(ต่อจากหน้า
2/3)
ศาสนา...เป็นประโยชน์ตน-ประโยชน์ท่าน
มีทุนทางสังคม...สร้างชุมชนเข้มแข็ง
๑๐ ก.ค.๒๕๔๔ ที่ราชธานีอโศก น.พ.สมนึก ศิริพานทอง ได้มาสนทนากับพ่อท่าน ด้วยทราบว่าทางเราสนใจที่จะสร้าง
"ศูนย์วิจัยสร้างเสริมสุขภาพวิถีไทย"
ซึ่งจะมีการดูแลรักษาสุขภาพแบบองค์รวม ไม่ว่าจะเป็นกดจุด นวด แพทย์แผนไทย
ฝังเข็ม ไคโรแพ็คติก ชีวจิต แม็คโครไบโอติก หรือแผนปัจจุบัน นำส่วนดีที่เหมาะสมกับแต่ละคน มาใช้ประกอบกัน หมอสมนึกเห็นดีด้วยว่า น่าจะเป็นเช่นนี้ ที่ผ่านมา เคยเห็นแต่การทะเลาะเบาะแว้ง ข่มว่ารังเกียจกัน เมื่อมีความเชื่อที่แตกต่างไปจากตน
เมื่อพ่อท่านพาหมอสมนึก ไปดูบริเวณป่ายาง
ริมแม่น้ำมูล ซึ่งคิดจะสร้างสถานที่ "ศูนย์วิจัยสร้างเสริมสุขภาพวิถีไทย"
หมอสมนึกพอใจ ชมว่า ที่นี่ทั้งอากาศ ทั้งอาหารผักพืช ทั้งผู้คนแวดล้อมก็ดีหมด
เหมาะมากกับการดูแลรักษาสุขภาพ เพียงแค่เข้ามาไม่ถึงครึ่งชั่วโมง
ก็สัมผัสได้ว่า อากาศที่หายใจบริสุทธิ์สะอาดกว่ามาก
๑๑ ก.ค.๒๕๔๔ ที่ราชธานีอโศก น.พ.กวี
ไชยศิริ ผอ.โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ได้มาพูดคุยกับพ่อท่านด้วย หมอสมนึกได้ไปบอกเล่าให้ฟังว่า ทางบ้านราชฯ มีโครงการจะสร้าง
"ศูนย์วิจัยสร้างเสริมสุขภาพวิถีไทย" ซึ่งสอดคล้องกับที่ทางโรงพยาบาล ก็กำลังจะหาสถานที่ ที่มีธรรมชาติที่ดี สร้างสถานส่งเสริมสุขภาพให้แข็งแรง
มีแพทย์พยาบาล มาแนะนำให้ความรู้กับชุมชน ด้วยเห็นว่าการดูแลป้องกัน จะดีกว่าการรักษา เป็นนโยบายเชิงรุก เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยเจ็บ ที่จะต้องไปโรงพยาบาล
เมื่อพาหมอกวีไปดูสถานที่ บริเวณป่ายาง หมอกวีก็ชมว่าสถานที่เหมาะมาก กำลังหาที่อย่างนี้อยู่พอดี อย่างนี้จัดแต่ง
อีกนิดหน่อยก็ดีเลย โดยหมอกวีรับจะไปออกแบบ ให้เหมาะกับสถานที่
๑๓ ก.ค. ๒๕๔๔ ที่สนามบินอุบลราชธานี
ขณะรอขึ้นเครื่องบินไปกรุงเทพฯ นายศิวะ แสงมณี
อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ลงจากเครื่องบิน ทราบว่าพ่อท่านกำลังรอขึ้นเครื่องบิน
จึงได้มากราบนมัสการ และสนทนาด้วยท่าทีอ่อนน้อม นั่งพับเพียบที่พื้น เช่นเดียวกับญาติธรรม ที่มาส่งพ่อท่าน
คุณศิวะ บอกเล่าว่า ทางกรมราชทัณฑ์ มีโครงการจะแจกของใช้ เช่น สบู่ ยาสีฟัน แชมภู ให้กับนักโทษ โดยทางกรมราชทัณฑ์ มีนโยบายจะช่วยเหลือสินค้าชุมชน ซึ่งปกติทางกรมราชทัณฑ์ ต้องสั่งซื้อสินค้าเหล่านี้อยู่แล้ว
จึงคิดว่าน่าจะกระจายรายได้ ไปยังชุมชนต่างๆ ที่มีผลิตภัณฑ์เหล่านี้ จะดีกว่าซื้อจากบริษัทไม่กี่บริษัท ที่ร่ำรวยอยู่แล้ว
เนื่องจากคุกก็มีอยู่ทั่วประเทศ ขณะที่ชุมชนอโศกและเครือข่าย ก็มีอยู่หลายจังหวัด ดีเลยที่ได้มาพบพ่อท่านพอดี จึงเรียนให้ทราบไว้ล่วงหน้า แล้วรายละเอียดค่อยติดต่อกันอีกที คุณศิวะกล่าวจบ ครู่ต่อมา ก็ขอตัวไปงานราชการต่อ
๑๙ ก.ค.๒๕๔๔ ที่สนามบินดอนเมือง ก่อนขึ้นเครื่องบิน เดินทางไปอุบลราชธานี มีชายคนหนึ่ง ขยับมานั่งข้างๆพ่อท่าน พร้อมกับแนะนำตัวเองว่า เป็นนักมังสวิรัติคนหนึ่ง เคยไปสันติอโศก และไปหาซื้ออาหารที่ร้านค้าหน้าวัด เมื่อขึ้นเครื่องบิน ท่าทีของโฮสเตสชาย ๒ คน ดูจะรู้ว่าพ่อท่านเป็นใคร พยายามนิมนต์ให้ขยับไปนั่งในชั้นธุรกิจ ที่เบาะใหญ่กว่า ช่องห่างระหว่างเบาะกว้างกว่า แต่พ่อท่านก็ปฏิเสธว่า ไม่เป็นไร นั่งในชั้นประหยัดอย่างนี้ ก็ไม่มีปัญหาอะไรอยู่แล้ว
แม้แต่เรื่องอาหาร โฮสเตสชายทั้ง ๒ คน ก็จะมาบอกว่า เดี๋ยวจะเอาอาหารมังสวิรัติมาถวาย
ซึ่งพ่อท่านก็ปฏิเสธ เป็นปกติเช่นนี้ทุกครั้ง หรือแม้แต่น้ำส้ม กาแฟ ที่โฮสเตสพยายามจะบริการ คงจะคิดว่าไม่ฉันอาหารหนักๆ ก็น่าจะฉันเครื่องดื่ม
น้ำผลไม้พวกนี้ได้ เช่นพระโดยทั่วไป ก็รับก็ฉันเป็นปกติ แต่ก็ยังคงได้รับการปฏิเสธจากพ่อท่านอีก
เมื่อเครื่องบินขึ้นผ่านไปประมาณครึ่งชั่วโมง ชายหนุ่มที่นั่งใกล้หน้าต่าง ขยับตัวมานั่งในเบาะที่ว่าง ข้างๆพ่อท่าน
พร้อมกับควักนามบัตร แนะนำตัวเอง เชิดชอ เชื้อสมบูรณ์ สำนักงานเลขานุการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
แล้วก็เป็นเบอร์โทรศัพท์ สถานที่ติดต่อ คุณเชิดชอ บอกกล่าวว่า ได้เคยศึกษาผลงานของท่านอาจารย์ ตั้งแต่ครั้งพล.ต.จำลอง เป็นหัวหน้าพรรคพลังธรรม ทำให้ได้รู้ว่า สิ่งที่ท่านอาจารย์สอน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเสมอภาค หรือเรื่องอภัย ทำให้ชาวอโศกผนึกรวมกันแน่นเหนียว
ชุมชนอโศกเข้มแข็ง ขณะที่สังคมทุกวันนี้ ขาดการผนึกรวม ขาดการร่วมกันคิดร่วมกันทำ เราเข้าใจผิดมาตลอดว่า ประเทศชาติอยู่ได้ เพราะเศรษฐกิจ ของสังคมเมือง แท้จริงแล้วประเทศชาติจะอยู่รอด เพราะความเข้มแข็งของสังคมชนบท ซึ่งมีกว่า ๙๐% ของประชาชนไทย
มีคนส่วนหนึ่งดูถูกสังคมชนบท ในเรื่องที่รัฐมีนโยบาย ส่งเสริมให้ชนบทเข้มแข็ง ด้วยการให้เงินกองทุน หมู่บ้านละล้าน
เขาคิดกันว่า จะทำให้คนชนบทเสียนิสัย ขี้เกียจและหนี้จะสูญได้ แต่ท่านอาจารย์เชื่อมั้ยครับว่า พอรัฐประกาศ เรื่องกองทุนหมู่บ้าน มีเพียง ๔๘% เท่านั้น ที่มาขอเข้าโครงการ เขาซื่อสัตย์มาก น่าประทับใจนะครับ เมื่อเขาไม่แน่ใจว่า ถ้าพวกเขาเอาเงินกองทุนมาแล้ว เขาจะใช้คืนไม่ได้ เขาจึงไม่ขอกัน เขาไม่ได้คิดจะเบี้ยว คิดจะโกง อย่างที่คนเมืองคิดกับเขา
เรื่องหนึ่งหมู่บ้านหนึ่งผลิตภัณฑ์ ก็เหมือนกัน ชุมชนอโศกทำมานานแล้ว อย่างแซมภูมะกรูด ยาสมุนไพรอะไรนั่น ผมก็เห็นมานาน
ตอนนี้ เพิ่งจะมาเป็นนโยบายรัฐบาล
พวกเราได้คุยกันว่า ชุมชนอโศกเข้มแข็งได้ เป็นเพราะมีศาสนาเป็นหลัก
ผมได้คุยกับท่านผู้ใหญ่ ว่าผมอยากจะหาโอากาสไปสนทนากับท่านอาจารย์ว่า ท่านอาจารย์ มีวิธีไหนที่จะทำให้คนเกิดแรงจูงใจ ที่จะผนึกรวมกันได้ อย่างในสมัยก่อน เรามีพระเจ้าตาก รวบรวมก๊กต่างๆ เข้ามาร่วมกันกอบกู้ชาติ
สมัยนี้ผมคิดว่า ถ้าเราทำให้ชุมชนต่างๆในชนบท เข้มแข็งอย่างอโศกได้ ผมว่าเราจะกู้วิกฤติได้แน่ ผมอยากจะขอความอนุเคราะห์ จากท่านอาจารย์ด้วย
ผมจะหาโอกาส ที่มีเวลามากกว่านี้ เพื่อจะได้รับรู้รับฟัง แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับท่านอาจารย์
ขณะนั้นเครื่องบินกำลังลง ที่สนามบินอุบลราชธานี
พ่อท่านใช้เวลาในช่วงสั้นๆ อธิบายถึงสิ่งที่คุณเชิดชอ สนใจ
"แรงจูงใจที่ทำให้ชุมชนอโศกเข้มแข็ง
ผนึกรวมกันเหนียวแน่น ร่วมกันคิด ร่วมกันทำอะไรๆได้ เหตุสำคัญมาจาก ความเชื่อเรื่องบุญบาปมีจริง
ความเชื่อเรื่องการเป็นของของตน ใครทำใครได้ อีกทั้งมีปัญญาเห็นความจริงว่า
เสียสสละให้ผู้อื่นได้ ดีกว่าเอาเปรียบหรือโกงคนอื่นเขา เป็นผู้ให้ดีกว่าขี้โลภ
กักตุน หวงแหน เห็นแก่ตัวแน่ๆ"
๓๑ ก.ค.๒๕๔๔ ที่ปฐมอโศก ก่อนฉัน พ่อท่านแสดงธรรม
ช่วงต้นกล่าวถึง กระแสความยอมรับ ที่สังคมมีต่อชาวอโศก นับวันจะมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากสังคมเสื่อมโทรมมาก
พลอยทำให้เด็กๆของเรา ต้องเร่งรัดตัวเองไปด้วย ซึ่งเป็นโอกาสดี ช่วงท้าย พ่อท่านได้บอกถึง คุณลักษณะของชุมชนเข้มแข็ง
๑๔ ประการ ดังนี้
๑.เป็นสังคมที่เห็นชัด ถึงลักษณะของคนมีศีล
มีคุณธรรม มีอาริยธรรม
๒.เป็นสังคมที่สามารถพึ่งตนเองได้ ไม่เป็นภาระผู้อื่น
๓.มีงานที่เป็นสัมมาอาชีพ มีกิจกรรมเป็นสาระที่มั่นคง
๔.ขยัน สร้างสรร ขวนขวาย กระตือรือร้น
๕.อยู่กันอย่างผาสุก สุขภาพแข็งแรง จิตใจเบิกบานร่าเริง
๖.ไม่ฟุ้งเฟ้อ แต่รุ่งเรือง ฟุ้งเฟื่อง ไม่ผลาญพร่าสุรุ่ยสุร่าย
๗.มีความประณีต ประหยัด แต่เอื้อเฟื้อ สะพัดแจกจ่าย
๘.ไม่มีอาชญากรรม ไม่มีอบายมุข ไม่มีทุจริตกรรม
๙.มีความพร้อมเพรียง สามัคคี อบอุ่น เป็นเอกภาพ
๑๐.สัมผัสได้ ในความเป็นปึกแผ่น แน่นหนา ของความเป็นกลุ่มก้อนภราดร
๑๑.มีความแข็งแรง มั่นคง ยืนหยัด ยั่งยืน
๑๒.เป็นสังคมสร้าง"ทุกทางสังคม" มีประโยชน์คุณค่าต่อผู้อื่น และสังคมทั่วไปในรอบกว้าง
๑๓.อุดมสมบูรณ์ แต่ไม่สะสมหรือกอบโกย
๑๔.มีน้ำใจ ไม่เอาเปรียบ เสียสละอย่างสุข และเห็นเป็นคุณค่าของคนตามสัจธรรม
<
การประมาณการร่วมงานศพ
เพื่อประโยชน์ท่าน
งานศพก็เป็นอีกงานหนึ่ง ที่จะต้องเรียนรู้อย่างประมาณ
เนื่องจาก พ่อท่านรู้จักคนมาก และมีคนรู้จักมากเช่นกัน โดยเฉพาะญาติธรรม
ที่ศรัทธาพ่อท่าน ก็ประสงค์ให้พ่อท่านไปร่วมเป็นเกียรติ ให้กับงานศพญาติๆ
ของตน แต่เป็นไปไม่ได้เลย ที่พ่อท่านจะสามารถไปร่วมงานศพได้ทุกงาน
ที่มีคนรู้จัก ด้วยเงื่อนไขของเวลาและการงาน ที่พ่อท่านมี ที่สำคัญ
ผู้ตายและเครือญาติของผู้ตาย มีความเกี่ยวข้อง สัมพันธ์กับพ่อท่าน
อย่างไรแค่ไหน เหล่านี้เป็นองค์ประกอบ ในการพิจารณาว่า งานนี้ไปร่วมได้
หรือไม่สามารถไปร่วมได้ เท่าที่ผ่านมา ข้าพเจ้าได้มีโอกาสศึกษา สังเกตการวางตัว
การประมาณ การเข้าร่วมในพิธีกรรม... ธรรมเนียม... ประเพณีต่างๆ ของพ่อท่าน
อย่างไรร่วมได้บ้าง อย่างไรร่วมได้ทั้งหมด อย่างไรเราไม่ร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นแบบไทย
หรือจีน เชื้อชาติอื่น นอกจากนี้ ยังไม่เคยมีไปร่วม เป็นต้นว่า การชักผ้าบังสุกุล
พ่อท่านก็ปฏิเสธ ด้วยเห็นว่า เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ผิดเพี้ยนไปแล้ว
หรือการวางดอกกุหลาบ รวมด้วยห่อเงินและห่อดิน เป็นการเคารพศพ ซึ่งเป็นพิธีกรรมอย่างตะวันตก แล้วนำมาประยุกต์ใช้กับพุทธอย่างไทยๆ พ่อท่านก็ปฏิเสธ ฯลฯ
เดือนกรกฎาคม มีงานศพทั้งของคนรู้จัก และพ่อแม่ของญาติธรรม ที่ช่วยงานชาวอโศกอยู่
๑๖ ก.ค.๒๕๔๔ ที่สันติอโศก ขณะพ่อท่านกำลังขึ้นบันได เพื่อเข้าห้องทำงาน
มีผู้เรียนถามพ่อท่านว่า พ่อท่านจะไปงานศพของ ผู้อยู่ในวงการบันเทิงคนหนึ่ง ที่เสียชีวิต
และกำลังเป็นข่าวดัง อยู่ในขณะนี้หรือไม่
พ่อท่านตอบ "ไม่ได้ไปหรอก แม้จะเคยอยู่ในวงการบันเทิงด้วยกัน
แต่ไม่สนิทกัน อาตมารู้จักกับพี่ชายของเขามากกว่า ตอนทำหนังโทน เขาเคยมีปัญหาเรื่องการเงิน กับเพื่อนอาตมา
ที่สนิทและช่วยเหลือการงานกันมาตลอด จนทำให้เพื่อนอาตมาคนนั้นโกรธ
ถ้าอาตมาไปงานศพเขา เดี๋ยวเพื่อนอาตมาคนนั้น จะรู้สึกยังไง"
เรื่องนี้มีข้อน่าคิดว่า แม้พ่อท่านจะไม่มีใจโกรธแค้นเกลียดชัง
แต่เพื่อความเหมาะสมของมิตรภาพ อันดีต่อเพื่อนเก่า กรณีงานศพ ที่ผู้ตายเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง
แต่พ่อท่านไม่ได้รู้จักมักคุ้น อีกทั้งเพื่อนร่วมงานเก่าแก่ไม่ชอบ
พ่อท่านก็จะไม่ไป เพื่อรักษาความสัมพันธ์อันดี กับเพื่อนเก่าแก่ไว้
กรณีศพรุ่นพี่ที่เป็นญาติกัน พรุ่งนี้ (๑๗ ก.ค.) พ่อท่านจะไปร่วมงานเผาศพด้วย เมื่อเดือนที่แล้ว พ่อท่านก็ได้ไปร่วมงาน
สวดหน้าศพมาแล้ว ก่อนหน้านี้ ก็ได้ไปเยี่ยมเยือนผู้ป่วยก่อนเสียชีวิต
ด้วยพ่อท่านก็รู้จักมักคุ้น กับครอบครัวนี้อยู่หลายคน แต่การไปร่วมงานศพนี้
พ่อท่านก็ไปร่วมอย่างส่วนตัวๆ ธรรมดา ไม่ประสงค์ที่จะให้พวกเรา ติดตามไปกันมาก
แต่ไม่ถึงกับห้ามโดยเด็ดขาด
เมื่อครั้งที่พ่อท่านได้รับนิมนต์ ให้เทศน์หน้าศพนี้
ที่วัดโสมนัสวรวิหาร ก็มีพวกเราสนใจไปร่วมฟังธรรมกันบ้าง ทั้งจากปฐมอโศก และสันติอโศก พรุ่งนี้จะเผา มีพวกเราหลายคนทราบข่าว เข้าใจว่าเป็นศพเครือญาติผู้ใหญ่ ของพ่อท่าน จึงสอบถาม เพื่อจะได้ชักชวนกันไปมากๆ พ่อท่านตอบ "ก็ไม่ต้องไปกันมากหรอก แขกเหรื่อทางโน้น เขาก็มาอยู่แล้ว ญาติทางโน้น มีถึงระดับเสนาธิการทหารสูงสุด" งานนี้พ่อท่าน ยังคงไม่ต้องการความเอิกเกริก มีคนถามเรื่องของชำร่วย ที่จะเอาไปแจก ควรจะเอาไป มากน้อยแค่ไหน พ่อท่าน "ก็ให้ทำไปสมทบกับเขาบ้าง ๒๐๐-๓๐๐ ชุด โดยไม่ต้องพิมพ์ใบปะหน้า ที่ระลึกงานศพก็ได้" แต่พวกเราก็ช่วยกันทำถึง
๕๐๐ ชุด และพิมพ์ใบปะหน้าด้วย อีกกรณีหนึ่ง คือ ศพพ่อของญาติธรรม ที่ช่วยงานภายใน แต่ยังศรัทธาพ่อท่านไม่เต็มที่ มีท่าทีให้พ่อท่านทราบ
อยู่หลายครั้งว่า เขาถือสา เคืองใจ พ่อท่านยังไม่ได้ตัดสินใจว่า จะไปร่วมงานสวดศพในวันพรุ่งนี้ ด้วยอยู่คนละวัด คนละเวลา กับที่พ่อท่านจะไปร่วมงานเผาศพ
ถ้าจะไปก็หมายความว่า พ่อท่านจะต้องสละเวลาไปงานเผา แล้วเลยต่อไปงานสวดศพ ซึ่งต้องเสียเวลาไปรอ กว่าจะสวดก็ ๒-๓ ชม. ครั้นจะกลับมาพุทธสถานก่อน แล้วค่อยออกไปใหม่ ก็เสียเวลาเดินทางไปกลับเปล่าๆ แต่มีเสียงพูดกันก่อนแล้วว่า พ่อท่านเสร็จจากงานเผา แล้วจะเลยไปงานสวดศพต่อ ข้าพเจ้าไม่แน่ใจว่า พ่อท่านจะไปด้วย ยังไม่ได้ยินพ่อท่านพูด จากประสบการณ์ที่ผ่านมา หลายต่อหลายครั้ง จะมีกระแสพูดกันไปก่อน ลือกันไปเอง จากปากต่อปาก จนกลายเป็นเรื่องจริงจัง ทั้งๆที่พ่อท่าน ยังไม่ได้คิดหรือพูดอะไร บางทีปัจฉาเอง ก็พลอยงง และเต้นไปตามข่าว สืบไปสืบมา... โธ่เอ๋ย... ข่าวปล่อย ไม่รู้ต้นตอ ใครเป็นคนปูด
เมื่อข้าพเจ้าเรียนถามพ่อท่านในเรื่องนี้ พ่อท่านตอบว่า "ยังไม่ได้บอกว่าจะไป ก็เขายังไม่ได้มาบอก ไม่ได้มานิมนต์อะไร"
ข้าพเจ้ามองจากประสบการณ์ งานศพโยมพ่อและโยมแม่ของข้าพเจ้าแล้ว เรียนพ่อท่านว่า "การที่เขาไม่ได้มาบอก ไม่ได้มานิมนต์พ่อท่าน อาจเป็นเพราะเขาเกรงใจพ่อท่าน เหมือนอย่างที่ผมไม่ได้บอกสมณะหลายๆรูป ตอนที่โยมแม่โยมพ่อผมเสียชีวิต ด้วยรู้สึกเกรงใจครับ"
พ่อท่าน "มันต่างกัน กรณีของคนนี้ เขามีจิตถือสาผม ถ้าเป็นกรณีอื่นๆ ก็อาจจะไม่บอกเพราะเกรงใจ แต่กรณีของคนนี้ อาจมาจาก
ความถือสาที่ยังไม่หาย จึงไม่มาบอก เพราะอาจไม่อยากให้ผมไปก็เป็นได้"
๑๗ ก.ค.๒๕๔๔ เดินทางไปร่วมงานเผาศพ ญาติรุ่นพี่ของพ่อท่าน ฝ่ายจัดทำของชำร่วย เตรียมไว้ ๕๐๐ ชุด มากกว่าที่พ่อท่านบอก ด้วยหลายคนเข้าใจว่า เป็นพี่เป็นเครือญาติของพ่อท่าน
ที่วัดโสมนัสวรวิหาร มีคนรู้จักมาทักทายพ่อท่านอยู่บ้าง ไม่ถึงกับมาก คำชมที่ได้ฟังจนคุ้นหูบ่อยๆ คือ "ดูท่านยังไม่แก่เท่าไหร่..."
มีผู้หญิงรายหนึ่ง มีคำทักทายเสริมก็คือ " ดิฉันอายุน้อยกว่าท่าน แต่ดูจะแก่กว่าท่าน นี่ก็ต้องย้อมผมบ่อยๆ..."
บรรยากาศโดยรวม ของการมางานเผาศพอย่างนี้ ช่างแตกต่างกันกับ ที่พุทธสถานของเราลิบลับ การแต่งตัว การจัดสถานที่
พิธีกรรมต่างๆ วัดในเมืองอย่างนี้ ดูหรูหรา แพรวพราวไปหมด ต่างจากงานศพของพวกเรา ที่ดูบ้านนอกๆ เชยๆ
ครู่ต่อมา มีเสียงประกาศกระจายเสียง ไปรอบๆบริเวณเมรุ "...ประกาศจากนายแก้วขวัญ วัชโรทัย เลขาธิการสำนักพระราชวัง ให้ประกาศว่า
๑.เมื่อรถไฟพระราชทานมาถึง
ไม่ต้องบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี
๒.ไม่ต้องกดกริ่ง ไม่ต้องยืนทำความเคารพ
๓.เป็นหน้าที่ของเจ้าภาพ ในการตั้งแถวต้อนรับไฟพระราชทาน จนถึงเมรุ..."
เสียงประกาศ บอกถึงธรรมเนียมปฏิบัติอย่างนี้ ข้าพเจ้าเพิ่งจะได้ยิน
แม้จะได้เคยไปร่วมงานเผาศพ ที่ได้รับไฟพระราชทานเช่นนี้ ก็ยังไม่เคยได้ยินที่ไหนมาก่อน
พระมีอายุรูปหนึ่ง ท่าทีใจดี เดินเหินต้องใช้ไม้เท้า มีคนคอยประคอง
ข้าพเจ้าไม่รู้เลย ว่าท่านเป็นใคร อาจจะเป็นพระผู้ใหญ่ที่สูงศักดิ์กระมัง
เสร็จจากการวางดอกไม้จันทน์ แขกเหรื่อที่มา ก็ไปห้อมล้อมท่าน
มีทั้งนั่งกับพื้น คุกเข่าและยืน ตอนที่ความคิดกำลังสงสัยว่า เกิดอะไรขึ้น
ข้าพเจ้าเห็นคนที่ถอยออกมา ถือวงเชือกเล็กๆ สีน้ำตาลอ่อน ขนาดข้อมือ
โดยปฏิภาณ เข้าใจทันทีว่า ผู้ที่กำลังห้อมล้อมอยู่นั้น เพื่อขอเอาวงเชือกเล็กๆนั้น
คงจะเชื่อว่าเป็นของดี หรือเครื่องลางของขลัง สิ่งศักดิ์สิทธิ์อะไรทำนองนี้
อาจจะมีผู้ไม่ได้เชื่อถึงขนาดนั้น เมื่อพระท่านแจก ก็ขอเอาไว้ก่อน
เผื่อจะดี หนุ่มคนหนึ่งเข้าไปชิดใกล้ท่าน วงเชือกหมดพอดี พระสูงอายุรูปนั้น
ก็เอามือลูบหัวให้ สีหน้าของชายหนุ่มคนนั้น ดูจะพอใจ ไม่ต่างไปจาก
ผู้ที่ได้รับวงเชือก
ด้วยคนเหล่านั้น มีความรู้มีการศึกษาดี
จึงไม่อยากจะสรุปว่า เขางมงาย อาจจะเป็นพวกที่เห็นแก่ได้ อะไรๆก็ได้
เมื่อแจกก็ขอเอาไว้ก่อน ถือเป็นกำไร แต่การแต่งตัวของคนเหล่านั้น
ดูภูมิฐาน มีฐานะดี ก็ไม่น่าจะทำให้เขาเหล่านั้น ต้องนอบน้อมตัว ก้มลงคุกเข่า
เพื่อไปเอาวงเชือกมาหนึ่งวง
การที่พ่อท่านเป็นพระในแบบนี้ ท่าทีความคิดดูจะเข้มๆ
ขัดแย้ง แข็งกร้าว กับกระแสสังคมส่วนใหญ่ ที่ไหลไปตามทุนนิยม แม้หลายคนจะเข้าใจได้ว่า
เป็นการลดละ เสียสละ มักน้อย ที่ทำได้ยาก รู้อยู่ว่าทำดี แต่จะให้คนโดยทั่วไป
ศรัทธา ถึงขั้นนอมน้อม เช่น ผู้ที่เข้าไปขอรับวงเชือกนั้น คงเป็นเรื่องยากมากๆ
ออกจากวัดโสมนัสวรวิหาร เดินทางต่อไปที่
วัดเทพศิรินทราวาส เพื่อร่วมงานสวดหน้าศพ พ่อของญาติธรรมที่ช่วยงานภายใน
เพราะไหนๆ ก็เดินทางเข้ามาในเมืองแล้ว แม้เจ้าภาพจะไม่ได้นิมนต์ ก็ถือว่า
เป็นไปตามเหตุปัจจัย ตามจังหวะเวลาที่พอดี เมื่อไปถึงศาลา ๖ ที่ตั้งศพ
ยังไม่มีแขกเหรื่อคนใดเลย มีเพียงเจ้าภาพ ๒ คนที่ไม่คุ้นหน้า ญาติธรรมที่เป็นเจ้าภาพก็ไม่อยู่ กว่าจะถึงเวลาพิธีสวดหน้าศพอีก ๒-๓ ชม. ญาติธรรมที่ตามมาด้วย
จึงนิมนต์พ่อท่านเดินผ่อนคลาย เปลี่ยนอิริยาบถจาการนั่งบ้าง มีสิกขมาตุ
และญาติธรรม ๗-๘ คนเดินตาม เดินเลยเข้าไปในเขตอาวาสด้านใน ผ่านบ่อปลา
เข้าไปในเขตโบสถ์ สวนทางกับพระหลายรูป ที่นั่งและยืนสนทนากันอยู่
ต่างไม่ได้ทักทายอะไรกัน ผ่านคนวิ่งออกกำลังกาย และผ่านคนจีนในละแวกข้างวัด
ที่มานั่งพักผ่อนหย่อนใจ เดินเข้าไปต่อ ในเขตที่พักของพระ ถามหากุฎิที่ท่านเจ้าคุณนรรัตน์
เคยพักอยู่ ได้ความว่า มีชื่อตึก ก.๕ เมื่อเดินหาจนพบ พ่อท่านเองก็จำไม่ได้
"แต่ก่อนจะดูโทรมกว่านี้ ตอนนี้เขามาทาสี ทำหลังคาใหม่" พ่อท่านกล่าว
ตึกแต่ละตึก ถูกแบ่งเป็นห้องๆ คล้ายบ้านทาวเฮาส์
๒ ชั้น แต่ละห้องด้านหน้า มีประตูเหล็ก กุฎิของท่านเจ้าคุณนรรัตน์
อยู่ท้ายสุด ที่ประตูด้านหน้า มีข้อความเขียนว่า ระวัง!สุนัขดุ พอดีหมาขี้เรื้อนแม่ลูกอ่อน
ลูกหมากำลังเล็กๆ เดินเข้ามา ดมๆ ทำให้พวกเราเข้าใจว่า ที่ว่าดุ คือเจ้าแม่ลูกอ่อนตัวนี้
แต่ดูท่าทีแล้ว ไม่เห็นจะดุอะไรเลย เมื่อพวกเราเปิดประตูเหล็ก ที่ไม่ได้ใส่กุญแจไว้ เข้าไปข้างใน เพื่อพ่อท่านจะได้ดูให้แน่ว่า ใช่บริเวณที่พ่อท่าน
เคยส่งกระแสจิต ถึงท่านเจ้าคุณนรรัตน์ จนท่านรับกระแสจิตของพ่อท่านได้
ลุกมาเปิดหน้าต่างดูพ่อท่าน ขณะที่คุณไฟงานบันทึกภาพพ่อท่าน ที่กำลังพยายาม
ระลึกความทรงจำเก่าๆ ว่าตำแหน่งที่พ่อท่าน ยืนส่งกระแสจิตอยู่ที่ใด
ข้าพเจ้าเดินอ้อม บริเวณที่เก็บศพ ซึ่งโบกปูนไว้ เพื่อดูว่ามีชื่อเจ้าคุณนรรัตน์หรือไม่
พ่อท่านเห็นท่าทีข้าพเจ้า คงอ่านใจออก จึงเปรยบอกว่า ศพของท่านเผาไปแล้ว
ขณะที่ข้าพเจ้ายังคงอยากรู้ว่า แล้วศพที่โบกปูนไว้นี้เป็นใครกัน
จึงมาอยู่ในที่นี้ได้ สิกขมาตุที่ติดตามมาด้วย ส่งเสียงเรียกข้าพเจ้า
ด้วยความตกใจ ว่าให้ระวังหมา ที่หมอบอยู่ใต้ต้นไม้ตัวใหญ่ กำลังจ้องมาที่ข้าพเจ้า
ตาเขม็ง รู้สึกเสียววาบ เกือบแย่แล้วไหมล่ะ ที่ว่า ระวัง! สุนัขดุ
คือเจ้าตัวนี้ ไม่ใช่เจ้าแม่ลูกอ่อน นอกประตูนั่น เด็กวัดเห็นเหตุการณ์นี้
จึงรีบเดินมาดักหน้า กันหมาเอาไว้ ดีที่ยังไม่ถึงคราวเคราะห์ ถูกหมาฟัด
ถ้ามองอย่างศรัทธาจริต คงเป็นด้วยกระแสเมตตา บารมีของพ่อท่าน ช่วยคุ้มกันให้
หากข้าพเจ้าเข้ามารูปเดียว หรือไม่มีพ่อท่านมาด้วย มีคนอื่นที่ขี้โลภ
ขี้โกรธมากๆ ร่วมมาด้วย ข้าพเจ้าคงโดนหมางับไปแล้วก็ได้
คุณไฟงาน บันทึกภาพพ่อท่านและพวกเรา
ทั้งมุมด้านในรั้ว ริมหน้าต่างและนอกรั้ว
เมื่อเดินออกมาที่สนามหญ้า ใต้ต้นโพธิ์ใหญ่
ข้างโบสถ์ พ่อท่านนั่งลง พูดคุยตอบคำซักถามของสิกขมาตุ และญาติธรรม
คำถามส่วนใหญ่ เป็นเรื่องที่รู้ๆกันอยู่แล้ว เข้าใจว่า ผู้ถามพยายาม
สร้างบรรยากาศคุ้นเคย สนิทสนม ดูพ่อท่านก็ยังมีฉันทะเสมอ กับประเด็นคำถาม
คำอธิบายทำนองนี้ พ่อท่านพูดมากแล้ว คำถามนอกตัว บางจังหวะ พ่อท่านจะตอบแบบเบรกดุๆ
ว่าคนถามอย่างเจ็บๆ เป็นเรื่องอจิณไตย ไม่ควรคิดไม่ควรถาม แต่บางจังหวะ
พ่อท่านก็ใจดี ตอบตามความอยากรู้ของผู้ถาม ไปได้เรื่อยๆ จังหวะเหล่านี้
ข้าพเจ้าก็คาดเดาไม่ถูกเหมือนกันว่า พ่อท่านจะตอบอย่างเบรกดุๆ หรือใจดี
แต่ครั้งนี้ พ่อท่านใจดีแฮะ
เดินกลับมาที่ศาลาสวดหน้าศพ แขกเหรื่อมากันมากแล้ว
เจ้าภาพที่เป็นญาติธรรม รีบมาต้อนรับ และเรียกหลานๆ มากราบพ่อท่าน
ขณะที่เจ้าภาพญาติผู้ใหญ่คนอื่นๆ ดูเฉยๆ อาจเป็นเพราะ ไม่คุ้นกับการวางตัวกับพระ
หรืออาจเป็นเพราะข่าว ที่สื่อมวลชนยุคก่อน โจมตีกล่าวหาให้ร้ายพ่อท่าน
คงมีผลต่อท่าที และจิตใจของเขาในปัจจุบัน รูปการณ์อย่างนี้ พ่อท่านก็เพียง
นั่งสงบอยู่กับที่ ร่วมฟังสวดหน้าศพจนจบพิธี วันนี้แปลก มีพระมาสวด
๒ ชุด (ชุดละ ๔ รูป) ได้ฟังว่าเป็นการสวดชดเชยพรุ่งนี้ หรืออย่างไรนี่แหละ
วันนี้ออกมาร่วมงานศพ ๒ งาน หมดเวลาไปร่วม ๑๐ ชม. เมื่อมองจากตรงนี้
ชาวอโศกทั้งหลาย คงเห็นใจว่า เป็นไปไม่ได้เลย ที่พ่อท่านจะไปร่วมงานศพ
ของเครือญาติชาวอโศก ได้ทุกงาน
"...จริงๆแล้ว ในสังคม ไม่มีอะไรที่เป็นทางเลือกที่เด่นชัด เท่าชาวอโศกหรอก
แต่เขายังไม่ค่อยเลือก ซึ่งเขาก็ปฏิเสธ ไม่ได้นะว่า เราเป็นชุมชนทางเลือก
ที่มีความเด่น ในหลายๆนัย หลายๆลักษณะ ซื่อสัตย์ มักน้อย สันโดษ นี่เขาเชื่อนะ
ทุกวันนี้ ในอนาคตจะมีพวกหนอนบ่อนไส้ หรือจะมีคนนอก เข้ามาตีกิน อ้างเป็นชาวอโศก
แล้วไปทำอะไรต่ออะไร
ขอให้พวกเรา มีความเข้มแข็ง มีความพากเพียรเพิ่มขึ้นอีก ให้มีภาคปฏิบัติ
ที่ได้มรรคผลจริงๆขึ้นมา..."
จากบางส่วน ที่พ่อท่าน ให้โอวาทปิดประชุม ๕ องค์กร ๒๙ ก.ค.๒๕๔๔ ที่สันติอโศก
"...หากสังคมไทยของเรา มีความเป็นพุทธแท้ๆ
มีอาริยชนเกิดขึ้นได้จริงๆ จิตใจของคน ลดโลภ โกรธ หลง ได้จริงๆ สังคมไทยจะไปรอด ขอให้เราจงยืนหยัด พิสูจน์สัจจะที่ว่า ชาวอโศกเพื่อมวลมนุษยชาติ ให้ได้จริง..."
จากบางส่วน ที่พ่อท่านให้โอวาท ปิดประชุม ชุมชนสันติอโศก
๒๘ ก.ค.๒๕๔๔ ที่สันติอโศก
อนุจร
๕ ก.ย. ๒๕๔๔.