มจืดๆ คงจะกลัวแกเหมือนกัน ยังไม่ทันตอบ โต๊ะตาบอดก็ตรงเข้าไป ชะโงกดูหม้อ ลูกเนียงต้มบนเตา พอเห็นว่าอะไรเป็นอะไรเท่านั้นแหละ แกร้องเอะอะลั่นบ้าน

"อัลเลาะห์ลา บูเดาะอะปอนิง เต๊าะตาโก๊ะกาเป๊ะกอ? (พระเจ้าช่วย เด็กอะไรกันนี่ ไม่กลัวปัสสาวะไม่ออกหรือไง)?" ว่าแล้วแกก็คว้าผ้าขี้ริ้วมาจับหูหม้อ ยกหม้อลูกเนียงต้ม ของพี่แมะ ออกไปเททิ้งหลังบ้านหมดทั้งหม้อ ขณะที่พี่แมะกับน้อย ยืนงง เพราะไม่ทราบมาก่อนเลยว่า การต้มลูกเนียงนั้น ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด ลูกเนียงบางชนิด ถ้าต้มไม่เป็นอาจทำให้เป็นนิ่วได้

"อะกูเนาะวอยะแมะบูวีฆอแด นาตีกือเละห์! (ข้าจะบอกแม่แกให้เฆี่ยนพวกแก คอยดู!)" แกหันมาดุต่อก่อนที่จะเดินออก ไปอย่าง โมโห

วันนั้นแม่กลับเสียเย็น สองพี่น้อง ไม่ได้วิ่งออกไปรับเช่นเคย แต่นั่งแอบอยู่คนละด้าน ของหน้าถังด้วยใจตุ้มๆต๋อมๆ รู้ตัวดี ว่าจะต้องถูกตีแน่ พ่อก็ไม่อยู่ช่วยเสียด้วย แม่วางกระเชอผักที่ซื้อมา ก่อนที่จะแวะเข้าไปหาโต๊ะตาบอด เสียงโต๊ะพูดอะไรไม่ทราบ กับแม่เบาๆ น้อยฟังไม่ได้ศัพท์ อาจจะเพราะกลัว จนใจสั่นหูอื้อก็เป็นได้

ครู่ใหญ่ แม่ก็เข้ามา ท่าทาง แม่ร้อนและเหนื่อย เหงื่อโทรมหน้า แม่ยิ้มให้ลูกอย่างอ่อนโยน กลิ่นลูกเนียงต้มของพี่แมะยัง ลอยคละคลุ้ง แม่คงจะเหนื่อยมาจนไม่ได้กลิ่นกระมัง

" แมะ ช่วยแม่ขนผักเข้าบ้านทีเถิดลูก" น้ำเสียงของแม่ไม่ดุเลย พี่แมะวิ่งออกไปหาแม่ ที่หน้าบ้าน ส่วนน้อยถลาไปหลังบ้าน ฉวยขันเงินที่คว่ำอยู่ บนฝาโอ่งด้วยมือขวา มือซ้ายเปิดฝาโอ่ง จ้วงตักน้ำฝนใสสะอาดมาค่อนขัน ประคองออกไปหน้าบ้าน พร้อมด้วยผ้าผืนเล็ก

แม่ยิ้มขณะรับผ้าไปเช็ดหน้า แล้วรับขันน้ำไปดื่มอย่างช้าๆ เวลากระหายน้ำจัด และอากาศร้อนต้อง ค่อยๆ ดื่มอย่างนั้น พี่แมะและน้อยทราบดี จึงยืนดูแม่อยู่ใกล้ๆ ความกลัวเรื่องจะถูกตีหายไปเมื่อใดไม่ทราบ จนแม่ดื่มน้ำหมดขัน จึงนึกถึงความผิดขึ้น มาได้ใหม่

แม่วางขันลงบนโต๊ะตัวเตี้ย พี่แมะเอื้อมมือไปหยิบขันมาถือไว้ แม่ชำเลืองมองถาดพลู ที่ว่างเปล่า น้อยชำเลืองมองพี่แมะ ด้วยใจประหวั่น รู้สึกว่าเวลาผ่านไปช้ามาก แม่กระเถิบเข้าไปชิดโต๊ะ เหมือนจะหันหลังให้ลูกทั้งสอง น้อยและพี่แมะเอี้ยวตัวไป คนละด้านพร้อมกัน เพื่อจะได้มองเห็นหน้าแม่ แม่เปิดฝากะโหลกใส่เศษเงินค่าโกฟี่ มีสตางค์แดงอยู่ในนั้นไม่น้อย

แม่ก้มมองอะไรในกะโหลกนั้นนะ? นานจริง หรือแม่กำลังนับเศษสตางค์? แม่ไม่เคยนับตอนนี้นี่ หยดใส หยดหนึ่ง หยาดมาจากหน้าของแม่ ลงไปในกะโหลกเศษสตางค์ น้อยมองไม่ชัดว่า หยดนั้นมาจากไหน อาจจะเป็นเหงื่อ จากหน้าแม่ แต่แม่ก็เพิ่งจะเช็ดหน้าไปหยกๆ

แม่เขี่ยเศษสตางค์ด้วยนิ้วชี้ ครู่หนึ่งจึงหันมาทางสองพี่น้อง ยิ้มให้ลูก หน้าแม่ดูเป็นปรกติดี ไม่มีเหงื่อด้วย แม่คงค่อยหายเหนื่อยแล้ว "ลูกไม่ได้ทะเลาะกัน น้อยก็ไม่ได้ไปซนที่ไหน แม่รู้แล้ว ขอบใจ ที่ลูกช่วยแม่ขายของได้ตั้งหลายบาท"
"แต่แมะใช้น้อยให้ขุดลูกเนียงเพาะของแม่-" พี่แมะสารภาพก่อน
น้อยเสริมว่า "น้อยชอบลูกเนียงต้ม พี่แมะถึงได้ต้ม-"
"ไม่เป็นไรลูก" แม่พูด

ต้องเป็นโต๊ะตาบอดนั่นแน่ๆที่ช่างฟ้อง แกบอกไว้แล้วนี่ว่าจะฟ้องแม่ให้ตี

"ตะกี้นี้แม่ผ่านมา เห็นร้านขายขนมของแขก ข้างบ้านครูวาหับ เขามีขนมกรวยขายด้วย ลูกเป็นเด็กดีกันมาทั้งวัน เอ้า แม่ แจกสตางค์ ให้ไปซื้อขนมกินกัน" แม่พูดพร้อมกับ ยื่นเศษเงินให้พี่แมะ

สองพี่น้องมองหน้ากัน เหมือนร่วมความรู้สึก ไม่รับเงินจากมือแม่ แต่โผเข้ากอดขาแม่เสียแน่น "เราอยากช่วยแม่หาเงินค่ะ" พี่แมะพูดและน้อยก็อู้อี้ อยู่ที่ขาแม่ด้วยว่า "น้อยก็ไม่อยากกินขนมกรวยแล้ว"

" อ้าว งั้นเอามะมุด (ผลไม้ตระกูลเดียวกับมะม่วง แต่ผลโตกว่า รสหวานกลิ่นแรง) ไปกินกันไป๊ ทั้งสุกทั้งดิบ เห็นว่าต้นนี้ หวานเสียด้วย อยู่ในกระเชอแน่ะลูก เอาไปให้โต๊ะบ้างก็ดีนะ" แม่ชี้ไปที่กระเชอกลางห้อง ทั้งพี่แมะกับน้อยต่างวิ่งไปในครัว พร้อมด้วยมะมุดมากมาย หลายลูก

"จอและ (น้ำปลาหวาน) จอและ! น้อย คราวนี้แหละอร่อยแน่ๆ น้อยปอกหัวหอมเข้า พี่จะปอกมะมุดแช่น้ำก่อนทำเผื่อ โต๊ะด้วย" พี่แมะออกคำสั่ง

คืนนั้น สองพี่น้องนอนขนาบแม่ ในมุ้งใหญ่ ทุกหนทุกแห่งเงียบสนิท น้อยนอนนิ่งๆสักครู่ ก็ถามขึ้นว่า "แม่คะ ตอนนี้พ่ออยู่ที่บ้านยายใช่ไหมคะ?" "ใช่แน่นอนลูก พ่อไปถึงบ้านยาย ตั้งแต่ตอนเย็น อีกไม่กี่วันพ่อก็กลับ น้อยนอนเสียเถอะนะ" แม่ตอบ พี่แมะถามบ้างแต่ เปลี่ยนไปคนละเรื่อง "แม่คะ แขกเขาต้มลูกเนียงยังไงคะ โต๊ะขู่ว่าจะให้แม่ตีเรา ทำไมแม่ไม่ตีเราล่ะคะ?"

"แม่ก็ไม่เคยต้ม แต่แม่รู้ว่าเขาต้องต้มกับน้ำด่าง น้ำด่างนั้นทำจากขี้เถ้า จำไว้นะลูก บางอย่างที่เราทำไม่เป็น ต้องถามผู้ ใหญ่เสียก่อน ไม่อย่างนั้นก็อาจเป็นโทษได้ อย่างลูกเนียงต้มนี้ก็เหมือนกัน โต๊ะแกขู่เพื่อจะให้ลูกจำไว้ แกเล่า ให้แม่ฟัง แล้วก็ขอ ร้องไม่ให้แม่ตีแมะกับน้อย" แม่อธิบาย "นอนเสียเถิดลูก พรุ่งนี้จะได้ตื่นแต่เช้า มาช่วยแม่ มัดพลูไปขายที่ตลาด"

ก่อนหลับคืนนั้น น้อยยังรู้สึกว้าเหว่อยู่นิดๆ แต่ก็เป็นสุข ที่ทุกคนที่ห้อมล้อมเธอ ล้วนน่ารักทั้งนั้น แม่ก็ใจดี พี่แมะก็รักน้อง พ่อก็รักครอบครัว ถึงตอนนี้จะไม่อยู่บ้านก็เถิด และเธอคิดด้วยว่า

โต๊ะตาบอดหน้าฝีดาษก็น่ารัก ไม่ได้น่าเกลียดเลยสักนิดเดียว!

เขียนที่บ้านซอยไสวฯ ต้องเขียน อยู่หลายขยักเพราะอยากให้จบในตอนเดียวแต่ก็ไม่สำเร็จ ตอนนี้เสร็จเวลา ๑๐.๔๐ น. ๑๙ มี.ค. ๔๔

 
อ่านฉบับ 129  
  1. อ่านฉบับ 131

แว้งที่รัก ตอน พ่อจ๋าแม่จ๋า ตอนจบ ( เราคิดอะไร ฉบับ ๑๓๐ พ.ค. ๔๔ หน้า ๓๑ - ๓๔ )