บันทึกจากปัจฉาสมณะ

สารอโศก อันดับที่ ๒๓๓
กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔



ตอน ปั้น…ก่อ…หน่อเนื้อชาวอโศก กับการสานสายใยสังคม
ต้นเดือนธันวาคม พ่อท่านมีโอกาส อยู่ที่ปฐมอโศกหลายวัน (๑-๔ ธ.ค.) ทำให้พ่อท่านได้เดินตรวจดูงานก่อสร้าง ทั้งโรงงานยาสมุนไพร โรงเต้าหู้ ซีอิ๊ว เต้าเจี้ยว(ใหม่) และเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าที่คุณใจเดียว บุญญฤทธิ์ กำลังทำอยู่ ทั้งหมดถือเป็นแหล่งเรียนรู้ ทั้งในปัจจุบัน และอนาคตของชาวชุมชน โดยเฉพาะ เด็กนักเรียน สัมมาสิกขาปฐมอโศก ที่ถือเป็นหน่อเนื้อของชาวอโศก จะได้เรียนรู้งาน ที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของชุมชน นอกเหนือไปจากตำราวิชาการ ที่ต้องเรียน ตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด

การได้อยู่ปฐมอโศกหลายวัน ส่งผลให้พ่อท่าน มีเวลาอัดเท็ป รายการวิทยุ สะสมเอาไว้ใช้ช่วงที่พ่อท่าน ต้องเดินทาง ไปบ้านราชฯ เพื่ออยู่ยาว จนถึงงานปีใหม่ โดยมีสมณะเสียงศีล ชาตวโร ร่วมรายการ คอยซักถาม ช่วยผ่อนแรงพ่อท่านได้ดี

"เกียข่วมฟ้า" (แบกใส่หลังข้ามฟ้า) "กล้าข่วมฝัน" (กล้าข้ามฝัน) และ "กันข่วมหม่อระฮก" (กันตกนรก) เป็นชื่อเรือ เอี้ยมจุ๊นขนาดใหญ่ ๓ ลำ ที่ขนย้ายจากแม่น้ำเจ้าพระยา ไปลงแม่น้ำมูลที่บ้านราชฯเมืองเรือ เป็นการขนย้าย ที่ลำบากที่สุด ตั้งแต่มีการขนย้ายเรือ ไปบ้านราชฯ ด้วยลำที่ยาวที่สุด ยาวถึง ๒๖ เมตร และกว้าง ๘.๕๐ เมตร เต็มคับถนนเลย กว่าจะไปถึงได้ ต้องจ่ายเงินชดใช้ที่ชนป้าย ชนไฟจราจรเสียหาย เป็นหมื่นๆบาท และใช้เวลา เกือบสัปดาห์ (๑๐-๑๕ ธ.ค.) พ่อท่านพูดติดตลก เปรียบเทียบให้เห็น ภาพเรือลำใหญ่ๆ อยู่บนรถขนลาก (เทเลอร์) โดยใช้สำนวน สัมผัสเสียงว่า "ช้างขี่หนู... หมูขี่มด... รถขี่ลิง" ด้วยเป็นการขนย้าย ที่มีปัญหามากที่สุด แม้จะมีคณะในการ ขนย้ายเรือ ครั้งนี้กว่า ๒๐ ชีวิตก็ตาม พ่อท่านได้รับการติดต่อ ปรึกษาอยู่เป็นระยะๆ รวมถึงการเดินทาง ไปดูด้วยตนเอง ระหว่างทาง การขนย้าย จนถึงวันสุดท้าย ที่ใช้เครน ยกเรือ ลงแม่น้ำมูล ก็ออกเดินทางจากบ้านราชฯ ๔ นาฬิกา เศษ เพื่อไปดู (๑๕ ธ.ค.)

LIFE & FAMILY สัมภาษณ์พ่อท่าน
๕ ธ.ค. ๒๕๔๓ ที่สันติอโศก คุณนริสษา บุญเสริม กองบรรณาธิการนิตยสาร LIFE & FAMILY ได้มาสนทนา สัมภาษณ์พ่อท่าน เนื่องจาก ได้ทำเกี่ยวกับการศึกษาทางเลือก ได้อ่านเจอในหนังสือสารแสงอรุณ มีเรื่องโรงเรียน สัมมาสิกขาอยู่ด้วย ก็เลยสนใจมาทำ ส่วนใหญ่ที่ไปสัมภาษณ์มา แนวการศึกษาทางเลือก จะติดปัญหา กับกระทรวง ศึกษาธิการทั้งนั้น คุณนริสษากล่าว จากบางส่วน ที่น่าถ่ายทอด ดังนี้...

นริสษา: พ่อท่านมองว่าเป้าหมายของการศึกษาที่นี่ เป็นอย่างไรบ้างคะ พาเด็กไปสู่อะไร อย่างไร
พ่อท่าน: ไปเป็นความมีชีวิตที่จริง ที่จะไปสู่ความสุข สุขที่ประเสริฐของพระพุทธเจ้า เรียกวูปสโมสุข ไม่ใช่สุขอย่างโลกๆ แต่เป็นสุขที่มีคุณค่า อย่างพระพุทธเจ้า พาคนพัฒนา ขึ้นมา เป็นอาริยบุคคล เป็นคนที่ขยันหมั่นเพียร เป็นคนมีประโยชน์ ทั้งทิฏฐธัมมิกัตถ ประโยชน์ ทั้งสัมปรายิกัตถประโยชน์ ไปถึงขั้นปรมัตถประโยชน์ เป็นประโยชน์ที่สมบูรณ์ ไม่ใช่ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ ก็อธิบายแบบทุนนิยม ไปเที่ยวได้โลภโมโทสัน ร่ำรวย กอบโกย เอาเปรียบ จะต้องเป็นบุญนิยม เป็นคนขยัน หมั่นเพียร อุฏฐานสัมปทา เป็นคนที่มี อารักขสัมปทา รู้จักดูแลรักษา ไม่ให้มันสูญเสีย ไม่ให้มันรั่วซึม แล้วก็สามารถ จะต่อเนื่องไปถึง สัทธาสัมปทา สีลสัมปทา จาคสัมปทา ปัญญาสัมปทา ซึ่งเป็น สัมปรายิกัตถประโยชน์อีก แนวลึกของ จิตวิญญาณ ต้องเกิด ศรัทธา ต้องเกิดศีล ต้องเกิดจาคะ เกิดปัญญา อารักขสัมปทา เขาไปแปลว่า สะสม หนักเข้าก็กอบโกย กักตุน เห็นแก่ได้ ซึ่งไปอธิบายแบบทุนนิยมมันพัง กัลยาณมิตตตา ต้องมีมิตร พระพุทธเจ้า ท่านอธิบายไว้ชัดเจน กัลยาณมิตตตา ก็คือ มิตรผู้ที่ประสบ ผลสำเร็จของศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา นี่คือ "อาริยทรัพย์" จุดของอาริยทรัพย์ นี่คือต้องศรัทธา อย่างน้อยศรัทธา แนวทางของพระพุทธเจ้า ศรัทธาความตรัสรู้ ของพระพุทธเจ้า แล้วก็ปฏิบัติตน เป็นคนมีศีล สมาธิ ปัญญา ไม่ใช่ศีลโดดเดี่ยว ศีลจะต้องมีสมาธิ ปัญญา วิมุติไปตามลำดับ มีศีลแล้วจะต้องเป็นจาคะ ต้องเป็นคนเสียสละ ไม่ใช่คนกอบโกย ปัญญาก็คือ ปัญญาแนวโลกุตระ ไม่ใช่โลกียะ ที่จะเป็นทุนนิยม ล่าลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข... ไม่ใช่!

แม้สมชีวิตา เลี้ยงตนชอบ ก็ให้รู้จัก สิ่งที่ควรจะเลี้ยงตน ีชีวิตอยู่อย่างเป็นผู้รู้จักพอเหมาะ พอดี อย่างในหลวงตรัส รู้จักพอเพียง

ศาสนาพุทธ ไม่ได้สอนให้คนมากอบโกย ร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐี ที่จริงไม่ใช่เศรษฐีหรอก เป็นกระฎุมพี เป็นคนมั่งมี เศรษฐีแปลว่า คนประเสริฐ กระฎุมพี แปลว่า คนร่ำรวย อาตมาแปล กระฎุมพีคือ คนขอทาน ไม่รู้จักเต็ม บางคนมีแสนล้าน แต่ยังเป็นขอทาน ที่ไม่รู้จักเต็ม ไม่รู้จักพอ

นริสษา: แล้วในการทำโรงเรียนด้วยแนวคิดอย่างนี้นี่นะคะ พ่อท่านได้เจออุปสรรค ปัญหาอะไร ในการทำงานตรงนี้
พ่อท่าน: อุปสรรคก็คือ กระทรวงศึกษาธิการ คือครูของเรานี่ มาสอนไม่รับเงินเดือน กระทรวงฯบอกผิดกฎหมาย เราอุตส่าห์ไปพูดไปอธิบายว่า จะเอาครูไปสอบสวน สอบทานอย่างไรก็ได้ ครูไม่ได้ถูกกดขี่กินแรงอะไร เขาเต็มใจ เพื่อเป็นตัวอย่าง ของผู้เสียสละ แล้วก็ปรารถนาดีต่อเยาวชน ทางโน้นก็ยืนกระต่ายขาเดียว ไม่ได้ ต้องจ่ายเงิน เราบอกโรงเรียน ไม่ได้เก็บเงินอะไรกับนักเรียน มูลนิธิก็แสนจะยากจน ไม่ได้ต้องจ่ายเงินเดือน แล้วก็ต้องหักเงิน ไปสมทบสงเคราะห์ เราก็บอก เราไม่มีหรอก ไม่มี ก็ไม่ได้

อาตมาก็เลยตั้งคำถามไปว่า ทำไมนะ กระทรวงศึกษาเอง ก็มุ่งหมายให้คนมีความรู้ เป็นพลเมืองดี เป็นประโยชน์ต่อสังคม ก็นี่เราสร้างคน ให้เป็นประโยชน์ต่อโลก โดยครูก็เป็นประโยชน์ต่อสังคม ให้เห็นก่อน เยาวชนเขาก็จะได้ เรียนรู้เห็นตาม เขาจะ absorb หรือ osmosis ไปเรื่อยๆ อย่างที่ในหลวงตรัสนี่ คมยอดเยี่ยมมาก มันควรจะใช้ รัฐศาสตร์บ้าง ไม่ใช่ไปยืนว่าผิดกฎหมาย อยู่ภาษาเดียว นี่อ่านคำตรัสดูสิ
"กฎหมายไม่ใช่ตัวความยุติธรรม หากเป็นแต่เพียงบทบัญญัติ หรือปัจจัยที่ตราไว้ เพื่อรักษาความยุติธรรม ผู้ใดก็ตาม แม้ไม่รู้กฎหมาย แต่ถ้าประพฤติด้วยความสุจริตแล้ว ควรจะได้รับความคุ้มครอง จากกฎหมายเต็มที่ ตรงกันข้าม คนที่รู้กฎหมาย แต่ใช้กฎหมาย ไปในทางทุจริตแล้ว ควรต้องถือว่าทุจริต และกฎหมายไม่ควรคุ้มครอง จนเกินเลยไป
เพราะฉะนั้น จึงไม่สมควรที่จะถือว่า การรักษาความยุติธรรมในแผ่นดิน มีวงกว้าง อยู่เพียงแค่ ขอบเขตของกฎหมาย จำเป็นต้องขยายออกไป ให้ถึงศีลธรรมจรรยา ตลอดจนเหตุผล และ ตามเป็นจริงด้วย" (พระบรมราโชวาท)

เราเข้าใจในเจตนารมณ์ของกฎหมายนะว่า ต้องการกัน ไม่ให้เจ้าของโรงเรียน โดยเฉพาะ โรงเรียนราษฎร์ ไปเอาเปรียบครู แต่เรานี่นะ เป็น exception ควรใช้รัฐศาสตร์ เพราะโรงเรียนนี้ ไม่ได้เอาเปรียบครูจริงๆ แล้วที่นี่ เป็นที่ปฏิบัติศีล ปฏิบัติธรรมด้วย จะมาบังคับ ให้เราต้องโกหก เช่นครูไม่รับเงินเดือน ก็ให้เซ็นรับเป็นหลักฐาน ว่ารับเงินทุกเดือน ต้องมีใบรับเงิน แล้วก็ต้อง ไปเสียภาษี ให้สรรพากรอีกนะ แต่นี่ก็ดีอยู่อย่างหนึ่ง สรรพากรเข้าใจเรา เพราะคุณไม่ได้เซ็น รับเงิน คุณไม่ได้จ่ายเงินจริง คุณก็ไม่ต้องเสียภาษี อ้าว! สรรพากรกลับเข้าใจแฮะ แต่กระทรวงศึกษาธิการ ที่เป็นกระทรวง แห่งปัญญานี่นะ ไม่เข้าใจ

ถ้ากระทรวง จะออกกฎกระทรวง ยกเว้นกับผู้ที่เสียสละจริง กับโรงเรียน ที่เป็นเช่นนั้นจริงๆ ก็ย่อมทำได้ แต่ไม่ทำ ทำไมต้องบังคับ คนที่เสียสละไปหากฎ ทำไมไม่ขยายกฎ มาหาคนที่เสียสละ คนที่ประเสริฐ เช่นว่า คนที่ทำได้ดีแล้ว ให้ลดดีลงมาหาไม่ดี คนไม่รับเงิน ให้ต้องมาเอาเงิน คนไม่โกหก ต้องให้โกหก อันนี้น่าเอาไปพิจารณา น่าเอาไปคิดกันบ้าง

อย่างไรก็ขอสู้กันก่อน เรายืนยันจนเขาหาว่า เราเล่นคารม เช่นในภาษากฎหมาย มาตรา ๖๘ ต้องจ่ายเงินเดือน เราก็บอกว่า เราจ่าย ทางโรงเรียนนี่จ่ายศูนย์บาท แล้วจะต้องหัก ๓% ของเงินเดือนสุดท้าย โรงเรียนต้องสมทบไปอีก ๓% เป็น ๖% ส่งไปเข้ากระทรวง เราก็บอกว่า ๓ % ของศูนย์บาท ก็เท่ากับศูนย์บาท

นี่ยิ่งจะหนักมากขึ้น เมื่อกระทรวงฯ จะให้จ่ายเงินเดือนครู ผ่านธนาคาร เราก็เข้าใจ เจตนารมณ์ว่า เขาป้องกันพวกครู ที่งุบงิบกัน นายทุนหรือเจ้าของโรงเรียน ไม่มีทางเลี่ยง แต่ของเรา ไม่ได้จ่ายจริงๆ แค่ ๓ % เราก็ยังให้คุณไม่ได้ แล้วยังจะมาเอาเงินเดือนเต็มๆ มากองเข้าไปธนาคารอีก มันก็ยิ่งหนัก เราก็เลยขอความเห็นใจ รัฐมนตรีก็ยังไม่เข้าใจ ยังคาราคาซังกันอยู่นี่

ครูฟังฝน: เขาหาทางออกให้เราแล้วค่ะว่า ให้เราต้องเซ็นสละสิทธิ์ค่ะพ่อท่าน
พ่อท่าน: นั่นแหละ เขาให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง ที่จะได้สวัสดิการให้เซ็นต์สละสิทธิ์ให้หมดด้วย เอ่อ! เวรกรรม เราก็ไม่คิดจะเอาสิทธิ์ อะไรหรอก แต่ก็มาบังคับ ให้เราเซ็นสละสิทธิ์ อะไรต่างๆ นานา ไม่ได้รับสิทธิ์ ในการสงเคราะห์จากรัฐ ก็เลยแย่ไปหมด ไม่ว่าพ่อแม่ลูก

ก็เลยตั้งข้อสังเกตให้ฟังว่า ครูเป็นคนที่ควรจะได้รับการสงเคราะห์ เพราะเป็นคน ที่ทำงาน สร้างเยาวชน ให้แก่รัฐ อย่างส่งไป ๖ % รัฐก็สมทบ ให้ ๖% เป็น ๑๒% นั่นเป็นของครู ทั่วไป ที่รับ เงินเดือน ก็ได้รับเต็ม รัฐก็ยังสงเคราะห์แถมให้อีก เพราะเห็นว่า ช่วยเยาวชน ประเทศชาติ แต่ครูที่นี่ก็สอนเยาวชน ช่วยประเทศชาติเหมือนกัน นอกจากไม่รับ เงินเดือนแล้ว ก็ยังเสียสละ เงินตัวเองอีกด้วย แต่รัฐกลับมารีดนาทาเร้น ซ้อนไปอีก แทนที่จะสงเคราะห์ ช่วยเหลือ ให้ยิ่งกว่า ครูที่รับเงินเดือน นี่กลับตัดไปหมดเลย ทั้งพ่อแม่พี่น้องลูกหลาน เอ็งอย่าเอาทั้งหมด

อาตมาตั้งข้อสังเกตอีกอันหนึ่ง คือ สังคมทุกวันนี้ มันขาดแคลนความจริงใจ ขาดแคลนความเสียสละ เมื่อมีตัวอย่าง คนที่เสียสละ คนที่ทำได้อย่างนี้จริงๆ น่าจะต้องส่งเสริมช่วยเหลือ ทีคนที่เสียสละ เล็กๆน้อยๆ ชั่วครั้งชั่วคราว ยังให้เหรียญ ให้ตรากันเยอะแยะ นี่เขาเสียสละ กันตลอดไป ทำไมคนอย่างนี้ รัฐไม่ส่งเสริม ทำไมกลับมาทำให้เสียน้ำใจ ทำให้เสียความรู้สึก กดขี่ตัดรอน นี่ก็เหมือนคำพ้อละนะ สิ่งที่เป็นความดีงามของมนุษย์ มันจะเจริญขึ้นไป ทำไม ไม่ช่วยต่อยอดขึ้นไปเรื่อยๆ ทำไมจะต้องมาตัด นี่เล่นจะตัดโคนทิ้งด้วย

นริสษา: เด็กของเราที่อยู่ในโรงเรียนอย่างนี้ เวลาเขาออกไปอยู่ในโลกข้างนอก จะอยู่ได้หรือเปล่า จะปรับตัวได้ไหมคะ
พ่อท่าน: เด็กที่จบแล้ว ถ้าเขาจะอยู่ข้างนอก หากเขามีพลังอินทรีย์พละ ของภูมิธรรมจริง เขาก็อยู่ข้างนอกได้ เขาจะรู้เท่าทันว่าอะไรมอมเมา ยกตัวอย่าง อบายมุขอย่างยาบ้า เด็กเขาได้รับการอบรม ให้แข็งแรงรู้เท่าทันจิตวิญญาณ ถึงขั้นอุเบกขา ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เขาจะไม่ไปลำบากลำบนอะไร

ถ้าจะตอบอย่างน่าหมั่นไส้จริงๆ ก็ตอบว่า เราไม่ได้สอนให้เด็กจบจากที่นี่แล้ว จะไปเข้ากับคนข้างนอก ได้หรือไม่ ไม่ใช่ แต่เราสอนให้เด็กเป็นอย่างที่นี่ ให้ได้แข็งแรง เพื่อให้คนข้างนอก มาเข้ากับเรา ให้ได้ต่างหาก ไม่ใช่เราไปเข้ากับคนข้างนอก จะไปเข้ากับเขาทำไม เขาล้มเหลวไปหมด ร้อนไปทั้งกาม ทั้งอัตตามานะ ทั้งทุจริต ทั้งอบายมุข ทั้งฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย

จริง ที่ข้างนอกเขาเป็นคนส่วนมาก คนส่วนมากนี่คือคนมีกิเลส แล้วจะเอากิเลส เป็นหลักหรือ มันควรจะเอา ที่เหลือกิเลสน้อย เป็นหลักของสังคม ไม่ดีกว่าหรือ ใช่ไหม

นริสษา: ค่ะ พ่อท่าน พูดเห็นภาพเลยว่า เออ ตรงนี้ต้องกระจายออกไปเรื่อยๆ มากกว่าที่จะออกไป เปลี่ยนเป็นอย่างตรงโน้น
พ่อท่าน: โดยสัจธรรมแล้ว ที่นี่จะเกาะกลุ่มกัน แล้วก็จะพยายามให้เป็นแกนเป็นแก่น เป็นสนามแม่เหล็ก ที่แข็งแรง แล้วขยายไปเป็นลำดับๆ เราไม่ได้หมายความว่า เราทำแล้ว ก็จะอยู่แต่เฉพาะของเรา ไม่ขยายไม่เห็นแก่ใคร มีคนเขาว่า เหมือนกันแหละ เขาว่าพวกนี้ มันเอาแต่พวกมัน มันอยู่แต่พวกมัน ไม่เอาใคร

ทำไมพระพุทธเจ้าตรัสว่า ผู้มีศีลที่ยังไม่ได้มา ก็ขอให้มา ที่มาแล้วก็ขอให้อยู่เป็นสุขๆเถิด ทำไม? ก็เพราะท่านไม่เอาคน ไม่มีศีลเข้ามา เข้าใจไหม

ถ้าจะเข้ามาที่นี่ ต้องมาเป็นอย่างนี้ จะต้องมาเรียนรู้อย่างนี้ ต้องมีศีลมีธรรมอย่างนี้นะ ถ้าไม่มีศีล เข้ามานี่พังแน่ๆ ถ้ามากันกรูเกรียวด้วย ยิ่งพังเลย คำตรัสอันนี้ จึงเป็นคำตรัส ที่ลึกซึ้ง แวดล้อมป้องกัน เพราะอันนี้ จะต้องเป็นแก่นเป็นแกน เป็นกลุ่มที่แน่น เมื่อจะโตก็ต้องโตเข้าไป เป็นการส่วนขยาย ที่แน่นออกไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ว่า กระจายออกไป ฟ่ามๆ อาตมารู้ อันนี้ก็ระมัดระวังอยู่ เพราะฉะนั้น เด็กเราจะไปอยู่ข้างนอกนี่ เราก็บอก ระวัง ข้างนอกมันอยู่ลำบาก ก็สอนให้เขารู้ทุกอย่าง ว่าเป็นอย่างไร ใครสมัครใจ จะไปอยู่ข้างนอก เราก็ไม่ได้บังคับ เราไม่ได้มาตั้งหลักเกณฑ์ ไม่ได้นะ จบที่นี่แล้ว ต้องมาใช้หนี้ ทำงานใช้หนี้ที่นี่... ไม่มี! ใครอยากไปก็ไป ที่นี่แม้จะเรียน กินอยู่ฟรี ทุกอย่าง เหมือนกับได้ทุนทุกอย่าง ยิ่งกว่า นักเรียนทุนเสียอีก ทั้งกินอยู่หลับนอน แม้แต่เสื้อผ้า เราตัดให้หมด หนังสือหนังหา เราหาให้หมด เมื่ออยู่โรงเรียน ห้ามพ่อแม่ให้เงินเด็กด้วย ที่นี่แรงถึงขนาดนั้น เพราะพ่อแม่ฐานะต่างกัน มันก็ลักลั่นกัน แล้วก็สร้างความกร่าง โอ้โฮ ปกครองลำบาก เราจึงห้าม พ่อแม่อยากทำบุญ ก็เข้ากองกลาง ไม่ทำบุญ เราก็ไม่เคย ไปเรียกร้องอะไร บางคนเขา ก็มาทำบุญอยู่บ้างจริง แต่น้อยไม่มากหรอก ไม่ใช่ต่อว่า พ่อแม่นะ เราให้เด็กเขาเบิกใช้ สิ่งไหนจำเป็นสำคัญ เบิกส่วนกลาง ของการศึกษา ทุกคนก็มีสิทธิ์ส่วนเท่ากัน ไม่ว่าลูกคนรวย ลูกคนจน คนรวยนั่นแหละ จะได้มาฝึกให้ดีๆ คนจนก็หมดปัญหา เขาก็จะใช้ ตามสมควร

นริสษา: เพราะอะไรคะ เราต้องทำเป็นโรงเรียนประจำ
พ่อท่าน: เราเห็นว่ามนุษย์นี่อยู่กันอย่างสังคม มีสังคมสัมพันธ์ ซึ่งมีความซึมซับ ถ่ายทอดจาก สิ่งแวดล้อม มวลชนแวดล้อมสูงมาก เมื่อเรามีกลุ่มหมู่ ที่อยู่กันอย่างพี่ อย่างน้อง มีวัฒนธรรม เป็นเหมือนสนามแม่เหล็ก ที่มีแรงเหนี่ยวนำ ควบแน่น มีน้ำใจ ไม่ใช่อยู่กัน อย่างคู่ต่อสู้ เป็นพี่เป็นน้องกันได้เลย ยิ่งดี ความเป็นพี่เป็นน้อง หรือเป็น ภราดรภาพ คือพึ่งเกิด พึ่งแก่ พึ่งเจ็บ พึ่งตายกันได้ อยู่ประจำจะได้รับผลถ่ายทอด ซึมซับเต็มที่มากกว่า

เมื่ออยู่ร่วมกันเป็นเหมือนพี่น้องหมด เด็กพวกนี้ก็ลูกหลาน เลี้ยงอย่างลูกอย่างหลาน แล้วก็เลี้ยงกันให้จริง ให้มีพฤติกรรมจริง ให้มีวิธีการจริงๆ ให้แนวทางอบรม ปฏิบัติอะไร จริงๆ แล้วก็ต้องปฏิบัติกันจริงๆ นั่นแหละ ให้เป็นภราดรภาพให้ได้

เพราะฉะนั้น เช้ามาเย็นกลับไม่พอ การเรียนหรือการศึกษานี่ มันไม่ใช่แค่อะไรอันหนึ่ง แปะๆ เอาไว้ การศึกษา ควรจะต้องให้คน แม้แต่เป็นเด็กมารับรู้ว่า สังคมมนุษยชาติ ควรเป็นอย่างนี้เต็มๆ พฤติกรรมที่อยู่กับสังคม มีมนุษยสัมพันธ์อันดี เอื้ออาทรต่อกัน มีน้ำใจ รู้จักพึ่งเกิด พึ่งแก่ พึ่งเจ็บ พึ่งตายกันได้จริงๆ อย่างนี้ต่างหาก คือการศึกษา

นริสษา: มีแนวโน้มว่าโรงเรียนเรานี่จะขยายออกไปอีกหรือเปล่าคะ
พ่อท่าน: มันเป็นความเจริญ ที่ไม่เห็นจะต้องไปน่าขัดข้องตรงไหน ถ้ามันเป็นไปได้ แต่ว่าเรา ก็ไม่อ้าขาผวาปีก อวดดี แหมเตี้ยอุ้มค่อม จะเอาให้มันกว้าง ให้มันใหญ่ ให้มันมากไป โดยไม่มี องค์ประกอบ ที่ไม่มีทุน ไม่มีรอน ทุนนี่ไม่ได้หมายความถึง เงินอย่างเดียว ไม่มีองค์ประกอบ ที่จะขยายได้ เราก็ไม่ขยาย

ขณะนี้หลายชุมชนของเรานี่ อยากจะตั้ง แต่เราก็ปรามไว้อยู่ โอ้อย่าเพิ่ง มันยังไม่พร้อม มันเกิดได้ก็ดี ก็ช่วยเยาวชน บางที่บางกลุ่มบอกว่า มีเด็กแล้ว ๕ คน ๘ คน แล้วอยากจะตั้ง ซึ่งที่จริงเราทำได้ เพราะโรงเรียนของเรานี่ ไม่กลัวโรงเรียนคว่ำ เพราะของเรา ไม่ใช่โรงเรียนเอกชน แบบโลกๆ ของเขาไม่คุ้มทุน ของเรานี่ ไม่เป็นอย่างนั้น แล้วหลายๆอย่าง ก็ขัดกับกฎเกณฑ์ ทางกระทรวงฯ เขาอีกเหมือนกัน ยกตัวอย่างง่ายๆ ของเราที่สันติอโศกนี่ มีนักเรียน ๕๒ คน ครู ๓๒ คน มีไหมโรงเรียนไหนทำได้ ต่อให้นักเรียนต่ำกว่า ๓๒ ครู ๓๒ นักเรียน ๒๒ ที่นี่ก็ไม่ล้ม เพราะครูที่นี่ ไม่เอาตังค์ แกเต็มใจสอน เต็มใจมาสร้างสรร เสียสละอย่างนี้เป็นต้น

ร่วมคัดค้านกฎหมายขายชาติ ๑๑ ฉบับ?
๑๘ ธ.ค. ๒๕๔๓ ที่ราชธานีอโศก พระชูศักดิ์ จากวัดอโศการาม และโยมผู้หญิง ๒ คน ศิษย์ท่านอาจารย์ หลวงตามหาบัว เดินทางมาขอพบพ่อท่าน เนื่องจากได้รับคำแนะนำ จากนักวิชาการหลายๆท่าน ที่ห่วงใยบ้านเมือง ต่างแนะนำตรงกันว่า ให้มาคุยกับ ทางสันติอโศก เพื่อขอความร่วมมือ ในการคัดค้าน ให้ยกเลิกกฎหมาย ๑๑ ฉบับ ที่ไทยเสียเปรียบต่างชาติมาก ด้วยเห็นว่าทางสันติอโศก ก็มีแนวทางที่จะไปด้วยกันได้ ในเรื่องนี้ โดยไม่เกี่ยงว่า จะเป็นศาสนาอะไร นิกายไหน เพื่อรวบรวมคนดี คนรักชาติ ที่รู้เรื่องความเสียเปรียบต่างชาตินี้ โดยอยากจะขอความร่วมมือ เซ็นชื่อคัดค้าน นายชวน หลีกภัย และพรรคพวก ที่ได้กระทำไว้กับกองทุน การเงินระหว่างประเทศ (ไอ เอ็ม เอฟ) และขอให้ถอดถอน ปปช. และ กกต.ที่แสดงความไม่เป็นกลาง เลือกปฏิบัติ เมื่อคณะศิษย์ หลวงตามหาบัว ยื่นเรื่องให้ตรวจสอบ นายชวน หลีกภัย นายธารินทร์ นิมมานเหมินทร์ และพรรคพวก กลับเพิกเฉย ไม่กระตือรือร้น ที่จะตรวจสอบอะไร ทีกับกรณี พตท.ทักษิณ ชินวัตร ปปช.และกกต. กลับกัดติด เมื่อปปช. และ กกต. ไม่มีความเป็นกลางแล้ว เกรงว่าพรรคประชาธิปัตย์ จะกลับเข้ามา เป็นรัฐบาลอีก จะยิ่งทำให้ประเทศชาติ ทรุดหนักลงไปอีก เพราะที่ผ่านมา รัฐบาลนี้ได้ทำความเสียหาย ให้กับประเทศ มากพอดูอยู่แล้ว ทั้งไม่ฟังเสียง ประชาชน ที่ผ่านมา คณะลูกศิษย์ ท่านอาจารย์หลวงตามหาบัว สามารถรวบรวมรายชื่อ ได้อย่างมาก ๑๐๐,๐๐๐ คน (หนึ่งแสนคน) มีนักวิชาการแนะนำว่า ควรได้อย่างน้อย ๑๐ % ของประชาชนทั้งประเทศ หรือประมาณ ๖ ล้านคน เพื่อส่งไปยัง IMF เขาจึงจะรับพิจารณา หลังจากรับฟัง ถึงความมุ่งหมาย ของคณะที่มา พ่อท่านเห็นว่า เกี่ยวกับการคัดค้านกฎหมาย ๑๑ ฉบับที่ทำกับ IMF นั้น ทางเราร่วมด้วยได้ แต่กรณีให้ถอดถอน ปปช. และกกต. นั้น ขอศึกษาดูข้อมูลก่อน เราเองยังเป็นกลุ่มเล็กๆ ที่สังคมส่วนใหญ่ ยังไม่ให้การยอมรับ ประชาชนทั่วไป ยังเชื่อ มหาเถรสมาคมมากกว่า การจะทำอะไร จึงต้องระมัด ระวัง โดยเฉพาะ อาตมา หากจะทำอะไร ต้องมีความมั่นใจว่า จะไม่เกิดผลเสียหายมากกว่า ๗๐% ขึ้นไปจึงทำ หากต่ำกว่านั้น ก็จะไม่เสี่ยงทำเด็ดขาด เรื่องนี้จึงขอเอาไว้ก่อน พระชูศักดิ์ บอกรู้จัก กับคุณแรงเกื้อ และรู้จักกับพระต้อย ซึ่งเป็นพระน้องชาย ของสม.รินฟ้า ส่วนผู้หญิงอีกคน มีอายุหน่อย เคยสอนอยู่ที่ มศว.ประสานมิตร ตอน พ่อท่านบวชใหม่ๆ ยังหนุ่มและพูดแรงมาก ตอนนี้ดูพ่อท่าน เปลี่ยนไปมาก จึงจำไม่ได้ สำหรับโยมผู้หญิงอีกคน แต่งกายเรียบร้อย อายุประมาณ ๓๐ เศษ ดูมีความรู้ และศึกษาเรื่องนี้มาไม่น้อย น่าประทับใจ ในความห่วงใย ชาติบ้านเมืองของเธอ

ก่อนจะลา พระชูศักดิ์และคณะ ได้ถวายหนังสือและเอกสาร เกี่ยวกับเรื่องนี้ ให้พ่อท่านดังนี้
๑. ชำแหละ ศปร. World Bank & IMF -ดร.เทียนชัย วงศ์ชัยสุวรรณ
๒.ความรู้เกี่ยวกับภัยของกฎหมายรวมบัญชี ภัยของกฎหมายขายชาติ ๑๑ ฉบับ และภัยของกฎหมาย ปกครองคณะสงฆ์
๓.ภาวะสิ้นชาติกับ IMF โดยกัญญา ลีลาลัย
๔.รักษาแผ่นดินธรรม แผ่นดินไทย ไว้ให้ลูกหลาน
๕.แบบลงลายมือชื่อ เพื่อแสดงว่าประชาชน ชาวไทยไม่รับผิดชอบ การกระทำของ นายชวน หลีกภัย และพรรคพวก ที่ได้กระทำไว้ กับกองทุนการเงิน ระหว่างประเทศ (ไอ เอ็ม เอฟ)
๖.แถลงการณ์ เรื่องประชาชนชาวไทย ร่วมกันลงลายมือชื่อ ไม่รับผิดชอบ การกระทำของ นายชวน หลีกภัย และคณะฯ ที่ได้กระทำไว้ กับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอ เอ็ม เอฟ)

บุญกุ้มข้าวใหญ่
๒๒ ธ.ค. ๒๕๔๓ ที่ราชธานีอโศก บ่าย คุณ เอนก นาคะบุตร และคุณนิกร วีสเพ็ญ กรรมการกองทุน SIF ได้มานมัสการ พ่อท่าน เนื่องจากกรรมการกองทุน SIF อุบลราชธานี จัดงาน "บุญกุ้มข้าวใหญ่" ที่บริเวณทุ่งศรีเมือง

(เชิญอ่านต่อ)....


บันทีกจากปัจฉาสมณะ . สารอโศก อันดับ ๒๓๓ เดือน กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ หน้า ๕๐ - ๕๗