บันทึกจาก
ปัจฉาสมณะ

หนังสือพิมพ์สารอโศก อันดับที่ 235
เดือน เมษายน 2544
หน้า 2/2

(ต่อจาก หน้า 1/2)
ได้อะไรจาก "ตามหาแก่นธรรม"
๑๗ ก.พ. ๒๕๔๔ ที่สันติอโศก วันนี้มีรายการ "ตามหาแก่นธรรม" ญาติธรรม ทยอยกันมาเรื่อยๆ ที่ไม่ใช่ญาติธรรม ก็มากันไม่น้อย เห็นพระที่คุ้นๆหน้า ในโทรทัศน์ เป็นพระนักพูดก็มา ดีที่คนไม่มา กันมากจนล้นเกิน ด้วยเกรงว่าจะต้อนรับได้ไม่ดี จึงงดการโฆษณา เชินชวนทางสื่อวิทยุ หรือป้าย เพราะสันติอโศก เล็กคับแคบ ที่จอดรถก็น้อย หากเชิญชวนมามาก จะเป็นปัญหายุ่งยาก

ก่อนคณะถ่ายทำรายการจะมาถึง ข้าพเจ้าคัดเลือกประเด็นคำถาม ที่มีลักษณะ ไม่เหมาะสมออก กว่า ๒๐ คำถาม เช่นคำถามในลักษณะโอ่ๆ อวดๆ ความเป็นอโศก น่าเห็นใจผู้ถาม ที่มีศรัทธา อีกทั้งตนเอง ก็ได้ผลดีจากอโศก จึงอยากจะให้ผู้อื่น ได้มีศรัทธา และได้ประโยชน์ จากอโศกบ้าง เพียงแต่ภาษา และจังหวะการนำเสนอ ยังไม่ชี้ชวนดูดี จะกลายเป็นผลเสีย มากกว่าผลดี

จบการถ่ายทำรายการแล้ว หลายคนอารมณ์ติดค้าง ขัดเคืองกับคำพูดข่ม ว่าเหน็บๆ ในที ของอาจารย์สุลักษณ์ รวมถึงการแสดงความเห็น ของญาติธรรมบางคน ไม่รู้ประมาณตนเอง พูดทีใด ก็มักไม่อยู่ในประเด็น ทำให้เกิดผลลบต่อตนเอง แต่ก็ชอบพูดยาวๆ แม้จะซื่อๆแต่ก็เสียได้ หากไม่รู้กาละ และไม่สนใจ คำท้วงติง ของผู้อื่น ได้ฟังทีใด ก็อายแทนทุกที ครั้งนี้ก็พยายาม หาเหตุผล วางใจตนเองว่า หากมองในมุมดี การที่ชาวอโศก มีคนมีภาพขี้เหร่ๆ เช่นนี้ก็ดีเหมือนกัน คนที่ติดใจ ถือสากิริยาวาจา ที่ไม่งามเช่นนี้ จะได้ไม่เข้ามามาก พวกเราจะได้เหนื่อยน้อยลง

การที่อาจารย์สุลักษณ์ ซึ่งได้รับความยอมรับอย่างมาก จากสังคมไทย และ ต่างประเทศ ว่าเป็นปราชญ์ ของสังคม มีน้ำหนักให้การข่มว่าพ่อท่าน มีความน่าเชื่อถือ ว่าเป็นเช่นนั้นจริงยิ่งขึ้น เช่น ประเด็นคำถามเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา อันใดมาก่อน พ่อท่านตอบว่า ศีลมาก่อน แล้วอธิบาย ศีล ขัดเกลาใจ จนเป็นฌาน เป็นสมาธิ และเกิดปัญญา อย่างที่พวกเราเคยได้ฟังมา

"ท่านโพธิรักษ์อธิบายแบบเถรวาท แบบมหายานเขาบอก ต้องเริ่มจากสมาธิก่อน มิฉะนั้น จิตไม่สงบ จะสมาทาน ไตรสรณคมน์ไม่ได้..." อาจารย์สุลักษณ์ กล่าว

แม้แต่ประเด็นเรื่องศาสนากับการเมือง พ่อท่านได้ตอบคำถามว่า "...พระก็ควรบอกประชาชนได้ ว่าควรเลือกพรรคไหน เลือก ส.ส. คนไหน ..."

ขณะที่อาจารย์สุลักษณ์เห็นว่า "หากพระชี้นำอย่างนั้น ศาสนาจะแตกแยก พระควรทำหน้าที่ บอกหลักธรรมที่ถูกต้อง แล้วให้ประชาชน พิจารณาตัดสินเอาเอง "

เมื่อฟังด้วยใจเป็นกลางๆแล้ว เหตุผลของอาจารย์สุลักษณ์ฟังขึ้นทีเดียว ขณะที่ความเห็นของ พ่อท่านนั้น ข้าพเจ้าเข้าใจว่า คนทั่วไป จะไม่เห็นด้วยแน่ๆ

ข้าพเจ้ามองว่า ทุกประเด็นที่อาจารย์สุลักษณ์เห็น ต่างจากพ่อท่าน อาจารย์สุลักษณ์ จะพูดจากความรู้ ที่รู้มาก รู้กว้าง โดยสามารถยกตัวอย่าง รูปธรรม ในต่างประเทศ ประกอบ ทำให้ดูน่าเชื่อถือยิ่ง นอกจากนี้ ตรรกะที่มีเหตุผลดี ช่วยเสริมความเห็น ความรู้นั้นอย่างมาก ขณะที่พ่อท่าน จะพูดจากสิ่งที่ พ่อท่านเป็น และทำอยู่จริงๆ ซึ่งภาวะที่พ่อท่านเป็นอยู่นั้น คนส่วนใหญ่ไม่ได้มี ไม่ได้เป็นด้วยแล้ว ภาวะเช่นนั้น ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม จากภายนอกทั่วไป ก็หาได้ยากเสียด้วย ดังนั้น เมื่อเกิด ความเห็น ต่างกัน ไม่ว่าเรื่องอะไร คนส่วนใหญ่ จะเห็นด้วยกับอาจารย์สุลักษณ์ มากกว่าพ่อท่านเป็นธรรมดา หากมองในมุมดี ออกรายการครั้งนี้ ทำให้กระแสเห่อ อโศกลดลง ความยอมรับลดลง พวกเราจะได้ เจียมเนื้อเจียมตัว สังวรมากขึ้น จะได้มีเวลาเคี่ยวเข้ม ภายในมากขึ้น

ครั้งนี้อาจารย์สุลักษณ์ก็พยายามพูด "น้อม" พูด "ถ่อมตน" อยู่เหมือนกัน เมื่อพูดถึงเรื่อง มักน้อย สันโดษ หรือ ศีล อาจารย์สุลักษณ์ จะพูดยกย่อง ให้เกียรติพ่อท่านว่า จะอธิบาย อันนี้ได้ดีกว่า

แม้กระนั้นญาติธรรมหลายคน ลึกๆยังขุ่นเคืองอาจารย์สุลักษณ์ ในส่วนที่ข่มว่าพ่อท่าน แต่ดูเหมือน พ่อท่านจะเข้าใจสัจจะ ของความเห็นแตกต่าง รวมถึงเข้าใจความจริง ในความเป็นอาจารย์ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ จึงมิได้มีท่าทีว่าจะ "เสียหน้า" หรือ "เสียเหลี่ยม" แต่อย่างใด

ญาติธรรมบางคนก็รู้สึกว่า รายการครั้งนี้ ไม่มีอะไรเสียสำหรับชาวอโศก เพราะพ่อท่าน อธิบาย ตามหลักธรรม ของพระพุทธเจ้า แต่มหายานนั้น เป็นเรื่องที่เกิดทีหลัง อาจารย์รุ่นหลัง อธิบายเพิ่มเติม กันเอาเอง

นี่เป็นอีกบทเรียนหนึ่ง ที่ทำให้ข้าพเจ้าได้เรียนรู้ว่า การเป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะของผู้คน จะต้องพบเจอ กับเจ้าหมู่ เจ้าคณะอื่น หรือลัทธิอื่น เลี่ยงไม่ได้เลย ที่จะต้อง มีวิวาทะกันบ้าง เพื่อแลกเปลี่ยน เรียนรู้ ถึงสัจจะสูงสุด ที่แต่ละท่านเข้าใจ เป็นเรื่องไม่ง่ายนัก ที่จะวางใจ กับโลกธรรม ที่เกิดขึ้น จากการกระทบกระทั่งนั้นๆ

ปอยหลวง ภูผาฟ้าน้ำ (งานฉลอง ๒ ทศวรรษ ภูผาฟ้าน้ำ)


ปอยหลวง ภูผาฟ้าน้ำ
(งานฉลอง ๒ ทศวรรษ ภูผาฟ้าน้ำ)
จากการที่สังฆสถานภูผาฟ้าน้ำ ได้รับฉันทานุมัติ ในที่ประชุมมหาปวารณา ครั้งล่าสุด (๓-๔พ.ย. ๒๕๔๓) ให้ยกฐานะขึ้นเป็น พุทธสถาน จึงเกิดมีผู้ดำริ จัดงานฉลอง โดยปรึกษา กับหมู่สมณะ ที่อยู่ภูผาฟ้าน้ำ และพ่อท่าน เพื่อกำหนดนโยบาย ลักษณะการจัดงานฉลอง ในครั้งนี้ ด้วยเป็นครั้งแรก ในประวัติศาสตร์ ของชาวอโศก ตั้งแต่มีการก่อตั้ง ธรรมสถาน ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็น พุทธสถาน เพิ่งจะมีครั้งนี้ ที่ถึงขั้นจัดงานฉลอง จึงเป็นเรื่องที่น่าศึกษา เรียนรู้ การใช้สัปปุริสธรรม ในกาละนี้ กับสถานที่อย่างนั้น (เนื่องด้วยเคยมีนโยบาย ให้เป็นแบบวัดป่าขลังๆ เป็นที่ฝึกฝนศึกษาของ สมณะนวกะ) การจัดงานฉลอง จะมีรูปแบบ ลักษณะอย่างไร แค่ไหน

มีผู้เรียนปรึกษาพ่อท่านว่า การจัดงานฉลองพุทธสถานอย่างนี้ จะส่งข่าวเรียนเชิญ ไปยังพุทธสถานต่างๆ ได้หรือไม่ เพราะมีผู้เป็นห่วงว่า หากคนมางานกันมากๆ จะทำให้ที่ดินราคาแพง

พ่อท่านเห็นว่า "อย่าใช้คำว่า 'เรียนเชิญ' เลย มันดูใหญ่ไป ใช้แค่คำว่า 'แจ้งข่าว' ก็พอ เพราะ คำว่า 'เรียนเชิญ' มันเหมือน บังคับเขาอยู่ในที หากไม่ไป ก็จะกลายเป็น ไม่มีน้ำใจ ไม่มีมารยาท แต่คำว่า 'แจ้งข่าว' ก็เพียงแค่บอกข่าว ให้เขาทราบเท่านั้น ไม่ไปร่วมงาน ก็ไม่เป็นไร

ส่วนเรื่องที่ดินจะแพง เพราะคนมางานฉลองกันมาก ก็ไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น เพราะเราจัดงานฉลอง ชั่วครั้งคราว ไม่ได้ จัดงานประจำ ตอนนี้ที่ดินราคาถูก ขายไม่ออกกันอยู่แล้ว ถ้าที่ดินจะแพง ไม่จัดงาน ไม่มีคนมาเลย มันก็แพงของมัน "

ผลที่สุด การจัดงานฉลองมีขึ้นในวันที่ ๑๙-๒๐ ก.พ. โดยใช้ชื่องานว่าปอยหลวง ภูผาฟ้าน้ำ หรือ งานฉลอง ๒ ทศวรรษ ภูผาฟ้าน้ำ (โดยนับรวมตั้งแต่ การเกิดกลุ่ม ลานนาอโศก เพราะภูผาฟ้าน้ำ เพิ่งจะ ๑๐ ปี) ช่วงเช้า พ่อท่านเทศน์ หลังฉันเป็นกีฬา ผ่าฟืน สีข้าว และหาผักป่า ภาคค่ำมีการแสดงร้องรำ หรือละครเล็กๆน้อยๆ มีนักเรียน ม.๖ ทุกพุทธสถาน มาร่วมเรียนรู้ สัมพันธ์ระหว่างกัน ก่อนจบ ชาวพื้นเมืองหลายหมู่บ้าน มาร่วมงานฉลอง ตามคำชักชวน ของพวกเรา รวมทั้งพวกเรา ที่มาร่วมงาน ทั้งหมด ๓๐๐-๔๐๐ คน มีช้างลากซุงให้ดู ผลสรุปทั้งหมด เป็นที่พอใจของผู้มาร่วม รวมทั้งเจ้าภาพ ญาติธรรมเชียงใหม่ ทั้งอากาศ และบรรยากาศของงาน จึงมีผู้เสนอ ให้จัดงานอย่างนี้ทุกปี ทำให้มีเสียง พูดกันว่า การมอบกลดให้นักเรียน ม.๖ ทุกพุทธสถาน ปีต่อๆไป จะเปลี่ยนจากปฐมอโศก มาเป็นที่ภูผาฟ้าน้ำนี้แทน จากสาระบางส่วน ที่พ่อท่านได้กล่าวในงานฉลองฯ ดังนี้

"งานนี้เป็นงานปอยหลวง ๒๐ ปีของภูผาฟ้าน้ำ ปอยหลวงนี่คืองานฉลองใหญ่ ปอยก็คือฉลอง หลวงก็คือใหญ่

ที่อยากจะเน้นให้พวกเราฟังในขณะนี้ก็คือ คนที่จะเข้าไปสู่สังคมใด ก็มักจะไป แสดงตัว มีความรู้ แล้วก็แสดงความรู้นั้น ให้ใหญ่ ให้ยิ่ง ให้เก่ง และให้กว้างรอบโลก ครอบจักรวาล เป็นคนรู้มาก รู้กว้างรู้เก่ง แสดงความลึกซึ้ง สรุปแล้วก็คืออวดเก่ง คนนิยม และได้รับความยอมรับกัน ถือว่า เป็นคนเจริญของสังคมโลกแล้ว ราคาการพูด lecture แพง คนจึงศึกษา แต่เพียงเท่านั้น ขอให้รู้มาก แล้วก็เอาไปพ่นได้ราคา ได้รับการยอมรับ ยกย่องด้วยนะ ความจริงแล้ว ทำอะไร ยังไม่ได้เลย มหาวิทยาลัย ที่เรียนกันทุกวันนี้ ก็ส่งเสริมสร้างคน ให้เป็นคนชนิดนี้ทั่วโลก อาตมา จึงเห็นว่า เป็นความล้มเหลวอย่างสำคัญ ถ้าเอาเรื่องของศีลธรรมเข้าไปจับ พวกนี้เหลวไหลหมด เพราะมีแต่รู้ และตีมูลค่าความรู้ แพงกว่าการทำ ซึ่งฉ้อฉล เอาเปรียบอยู่ในสังคม สร้างค่านิยม ที่ผิดสัจจะแก่สังคม

ทีนี้พวกเราจะไปที่ไหนอย่าไปอวดรู้ เรารู้น้อย แต่ขอให้รู้จริง แล้วก็รู้สิ่งนั้น ที่เป็นของดี ของมนุษย์ ที่เป็น demand เป็นอุปสงค์สำคัญของสังคม เช่น อาหารการกินสำคัญ

เราเพียงแสดงความรู้ ที่เราทำเล็กๆ แต่ทำได้จริง ทำได้ดี จะมีปริมาณมาก มีปริมาณน้อยอะไร ก็บอกให้พอเหมาะพอสมควร ไม่จำเป็นต้องอวดโอ่ ให้มันมีศิลปะนุ่มเนียน อย่างนี้คือการถ่อมตน ถ่อมตนไม่ได้หมายความว่า พูดผิดความจริง เรามีมาก พูดว่าเรามีน้อยนี้โกหกนะ เราเก่งมาก บอกว่า เราเก่งน้อยก็ผิดอีก..." จากการแสดงธรรมก่อนฉัน ๒๐ ก.พ. ๒๕๔๔ ที่ภูผาฟ้าน้ำ

นอกจากนี้ พ่อท่านยังได้บอก ถึงชีวิตในบั้นปลาย ของพ่อท่านจะเป็นอย่างไร ในช่วงการแสดงธรรม ก่อนฉัน ๑๙ ก.พ. ๒๕๔๔ ที่ภูผาฟ้าน้ำ ดังนี้

"อาตมาก็คงจะมาอยู่ที่นี่ ในบั้นปลายละน้อ จะได้อากาศสด อากาศดี อาตมามาอยู่ที่นี่ เพื่อที่จะสอนคน สอนสมณะนวกะ ที่นี่จะเป็นแหล่งผลิต แหล่งสร้างคน

ในบั้นปลาย คงทำอะไรไม่มากแล้ว ทำกับสังคมก็คงยาก จะเขียนหนังสือก็เขียนได้ที่นี่ สอนก็คงจะได้ที่นี่มาก อบรมคนหลากหลาย คงไม่ไหวแล้วละ สอนเนื้อๆแก่นๆ ยิงเปรี้ยงๆๆๆลึกๆ เข้าไป ให้จบ ปรมัตถ์ที่นี่...

เมื่ออาตมาอยู่ที่นี่เป็นหลัก จัดงานการก็คงจะจัดที่นี่มากขึ้น คนก็คงจะต้อง เฮละโลมากัน ศาลามันเล็ก มันก็จะยังไงล่ะ มันก็คงไม่พอแน่นอน และถ้าเผื่อ อาตมาอายุยืนยาวขึ้น ความยอมรับนับถือ ในสังคมก็จะมากขึ้น คนก็คงจะมากขึ้น อีกแน่ๆ ใครที่ยังสงสัยว่า ที่นี่อยู่ตั้งไกลและสูง มาก็ยาก แล้วอาตมาดำริ จะสร้างศาลา มีอาณาบริเวณถึงไร่ ๑,๖๐๐ ตารางเมตร สร้างศาลาใหญ่นี้ไว้ทำไม ตอนนี้ก็ไขความให้ฟัง..."

และในการแสดงธรรมวันนั้น ๑๙ ก.พ. พ่อท่านได้ชักชวนญาติธรรม ให้เข้ามาอยู่ร่วมใน ชุมชน อย่างถึงๆ ไม่เคยกล่าวเช่นนี้ มาก่อนเลยในรอบ ๓๐ ปี ที่ผ่านมา

"ถ้าอยากให้ประเทศชาติเจริญ ชุมชนจะต้องโตเร็ว จะโตเร็วก็คือพวกคุณต้องรีบมา นี่ไม่ได้บังคับนะ พูดความจริงให้ฟัง ใครที่ฟังแล้ว ยังเฉยเฉื่อยเย็นสบาย ยังไม่มาหรอก ก็ตามใจ อาตมารู้ว่าคุณรออะไร คุณรออะไรรู้มั้ย รอตายล่ะซิ ตายแล้ว มันไม่ได้มาแน่นอน ทวนอีก รอตายเหรอ ไม่รอ ตอบอะไรล่ะ ไม่รอ อ้าว! เห็นมั้ย อาตมาเป็นนักพิสูจน์ ซ.ต.พ. เพราะฉะนั้น คำตอบก็คือ ต้องรีบมา

ข้อสำคัญอยู่ที่ว่า แน่ใจมั้ยว่า ถ้ามาอยู่กับกลุ่มนี้แล้ว เราเลวลงหรือ เราไม่เลวแน่นอน ถ้าเรา แน่ใจว่ามาอยู่ที่นี่แล้ว ไม่ได้เลวลงแน่นอน จะฝืนหน่อยก็ฝืน ทนไม่ไหวอีก ออกไปก่อน ตั้งหลักใหม่ กลับมาใหม่ ตอนนี้อยากจะได้คนเพิ่มขึ้น เพราะว่าตอนนี้แผน ๙ กำลังจะออก จะเร่งรัด พัฒนาชุมชน ถ้าเรามารวมกัน ห้าร้อยคน พันคน บุญนิยม ก็จะเป็นรูปชัด เราต้องรีบเร่ง มารวมกัน ให้ทันการณ์ มิฉะนั้น กว่าถั่วจะสุก งาไหม้แน่นอน ไม่รอดนะ"

ลดเวลาการประชุมของพ่อท่าน
เนื่องจากช่วงปลายเดือนของทุกเดือน จะมีองค์กรต่างๆ ของชาวอโศก ประชุมกันมาก เพื่อลดเวลา ของพ่อท่าน ที่จะต้องร่วมประชุมกับองค์กรต่างๆ จึงมีผู้คิดรวมองค์กร ในเครือพาณิชย์ทั้งหลาย มาร่วมประชุม และฟังโอวาทจากพ่อท่าน ในวันเดียว พร้อมกันเลย พ่อท่านจะได้ไม่เสียเวลามาก เช่นที่ผ่านมา

"ตอนนี้อะไรๆก็ประเดประดังเข้ามา เราจะพยายามรวมองค์กรต่างๆ ให้มารวมๆกัน จะได้ประชุม ทีเดียว จะได้ไม่ฟั่นเฝือ ซ้ำซ้อน แม้แต่พลังบุญ แด่ชีวิต ขอบคุณ ศูนย์มังสวิรัติฯ มีอะไรก็มาประชุม วันเดียวกันอย่าง ๔ องค์กร" พ่อท่านกล่าว กับกรรมการ ๔ องค์กร คือ มูลนิธิฯ และสมาคมฯ ชาวอโศก ๒๕ ก.พ. ๒๕๔๔ ที่สันติอโศก

เช้าวันรุ่งขึ้น ๒๖ ก.พ. ๒๕๔๔ ที่โบสถ์สันติอโศก จากบางส่วนที่พ่อท่านให้โอวาทประชุม บจ.แด่ชีวิต บจ.ขอบคุณ บจ.พลังบุญ และศูนย์มังสวิรัติฯ

"ตอนนี้ชาวอโศกงานมาก แต่คนไม่เพิ่ม หากไม่มีสำนึก ปล่อยเหมือนเดิม ก็ไม่มีทางแก้ งานมาก เราห้ามงานมาหาเราได้ยาก

การที่เราเปิดกิจการแล้ว มีงานมามาก แสดงว่าเจริญ ได้รับความนิยม กระแสทุนนิยม ไม่มีปัญหา เขาจ้างคนมามากขึ้น แต่ของเราไม่ได้ใช้ทุน เป็นทุนเป็นหลัก เราใช้สำนึก จิตวิญญาณ คุณค่า ภูมิธรรมของมนุษย์เป็นหลัก เราก็พูดอยู่ว่า มีงานมาก แต่ไม่มีคนมา สมัครงานเพิ่ม เพราะเราไม่มี ลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุขให้ ฉะนั้น คนมาทำงาน จะต้องมาลดกิเลส มาสละความติดยึด สละเวลา ที่จะต้องทำอย่างอื่น คือมาเสียสละ

เมื่อเราไม่มีคนเพิ่ม เราต้องบริหารเวลา บริหารนิสัย ของเราใหม่ พัฒนากายกรรม วจีกรรม ให้มีสมรรถนะมากขึ้น

เรามีทุนทางสังคม เพราะเรามี พฤติกรรมดี คือเป็นแบบอย่างให้คนอื่นดู เอาอย่างตาม บุญนิยม สร้างแล้วให้ จึงเป็นทุนทางสังคมจริง แต่ทุนนิยม ขยันสร้าง แล้วเอาเก็บไว้ หอบไว้ ซึ่งไม่มี ทุนทางสังคม..."

ช่วงบ่ายวันนั้น (๒๖ ก.พ.) พ่อท่านยังร่วมประชุม กับฝ่ายการศึกษา ที่กำลังจัดทำเอกสาร เสนอผ่าน กลุ่มการศึกษาทางเลือก ในชื่อ ศูนย์การเรียน การศึกษาบุญนิยม เสนอไปยังกระทรวงศึกษาธิการ

การศึกษาตาม พ.ร.บ.การศึกษาฉบับใหม่ ๑. การศึกษาในระบบ คือ รัฐจัดการศึกษาให้ ๒.นอกระบบ ๓. ตามอัธยาศัย

อย่าง ร.ร.โฮมสคูล Home school ร.ร.หมู่บ้านเด็ก เขากำลังขอออกนอกระบบเลย รัฐอย่ามายุ่ง ไม่สนเรื่องใบประกาศนียบัตรใดๆ ขอจัดการศึกษาเองทั้งหมด

แต่ศูนย์การเรียนการศึกษาบุญนิยม จะอยู่ทั้งนอกระบบ และตามอัธยาศัย และต้องการให้รัฐ รับรองใบประกาศนียบัตรของเราด้วย

ที่ประชุมฝากให้พ่อท่าน ช่วยนำไปคิดต่อ คือ นิยามคำว่า บุญนิยมที่ใช้ได้ทั้ง การศึกษา สังคม และเศรษฐกิจ

เสร็จจากการประชุมฝ่ายการศึกษาแล้ว คณะบริษัทขอบคุณ ขอประชุมต่อ ด้วยเป็นบริษัทใหม่ ยังมีปัญหาเยอะ แม้เช้านี้ประชุมร่วม บจ.แด่ชีวิต บจ.พลังบุญ และศูนย์อาหารฯ แล้ว ก็ยังมีปัญหา เฉพาะภายใน ตั้งแต่จะจัดร้านอย่างไร จะรับผัก จากวังน้ำเขียวหรือไม่ สินค้าบางอย่าง จะรับซ้ำซ้อน กับบริษัทแด่ชีวิตหรือไม่ การเบิกจ่ายเงินซื้อสินค้า ฯลฯ หลังจากประชุม บริษัทขอบคุณแล้ว พ่อท่านต้องนอนพัก เพราะวันนี้ตั้งแต่เช้า พ่อท่านร่วมประชุมมาหลายคณะ ยาวนานหลายชั่วโมง ว่างเว้นเพียงช่วงฉันอาหาร

การผลิต การบริโภค การจัดสรรภายใต้ระบบบุญนิยม
๒๗ ก.พ. ๒๕๔๔ ที่สันติอโศก เช้านี้มีโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่องค์การอนามัยโลก สอบถาม การสะกดชื่อ ของพ่อท่านเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อเขียนรายงาน ส่งไปส่วนกลาง เนื่องจากทางสันติอโศก ได้ทำเรื่องกสิกรรมไร้สารพิษ อย่างมีผลมาหลายปี

"จะสะกดอย่างไรก็ได้ ให้ถูกตามหลักภาษาก็ใช้ได้ แต่สำหรับคำนำหน้า ไม่ใช้ "พระ" อาตมาใช้คำว่า "สมณะ" ถ้าใช้ภาษาอังกฤษ ต้องใช้ Venerable หรือ ใช้คำทับศัพท์ ไปเลย Samana"

บ่าย คุณกิตติกร สุนทรานุรักษ์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย สัมภาษณ์ พ่อท่าน เกี่ยวกับเรื่องการผลิต การบริโภค การจัดสรร ภายใต้ระบบบุญนิยม เพื่อประกอบการศึกษา วิทยานิพนธ์ ระดับปริญญาโท เรื่อง การพัฒนาชุมชนพึ่งตนเอง กรณีศึกษา ชุมชนศีรษะอโศก อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ

จากบางส่วนของคำถามคำตอบที่น่าสนใจดังนี้

กิตติกร : ไม่ทราบว่าระบบบุญนิยมนี่ มองในระดับปัจเจกบุคคลหรือสังคม

พ่อท่าน : ก็ในสังคมนั้นแหละ ต้องมีปัจเจกบุคคล ที่เป็นโลกุตรบุคคล ถ้าไม่ถึงขั้นโลกุตรบุคคลแล้ว ยังไม่นับเป็นระบบบุญนิยม

กิตติกร : พอจะพูดได้ไหมครับว่าระบบบุญนิยม คือพุทธเศรษฐศาสตร์ของชาวอโศก

พ่อท่าน : จะพูดอย่างนั้นก็ได้ เพราะว่า ถ้าเศรษฐศาสตรทั่วไป ก็คือทั่วไป general คือ เขาก็ทำตามที่เขาเข้าใจสามัญ แต่อาตมาหมายพุทธศาสตรที่อโศกเรานิยม อโศกเรายึดถือ ก็ต้องหมายถึง ลักษณะที่วิสามัญ เฉพาะที่มีมรรคมีผล หมายความว่า ประพฤติธรรมะ ของพระพุทธเจ้านั้น เข้าสู่ผล เข้าสู่สภาพโลกุตระ สภาพทวนกระแสโลกียะ ไม่เป็นไปเพื่ออามิส ลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข ซึ่งเป็นโลกธรรม หรือโลกียธรรม ธรรมดา หรืออย่างน้อยก็ต้องรู้ว่า เราจะ ไม่เจตนาไปเอาทางโน้น กิเลสเรายังมีอยู่ ก็อาจจะมีส่วนไปบ้าง ก็ต้องรู้ตัว ต้องลดละ ไม่ใช่ปล่อย เป็นทาสอย่างนั้นให้ได้

กิตติกร : แล้วหัวใจของระบบบุญนิยมคืออะไร

พ่อท่าน : บุญนิยมนี่ต้องมีคุณภาพระดับโลกุตระ หมายความว่า เห็นความแตกต่าง ระหว่าง โลกธรรม หรือโลกียธรรม กับโลกุตรธรรมชัดเจน แล้วก็ต้องมุ่งหมาย มาทางโลกุตระ จนมีมรรคผล นี่คือบุญนิยม ถ้ายังเป็นแบบโลกียะสามัญตามเดิม ก็ทุนนิยมดีๆ ที่เขามีอยู่ทั่วไปในโลกขณะนี้

กิตติกร : แล้วการผลิตจะให้ความสำคัญกับกสิกรรมหรืออุตสาหกรรม

พ่อท่าน : จริงๆแล้วกสิกรรมสำคัญมากที่สุดในชีวิตมนุษย์ เครื่องยนต์กลไก ก็เป็นเครื่องช่วย ระดับหนึ่ง อยู่ในระดับสอง กสิกรรมคนต้องกินต้องใช้ กสิกรรมนี่เป็นหลักแท้ๆ ของมนุษยชาติ ถ้าขาดอุตสาหกรรม คนเราก็ยังอยู่ได้ แรกเริ่มเดิมที คนไม่จำเป็น ที่จะต้องพึ่งสิ่งเหล่านั้น ถ้าเครื่องทุ่นแรงมีมาก ก็ทำให้สมรรถนะ ของมนุษย์นี่ลดลง ขี้เกียจขึ้น แล้วก็เป็นเชิงเอาเปรียบมาก อาตมาเคยกล่าว ถึงโทษของเทคโนโลยี ๑๑ ประการ แต่ก็ไม่ได้ไปเหยียดหยาม ไม่ได้รังเกียจ เทคโนโลยี เครื่องใช้เทคโนโลยี ที่สมควรจะใช้อย่างนี้ เยอะแยะ เราก็ใช้อย่างเข้าใจ เทคโนโลยี มอมเมาก็ได ้สร้างสรรก็ได้ เฟ้อได้เกินได้ พอดีได้ น้อยไปก็ได้เหมือนกัน เราต้องรู้ นี่มันขาดแคลน มันจำเป็น ก็ต้องทำให้มันพอเหมาะ

กิตติกร : ระบบบุญนิยมจะให้ความสำคัญกับแรงงานกาย หรือแรงงานสมอง อย่างไหนสำคัญกว่า

พ่อท่าน : เท่ากัน แรงงานสมองก็ไม่ควรเป็นคนมีเปรียบกว่าแรงงานกาย ความสำคัญมันอยู่ที่ว่า เมื่อคุณมีความสามารถมาก มีความรู้มาก คุณต้องมาช่วยเหลือ คนที่เขามีน้อย อุ้มชูคนที่เขา ไม่มีความสามารถ นอกจากจะมีความรู้ ความสามารถมากแล้ว ยังเป็นผู้ที่รู้สาระ สามารถที่จะ ลดละ และไม่ติดไม่ยึด กินน้อยใช้น้อย ละกิเลสจริงๆ ยิ่งเป็นอาริยบุคคล สูงขึ้นๆ ยิ่งไม่ติดไม่ยึด ยิ่งสมรรถนะของท่านสูง ท่านก็ยิ่งไม่เอา เสียสละสร้างสรร ให้สังคมมนุษยชาติ เป็นคนดีงาม เขาก็เลี้ยงเราเอง ไม่ต้องสะสมก็ยังได้เลย ลัทธิบุญนิยม จะไม่สะสม ไม่กอบโกย ไม่กลัวว่า จะอดอยาก ยากจน เพราะเรามั่นใจในสมรรถนะ ของเรา เป็นคนมีความรู้ ความสามารถอยู่แล้ว เราก็สร้างสรรไปวันๆ เจ็บป่วยเกื้อกูลกันไป ตามความจำเป็น เป็นสังคมอย่างพวกอโศก กำลังพยายามทำขึ้นมา เป็นบุญนิยม ก็พอเห็นได้ พึ่งเกิด พึ่งแก่ พึ่งเจ็บ พึ่งตายกันได้ เป็นสังคมที่รวมกัน เป็นพี่เป็นน้องกัน เป็นภราดร

กิตติกร : เคยอ่านคำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ได้สั่งห้ามการหากำไร คือกำไรโดยทั่วไปนะครับ

พ่อท่าน : พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้สอนให้แสวงหากำไรโดยทั่วไป มีแต่สอนความมักน้อย สันโดษ อปจยะ ไม่สะสม นี่คือคำภาษาบาลีที่ชัดๆ ไม่เคยมีหรอกว่า ให้มีมากๆ มหัปปิจฉะ ซึ่งตรงข้ามกับอัปปิจฉะ ธรรมใดวินัยใด ที่เป็นไปเพื่อความมักมาก ธรรมนั้นวินัยนั้น ไม่ใช่ของเราตถาคต แต่คนมันไม่เอาจริง มาบวชเป็นพระ ก็ยังไม่จริงเลย มากอบมาโกย ก็ไปไม่รอด ถ้าปฏิบัติลดกิเลสจริงๆ จะเห็นว่าชีวิตนี้ มันน้อย ชีวิตนี้ไม่ต้องเปลือง ต้องผลาญแล้ว ใช้อาศัยไม่มากหรอก สร้างสรร เผื่อแผ่คนอื่นนี่แหละ ได้เพิ่มขึ้น เรายิ่งลดตัวเราได้มากขึ้นๆ เราก็ยิ่งมีกำไรคือ เราจะได้ให้มาก เราเสียสละได้มากขึ้นๆ เพราะเราก็เอาไว้น้อย น้อยลงๆ จนถึงขีดสุดท้าย ชีวิตจะอยู่ในเหตุปัจจัย ที่จำเป็นเท่านั้น กินวันละมื้อ เสื้อผ้ามันก็เหลือเฟือ กันร้อนกันหนาว ที่นอน ก็เพื่อสาระของมันเท่านั้น ไม่ต้องไปอวดไปโอ่ ถ้าเราจะหยุด ก็จบ ถ้าเราไม่หยุด หรือว่าเราเอง ก็ไม่ควรจะหยุด เพราะเราเอง ยังมีกำลังวังชา สร้างสรรได้ ก็สร้างไป เป็นประโยชน์ต่อโลก ไปเรื่อยๆ เมื่อยเราก็พัก ไม่เมื่อยเราก็เพียร

กิตติกร : ระบบบุญนิยมจะใช้ได้เฉพาะกลุ่มเล็กๆ อย่างชุมชนชาวอโศก หรือจะใช้ได้ ในภาพรวม ได้เลย

พ่อท่าน : คุณว่าคนนี่มีปัญญาไหม

กิตติกร : มีระดับหนึ่ง

พ่อท่าน : เอางี้ คนมีปัญญาสูงกว่าเดรัจฉานไหม

กิตติกร : ก็มีสูงกว่า

พ่อท่าน : แล้วในเดรัจฉานที่เป็นสัตว์โขลงนี่ กับคนที่เป็นสัตว์โขลงเหมือนกัน คุณว่าระหว่างเดรัจฉาน ที่เป็นสัตว์โขลง กับคนนี่อันไหนมันตี มันทะเลาะกัน มากกว่ากัน

กิตติกร : คนตีกัน ทะเลาะกันมากกว่า

พ่อท่าน : คนตีมากกว่ากันใช่ไหม แล้วคนนี้จะมีปัญญารู้ไหมว่า ถ้าไม่ตีกันนี่ดีกว่า จะมีปัญญา พอรู้ไหม

กิตติกร : พอรู้ครับ

พ่อท่าน : ระบบบุญนิยมเป็นไป เพื่อจะไม่ฆ่าแกงกัน ไม่ทะเลาะกัน สามัคคีกัน คนทั่วไป อาตมา เชื่อว่ารู้ ปฏิบัติ หรือว่าพัฒนายากก็จริง แต่มันสู่ความจริง เป็นความดีจริงๆ คนจะไม่เอาได้อย่างไร ถ้าค่อยๆทำไป เกิดกลุ่มนี่ เป็นอย่างนี้ ไปเรื่อยๆ แล้วก็มีหลายๆกลุ่มเข้า มันก็เป็นมหภาคไปเรื่อยๆละ มันจะค่อยๆประสาน เชื่อมโยงเข้าไปเอง อาตมาว่า นี่เป็นสัจจะ ที่เถียงไม่ได้ มันเป็นไปเพื่อ ความอยู่รอด เป็นไปเพื่อความสุขเย็น เป็นไปเพื่อความเจริญประเสริฐ ถ้าคนนี่เข้าใจได้ ก็ต้องมาหา ทางนี้หมดจริง เขาจะรู้เองว่า ที่สุดคุณก็ต้องมาทำอย่างนี้ ไม่ทำอย่างนี้ คุณก็ไปไม่รอด อีกหน่อย ต่อไปหลายๆอย่าง โลกมันร่อยหรอลง อำนาจจิตวิญญาณ ของคนที่ถูกกิเลส ครอบงำนี่ มันจะรุนแรง โหดร้าย คนมันไม่อยากทุกข์ อย่างนั้นหรอกใช่ไหม ฉะนั้น เมื่อมีทางออก เมื่อมีหมู่มวล มีอะไร ที่จะเป็นไปได้ ก็ต้องทยอยมาเรื่อยๆๆ เพียงแต่ต้องอาศัย เวลาหน่อยเท่านั้น

ปิดท้ายบันทึกฉบับนี้ด้วยโอวาทพ่อท่าน กล่าวปิดประชุมชุมชนปฐมอโศก ๑๒ ก.พ. ๒๕๔๔ ที่ศาลาวิหาร ปฐมอโศก

"ขึ้นปี ๒๕๔๔ นี้อะไรๆก็คึกคักขึ้น ใครที่ยังอยู่ในหลุมในภพ ในรู ระวัง จะถูกอะไร ทับถมเอา ไม่ต้องไปไหนเลย ถึงยุคแล้ว ที่เราจะเพิ่มปริมาณคน เพราะแรงงานพวกเรา ต้องการมากขึ้น สำคัญอยู่ที่พวกเรา ที่เป็นตัวหลักอยู่แล้ว ต้องแบกหาม ต้องขยันมากขึ้น ต้องทำ ถ้าไม่ทำ ก็ไม่รู้ว่าจะว่าอย่างไร กระแสของสังคม ก็แง้มมา ทางเรามากแล้ว ขนาดวิทยุ กระจายเสียง แห่งประเทศไทย ยังเอาชื่อ โพธิรักษ์ ไปออกรายการ เกี่ยวกับ ชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง แต่ทางด้านสมณะ ก็ยังมีปัญหา เรื่องการทำ หนังสือเดินทาง (Passport)

โดยภาพรวมกระแสทางสังคม ที่มีต่อพวกเราก็นับว่าดี เพราะฉะนั้น เราจะมัวยืดยาด อยู่อย่างเก่า ไม่ได้แล้ว เราทำมาขนาดนี้ เราก็เห็นผลแล้วล่ะว่า พอเป็นไปได้ แต่ก็ดูแล้วว่า พวกเราขมีขมันกันดี พอใช้ได้ ก็ลงมือทำกันไปก็แล้วกัน ..."

อนุจร ๓๐ มี.ค. ๒๕๔๔

 

บันทึกจากปัจฉาสมณะ (สารอโศก อันดับ ๒๓๕ หน้า ๖๘ - ๗๕ เดือน เมษายน ๒๕๔๔)