เวทีความคิด ‘เสฏฐชน‘

คนไม่มีด

หนังสือพิมพ์ เราคิดอะไร ฉบับที่ 129

เดือน เมษายน 2544


ผู้อ่านคงจะไม่สงสัยว่า ดี เป็นอวัยวะภายในสำคัญส่วนหนึ่งของคน หากคนใดดีแตก หรือดีบกพร่อง ก็จะต้อง ไปพบหมอผ่าตัด ซ่อมดีกันแน่ๆ ซึ่งอาจร้ายแรงถึงกับต้องเปลี่ยนดี ถ้าเปลี่ยนไม่ได้ ก็ต้องตายในที่สุด

เช่นเดียวกันกับดีที่เป็นอวัยวะสำคัญภายใน "ความดี" ที่เป็นนามธรรม ก็สำคัญสำหรับพฤติกรรมภายนอก ของคนเราด้วย และสำคัญกว่าอวัยวะดีด้วยซ้ำไป ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า "คนเกิดมาแล้วไม่ทำดี มีชีวิตยืนอยู่ถึง ๑๐๐ ปี สู้คนแม้อายุเพียงวันเดียว แต่ได้ทำความดีมาตลอดไม่ได้เลย" สัจวาจานี้ เป็นสิ่งไม่ตายและทำให้คนเรา พยายามทำความดี แม้อาจจะยากสำหรับบางคน แม้จะต้องอดทน สำหรับผู้ทำได้แล้ว เนื่องจากจำนวนคนดีมีน้อย ทำให้ต้องสู้ทำความดี ท่ามกลางความย้อนแย้ง ด้วยจิตพาลของคนที่ทำความดีได้ยาก ที่มีจำนวนมากกว่าด้วยเหตุนี้ แม้โลกนี้จะมีคนดีน้อย แต่คนดีเหล่านั้นเป็นทรัพยากรบุคคล ที่เลิศล้ำค่ามากเหลือ

ปัจจุบันนี้เป็นกาละที่เหมาะสม จะหยิบยกเอาคำตรัสของพระพุทธองค์ มากล่าวอ้างอิง ยกขึ้นเป็นเหตุผล ในการท้วงติง ตักเตือน หรือยกย่องอย่างยิ่ง เพราะคนดีที่จะทำความดี เพื่อผดุงรักษาค้ำจุนโลก ช่วยสังคมไว้ก็หาได้น้อย คนชั่วที่ตั้งหน้าตั้งตา ทำสิ่งเลวร้ายต่างๆ ก็เพิ่มพูนขึ้น เป็นเงาตามกาล ดุจประหนึ่งจะเย้ย ท้าทายคุณงามความดีของคนให้ได้อาย

เหตุการณ์จากพฤติกรรมเลวร้ายผิดศีลธรรม ที่คนก่อขึ้น จึงปรากฏตามหน้าสื่อสารต่างๆ ทุกวัน จนแทบจะทำให้บางคนเกิดความรู้สึกว่าโลกนี้ไม่น่าอยู่เลย หรือโลกนี้จะหาคนดีไม่ได้เสียแล้วกระมัง? แม้ว่าจะยังมีบางหน่วยงาน ที่ทำหน้าที่ "ร่วมด้วยช่วยกัน" ทางสื่อสารเพื่อโยงใย เสริมสร้างทุกวิถีทาง ที่จะทำให้คนดีมารวมกัน ให้คนดีทำงานให้สังคมตลอดเวลา ๒๔ ชั่วโมง แม้อาจจะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เพียงการ ได้ช่วยเก็บข้าวของที่ลืม ตกหล่น แล้วไม่ยอมผิดศีลข้อ ๒ หรือแม้แต่การไปช่วยคนชรา คนป่วย คนกำลังคลอดลูก แล้วไม่มีใครรู้เห็น ต้องรีบไปให้การช่วยเหลือเร็วด่วน ก็สามารถที่จะเป็นตัวประสานงาน ทั่วประเทศ ให้ไปช่วยเหลือกัน

รายการอย่างนี้แหละที่เป็นประดุจ น้ำทิพย์ ช่วยประพรมให้คนรู้สึกว่าในสังคมยังมีที่ร่มเย็น พอพักเหนื่อยใจได้บ้าง ซึ่งแตกต่างจากโลกอีกซีกหนึ่งที่ตั้งอยู่ที่สูงประดุจหอคอย ดูประหนึ่งสง่างามดุจราชสีห์ แต่กลับมีข่าวคาวโลกีย์ประดุจไฟนรก ที่แผดเผาส่งรัศมีความร้อนรุ่มเป็นพิษออกมาทำลายจิตใจ ทำร้ายความรู้สึกของคนในสังคมให้เหี่ยวแห้ง อับเฉา และสิ้นใจตาย เพราะสิ้นหวัง สิ้นศรัทธา ในสถาบันสูงที่เรียกว่า "วุฒิสภา" ที่ไม่น่าเกิดขึ้นอย่างนี้ โดยเฉพาะสมาชิกวุฒิสภาที่ได้รับการ เลือกตั้งจากประชาชน ทั้งประเทศ ทุกจังหวัดต่างเลือกมาเอง ตามทัศนะความเชื่อถือของตน ที่ต่างก็มั่นใจว่า "วุฒิสมาชิกของจังหวัดเราเป็นคนดี"

จริงอยู่ที่ว่า "เห็นหน้าไม่รู้ใจ" หรือแม้แต่ "รู้ใจแต่ก็ไม่อาจเข้าไปถึงใจ" ของใครๆ ได้ แต่อย่างน้อย คนเราก็ควรจะ "เห็นใจ" คนด้วยกันที่มีปฏิกิริยาแสดงออกมาอย่างโจ่งแจ้งแล้วว่า "ไม่พอใจ" ในพฤติกรรมที่ "ไม่ดี" นั้นๆ จากการแสดงออก การพูด การวิพากษ์วิจารณ์ ผู้แกล้งทำหูหนวกตาบอดก็ย่อมรู้ได้ หากไม่ไร้ ซึ่งจิตวิญญาณบริสุทธิ์ ที่ปราศจากสิ่งชั่วร้ายเข้าปกปิดครอบงำ

น่ายกย่องวุฒิสมาชิกที่จัดรายการโทรทัศน์ท็อปฮิต รายการหนึ่ง ที่เป็นอิสลามิกชนได้ออกมาพูดว่า ไม่เห็นด้วยในการที่วุฒิสภา พิจารณาอนุมัติสิทธิความคุ้มครอง ให้แก่วุฒิสมาชิก ผู้ทำความเสื่อมเสีย ให้แก่สถาบัน และไม่อยากให้คนมาทักทายว่า เป็นวุฒิสมาชิก เพราะ "ละอาย" ต่อสถานะนั้นเสียแล้ว ในเมื่อผู้ร่วมสถาบันเดียวกัน ได้กระทำสิ่งที่ไม่ดี ไม่สมควรต่อการเป็นผู้ดำรงตำแหน่ง วุฒิสมาชิก ที่อาจแปลภาษาได้อีกคำหนึ่งว่า "สภาสูง" ในเมื่อผู้ที่อยู่ในสภาสูงก็ควร เป็น "คนสูง" ด้วย ซึ่งควรสูงด้วย "วุฒิธรรม" ตามหลักพุทธศาสนา เราก็รู้สึกละอายต่อความรู้สึกของวุฒิสมาชิกท่านนี้เหมือนกัน รวมไปถึงความละอาย ต่อชาวภาคใต้ ละอายต่อชาวพุทธ ละอายต่อความเป็นคนไทย ที่ไม่สามารถทำความดีให้กระจ่างแจ้งออกมาได้ ทั้งๆ ที่ทำได้ ไม่น่าที่จะปล่อยให้ "ปลาเน่าตัวเดียวส่งกลิ่นเหม็นไปทั้งข้อง"

แม้ในวงการพุทธศาสนาเอง หากมีพระภิกษุปาราชิกขึ้น ก็จะต้องเอาออกเพื่อความบริสุทธิ์ของ "สังฆสภา" เช่นตัวอย่าง สมัยพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ ครั้งที่ท่านทำสังฆกรรม แล้วมีภิกษุดื้อด้านไม่บริสุทธิ์ ไม่ยอมออกจากสังฆกรรมปาติโมกข์ จนกระทั่งพระโมคคัลลานะ ต้องมาฉุดตัวภิกษุผู้ไม่สะอาดนั้น ออกไปจากสังฆสภา พระพุทธเจ้าทรงไม่เข้าร่วมสังฆกรรมนั้น และไม่เข้าร่วมสังฆสภาอีกเลย เพราะทรงเห็นโทษของความดื้อด้าน เห็นภัยของความเลวร้ายที่คนไม่ดียังนั่งอยู่ในสภา

เป็นประวัติศาสตร์เป็นประเพณีปฏิบัติที่ พระพุทธองค์ทรงวางแนวทางของการประชุมสภาไว้อย่างชัดเจน และเป็นแบบฉบับไว้ดูเป็นตัวอย่างที่พุทธศาสนิกชนพึงกระทำตาม เพราะนั่นหมายถึงความเป็น หนึ่งเดียวที่ถูกต้องตรงธรรม สำหรับกำราบคนชั่วที่จะมาถือโอกาส "แอบอิง" โมเม ซ่อนเร้นอยู่ในหมู่คนด ีที่เขาตั้งใจทำความดี ตั้งใจทำดีให้ได้จริงๆ

ฉะนั้น การที่วุฒิสมาชิกจำนวน ๕๔ ท่าน ยกมือไม่อนุมัติเอกสิทธิ์ให้แก่วุฒิสมาชิก ผู้กระทำความผิดนั้น ชอบธรรมแล้ว ดีแล้ว น่าอนุโมทนา ควรชมเชยแล้ว สมควรแก่การทำหน้าที่ ที่ท่านได้สัญญาไว้กับประชาชนแล้ว เพราะ ๕๔ กว่าท่าน ได้ช่วยค้ำจุนคุณธรรม ศักดิ์ศรี เกียรติยศของวุฒิสภาไว้ส่วนหนึ่ง แม้จะต้องผจญกับความขัดแย้งคัดง้างกับความไม่ชอบธรรม อีกส่วนหนึ่งก็ตาม แต่ขอให้วุฒิสมาชิก ๕๔ ท่าน ที่ได้ทำงานชิ้นนี้ไปแล้วนั้น จงมั่นใจ มั่นคงในการตัดสินใจของท่านเถิดว่า "ถูกต้องตรงธรรม" แล้วจริงๆ

เพราะพระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า "สภาจะชื่อว่าสภาได้ก็ต้องเป็นสถานที่มีบัณฑิตร่วมอยู่ด้วย" ซึ่งคำว่า "บัณฑิต" นั้น พระพุทธองค์ทรงหมายถึง "ผู้ฝึกฝนอบรมตนให้ทำความดี" หรือ "ผู้พยายามทำตนให้เป็นคนดี" หรือ "ผู้พยายามทำความดี" แม้ว่าโลกนี้จะหาคนดีได้ยาก เพราะทรงกล่าวไว้ด้วยว่า "คนดีทำดีง่าย คนชั่วทำดียาก" และยังทรงกล่าวยืนยันไว้ด้วยว่า "คนรักในการทำความดีเป็นคนเจริญ" ส่วน "คนเกลียดในการทำความด ีเป็นคนเสื่อม" คำตรัสนี้เท่ากับยืนยันความเป็นคนเจริญ หรือไม่เจริญอยู่ในทีนั่นเอง

ฉะนั้นเมื่อนำเอาคำตรัสของพระพุทธองค ์มาเทียบเคียงแล้ว เท่ากับวุฒิสมาชิกทั้ง ๕๔ ท่าน นั้นได้คำอวยพร จากพระพุทธองค์แล้วโดยปริยาย จากการยกมือคัดค้าน การอนุมัติเอกสิทธิ์ในวุฒิสภาครั้งนี้ เพราะท่านได้ทำหน้าที่เหมาะสม กับคนที่มี แล้ว ส่วนคนไม่มีดีนั้น ก็คงจะต้องเป็นคนพิการ ทุกข์ทรมานกับความพิการนั้นเอง และคงจะต้องลากถูลู่ถูกังไปกับความพิการจนกระทั่งหมดสภาพ เพราะต้องเดินไปสู่ความเสื่อม ใช้การไม่ได้ ไม่มีใครต้องการนำออกมาใช้อีกต่อไป

คำตรัสที่พระศาสดากล่าวไว้ว่า "ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว" นั้นเป็น คำจริง ที่ยังคงจริงอยู่แน่นอน ไม่ยกเว้นใครๆ ทั้งสิ้น ตราบเท่าที่คนในโลกนี้ยังจะต้องขวนขวายในการทำดี รักษาดี และทรงความดีไว้ทุกกาละ เพราะ โลกสันติสุข สังคมร่มเย็น ก็เพราะความดี เท่านั้น

บทความดีจึงอุทิศเพื่อคนมีดี ให้คนเหล่านั้นจงดำรงตนอยู่อย่างน่าเลื่อมใสตลอดไป

 

 

    อ่านฉบับ 130

(เราคิดอะไร ฉบับ ๑๒๙ เม.ย. ๔๔ หน้า ๕๐-๕๒ เวทีความคิด เสฏฐชน)