หน้าแรก หน้าต่อไป
บันทึกปัจฉาสมณะ
โดย สมณะแน่วแน่ สีลวัณโณ ตอน...
เข้าตาสื่อมวลชน
หนังสือพิมพ์สารอโศก
อันดับที่ 229 เดือนตุลาคม 2543
หน้า 1/2

เดือนสิงหาคม ๒๕๔๓

เดือนสิงหาคม น้ำยังคงท่วมบ้านราชฯ เมืองเรือ ๒๐ ส.ค. ๒๕๔๓ น้ำลดจนแห้ง สามารถใช้รถยนต์ เดินทางเข้าออก ทางบ้านกุดระงุมได้ เมื่อเจอพายุลูกใหม่ "อู่ดง" ๒๒ - ๒๓ ส.ค. ฝนตกอย่างหนัก น้ำท่วม ตั้งแต่ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลฯ ร้อยเอ็ด อำนาจเจริญ น้ำเหล่านั้น ไหลมาลงลำน้ำมูล ทำให้ระดับน้ำ ระลอกนี้ สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

๒๔ ส.ค. ต้องรีบนำรถยนต์ ออกนอกบ้านราชฯ ก่อนหน้านี้ พ่อท่านเอง กลับไปนอนที่ กุฏิริมบุ่ง ได้ไม่กี่คืน เพียงข้ามคืน ถนนเข้าออก ระหว่างกุฏิ และ เฮือนเพิ่งกัน ก็ใช้การไม่ได้ รุ่งเช้า ๒๔ ส.ค. ต้องพายเรือ ไปรับพ่อท่าน ที่กุฏิ มาร่วมทำวัตรเช้า ระดับน้ำยังคงสูงขึ้นเรื่อยๆ ทุกวัน จนเลยระดับ ที่ท่วมปี ๒๕๓๙ เมตรกว่าๆ ต้องใช้กระสอบทราย ไปกั้นน้ำ ที่หม่องค้าผง และ โรงแชมพู ๒๙ ส.ค. ระดับน้ำ หน้าเฮือนโสเหล่ สูงกว่า ๑.๓๐ เมตร เรือที่ริมแม่น้ำมูล ต้องดึงลาก มาต่อกัน เป็นสะพานเดิน จากหลังเฮือนเพิ่งกัน ไปยังเฮือนศูนย์สูญ

“ภาวะน้ำท่วม พวกเราไม่ทุกข์ใจมาก เหมือนชาวบ้านทั่วไป เพราะโทรทัศน์ ตู้เย็น เครื่องอบไมโครเวฟ ของใช้เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ เราไม่มีอย่างเขา น้ำท่วม เราไม่ต้องเป็นภาระ ขนของเหล่านี้

อีกอย่างเขาหวงแหน เห็นแก่ตัว ติดยึดมากกว่าพวกเรา ซึ่งได้ฝึกลดละ กันมาบ้างแล้ว และ เขาไม่รู้จะขนของ เอาไปไว้ที่ไหนด้วย ไม่เหมือนพวกเรา สามารถเอามา รวมกันไว้ด้วยกัน ที่เฮือนศูนย์สูญ นี่ได้เวลาขนของ เขาก็ต่างคน ต่างขนกันด้วย ไม่เหมือนพวกเรา ที่เป็นกลุ่มเป็นหมู่ ช่วยกันขนของใหญ่ ของเยอะ อย่างไร ช่วยกัน ประเดี๋ยวเดียวก็เสร็จ

เมื่อทางการให้ยืมเรือท้องแบน กับหมู่บ้านต่างๆ ที่ถูกน้ำท่วม ชาวบ้านหมู่บ้านอื่น บางคนก็บ่นว่า ทางการว่า เอาเรือท้องแบนมาให้ หมู่บ้านราชธานีอโศก ทำไม เขารวยอยู่แล้ว อาตมาเคยวิเคราะห์ เปรียบเทียบ ให้ได้คิดกันว่า ถ้าเอาเงินมากองรวมกัน ทั้งหมู่บ้านของเรา และ หมู่บ้านของเขา ใครจะมีเงิน มากกว่ากัน (เขา) แล้วถ้ารวมความเป็นหนี้ ใครจะมากกว่ากัน (เขา) ตกลงใครรวยมากกว่ากัน (เรา) ใครจะเป็นสุขมากกว่ากัน (เรา) ยิ่งพิสูจน์เห็นชัด ในภาวะน้ำท่วมอย่างนี้ ระบบบุญนิยม นี่เป็นประโยชน์ ต่อสังคม มนุษยชาติอย่างยิ่ง”

จากบางส่วนที่พ่อท่านแสดงธรรมก่อนฉัน ๑ ส.ค.๒๕๔๓ ที่ราชธานีอโศก


คณะครูสส.ธ. สนทนากับพ่อท่าน

๒ ส.ค.๒๕๔๓ ที่ราชธานีอโศก หลังจากเด็กๆ และ ชาวชุมชน ทดลอง แข่งขันพายเรือ คณะครูสส.ธ. พบพ่อท่าน คณะครูช่วยกันบอกเล่า ปัญหาเด็ก ที่ทำได้ยากคือ การรวมน้ำใจให้เป็นหนึ่ง เด็กมีท่าทีต่อต้าน ที่จะให้พวกเขา เหมือนเด็กพุทธสถาน อื่นๆ เด็กรุ่นพี่กับรุ่นน้อง ม.๑ มีจำนวนพอๆ กัน รุ่นพี่เกิดรู้สึกน้อยใจ ที่สมณะ และ ครูชมแต่รุ่นน้อง เอาใจรุ่นน้อง รุ่นพี่มักคิด เปรียบเทียบ ผู้นำ สมณะฝ่ายการศึกษา ในอดีตกับปัจจุบัน ผู้นำสมณะ ฝ่ายการศึกษาในอดีต มีนโยบาย ให้รุ่นน้อง ให้เกียรติรุ่นพี่ เช่นการนั่งรถ เดินทางไปไหนๆ จะให้รุ่นพี่นั่งเบาะ รุ่นน้องนั่งพื้น การตักอาหาร ก็ให้รุ่นพี่ ตักอาหารก่อน ด้วยรุ่นพี่จะประมาณ เหลือขนมให้น้องๆ แต่ผู้นำสมณะ ในปัจจุบัน จะให้นั่งคละๆ กันไป และ ให้รุ่นน้อง ตักอาหารก่อน เด็กรุ่นพี่ ไม่พอใจว่า ครูลำเอียง ที่ให้รุ่นน้อง ตักอาหารก่อน น้องๆ ก็ยังประมาณ การตักอาหาร ได้ไม่ดี

พ่อท่านแสดงความเห็นว่า “ผลงานที่พวกเราทำอยู่นี่ ก็มีความก้าวหน้าอยู่ แต่ละแห่ง ก็ยังไม่มีอะไร ที่ตรงกันทีเดียว”

มีคำถามแทรก “จำเป็นไหมครับ ที่จะต้องเอาอย่าง ศีรษะอโศก”

พ่อท่าน “อันไหน ของที่อื่นเขาดี เราก็เอา ขนาดโรงเรียนเดียวกัน นักเรียนแต่ละปี ยังต่างกันได้ ประสาอะไรกับ ต่างโรงเรียนกัน จะให้เหมือนกันทีเดียว เป็นไปไม่ได้หรอก

ที่จริงผลของเรา มันก็ดีอยู่ แต่พวกเราใจร้อน อยากให้ได้ดีเร็วๆ มันเหมือนหัวขัด ที่เจียรแล้ว มันก็ยังไม่ได้ เราทำได้ตามธรรมชาติจริง ของเรา อย่าทำทุกข์ ทับถมตน ทำใจเรา ให้ป้อแป้ท้อแท้ทำไม

อาตมาคิดว่า มันผิดแล้ว ที่ให้รุ่นน้อง ตักอาหารก่อนรุ่นพี่น่ะ เพราะพี่ จะเป็นตัวอย่างที่ดี ในการตักอาหาร แก่รุ่นน้อง อย่างสมณะเรา ก็เห็นอยู่ ให้เกียรติกัน ภันเตตักอาหารก่อน ให้เกียรติกัน ความเสมอภาค ในบางอย่าง ก็ต้องมี แต่ก็ควรจะมี ระบบซีเนียริตี้ด้วย ระบบน้องเคารพ ยกให้พี่ โดยสัจจะ ก็ต้องมีด้วย

การเคารพกันโดยวัยวุฒิ และ คุณวุฒิก็ควรมี แม้คนรุ่นหลัง จะดีกว่ายังไง ก็ต้องมีความเคารพ โดยพระวินัย ก็เป็นเช่นนั้น

เรารู้ปัญหา ระหว่างรุ่นพี่ กับรุ่นน้องแล้ว ต่อไปก็อย่า รับเข้ามาใหม่ มากสิ เพราะครูเรา ก็ยังน้อย เอาให้ดีๆ อีกหน่อย จะมีเด็กมากัน มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะบ้านราชฯ ได้รับการยอมรับมากขึ้น ขณะที่เนื้อใน ยังไม่เจริญเท่าที่ควร”

อีกคำถามหนึ่งที่น่าสนใจ “ที่นี่เด็กมีปัญหา ขาดความอบอุ่น เยอะครับ เด็กบางคน ยังไม่รู้ว่า พ่อแม่จริงๆ ของตน คนไหน เด็กมักจะมาเคล้าคลอ อยากให้ครูกอดเขา บางคนก็อยากให้ครู เป็นแม่เขา”

พ่อท่าน ”อบอุ่นทางจิตวิญญาณมี อย่างเคล้าเคลีย เกาะติดก็มี แต่ไม่ได้หมายถึง เกาะติด อย่างวัฒนธรรม ตะวันตก ที่จะต้องกอดจูบ ลูบคลำ มี sex ร่วมกัน อย่างอาตมาเองไม่มี ที่จะต้อง เคล้าเคลีย กอดกัน การกอดนั้น เป็นวัฒนธรรม ของตะวันตก

เด็กที่ขาดความอบอุ่น จากครอบครัว แล้วอยากให้ครู กอดรัดเขา อย่างพ่อแม่รักลูก เด็กเองไม่รู้ว่า ความเคล้าเคลียกันเกินไป แม้เด็กกับเด็กด้วยกัน ไปไหนมาไหน ต้องเกาะ ต้องจูงมือกันไป อย่างที่เขาเป็นๆ กันอยู่น่ะ มันมากเกิน เขาไม่ได้เรียนรู้ เรื่องกาม อย่างที่เรา ได้ศึกษา จากพระพุทธเจ้า การแตะต้องสัมผัส เสียดสีกันอย่างนั้น เราต้องค่อยๆ บอกให้เด็กเขา เข้าใจว่า มันไม่เหมาะควร หากเราลดอย่างหนึ่ง เราก็ควรต้องเสริมอย่างหนึ่ง

ความรักมิใช่ หมายความว่า จะต้องกอด จะต้องเคล้าเคลีย อะไรอย่างนั้น และ อย่าได้เข้าใจผิดว่า เรารักคนหลายคนไม่ได้ เดี๋ยวจะหมดพลัง ถ้าคุณจะรักคนอีก ๑๐๐ คน ๑๐๐๐ คนก็ย่อมได้ เพราะความรักคือการให้นั้น มีไม่จำกัด”

ช่วงสุดท้าย ของการสนทนากับคณะครู สส.ธ. พ่อท่านได้เปรียบเทียบ การทำงานสร้างกลุ่มอโศก กับการสร้างกลุ่มธุรกิจ ของทุนนิยม และ มองราชธานีอโศก ในอนาคต เปรียบเทียบกับ หมู่บ้านข้างเคียง ดังนี้

“อาตมาว่า อาตมาทำอโศกได้ขนาดนี้ เปรียบเทียบกับ คุณธนินทร์ ที่เขาทำซีพี มีคน มีเงินหลายล้าน อาตมาไม่เคย สงสัยเลยว่า ทำไมอาตมา ไม่ได้รับ ความยิ่งใหญ่อย่างเขา ก็เขาทำระบบทุนนิยม มีเงินมากๆ ก็จ้าง จะไปมีปัญหาอะไร แต่ที่อาตมาทำนี่ มือเปล่าๆ เลยนะ ถ้าจะให้กลับกันบ้าง ให้อาตมาทำอย่างใช้ทุน เขามาทำอย่างไม่ใช้ทุนบ้าง จะเป็นอย่างไร

อย่างราชธานีอโศกนี่ จะต้องดึง ทึ้ง แรงงาน กันไปอย่างนี้ อีกหลายปี เพราะอัตราการขยายงาน มันมากกว่าเนื้อที่เจริญ ต้องรู้ความจริง อันนี้ว่า แรงงานเราไม่พอ

ถ้ามองการเจริญก้าวหน้า หมู่บ้านราชธานีอโศก เปรียบเทียบกับ หมู่บ้านข้างเคียง อย่างกุดระงุม คำกลาง ท่ากกเสียว กุดปลาขาว อะไรที่เราเห็นๆ กันอยู่นี่ ที่ผ่านมาเป็นอย่างไร แล้วอีก ๑๐ - ๒๐ ปีข้างหน้า หมู่บ้าน ของเขาจะเป็นอย่างไร หมู่บ้านราชธานีอโศก จะเป็นอย่างไร

เมื่อวานอดีตผู้ใหญ่บ้านคำกลาง พ่อจำรูญ และ อดีตผู้ใหญ่บ้านกุดระงุม เขามาเล่าว่า ชาวบ้านคำกลางพูดว่า พ่อใหญ่ไปพูดอย่างไร ชาวบ้าน ราชธานีอโศก จึงได้มาช่วยพวกเขา คือพวกเรา ไปช่วยทำถนนให้ ช่วยเก็บกวาด ทำความสะอาด เก็บขยะบริเวณท่าเรือ เขารู้สึกแปลก แต่ก่อนแต่ไร เขาก็อยู่กันมา อย่างนั้น หมู่บ้านใคร หมู่บ้านมัน บางทีหมู่บ้านเดียวกัน การช่วยเหลือเอื้อเฟื้อ เกื้อกูลกัน ยังยากเลย เราเองจะเป็นหมู่บ้าน ที่มีวัฒนธรรม อย่างบุญนิยมนี่ และ จะมีอะไร ที่เปลี่ยนแปลง ก้าวหน้า พัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ

เราจะเป็น สังคมาธิปไตย คือ สังคมนิยม + ประชาธิปไตย เราลึกไปกว่า ประชาธิปไตยทั่วไป ไม่เคยมีในโลก เขามองแล้ว เขาคิดไม่ออก ว่าจะเป็นไปได้ อาตมาอยากจะมีอายุ ยืนยาวไปอีก จะได้เห็น ความแตกต่างที่เจริญขึ้น”


 

พ้นภัยด้วยการฟื้นชุมชน

จาก นสพ.ไทยรัฐ ฉบับวันจันทร์ที่ ๑๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๓
บทความเปิดฟ้า...ส่องโลก เขียนโดย นิติภูมิ นวรัตน์

พ้นภัยได้ด้วยการฟื้นชุมชน

ไปพูดจาปราศรัยที่จังหวัดไหน ถ้าจำเป็นต้องค้าง ตกเย็นจะมี ผู้นำท้องถิ่น หมอพยาบาล ครูอาจารย์ ฯลฯ มาชวนไปกินข้าว แล้วก็ถกปัญหาสารพัน

ที่อภิปรายกัน ในวงอาหารบ่อยที่สุด ก็คือ ทำยังไง จะไม่ให้สังคมไทย ล่มสลาย

ผมมักจะเรียนว่า อย่าคิดว่าประเทศใหญ่ๆ จะปรารถนาดี ต่อประเทศเล็กๆ อย่างเราเลยนะครับ จากประวัติศาสตร์ ชาติต่างๆ ซึ่งเราร่ำเรียนมา เป็นสิบๆ ประเทศ มหาอำนาจชาติใหญ่ๆ จะมีวิธีการสร้าง ความร่ำรวย ให้ตัวเอง โดยการทำให้ ประเทศเล็กๆ อ่อนแอ หรือ ยากจนลง ตัดมือตัดไม้ บังคับให้มีการ ออกกฎหมาย เพื่อไม่ให้ประชาชน ในประเทศเล็กๆ มีทางสู้

สมัยนี้ประเทศใหญ่ๆ ยัดเยียดระบบโลก โดยโยนไปใส่ ให้ประเทศเล็กใช้ ทั้งการค้าเสรี ประชาธิปไตย สิ่งแวดล้อม และ สิทธิมนุษยชน ระบบโลกพวกนี้ ส่วนมาก จะเป็นของปลอมทั้งนั้น

ส่วนข้ออภิปรายเรื่องพรรคการเมือง บนโต๊ะอาหาร ผมมักจะให้ความเห็นว่า เราถูกฝรั่ง และ นายทุนใหญ่ ใช้ทำงาน เพียงตอบสนองชีวิตทางวัตถุ พรรคการเมือง ที่ความคิดกิ๊กก๊อก ของผมใฝ่ฝันก็คือ พรรคที่สามารถ พาคนไทย ออกจากอำนาจ “ทุน” ทุนที่ครอบงำคนไทย ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และ วัฒนธรรม

ท่าน ส.จ. ท่าน ส.ส. และ คุณหมอท่านลองนึกดูซิครับ เป็นคนไทยวันนี้ ต้องมีเงิน ถึงจะทำงานการเมืองได้ ต้องมีเงินมีทุน ถึงจะส่งลูกเรียน ให้มีการศึกษาได้

แม้แต่ทางศาสนา และ สังคม ต้องมีเงินบริจาคเท่านั้น เท่านี้ ถึงจะมีสิทธิ ไปกราบเจ้าอาวาส มีเงินก็ได้รับ ความนับหน้า ถือตาว่าคนดี ของสังคม มีเงินวิ่งเต้น กระบวนการยุติธรรม ก็สามารถฆ่าคนได้ โดยไม่ผิดกฎหมาย ไม่ต้องติดคุก ฯลฯ

ก่อนที่ท่านกระดิกพลิกตัว ร่วมมือร่วมใจกัน พัฒนาประเทศ ต้องช่วยกัน ผลักดันประเทศไทย ให้พ้นอุ้งมือ ของอำนาจ "ทุน"พวกนี้ซะก่อน

คุณหมอ ผอ.โรงพยาบาลประจำอำเภอขมวดคิ้ว แล้วจะเริ่มที่ไหนดีล่ะคะ?

ต้องเริ่มต้นที่ การคืนชีวิต ให้ชุมชนครับ

ถ้าท่านอ่านประวัติชาติไทยให้ดี ในช่วงห้วง ๔๐ ปี ที่ผ่านมา จะเห็นว่า ๑.นายทุนต่างชาติ ๒.นายทุนใหญ่ ๓.นักวิชาการ ที่ถูกฝรั่งครอบกะโหลก ๔.ข้าราชการ นักการเมือง ที่ใฝ่อำนาจ ทั้ง ๔ พวกนี่แหละครับ พัฒนาประเทศไทย ด้วยการทำลายชุมชน พยายาม ทำให้ชุมชน โดดเดี่ยว อยู่ด้วยตัวเองไม่ได้

ชุมชนดีๆ ที่เข้มแข็ง รัฐก็ไปจับผู้นำ ไปใส่ร้ายป้ายสี ผู้นำ ซะจน ไม่มีคนอยากคบค้า สมาคมด้วย ที่เห็นเด่นชัด พอยกมาเป็น ต.ย. ก็ชุมชนชาวอโศก ทั้งหลาย ถ้าไม่ถูกคุมกำเนิด ป่านนี้ชุมชนอย่าง สันติอโศก ปฐมอโศก ราชธานีอโศก ฯลฯ ที่ช่วยตัวเองได้ ๑๐๐% ก็คงจะกระจายอยู่ เต็มประเทศไปแล้ว

นักการเมือง ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ พวกนี้หลอกเรา โดยอ้างเอาวิชา เศรษฐศาสตร์ อ้างวิชาการ ระหว่าง ประเทศ อ้างกฎหมาย อ้างมหาวิทยาลัย อ้างอะไรก็ได้ ที่ใหญ่ๆ ไกลตัว เพื่อสลายชุมชนเล็กๆ ใกล้ตัว เมื่อคนในชุมชน ชนบทไทย ต้องกระจัดพลัดพราย แตกกระจาย ไม่มีที่ไป เสร็จแล้ว ก็ไล่ล่ามนุษย์ พันธุ์ไทยพวกนี้ ให้มาอยู่ในกรอบ ที่ตัวเองตั้งขึ้น

ทางรอดก็คือ รัฐบาลไทย ต้องคืนอำนาจให้ชุมชน การคืนอำนาจให้กับชุมชน ก็คือ การคืนชีวิต ให้กับมนุษย์ การที่รัฐบาล เข้ามาแทรกแซง ชุมชนมากไป ก็คือ การกักขังชุมชน เป็นการเอามนุษย์ มาเข้าคุกนั่นเอง

ผมสรุปให้ฟังว่า ถ้าอยากพ้นอำนาจฝรั่ง ก็ต้องกลับมาฟื้นคืนชีพ ชุมชนครับ.


 

วันร่วมงานเสวนา

๒๐ ส.ค.๒๕๔๓ ที่สำนัก ศิลปวัฒนธรรม สถาบันราชภัฏ อุบลราชธานี มีการอภิปรายเชิงเสวนา ในหัวข้อ ”ศาสนิกชนกับปัญหาวิกฤติ ของสังคมไทย” ทางเสมสิกขาลัย อุบลราชธานี เป็นผู้จัด มีผู้เข้าร่วม อภิปราย ๕ ท่านคือ พ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์, บาทหลวง เชาวฤทธิ์ สาสาย,

อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์, ท่านเราะห์มัตคาน และ พระครูมงคลวรวัฒน์ โดยมี ผศ.สุบรรณ จันทบุตร เป็นผู้ดำเนินรายการ

จากบางส่วน ที่พ่อท่านแสดงความเห็น “ศาสนาพุทธ สอนให้ดูตัวเอง และ แก้ไขที่ตัวเอง เมื่อแก้ไขที่ตัวเองได้ ผลก็คือ สังคมก็ได้ด้วย ถ้าเราไปโทษสังคม ไปแก้ปัญหา อยู่ที่สังคม แล้วไม่แก้ปัญหาที่ตัวเอง รับรองอีกล้านชาติ ก็ไม่สำเร็จหรอก เพราะมันไม่เข้าหา เหตุสมุทัย ซึ่งอยู่ที่ จิตวิญญาณ อยู่ที่ตัวมนุษย์ การแก้ปัญหาสังคม แก้ปัญหาเศรษฐกิจ แก้ปัญหาสารพัด ก็คือ แก้ปัญหาที่ “คน” และ ต้องแก้ให้เข้าไปถึง”จิต” ให้มีการเปลี่ยนแปลง ทาง ”จิต” ถ้า ”จิต” ไม่เปลี่ยนแปลง ก็ยังเป็นการกดข่ม อยู่ทั้งนั้น

คนในศาสนาพุทธ สอนผิดมานานแล้ว ว่าศีล ควบคุมกาย กับวาจา ถ้าจะเปลี่ยนแปลงจิตใจ ก็ไปนั่ง สมาธิ มันไม่ถูก ศีล สมาธิ ปัญญา แยกกันไม่ได้ จะต้องไปร่วมกัน เป็นองค์รวม การปฏิบัติที่ถูกต้อง จะขัดเกลา กาย วาจา โดยเฉพาะ ขัดเกลาจิตใจ ปฏิบัติศีล ปฏิบัติโพธิปักขิยธรรม หรือ ปฏิบัติมรรคองค์ ๘ ควบคุม สังกัปปะ วาจา กัมมันตะ อาชีวะ เรียนรู้ ให้ถูกต้อง เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ เสียก่อน เวลาปฏิบัติ ต้องรู้สังกัปปะ รู้วาจา รู้กัมมันตะ แล้วแก้ไข ให้ถูกต้อง ไปทั้งหมด จิตจะเป็นประธาน เป็นตัวเกี่ยวข้องหมด ทั้งวัตถุ และ บุคคล ถ้าไม่สามารถ อ่านรู้ไปถึงจิต การปฏิบัตินั้น ก็ล้มเหลว

ปฏิบัติมรรคองค์ ๘ ก็ปฏิบัติ ๗ ตัวนี้แหละ ตั้งแต่ สัมมาทิฏฐิ แล้วก็เริ่มต้นมีสติ มีวายามะ มีสติคือ รู้ตัวทั่วพร้อมเสมอ ทุกเวลา มีตา มีหู มีจมูก ลิ้น กาย ใจ สัมผัสทางรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส แล้วก็ต้องอ่านรู้ในใจ มีความพยายามทำให้ได้ ปฏิบัติ ๗ ข้อนี่แหละ ตั้งแต่ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ ปฏิบัติตลอดเวลา ก็จะสั่งสมเป็น "สัมมาสมาธิ" นี่คือสมาธิ ของพระพุทธเจ้า ปฏิบัติแล้ว จะเกี่ยวข้องกันหมด ศีล สมาธิ ปัญญา มีผลเป็นวิมุติ ในกิมัตถิยสูตร พระพุทธเจ้าตรัส ถ้าปฏิบัติศีล เป็นกุศล จะมีผลเป็นอรหันต์ บริบูรณ์โดยลำดับ

สรุปก็คือ ปฏิบัติธรรม ของพระพุทธเจ้า ให้ถูกหลักธรรม แก้ไข ที่ตัวเรา จะเกิดปัญญา ที่รู้ทั้งนอกและใน เกี่ยวข้อง ทั้งอาชีพ การงาน การเป็นอยู่ การดำเนินชีวิต แล้วมันถึง จะเป็นผล เช่น กถาวัตถุ ๑๐ จะเป็นคน มักน้อย เป็นคนสันโดษ สงบระงับ ไม่คลุกคลี ในสิ่งที่เป็นอกุศล จะเป็นคนขยัน แล้วจะมี ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุติ วิมุติญาณทัสนะ หรือ จะเป็นวรรณะ ๙ ก็คล้ายๆ กับกถาวัตถุ ๑๐ จะมีตัวมักน้อย สันโดษนี่เป็นสำคัญ มักน้อยสันโดษ ก็ยังอธิบายกันไม่ถูก เมื่อไม่ถูก มันก็ล้มเหลว แก้วิกฤติก็แก้ไม่ได้ เพราะแก้ไม่ถูก หลักธรรม ปฏิบัติไม่ได้มรรคได้ผล ก็วิกฤติอยู่ ตลอดกาลนาน คนปฏิบัติไม่ถูก สังคมก็ไม่มีผลอะไร

แต่ถ้ามีคนปฏิบัติได้ คนที่ ๒ ปฏิบัติตามกัน เห็นตามกัน ดีตาม กันไป ๔ - ๕ - ๖ - ๗ - ๘ - ๑๐ - ๒๐ คนขึ้นไป ก็กลายเป็นสังคม กลายเป็นชุมชน กลายเป็นวัฒนธรรม กลายเป็น วิถีดำเนินชีวิต ขออภัย ถ้าจะกล่าวว่า อย่างอโศกทำมานี่ มันก็กลายเป็น ชุมชนแล้ว เป็นวิถีชีวิต วัฒนธรรม”

บาทหลวงเชาวฤทธิ์ สาสาย ได้กล่าวถึงพ่อท่าน และ ชาวอโศก จากบางส่วน ที่ท่านได้กล่าวนำถึง การเกิดวิกฤติ ทางสังคม เนื่องจาก แยกสังคม ออกจากศาสนา แยกวัด ออกจากโรงเรียน แยกศีลธรรม ออกจากคน คุณภาพของคน ก็ด้อยลง การพัฒนา จากภายนอก เข้าไปในชนบท วัตถุนิยม และ ผลประโยชน์ ทำให้วิถีชีวิตคนเปลี่ยน คุณความดี พลังสร้างสรรต่างๆ อ่อนตัวลง จึงไม่สามารถ ที่จะพัฒนา ชุมชนของเรา ให้เข้มแข็ง “ยกตัวอย่าง ที่พ่อท่าน โพธิรักษ์นะครับ แล้วก็บรรดาชุมชน พยายามที่จะสร้าง จุดเหล่านี้ ผมเองก็ทึ่งนะครับ รู้สึกทึ่ง ทึ่งในลักษณะที่ สามารถที่จะรวมกัน เป็นชุมชนที่เข้มแข็ง ในการพัฒนา สร้างสรรศักยภาพ ของตัวเอง ให้มีอยู่นี่ เพื่อที่จะสร้าง ชุมชม อย่างน้อยก็เป็น แบบอย่างครับ”

ท่านเราะห์ มัตคาน ก็เป็นอีกท่านหนึ่ง ที่กล่าวถึง ราชธานีอโศก ในมุมที่ดี จากการกล่าวถึง ปัจจัย ๓ อย่าง ที่ทำให้เกิดวิกฤติ ทางสังคม ๑.อารมณ์ หรือ ภาษาอิสลาม เรียก นับซู ๒.ซาตาน หรือ มาร ๓.มะฮอร์น เป็นภาษาอารบิก แปลว่า สิ่งแวดล้อม “ถ้าเขาอยู่ใน สิ่งแวดล้อมที่ดี ผมขอยกตัวอย่าง นะครับ อย่างเช่น ราชธานีอโศกนะครับ เขาอยู่ในสิ่งแวดล้อม ที่สะอาด เราใช้คำว่า”ดี”ไม่ได้ เราต้องใช้คำว่า สะอาด สะอาดในที่นี้คือ จิตใจเขาสะอาด คำพูดเขาสะอาด การฟังเขาสะอาด สายตาเขาสะอาด อันนี้ไม่ได้ชมนะ ย่องๆ เพราะว่า เราต้องสนับสนุนคน ให้เป็นคนดีนะครับ”

อ.ประพันธ์ เกษมสุข เป็นผู้หนึ่งในบรรดาผู้ฟังหลายๆ ท่าน ที่ได้ร่วมแสดง ความคิดเห็น เช่นเดียวกัน อ.ประพันธ์ ก็ได้กล่าวถึงอโศกโดยรวม หลังจากที่ วิพากย์ วิจารณ์ นักการเมือง ที่เข้าไปมีอำนาจ ว่าอยากให้ เอาคนชั่ว ออกจากอำนาจรัฐ และ กล่าวถึงอโศกว่า อยากให้อโศก เข้าไปมีอำนาจรัฐ ด้วยคนมีอำนาจ ต้องมีศาสนา

อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ แสดงความเป็นกัลยาณมิตร ถ่วงดึงกระแส เชียร์ชม “ เมื่อกี้ที่ใครว่านี่ จะให้สันติอโศก ปกครองบ้าน ปกครองเมือง เดี๋ยวจะเป็น อยาโตลาห์ อีกคนหนึ่ง ต้องระวังนะครับ ศาสนาที่แก้ปัญหา โดยเข้าใจปัญหา ที่ไม่ชัดเจนนั้น ได้ทำโทษกับบ้านเมือง แทบทุกแห่ง เกือบโดยตลอด คำถามอยู่ตรงนี้ครับ ถ้าเรายอมรับ วิกฤติในสังคม ต้องถาม เรามีวิกฤติ ในตัวเราเอง หรือเปล่า ถ้าเราแก้วิกฤติในตัวเราได้ และ เราเห็นว่า ปัญหานั้น เราเห็นชัด หรือเปล่า ถ้าเราเห็นชัด แล้วตัวเราเอง มีศักยภาพในการแก้ ขนาดไหน เมื่อกี้นี้ ท่านโต๊ะครู ที่นั่งข้างผมนี่ พูดยกย่อง ราชธานีอโศก ซึ่งถูกต้องนะครับ เพราะว่า ราชธานีอโศกนี่ เขาเอาศาสนา มาแก้ปัญหา ให้ตัวเขา ให้หมู่เขา และ เขาสามารถ แก้ปัญหาได้ ในระดับซึ่งเขามีความสามารถ ในการแก้ปัญหา ซึ่งถูกต้อง แต่ถ้าทำยิ่งใหญ่ไปกว่านี้ โดยไม่เข้าใจ ความหายนะ เกิดขึ้นทันที ต้องเข้าใจนะ

ครับ ถ้าแก้ปัญหา เราแก้เท่าที่ เรามีศักยภาพ จะแก้ได้หรือ ใช้คำในศาสนาพุทธ นะครับ มีบารมี ขนาดไหนเท่านั้น จะเป็นบารมี หรือ อุปบารมี หรือ ปรมัตถบารมี ต้องเข้าใจ ให้ชัดเจนครับ ถ้าเข้าใจสับสน แล้วไขว้เขวแล้ว พังทันทีเลย”

ในรอบสุดท้าย ของการเสวนา จากบางส่วน ที่พ่อท่าน ได้กล่าวทิ้งท้าย ดังนี้

“...ศาสนาพุทธนี้จริงนะ ขอยืนยันว่า บรรลุธรรมจริง บรรลุธรรม คือหลุดจากโลก ที่มันหลอกเรา ทุกวันนี้ มันไม่จริง ไม่บรรลุธรรมจริง ก็เลยไม่ได้ช่วยโลกจริง มีแต่แฝงซ้อน เพื่อที่จะได้ลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข อดลาภนิดหน่อย เพื่อไปแลกสรรเสริญ อดสรรเสริญ ไปแลกยศ อดยศไปแลกลาภ วนอยู่ในโลกียะ หรือ โลกธรรมนี่ ขณะที่ชาวพุทธใหญ่ เข้าใจว่า ถ้าจะปฏิบัติ ต้องไปอยู่ป่า ขอยืนยันว่า ไปอยู่ป่า ไม่ใช่พุทธเลย พระพุทธเจ้าตรัส ชัดเจนว่า ท่านไปเสียเวลา อยู่ที่ป่า ๖ ปี เป็นทางผิดทั้งสิ้น ไปตรวจใน พระไตรปิฎกเลย การไปป่า เป็นของฤาษีเขา พุทธนั้น ปฏิบัติมรรคองค์ ๘ สัมมาสมาธิ ปฏิบัติได้ในเมือง พระพุทธเจ้า สอนพระอรหันต์ ๖๐ รูปแรก แล้วให้เข้าในนิคมทั้ง ๖๐ รูป ไม่เคยบอก ไปอยู่ป่า ขอยืนยันว่า ถ้าไม่แก้ปัญหา ที่ตนเอง ไม่หมดอยาก เราก็หยุดอยู่ ใต้ครอบ ของโลก ที่มันอยาก แล้วจะช่วยคนอื่นไม่ได้ และ ก็แก้ปัญหาอะไร ไม่ได้”

ขณะนั่งรถเดินทางกลับ พ่อท่านเผยว่า “ที่พูดเรื่อง พระพุทธเจ้า ตอนอยู่ป่า ๖ ปี เป็นทางผิดนั้น เพื่อแก้ให้ความรู้ ผู้ร่วมเสวนาท่านหนึ่ง ที่เข้าใจผิดว่า การปฏิบัติ ๖ ปีในป่า ของเจ้าชายสิทธัตถะนั้น เป็นการเข้าถึง พระอมตธรรม”

นอกจากนี้ พ่อท่านได้กล่าวถึงการเสวนา ให้พวกเรา ที่ร่วมเดินทาง มาในรถ ได้ทราบว่า “ประโยชน์จริงๆ จากงานเสวนาอย่างนี้ จะไม่มีอะไร มากเท่าไหร่ เพียงแค่ได้ ไปสมานสัมพันธ์ กับเขาเท่านั้น ”

คลิก...อ่านต่อ
หน้าแรก หน้าต่อไป