หน้าแรก หน้าต่อไป
บันทึกปัจฉาสมณะ โดย สมณะแน่วแน่ สีลวัณโณ ตอน...
โพธิกิจ ๓ ทศวรรษ
๓๐ ปี โพธิกิจ
หนังสือพิมพ์สารอโศก
อันดับที่ 232 เดือนมกราคม 2544
หน้า 2/2

หลังจากที่สีมาอโศก และ ราชธานีอโศก บอกเล่าปัญหา ขัดแย้งภายใน พ่อท่านให้ข้อคิด ปิดท้ายว่า “ปัญหาสีมาอโศก เกิดจากทิฏฐิ ไม่สามัญญตา และ อินทรีย์พละ ไม่แข็งแรงพอ จึงไม่กล้าคุย ไม่ปรับแก้กัน

เท่าที่พูดกันมานี่ มหาปวารณาคราวนี้ดี มีบทบาท วิเคราะห์วิจัย เป็นปัญหาเรื่อง ของ อัตตามานะทั้งสิ้น มิใช่กาม

ถ้าใครฉลาดก็พึงรู้ว่า เรามาปฏิบัติธรรม ก็ต้องลดกาม และ อัตตามานะ หากไม่มีกามมาก ก็เหลืออัตตามานะ ซึ่งเป็นเรื่องจริง ของแต่ละคน ใครฉลาด ก็จะรู้เลยว่า นี่แหละกิเลสเรา

มหาปวารณาไม่มีแย้ง มีแต่ยอม แม้ถูก หรือ ผิดก็ไม่แย้ง เขาว่าถูก ของเรา หรือ ว่าผิด เราก็ต้องยอมรับฟัง ผู้ไม่ได้ถูกชี้ขุมทรัพย์วันนี้ ก็พึงศึกษาเอาประโยชน์ จากนิทาน อันเดียวกัน”

๔ พ.ย. ๒๕๔๓ ที่ปฐมอโศก เป็นการประชุมมหาปวารณา วันที่สอง มีประเด็นที่พูดถึง การกราบที่ต่างกัน ของสมณะ จากภูผาฟ้าน้ำ กับสมณะ จากพุทธสถานอื่น ทำให้เด็กนักเรียนหัวเราะ การกราบช้า ของสมณะ จากภูผาฟ้าน้ำ

พ่อท่านเห็นว่า “การฝึกกราบช้าๆ ที่สมณะภูผาฟ้าน้ำ ฝึกทำกันนั้น เป็นการฝึก ที่ดีมากๆ เหมือนกับพวกเรา ในยุคแดนอโศก ที่ยังไม่มีกิจ การงานมาก ก็ได้ฝึก สิ่งพื้นฐานต่างๆ ได้มากกว่าปัจจุบัน แต่สมณะ จากภูผาฟ้าน้ำ เมื่อลงมา จากภูผาฯแล้ว ก็ควรปรับ เข้าหาหมู่ใหญ่ ให้เร็วขึ้น หรือ อย่างเวลา บิณฑบาต ก็ควรเดินเร็วขึ้นมา หากช้าๆ มาเดินที่ปฐมอโศก เดี๋ยวจะมาถึงสายมาก ทางที่ดี พบกันครึ่งทาง หมู่ใหญ่ก็ช้าลงมาหน่อย ทางภูผาฯ ก็เร็วขึ้นหน่อย มันก็จะปรับกันได้ หากช้าพร้อมๆ กัน เด็กเขาก็จะ ไม่หัวเราะ เด็กๆทุกวันนี้ ไม่เคยเห็น การกราบช้าๆอย่างนี้ ซึ่งเป็นการฝึก เหมือนกับพวกเรา เคยฝึกสมัย แดนอโศก”

นอกจากนี้ยังมีเกร็ดเล็กๆ ในการประชุม เมื่อมีผู้เสนอ ให้มีสถานที่ สำหรับสมณะ อายุเกิน ๗๐ ปีไปแล้ว

พ่อท่านไม่เห็นด้วย “ไม่ดีหรอก อย่างสังคมภายนอก เขามีบ้านบางแค มีบ้านพักคนชรา นั้น เป็นความบกพร่อง ของสังคม เป็นความพิการ ไม่เป็นธรรมชาติ อยู่กันไป ร่วมกับสมณะหนุ่มๆ นั้นแหละ จะได้เป็นสังคมปกติ จะได้มีความเอื้อเฟื้อ เกื้อกูลคนแก่” มีเสียงเปรยเย้าๆ ว่าถ้าคิดอย่างนี้ อีกหน่อย พ่อท่านอายุ ๗๐ ปี ก็จะต้องเอาพ่อท่าน ไปเก็บอยู่ที่นั่นด้วยซิ

เมื่อเสร็จจากวาระประชุมต่างๆ พ่อท่านให้โอวาท ปิดประชุม จากบางส่วนดังนี้

“ตอนนี้กระแสของอโศก ผู้อยู่ข้างนอกเขามองเรา ดูดีขึ้นเรื่อยๆ แล้วอย่าเหลิงล่ะ ขณะที่ทางด้าน ศาสนากระแสหลัก ก็แย่ลง มีข่าวออกมา ไม่เว้นแต่ละวัน โล้นนั่น โล้นนี่อยู่เรื่อย แม้แต่ในระดับ พระผู้ใหญ่ ก็เหม็นเน่า แต่ค่านิยม ของ อโศกนี่ ราคาหุ้นขึ้น ซึ่งเราก็พยายาม สร้างจริงๆ ไม่ใช่ปั่นหุ้น เราควรทำสาระ ให้หุ้นของเรา ราคาดีขึ้น ทั้งๆที่เราเป็นหุ้น บริษัทเล็ก ไม่ได้อยู่ในอันดับ อะไรกับเขา แต่ก็ไม่ได้ด้อย แม้จะเล็ก ก็เล็กพริกขี้หนู เล็กมีน้ำหนัก

เราจะพิสูจน์สิ่งจริงนี้ออกไป ช่วยสังคม ประเทศชาติ ผมพูดคำใหญ่ ว่ามันไม่ใช่ เรื่องเล็กหรอก มันจะช่วย โลกทั้งโลก ตอนนี้ หัวหกคะเมนตีคว่ำ ไปทั้งโลกแล้ว มันแผ่อิทธิพลโลกีย์มา โอ้โฮ! นี่ตกเป็นทาสเมืองขึ้น ครอบงำทุกวิถีทางเลย ไม่ว่าจะทาง เทคโนโลยี ทางจิตวิทยา ทางวัฒนธรรม ทางบริโภค การศึกษา การเงิน ด้านเศรษฐกิจ เราก็เป็นทาส ไปตกอยู่ ในเครือข่าย ของมัน ซึ่งมีอำนาจ ไปทั่วโลก

ตอนนี้ผมพาพวกเรา หลุดออกจากวงจร ของมัน หลุดจากสนาม แม่เหล็กโลกีย์ เราไม่มีเศรษฐกิจ อย่างเขา ไม่มีวัฒนธรรมอย่างเขา ไม่มีการบริโภค อย่างเขา แม้แต่การศึกษาก็ออกมา การเมืองก็จะออกมา เราจะทำงานการเมือง เราจะทำ เพื่อออกมา มิใช่ทำ เพื่อให้เข้าไป เป็นอย่างเขาแน่นอน เพราะฉะนั้น คุณพยายามฟัง แล้วก็ติดตามดู อยู่กับผมไปเถอะ แล้วคุณจะรู้ว่า ผมเป็นใคร คำนี้ก็น่าคิดนะ”

ขณะที่มีการเปิดใจ กล่าวถึงความขัดแย้ง ในกันและกัน

สมณะรูปหนึ่ง : เราจะทำใจอย่างไร เมื่อถูกเพื่อนสมณะ ชี้ขุมทรัพย์แล้ว แล้วก็ยินดี แล้วก็ทำอย่างไร ที่เราจะกล้า ชี้ขุมทรัพย์ เพื่อนสมณะได้

พ่อท่าน : เราก็ทำกันอยู่ ฝึกกันอยู่นะ จะทำอย่างไร ก็เห็นความจริง ของ เพื่อน ด้วยปัญญาอันยิ่งว่า เขาบกพร่อง แล้วเขาก็ฝึกตน เพราะว่าจะติเตียน หรือ ว่าจะให้ขุมทรัพย์ คนอื่นเขานี่ ต้องฝึก ต้องมีศิลปวิธี ถ้าให้ขุมทรัพย์แก่เขา โดยไม่มีศิลปะเลยนี่ ดีไม่ดี เราเองจะเจ็บตัว หรือ ไม่ก็โกรธกันจนตาย ดีไม่ดี อาฆาตเอาอีกด้วย นี่เป็นเรื่องจริง ต้องมีฝีมือ มีศิลปวิธี ในการที่จะติเตียน จะทำอย่างไร ก็ต้องฝึกฝน ตอบตายตัว ไม่ได้หรอก แล้วก็แต่ละคน ไม่เหมือนกันนะ ลีลาไม่เหมือนกัน คนคนนี้ ทำอย่างนี้ เออ ดีนะได้ดี รู้สึกเขารับได้ แต่คนนี้ ไปทำอย่างเดียวกัน เหมือนกับเขาทำ เป๊ะเลยนะ ไม่ได้

อย่างคุณกับผมนี่ ผมทำอย่างนี้ เขารับได้ เขายอม เพราะเขา มีศรัทธาอยู่แล้ว แต่คุณไปทำ อย่างผมบ้าง ถ้าเขายังไม่ศรัทธาพอ คุณระวังผลตอบ

การเปิดใจ เป็นไปต่ออย่างเข้มข้น จนถึงขั้น สมณะรูปหนึ่ง เอ่ยปากว่า จะไม่ไปเหยียบ ที่สมณะ คู่กรณี พำนักอยู่

พ่อท่าน : สำนวนที่คุณพูด ผ่านไปเมื่อกี้นี้ “ผมไม่ไปเหยียบก็ได้......” ขอร้องว่า ถ้าเป็นลูกศิษย์ผม ขอให้อย่าใช้ สำนวนอย่างนี้ ในนัยอย่างนี้ได้มั้ย สำนวนอย่างนี้ ไม่งาม ไม่เพราะ (ครับได้ครับ) ผู้ดีไม่พูดลักษณะ อย่างนี้แหละ ของคุณมันมาก คุณมาปฏิบัติธรรม อยู่ที่นี่ คุณได้อะไรดีๆไปเยอะ มีความจริงใจ มีความอุตสาหะวิริยะ มีความเห็นแจ้ง ในสิ่งที่เป็นคุณค่า ประโยชน์ ต่อมนุษยชาติ ต่อโลก คุณมีเยอะ แต่สิ่งเหล่านั้น มันเป็นวิบาก ของคุณ ทำอย่างนี้ มันเป็นผลกระทบ ได้อะไร ก็ได้อย่างลำบาก ปะทะ รุนแรง เอาชนะคะคาน ผมเคยเทศน์ คนที่ยอม คนที่หยุดจบ คนที่ไม่ยอมเถียงอะไร คนนั้นแหละ เป็นคนถูก แม้คุณจะถูกต้อง ขนาดไหน คุณหยุด แล้วคุณก็พอ รู้จักจบก่อน ด้วยใจวาง ด้วยใจสะอาด นั่นแหละ เป็นผู้ที่ชนะก่อน ขณะนี้ คุณจะเอาชนะคะคาน อยู่ตลอดเวลา แง่เล็กแง่น้อย คุณพูดเอง ว่าหุบปาก แต่คุณหุบไม่ลงเลย พอมีปัญหา ก็จะไม่ไปเหยียบ อันนี้มันเป็นลักษณะ ของ พยาบาทที่แท้จริง มันเป็นประชด เป็นอิตถีภาวะ เป็นอกุศลมูลจิต

คุณแสดงกร้าน หรือ กระด้าง หรือ แรงกว่าผม มันผิด คุณไม่ได้รับศรัทธาเท่าผม แต่คุณทำแรงกว่าผมอีก เขาจะทนได้หรือ

คุณต้องรู้มารยาทสังคม และ การประมาณ กรรมกิริยา กาย วาจา ต้องประมาณ ที่ติงคุณนี่ ติงกรรมกิริยา กาย วาจา จิตใจ ของคุณ ผมไม่ว่ามากเลย คุณต้องพยายาม แก้นิสัย สันดาน หรือ วาสนาที่มันมี ในคุณมากอันนี้

สมณะที่เป็นปัญหา : ครับ ผมเปลี่ยนใจแล้วครับ ผมจะไปที่นั่น แล้วผมก็ จะไปจับมือกับท่าน? ใหม่ครับ ผมขอโทษท่าน? ด้วยนะครับ

เสียงหมู่สมณะเปล่งคำ สาธุ ตอบรับ การยอมลด อัตตามานะ

“เอาละนี่ คือมหาปวารณานะ คำถามทั้งหลายแหล่ ที่คุณถามมาทั้งหมด นี่คือคำตอบ เป็นคำตอบที่วิเศษ เป็นคำตอบที่มีตัวอย่าง ที่เป็นของจริง มาเป็นตัวอย่าง ไม่ใช่นั่งอธิบายภาษา ยกแม่น้ำทั้งห้า นี่ไม่ใช่ แม่น้ำ ทั้งห้าเลย คลองของตัวเอง คลองขี้โคลน ของตัวเอง

มหาปวารณาปีนี้ เข้าถึงเนื้อหามากทีเดียว ใช้สำนวน พระพุทธเจ้าก็ว่า จงเข้าใจ โดยปริยาย แม้นี้ให้ได้ ว่านี่แหละคือ มหาปวารณา ที่เราจะได้ประโยชน์กัน แล้วก็ต้อง เข้าใจจริงๆ แล้วเอาไปแก้ไข ปรับปรุง อันนี้จะเกิดประโยชน์” นี่เป็นคำตอบสุดท้าย ของพ่อท่าน

นักวิชาการ เก็บข้อมูลระบบบุญนิยม

๒๓ พ.ย. ๒๕๔๓ ที่สันติอโศก อาจารย์จาก สถาบัน บัณฑิต พัฒนบริหารศาสตร์ ท่านหนึ่ง และคณะ ได้มาสนทนา กับพ่อท่าน เพื่อทำวิจัย ระบบบุญนิยมอีก หลังจากที่ได้ศึกษา สนทนาเก็บข้อมูล มาหลายครั้งแล้ว

มีประเด็นที่พ่อท่าน พูดถึงบุญ ทางโลกียะ และ บุญทางโลกุตระ อย่างน่าสนใจ

“ผู้ที่มีบุญเก่า มีบารมีเดิม เหมือนอย่างพระพุทธเจ้า เกิดมาก็คาบ ช้อนเงิน ช้อนทอง ท่านมีอยู่เก่าแล้ว ท่านก็ไม่เอา ไม่กินบุญเก่า คนที่เกิดมา อยู่ในกองเงิน กองทอง เป็นบุญทางโลกียะ แต่ถ้าเขาไม่มี บุญทางโลกุตระ เขากิน เขาเสพย์ เขาไม่มีคุณธรรมอะไร เขาก็เอาอันนั้น มาเป็นเครื่องมือ ในการทำชั่ว มากยิ่งขึ้น เพราะ เป็นสิทธิ์ของเขา ไม่ผิดอะไร ยิ่งบาปหนัก มีโอกาสที่จะทำบาป ได้มากกว่า

เช่นเดียวกัน คนสวย ได้ความสวยมา โดยบุญโลกียะ ถ้าไม่มีบุญ ทางโลกุตระ จะซวย ผู้ปองร้าย ก็จะเยอะ ผู้ตะกละตะกลาม จะเอาก็จะมาก ตัวเองก็ไม่มี ภูมิทางโลกุตระ กิเลสก็สมคล้อย อีกต่างหาก จะซวย ใช้ความสวย ไปในทางที่ผิด”

ประเด็นต่อมา ที่น่าสนใจ ที่คนมักจะสงสัย ถามกันมาก และ นำไปอ้างก็มาก ก็คือ “การหาให้ได้มากๆ เพื่อเอาไปทำบุญ” ครั้งนี้พ่อท่าน ได้ตอบยกตัวอย่าง ที่ต่างไป จากที่ผ่านมา

“คนที่เข้าใจว่าเราไม่มี เราจะต้องไปหามา ตามวิธี ของทุนนิยม คุณก็จะหามา ให้ได้มากๆ คุณก็ต้อง หาเชิงกล ที่มีเปรียบมาก ได้เปรียบมาก นั่นคือ คุณไปทำบาป แล้วก็เอามาทำบุญ โดยหลักของ บุญนิยม คุณทำบาป มากกว่าทำบุญ ไม่คุ้มหรอก เหน็ดเหนื่อยซ้อน สอง คุณไปได้มา กว่าจะได้มา ก็เหน็ดเหนื่อยแล้ว ได้มาแล้ว คุณก็จะมาตัดใจ เพื่อที่จะสละนี่ มันก็ต้องเสียเหงื่อ อีกทีหนึ่ง เหนื่อยสองต่อ เหมือนกับ คนบอกว่า จะมาทำบุญ ก็ไปฆ่าปลา แล้วเอาปลา มาทำแกง ถวายพระ โอ้โฮ! ทำไม คุณต้องทำอย่างนั้น ทำไมต้องฆ่าปลา กับการที่ คุณทำบุญ โดยที่ว่า เอาสิทธิ ของคุณส่วนเต็มๆ ไม่ต้องไป รบกวนคนอื่น ไม่ต้องไป เบียดเบียนคนอื่น ไม่ต้องไปทำร้าย ทำเลวคนอื่น ให้มันเป็นวิบากที่ซวย คุณก็ไม่ต้อง เหมือนกับ ไปยืมหนี้ แล้วเอามาสร้าง สู้เราทำโดย ไม่ต้องไปก่อหนี้ ของเราสดๆ แล้วค่อยๆทวี เท่าที่เรามี สมรรถนะ ตามบุญบารมี ของเรา ดีกว่ามั้ย ไม่ต้องไปล้างหนี้ ซับซ้อน”

อีกประเด็นหนึ่ง ที่สนทนากัน โดยมีภาษาวิชาการ เข้ามาเกี่ยวข้อง คือคำว่า “right man กับ right job” ตำแหน่งหน้าที่ ผู้ปฏิบัติธรรม ในองค์กรชาวอโศกทำ ได้รับการจัดสรร ที่เหมาะสมกับ ความสามารถ หรือไม่ หรือ เหมาะสมกับ จริตนิสัย ของเขา หรือไม่

“คนเรานี่ ถ้าทำอะไรที่ชอบ มันก็บำเรอใจ ไม่ได้ขัดเกลา กิเลส มันบำเรออัตตา เป็นอัตตา ของตัวเองชนิดหนึ่ง จริง put the right man in the right job อย่างที่ว่านี่ มันจะได้สร้างหน้าที่ เพราะว่า เขาชอบ และ ความชอบ ย่อมจะทำได้ดีกว่า แต่ในผลของโลกุตระ ทางจิตวิญญาณแล้ว มันบำเรอใจ มันไม่ได้ขัดเกลา ความต้องการ ของตัวเอง เราทำสิ่งที่ เราไม่ชอบ แต่งานนี้ สมควรทำ มีความจำเป็น มีความสำคัญ และเป็น demand อะไรอย่างนี้ เป็นต้น ที่ควรจะทำ เราก็จะต้อง เสียสละ ว่าเราไม่ชอบ แม้เราไม่เป็น ไม่ถนัด ก็ต้องหัด ทีนี้เรายิ่ง เป็นอยู่ด้วย แต่เราไม่ชอบ มีเหมือนกันนะ หลายคนนี่ มีสมรรถนะทางนี้ แต่ไม่ชอบ ไม่อยากทำหรอก อันนี้คือ ยังเป็นกิเลส ยังเป็น ตัวอัตตา ของแต่ละคน เพราะฉะนั้น ถ้าเผื่อว่า จะให้ดีแล้ว คนที่จะทำงาน จะหวังตอนนั้น ในกาละนั้น หวังผล หรือ หวังคน ถ้าหวังผล ก็ให้เขาทำงาน ที่เขาชอบ ถ้าหวังคน ก็ให้เขาขัดเกลา ทำงานที่เขาไม่ชอบ หรือ ถ้างานนั้น เขาถนัด แต่เขาไม่ชอบ ก็ควรให้เขาทำงาน ที่เขาถนัด มันจะเป็นผลดี เพราะ เขามี สมรรถนะอยู่แล้ว เขาควรจะทำ จะได้ขัดเกลาใจเขาด้วย เป็นประโยชน์ ต่อมนุษยชาติ อีกต่างหาก เพราะสำคัญ จำเป็น และ มี demand ที่ควรทำ ไม่ใช่บำเรอตนเอง ทำงานที่ชอบ หรือ ถ้างานนั้น เขาชอบแต่ไม่ถนัด และ เป็นงานที่สำคัญ จำเป็น มี demand ด้วย ขาดคนทำ ก็ไม่เป็นไร ถือว่าได้ฝึก ความสามารถไป จนกว่าจะถนัด”

ตามรอยอริยะ

๒๙ พ.ย. ๒๕๔๓ ที่สันติอโศก คุณพิมพ์พันธุ์ หาญสกุล คุณอรุณี มุศิริ และ นายวาทิต ชาติกุล คณะนักข่าว จากนสพ. ในเครือ ร่วมด้วยช่วยกัน, people, อาทิตย์รายวัน, และ อาทิตย์รายปักษ์ ได้มาสนทนา สัมภาษณ์พ่อท่าน คุณพิมพ์พันธุ์เล่าว่า คุณสนธิยา หนูแก้ว ผอ.หนังสืออาทิตย์ อยากจะมาด้วย แต่เผอิญ ติดประชุม คุณสนธิยา ได้รับหนังสือ EQโลกุตระ จากอาจารย์สำเริง นิลประดิษฐ์ เมื่ออ่านไปได้ครึ่งเล่ม ท่านเป็นคนที่ มองเห็นคุณค่า จึงบอก ให้รีบมาหา หลวงพ่อโดยด่วน ท่านอยาก ให้มาทำสกู๊ป เรื่องหลวงพ่อ จะเริ่มจาก ชุมชนอริยะก่อน เราทำงานกับ คุณบุญชัย เบญจรงคกุล ท่านเป็นเจ้าของ ยูคอม และ เป็นผู้ปฏิบัติธรรมท่านหนึ่ง

คุณพิมพ์พันธุ์ : คือวันนี้ ที่ลูกจะมากราบนมัสการ อยากจะนำ คำสอน ของหลวงพ่อ ไปเผยแพร่ ในหนังสือพิมพ์รายวัน เรามีคอลัมน์ ตามรอยอริยะ ซึ่งจะมีพระ ที่เราจะสลับ สับเปลี่ยน ตอนนี้ที่เราเริ่มทำ ก็มีคอลัมน์ ของหลวงตาบัวค่ะ และ ของหลวงพ่อชา

พ่อท่าน : หลวงพ่อชา ไปสัมภาษณ์ท่านได้ยังไง

คุณพิมพ์พันธุ์ : ไม่สัมภาษณ์ เอาคำสอนจากหนังสือ เป็นสายวัดป่า นานาชาติ เช่น ท่านสุเมโธ มาออก เราพยายามทำ เพื่อให้ได้คำสอน ที่ทั่วถึง แล้วที่เรา ใช้คำว่า ตามรอยอริยะ แล้วมาเรียนเชิญ หลวงพ่อนี่นะคะ ลูกมองว่า คำว่าอริยะ ไม่จำเป็น จำกัดอยู่ที่เครื่องแบบ ของภิกษุสงฆ์นะคะ ลูกก็เลยคิดว่า อยากจะขออนุญาต นำคำสอน ของหลวงพ่อ ไปเผยแพร่ด้วยค่ะ

พ่อท่าน : จะเอาคำสอนอันไหนล่ะ ก็คำสอนของ พระพุทธเจ้า มีมากมาย จะเอาระดับ อาริยะเลย ก็ดีนะ อาตมาคิดว่า ตัวเองได้กระทำคำสอน หรือ ว่านำคำสอน ในระดับอาริยะนี่แหละ มาเผยแพร่ มากที่สุด เพราะว่า ศาสนาพุทธ โดดเด่นอยู่ที่ ตรงอาริยภูมินี่แหละ ส่วนคำสอนของ ศาสนาทุกศาสนานี่ เป็นคำสอน ที่เป็นโลกียภูมิ เป็นคำสอน กัลยาณธรรม กัลยาณชน คือให้ละชั่ว ประพฤติดี กันทั่วๆไป แต่ศาสนาพุทธ มีโลกุตรธรรม ไม่ใช่เพียงแค่ โลกียธรรม ที่ยืนยันว่า เป็นโลกุตระ ตรงที่ว่า

๑. แยกโลกียะ ธรรมะที่เป็นโลกียะ ออกไว้ชัดเจน ซึ่งโลกียะ คืออย่างนี้ ส่วนโลกุตระนั้น ก็แยกไว้อีก

๒. เมื่อแยกแล้วก็มีวิธี วิธีที่จะทำอย่างไร ถึงจะเข้าสู่ โลกุตระ ที่จะลด ความเป็นโลกียะ ลดความวน อยู่ในโลกียะ เลิกจากความวน ที่จะไปวนเวียน มีกิเลส ที่จะไปติดยึด หลงใหลอยู่ โดยเรียนรู้มีญาณ มีความรู้ ในเหตุ ในสมุทัย จับเหตุ จับสมุทัย จับตัวกิเลส อาการกิเลสได้ว่า อย่างนี้คือกิเลส อย่างนี้คือตัณหา อย่างนี้คืออุปาทาน จะต้องมีญาณที่รู้ชัด เห็นชัด

คุณพิมพ์พันธุ์ : ลูกมองว่า ตอนนี้ที่เกิดชุมชนอโศก เป็นรูปธรรม ที่ชัดเจน ในการพิสูจน์ คำสอนนะคะ ในหมู่คน ที่มาปฏิบัติ หรือ เดินตามรอย ของ หลวงพ่อนี่ เขาละวางกิเลสลงได้

เมื่อคุณพิมพ์พันธุ์ พูดถึงการปฏิบัติสมาธิ พ่อท่าน ได้อธิบาย การปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา จนเกิดผล อย่างคร่าวๆ และ พูดผ่านๆ ถึงการปฏิบัติ มรรคองค์ ๗ จึงจะเกิด สัมมาสมาธิ เป็นองค์ที่ ๘ ซึ่งจะมีปฏิสัมพัทธ์ มีผลลึกซ้อน อยู่ในสัมมาสมาธิ เป็นญาณ เป็นวิมุติ ที่เรียกว่า เป็นวิชชา ๙ ทั่วไป เขาจัดเป็น วิชชา ๘

คุณวาทิต : ประชาชนทั่วไป รวมทั้งตัวผม ค่อนข้างที่จะ ประทับใจ กับชุมชน สันติอโศกนี่ คือมีวัตรปฏิบัติ ที่ค่อนข้างจะสมถะ ถ้าไม่ได้มาฟัง หลวงพ่อวันนี้ ก็คืออาจจะเข้ม ในเรื่องศีลครับ ถึงอยากให้หลวงพ่อ เล่าความเป็นมา สักนิดหนึ่ง

คุณพิมพ์พันธุ์ : อยากให้คนภายนอก ที่ไม่ได้มาสัมผัส ได้มองเห็นภาพ ที่แท้จริง ของ สันติอโศก ได้มองเห็น แนวทางการปฏิบัติ ถ้าเขาเห็นดี เขาอาจจะเดินตาม แบบอย่างบ้าง

การสนทนาซักถาม เป็นไปเกือบ ๓ ชม. จากคำถาม หลายๆคำถาม ของ คณะนักข่าว ทำให้รู้ว่า ยังศึกษา และ รู้จักพ่อท่าน และ สันติอโศกน้อย ข้าพเจ้า ขอตัด คำถามคำตอบ ที่ในหมู่ชาวอโศกได้รู้ ได้ฟังมามากแล้ว แม้ที่จะนำเสนอ ต่อไปนี้ จะยังคงมีประเด็น ที่หลายท่าน เคยได้ฟัง เคยได้รู้ มาจากพ่อท่านแล้ว แต่ข้าพเจ้าเห็นว่า ยังเป็นคำถามคำตอบ ที่น่าสนใจ เป็นอมตะ ยิ่งถ้ามอง เปรียบเทียบ กับสังคมทั่วไป หรือ กลุ่มคณะอื่นๆ ก็ยังถือว่า การสนทนาต่อนี้ไป ก็ยังน่าศึกษาอย่างยิ่ง

คุณวาทิต : เมื่อกี้อ่านในประวัติย่อๆ ของ พ่อท่านครับ ทราบว่า เรียนศิลปะมาด้วย ไม่ทราบว่า พื้นฐานทาง ศิลปะ ทำให้มีความเข้าใจธรรมะ ของ พระพุทธเจ้า ละเอียดขึ้นกว่า คนธรรมดามั้ย

พ่อท่าน : ใช่ด้วย เพราะคำว่าศิลปะนี่ จะต้องมีนัย ที่ละเอียดนะ ศิลปะก็คือ ความชำนาญ ทั้งทักษะ Sense ทั้งอารมณ์ ศิลปะนี่ จะต้องมีความเข้าใจ พวกนี้ เมื่อเข้าใจแล้ว ก็ดูเป้าหมายด้วยว่า ศิลปะเป็นมงคล อันอุดม นี่เป็นคำตรัส ของ พระพุทธเจ้า แต่ส่วนที่ไม่เป็น มงคลอันอุดม เป็นข้าศึกแก่กุศล นี่ไม่ใช่ศิลปะ อาตมา ไม่อยากพูดมาก เพราะอาตมารู้ว่า พวกที่เป็นศิลปะ มีอัตตา มีการยึดถือดี ของตัวเอง มี ego อัตตานี่มาก พวกที่มี ego ที่จริงไม่ใช่ นักศิลปะ ศิลปินต้องไม่มี ego ต้องลดไปจริงๆ ถึงจะเป็นศิลปินที่แท้ นี่คือสัจจะ คำว่า เป็นมงคลอันอุดม หมายความว่า ถ้าใครมีศิลปะ มันจะเป็นประโยชน์ เป็นมงคล เป็นสิ่งประเสริฐ ตัวเราเองก็ดี สุข สบาย ปลอดภัย มีผลงาน มีการกระทำ กับสังคม สังคมก็ได้รับประโยชน์ มีผลดีขึ้น อาตมา ยืนยันว่า อาตมาเป็นศิลปิน ทุกวันนี้ อาตมาทำงาน ใช้ศิลปะอย่างมหาศาล ศิลปะของอาตมานี่ ไม่ใช่ศิลปะ เป็นแค่ รูป สี กลิ่น รส ธรรมดา ศิลปะของอาตมา เป็นศิลปะระดับ ที่สร้าง จิตวิญญาณ ศิลปะของอาตมา เป็น abstract มันไร้รูปธรรม เป็นนามธรรม ยิ่งกว่า เมื่อสัมผัส เมื่อใครได้รับอันนี้ไปแล้ว เกิดความประทับใจ หรือ เกิดมี ปฏิกิริยาต่อใจ เกิดฉุกคิด เกิดปฏิกิริยา ที่เปลี่ยนแปลง เกิดบันดาลใจขึ้นมา โอ้ย! อย่างนี้ไม่ควร อย่างนี้ควร อันนี้ควรเลิก อันนี้ควรทำ มีปฏิกิริยาพวกนี้ นี่คือผลของ ศิลปะทั้งนั้น อาตมาขอยืนยันว่า อาตมานี่แหละ ศิลปิน อาตมานี่ ทำงานศิลปะ เพื่อเปลี่ยนแปลงมนุษย์ เพื่อให้มนุษย์ได้รับผล จากงานศิลป์ ที่อาตมาทำ อาตมา ไม่ใช่แค่เขียนรูป ไม่ใช่แค่ปั้นรูป ไม่ใช่แค่สร้างบ้าน ไม่ใช่แค่ dramatic ไม่ใช่แค่นาฏกรรม ไม่ใช่แค่ music เท่านั้น

คุณพิมพ์พันธุ์ : ทิศทางของสังคมไทย ในปีหน้าละคะ ไม่ทราบว่า ท่านมองว่า ยังไงบ้าง

พ่อท่าน : ถ้ามองในทิศทาง ที่อาตมาทำอยู่นี่ อาตมาก็ว่า จะดีขึ้น เพราะว่า อาตมา ไม่ได้โดดเดี่ยว ไม่ได้หลงทาง อยู่คนเดียว มีคนเห็น มีคนร่วมพยักหน้า ร่วมยิ้มรับ ร่วมเข้ามาจับมือ พอสมควร ถ้ามองไปนอกวงการ นอกทิศทาง ที่อาตมาทำ เป็นองค์รวม ก็เห็นว่า มีอัตราเร่ง ของทางเสื่อมเยอะ และ เป็นอัตราเร่ง ที่เกิดจากตัวเร่ง ที่มีอำนาจ มีอิทธิพลด้วย นักการเมือง เป็นต้น นักวิชาการ เป็นต้น นักวิชาการ ก็หลงทางมาก นักวิชาการ ที่โด่งๆดังๆ นี่ก็ ไม่ได้มีความรู้ ทางโลกุตระ มีแต่โลกียะ เป็นพื้นฐานของ จิตวิญญาณ เพราะ ฉะนั้น ทำงานอยู่ในสังคม ก็ทำงานเพื่อ ล่าลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข ให้แก่ตัวเอง พวก technocrat ทั้งหลายแหล่ ส่วนมาก เป็นอยู่อย่างนั้น พวกนี้ มีอิทธิพล นักธุรกิจก็ดี นักการเมืองก็ดี technocrat ทั้งหลายก็ตาม เป็นตัว มีอิทธิพล ของสังคม แล้วคนเหล่านี้ ไม่ได้ปฏิบัติธรรม ของพระพุทธเจ้า เพื่อลดโลกียะ ลดลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข ออกจากหัวใจ จนเห็นดีว่า คนประเสริฐนั้น เป็นคนที่ทำ ไม่ล่าลาภ ยศ หรือ ล่าน้อย มีความกระเหี้ยน กระหือรือ ลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุขน้อย เสพย์โลกียสุขน้อย ลดลงไป จนไม่มี นี่คือ คนที่จะมาหา อาริยบุคคล หรือ เป็นโลกุตระ ของพุทธ คนไทยเป็นพุทธ ๙๐ กว่าเปอร์เซนต์ แต่ไม่ได้ธรรมะ ของพระพุทธเจ้า

ไม่เดินตามแนว ของพุทธศาสนา จึงยังใช้อำนาจ ทรัพย์ศฤงคาร ยศศักดิ์ ใช้อำนาจพวกนี้ ต่อรอง แลกเปลี่ยน อยู่ตลอดเวลา แลกเปลี่ยนเอา โลกียธรรม ไม่เข้าโลกุตระ ในสังคมส่วนกว้างทั่วไป อัตราเร่ง ของตัวนี้ จึงสูงอยู่มาก อาตมา ไม่ท้อหรอก อาตมาทำ ก็มีอัตราการก้าวหน้า ของอาตมา อยู่เหมือนกัน อาตมาระวัง ทางโน้น จะกรูเกรียวมาด้วย เพราะถ้าขืน กรูเกรียว กันเข้ามา อาตมารับไม่ไหว เชื้อโรคเข้ามาพืดนี่ พวกเราจะสกัด หรือ พวกเรา แปรตัวไปไม่ทัน มันจะสลาย กลุ่มก้อนของเรา

คุณพิมพ์พันธุ์ : ขออนุญาตถาม อีกข้อหนึ่งว่า ไม่ทราบ เป็นการสมควร หรือไม่ ถ้าสมมุติว่า วันหนึ่งนี่ ถ้าเกิด ชาวอโศก ไม่มีหลวงพ่อแล้ว เขายังดำรงวิถี ของ อโศก ต่อไปได้มั้ยคะ

พ่อท่าน : อาตมาตอบได้ชัดเจนเลยว่า ได้ เพราะว่า อาตมา ไม่ได้ทำ โดยอาตมา เป็นตัวอิทธิพล เป็นตัวบงการ เป็นตัวเผด็จการ พระพุทธเจ้านี่ เก่งยอดเยี่ยม ท่านวางเนื้อหา ของศาสนา เนื้อหาของ ธรรมะ ที่เป็นพุทธธรรม ไว้ให้แก่มนุษย์ แล้วก็ไม่มีใคร เก่งเท่าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าสิ้นพระชนม์ไป อันนี้ ก็ดำเนินการ ต่อไปได้ ฉันใด อาตมาว่า อาตมาเข้าใจว่า พระพุทธเจ้า ทรงทำอย่างไร อาตมาก็ทำนัย อย่างนั้นแหละ คือ เราอย่าเอาตัวเรา เป็นตัวเผด็จการ เป็นตัวทำทุกอย่าง แล้วเราก็เป็นทุกอย่าง โดยคนอื่นไม่เป็น เก่งทุกอย่าง โดยคนอื่นไม่เก่ง อย่างนี้ ก็ไปไม่ได้ พอเราตาย เราเก่งคนเดียว คนอื่นไม่เป็น มันก็ไม่เหลือ เพราะฉะนั้น เราจะต้อง ให้คนอื่นเป็น แม้ว่า คนอื่นหนึ่งคน มาเป็นเหมือนอย่างเรา ถอดออกไป เป็นตัวแทนเลยไม่ได้

อาตมาขออภัยนะ ถ้าอาตมาจะบอกว่า อาตมาก็เก่ง ขนาดหนึ่ง แต่ไม่เท่า พระพุทธเจ้าหรอกนะ ต้องออกตัว ไว้ก่อน คนชอบว่าอาตมา ตีตัวเสมอ พระพุทธเจ้า ความจริง ไม่ใช่ตีตัวเสมอ แต่มันรูปรอย สูตรคล้ายๆกัน อาตมา ก็มีความสามารถ ระดับของอาตมา ว่ากันจริงๆ ไม่ใช่ว่า อาตมาไปข่มใคร พวกเราชาวอโศก แต่ละคน ก็ไม่มีใครที่จะเก่ง เท่าอาตมา คนใดคนหนึ่ง ที่จะขึ้นมา แทนอาตมา คนหนึ่งทำไม่ได้ ทำไม่ได้จะทำอย่างไรล่ะ ก็ต้องทำกัน หลายๆคน คนที่มีจริต มีทักษะอย่างไร มี talent อย่างไร มีความสามารถ มีพรสวรรค์ อย่างไร ของแต่ละคน ถนัดอย่างไร ก็ให้เขารับ ในความสามารถ ในพรสวรรค์ ของเขาแต่ละแง่ แต่ละประเด็น แต่ละความถนัด แจกให้ทุกคนเป็น ไม่ใช่เราทำคนเดียว ต้องถ่ายทอด รวมแล้ว ๑๐ คน ๒๐ คน ๑๐๐ คน ก็คือ คนคนเดียว เมื่ออันนี้ได้แล้ว คนนี้ตายไป อันนี้ก็อยู่ ข้อสำคัญ อย่าแตกคอกัน เพราะฉะนั้น ถ้าสังฆเภทเมื่อไร มันจึงพัง เป็นเรื่องร้ายแรง จับกลุ่มกันเข้าไป อย่าแยกกัน เพราะทุกอย่าง เป็นความสำคัญ ทุกจุด จับมือกัน ประสานกัน

พระพุทธเจ้าถึงไม่สร้างใคร เป็นเอกคนเดียว รวบอำนาจอยู่เป็นประธาน ไม่ทำ ท่านไม่ตั้งใคร เป็นประธาน เป็นตัวแทน ตั้งไม่ได้ เพราะ ไม่มีใครสามารถ อย่างพระพุทธเจ้า แม้ไม่ถึงพระพุทธเจ้า อย่างในยุคอาตมา นี่ก็ตาม อาตมาก็ตั้งใคร แทนอาตมาไม่ได้ มันไม่ใช่ตั้งนะ มันต้องเป็นจริง ถ้ามันจริงมันถึงจะจริง การเป็นจริง ก็ไม่ง่าย อย่างที่อธิบายไปแล้ว อาตมาพยายาม ทำให้ทุกคนได้ แล้วจงอย่าแตกกัน เป็นอันขาด พระพุทธเจ้า สร้างธรรมวินัย เป็นประธาน สงฆ์ทั้งปวง ไม่ใช่ตั้งบุคคล

อนุจร ๒๓ ธ.ค. ๒๕๔๓

end of column
หน้าแรก หน้าต่อไป

บันทึกจากปัจฉาสมณะ (สารอโศก อันดับ ๒๓๒ หน้า ๔๔ เดือน มกราคม ๒๕๔๔)