หน้าแรก หน้าต่อไป
บันทึกปัจฉาสมณะ
โดย สมณะแน่วแน่ สีลวัณโณ ตอน...
เข้าตาสื่อมวลชน
หนังสือพิมพ์สารอโศก
อันดับที่ 229 เดือนตุลาคม 2543
หน้า 2/2

 


เวทีชาวบ้านเจาะใจ

๒๘ ส.ค.๒๕๔๓ ที่ปฐมอโศก คณะจัดทำรายการ "เวทีชาวบ้าน" ของสถานีโทรทัศน์ ช่อง ๑๑ นำโดย อ.สุขุม อัตวาวุฒิชัย ได้มาจัดทำรายการ เริ่มจาก การสนทนา สัมภาษณ์ ประวัติชีวิต และ ความคิดเห็น ของพ่อท่าน เป็นเวลากว่า ๒ ช.ม. และ ต่อด้วย สนทนาสัมภาษณ์ ชาวชุมชนปฐมอโศก โดยมี ดร.สมภาร พรมทา อาจารย์คณะ อักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมสะท้อนมุมมอง ในฐานะ นักวิชาการ อีกทั้งมีกำนัน และ ปลัดอบต. ก็มาร่วม แสดงความคิดเห็น ที่มีต่อชุมชน ปฐมอโศก กว่าจะถ่ายทำ รายการเสร็จ ก็เป็นเวลา ๑๘.๐๐ น.เศษ อ.สุขุมเปรยว่า บทสนทนา กับพ่อท่านนั้น ไม่ทราบว่า ทางสถานีโทรทัศน์ จะอนุญาต ให้นำเผยแพร่ภาพ หรือไม่ จึงไม่สามารถ รับปากได้ว่า ถ่ายทำรายการ ไปแล้ว จะนำออกเผยแพร่ได้

จากบางส่วน ของบทสัมภาษณ์พ่อท่าน ที่น่าสนใจดังนี้

อ.สุขุม : เพื่อเป็นความรู้ว่า ธรรมยุตกับมหานิกายนี่ มันต่างกันอย่างไรครับ

พ่อท่าน : ความจริงมันไม่ต่างหรอก ในเรื่องธรรมะ ของพระพุทธเจ้า มันต่างด้วย ทิฐิความเห็น ของมนุษย์ จนกระทั่ง แยกไปเป็นนิกาย เดี๋ยวนี้ก็พยายาม จะมารวมกัน อาตมาก็เห็นดีด้วยนะ ถ้าร่วมกันได้ก็ดี จริงๆ แล้วทุกวันนี้นี่ มหานิกาย กับธรรมยุตนี่ พยายามทำ ให้อยู่ในลักษณะของ นานาสังวาส แต่ท่านไม่ยอมพูดเลย นานาสังวาส อาตมาเอาเรื่อง นานาสังวาส มาพูดด้วยนี่ ไม่ยอมพูดถึงเลย เพราะกลัวอโศก จะได้คะแนน ทั้งๆ ที่ ธรรมยุตเอง เคยมีเรื่องกับ มหานิกายมาเก่า แล้วเอาเรื่อง ของนานาสังวาส มาใช้ นี้เป็นเรื่อง ของหลักวิชา ที่จะต้องพูดกันยาว

อ.สุขุม : ทีนี้ในทางปฏิบัติ

พ่อท่าน : ทางปฏิบัตินี่แหละ มันต่างกันบ้าง ตรงที่ว่า ธรรมยุต เมื่อมาเข้มงวด พยายามปฏิบัติ ให้ตรงธรรม ตรงวินัย ของพระพุทธเจ้ามากขึ้น ก็เลยดูดีขึ้น จึงรู้สึก มหานิกาย จะหย่อนยานไป

อ.สุขุม : ใช่ หรือเปล่าครับ ว่าพระธรรมยุต จะไม่ใส่รองเท้า

พ่อท่าน : ท่านไม่ใส่รองเท้า ถ้าออกนอกวัด อยู่ในวัด ท่านใส่รองเท้า ที่จริงแล้ว เรื่องรองเท้านี่ เป็นเรื่องใหญ่ เหมือนกัน มันเป็นองค์ประกอบต่างๆ ถ้าเอาองค์รวม ก็มีส่วนดี ในแต่ละประเด็นไป ไม่ใส่รองเท้าก็ดี ก็เคร่ง ไม่ใช้เงินทอง ฉันมื้อเดียว อะไรพวกนี้ ก็เป็นธรรม ถ้ารู้จักปฏิบัติ แม้จะมาฉัน มื้อเดียว เป็นเรื่อง เป็นมานะอัตตา เที่ยวเบ่งข่มคนอื่น เที่ยวระรานคนอื่น ก็เลวเหมือนกัน แท้จริง การฉันมื้อเดียว เพื่อเป็นกรรมฐาน ของเรา เป็นศีลของเรา เพราะพระพุทธเจ้า สอนให้ภิกษุ ฉันมื้อเดียว ไม่เคยมี ให้ฉัน ๒ มื้อ ๓ มื้อ ไม่ต้องพูดเลย ไม่มีหรอก มีแต่ฉันมื้อเดียว ฉันแต่ที่นั่ง แห่งเดียวเถอะ ตั้งแต่ เริ่มสร้างศาสนามา จุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล ก็มีแต่ฉันมื้อเดียว แล้วฉันมื้อเดียว ก็ต้องอ่านกิเลส เรียนรู้ แล้วละกิเลสได้ ก็เป็นประโยชน์ ไม่ใช่ปฏิบัติเคร่ง มีศีลเคร่ง แต่มิจฉาทิฐิ หรือ ทำเพื่ออวดเคร่ง ทำอย่าง ไม่มีปัญญา ไม่มีสัมมาทิฐิ เคร่งไปก็ได้นรก

อ.สุขุม : ทีนี้ท่านเป็นทั้งธรรมยุต กับมหานิกาย จริงๆ ท่านปฏิบัติ ต่างกันไหม ตอนที่เป็นธรรมยุต กับมหานิกาย

พ่อท่าน : อาตมาปฏิบัติตรง ตรงพุทธนิกาย โดยตรงเลย อาตมาไม่ได้แยก นิกายธรรมยุต ไม่ได้แยก มหานิกาย อะไรหรอก ดังที่ตอนแรก ที่มีพระทั้งธรรมยุต ทั้งมหานิกาย มาปฏิบัติ อยู่กับอาตมา นั่นแหละ อาตมาไม่ได้ติดใจ ในเรื่องนิกาย อาตมาถือว่า ธรรมะ ของพระพุทธเจ้า ถูกต้องตรงอย่างไร เราก็ศึกษา ให้ชัดเจน ให้เข้าใจด้วยปัญญา ให้มีทิฐิที่ตรง แล้วปฏิบัติให้ตรง เพราะฉะนั้น ใครจะไปติดยึด อยู่ในอันนั้น อันนี้ก็ค่อยๆ พูดกัน อะไรที่พอตกลงกันได้ ตามธรรม ตามวินัย ท่านกำหนดไว้หมดแล้ว เพราะฉะนั้น อะไรที่เข้าไม่ได้ เป็นนานาสังวาสอยู่ก็ปรับ ถ้าเมื่อ ปรับได้แล้ว ก็เข้าเป็น สมานสังวาสกันได้ ก็เป็นไป ถ้ายังไม่ได้อยู่ ก็เป็นแค่นานาสังวาส อย่าไปให้ถึงขนาด แตกเป็นนิกาย เป็นอนันตริยกรรม เป็นบาปจริงๆ มันเลว ใครทำให้เกิดก็เลว แต่การทำให้เกิดนิกายนี่ คนมาหาว่า อาตมาทำให้เกิด นิกายอโศก อาตมาขอยืนยันว่า อาตมา ไม่ได้เป็นคนทำให้เกิด นิกายอโศกนะ ใครเป็นคนทำ คนนั้น นับเป็นอนันตริยกรรมไป ใครเป็นตัวหลัก ตัวรอง คนนั้น ก็รับไปเอง เขาเป็นคนทำ อาตมาไม่ได้เป็นคนทำ ให้เกิดนิกายนี้ขึ้นมา อาตมาตั้งใจ จะรวมนิกาย ด้วยซ้ำไป จะให้สมานกัน แต่เขาเป็นคนทำให้เกิด ใครเป็นคนทำให้เกิด ด้วยกรรมอันแท้จริง กรรมใคร กรรมมัน ก็เป็นจริง ตามสัจจะ ไม่มีใครไปตัดสินสัจจะ สัจจะเป็นสัจจะเองแน่ๆ

อ.สุขุม : เมื่อท่านเดินในทางพุทธศาสนา แล้วพัฒนาศาสนา ในระบบเดิม กับการที่ท่านทำไม่ได้ ต้องออกมาสร้างทางเดินใหม่ ทั้งนี้เพราะอะไร

พ่อท่าน : อันนี้คนก็พูดกันมากว่า อาตมานี่นะทำดี แต่ทำไม ต้องออกมาจากหมู่ใหญ่ล่ะ ออกมาทำไม น่าจะช่วยบูรณะอะไร ทำอยู่นั่น ก็ช่วยพัฒนา ออกมาทำไม เราต้องเข้าใจว่า แก๊งที่เป็นแก๊งใหญ่ๆ แล้วนี่นะ ขับเคลื่อนอะไรไม่ได้ เปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ แล้วนี่นะ ก็เปลี่ยนแปลง ไม่ได้จริงๆ

อ.สุขุม : เหมือนระบบราชการ

พ่อท่าน : ทั้งนั้น ทั้งระบบการเมือง ราชการ ทุกวันนี้เป็น fossil หมดแล้ว นี่เปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย เมื่อเปลี่ยนแปลง ไม่ได้แล้ว เราต้องออกมา ทำอีกอันหนึ่ง ให้เป็นทางเลือกใหม่ ใช่ ศัพท์สมัยใหม่ ให้ ”เป็นทางเลือกใหม่” ไม่ใช่มาเข่นกัน มาข่มกัน เพราะฉะนั้น ถ้าเอาอำนาจบาตรใหญ่ มาข่มกันก็ข่มได้ ทำได้ เพราะว่าอำนาจ คืออำนาจโลกาธิปไตยมันมี มีจริงเป็นธรรมชาติ แต่ถ้าเผื่อใคร เข้าใจแล้ว ให้มีทางเลือก ถ้ากลุ่มเล็ก ไม่ดีจริงนะ ฝ่อตาย ถ้ากลุ่มใหญ่ดีจริงนะ ใครไปทำอะไร ล้มอะไร ไม่ได้หรอก ถ้ากลุ่มใหญ่ดีจริง กลุ่มเล็กเกิดมานี่ ให้เกิดมาเลย จะเกิดอีก ๑๐๐ กลุ่ม ก็อยู่ไม่รอด หากไม่จริง กลุ่มใหญ่แข็งแรงกว่า ก็ปล่อย ให้กลุ่มเล็ก เป็นทางเลือก จึงเรียกว่า อิสรเสรีภาพ นั่นเรียกว่าใหญ่จริง ไม่ต้องไปกลัวหรอก กลุ่มเล็กกลุ่มน้อย ไปกลัวทำไม

ถ้าเราเป็นตัวจริง และ ใหญ่เป็นทุนอยู่แล้วด้วย รังแกกลุ่มเล็ก ซ้ำจะดูไม่ดี ไปเสียอีกนะนา

อ.สุขุม : ทีนี้ทางเลือก ของท่านนี่ ต่างจาก ทางเลือกเก่า อย่างไร

พ่อท่าน : ต่างมากเลย มีทิฐิต่างกันมาก ตั้งแต่ เริ่มต้นเลย ทิฐิ ๑๐ ของพระพุทธเจ้า ตั้งแต่ ทินนัง ยิฏฐัง หุตัง กัมมานัง อยัง โลโก ปโร โลโก ไล่ไปจนกระทั่ง แม้แต่ แม่ พ่อ สัตวโอปปาติกะ ที่สุดสมณะ ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ก็เห็นต่างกันแล้ว

ทานคืออย่างไร ก็สอนกันว่า ทานมีผล อัตถิ ทินนัง หรือ ทานไม่มีผล นัตถิ ทินนัง ถ้าใครเข้าใจว่า ทานไม่มีผล นัตถิ ทินนัง เป็นมิจฉาทิฐิ ถ้าใครเข้าใจว่า ทานมีผล ก็เป็นสัมมาทิฐิ แต่ก็ไม่เข้าใจ นัยที่ลึกซึ้ง ละเอียด ทานมีผล มีผลอย่างไร มีผลเป็นบาปก็มี มีผลเป็นบุญก็มี แล้วทุกวันนี้ สอนกัน ทานแท้ๆ ก็สอนกันจน ทานมีบาป มีบาปยังไง หลอกเขาล่อเขา มาให้ตัวเองมากๆ ใช้เดรัจฉานวิชา ใช้โน่นใช้นี่ ทำลายศาสนา ลงไปในตัว อย่างนี้ ทำทานบาป เอาบุญมาล่อ เอาอะไรมาล่อ ทำให้กิเลสมากด้วย ทานแปลว่า สละกิเลส ทานนี่ แปลว่าให้ เอาออกทั้งวัตถุ และ จิตใจ ก็ต้องให้ไปด้วย แต่มาทำทาน ตั้งอธิษฐานนะ ใส่ข้าวทัพพีหนึ่ง สาธุ ขอให้ได้หนึ่งล้าน ขอให้ได้สองล้าน เล่นค้ากำไร ตั้งขนาดนี้ แล้วจะได้บุญตรงไหน ยิ่งทำทานทุกวัน ก็เพิ่มกิเลส ที่มันหนาขึ้น ทุกวัน มุ่งมั่นมากขึ้น ทุกวันๆ เลยยิ่งหลงผิด ใหญ่เลย เพราะทำทาน ก็ทำใหญ่เลย แล้วก็ตั้งจิตแบบนี้ เกิดมโนกรรม ที่เป็นอกุศล โลภมูลจิต ก่อซ้ำๆ ๆ ๆ อย่างนี้ เรียกว่า ไม่เข้าใจปรมัตถ์ ไม่เข้าใจสัจธรรม สอนทานกันผิด อย่างนี้เป็นต้น

อ.สุขุม : ตรงนี้ใช้ตรรกะไม่ได้นะครับว่า ถ้าไม่มีโลภะ ก็ไม่มีทาน เพราะอยากจะได้ เลยให้ทาน ไม่ได้หรือครับ ตรรกะตรงนี้ไม่ได้...

พ่อท่าน : มันผิด ตั้งแต่ต้นแล้ว เอาโลภะมานำนี่ จะต้องรู้ ตั้งแต่ต้นว่า เราจะมาทำทาน เพื่อละโลภะ ไม่ใช่เอาโลภะมานำ โลภะก่อน แล้วค่อยมาทาน ตั้งจิต หรือ อธิษฐานจิต ก็ต้องตั้งให้ถูก อธิษฐาน แปลว่า "ตั้งจิต" ถ้าตั้งจิตไว้ผิด ยิ่งกว่าโจรฆ่าโจรนะ พระพุทธเจ้า ท่านสอนไว้ เพราะฉะนั้น เรื่องพวกนี้เป็นต้น ทิฐิต่างกัน สอนต่างกัน แน่นอน อาตมาเห็นว่าผิด ก็อยากจะให้สมณะ พระภิกษุ ทั้งหลายแหล่ ได้รับรู้ รับฟัง ก็เป็นภิกษุ ในพุทธศาสนา ด้วยกัน ไม่บอกกัน จะให้คริสต์ เขามาบอก จะให้อิสลาม เขามาบอก หรือไง

อาตมาบอก ก็หาว่าอาตมาไปด่าพระ อาตมาจะไปด่า ท่านทำไม อาตมาด่า อาตมาก็ได้บาป ของอาตมาเอง อาตมาไม่ด่าหรอก อาตมาบอกชี้ ไอ้นี่ผิด ไอ้นี่ถูก ก็โกรธ หาว่าอาตมา ไปด่าพระ ไปทำลายศาสนา ทำธรรมวินัย ให้วิปริต วิปริตจากธรรมวินัย อะไรสารพัด สาระเพ อาตมาไม่รู้ จะทำอย่างไร ก็ปล่อย ผู้ที่จะทำ ก็ทำไป อาตมาถูกติ ถูกว่า อาตมาก็พิจารณา ข้อติข้อติง อันใดที่ดี อาตมาก็เอามา พิจารณาว่า เออ อันนี้ท่านติถูก อาตมา ก็นำมาแก้ไข อันไหนติไม่ถูก อาตมาก็ปล่อยวาง

อ.สุขุม : อยู่ลำบากไหมครับ เพราะว่าทางเลือกใหม่นี่ เพิ่งเกิด แต่ทางเลือกเก่า มีนานแล้ว

พ่อท่าน : ถ้าจะว่าเราลำบาก โดยเหตุปัจจัย มันก็ต้อง มีลำบาก เพราะว่าเขา กระแทกกระทั้น กระทุ้งอะไร แทบจะจับเข้าคุก เข้าตะราง จนกระทั่ง แพ้คดี จนกระทั่ง รอลงอาญา ๒ ปี จนหมดไปแล้ว นี่ยังไม่รู้ จะฟ้องใหม่ หรือเปล่า ก็ไม่รู้ ก็ว่ากันไป อาตมาไม่มีปัญหา อะไรหรอก ถึงจะทำอย่างไร อาตมาก็บอกได้ ณ ที่นี้เลยว่า อาตมาก็ตาย คาเรื่องนี้ เพราะอาตมาเห็นว่า ชีวิตเลือกแล้ว ถ้ามาทำงานนี้ เป็นประโยชน์ อาตมายังนึกเลยว่า ถ้าอาตมา ไปหลงโลกอยู่นี่ อาตมาจะดังนะ ยิ่งทางด้าน ธุรกิจบันเทิง โอ้โฮ รวย อาตมามีความรู้หมดเลยนะ สื่อสาร ทางวิทยุโทรทัศน์

อ.สุขุม : แต่ตอนนี้ ท่านดังกว่าเป็นสื่อสารอีก ตอนนี้ ท่านดังอยู่แล้ว

พ่อท่าน : ดัง...ถูกด่าหนะสิ ตอนนี้ดังถูกด่า เขาด่าอาตมา เยอะนะ อาตมาก็ไม่มีปัญหาหรอก ถ้าอาตมา จะอยู่ทางโลก อาตมาก็คงดัง ไปทางโน้น อาตมาถึงบอก โอ้โฮ อาตมาคิดถูกจริงๆ ถ้าอาตมา ไปหลงเป็น นายรัก รักพงษ์ ไปเที่ยวได้หา ลาภยศ สรรเสริญ โด่งดังอยู่นั่น ก็คงจะได้ ไม่น้อยหน้าเขา เท่าไหร่หรอก เพราะอาตมา มีรากฐานอยู่แล้ว มาถึงวันนี้ ก็คงจะรู้ว่า อาตมาก็มี ปฏิภาณ ปัญญา พอสมควร ก็คงไม่ล่ม ไม่ล้มละลาย อะไรหรอก แม้อาตมาจะรวย เป็นหมื่นล้าน แสนล้าน อาตมา มาทางนี้ อาตมาว่า อาตมาคิดถูกแล้ว มาสอน ให้คนรู้จัก สิ่งที่ดีงาม อาตมาว่า อาตมาไม่ได้เสียดาย อาตมา มาปฏิบัติธรรม ได้ฐานอย่างนี้ ได้รู้จักกินน้อย ใช้น้อย อยู่กันอย่างแค่นี้ พอแล้ว สันโดษแล้ว เราอยู่แค่นี้ กินวันละมื้อ เสื้อผ้าหน้าแพร ใช้อย่างนี้ ไปไหนมาไหน ทำงานอย่างนี้ เหนื่อยก็พัก ไม่เหนื่อยก็ทำงานต่อ แล้วก็ช่วยกัน ให้รู้จักโลกียะ รู้จักโลก แล้วก็ละโลก ละโลกียะ ออกมาได้ๆ ๆ อย่างนี้ อาตมาตาย วินาทีนี้ อาตมา ก็ไม่เสียดาย

อ.สุขุม : ทีนี้มีเคล็ดอะไร หรือ ไม่ครับ ถ้าเราเลือกทางเดินชีวิตนี้ แล้วจะไปได้เร็ว อุปสรรคน้อย ต้องทำอย่างไร อย่างถ้าท่านเอา ของท่าน เป็นตัวอย่าง

พ่อท่าน : จะทำได้เร็ว ก็มีอยู่ ๒ ความหมายใหญ่ ๆ ๑.จะต้องเข้าใจถูกต้องตรง ๒.ต้องอุตสาหะ

อ.สุขุม : ทีนี้จะรู้อย่างไรว่าถูกต้อง และตรง ใครจะเป็นคนบอก

พ่อท่าน : ตรงนี้สำคัญ อุตสาหะ ยังพอเข้าใจกันได้ว่า ต้องวิริยะ อุตสาหะ บากบั่น ยังพอเข้าใจกันได้ แต่ว่าถูกต้อง ตรงนี้ มันตัดสินยาก เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้า ถึงบอกว่า เมื่อถึง นานาสังวาสแล้ว ถึงตอน แยกไม่ออก แล้วนี่ พระพุทธเจ้าเอง ก็ไม่ตัดสิน อันนี้ท่านถึง ทำเป็นหลักวินัย ไว้ในโลก พอถึง นานาสังวาส ซึ่งหมายความว่า ยังเป็นพุทธร่วมกัน แต่มีความต่างกัน ด้วยกรรม ด้วยอุเทศ และ ศีลไม่สามัญตา เสียแล้ว เช่น ความเห็น ที่แยกกันเป็น ๒ ด้าน เมื่อความเห็นแยกกัน เป็น ๒ ด้านแล้ว พระพุทธเจ้า ท่านให้ตัดสินอย่างนี้ ให้ไปฟังความ ทั้งสองข้าง คุณไปศึกษา สองข้างเลย ข้างนี้ ก็ศึกษา ข้างโน้นก็ศึกษา แล้วคุณนั่นแหละ เป็นตัวจริง คุณก็ใช้ปัญญา ของคุณ ให้มีปัญญา มากที่สุด เท่าไหร่ ให้คุณเลือก คุณก็ตัดสินว่า อันไหนที่เห็นว่าธรรม คุณก็เอา อันไหนเห็นเป็นอธรรม คุณก็อย่าเอา อะไรเป็นธรรมวาที อะไรเป็น อธรรมวาที อะไรเป็นธรรม คุณก็เอาอันนั้น อะไรเป็นอธรรม คุณก็ไม่เอาอันนั้น อันนี้เป็นอิสร เสรีภาพ พระพุทธเจ้า ไม่บังคับ เรื่องนานาสังวาส ที่เกิดนี่ ต้นเรื่อง แค่หงายขันน้ำ กับคว่ำขันน้ำ เท่านั้นเอง พระพุทธเจ้า จะตัดสิน ก็ได้ว่า ใครถูกใครผิด แต่ท่านไม่ตัดสิน ท่านสร้าง หลักเกณฑ์นี้ ไว้ให้แก่สังคม ให้เห็นความเป็นอิสร เสรีภาพ ของพุทธ อย่าไปทะเลาะกัน ต่างคน ต่างอยู่ เพราะเรา ห้ามไม่ได้ ในความคิดเห็น ที่แตกต่างกัน แม้แต่เป็น อรหันต์แล้ว ยังเห็นบางอย่าง แตกต่างกันได้เลย ส่วนการวางนั้น พระอรหันต์ทุกองค์ ท่านวางได้เท่ากัน แต่ความคิดเห็น ที่ต่างกันนั้น ท่านเห็น ต่างกันได้

อ.สุขุม : สิ่งดีๆ เหล่านี้ คิดว่าท่านคงไม่อยากเห็นเฉพาะ อยู่ในอโศก เท่านั้น ลักษณะที่จะมี การเชื่อมโยง ออกไปสู่ สังคมภายนอกนี่ ท่านทำอย่างไร

พ่อท่าน : อาตมาทำอย่างระมัดระวังมาก ที่จะให้เชื่อมโยง ไปข้างนอก จนกระทั่ง มีหลายคน เข้าใจผิดว่า มันทำแต่ เฉพาะพวก ของมัน มันไม่ออกข้างนอก มีคำกล่าว อย่างนี้ด้วย อาตมา ขอยืนยันว่า เราออกไป ข้างนอก เรามีการสื่อสาร เรามีหนังสือ นิตยสาร อยู่ตั้ง ๔ - ๕ ฉบับ เราก็ออกไป วิทยุเราก็ทำ

อ.สุขุม : เว็ปไซต์ มีหรือยังครับ

พ่อท่าน : ไม่เอา เว็ปไซต์ยังไม่เอา เว็ปไซต์อินเทอร์เนต ยังไม่เอา เพราะว่ามันมีเรื่องอื่นๆ ที่เราคุมไม่ได้ มันเร็วเกินไป แล้วมันมากเกินไป คว้าไม่ทัน แม้แต่ออกโทรทัศน์ อาตมาเอง ก็ยังไม่ส่งเสริมมาก เพราะมันกว้าง มันเร็ว มันมีผลมาก อาตมาไม่ต้องการ ให้มันเร็ว ในช่วงนี้ มันยังมีสัดส่วน ที่ยังแพร่เร็ว ไม่ดีแน่ๆ อาตมา ไม่ต้องการปริมาณ ในตอนนี้ อาตมาต้องการ คุณภาพ อาตมาไม่กลัวเลยว่า จะไม่มาก อาตมากลัว อย่างเดียว ไม่จริง ถ้าไม่จริงแล้ว เหลวเละแน่นอน ขอให้จริง แม้น้อยก็ไม่กลัว อาตมาถึงบอกว่า ไม่กังวลหรอกว่า จะมีมาก หรือ ไม่มาก จะมีกี่เปอร์เซ็นต์ อโศกจะมีเท่าไหร่ อาตมาเอาที่เนื้อแท้ ว่าจริงมั้ย ได้ธรรมะ แน่มั้ย บรรลุธรรมแน่มั้ย ถ้าบรรลุธรรมแน่จริงแล้ว ก่อนอาตมาจะตาย อยู่กับอาตมา เห็นหน้า เห็นตาได้ตั้ง ๑๐ ปี ๒๐ ปี ๓๐ ปี เอ้าอยู่ด้วยกันไป จนกระทั่งตาย อาตมาแน่ใจว่า พวกนี้ไม่เปลี่ยนแปลง มีแต่พัฒนา มีการก้าวหน้า มันจะมีอัตรา การก้าวหน้า อย่างได้สัดส่วน ที่ถูกต้อง ทั้งคุณภาพ และ ปริมาณไปอย่างดีเอง

เพราะฉะนั้น การที่จะเชื่อมโยงไปข้างนอกนี่ จึงระมัดระวัง ตรงนี้อยู่ กลัวมันจะออกไปเร็ว กลัวมันจะฟ่าม ที่จริงลึกๆ นี่ขออภัย อย่าหาว่าคุยตัว ของดีคนอยากได้ อาตมาเชื่อแน่ ว่านี่ดี แล้วคนก็อยากได้ แล้วอาตมา กลัวคนตื่นว่านี่ดี คนตื่นนี่ ยิ่งกว่าช้างตื่น ม้าตื่น มาแล้ว ตายเลยนะ มันยิ่งกว่า จะมาเอาหวย แล้วมันจะพังจริงๆ อันนี้ต้องระมัดระวัง ต้องใช้ศิลปะวิธี อย่างมากเลย มันซ้อนอยู่ลึกๆ เหมือนกัน

อ.สุขุม : สิ่งที่ท่านทำมาตลอด ๓๐ ปี มีการเปลี่ยนแปลง ไปเร็วมาก เพราะท่านขยายออกไป ตั้งหลายจังหวัด เชื่อว่าท่านก็ต้องมีปัญหาบ้าง จะไม่มีปัญหาเสียเลย ก็ดูกระไร

พ่อท่าน : อาตมาเป็นคนไม่มีปัญหา อาตมาเชื่อว่า อาตมาเป็นคนมีปัญญา แต่คนนั่นแหละ มีปัญหากับอาตมา แล้วอาตมาก็ต้องใช้ปัญญา แก้ปัญหาอยู่เรื่อยเลย อาตมาไม่มีปัญหาหรอก อาตมาเข้าใจเขา

อ.สุขุม : แล้วถ้าเขาคิดว่า ท่านมีปัญหากับเขา ไม่ใช่ปัญหาจากเขา แล้วใครถูกใครผิด

พ่อท่าน : ไม่ ไม่ อันนี้เขาเข้าใจผิด เช่นเขาเข้าใจว่า อาตมาทำ ธรรมวินัยวิปริต อย่างนี้เป็นต้น เขามามีปัญหากับอาตมา เขามาตั้งข้อหา ว่าอาตมา ทำธรรมวินัยให้วิปริต อาตมาก็มีปัญญาอยู่ว่า อาตมาก็ตรวจสอบ ตามธรรมวินัย อาตมาไม่ได้ทำ ธรรมวินัยวิปริตเลย เขาต่างหาก วิปริตไปจาก ธรรมวินัยเอง อาตมาก็จบ เพราะอาตมารู้แล้วว่า อ๋อ!เขาวิปริตไปจาก ธรรมวินัยเอง

อ.สุขุม : ตรงนั้น ไม่ใช่ปัญหา ของท่าน

พ่อท่าน : ไม่ใช่ปัญหา ของอาตมา แต่เขาเข้าใจผิด ว่าอาตมา ทำธรรมวินัยให้วิปริต เขาก็เลย ไม่รู้จักจบ เขาก็เล่นงานอาตมา อยู่อย่างนั้นแหละ ตลอดเวลานี่ เอาปัญหามาให้อาตมา อาตมาก็วางใจ แล้วอาตมา ก็ไม่มีปัญหา อาตมาก็ไม่ได้ ทุกข์อะไรนี่ อาตมาเข้าใจ อ๋อ!เขาเป็นอย่างนี้นี่ เขาเข้าใจว่า อาตมาผิด เพราะฉะนั้น คนนี่นะ อาตมามีโศลก อยู่อันหนึ่งว่า

ปราชญ์จะเห็นความผิด ของคนผิด ว่าถูก ใช่ล่ะ ส่วนคนโง่ จะเห็น ความถูก ของคนถูก ว่าผิด ก็ฉะไล่

อ.สุขุม : งั้นถึงจะมีพวกนี้บ้าง ก็ไม่ได้บั่นทอน

พ่อท่าน : ไม่ ไม่ อาตมาว่าเป็นเรื่องธรรมดา ไม่มีซิ กลับจะเป็นโลก ที่ประหลาด เป็นโลก ของควาย ไม่มีความเห็นต่าง ผู้นำว่ายังไง เออ ตามกันไปหมด นี่มันเป็นกลุ่ม ของควาย อาตมาไม่ต้องการหรอก โลกสังคมแบบนี้ สังคมควาย สังคมที่คนโง่ มีผู้นำอยู่คนเดียว แล้วคนอื่นก็ตาม ไม่มีอะไร ความสามัคคีนี่ จะต้องมีความขัดแย้ง อันพอเหมาะ ไม่มีความขัดแย้ง ไม่เกิดการพัฒนา มันจะกลายเป็น มะลื่อทื่อ แล้วยิ่งจมดิ่ง เน่า หยุด เย็นชืด มันไม่พัฒนา พัฒนาจะต้องมี สิ่งที่วิจัยวิเคราะห์ มีอันนี้ต่าง จึงจะเกิดการพัฒนา แล้วจะมีของใหม่ ของเก่าๆ อะไรดีรักษา อะไรไม่ดีเปลี่ยนแปลง ทุกอย่างอยู่ในความไม่เที่ยง

อ.สุขุม : มาจนถึงวันนี้ มีอะไรบ้างครับ ที่ท่านอยากจะทำ แล้วยังไม่ได้ทำ มีมั้ยครับ

พ่อท่าน : ไม่มี อาตมาว่า อาตมาทำหมดแล้ว เป็นแต่เพียงว่า ทำซ้ำทำซาก ทำเพื่อที่จะให้คน พัฒนาขึ้น แม้แต่การบรรยายธรรมะ มีอยู่บ้างในแนวลึก ที่อาตมา ยังไม่ได้พูดออกไป ยังไม่ได้เขียนออกไป แต่ก็อยู่ในหลักใหญ่ ซ้ำซากเดิมนั่นแหละ ซึ่งลึกละเอียดยิ่งๆ ขึ้น ก็เลยยังคิดอยู่ว่า อาตมาอายุมากขึ้น คงจะต้องเขียนหนังสือ มากขึ้น เขียนในสิ่งที่ยาก ที่จะบรรยายเป็นภาษา ต้องใช้ concentrate มากเลย เพราะว่า บรรยายนามธรรม มาเป็นสื่อ ออกมาเป็นภาษา เหมือนอย่าง กบกับปลา อยู่ในน้ำ กับกบอยู่บนบกนี่ ปลาไม่เห็นอะไรบนบก อย่างกบนี่ ไปเห็นมาแล้ว เอามาพูด ให้ปลาฟัง จะทำยังไง ให้ปลารู้ ยากมาก

อ.สุขุม : ท่านคิดว่า จะมีอย่างโพธิรักษ์ ๑ โพธิรักษ์ ๒, ๓, ๔, ๕ มี หรือเปล่า หรือว่า ถ้าโพธิรักษ์หมด ก็หมดแล้ว

พ่อท่าน : อันนี้นี่ พูดแล้ว เปิดช่องให้คุย มันยังไงน่ะ อาตมารู้ตัวว่า อาตมาเป็นใคร แต่อาตมา ไม่ได้เป็น พระพุทธเจ้า นั้นแน่ๆ มีคนประชด เท่านั้นเอง อาตมาบอกมา ตลอดเวลาว่า อาตมาเป็นโพธิสัตว์ อาตมาไม่ได้พูดเล่น อาตมาเป็นสมณะ ทำงานมา ขนาดนี้ อาตมาขอยืนยันว่า อาตมาพูดความจริง อาตมารู้ อย่าถามเลยว่า อาตมาเป็น โพธิสัตว์ ได้อย่างไร คืออะไร เป็นเรื่องอจินไตย ที่พูดๆมา มันก็ดูใหญ่ ดูอวดมากแล้ว แต่ที่จริง มันมากเกินกว่านั้น

เพราะฉะนั้น อาตมาเป็นโพธิสัตว์ ถึงมาทำงานเรื่องนี้ ถ้าถามว่า โพธิรักษ์ ๒ โพธิรักษ์ ๓ โพธิรักษ์ ๔ มีมั้ย มันไม่มีหรอก แต่ความเป็นธรรมะ ของพระพุทธเจ้านั้น มีต่อไป เหมือนกับ พระพุทธเจ้า มีองค์เดียว ท่านปรินิพพานไปแล้ว สงฆ์ทั้งหลาย ก็นำพา ศาสนาไป เพราะฉะนั้น วิธีการ ของพระพุทธเจ้า ถ่ายทอด ให้ศาสนาสืบได้ คือ ตราไว้เป็น ธรรมวินัยนั้น หนึ่ง สองให้สงฆ์ศึกษา ธรรมวินัยให้ได้ และ ให้อยู่รวมกัน เป็นสงฆ์ อย่าให้แตกนิกาย อย่าให้แยกกัน ให้เป็นสามัคคี ท่านก็สอนไว้ คนนี้มีจริต อย่างนี้ๆ สอนไว้ องค์นี้รับอย่างนี้ องค์นั้น รับอย่างนั้น อิสีติสาวก ของพระพุทธองค์ รับไว้ คนละสัด คนละส่วน รวมแล้ว อิสีติสาวกทั้งหมด และ พุทธบริษัท ๔ นั่นแหละ คือพระพุทธเจ้า แต่ละองค์ ไม่สามารถ จะรับเอาทั้งหมด ของพระพุทธเจ้า มาไว้ที่ องค์เดียวได้ ไม่มีสิทธิ์ เป็น อฐานะ ทำไม่ได้ ฉันเดียวกัน อาตมาไม่ใช่คุยตัว สมณะแต่ละองค์ จะรับเอาอาตมา ไปเป็นอาตมา เป็นโพธิรักษ์ ๒ โพธิรักษ์ ๓ ไม่ได้ แต่อาตมาพยายาม ให้องค์นี้ๆ ๆ ๆ รับไว้ๆ ๆ ๆ แต่ละองค์ต่างๆ กัน พยายามอย่างมาก ไม่มีปิดบัง ถ่ายทอดให้หมดๆ เท่าที่จะทำได้ ให้ได้มากที่สุด ทั้งฆราวาสด้วย แม้แต่ฆราวาส ก็เป็นอิสีติสาวก ด้วย ของพระพุทธเจ้าน่ะ นี่อย่าหาว่า อาตมาล้อเลียน พระพุทธเจ้า ไปยกตัวเท่าเทียม พระพุทธเจ้า ไม่ใช่ แต่ทำนัยเดียวกัน แบบเดียวกัน และ ไม่เท่าเทียม พระพุทธองค์ เท่านั้น


 

เจาะใจ ดร.สมภาร

ช่วงบ่ายเป็นรายการ "เวทีชาวบ้าน" เป็นการสนทนาสัมภาษณ์ วิถีชุมชน ชาวพุทธ อ.สุขุม เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยมีผู้ร่วมรายการ ดร.สมภาร พรมทา พ.ต.หญิง ศิริลักษณ์ ศรีเมือง ท.ญ.ฟากฟ้าหนึ่ง อโศกตระกูล นางมณทิรา ติยวัชรพงศ์ และ ชาวชุมชน ปฐมอโศก ข้าพเจ้าขอคัด เฉพาะส่วนที่ ดร.สมภาร ได้แสดงความเห็น ถือเป็นมุมมองอโศก ในฐานะนักวิชาการ ที่น่าสนใจ ดังนี้

อ.สุขุม : อ.สมภารครับ เห็นคนเขาบอก ศาสนาพุทธนี่ฟังดูดี แต่ปฏิบัติ ไม่ค่อยได้ แต่จริงๆ ที่นี่ปฏิบัติได้ อาจารย์คิดอย่างไร ในเรื่องนี้

ดร.สมภาร : คือชาวพุทธเรา ตามธรรมเนียม เราเข้าใจว่า การปฏิบัติธรรม มันแยกจาก กิจกรรม ในชีวิตประจำวัน อันนั้น เป็นความเข้าใจดั้งเดิม ทีนี้อย่าง ชุมชนอโศกนี่ เข้าใจเรื่อง การปฏิบัติธรรม อีกแบบหนึ่ง คือเข้าใจว่า การปฏิบัติธรรม กับชีวิต มันแยกกันไม่ได้ เพราะฉะนั้น ที่อื่นนี่ เขาอาจจะทำงาน เป็นนายธนาคาร เป็นพ่อค้า เขาก็ทำงานเขาไป ใช่ไหมครับ พอวันหยุด เขาก็ไปวัด แล้วเขาก็เข้าใจว่า การไปวัด แบบนั้น นี่ เป็นการปฏิบัติธรรมนะ

ทีนี้ ผมเข้าใจว่า สิ่งที่ทางชุมชนอโศก ทำนี่นะ มันเป็นการเข้าใจคำว่า ปฏิบัติธรรม อีกแบบหนึ่ง นะครับ เพราะฉะนั้น อย่างที่อาจารย์ ถามผมนี่ พุทธศาสนา อาจจะดี แต่คนเห็นว่า ทำยากนี่ ถ้าเข้าใจศาสนา แบบสันติอโศกนี่ ใช่ ยาก นะครับ แต่ถ้าเข้าใจ ศาสนาแบบอันแรก ที่ผมพูดนี่ อันนั้น อาจจะไม่ยาก วันอาทิตย์ ก็ไปวัด แล้วไม่ต้อง ทำอะไรมาก แค่ทำบุญ ให้ทาน

อ.สุขุม : เขาถือว่าเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี อย่างนั้น ก็ได้ แต่ไม่ต้อง ปฏิบัติธรรมะ

อ.สมภาร: ครับ

อ.สุขุม : แต่ที่นี่อย่างน้อย ต้องถือศีล ๕ แล้วก็มังสวิรัติ ละอบายมุข

ประเด็นต่อมา หลังจากที่ได้มีการสนทนา ซักถามถึง ความยากลำบาก และ การปรับตัว เข้ากับวิถีชีวิต ของชุมชน ที่แต่ละคน ได้ก้าวเข้ามา ใช้ชีวิตร่วมกัน…

อ.สุขุม : รู้สึกว่า ไม่มีใครมีปัญหา เรื่องปรับตัวเลย อาจารย์ฟังดูว่า ยากมั้ย

ดร.สมภาร : อ๋อ! ยากแน่นอน

อ.สุขุม : ฟังดูเป็นไงครับ อ.สมภารครับ คล้ายๆกับ ถ้าอยู่ พวกมาก ลากไปทางดี ก็ไม่ยาก ถ้าพวกดีด้วยกัน ทั้งนั้น ใช่มั้ยครับ

ดร.สมภาร : ใช่ ใช่ ครับ คือผมคิดว่า ชุมชนอย่างอโศกนี่ มีลักษณะที่ดี อย่างหนึ่งนะครับ คือ ปัญหาหนึ่ง ที่ศาสนาส่วนใหญ่พบ ไม่ใช่พุทธศาสนานะ ศาสนาอื่นๆ ด้วยที่พบก็คือ คำสอน ของศาสนา ค่อนข้างจะดี แต่ว่าเวลา สอนแล้วนี่ คนยากที่จะเอาไป ปฏิบัตินะครับ คือมนุษย์เรา ผมเชื่อว่า มีลักษณะอันหนึ่ง ก็คือว่า ถ้าเราได้อยู่ในกลุ่ม หรือ ในสมาคม ที่มีพลังผลักดันเรา ในทางที่ดี เราจะถูกพลัง ที่ว่านั้น ผลักดันให้ทำดี ซึ่งเราอาจ จะไม่ต้องฝืน ตัวเองมาก เพราะว่า บรรยากาศให้ ทุกอย่างให้ ใช่มั้ยครับ เพราะฉะนั้น ผมคิดว่า ถ้ามองในแง่ ที่มาอยู่ ในชุมชน แล้วชุมชน ให้พลังนี่ อาจจะไม่ยากนะ อาจารย์

เรื่องการศึกษา ก็เป็นสิ่งที่ อ.สุขุม สนใจ ซักถามมาก กับนักเรียน หลายๆ คน ตั้งแต่ การเข้ามาอยู่ มาเรียน การใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป การเรียน และ การทำงาน ตามฐานงาน ต่างๆ ที่เด็กแต่ละคน สนใจเลือก ที่จะทำ ไม่ว่าจะเป็น ฐานงาน สมุนไพร ฐานงานเห็ด ฐานงานขยะ และ คอมพิวเตอร์ ฐานงานตัดเย็บเสื้อผ้า ฐานงานกสิกรรมธรรมชาติ และ ฐานงานซีอิ๊ว เต้าเจี้ยว (ยังมีฐานงานอื่นๆ อีกที่ไม่ได้สนทนา สัมภาษณ์ เช่น ฐานงานช่าง ฐานงานครัว ฯลฯ)

อ.สุขุม : อาจารย์ครับ ที่นี่เขาดีนะครับ เรียนหนังสือนี่ดีนะ รู้สึกว่า จะมีการให้เด็ก ได้ฝึกอะไร ที่สามารถ ไปทำได้จริงๆ ผมถามดู รู้สึกว่า ตอบได้จริงๆ ไม่เหมือน โรงเรียนทั่วไป ให้ไปปลูกผัก พ่อแม่ทำให้หมดเลย อาจารย์มองดูอย่างไร การศึกษาที่นี่

ดร.สมภาร : ครับ คือปัญหา ของการศึกษา สมัยใหม่นี่คือ สอนให้เด็ก เรียนหนังสือ อย่างเดียว ไม่ให้ทำงานนะครับ แล้วความเข้าใจ แม้แต่ในผู้ปกครอง ผู้ปกครอง จำนวนมากบอก ลูกไม่ต้องทำงาน เรียนหนังสืออย่างเดียว พ่อแม่ก็พอใจแล้ว ใช่มั้ยครับ ลูกก็จะเรียนแต่หนังสือ งานที่บ้าน ก็ให้คนใช้ทำ ใช่ไหมครับ ทีนี้ระบบ การศึกษา แบบนี้นี่ มันมีข้อบกพร่องมา ก็คือว่า มันจะปลูกฝัง ทัศนคติ ทำให้เด็ก ซึ่งต่อไป เขาโตเป็นผู้ใหญ่ รังเกียจการทำงาน ด้วยตนเอง เวลามีปัญหาอะไร ในบ้าน คนใช้ออกสักคน ก็ยุ่งไปหมด ใช่มั้ยครับ เพราะฉะนั้น ผมว่าที่นี่ดี คือ ผมมองไปไกล ด้วยซ้ำไปว่า คนซึ่งจะต่อไป ไม่แน่นะครับ เด็กที่อยู่ในที่นี้ อาจจะไปเป็น ผู้นำชาติ เป็นผู้มีอำนาจ ในการตัดสินใจ ในหลายเรื่อง ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ๆ

ผมคิดว่า การปลูกฝังให้คน เห็นความสำคัญ ของการงานนั้น เป็นเรื่องสำคัญ คนซึ่งไม่เคย แตะงานเลยนี่ เวลาคิดถึงคนอื่น คิดถึงชาวนา คิดถึงกรรมกร คิดถึงคนอื่นนี่ นึกไม่ออกครับ ว่าเขาทุกข์ยาก ลำบากยังไง

…ในช่วงท้าย ของการสนทนา "วิถีชุมชนชาวพุทธ"…

อ.สุขุม : อาจารย์มองดูว่า ลักษณะชุมชนอย่างนี้ มันจะเกิดในสังคมไทย ได้ง่ายมั้ย

ดร.สมภาร : คงไม่ง่ายหรอกครับอาจารย์ แต่ผมคิดอย่างนี้ครับ อาจารย์ ผมคิดว่า ความสำคัญ ของชุมชนอโศก นี่คือ ให้ทางเลือกกับคน ซึ่งไม่มีอะไรเลือก ที่จริงเราบอกว่า การอยู่ในสังคม สมัยใหม่ สังคมประชาธิปไตย มนุษย์ควรจะ มีสิทธิ์เลือก ใช่มั้ยครับ แต่จริงๆ เราไม่มีอะไร ให้เลือกเลยนะ แม้แต่การนับถือ ศาสนานี่ ผมก็คิดว่า ไม่มีอะไรให้เลือก ทีนี้การมีชุมชน อย่างชุมชน อโศกนี่ มีข้อดีตรงที่ ให้ทางเลือกกับคน ซึ่งคิดว่า ไม่ชอบสิ่งที่เป็นอยู่ ในเวลานี้ ก็เลือกมา ใช่มั้ยครับ แล้วชุมชนแบบนี้ ผมคิดว่า คงเกิดยาก แล้วผมก็ไม่อยาก ให้มีมากด้วย ผมคิดอย่างนี้ครับ อาจารย์

อ.สุขุม : ทำไมครับ ของดีมีมาก ก็ยิ่งดีซิครับ

ดร.สมภาร: ไม่หรอกครับอาจารย์ คือ ผมคิดว่า ชุมชนอย่าง ชุมชนอโศกนี่ เป็นชุมชน ทวนกระแสโลก ทีนี้ผมคิดว่ายังไง โลกปัจจุบัน กับโลกในอนาคต อีกหลายร้อยปี มันจะยังเป็นโลก

ซึ่งตามกิเลสอยู่นะครับ แต่ในบรรดาโลก ซึ่งตามกิเลส มันคงมีคน จำนวนหนึ่ง ซึ่งไม่อยากจะตาม คราวนี้พวกนี้ ไม่รู้จะไปไหนครับ ผมคิดว่าจุดดี ของชุมชน อย่างที่ชุมชนอโศก ก็คือว่า ใครซึ่งไม่อยากตามก็มา เราก็จะได้ คนพวกนี้ มานะครับ

แล้วผมคิดว่า ชุมชนเหล่านี้ คงไม่สามารถ จะหมุนโลกทั้งโลก ให้เป็น อย่างที่เราเป็น นะครับ ซึ่งผมคิดว่า การที่เราหมุนไม่ได้นี่ ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย ไม่ใช่เรื่องซึ่ง ควรจะเสียใจ โลกคงต้องเป็นอย่างนั้น นะ

อ.สุขุม : คือพวกนี้ไม่ได้

ดร.สมภาร : ครับ

อ.สุขุม : แต่ถ้าขยายได้ ทำไมจะไม่ดี ที่อาจารย์บอกว่า ไม่อยากเห็นว่า ขยายมากขึ้น

ดร.สมภาร : เมื่อเช้า ผมฟังท่านโพธิรักษ์พูด ผมค่อนข้างจะเห็นด้วย กับท่านนะครับ บางที การที่เรามุ่งเน้น ปริมาณนี่ มันทำให้เรา จำเป็นที่จะต้อง ปรับมาตรฐาน บางอย่างลง อันนี้ผมคิดว่า เลี่ยงไม่ได้เลย ในการที่จะขยาย ต้องปรับมาตรฐาน นะครับ คราวนี้ พอปรับมาตรฐาน จากรุ่นหนึ่ง สู่อีกรุ่นหนึ่ง มาตรฐาน ของเรา ก็จะลดลง เรื่อยๆ นะครับ

เพราะฉะนั้น ผมคิดว่ายังไงนี่ ขอให้มาตรฐานดีเอาไว้ ถึงไม่มาก แต่ผมคิดว่า มันเป็นบทเรียน เป็นสิ่งที่ให้แง่คิด บางทีผมคิดว่า สันติอโศกนี่ คนอาจจะมอง อยู่ข้างนอก หลายคน อาจจะเห็นด้วย กับสิ่งที่ทำอยู่ ถึงเขาจะไม่ประกาศตัว ว่ามานับถือ หรือ มาร่วมกิจกรรม หลายอย่าง อาจจะมีอิทธิพล ต่อวิธีคิด มันจะได้ส่วนนั้น

อ.สุขุม : อาจารย์วิเคราะห์ยังไง อาจารย์ได้ข้อมูลตรงนี้นี่ มองดูว่า ในอนาคตอีก ๑๐ ปี ๒๐ ปีนี่ ชุมชนแบบชาวอโศกนี่ จะโตขึ้น ด้วยตัวมันเอง หรือ ว่าจะเป็นรูปแบบ ที่ทำให้เกิด ชุมชนอื่น ที่ใกล้เคียง อาจจะไม่เหมือนกัน เปี๊ยะเลยนะ อาจจะไม่ถือศีล ๕ อาจจะถือศีล ๕ แต่ไม่มังสวิรัติ อะไรอย่างนี้นี่ แต่ยังยึดหลักธรรมะ ในการดำรงชีวิต มากขึ้น คิดว่าจะเป็น อย่างไรครับ

ดร.สมภาร : ผมว่าคำตอบอาจจะขึ้นกับ เราลองไปดู ประวัติศาสตร์ ที่ผ่านมา ผมคิดว่า ชุมชนอโศกนี่ ไม่ได้โต อย่างรวดเร็ว แต่ว่าจะโตทีละนิดๆ อย่างสม่ำเสมอ นะครับ ทีนี้ถ้ามอง ในอนาคตนี่ ผมเชื่อว่า คงไม่โตมากนะครับ แต่การที่ไม่โตมาก ผมคิดว่า ไม่ใช่ปัญหานะครับ คือ เวลานี้ โดยส่วนตัว ผมเชื่อว่า สิ่งที่ชุมชนอโศก ในที่ต่างๆ ทำเวลานี้นี่ ผมคิดว่าเพียงพอ สำหรับ การรับคน ประเภทหนึ่ง ซึ่งผมเรียกว่า คนซึ่ง เขาอยากจะหา ทางเลือกอื่น ผมคิดว่าศาสนา ไม่ควรจะไปพยายาม ดึงคน ซึ่งเขาไม่อยาก จะมานะ ผมคิดว่างานหลัก ของศาสนานี่คือ ทำยังไง สำหรับคน ซึ่งเขาไม่อยากจะตาม กระแสโลก เขาอยากจะไปในทาง กระแสธรรม เรามีที่ที่เหมาะ ให้กับเขานี่นะ ผมคิดว่า ชุมชนอโศก เท่าที่มีอยู่ เวลานี้นี่ สนองงานตรงนี้ ได้พอเหมาะ พอดีแล้ว เพราะฉะนั้น จะเพิ่มอีกนิดหน่อย ผมก็คิดว่า เป็นไปได้ แล้วก็คิดว่า การเพิ่มในปริมาณ ซึ่งไม่มาก ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย หรือ ไม่ดี


 

ญี่ปุ่นสนใจ

๓๐ ส.ค.๒๕๔๓ ที่สันติอโศก สถานีโทรทัศน์ เอ็น เอช เค (NHK) ของญี่ปุ่น ได้ส่งคณะถ่ายทำ รายการโทรทัศน์ มหาวิทยาลัย ทางอากาศ (UNIVERSITY OF THE AIR) โดยมี PROF. MASAKI ONOZAWA อาจารย์ ของมหาวิทยาลัย ทางอากาศ

MR.KOJI OGAWA ผู้ผลิตรายการ ของมหาวิทยาลัย ทางอากาศ คุณผุสดี นาวาวิจิตร อดีตอาจารย์ภาษาญี่ปุ่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นล่าม

และ คณะถ่ายทำรายการอีก ๓ - ๔ คน ได้มาสัมภาษณ์ พ่อท่าน เกี่ยวกับแนวคิด และ แนวปฏิบัติ แบบสันติอโศก ตั้งแต่ ช่วงเช้า ๗.๓๐ น. ต่อด้วยการถ่ายภาพ กิจวัตร กิจกรรมต่างๆ ตั้งแต่ การฟังธรรม การรับประทานอาหาร การทำงาน ในฐานงานต่างๆ ร้านค้า และ สินค้า ของชุมชน การจัดทำเอกสาร เผยแพร่ข่าวสาร เท็ปธรรม วิดีโอ การทำการเกษตร

หลังจากได้ซักถามแนวคิด และ การปฏิบัติธรรม ของชาวอโศก โดยพ่อท่าน ได้อธิบายแทรก ระบบบุญนิยม ที่แตกต่าง จากทุนนิยม


คำถามสุดท้าย

PROF.MASAKI ONOZAWA : ลักษณะเช่นนี้ จะเกิดขึ้นได้ ในประเทศอื่นๆ ได้หรือไม่

พ่อท่าน: อ๋อ!ได้ ไม่ได้จำกัด มนุษย์ทุกผู้ทุกคน ทำได้ เพราะฉะนั้น จะเป็นชาติไหน เป็นชนชาติญี่ปุ่น ชนชาติอเมริกัน ชนชาติสวีเดน อะไรได้ทั้งนั้น ได้ทุกชนชาติ ขอให้มาศึกษาให้จริง มาศึกษา ให้เข้าใจจริง ถูกต้อง และ ปฏิบัติ ให้ได้มรรคผล ดีๆ แท้ๆ ไม่จำกัดมนุษย์ ไม่จำกัดเชื้อชาติ สากลทั่วโลก โลกลูกอื่นก็ได้ ถ้าจะมีมนุษย์ ต่างดาวมา ถ้าปฏิบัติได้ แล้วแต่กรรม ไม่ได้จำกัดจริงๆ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่อง พูดเอาใจ ไม่ใช่พูดเล่นๆ เป็นเรื่องจริง มนุษยชาติ ที่มีอาการ ๓๒ ครบครัน เรียกว่ามี สุรภาโว สติมันโต ปฏิบัติได้ มรรคผล ของพระพุทธเจ้า

รักข์ราม ๒๔ ก.ย.๒๕๔๓

end of column
หน้าแรก หน้าต่อไป