สิบห้านาทีกับพ่อท่าน โดย ทีม สมอ. ตอน...
ประชาธิปไตยกับแม่
หนังสือพิมพ์สารอโศก อันดับที่ 227
หน้า 2/2

: ถาม เรากับแม่ควรจะสัมพันธ์กันอย่างไรคะ

: ตอบ จิตวิญญาณแม่ถ่ายทอดมาให้ แล้วเราก็ทำตามที่แม่สอน ทำตามที่แม่ พาให้ทำ แล้วตรวจดูว่า เราทำถูกตรงตามแม่สอน แล้วได้ผลไหมล่ะ ถ้าได้ผล ก็สัมพันธ์กันซิ ถ้าคุณฟังรู้เรื่อง แล้วก็ปฏิบัติตามจนจิตวิญญาณคุณ เกิดมีการรู้สึกใหม่ เปลี่ยนแปลงความเป็นไปทางดีขึ้น รู้สึกรสใหม่ เป็นรสสงบ เป็นต้น เป็นตัวจริง จนไม่ต้องปฏิบัติอีก ซึ่งล้วนเป็นการเกิดทางจิตวิญญาณ เพราะฉะนั้น แม่สามารถทำให้ วิญญาณเราคลอดมาได้ไหมล่ะ พัฒนามาเป็นอริยบุคคล ตามลำดับๆ ก้าวหน้าขึ้นไป โตขึ้นไป ฟูมฟักไปจนกระทั่งเป็นตัวตนออกมา เดินได้เอง ก้าวได้เอง สามารถสอน คนอื่นได้ต่อ ช่วยคนอื่นได้ต่อ มันเป็นอย่างนั้น ไหมล่ะในทางวิญญาณ ก่อเกิดทางวิญญาณ ที่ได้มรรคได้ผล จริงไหม

: ถาม ช่วงนี้พ่อท่านมักปรารภว่า อายุมากแล้ว อาจมีเวลาอยู่อีกไม่นาน พ่อท่านห่วงว่า จะทำอะไรไม่ทัน หรือ คะ

: ตอบ ใช่ อาตมาเป็นห่วงว่าจะทำอะไรๆ ไม่ทัน เพราะอายุมากแล้ว งานการทั้งหลายแหล่ รู้สึกเยอะ ยังทำอะไรได้ไม่เท่าไร ก็เรียกได้ว่าครึ่งวัน ค่อนวัน เข้าไปแล้ว จวนจะมืดจะค่ำแล้ว ก็เลยบ่นไปบ้าง เพื่อจะให้พวกเราได้รู้ความจริงว่า มันไม่มีเวลามากนัก เมื่ออาตมาไปแล้ว ก็จะไม่มีอาตมา พวกเราก็จะต้องทำอะไร ต่างๆ ไปเอง ก็ต้องลดอะไรไปอย่างหนึ่ง จึงอยากให้พวกเรา รีบๆ ขวนขวาย พยายามเอาสิ่งที่ควรจะเก็บจะโกยจากอาตมา ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ เอาประโยชน์ให้ได้มากๆ ให้เร็วๆ เพราะภาคปฏิบัตินั้น ไม่ใช่ว่าเราจะเอาแต่ภาษา เอาแต่ปริยัติแล้วจะไปได้ถึงตัวจบเลย เพราะเพียงแต่คำพูด พูดถึงยอดสุดท้าย อย่างไรก็ได้ แต่ในภาคปฏิบัติ ถ้าเราไม่มีฐานโสดา แล้วจะไปเอาฐานอนาคามี หรือ ฐานอรหันต์มันไม่ได้ เราจำเป็นต้องมีสภาพที่รู้ อย่างมีภาวนามยปัญญา รู้อย่างในลักษณะของปัญญา ในระดับภาคปฏิบัติ ของความจริง ที่เกิดผล เช่น เราอธิบาย ด้วยภาษาว่า จะขึ้นไปยอดเขาจะมีชั้น มีเหลื่อมอะไรต่างๆ หากเราเดินขึ้นเขา เมื่อพ้นขึ้นไป จากชั้นนั้น ก็จะเห็นอันนั้น ซุกไปตรงนี้ ก็มีอันนี้ แค่บรรยายเป็นภาษา อะไร มันคล้ายก็เอามาเทียบ มาเคียง ชี้แจงให้ฟัง คนที่ได้แค่ฟัง ก็พอคาดคะเนได้ จินตนาการตามได้ว่า โสดาจะมีคุณลักษณะอย่างนั้น ๆ สกิทาคามี จะมีคุณลักษณะ อย่างนั้น ๆ หรือ อนาคามี และ อรหันต์ มีคุณลักษณะอย่างนั้น ๆ มันก็พอเข้าใจตามได้ ในระดับหนึ่ง แต่สำหรับคนที่ไม่ได้เดินขึ้นบนภูเขาจริง ไม่ถึงขีดนั้น ๆ จนได้สัมผัส ด้วยสายตาตัวเอง จับต้องด้วยมือตัวเอง มันก็ยังไม่ใช่เป็นการรู้ที่แท้จริง ซึ่งหลายอย่าง มันคล้าย มันเหมือน แต่มันไม่ใช่จริงๆ บางอย่างก็กลับกันคนละขั้วเลย เช่น เรารู้ว่า ขาวตรงข้ามกับดำ คุณก็เดาไป แต่ขาวที่คุณว่า อาจเป็นขาวอีกลักษณะหนึ่ง โดยไม่ใช่ขาว อย่างที่คุณคิดก็ได้ หรือ สภาวะที่ตรงข้ามกับทุกข์ คือ ความสุข แต่ความสุข ก็มีหลายแบบ เช่น สุขแบบมีอามิสล่อเป็นอัสสาทะแบบโลกีย์ สุขสงบแบบสมใจ แล้วมันก็หยุดดิ้นรน ไปพักหนึ่ง แต่สุขอย่างโลกุตระ จะแตกต่างจากสุขแบบโลกีย์ เพราะเป็นสุข อย่างสงบระงับ ไม่มีแม้แต่เหตุปัจจัย ไม่มีแม้แต่กิเลสตัณหา อุปาทาน มันหมดการดิ้นรน หมดอยาก โลกียะได้เสพรสบำเรอกิเลสก็สุข ตรงกันข้ามกับ สุขโลกุตระ ซึ่งสงบจากกิเลส ไม่ต้องมีรส เห็นไหมว่า เป็นอาการของความสุข เหมือนกัน แต่อย่างโลกุตระ อย่างโลกียะ มันไม่เหมือนกันแล้ว อย่างนี้เป็นต้น และ ทั้งที่เป็นภาษา “สุข” เหมือนกัน

แต่ถ้าคุณไม่เข้าถึงสภาพ “สุข” นั้น จริง คุณก็มีแต่สุตมยปัญญา อย่างเก่งก็แค่ จินตามยปัญญา หรือ เช่น ฌานก็ดี สมาธิก็ดี เรียกว่า ฌาน ว่าสมาธิเหมือนกัน แต่ฌาน หรือ สมาธิแบบพุทธ ก็อย่างหนึ่ง แบบทั่วๆ ไปที่ไม่ใช่พุทธก็อีกอย่างหนึ่ง เป็นต้น ทุกวันนี้ ก็หลงผิดจากแบบพุทธกันไป มากกว่ามากแล้ว เพราะฉะนั้น ก็ต้องพยายาม เรียนรู้ และ ก็เพิ่มพูนฐานปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความจริง เพื่อจะได้เป็นโสดา ได้รู้ฐานโสดา และ ได้ขึ้นไปเหยียบบันไดขั้นโสดา เมื่อเหยียบบันไดก้าวแรกแล้วไต่ขึ้นไปหาฐานสกิทา โดยคุณจะกระโดดข้ามขั้นไปฐานอนาคา หรือ อรหันต์เลยไม่ได้

ธรรมะของพระพุทธเจ้า ต้องเป็นไปตามลำดับ งามในเบื้องต้น ท่ามกลาง บั้นปลาย ลาดลุ่มเหมือนฝั่งทะเล จึงอยากให้พวกเราเร่งรีบพัฒนาให้มีภูมิธรรมจริง จะได้พูด กันรู้เรื่อง จะได้เห็นสัจจะความจริง ถึงอาตมาเป็นอะไรไป ก็ยังจะได้มีพระอาริยะสูงๆ หลายๆ รูป ให้มันทันการ แม้ว่า อาตมาจะตายไปแล้ว ก็ยังได้มีอะไรต่อฐาน

นี่แหละที่บอกว่า ถ้าอาตมายังอยู่ ก็จะได้จ้ำจี้จ้ำไช เอาใจใส่เทศน์ในรายละเอียดต่างๆ ดีกว่าไปศึกษาอ่านเอง ซึ่งบางทีก็ไม่รู้ว่าจะศึกษาตรงไหน ที่เป็นประเด็นของเรา

: ถาม พวกเราควรจะรีบเร่งเรื่องอะไรบ้างคะ

: ตอบ ให้ตั้งใจ ซึ่งมาจากคำว่า “อธิษฐาน” คือ ทำให้จริงโดยใช้ปัญญา รู้ตัวเสมอว่า ตัวเองต้องมีสติสัมปชัญญะ โดยมี “ปัญญาธิษฐาน” เป็นตัวแรก ตั้งขึ้นว่า เรากำลัง ทำอะไร ตอนนี้เรากำลังปฏิบัติธรรม หรือ เปล่า แล้วก็มี “สัจจาธิษฐาน” ต้องปฏิบัติ ให้ตรงให้จริง ไม่ใช่ปล่อยปละละเลย ต้องปฏิบัติให้ถึงผลของความจริง ที่เรียกว่า สัจจะ เกิดขึ้นตั้งขึ้นในตนให้ได้ ไม่ใช่ปล่อยตัวไปเป็นโลกียบุคคล ปล่อยไปตามยถากรรม และ ก็เสพโลกีย์ไป ไม่สังวรตน ไม่มีสัมมัปปธาน ๔ ไม่มีสติปัฏฐาน ๔ ไม่มีอิทธิบาท ๔ ถ้าไม่มีความจริง ในบทประพฤติ บทปฏิบัติของเรา ก็แสดงว่าเราไม่จริง เมื่อตั้งใจ ที่จะมี “ปัญญา” จากความเป็นพุทธ ก็ต้องตั้งใจปฏิบัติจนเกิด”พุทธปัญญา” จากสุตมยปัญญา-จินตามยปัญญาแล้วต้องให้เกิดภาวนามยปัญญายิ่งๆ ขึ้นกับตนให้ได้จึงจะชื่อว่า ปัญญาธิษฐาน และ ก็ปฏิบัติอย่างเอาจริง ให้มี “ความจริง” หรือ มีสัจธรรม โดยเฉพาะมี “ปรมัตถสัจจะ” เกิดขึ้นในตนให้ได้ จึงจะชื่อว่า “สัจจาธิษฐาน” และ ในสัจธรรม หรือ ในความจริงนั้น ก็ต้องให้เกิดการสละ ตั้งแต่สละวัตถุ สละแรงงาน สละความรู้ ความสามารถ ไปให้ลึกถึงขั้น “สละกิเลส” ออกจากจิตให้ได้ยิ่งๆ ขึ้น ตั้งมั่นขึ้น จึงจะชื่อว่ามี “จาคาธิษฐาน”ตามมา หมายความว่าสภาพที่สละออก หยั่งลง เป็นการสละออก ละออกในสิ่งที่ไม่ดี ปฏิบัติลดละอกุศลอะไรที่มีอยู่ให้ล้างออก ทั้งทางกาย -วาจา -ใจ เราได้ละล้างเอาออกให้หมด หรือ เปล่า ความดีจึงเกิดจาก ผลของการลดความเลว ทั้งหมด เพื่อทำให้เกิดปัญญาญาณ เกิดฐานที่สูงขึ้น ความจริงของตน หรือ สัจธรรมก็จะเป็นจริง เจริญจริงขึ้นเรื่อยๆ เป็นฐานะที่สูงขึ้นๆ และ จาคาธิษฐาน จึงจะเป็นไปได้ถึงขั้นปรมัตถ์ ถึงแม้ว่า คุณจะสละเงิน สละวัตถุ คุณก็ต้องมี ปรมัตถ์ว่า สิ่งที่คุณสละนั้น จริง หรือ เปล่า ไม่ใช่ว่าสละสองแสน สละห้าล้าน แต่ใจไม่ยอม ยังต้องมีผลประโยชน์ตอบแทน จากเงินนี้ หรือ จะใส่ข้าว ๑ ทัพพี ขอให้ถูกล็อตเตอรี่ ๑ ล้าน โลภเกินกว่าที่ใส่บาตรอีก นี่ไม่ใช่จาคาธิษฐาน อย่างนี้เป็นต้น

เพราะฉะนั้น เราต้องปฏิบัติให้จริง จนกระทั่งสุดท้ายเกิด “อุปสมาธิษฐาน” คือเข้าถึง ความสงบระงับ เข้าถึงความลึกซึ้งของผลที่ละเอียด ประณีตขึ้นไปเรื่อยๆ ที่สุดก็ถึง นิพพาน “อุปสมะ” นั้น คือ ความสงบ หรือ นิพพานทีเดียว อยากเร่งรัด ทุกคนให้ตั้งใจปฏิบัติอย่างนี้

: ถาม ทุกวันนี้ ชาวอโศกปฏิบัติได้แค่ไหนแล้วคะ

: ตอบ อาตมาพูดได้เต็มๆ เลยว่า ในชาวอโศกมีผลของอาริยะอยู่ แต่อาริยะนั้น เป็นผลของบุญเก่ามาเสียเยอะ คือ เป็นคนมีบุญบารมีเก่าเป็นทุนเดิม ทุกวันนี้ ที่พวกเรามาปฏิบัติตนอยู่ในศีลกันได้ ก็เพราะบุญเก่า มาฟังธรรมก็เข้าใจง่าย ศรัทธาแนบแน่น เนื่องจาก บุญเก่าทั้งนั้นแหละ (เรียกว่า เป็นบุญเก่าถึง ๒๐–๘๐%)

ทีนี้พอถึงภาคปฏิบัติในพฤติกรรมแห่งการปฏิบัติ เพื่อสร้างบุญใหม่นี่ ยังไม่เอาจริง เอาจัง ยังไม่เข้มข้นเท่าที่ควร ก็มีบางคนเท่านั้น ที่พากเพียร เข้มข้น ใส่ใจทั้งปริยัติ และ ปฏิบัติ จึงมีปฏิเวธเพิ่มขึ้นได้ หลายคนมาก ที่บ้างก็เอาแต่ปริยัติ ปฏิบัติหละหลวม ไม่มีสติแล้วไม่สังวร จนมีการ ปหานกิเลส ให้เกิด “ภาวนาปธาน” กันเท่าที่ควร ยังประมาทอยู่ และ มีมากเหมือนกัน ที่เมื่อมาอยู่ในหมู่ ในกลุ่มชาวอโศก แล้วก็อาศัยกิน อาศัยอยู่ไปสบายๆ เพราะตนเอง ก็มักน้อยสันโดษ มาขั้นหนึ่งแล้ว อบายมุขไม่มี ศีล ๕ พอได้ เป็นต้น ก็อยู่ได้ แต่ไม่ใส่ใจเพิ่ม ไม่พากเพียรเพิ่ม ตัวนี้แหละ ที่จะต้องเร่งรัด ตัวนี้แหละ ที่ต้องกำชับกำชา ให้พวกเรา พัฒนา ใส่ใจ มีสติรู้ตัวทั่วพร้อม ว่าเราได้เข็นตัวเอง หรือ เปล่า ต้องรู้ตัว ว่าเราตกหล่น หรือ ไม่ เราปล่อยตัวตามยถากรรม ไปตามโลกียะ หรือ ไม่ หรือ ว่าตอนนี้ เรามีความตั้งใจ เราสังวรอยู่นะ

ในภาคปฏิบัติอย่างนี้ อาตมาว่า พวกเรายังทำไม่ได้ถึง ๕๐% ละมั้ง ผลที่สุด บุญเก่าที่สะสมไว้ อาจจะหมดไปก็ได้ เว้นแต่ว่าถ้าอะไรที่ทำได้ถาวรแล้ว คุณก็จะไม่ตกหรอก กิเลสที่ลดละได้ถาวรแล้ว เที่ยงแท้แล้ว มันจะไม่กลับกลาย เพียงแต่เมื่อคุณไม่เดินหน้า สร้างบุญใหม่ คุณก็จะได้แต่เดินหน้าถอยหลัง ย่ำอยู่ตรงนั้น แหละ

เกิดมาเป็นคนเหมือนกัน
แต่ละสมความรู้ดี มาไม่เท่ากัน
ภูมิปัญญาจึงแตกต่าง มิอาจเท่าเทียม
บางคนรู้ดี ทำดี บางคนไม่รู้ดี จึงไม่ทำดี
ความไม่รู้คือ อวิชชา
คือศัตรูร้าย คือภัยศาสนา

end of column