ไร้บุญนิยม สังคมอันตราย ตอน...
นานานักตุ๋น
หนังสือพิมพ์สารอโศก อันดับที่ 229 ฉบับ เดือนตุลาคม 2543
หน้า 1/1

หากท่านผู้อ่านมีประสบการณ์จริงจากชีวิต สามารถส่งมายังคอลัมน์นี้ หรือส่งมาทาง e-mail: [email protected] ป.ปรีดา

คำว่า ๑๘ มงกุฎ คนไทยทราบดีว่า หมายถึงพวกมิจฉาชีพที่ใช้เลศเล่ห์เพทุบาย หลอกลวงผู้รู้เท่าไม่ถึงการณ์ให้เสียผลประโยชน์ เรื่องต่อไปนี้ไม่เว้นแม้แต่วัดวาอารามที่มีผู้ประสงค์ร้ายเข้าไป เพื่อหลอกให้สถานที่แห่งนั้นยินยอมให้ตามความประสงค์ของพวกนั้น

พุทธสถานปฐมอโศก เป็นอีกแห่งหนึ่งที่ได้เสียทีพวกมิจฉาชีพกลุ่มนั้นด้วยเรื่องเครื่องดับเพลิง โดยขอนำเครื่องดับเพลิงที่มีอยู่ในพุทธสถานแห่งนั้นไปเติมน้ำยา แถมยังขอเงินล่วงหน้าเพื่อใช้ในการนั้น เจ้าหน้าที่ประจำพุทธสถานก็ยินดีจ่ายให้ หลังจากนั้นกลุ่มมิจฉาชีพได้หายวับไม่กลับมายังพุทธสถานอีกเลย

ลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นได้สำหรับสถานที่ต่างๆ ที่ไม่มีความรัดกุมในการตรวจตรา และให้ความไว้วางใจคนอื่นจนเกินไป ที่สุดก็ต้องเสียที เสียทั้งเงิน เสียทั้งเครื่องดับเพลิง มิจฉาชีพกลุ่มนี้คงเล็งเห็นแล้วว่า สถานที่แบบใดที่จะมีเครื่องดับเพลิงหลายเครื่อง ทำให้ง่ายแก่การหลอกลวง เพราะมาอาสาถึงที่ บริการสะดวก แต่แล้วทุกอย่างก็ถูกฉกฉวย และสูญหายไปในที่สุด

หนังสือพิมพ์ลงข่าว เจ้าอาวาสวัดแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรปราการถูกคนร้ายฆ่าเสียชีวิต มิจฉาชีพไม่ละเว้นแม้แต่พระสงฆ์องค์เจ้า หากขัดผลประโยชน์กันแล้ว เรื่องเศร้าเช่นนี้ย่อมเกิดขึ้นได้ นี่เป็นเรื่องสะเทือนใจของพุทธศาสนิกชนเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะญาติโยมในย่านนั้น ที่ให้คามศรัทธาเลื่อมใส ย่อมมีจิตใจหดหู่ ไม่คิดไม่ฝันว่า พระยังถูกทำร้ายได้ถึงปานนี้ แล้วชาวบ้านเดินดินจะหาที่พึ่งจากหนใด

ตามตรอกซอกซอยมักจะมีคนอ้างว่า เป็นพนักงานจากองค์การโทรศัพท์มาขอตรวจเครื่องโทรศัพท์และคิดค่าบริการเท่านั้นเท่านี้ ประชาชนที่ไม่ทราบนึกว่า เป็นพนักงานตัวจริงจากองค์การโทรศัพท์ก็ยอมจ่ายเงินเป็นพันให้กับนักต้มตุ๋นเหล่านั้น เรื่องจริงที่ได้เกิดขึ้นแล้วจากผู้พบเหตุการณ์ เธอเล่าว่า

"จู่ๆ ก็มีคนลงมาจากรถตู้สีขาว พร้อมบันไดยาวๆผูกผ้าสีแดง เข้ามากดกริ่งที่หน้าบ้าน บอกว่าจะมาซ่อมโทรศัพท์ เธอจึงถามผู้นั้นว่ามีใครแจ้งไป เพราะโทรศัพท์ที่บ้านไม่ได้เสียอะไร ชาย ๓ คน ที่อ้างตนว่ามาจากองค์การโทรศัพท์มีทีท่าคลองแคล่วมาก และตะโกนบอกหมายเลขโทรศัพท์ได้อย่างถูกต้อง แต่เธอก็มิได้เปิดประตูให้บุคคลเหล่านี้เข้าไปในบ้าน โดยยืนยันว่าโทรศัพท์ไม่ได้เสีย บุคคลเหล่านั้นจากจากไป อีกสักครู่หนึ่ง(คงขับรถถึงกลางซอย) ประมาณ ๒-๓ นาที ได้โทรศัพท์เข้ามาถามอีกว่า โทรศัพท์เสียหรือเปล่าครับ เธอก็ยืนยันเหมือนเดิมว่าไม่เสีย โทรมาในลักษณะนี้ถึง ๒ ครั้ง เธอบอกกับผู้เขียนว่า หากวันนั้นโทรศัพท์เสียจริงๆละก็ เธอคงเปิดประตูให้บุคคลที่อ้างว่า เป็นพนักงานจากองค์การโทรศัพท์เข้ามาซ่อมแล้ว เช่นรายอื่นๆที่เจอเรื่องแบบนี้"

นึกแล้วน่าหวาดเสียว ที่นักต้มตุ๋นมักมากันหลายรูปแบบ โชคดีที่องค์การโทรศัพท์ได้รับแจ้งความจากประชาชน และดำเนินการกับนักต้มตุ๋นเหล่านี้แล้ว นี่เพราะมีแกํงมิจฉาชีพเที่ยวหลอกลวงประชาชนไปทั่ว ประชาชนผู้รู้เท่าทันกับพฤติกรรมของพวก ๑๘ มงกุฎ จึงได้แจ้งให้ผู้เกี่ยวข้องทราบ และได้เสนอข่าวในโทรทัศน์ ทำให้ประชาชนเกิดความระมัดระวังเพิ่มขึ้นในเรื่องนี้ จัดการได้แล้วก็ต้องบอกว่าโล่งอกไปที มิเช่นนี้ไม่ทราบว่าใครจะเป็นผู้ถูกต้มตุ๋นต่อไป

อีกเรื่องหนึ่ง ที่ผู้บริโภคมักเสียทีผู้ให้บริการ เช่น นำรถยนต์ไปซ่อมตามอู่ต่างๆ หากเจ้าของรถ(โดยเฉพาะสุภาพสตรี) ที่ไม่มีความรู้เรื่องเครื่องยนตร์กลไลมาก่อเน ก็มักถูกอู่ซ่อมรถเหล่านั้นบอกไม่ตรงตามความเป็นจริง ผู้เขียนได้ชมรายการของไอทีวี ที่นักข่าวอุตส่าห์ทำตัวเช่นผู้ใช้บริการทั่วไป เพื่อหาความจริงว่า อู่ใดที่ประกอบอาชีพด้วยความซื่อสัตย์สุจริต อู่ซ่อมรถใดที่ฉวยโอกาสเรียกค่าซ่อมสูงๆ ทั้งๆที่รถคันนั้นมีอุปกรณ์ที่เสียหายไม่กี่ชิ้นก็ตาม

และแล้วก็เป็นจริงอย่างที่นักข่าวนำมาเปิดเผยแก่สาธารณชน ทำให้ผู้บริโภคต้องระมัดระวัง และตระหนักถึงการใช้บริการว่า น่าจะไปที่ใดที่ผู้บริโภคให้ความไว้วางใจ จะได้ไม่เกิดเหตุ ถูกเอารัดเอาเปรียบขโมยอุปกรณ์ดีๆภายในรถไปเป็นอะไหล่นั่นเอง เช่น เครื่องเล่นวิทยุเทป เครื่องเล่นวีดิโอ หรืออุปกรณ์เกี่ยวกับเครื่องเสียงก็เช่นกัน ผู้เขียนได้ยินหลายคนบ่นว่า ไปซ่อมมาไม่นานก็ต้องนำไปซ่อมอีก หากปะเหมาะเคราะห์ดีพบร้านที่ซื่อสัตย์ เขาก็จะบอกเราว่า อุปกรณ์ภายในเครื่องของคุณถูกเปลี่ยนไป นี่ซ่อมมากี่ครั้งแล้ว มาซ่อมที่ร้านผม ผมเห็นอุปกรณ์เก่าอยู่ในเครื่อง ของเพิ่งซื้อมาแต่เกิดเสีย ไปให้ร้านดู ร้านคงฉวยโอกาสนำอุปกรณ์ชิ้นดีๆไป แล้วนำอุปกรณ์เก่าที่พอใช้งานได้ใส่ในเครื่องแทน เจอแบบนี้บ่อยๆ ก็แย่นะซิ ใครจะรู้ว่าร้านใดเป็นเช่นไร


ความทุกข์ ของคนบางคนเกิดขึ้น เพราะเรื่องเหล่านี้มีไม่น้อย

อีกเรื่องหนึ่งที่ผู้เขียนได้รับฟังมาล่าสุด เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่ต่างจังหวัด เมื่อ ๒ เดือนที่แล้ว เธอคนนี้ได้ไปซื้อเคื่องคอมพิวเตอร์รุ่นล่าสุด (PentiumIII 550 Mhz) ที่ร้านขายเครื่องคอมพิวเตอร์แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เมื่อนำมาใช้งานที่บ้านต่างจังหวัดก็เกิดปัญหา ซึ่งเธอเพิ่งใช้งานเป็นครั้งแรก จึงไม่ทราบว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร ทั้งนี้เครื่องที่ซื้อมายังอยู่ในระยะเวลาประกันสินค้า แต่เธอก็ไม่ได้นำมาให้ร้านที่ซื้อเครื่องที่กรุงเทพฯแก้ไขให้ เพราะระยะทางไกล เธอจึงหันไปพึ่งช่างจากร้านคอมพิวเตอร์แห่งหนึ่งในอำเภอที่เธออยู่ ซึ่งทั้งอำเภอนั้นมีเพียงไม่กี่ร้าน

เมื่อช่างมาดูเครื่อง เธอสังเกตปฏิกิริยาที่ช่างคนนั้นพูดว่า ก็เป็นอย่างนี้แหละ เมื่อไม่ซื้อเครื่องจากร้านผมก็ต้องลำบากหน่อย (ชิ้นส่วนของเครื่องคอมพิวเตอร์แบบเดียวกัน ใน ๑๐๐ ชิ้น ย่อมมีที่ไม่ดีบ้าง สัก ๕ ชิ้น ฉะนั้นถ้าจะซื้อเครื่องจากร้านนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าเครื่องจะไม่มีปัญหา เพราะอุปกรณ์ทุกชิ้นมาจากโรงงานผู้ผลิต ซึ่งจะรู้ดีว่าอุปกรณ์ในแต่ละล็อตมีคุณภาพไม่เท่ากัน) หากซื้อร้านผมก็จะแก้ไขได้สะดวก เพราะอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ไม่ต้องยากลำบากนำไปซ่อมถึงกรุงเทพฯ

จากนั้นช่างก็เปิดเคสของเครื่องดูโน่นจับนี่ แล้วก็ปิดเข้าไปอย่างเก่า เธอบอกไม่แน่ใจว่าช่างคนนี้ได้วางยาใส่เครื่องของเธอหรือไม่ (การวางยา เป็นการปรับเปลี่ยนตำแหน่งอุปกรณ์บางชิ้นของเครื่องคอมพิวเตอร์ ทั้งจากการตั้งใจหรือประมาท) หลังจากนั้นเธอก็นำเครื่องกลับมาใช้ที่บ้านได้ ไม่นานเครื่องก็เกิดปัญหาขึ้นอีก ซึ่งหนักกว่าเดิมมาก ถึงขั้นต้องยกเครื่องไปให้ร้านที่ซื้อมาจากกรุงเทพฯดูให้ ช่างได้ตรวจพบว่าตัวซีพียูร้อนจัด ทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์แฮงค์บ่อยๆ จนใช้การไม่ได้ สาเหตุอาจเกิดจากช่างที่ต่างจังหวัด ได้วางยาไว้โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ในกรณีนี้ช่างอาจเผลอเปลี่ยนตำแหน่งของจัมเปอร์(jumper)ของตัวคูณความเร็วสัญญาณนาฬิกาของตัวซีพียู มากขึ้นกว่าเดิม เช่น ซีพียูที่ซื้อมาเป็น Pentuimlll 550 bus ฉะนั้นตัวคูณคือ 5.5 ถ้าช่างเปลี่ยนตัวคูณ เป็น คูณ 6.5 หรือ คูณ 7.0 จะทำให้ตัวซีพียูต้องทำงานที่ความเร็ว 650 และ 700 Mhz ตามลำดับ คนที่เล่นคอมพิวเตอร์เขาเรียกกันว่า "โอเวอร์คล็อคซีพียู" ((Overclock CPU) ซึ่งเป็นการเร่งให้ตัวซีพียูทำงานด้วยความเร็ว ที่มากกว่าขีดจำกัดที่บริษัทผู้ผลิตกำหนดไว้ มีผลทำให้ตัวซีพียูมีอุณหภูมิสูงกว่าปตกิ ถ้าเป็นมากอาจถึงขั้นต้องเปลี่ยนซีพียูตัวใหม่แทนตัวเก่า

นี่เธอเล่าให้ฟังว่า คงถูกร้านซ่อมที่ต่างจังหวัดกลั่นแกล้ง ทำให้เธอต้องประสบปัญหาการใช้คอมพิวเตอร์เครื่องใหม่เอี่ยมเครื่องนี้

ความลำบากของผู้บริโภค หากต้องใช้บริการกับผู้ที่ไม่รู้จักคุ้นเคย ย่อมส่งผลให้คนเหล่านั้นกระทำการทุจริต ไม่ซื่อสัตย์ในวิชาชีพ ลูกค้าจึงถูกกลั่นแกล้ง เช่นรายหลังสุดที่เล่ามานี้ ทั้งหมดนี้คงเป็นอุทาหรณ์สอนใจ ให้เกิดความระมัดระวัง หากเลือกไม่ได้ บางครั้งมีความจำเป็น น่าจะเข้ารับบริการในศูนย์บริการที่น่าไว้ใจ

สังคมควรได้ช่วยกันสอดส่อง และช่วยกันสนับสนุนผู้ที่ประกอบอาชีพด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ส่วนผู้ที่คิดจะฉ้อโกง วางยา ไม่มีความเที่ยงธรรมกับผู้บริโภค น่าจะได้รู้สำนึก ดังสุภาษิตไทยที่ว่า "ซื่อกินไม่หมด คดกินไม่นาน" แล้วท่านจะเลือกเป็นบุคคลประเภทไหน สังคมต้องการความปลอดภัย หากไม่ช่วยกันสร้างบุญนิยมให้เกิดขึ้นในสังคมแล้วไซร้ ภยันตรายย่อมเกิดขึ้นดังอุทาหรณ์ที่นำมาเสนอในครั้งนี้

หมายเหตุ หากท่านผู้อ่านมีประสบการณ์จริงจากชีวิต สามารถส่งมายังคอลัมน์นี้ หรือส่งมาทาง e-mail: [email protected] ป.ปรีดา