บันทึกจากปัจฉาสมณะ(๒)

สารอโศก อันดับที่ ๒๓๓
กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔


บุญกุ้มข้าวใหญ่
๒๒ ธ.ค. ๒๕๔๓ ที่ราชธานีอโศก บ่าย คุณ เอนก นาคะบุตร และคุณนิกร วีสเพ็ญ กรรมการกองทุน SIF ได้มานมัสการ พ่อท่าน เนื่องจากกรรมการกองทุน SIF อุบลราชธานี จัดงาน "บุญกุ้มข้าวใหญ่" ที่บริเวณทุ่งศรีเมือง

สี่โมงเย็น พ่อท่านเดินทางไปดูงาน "บุญกุ้มข้าวใหญ่" ซึ่งจัดอย่างง่ายๆเล็กๆ ใช้เนื้อที่ ประมาณไม่เกิน ๒ ไร่ มีร้านค้าเล็กๆ มุงหญ้าคา กว้างยาวประมาณ ๓ x ๓ เมตร เรียงรายอยู่โดยรอบงาน มีสินค้าประหล็อมประแหล็ม เข้าใจว่า เป็นกลุ่มชาวบ้าน ที่ได้ทุนจาก SIF สินค้าก็ดูพื้นๆ ผ้าทอ ปลาปิ้ง ครก เครื่องจักสาน ฯลฯ มีกลุ่มที่เคยไป อบรมที่ศีรษะอโศก และราชธานีอโศก ก็มีมาร่วม เข้าใจว่า เป็นกิจกรรมหนึ่ง ที่ให้เกิด การรวมตัว และมีการแสดงออก ต่างไปจากงานวัด หรืองานกาชาด โดยทั่วไป ที่จะมีร้านค้าใหญ่ๆ สินค้าหลากหลาย ราคาแพง มาออกร้านกัน คล้ายๆส่งเสริมคนจน ให้มีรายได้

พ่อท่านเดินดูไปรอบๆบริเวณ คนบางตา ด้วยไม่มีบันเทิงมาก ไม่มีสินค้ามาก อีกทั้งงานไม่หรูหรา จะมีก็แต่กลุ่ม ชาวบ้านด้วยกัน ที่มาออกร้าน ดูชาวบ้าน มีอัธยาศัยดี ยิ้มแย้ม นั่งลงยกมือ ประนมไหว้ เมื่อพ่อท่าน และสมณะผ่านไป

ขณะนั่งรอ ผวจ. มาเปิดงาน ๑๗.๓๐ น. ชาวบ้านหน้าซื่อๆ เล่นดนตรี ดูมีอารมณ์รื่นเริง สนุกสนานกันดี จังหวะดนตรี ก็ดูครึกครื้น เป็นวัฒนธรรมอีสาน ที่ถ่ายทอดกันมานาน

"ตุ้มโฮมทุน บุญสู่ขวัญ บุญกุ้มข้าวใหญ่" ป้ายผ้าตัวเขียนใหญ่ถนัดตา มีเสียงบอก ตุ้ม แปลว่า รวมๆ ตุ้มแปลว่า กอง

ตัวแทนเครือข่ายคนปลูกข้าว บอกเล่า ก่อนจะมาเป็นเม็ดข้าว ขณะเดียวกัน มีเสียงคนตีกลองยาวใหญ่ๆ พ่อท่านเปรยว่า "บ้านราชฯ น่าจะมีกลองใหญ่ๆ อย่างนี้บ้าง" เสียงจากตัวแทนเครือข่าย คนปลูกข้าว ยังคงบรรยายไปเรื่อยๆ มีการแสดง วิถีชีวิตชาวบ้าน มีคนแบกคันไถ คนแบกคราด คนถือกระติบ คนถืออุปกรณ์จับปลา ชะลอม แห อวน

เนื่องจากผู้ว่าราชการจังหวัดยังไม่มา ตัวแทนชาวบ้านมีอายุหน่อย ขึ้นฟาดข้าวแทน ต่อด้วยชาวนาชาวบ้าน ร่วมกัน ขึ้นฟาดข้าว แล้วร่วมร้องรำ ไปรอบๆกองข้าว

พ่อท่านได้รับนิมนต์ให้โอวาทเล็กน้อย ๑๐ นาที ก่อนเริ่มพิธี บายศรีสู่ขวัญข้าว เสียงพิธีกร บรรยายว่า เป็นพิธีสงฆ์ ก่อนพิธีพราหมณ์ ไม่แน่ใจว่า อาจมีชาวบ้านบางคน คิดคาดเอาว่า พ่อท่าน และสมณะ คงมาสวดมนต์ให้กระมัง

พ่อท่านกล่าวคำทักทาย ด้วยสำเนียงอีสาน แล้วออกตัวว่า ไปอยู่กรุงเทพฯเสียนาน ขอพูดภาษากลาง จะคล่องกว่า จากบางส่วนที่ข้าพเจ้าจดจำได้

"เจริญธรรม ซูผู้ซูคน อาตมายินดีที่ได้มาร่วมกับพี่น้องทั้งหลาย เดิมไม่มีโปรแกรม ให้อาตมาพูด ในวันนี้หรอก มาร่วมเฉยๆ

คำอวยพร แปลว่า ให้ความประเสริฐ สิ่งประเสริฐได้จากการฟัง ชาวไทยพุทธ ได้ฟังจากพระ ได้ฟังความจริง

ความจริงเข้าใจยาก ฟังแล้วบ่มัก ย่างหนีเลย อาตมาก็เว่าไป มีผู้เห็นดี ก็มาทำตาม

คำว่า สิกู้ชาติ ให้เป็นชุมชนพอเพียง คำว่าสังคมพอเพียง อันนี้แหละสำคัญ สัจธรรม คำว่าพอเพียงนี่จะเข้าใจกันไหม

คนจะรู้สัจธรรมของพอเพียงหรือเปล่า มีแต่บ่พอ เฮ็ดอย่างใดสิพอ

คนไม่ศึกษาสัจธรรมก็จะไม่พอ เขามาหลอกให้อย่างนั้นก็อยาก อย่างนี้ก็อยากได้อยากมี ติดเหล้า ติดยา ติดการพนัน

ผู้ใดติดอบายมุขอยู่ ๑๐ ชาติก็ไม่พอเพียง จะพอได้ต้องเลิก ต้องหยุด มาปฏิบัติธรรม

ต้องมาเรียนธรรมะ ของพระพุทธเจ้า ให้เห็นว่า กิเลสมันไม่ดี ต้องมาปฏิบัติธรรม เห็นให้ได้ว่า เลิกละได้ ไม่ติด นั่นเป็น ความว่าง ความสุขจริงๆ

ผู้ที่ไม่ศึกษาสัจธรรม ก็จะลำบาก และยากจน ธรรมะของพระพุทธเจ้านั้น ต้องปฏิบัติทุกคน มิใช่พระเท่านั้น ที่ต้องปฏิบัติ

ชาติไทยทุกวันนี้ แย่มากๆไปทุกด้าน ถ้าไม่เข้าหาสัจธรรม จะไปไม่รอด... "

หลังจากพ่อท่านกล่าวธรรมสั้นๆ มีพิธีพราหมณ์ต่อ ศึกษาธิการจังหวัด มาแทน ผู้ว่าราชการจังหวัด

ผู้นำพิธีเป็นชาวบ้านสูงอายุ สวดร้องอะไร ข้าพเจ้าก็ฟังจับความไม่ถนัด เป็นการเริ่มพิธี บายศรีสู่ขวัญข้าว มีด้ายสายสิญจน์ จากถาดเครื่องบายศรี ดึงยาวไปสู่ชาวบ้าน ที่นั่งประนมมือ รอบๆกองข้าว

การสวดร้อง บายศรีสู่ขวัญข้าว เป็นไปร่วม ๑๐ นาที ผู้ทำพิธีใช้น้ำมนต์ ประพรม เครื่องบายศรี และกองข้าว เป็นสุดท้าย ก่อนจบพิธี

พ่อท่านพามาเรียนรู้โลกวิทู พิธีกรรมอย่างนี้ ข้าพเจ้าเพิ่งจะรู้ เพิ่งจะเห็น ก็แปลกดี

ต่อด้วยรายการบันเทิง เป็นการแสดง ร้องรำ ของนักเรียน ในอำเภอวารินชำราบ ปิดท้ายด้วย เด็กสมุนพระรามจากบ้านราช ชุดหากินหลายงานแล้วก็คือ "งานหนัก ไม่เคยฆ่าคน" น่ารักน่าเอ็นดูแบบเด็กๆ แฝงสาระสะกิดให้คิด กลับถึงบ้านราชฯ เกือบทุ่มครึ่ง

รุ่งขึ้น ๒๔ ธ.ค. ๒๕๔๓ เป็นวันอาทิตย์ มีคนไปดูงานหนาตาขึ้นกว่าวันวาน พ่อท่านได้รับนิมนต์ ให้แสดงธรรม และ ตอบปัญหาเกือบ ๒ ช.ม. สมณะและญาติโยม เดินทางมา ร่วมฟังธรรมกันคึกคัก เนื่องจาก มีเวลามากกว่าเมื่อวาน จึงได้อธิบายยกตัวอย่าง หลักบุญนิยม ได้เต็มที่ จากบางส่วน ที่พ่อท่านได้กล่าว ถึงการจัดงาน "บุญกุ้มข้าวใหญ่" ดังนี้

" ...อาตมาเดินดูงานนี้แล้ว รู้สึกชื่นชม แต่คนไม่มีปัญญา จะไปชื่นชมกับงานที่หรูหรา มีสินค้าราคาแพง ของนอก แสดงความเขื่องหรู อวดอ้างใหญ่โต แล้วเบ่งข่มกัน สังคมอย่างนี้ เป็นสังคมล้มเหลว สังคมเสื่อมทราม แต่จะโง่ หรืออย่างไร คนเราก็ยังไปสยบ ไปกราบไหว้คนเหล่านั้น

งานนี้เป็นสาระที่ดี อาตมาดูแล้ว ไม่มีอบายมุข มีแต่ของปัจจัย ๔ จงภูมิใจเถิด แม้คนส่วนใหญ่ ไม่กรูเกรียว ไม่ชื่นชม "

รวมพลังเยาวชนและยุวชนอโศก
จากความคิดที่จะให้ นักเรียนสัมมาสิกขาต่างพุทธสถาน ได้สมานสัมพันธ์กัน ให้ยิ่งขึ้น เพื่อลดคลายปัญหา กระทบกระทั่ง แบ่งแยกที่เคยมี อีกทั้งนักเรียน ที่จบ ม.๖ แล้ว บ้างก็อยู่ข้างๆพุทธสถาน บ้างก็อยู่ช่วยงานในพุทธสถาน บ้างก็เป็นนิสิต สัมมาสิกขาลัย วังชีวิต กระจายกันอยู่ก็น่าจะได้สมานสัมพันธ์กัน ให้ยิ่งขึ้นด้วย ผนวกกับงานปีใหม่ ที่ย้ายมาจัดที่บ้านราชฯ ซึ่งมีพื้นที่กว้างใหญ่ ต้องใช้กำลังคนเตรียมงาน จำนวนมาก การเข้าค่ายก่อนงานปีใหม่ จึงเกิดขึ้นเป็นความลงตัวได้ทั้ง การสมานสัมพันธ์ และแรงงาน ในการจัดเตรียมงานปีใหม่

ด้วยนิสิตสัมมาสิกขาลัยวังชีวิต และศิษย์เก่าสัมมาสิกขา จะต้องเป็นหลักนำ ในการอบรม น้องๆ สัมมาสิกขา หรือเข้าค่าย ยุวชนอโศกสัมพันธ์ (ยอส.) รุ่นพี่จึงน่าจะได้ เข้าค่ายสมานสัมพันธ์ เป็นตัวอย่างนำให้ได้ก่อน การเข้าค่ายของหนุ่มสาว นิสิต สัมมาสิกขาลัย วังชีวิต และศิษย์เก่าสัมมาสิกขา จึงเกิดขึ้น ก่อนการเข้าค่าย ยอส. ปีนี้ หนุ่มสาวรุ่นพี่ เข้าค่าย ๑๙-๒๑ ธ.ค. สำหรับ ยอส. เข้าค่าย ๒๓-๒๕ ธ.ค. พ่อท่านก็แบ่งเวลา มาร่วมแสดงธรรม และตอบปัญหา ทั้ง ๒ ค่าย

" ...การมารวมกันของหนุ่มสาววังชีวิต และศิษย์เก่าสัมมาสิกขา เพื่อจะได้ประสานน้ำใจ ประสานความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมความคิดกัน

อุดรศึกษา วังชีวิต จะถือเป็นพี่ในระบบการศึกษาของพวกเรา เมื่อจะมีการเข้าค่าย ยอส. น้องๆ จะมารวมกัน แล้วพี่ จะไม่มาร่วม ก็ดูไม่ดี ไม่เหมาะ เราจะต้องรู้จักกาล และวัย วัยที่กำลังแข็งแรง ถือว่า ต้องเอาภาระ ๑-๑๐ ถือเป็นอนุบาล ๑๐-๒๐ ถือเป็นน้องมัธยม ๒๐-๓๐ ถือเป็นพี่ ที่ต้องมาเอาภาระ ดูแลน้อง ๓๐-๔๐ ถือเป็นหลัก ๔๐-๖๐ ถือเป็น คีย์แมน ตัวบทบาทสำคัญ ประโยชน์ตน คือ ให้ผู้อื่นได้ประโยชน์ หมดตัวตน หมดความเห็นแก่ตน

นิสิตวังชีวิต ถือเป็นนักศึกษาในระบบ ส่วนผู้ไม่อยู่ในระบบ ถือเป็นนักศึกษาไปตลอดตาย จนกว่า คุณจะเป็นอรหันต์ ไปโน่นแหละ

งานปีใหม่ เป็นงานแสดงตัว และผนึกตัว เราทำงานอาศัยแรงเงินน้อย แต่อาศัยแรงงาน แรงจิตวิญญาณ ของความร่วมมือมาก..." จากบางส่วน ที่พ่อท่าน แสดงธรรม ทำวัตรเช้า ๑๙ ธ.ค. ๒๕๔๓ ที่ราชธานีอโศก

" ...มาถึงวันนี้อุ่นใจขึ้นเยอะ ที่เนื้อหน่อ ของชาวอโศกเกิดแล้ว เรามารวมกันนี่เป็นนิมิตดีมาก รุ่น ๒๐-๓๐ ปีนี่มีพลังมาก พลังงานอันนี้ ควรเป็นพลังงาน ที่สร้างสรร ฝึกปรือ ศึกษา อย่าให้เสียโอกาส โลกย์เขามารวมกัน เขาจะเอาแต่เล่น เช่นกีฬา มีแต่เล่น แล้วก็ผลาญ แต่เขาเข้าใจว่าได้สามัคคี มีความสามารถ จะไปเก่งอะไร ก็แค่วิ่งเร็ว ทุ่มน้ำหนักได้เก่ง

การจ่ายพลังงาน เพื่อได้ความเก่งในการกีฬา สู้คนไปหาเพชรไม่ได้ คนไปหาเพชร สู้คนมาเสียสละ เป็นบุญนิยมไม่ได้ เพราะการทำงานเสียสละ เป็นบุญนิยมนั้น จะเกิดผล คือ
๑. ได้ละกิเลส
๒. ได้ประโยชน์คุณค่า
๓. ได้เสียสละ
๔. ได้สร้างสรรอะไรขึ้นมาเพื่อสังคม
สังคมทุกวันนี้ ยังต้องการพลังงานสร้างสรรมาทำสิ่งที่ขาดพร่องอยู่มาก"
จากบางส่วน ที่พ่อท่านแสดงธรรม กับหนุ่มสาว นิสิตวังชีวิต และศิษย์เก่า สัมมาสิกขา ๒๑ ธ.ค.๒๕๔๓ ที่ราชธานีอโศก

การรวมพลังของหนุ่มสาวอโศกในครั้งนี้ ทำให้หลายคน เอ่ยปากว่าประทับใจมาก เกิดความรู้สึกที่ดีๆ มีพลัง ที่จะสร้างสรร เสียสละให้ยิ่งขึ้น

นิสิตวังชีวิตเขตปฐมอโศกคนหนึ่ง เกิดแรงบันดาลใจ แต่งเพลงมาร์ช ปลุกเร้าให้รักชาติ กระตุ้นสำนึก ให้รีบเร่ง ทำความเพียร อย่ามัวเฉื่อยช้า และกลายเป็นเพลงหลัก ในการเข้าค่าย ทั้งของหนุ่มสาวอโศก และยุวชนอโศก

การเข้าค่ายยุวชนอโศกสัมพันธ์(ยอส.) ๒๓-๒๕ ธ.ค. มียอดนักเรียนสัมมาสิกขา ทั้งหมด ๔๗๔ คน มีรุ่นพี่หนุ่มสาว ที่มาช่วยดูแลน้องๆ ๗๑ คน ขนาดคนเกือบ ๖๐๐ คนอย่างนี้ เวลาแบ่งแรงงาน ไปทำกิจกรรม ก็แทบจะไม่พอใช้ ไม่ว่าจะเป็นงานช่าง งานไฟฟ้า งานกสิกรรม งานครัว งานทำความสะอาด งานขนฟาง ...ฯลฯ เป็นภาพที่ดูแล้ว น่าประทับใจมาก เด็กๆร่วมแรงกันทำ สามารถทดแทนผู้ใหญ่ได้เลย เด็กเองก็สนุกสนาน ทำไปเล่นไปบ้าง เป็นภาพช ีวิตจริงๆ ที่มีสาระ ช่างแตกต่าง จากภาพวัยรุ่น สายเดี่ยว เมาสุรา มั่วยา เฮฮาไปวันๆ ที่มีให้เห็นเกลื่อนกลาด ในสังคมเมือง ทุกวันนี้

"อาตมาสอนให้พวกเรา ต่อไปในอนาคตข้างหน้าจะไปจนนะกลัวไหม" พ่อท่านตอกย้ำ สัมมาทิฏฐิ ของบุญนิยม ให้เด็กๆฟัง ในช่วงทำวัตรเช้า ๒๕ ธ.ค. ๒๕๔๓

เด็กคนหนึ่งถามพ่อท่านว่า ก่อนพ่อท่านปฏิบัติธรรม พ่อท่านคิดอย่างไร "ก็คิดเลอะๆเทอะๆ เหมือนคนทั่วๆไป อยากได้ลาภ ยศ สรรเสริญ โลกีย-สุข อาตมายังเคยโกง เวลาเล่นไพ่ ตอนนั้นคิด จะเอาเงินไปใช้จ่าย เวลาออกค่าย แต่โดนจับได้ก่อน โอ้โฮ! อายมากและเข็ด ไม่ทำอีกเลย... " พ่อท่านตอบ

วันสุดท้ายของการเข้าค่าย ยอส. พ่อท่าน "แจกขวัญธรรม" ให้กับหนุ่มสาว และยุวชนอโศก โดยให้กับนิสิต มวช. คนละ ๕๐๐ บาท นักเรียนสัมมาสิกขา คนละ ๑๐๐ บาท นักเรียนระดับชั้น ประถม คนละ ๕๐ บาท ระดับอนุบาล และเด็กเล็กๆ ในชุมชน คนละ ๒๐ บาท รวมทั้งหมดเป็นเงิน แสนกว่าบาท

พ่อท่านให้ข้อคิดกับทุกคนที่ได้รับว่า "การแจกขวัญธรรมเหมือนพ่อแจกของขวัญให้ลูกหลาน อย่าไปเห็นว่า เป็นราคาอย่างโลกย์ๆ อย่านำไปอวดอ้างกันจนเสีย มีบางคนมองว่า อาตมาแจกเงินให้เด็ก แล้วจะทำให้จิตใจเสีย อาตมากลับมองว่า มันจะเกิดความประทับใจ ในทางที่ดีมากกว่า

ที่อาตมาให้เป็นการแสดงความโอบอ้อมอารี เหมือนพ่อแม่ให้กับลูกหลาน บางคนอาจจะได้ รับไปแล้ว ก็เก็บไม่ใช้ ไว้เป็นที่ระลึก เป็นที่เทิดทูนบูชา บางคนก็เอาไปใช้เลย อาตมาเองก็พยายาม หาใบใหม่ๆให้อยู่นะ ขอให้พวกเรา ที่รับไปแล้ว พึงระลึกรู้ว่า คนเราควรเป็นผู้ให้ ยิ่งเราแข็งแรงกว่า ฉลาดกว่าก็ควรเป็นผู้ให้ .... "

เตรียมงานสอบไล่ของชาวอโศก
๒๙ ธ.ค. ๒๕๔๓ ที่ราชธานีอโศก เช้านี้มีการประชุมเตรียมงานปีใหม่ และแบ่งงาน ครั้งสุดท้าย พ่อท่านได้ฟังเสียง การประชุมมาตลอด และไปร่วมในช่วงท้าย ก่อนสมณะไปบิณฑบาต พ่อท่านแสดงความเห็นเสริม
" .....พวกเราเดินมาถูกทางแล้ว แม้อาตมาตายวันนี้ก็ไม่มีปัญหา งานก็ทำกันไปต่อได้ เพราะพวกเรา มีระบบระเบียบ แบ่งงาน รับผิดชอบกันได้
ทุกวันนี้อาตมาแทบไม่ได้มาปรากฏตัวเท่าไหร่ แต่ก็ออกมาดูงานดูอะไรๆต่างๆบ้าง แดดมันจัด ต้องเอาผ้าโพก เห็นพวกเราทำงาน ตามที่ต่างๆก็อนุโมทนา เราต้องรู้จักสังคม รู้จักชีวิตว่าจะอยู่อย่างไร

ฉะนั้นการแสดงชีวิต การแบ่งงานต่างๆ แขกจะไปจะมา แขกระดับไหน VIP หรือกันเอง ก็มีสัดส่วนของมัน เราจะเป็นมนุษย์เจริญ มนุษย์อาริยะ คนที่มีอัตตามานะชนิดโง่ๆ แบกงานคนเดียว จะได้ใหญ่อย่างนั้น ก็พึงระวัง อย่าทำเช่นนั้นเลย มันน่าละอาย แม้จะทำได้โดยรวม ก็ไม่เป็นผลดีอะไร

การที่พวกเราทำงานคนละไม้คนละมือ โดยไม่มีอามิสเป็นเครื่องล่อ อาตมาภูมิใจนะ ตำแหน่งไม่มี ลาภไม่มี แต่ระวังอำนาจ และสรรเสริญที่จะได้รับ งานนี้เป็นงานสอบไล่ สอบใหญ่ของชาวอโศก

ปีนี้จะมีคนมามากขึ้น งานตลาดอาริยะเป็นจุดขายความจริงใจ ขายของขาดทุนจริงๆ ให้เขารู้เขาเห็น เป็นงานเกือบแจก เป็นงานเสียสละจริงๆ ไม่ใช่งานเปลือกๆ เอาหน้าทำโชว์ เป็นงานเดียว ในโลกจริงๆ ที่น่าภาคภูมิใจ กับคนมาเสียสละ ได้จริงๆ ไม่เอาเปรียบ แล้วต้องมาเหนื่อยด้วยโดยไม่ได้อะไร

แต่ความขัดแย้งในงานมีแน่ๆ เพียงแต่ระมัดระวัง อย่าให้มีความขัดแย้งกัน จนเสียงาน เสียผล เป็นความขัดแย้ง ที่พอเหมาะ

ผู้ใดที่ยอมได้ก่อน ลดมานะอัตตาของตนได้ก่อน ผู้นั้นเจริญ ขอให้เบิกบานร่าเริง และยิ้มแย้มเข้าไว้ เหนื่อยนั้น เหนื่อยแน่นอน...... "

อดีตนายกรัฐมนตรีมาเยือน
๓๐ ธ.ค. ๒๕๔๓ ที่ราชธานีอโศก วันแรกของงานปีใหม่ อโศก ๔๔ ก่อนที่ผู้ว่าราชการ จังหวัดอุบลราชธานี นายรุ่งฤทธิ์

(เชิญอ่านต่อ) ...


บันทีกจากปัจฉาสมณะ (๒) สารอโศก อันดับ ๒๓๓ เดือน กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ หน้า ๕๗ - ๖๒