เวทีความคิด ...เสฏฐชน

คุมไม่ดีนั้น ดีแล้ว

หนังสือพิมพ์ เราคิดอะไร ฉบับที่ 130 เดือน พฤษภาคม 2544
หน้า 1/1

ข่าวที่ส่งผลให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์จากทั่วทิศ ที่ออกทางสื่อทั้งวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์นำเสนอสู่สังคม ตั้งแต่วันที่ ๓๐ มีนาคม ๔๔ นี้ เป็นข่าวฮิตในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา คือการ ออกกฎหมายใหม่ จำกัดการเที่ยวของวัยรุ่น ไม่ให้เยาวชนที่อายุ น้อยกว่า ๑๘ ปี ไปเที่ยวตามแหล่งอบายมุขตามลำพัง นอกจากจะมีผู้ใหญ่ ไปกับผู้ใหญ่ ผู้ปกครองเท่านั้นวัตถุประสงค์ ของการออกกฎหมายนี้เพื่อ “ช่วยเหลือ-ป้องกัน” ไม่ให้เยาวชนตกต่ำ เนื่องจากก่อนที่จะมีกฎหมาย ฉบับนี้ออกมา ปัญหาเรื่องเยาวชนที่ ติดยาบ้า ติดเอดส์ ติดความไม่ดีต่างๆ จากแหล่งเที่ยวกลางคืนเหล่านี้ มีสถิติสูงเหลือเกิน และนับวันจะเพิ่มมากขึ้นๆ ผู้บริหารบ้านเมือง ที่มีหน้าที่ดูแลความสุข-ทุกข์ของประชาชนทุกวัย จึงต้องตัดสินใจออกกฎหมายดังกล่าว

ในแง่ของพุทธศาสนา “การเที่ยวกลางคืน” เป็น “อบายมุข” ชนิดหนึ่งนอกไปจาก “แหล่งอโคจร” คือสถานที่ที่ไม่ ควรไป หรือ “อปายะ” ที่ที่ไม่ควรอยู่ ไม่ควรเกี่ยวข้อง เพราะเป็นสื่อ เป็นพาหะ เป็นที่มา เป็นแหล่งเพาะความไม่เจริญทั้งหลาย แหล่ ไม่เจริญก้าวหน้าทั้งด้านสติปัญญา สุขภาพ ไม่เป็นมงคล เพราะเป็นสถานที่เกลื่อนกล่นไปด้วยคนพาล อันเป็นคนอ่อนเยาว์ ทางวุฒิภาวะ ไม่อาจยับยั้งควบคุมอารมณ์ฝ่ายต่ำได้ เมื่อต้องไปคลุกคลีด้วยแสง สี เสียง กลิ่น รส “ที่เป็นภัยต่อกุศลธรรมทั้งหลาย”

หากเราไม่ปฏิเสธว่าประสิทธิภาพ ในการควบคุมจิตใจที่จะไม่ให้หวั่นไหวต่อ “เบญจกามคุณ” แม้แต่ในผู้ใหญ่เอง ไม่ว่า อายุ ๕๐-๖๐ หรือมากขึ้นไปกว่านั้นด้อยอ่อนมาก ในภาวะวิสัยปกติของปุถุชน จะกล่าว ไปไยถึงเยาวชน จึงเป็น “ความประมาท” อย่างยิ่งที่จะไปหวังว่า “ปลอดภัย” หากไม่คิด “ป้อง-กัน” ช่วยเหลือด้วยวิธีใหม่นอกจากที่เคยทำมาแล้ว

คุณสมบัติของผู้เป็นบิดามารดา ผู้ใหญ่ ผู้นำทางจิตวิญญาณในศาสนาได้กล่าวไว้แล้วจะต้องรับหน้าที่ “ชี้คุณสิ่งที่เป็นคุณ ชี้ โทษสิ่งที่เป็นโทษ ช่วยนำออกจากสิ่งไม่ดีงามทั้งหลาย บอกทางนรก บอกทางสวรรค์ แนะให้ทำความดี”

ในเมื่อเหตุผลที่ผู้ช่วยกันออกกฎหมายนี้เปิดเผยว่าเพราะเห็นเป็นวิธีที่จะลดปัญหาเยาวชนเสื่อมคุณภาพ ไร้คุณภาพลง ถ้าขืนปล่อยให้ไปเที่ยวอิสระเหมือนเก่า ประเทศก็จะต้องเสี่ยง ต่อปริมาณเยาวชน ติดยาบ้าเพิ่มขึ้น ในเมื่อใครๆ ก็รู้อยู่ว่าแหล่ง บันเทิงเริงรมย์ในยามค่ำคืนเหล่านี้ ส่วนใหญ่มักจะมีการ แอบแฝงขาย-ซื้อ-กิน ยาบ้าแทบทั้งสิ้น จึงเป็นรูรั่วจุดหนึ่งที่มีอิทธิพลทำ ให้หมิ่นเหม่อย่างมากต่อการ “ชักชวน-ทำให้หลงใหล” ไปตาม ทำให้เยาวชนที่ติดยาบ้าอยู่แล้ว หรือมีเพื่อนที่ติดอาศัยสถานที่ เหล่านี้สร้างจำนวนเพื่อนเยาวชนด้วยกันให้ไปสู่ทิศทางเดียวกับตนด้วยไม่รู้ รู้เท่าไม่ทันการณ์ โน้มใจเห็นดีไปตามเพื่อน เกรงใจกัน และกัน จึงต้องไปทำสิ่งเดียวกัน สุดท้ายก็ต้องกลายเป็นคน ติดยาบ้าแน่นอน

การออกกฎหมายมาบังคับ จำกัดการเที่ยวเตร่ หรือเที่ยวอย่างมีเงื่อนไข มีกติกาที่จะ “ช่วยให้ปลอดภัย” กว่า น่าจะ เป็น “วิธีที่ดีกว่า” เพราะเป็นการ “ป้องปิด” ที่กระชับขึ้น แม้จะต้องมีเสียงโต้แย้ง กลับคืนมาบ้าง ตามประสาของคนหลายประเภท หลายความคิด อาศัยความมีจิตที่ “ที่เจตนาดี” ต่อประโยชน์ของชนส่วนใหญ่ ของเยาวชนที่จะต้องมีอนาคตเป็นผู้รับ ภาระสังคมไทยต่อไป ให้เขามีชีวิตอยู่อย่างมีคุณภาพ-คุณธรรม ดูจะเป็นงานที่ต้องทำ ต้องช่วยกันให้กำลังใจ ต้องช่วยกันส่งเสริม แม้จะเป็นเพียงการจับเอาเพียงตอนหนึ่งขึ้นมา ทั้งๆที่กระแสความไม่ดีนี้ ยังมีสืบสาน ทอดยาวไปหลายฐานะ ไม่จำเพาะเจาะจง มาที่ตัวเยาวชนเท่านั้น

ผู้ใหญ่ที่ “อ่อนแอทางศีลธรรม” ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่ที่ติด ที่เสพ ที่ชอบอบายมุขอยู่ก็มีไม่น้อย ผู้ใหญ่ที่ผลิต ขาย สนับสนุน ใช้อำนาจเสริมหนุนอาชีพอบายมุขทุกชนิด หรืออบายมุขชนิดใด ชนิดหนึ่งก็มีมาก เพราะมีอิทธิพลอำนาจ บริวาร เงิน ทอง หนทาง เล่ห์กล คิดค้นให้อบายมุขทั้งในรูปแบบของสถานที่ บุคคล สิ่งของทั้งในรูปของตัวเองเสพเอง ผลักดันให้คนอื่นเสพ เปิดทาง หาช่องให้คนอื่นทำ ผลิต ค้า ขาย ซื้อ กิน สายผ่านทางคอรัปชั่น คอมมิชชั่น ตำแหน่งอุปถัมภ์ กิตติมศักดิ์ผู้ประกอบมิจฉา วณิชชาเหล่านั้นนำมาป้อนตอบแทนให้ นั่นแหละคือ “หัวเชื้อใหญ่” ของความเสื่อมต่ำที่ ยากแก่การที่ใครจะไปคุม นอกเสีย จากผู้ใหญ่เหล่านั้น จะยินดีในการเปลี่ยนแปลงนิสัยเอง

ส่วนเรื่องของผู้ใหญ่จะดำริลงมือทำอะไร เพื่อความเจริญของเด็ก ด้วยจิตใจที่ปรารถนาดีต่อเด็กนั้น ก็เป็นความดีของผู้ใหญ่ประการหนึ่ง เป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ควรทำ ถ้าจะให้มีน้ำหนักมีผลเกิดขึ้นดั่งใจหวัง ผู้ใหญ่ก็ควร “ทำนำ-ทำก่อน-ทำด้วย”

ถ้าผู้ใหญ่ไม่ไปเที่ยวกลางคืน ไม่ไปข้องเกี่ยวกับอบายมุขทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นการเสพสิ่งเสพย์ติดใดๆ นับแต่บุหรี่ เหล้า ที่เป็นสิ่งเสพย์ติดใกล้ตัว เห็นได้ชัด รู้ๆ กันอยู่แล้ว ไล่เลียงไปจนกระทั่งถึงยาบ้า กัญชา และแม้แต่ยาชูกำลัง ยาเสริมพลังต่างๆก็ตาม ที่ทำให้ ฮึกเหิม ราคะจัดจ้าน โทสะร้อนแรง จิตใจกระวนกระวาย จะโดยวิธีออกกฎหมายคุม ไม่ให้สิ่งไม่ดีเหล่านี้เกิดขึ้นหรือแพร่หลาย ขยายตัว ก็ยิ่งจะเป็นแรงเสริมหนุน ให้กฎหมายควบคุมเยาวชนดังกล่าว มีผลแน่นอน

เวลาของชีวิตมีไม่มาก ทุกวินาทีที่ผ่านไปล้วนเหลือเวลาน้อยลงๆ น่าที่จะใช้เวลาที่เรายังอยู่มาก่อ สร้างสิ่งที่ดีงามให้แก่ ตนกับคนรอบข้าง เพื่อนร่วมโลกมิดีกว่าหรือ? ดังที่พระพุทธพจน์ที่ว่า “ผู้รักตนเอง ย่อมไม่ไปทำร้ายผู้อื่น” การไม่ทำสิ่งร้ายๆ แก่ตัวเอง คือไม่ไปเพิ่มกิเลสตัณหา อุปาทานให้ตัวเอง ทั้งไม่ไปเป็นส่วนหนึ่ง ไม่ไปเป็นส่วนร่วมในการเพิ่มความไม่ดีต่างๆ เหล่านั้น ก็เป็นการรักตัวเอง ไม่ไปทำร้ายคนอื่นนั่นเอง ส่วนใครจะเข้าใจผิดว่าเรามี “สิทธิ” เรามีโอกาส เรามีความรู้ เรามีความเก่ง เรามี เงินจ่ายที่จะไปทำสิ่งที่ไม่ดีเหล่านั้น จะไม่เป็นการ ปล่อยเปล่า ซึ่งสิทธิโอกาส ความรู้ ความ เก่งของเราไปหรือ? หากคิดเช่นนี้โดย ไม่รู้ว่าเป็นการคิดที่ มิจฉาทิฏฐิ ก็น่าที่จะหันกลับมาคิดใหม่ หันมาศึกษาพุทธธรรมดูบ้าง

พระพุทธองค์ตรัสว่า "คนดีย่อมส่งเสริมคนดี" คนดีย่อมยินดีในการสร้างคนดี คนดีย่อมเปิดหนทางให้คนทำดี แม้จะต้องฟันฝ่าอุปสรรค ลำบากมากมายเพียงใด ก็ไม่ถดถอย ผู้ที่คัดง้างกฎหมายควบคุมเยาวชนดังกล่าว รู้สึกว่าทำให้เยาวชนไม่มีทางออก หมดทางคลายความเครียด ปิดโอกาสเรียนรู้หาประสบการณ์ ก็เป็นความหวังดีประการหนึ่ง แต่หากใครจะลองนำเอาความหวังดี ของผู้ออกกฎหมาย กับความความหวัง ดีของผู้ค้านแย้งมาเปรียบเทียบกัน ทำความเข้าใจในความหวังดีนั้น ให้ถูกขั้นตอน เป้าหมาย ก็คงจะพบคำตอบเองได้

ภาวะความบีบคั้นทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคมยุคนี้ ล้วนทำให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง เยาวชนหนักใจ ทุกข์ใจ ตั้งแต่ระดับ ครอบครัวขึ้นไป จนกระทั่งถึงผู้บริหารแผ่นดิน ที่ไม่มีเวลาเพียงพอ ในการมาทุ่มเทให้กับการแก้ปัญหานี้ทั้งหมด เพราะปัจจัยการยังชีวิต ที่ถูกกำหนดจากสังคมคนด้วยกัน มีมากมาย ทั้งที่จำเป็นและไม่จำเป็น จนทำให้เกิดค่านิยมหลงใหลให้คนต้องมี ต้องได้ เหมือนๆ กันไกลออกไปจากความ “จำเป็นจริงๆ” ทุกทีๆ ฉะนั้นเมื่อเมื่อมีผู้เสนอวิธีที่จะช่วย บรรเทาปัญหาให้น้อยลง ให้เบาลง ก็ น่าจะขานรับ และถ้าจะให้ดียิ่งๆ ขึ้นผู้ที่อาจเป็น “ชนวน” เป็น “เชื้อต่อ” ในขั้นตอนใด ฐานะใด ในสังคมคนด้วยกันที่อยู่ในวง การอาชีพ ตำแหน่ง หน้าที่จะเกิด “สำนึกดี” มีความ “รับผิด-ชอบ” ในความเป็น “มนุษย์” ในความเป็น “พลเมืองดี” ในความเป็น “ศาสนิกชนที่ดี” สนองตอบรับนโยบายที่ดีเรื่องนี้ด้วย ก็จะเป็นตัวเร่งให้ “ผลดี” นั้นเกิดได้รวดเร็วขึ้น

“พรหมธรรม” อันคือ เมตตา ความปรารถนาให้ผู้อื่นเป็นสุข กรุณา การลงมือทำให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ มุทิตา การยินดีร่วม แรงร่วมใจกันเพื่อไปสู่ผลสำเร็จ อุเบกขา ความวางเฉยต่ออุปสรรคต่างๆ ไม่นำมาเป็นปัญหาบั่นทอนกำลังใจ ในการทำสิ่งที่แน่ใจว่า ดีแล้ว เป็นพาหนะ เป็นเครื่องอยู่ เป็นที่อาศัยอันดี สำหรับผู้ปรารถนาสร้างความสะอาด ให้เกิดขึ้นในสังคม เราจึงเห็นว่า “คุม (สิ่ง) ไม่ดีนั้นดีแล้ว! “

 
    อ่านฉบับ 131
อ่านฉบับ 129

เวทีความคิด ( เราคิดอะไร ฉบับ ๑๓๐ พ.ค. ๔๔ หน้า ๕๐ - ๕๒ )