หน้าแรก >สารอโศก

สารอโศก อันดับที่ ๒๕๑ (ตอน๑)


กระบวนทัศน์ & ปฏิสัมพันธ์ ของ
ศิลปะ...
สังคม...
การเมือง...
ศาสนา...
การศึกษา...
และเศรษฐกิจ อีกมิติหนึ่ง

มิถุนายน ๒๕๔๕
"รากแก้วแห่งชีวิต ศิลปะกับวิญญาณทางสังคม" เป็นชื่องานแสดงศิลปะ ที่พ่อท่านเปิดไฟเขียว ให้เหล่าศิลปิน มาจัดแสดงที่สันติอโศก ในช่วงเดือนมิถุนายน เป็นงานแรก ของชาวอโศก ที่เชื่อมสัมพันธ์ กับคนในวงการศิลปะ อย่างเป็นกิจจะลักษณะ งานนี้พ่อท่านพูดอะไร? วางตัวอย่างไร? กับคนในวงการศิลปะ

ดูฟุตบอลโลก จะเป็นอะไรไหม? เป็นคำถามซื่อๆอย่างกันเองภายใน จากรายการ เอื้อไออุ่น ที่บ้านราชฯ (๓ มิ.ย.๔๕) ด้วยพ่อท่านพูดถึง ความเลวร้าย ของเรื่องนี้มามาก คราวนี้พ่อท่าน ตอบสั้นๆ แต่มีรายละเอียด จากเหตุการณ์จริง มาเล่าให้พวกเรา ที่ไม่ได้ใส่ใจ กับเรื่องนี้ ได้รู้ความเป็นไป ของสังคม อะไรคือ รายละเอียดนั้น

ช่องว่างระหว่างวัย! พ่อท่านคิดอย่างไรกับคำความนี้ จากการที่นิสิต ม.วช. มีคนหลายวัย ทำให้เกิด ประเด็นคำถามนี้ ในรายการเอื้อไออุ่น ที่บ้านราชฯ (๓ มิ.ย.๔๕) ถือเป็นการ จุดประกาย ไปสู่การเทศนา ของพ่อท่าน ในครั้งต่อๆมา จะมีประเด็นนี้ แทรกให้ความรู้

ต้อนรับการประชุม ผอ.พรรคการเมือง เป็นอีกงานหนึ่ง ที่ช่วยให้ชุมชนสันติอโศก มีสีสัน และ คึกคักขึ้น ทั้งการเตรียมงาน และความตั้งใจต้อนรับ ตัวแทนจาก พรรคการเมืองต่างๆ รวมไปถึง คณะ กกต. ระดับชั้นนำ พ่อท่านวางตัวอย่างไร? พูดอะไร? ในสถานการณ์อย่างนั้น ถือเป็นกรณีศึกษา การใช้สัปปุริสธรรม ของพ่อท่าน ผลตอบรับ จากบรรดาตัวแทน พรรคการเมืองต่างๆ ที่แสดงออกให้รู้ เป็นอย่างไร?

เมื่อ สังฆราชฮินดู SWAMI AVDHESHANAND GIRI (ผู้นำฮินดูกลุ่มหนึ่ง) เยือนสันติอโศก มีอะไรเกิดขึ้น พ่อท่านวางตัวอย่างไร? พูดอะไรกับท่านสังฆราชฮินดู ภายหลัง การจากไป ของท่านสังฆราชฮินดู พ่อท่านบอกเล่าถึง ความรู้สึกสะดุด เกี่ยวกับท่าที และการวางตัว ของพ่อท่าน และนำมาสู่นโยบาย การปรับท่าที ต่อนักบวชอื่นๆ ทั้งศาสนาพุทธด้วยกัน และศาสนาอื่นๆ อย่างไร? ถือเป็นอีกรอบหนึ่ง ของการเปลี่ยนแปลง ในระดับนักบวช ของชาวอโศก ที่ต้องฝึก ปฏิบัติกันให้จริง

นิสิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาฯ ๗ คนได้สนทนาธรรมกับพ่อท่าน ประเด็นเรื่อง ภาวนา... สมาธิ... ฌาน... การปฏิบัติ ๖ ปีก่อนการตรัสรู้ ของพระพุทธเจ้า และ กรรมฐาน ๔๐ วิธี ที่เข้าใจกันผิดๆ มานาน ยังคงเป็นสิ่งที่พ่อท่าน ต้องอธิบายอยู่ต่อไป นอกจากนี้ ประเด็นคำถาม ที่น่าสนใจ อุปสรรค ของพ่อท่าน ในการทำงาน คืออะไร? กับคำถามที่ว่า ทำอย่างไร ชาวพุทธถึงจะ เข้าถึงแก่น ของพระพุทธศาสนา? และสุดท้าย หากจะมีผู้ป่วยโรคเอดส์ ผู้เสียสติ หรือ นักโทษ มาขออยู่ปฏิบัติด้วย พ่อท่านเห็นอย่างไร?

กระบวนทัศน์ และการจัดการกับความยากจน ที่รัฐใช้อยู่ ในสายตาของ นักวิชาการ อาจารย์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ท่านหนึ่ง เห็นว่ายังไม่สามารถ แก้ไขปัญหาได้ เท่าที่ควร จึงสนใจว่า พ่อท่านมอง การแก้ปัญหา ความยากจน เป็นอย่างไร? คนจนที่เชื่อเรื่อง อดีตชาติ ควรมีท่าที อย่างไร ในปัจจุบัน? คนรวยที่งก ชาติต่อไป เขาจะเป็นอย่างไร? คนจน ควรมีท่าที อย่างไร ต่อรัฐที่ฉ้อฉล? ทำอย่างไร จึงจะให้คนมีจิตสำนึกสาธารณะ มีความรับผิดชอบ ต่อส่วนรวม?

สุดท้ายคำว่า "เศรษฐกิจดี" ในทัศนะของพ่อท่านเป็นอย่างไร? ตัวเงินไม่ใช่ค่าวัด ที่แท้จริง? ขณะที่ กระแสกรูเกลียวตอบรับ จากภายนอกเข้ามา พ่อท่านฝากให้พวกเรา เพิ่มอะไร? และ ลดอะไร? ท้ายบันทึกนี้ มีคำตอบ


ศิลปะกับวิญญาณทางสังคม
ตลอดเดือนมิถุนายนนี้ ที่สันติอโศกมีงานแสดงศิลปะใช้ชื่องานว่า "รากแก้วแห่งชีวิต ศิลปะกับ วิญญาณทางสังคม" สืบเนื่องมาจากคุณพิเศษ โพพิศ ผู้รับผิดชอบ โครงการศิลปะ กับชุมชน กำลังหาชุมชน ที่เหมาะสม พอดีได้เข้ามาที่สันติอโศก และได้พูดคุย กับคุณไม้ร่ม ถึงโครงการ ดังกล่าว และได้กราบเรียนพ่อท่าน ซึ่งพ่อท่านอนุญาต หลังจากนั้น ศิลปินบางส่วน ได้มาพูดคุย กับพ่อท่าน และบางส่วน ได้พักค้าง ๑ คืน เพื่อหาแรงบันดาลใจ ในงานศิลปะ ที่สอดคล้องกับชุมชน ซึ่งมีทั้งงานภาพเขียน และ งานปฏิมากรรมต่างๆ ให้กลมกลืน กับธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็น ในน้ำ บนพื้นทราย ใต้ต้นไม้ บนก้อนหิน

จากผลงาน ที่นำมาแสดงนั้น ส่วนใหญ่ คนทั่วไป จะเข้าใจได้ยาก ไม่รู้จริงๆว่า ศิลปินแต่ละท่าน คิดอย่างไร สื่ออะไร อย่างเช่น รูปขนาดอิฐก่อผนัง มีสีน้ำเงินบ้าง แดงบ้าง เรียงต่อกัน แล้วฝังทราย ให้เห็นส่วนผิวบน อันนั้น ข้าพเจ้าก็ไม่รู้สื่ออะไร หรืออย่าง รูปก้นหอย ที่หล่อ จากปูนปลาสเตอร์ แล้วใช้สีน้ำเงิน สีขาวพ่นที่ผิว เรียงเป็นรูปก้นหอย ที่ได้ยินมาต่อ อีกที หนึ่งว่า ศิลปินผู้ทำ สื่อถึงความเป็นจักรวาล ที่ดูง่ายหน่อย ก็มีคนรูปร่างอ้วนท้วน นั่งบนเรือ ลอยบนน้ำ สื่อว่าความสุข หรือ บ้านรังนก จะสื่อว่าที่อยู่อาศัย ที่เรียบง่ายหรือเปล่า ก็ไม่รู้ แต่ทั้งหมด ก็พยายามที่จะทำให้เป็นงานศิลปะ อีกแบบหนึ่ง ที่เป็นนามธรรม ของชุมชน สันติอโศก เท่าที่ศิลปิน แต่ละท่าน จะเข้าใจ และนำเสนอออกมา ต่างไปจาก งานศิลปะ ส่วนใหญ่ ที่เน้นความสวยงาม ของชิ้นงานนั้นๆ อย่างเดียว นับเป็นอีกก้าวหนึ่ง ที่พ่อท่าน พาพวกเรา เชื่อมประสาน กับวงการศิลปิน ที่มีวิถีชีวิต และความคิด ความเชื่อ เป็นคนละอย่าง กับพวกเรา

ก่อนมีงานแสดง ก็ดูพวกเราสนใจให้ค่าให้เกียรติกับงานแสดงนี้ไม่น้อย มีการจัดพิมพ์เป็นเอกสาร และสูจิบัตร เฉกเช่นงานแสดงศิลปะที่มีระดับ วันเปิดงาน ๒ มิ.ย.๔๕ ก็มีวิทยากรในวงการศิลปะมาร่วมแสดงความคิดเห็น เช่น รศ.วิโชค มุกดามณี ผอ.หอศิลป์ ม.ศิลปากร อ.สมศักดิ์ เชาว์ธาดาพงศ์ ผอ.วิทยาลัยช่างศิลป์สุพรรณฯ คุณจุมพล อภิสุข ผอ.ศูนย์บ้านตึก คุณมานิต ศรีวานิชภูมิ ศิลปินอิสระ และคอลัมนิสต์ คุณลักขณา คุณาวิชยานนท์ ผอ.หอศิลป์ ตาดู ฯลฯ

หลังจาก น.ส.พ.หลายฉบับแพร่ทั้งภาพและข่าว มีโทรศัพท์จากท่านทูตอิสราเอล DAVID MATNAI สนใจที่จะมาดูงานศิลปะนี้ ขอให้ส่งโทรสารสถานที่ เพื่อจะได้เดินทางมาดู ขณะที่พวกเรา รู้สึกว่า มันเป็นอะไรๆ ที่เล็กๆน้อยๆ แต่ภาพและข่าว ที่ออกไปสู่สังคมนั้น ดูเป็นเรื่องราว ที่สำคัญ ไม่ได้เล็กน้อย อย่างที่พวกเราคิด

ในวันนั้น พ่อท่านในฐานะผู้หลักผู้ใหญ่ของชุมชนสันติอโศก อุตส่าห์อยู่ร่วมฟัง การแสดง ความคิดเห็น ของศิลปินต่างๆ จนจบ แล้วแถมต่อ ร่วมฟังการบรรเลงเพลง ของนักศึกษา คณะดุริยางคศาสตร์ ม.ศิลปากร จนจบ ขณะที่ฝนตกลงมา ในระหว่างบรรเลง พวกเรา หลายคน หลบไปแล้ว แต่พ่อท่าน ยังอุตส่าห์อยู่ เหมือนมีน้ำใจ ให้นักศึกษา ที่อุตส่าห์ ขนเครื่องดนตรี มาร่วมบรรเลง เพื่อเป็นเกียรติ ให้กับงานนี้ การเป็นผู้นำคน หลายครั้ง ต้องทำในสิ่งที่ตัวเอง ไม่ได้อยากจะทำ ไม่ได้สนุกที่จะทำ แต่ก็ต้องทำ เพื่อความเหมาะสม ในสิ่งที่เกิดขึ้น ขณะนั้น

"....ศิลปะคืองานที่เอาส่วนประกอบของธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ มาประกอบกัน ด้วยฝีมือ ความสามารถ ของคน แล้วทำให้คนลดละ เสียสละ สร้างสรร แต่ถ้าทำให้คน มีกิเลส มากขึ้น นั่นคือ อนาจาร...."

"....อาตมาเป็นศิลปิน ที่เอาธาตุดินน้ำลมไฟ อากาศ วิญญาณ แม้แต่ภาพวาด ภาพปั้น ที่คนเขา ทำกันขึ้นมา อาตมาก็เอามาประกอบ เป็นศิลปะของอาตมา ที่จะทำให้เกิดผล ทางจิตวิญญาณ พัฒนาเจริญขึ้นๆ และ ที่สำคัญคือ "ชิ้นงานศิลป์" ของอาตมา ไม่ใช่แค่แผ่นภาพวาด แค่แท่งก้อนที่ปั้น แค่อาคารก่อสร้าง แค่บทประพันธ์กวีกานท์ หรือ แค่นาฏกรรม ท่าทางที่แสดงออก และ เพลงการสำเนียงเสียงร้องเท่านั้น แต่รวมหมด เป็นชีวิตสังคม ความเป็นอยู่ ของมนุษย์ มีทุกอย่างดังกล่าวมานั้น เป็นองค์ประกอบศิลป์ โดยเฉพาะมี "คน" ที่ได้รับ การแต่งแต้มวิญญาณ ให้มีสีสัน เส้นเงาแสง ที่เป็นโลกุตระ ระบายอยู่ทั่วไป...."

"....ศิลปินที่ทำผลงาน เพื่อบำบัดความใคร่ของตน ให้สะใจตนเอง โดยที่ผลงานนั้นๆ ไม่เกิดผล เกิดความรับรู้อะไร ที่เป็นคุณค่า ไม่สร้างสรร งานเหล่านี้ เป็นงานอนาจาร ไม่ใช่ศิลปะ สังคมล้มเหลว เพราะได้รับสื่อเหล่านี้ อยู่ตลอดเวลา...."

คำกล่าวข้างต้นนี้ เป็นข้อคิดบางส่วน ที่พ่อท่านได้แสดงธรรมก่อนฉัน ในวันเปิดงานนั้น ๒ มิ.ย.๔๕

หลังรายการเสวนา พ่อท่านมอบของที่ระลึกแก่ผู้ร่วมเสวนา และศิลปิน ที่นำผลงาน มาแสดง แล้วพ่อท่าน กล่าวเปิดงานสั้นๆ

"เป็นนิมิตใหม่ของชาวอโศก ที่ได้สัมพันธ์กับภายนอก อย่างเป็นกิจจะลักษณะ มีรายการ เป็นชิ้นเป็นอัน เริ่มงานนี้ เป็นงานแรก อาตมามีความยินดีมาก ยินดีต้อนรับทุกคน"


ดู ฟุตบอลโลก จะเป็นอะไรไหม
๓ มิ.ย. ๔๕ ที่ราชธานีอโศก ค่ำมีรายการเอื้อไออุ่น ที่เฮือนศูนย์สูญ มีคำถามหนึ่ง ถามพ่อท่านว่า ช่วงนี้ฟุตบอลโลกกำลังดัง ถ้าญาติธรรมไปดู จะเป็นไรไหม?

"มันเป็นโง่ ไม่เป็นไรหรอก เกมฟุตบอล เขาสร้างขึ้นเพื่ออวิชชา ปลุกเร้ากิเลส โดยไม่มี สาระอะไรเลย น.ส.พ.ก็ช่วยปลุกเร้า เอาเงินก้อนโตๆ มาให้คนสนใจ แค่บอกว่า มาชิง ๑๐ ล้าน ๓๐ ล้าน คนก็รู้สึกว่า มันสำคัญ คนก็อยากได้ ๓๐ ล้าน คนก็ไม่คิด จะเสียสละอะไร เป็นจิตวิทยาสังคม ที่ถูกปลุกเร้า ยิ่ง ๔ ปีข้างหน้า ยิ่งจะหนักเข้าไปใหญ่ เมื่อกี้อาตมา เปิดดูข่าว ก็ไปเจอ บราซิลกับตุรกี มันแข่งกัน กำลังจะหมดเวลา บราซิลนำ ๒-๑ แล้วกำลัง ได้ลูกเตะมุม เจ้าตุรกีเตะบอลจะส่ง แต่เตะแรง อัดเข้าไปที่กล่องดวงใจ ไอ้บราซิล ต้องล้มตัว กุมหน้าเลย โฆษกเขาพากษ์ว่า แหม! เตะไม่ถูกหน้า แต่เจ้านั่นต้องกุมหน้า คิดดูสิ คนมันโกรธ โมโหกัน แล้วเสียสละ สร้างสรร ที่ตรงไหน" พ่อท่านตอบ


ช่องว่างระหว่างวัย ไม่มี มีแต่ ความสัมพันธ์ระหว่างวัย
ในรายการเอื้อไออุ่น ที่บ้านราชฯ วันนั้น ๓ มิ.ย. ๔๕ มีประเด็นคำถามหนึ่ง ที่จุดประกาย ไปสู่การเทศนา ในหลายที่ หลายแห่ง ที่พ่อท่านเห็นว่า เป็นประเด็นปัญหา ที่ต้องแก้ ความคิดเห็น ของสังคมนี้ จากคำถามที่ว่า พ่อท่านเห็นอย่างไรกับคำว่า ช่องว่างระหว่างวัย ยิ่งใน ม.วช. มีมาก (ม.วช. คือสัมมาสิกขาลัยวังชีวิต ที่มีนิสิตหลายคน อายุ ๕๐-๖๐-๗๐ ปี)

พ่อท่านตอบ "เห็นความจริงว่าเป็นธรรมดา ความต่างวัยกันมี แต่ต้องมีความสัมพันธ์กันได้ อย่าตัดรอน ทำให้เกิดความแตกแยก มันเป็นสัจจะของวัย ที่ต่างกัน อย่าเอาคำว่า "ช่องว่างระหว่างวัย" มาทำให้คน เกิดความเสียหาย เกิดกิเลส เพราะฉะนั้น คนจะไม่มี ช่องว่าง ระหว่างวัย เราต้องมี "สัมพันธ์กันระหว่างวัย" ให้ได้ สังคมเขาคิด เขามองว่า คนต่างวัย จะอยู่ต่างกัน อาตมาจึงคิดว่า ต้องประสาน สมาน รักสัมพันธ์ สนิทสนมระหว่างวัย เมื่อเรามีความแตกต่างกันอยู่ ทั้งนิสัย อารมณ์ รูปร่างหน้าตา วัย เพศ แต่เราต้องพยายาม อยู่กันให้ได้ อย่าพ่นพิษใส่กัน อย่าทำลายกัน อยู่กันอย่างสัมพันธ์ รักสนิทสนม ไม่เช่นนั้น ตา ยาย ปู่ ทวด จะอยู่ร่วมกับ ลูกหลานไม่ได้งั้นหรือ ปลายกับต้น มีความต่างกัน ก็อยู่ร่วมกันได้ อย่างรู้ความจริง ต้องขจัดช่องว่าง ให้เกิดความอบอุ่น เกิดพลัง เป็นหนึ่งเดียวกัน...."


ต้อนรับ การประชุม ผอ.พรรคการเมือง
๗ มิ.ย.๔๕ ที่สันติอโศก พ่อท่านลุกตื่นออกกำลังกายในกลด และสรงน้ำ ไม่ได้ออกบิณฑบาต เปลี่ยนเป็น เดินดูงาน ดูความเรียบร้อยในการเตรียมการต้อนรับ ผอ. พรรคการเมืองต่างๆ ที่จะมาประชุม ขณะที่พวกเรา ทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ กำลังช่วยกัน ทำความสะอาด สถานที่ ปัดกวาด เช็ดถู ขนย้าย จัดแต่งโต๊ะเก้าอี้ จัดแต่งเวที ฝ่ายเครื่องเสียง ทดสอบเสียง ดูมุม ดูกล้อง ฝ่ายครัว ช่วยกันปอกหั่นล้าง ฝ่ายต้อนรับ จัดเตรียม ชุดภาชนะ อาหาร น้ำดื่ม เดินไป ท้ายซอย เด็กและผู้ใหญ่ ช่วยกันขนย้าย กองทราย กองดิน ท่อนไม้ เพื่อเป็นที่จอดรถ เห็นเด็กเข็น รถขนขยะ อย่างสนุกสนาน เล่นไปทำงานไป ประสาเด็กๆ เมื่อกลับมา ที่หน้าเวที ทราบว่า หลายคนตกน้ำ ในช่วงทางเดินข้ามลำธาร หน้าน้ำตก แม้พ่อท่านเอง ก็เคยพลาด ตกในจุดนี้แล้ว เช่นกัน จึงช่วยขนย้าย ท่อนไม้ใหญ่ มาปิดช่อง กันคนตกอีก ก่อนขึ้นห้องทำงาน พ่อท่านเปรยว่า "เดินดูพวกเราเตรียมงาน ทำให้ได้ประเด็น ที่จะพูดแล้ว ประชาธิปไตยนี่ เกิดจากการร่วม รวมขบวนการกลุ่ม อย่างที่พวกเรา กำลังทำกันอยู่ จากการปฏิบัติ สาราณียธรรม ๖ ทำให้เกิดพุทธพจน์ ๗ แขกเขาจะมา ประมาณ ๑๒๐ คน แต่เจ้าภาพพวกเรา มากกว่าแขก หลายเท่า งานที่เจ้าภาพ มากกว่าแขกอย่างนี้ ไม่เหนื่อยกันมาก เพราะช่วย กระจายกันไป หลายๆคน โดยทั่วไป เจ้าภาพน้อย แขกมีเยอะอย่างนี้ เจ้าภาพเหนื่อย แย่เลย...."

๗.๐๐ น. มี ผอ.พรรคการเมืองมา ๒ คน แต่ต้องดำเนินไปตามรายการ คุณสุรศักดิ์ หมื่นนาอาน โฆษกพรรค พูดถึงความเข้มแข็งของชุมชน

๘.๐๐ น. เริ่มมีตัวแทนพรรคการเมืองต่างๆ ทยอยมามากขึ้น ด้วยบรรยากาศ ห้องประชุม ที่มีต้นไม้ น้ำตก พื้นทราย และหิน เป็นธรรมชาติ โล่งๆ ไร้เครื่องปรับอากาศ ให้เย็น อย่างห้องประชุม ในโรงแรม ที่พวกเขาเคยชิน คงทำให้เกิดความรู้สึก ที่แปลกใหม่ ยิ่งการต้อนรับ การแต่งกาย อย่างชาวอโศก ก็คงทำให้พวกเขา แปลกตาไม่น้อย

คุณแซมดิน เลิศบุศย์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อฟ้าดิน กล่าวต้อนรับ บอกเล่า วิถีชีวิตของชุมชน อยู่กันด้วย ระบบสาธารณโภคี มีทั้งวัด-บ้าน-โรงเรียน ต่อด้วยนักเรียน สัมมาสิกขา สันติฯ-ศีรษะฯ ร้องเพลง คนสร้างชาติ "...ชาติต้องการคนที่ซื่อสัตย์ ชาติต้องการคนเสียสละ...." เนื้อความกินใจ กระตุ้นสำนึกได้ดี พวกเราใช้เป็นเพลง ต้อนรับแขก ในหลายๆครั้ง

คุณขวัญดิน สิงห์คำ หัวหน้าพรรคเพื่อฟ้าดิน กล่าวถึงการเกิดของพรรค เกิดจากการ ปฏิบัติธรรมก่อน แล้วจึงเกิดชุมชน เมื่อเกิดชุมชนเข้มแข็ง จึงเกิดพรรคการเมือง ตามมา

๙.๒๐ น. พล.อ.ศิริน ธูปกล่ำ ประธาน กกต. กล่าวถึงการจัดประชุม ผอ.พรรคการเมือง ตามที่ต่างๆ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ ซึ่งกันและกัน คนเราควรลอง ในสิ่งที่แตกต่าง ไปจาก สิ่งที่เราเคยทำ ซ้ำซากจำเจ... ข้าพเจ้าเข้าใจว่า พล.อ.ศิริน คงสะท้อน ความรู้สึก ของตน ออกมากล่าว จากสิ่งที่ได้มาสัมผัส ความแปลกใหม่ ก่อนพูดถึง เนื้อหาความรู้ ในการปฏิบัติ ของพรรคการเมืองต่างๆ ที่พึงกระทำ

หลังจาก พล.อ.ศิริน กล่าวจบ พ่อท่านได้รับนิมนต์ ให้มอบของที่ระลึกให้ โดยพวกเรา จัดเตรียมให้พ่อท่าน นั่งที่เคยเทศน์ทำวัตรเช้า หน้าน้ำตก ซึ่งเป็นที่สูง และอยู่ห่าง จากมุมเวทีที่ พล.อ.ศิริน กล่าว ถ้าจะรับของที่ระลึก ต้องเดินไปหา ที่พ่อท่านนั่ง ตอนแรก ที่พวกเรา แจ้งให้พ่อท่านทราบ ถึงการจัดเตรียมนี้ พ่อท่านคงจะคิดปฏิบัติตามนั้น จึงไม่ได้ทักท้วงอะไร แต่เมื่อ อยู่ในเหตุการณ์จริง พ่อท่านตัดสินใจ เปลี่ยนอย่างปุ๊บปั๊บ ไม่ไปนั่งในที่สูงนั้น เดินไปร่วมนั่ง ในที่รับรองแขก ผู้มีเกียรติ เป็นเก้าอี้เบาะนวม ที่คณะ กกต. ที่มานั่งอยู่ และ เมื่อจะมอบ ของที่ระลึกให้ พล.อ.ศิริน แทนที่พ่อท่าน จะนั่งแล้วมอบให้ ซึ่งจะทำให้ พล.อ.ศิริน จะต้องนั่งคุกเข่า หรือ นั่งพับเพียบ หรือก้มตัวลงรับ ตามปฏิภาณ มารยาทสังคม ที่จะต้องแสดง ท่าทีอย่างนั้น รับของจากผู้ใหญ่กว่า หรือสมมุติที่สูงกว่า ตามวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณีที่ดีของไทย พ่อท่านตัดสินใจ ลุกขึ้นยืน เพื่อมอบของ ที่ระลึก ให้ พล.อ.ศิริน ตัดปัญหาที่จะทำให้ พล.อ.ศิริน อาจจะลำบากใจ หากจะต้อง นั่งพับเพียบรับ หรือ คุกเข่ารับ หรือก้มย่อตัวลงรับ ด้วยยังไม่รู้ใจของ พล.อ.ศิริน จะมีให้แค่ไหนอย่างไร ดังนั้น เมื่อได้เวลา แสดงธรรม พ่อท่านจึงเดินไปนั่งเทศน์ ในที่นั่งที่ พล.อ.ศิริน เพิ่งลุกออกมา หน้าเวทีนั้น ไม่ได้ไปนั่งในที่สูง ที่พวกเราจัดเตรียมไว้ เป็นการใช้ สัปปุริสธรรม กับหมู่คน ที่ยังประเมิน ไม่ได้ว่า พวกเขาจะศรัทธา ยกให้หรือไม่ยกให้ แค่ไหนอย่างไร

พ่อท่านแสดงธรรมในหัวข้อ "ทำอย่างไร นักการเมืองจึงจะมีธรรมะ" ในเวลาครึ่งชั่วโมง ซึ่งพ่อท่าน ก็จบได้ตามเวลา ที่กำหนดให้ ทั้งกระชับ และได้ใจความ ที่หลากหลาย สอดร้อย สัมพันธ์กัน ไม่อธิบาย รายละเอียดมาก เหมือนเทศน์กับพวกเรา ที่มีเวลาให้มาก พวกเรา หลายคน ต่างเห็นตรงกันว่า เป็นการเทศน์ที่ดี ทั้งเนื้อหา และลีลา น้ำเสียง จากบางส่วน ที่น่าสนใจ ดังนี้

"ต้องสร้างคนให้มีธรรม สร้างประชาชนให้มีธรรม เพราะนักการเมือง ก็ไปจากประชาชน..."
เป็นคำตอบสั้นๆ ที่เข้าใจตามได้ทันที จากหัวข้อ ที่ระบุให้เทศน์

"....ในสังคม ไม่ว่าจะเป็นเด็ก พระ นักบวช ชาวบ้าน และ นักการเมือง หรือ อาชีพใดๆ ก็แยกขาด จากกันไม่ได้ ต้องประสาน สัมพันธ์กัน การเมือง จึงเป็นเรื่อง ของทุกๆคน...."

"....อาตมายังไม่เคยเห็นนักการเมืองคนไหน หรือพรรคการเมืองพรรคใด สร้างคน มีแต่ สงเคราะห์คน ซึ่งการสงเคราะห์ ก็เป็นเพียงพฤติกรรมหนึ่ง เท่านั้น ส่วนการสร้างคนนั้น คลุมไปถึง การสงเคราะห์ด้วย...."

คำกล่าวข้างต้นนี้ ชวนให้คิดว่า ศาสนากับการเมือง ต้องสัมพันธ์กัน แยกขาดจากกันไม่ได้ เพราะศาสนา จะสร้างคน ให้มีธรรมะ การเมืองที่ไม่มีธรรมะ จึงทำได้เพียง แค่สงเคราะห์คน

"....ศาสนาพุทธสอนให้คนลดกิเลส ลดความเห็นแก่ตน ขอยืนยัน พระพุทธเจ้า ไม่สอนให้คน ไปรวย พระพุทธเจ้าสอน ให้คนกล้าจน...."

เป็นประเด็นร้อนอีกประเด็นหนึ่ง ที่เชื่อเหลือเกินว่าคนใหม่ๆ ที่เพิ่งมาพบ พ่อท่านนั้น คงไม่เคย ได้ยิน จากพระองค์ไหนมาก่อน ที่พูดอย่างนี้ ถ้าจะใช้สำนวน อย่างที่พ่อท่าน เคยพูด ให้พวกเรา ฟังบ่อยๆ ก็คือ หลายคนฟังแล้ว คงหูหัก

ที่พลาดไม่ได้ ก็คือ การอธิบายแนวคิดบุญนิยม เสริมด้วย ระบบสาธารณโภคี ก่อนทิ้ง ประเด็นร้อนๆ หนักๆให้เอาไปคิดต่ออีก "คนในระบบทุนนิยม จึงไม่มีประโยชน์ ต่อสังคมเลย..."
เมื่อเหลือบดู บรรดาตัวแทน พรรคการเมืองต่างๆ ล้วนนั่งจ้อง มองมาที่พ่อท่าน อย่างจดจ่อ นิ่งเงียบ แทบจะทุกประเด็น ที่พ่อท่านกล่าว คงจะเป็นสิ่งแปลกใหม่ สำหรับเขา จึงมีอาการ เช่นนั้น

พล.ต.ท.วาสนา เพิ่มลาภ พูดต่อจากการเทศนาของพ่อท่าน โดยกล่าวถึงงานที่ทำ ปัญหา และ ความตั้งใจ มุ่งหวังผลสำเร็จ ที่อยากเห็นการเลือกตั้ง ที่บริสุทธิ์ยุติธรรม เลือกด้วย วิจารณญาณ ของชาวบ้านจริงๆ ไม่ใช่เพราะ ถูกมอมเมา

พล.ต.ท.วาสนา รับของที่ระลึกจากพ่อท่านแล้ว อยู่พูดคุยกับพ่อท่านต่อ จนถึงเวลา ประชุมต่อ ได้เวลาฉันอาหารพอดี พ่อท่านแยกออกมา ขณะที่รายการประชุม ดำเนินต่อไปจนจบ ได้เวลา อาหารกลางวัน พวกเราจัดอาหาร เลี้ยงรับรองเพียบ หลากหลายชนิด ทั้งไทย จีน ฝรั่ง ดูพวกเรา ตั้งใจมาก ที่จะต้อนรับ ให้เกียรติเขาอย่างดี ซึ่งถ้าเป็นพวกเรากันเองก็ง่ายกว่านี้ ไม่หลากหลาย หรูหราอย่างนี้หรอก

ระหว่างรับประทานอาหาร มีการแสดงของนักเรียน ทั้งสันติอโศก และ โปงลาง จาก ศีรษะอโศก เวทีแคบไปเลย เพราะใช้ผู้แสดงเยอะมาก

หลังฉันแล้ว พ่อท่านเดินทักทายแขกเหรื่อ ที่กำลังทานอาหาร ตามจุดต่างๆ มีเสียงชมว่า เป็นการ จัดการประชุม ที่ดีมาก มีบรรยากาศดี

เมื่อการแสดงจบลง หลายคนทยอยกลับ ต่างแวะเอาของฝาก นอกจากผลิตภัณฑ์ชุมชน หนังสือต่างๆ ที่แจกแล้ว ยังมีอาหาร ผลไม้บรรจุถุง หิ้วกลับไปบ้านได้ ทั้งลองกอง มังคุด เงาะ แตงโม ทุเรียน ไร้สารพิษหมด

หลายคนมานมัสการลา "ผมเคยไปทานอาหารมังสวิรัติที่จตุจักรบ่อย" เป็นเสียงบอก ความคุ้นเคย รู้จักดี

"พรรคการเมืองที่ผมตั้งมา หลักการก็อยากให้เป็นอย่างนี้ล่ะครับ" เป็นเสียงยอมรับ เห็นดีด้วย

"แหม! เมื่อเช้าท่านเทศน์ได้ดีครับ" เป็นอีกเสียงหนึ่งที่ชม

"เดี๋ยวนี้นักการเมืองไม่มีหลักศาสนาในใจเลย ผมตั้งพรรค ก็อยากให้ประชาชน มีหลัก จริยธรรมครับ" สียงตอบรับ ศาสนาและการเมือง ควรสัมพันธ์ไปด้วยกัน

"ไปดูดอกไม้งามของพระอาริยะ (ศพแห้งๆ ที่ไว้ปลงอสุภะ ที่อยู่ชั้น ๒) และขึ้นไป ไหว้พระธาตุ มาแล้วค่ะ" เสียงผู้หญิง ที่บอกถึงความยอมรับ และ ซอกมุมต่างๆ ที่ได้ไปดูมา อย่างมีศรัทธา

"ได้มานั่งที่นี่อย่างนี้ ก็รู้สึกว่าดีครับ และอิ่มบุญอิ่มใจ การเมือง ต้องอย่างนี้ครับ การประชุม ส่วนใหญ่ ที่ผ่านมา จะเป็นโรงแรมโอ่โถง เขามักจะเชิญ นักการเมือง หรือ นักวิชาการ จะเชิญใครอื่นๆ ผมจึงเสนอจัด ให้แปลกไปเลย นิมนต์พระนี่แหละ เทศน์ให้ความรู้ เราฟังทางโลกย์ มามากแล้ว มาฟังธรรมบ้างอย่างนี้ดีครับ" เป็นเสียงเปิดเผยตัวว่า เป็นผู้สนับสนุน ให้นิมนต์ พ่อท่านเทศน์ ในการประชุมครั้งนี้

พ่อท่านเดินดูบริเวณสถานที่ ซึ่งเมื่อครู่นี้ เพิ่งจัดการประชุม ผอ.พรรคการเมือง ขณะนี้เรียบร้อย โต๊ะ เก้าอี้ หายหมด เก็บกวาดกันแทบไม่เหลือ ร่องรอย ของงานประชุม ที่เพิ่งผ่านไป หมาดๆ ด้วยพลังมด ของพวกเรา

ที่ใต้โบสถ์พบคุณแซมดิน พ่อท่านเดินเข้าไปทักถามผล ปฏิกิริยา ที่คุณแซมดิน ได้รับมา เป็นอย่างไร

คุณแซมดิน "หัวหน้าพรรคไทยมั่นคง เขาบอกจัดอย่างนี้ดี ไม่ต้องบอกเลยว่า มีวัฒนธรรม ชุมชน พึ่งตนเอง ชุมชนเข้มแข้ง เป็นอย่างไร มาแล้วก็เห็นเลย"

พ่อท่านเสริม "เขาบอกว่า การได้เห็นภาพ จะทำให้เกิดความเข้าใจยิ่งกว่า การได้อ่าน หรือ ฟังคำบอกเล่า นี่เป็นภาพชีวิตจริง มันยิ่งกว่า การพูดอธิบายอะไรๆ ภาพชีวิตจริงอย่างนี้ มันมีทั้งจิตวิญญาณ มีความเคลื่อนไหว มันยิ่งกว่าตำรา ยิ่งกว่าคำอธิบายใดๆ คนที่สัมผัสรับรู้ เขาจะได้หมด ทั้งจิตวิญญาณด้วย...."

๑๖.๐๐ น. มีการประชุมสรุปงานที่เพิ่งผ่านมา เพื่อเรียนรู้สิ่งที่เป็นประโยชน์ และสิ่งที่ควร แก้ไขปรับปรุง โดยมีผู้ร่วมงาน ในจุดต่างๆ มาร่วมประชุมด้วย ก่อนการประชุม พ่อท่านบอก เล่าเหตุการณ์ช่วงเช้า "อาตมาเดินไปทางด้านหลัง ผ่านที่จอดรถ เห็นเขาทยอยกันมา พอลงจากรถ มีแต่สวมเสื้อนอกลงมา ยังคิดว่า แล้วมันจะยังไงต่อไป เอาไปเอามา ถอดเสื้อนอก กันเกือบหมด มีแต่ผูกเนคไท มันต้องอย่างนี้แหละ ให้เขามาเจอพวกเรา ม่อฮ่อมอย่างนี้ ดึงเขาลงมา ถอดเสื้อนอกให้ได้"

ช่วงการประชุมสรุปงาน มีการพูดถึงปัญหา ที่คนไม่เคยมา จะหาทางเข้าซอย ยากมาก ป้ายสันติอโศก เล็กเกินไป น่าจะทำป้ายบอกทาง อย่างที่มีไฟสะท้อนแสง จะเห็นได้ชัด ตอนกลางคืน และ ควรทำป้าย ก่อนถึงทางเข้าซอยด้วย

"อาตมาเห็นว่า เรายังไม่เหมาะ ที่จะรับคนมามากๆ เพราะฉะนั้น เขาจะเลยไปบ้าง หาไม่เจอบ้าง ก็ไม่เป็นไร" พ่อท่านเผยใจ เหมือนหนึ่งบอก ให้พวกเราได้เรียนรู้ว่า บุญนิยมนั้น จะไม่แสวงหา หรือ ล่าบริวาร เช่นที่ทุนนิยม กระทำกัน อย่างไม่รู้ประมาณตน นอกจากนี้ พ่อท่าน ได้เสริมให้ความรู้ ประโยชน์ของขบวนการกลุ่ม

"...อาตมาเห็นชัดจริงๆ ในเรื่องขบวนการกลุ่ม อย่างที่พวกเราทำกันอยู่นี่ มีประโยชน์จริงๆ แม้จะยุ่งยาก กว่าการทำอะไร อย่างปัจเจก ส่วนตัว หรือ จะเหน็ดเหนื่อยอย่างไร แต่มันก็คุ้ม กับการสร้าง วัฒนธรรมอย่างนี้

อย่างที่หัวหน้าพรรคไทยมั่นคง เขามาสัมผัสแล้วเขาเข้าใจ ยิ่งกว่าการบอก อธิบาย พฤติกรรม ของทุกคน มันบอกไปหมด ทั้งชุมชนเข้มแข็ง พึ่งตนเอง มีวัฒนธรรม อาตมาว่า เขาจะได้อะไร ไปไม่น้อย จากการที่ได้มาสัมผัส ความแปลกนี่ ทำให้เขาอดไม่ได้ ที่จะต้องไปเล่า ให้ใครๆฟัง อย่างน้อยที่สุด ก็คนที่บ้าน

การที่เขามาสัมผัส สภาพมอซอของเราแล้ว ทำให้เขาต้องถอดสูทออกมา อย่างนี้แสดงว่า ฤทธิ์แรง ของพวกเรา มันถึง...."

ต่อมามีข้อมูลตำหนิพวกเรากันเองว่า พวกเราที่อยู่ใต้โบสถ์ ที่จัดเตรียมอาหาร เลี้ยงรับรองแขก คุยกันดังมาก ขณะที่ประธาน กกต.กล่าวอะไร แม้แต่ตอนพ่อท่านเทศน์ ก็ยังคุยกันเสียงดัง

"แสดงว่าพวกเรา มารยาทสังคมด้อยไป แม้พวกเราจะไม่ได้ไปอบรม เรื่องมารยาท อย่างเขา แต่เรา ก็ต้องรับฟัง แล้วก็ปรับปรุง" พ่อท่านกล่าว

คุณแซมดินแจ้ง "ครั้งนี้ กกต.มาร่วมมากกว่าการประชุมที่ผ่านๆมา เข้าใจว่า คงอยากมาดูเรา"

คุณอาภรณ์ วิชัยดิษฐ์ ผอ.พรรคเพื่อฟ้าดิน หรือ อดีตข้าราชการ กระทรวงมหาดไทย บอก กกต. ชมว่า พรรคเพื่อฟ้าดิน เป็นพรรคเดียว ที่มีระเบียบวินัยดีเลิศ ไม่ว่าจะเป็นรายงาน หรือ เอกสารต่างๆ แม้แต่พรรคใหญ่ๆ หลายพรรคก็สู้ไม่ได้ มีเสียงพูดเย้าๆ ไปถึงพรรคใหญ่ๆ ที่มีภาพของทุน จำนวนมาก

พ่อท่านเสริม "เรามีคนละไม่มาก แต่เราเอามารวมกัน ก็จึงกองโต ทั้งๆที่เราสอนให้จน ไม่ให้มีมาก แต่พวกเรา ก็เสียสละได้ แม้มีไม่มาก คนละเล็กละน้อย หลายๆคน ก็กองโตได้ แต่ของพวกเขา มีกันคนละมากๆ แต่เขาไม่สละ ไม่ให้กันออกมา เขาจึงเสียสละ ให้สังคม ไม่ได้มากอย่างเรา เปรียบเหมือน ประเทศที่จนนี่แหละ แต่สามารถ แจกจ่าย แบ่งปัน ให้สังคม ได้มากกว่า ประเทศที่ร่ำรวย"

คุณแซมดินบอกเล่าทิ้งท้ายว่า ผู้มาร่วมงานท่านหนึ่งกล่าวก่อนจากว่า การจัดงาน ของพรรค เพื่อฟ้าดิน ในวันนี้ ทำให้ชื่อเสียงของ พรรคเพื่อฟ้าดิน ได้ขจรขจายไปแล้ว

๘ มิ.ย. ๔๕ ที่สันติอโศก พบ น.ส.พ.มติชน ลงข่าวคำเทศนาของพ่อท่านเมื่อวานนี้ ข้าพเจ้า อ่านดู ค่อนข้างจะเข้มข้น ในการรายงานข่าว เหมือนพวกเราเข้มๆ หัวรุนแรง โต่งๆ ส่วน น.ส.พ.ไทยรัฐ เขียนแซว พล.อ.ศิริน ว่าตอนรับของชำร่วย จากสมณะโพธิรักษ์ มีอาการ ไม่แน่ใจ ในฐานะ ว่าเป็นพระหรือคน จึงย่อตัวถอนสายบัวรับ แทนการยกมือนมัสการรับ

ต่อมาพ่อท่านได้วิจารณ์ การเขียนแซว ของนักข่าวว่า "...เป็นความรู้สึก ของนักข่าวเอง เพราะท่าที ของ พล.อ.ศิริน ไม่เป็นอย่างนั้น อยู่พูดคุยกัน กับพวกเรามาก่อน ก็ใช้คำว่า นมัสการ ซึ่งในสถานการณ์ อย่างนั้น อาตมายืนขึ้น ส่งของชำร่วยให้ ขณะที่ พล.อ.ศิริน เดินมา ในจังหวะรับพอดี ก็ต้องอยู่ในอาการ รับอย่างนั้น เป็นธรรมดา ตอนแรก เขาจัดที่นั่ง ให้อาตมาสูง ตรงที่อาตมา เคยนั่งเทศน์ ทำวัตรเช้า กับพวกเรา แต่กับคนนอกใหม่ๆ อย่างนี้ อาตมาเกรงว่า เขาจะถือสา หาว่าศักดินามาก อาตมาจึงเปลี่ยน ไปนั่งร่วม ที่เบาะรับแขกด้วย แล้วถ้าจะให้ อาตมานั่งแจก ก็ดูไม่ดีอีก อาตมาเลยลุกขึ้น ยืนมอบแล้วกัน ซึ่งในอิริยาบถ ที่อาตมา ยืนอยู่นั้น จะให้เขาก้มลงกราบ แล้วรับของ มันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว...."


สังฆราชฮินดู SWAMI AVDHESHANAND GIRI เยือนสันติอโศก

(มีต่อ หน้าถัดไป)

(สารอโศก อันดับที่ ๒๕๑ สิงหาคม ๒๕๔๕)