สารอโศก อันดับที่ ๒๕๑ ตอน๒
(ต่อจากหน้าที่แล้ว)
สังฆราชฮินดู SWAMI
AVDHESHANAND GIRI
เยือนสันติอโศก
๙ มิ.ย.๔๕ ที่สันติอโศก วันบูชาพระบรมสารีริกธาตุ
รายการช่วงบ่าย ดร.นิติภูมิ นวรัตน์ พูดในหัวข้อ
ยุทธศาสตร์กู้ชาติให้พ้นสภาพอาร์เจนตินา ตามพ่อท่านไปร่วมนั่งฟัง อยู่ครู่ใหญ่
แล้วพ่อท่าน ก็หันมาบอกให้ข้าพเจ้า ไปคอยดูสังฆราชฮินดู (ผู้นำฮินดูกลุ่มหนึ่ง
ในฮินดู มีมากกลุ่ม) ที่คุณวิชาญ จะพามา หากมาถึงแล้ว ให้บอกอาจารย์ขวัญดีด้วย
เข้าใจว่า พ่อท่านคงบอก ให้อาจารย์ขวัญดี คอยต้อนรับก่อนแล้ว แต่ข้าพเจ้า
เพิ่งจะทราบคำว่า สังฆราชฮินดู บอกถึงฐานะ ความเป็นคนสำคัญพิเศษ ที่จะมาเยือน
ขณะที่พวกเรา ส่วนใหญ่ ไม่มีใครรู้เลย พ่อท่านเอง ก็ไม่ได้บอก ให้พวกเรารู้กันโดยทั่ว
ในช่วงแสดงธรรม ทำวัตรเช้า เข้าใจว่า คงจะเป็นการติดต่อบอกมา อย่างกะทันหัน
|
|
ประมาณ ๑๕ นาฬิกา คณะของสังฆราชฮินดูมาถึง
ข้าพเจ้าลังเลในการตัดสินใจว่า จะต้อนรับ อย่างไร จึงคิดว่า น่าจะเรียนปรึกษาพ่อท่านดูก่อน
โดยให้คุณวิชาญที่นำมา พาเดินชม สถานที่ ไปก่อน แล้วค่อยไปพบ พ่อท่านที่กุฏิ
ซึ่งคนไม่พลุกพล่าน เสียงไม่ดังมาก อย่างอยู่ที่ใต้วิหาร แต่ผู้ต้อนรับ ได้นำพามาพบพ่อท่านเลย
ในขณะที่พ่อท่าน อยู่ในสภาพ นั่งเก้าอี้ โดยมีญาติโยม นั่งบนพื้นทราย อยู่รายล้อม
ไม่มีเก้าอี้จัดเตรียมต้อนรับ ผู้สูงศักดิ์นั้นเลย เมื่อพ่อท่าน เหลียวมาเห็น
มองดูบริเวณโดยรอบ คล้ายกำลังคิด ตัดสินใจว่า จะต้อนรับอย่างไรดี แล้วพ่อท่าน
ก็รีบลุกจากเก้าอี้ ผายมือเชื้อเชิญ ให้สังฆราชฮินดู นั่งบนอาสน์ ที่เป็นลานหิน
ใกล้ๆ ดูทั้งฝ่ายเขาและเรา เก้ๆกังๆ กับการต้อนรับ ที่กะทันหันนั้น ฝ่ายเรา
ก็ประมาณ ความรู้สึก ของเขาไม่ถูก ไม่รู้เขาจะถือศักดิ์ ในสมมุติฐานะ มากน้อยแค่ไหน
ข้อมูลที่ได้รับ น้อยจริงๆ แทบไม่รู้อะไรเลย ขณะที่ฝ่ายเขา ก็คงงงๆว่า จะให้เขานั่งอย่างไร
ตรงไหน ตกลง ก็นั่งตรงลานหิน บนอาสน์ของสมณะนั้น พ่อท่านนั่งขยับตัว หันหน้าเข้าหา
อย่างเจ้าบ้าน ที่ต้อนรับ ให้เกียรติแขก ที่มาเยือน ดูจากท่าที คงจะคุยกันนาน
ไม่ใช่แค่ทักทาย พบกันแล้ว ผ่านเลย ข้าพเจ้ารีบไปเอา เครื่องอัดเสียงที่กุฏิ
เมื่อกลับมา พบวงสนทนา เป็นไปอย่าง ยากลำบาก เนื่องจาก เสียงลำโพง จากรายการ
ดร.นิติภูมิ ดังกลบเสียงสนทนา ที่ผ่านล่าม คือ อาจารย์ขวัญดี ข้าพเจ้าเอง
ก็นั่งอยู่ห่างด้วย หากจะขยับไปใกล้ชิด ก็ดูจะเป็นภาพ ผู้น้อยรุมล้อมผู้ใหญ่
ไม่ดูดีแน่ จึงแทบไม่ได้ยิน อะไรนัก ส่วนใหญ่ สังฆราชฮินดู เป็นฝ่ายพูด ขณะที่พ่อท่านเอง
แทบไม่ได้พูดอะไรเลย ได้แต่ยิ้มต้อนรับ
คุณอโศก ชาวอินเดียที่อยู่เมืองไทยมานาน
พูดไทยได้คล่อง ชัดเจน มีศรัทธาต่อพ่อท่าน ให้ข้อมูลกับ สังฆราชฮินดูว่า
พวกเราจะบริสุทธิ์มากกว่า ชาวพุทธกลุ่มอื่น ในประเทศนี้ ท่านสังฆราชฮินดู
จึงได้ขนานนามให้ว่า เป็นกลุ่มที่เรียกว่า reform Buddhism
เหมือนกับที่ ดร.มาลาใช้ reform คือ ปฏิรูปใหม่ให้ดี
คุณอโศกแนะให้พูดถึงเราเอง
ให้ท่านสังฆราชฮินดูฟัง "ผมหวังว่า อยากให้มาเรียนรู้ ได้เห็น หลายสิ่ง
หลายอย่างที่ดี ของสันติอโศก และนำกลับไปใช้" คุณอโศกกล่าว พ่อท่านยังคงนิ่ง
ดูท่าที ท่านสังฆราชฮินดู อาจารย์ขวัญดี ช่วยบอกเล่าแทน เป็นภาษาอังกฤษ สั้นๆ
กิจกรรมต่างๆ ของพวกเรา กดดัน (impress) กลุ่มพุทธกระแสหลัก
ทำให้พ่อท่าน และสมณะ ถูกจับดำเนินคดี แล้วก็แพ้คดี ในที่สุด
ท่านสังฆราชฮินดู บอกว่า
อย่างนี้ไม่ใช่ปฏิรูป แต่เป็นการปฏิวัติไปสู่สันติภาพ
ครู่ต่อมา ท่านสังฆราชฮินดู
ได้มอบกระเช้าดอกไม้ ที่ได้จัดเตรียมมาเอง พร้อมดอกดาวเรือง สีเหลืองสดอีก
๒ กำมือหอบ ถวายให้พ่อท่าน มอบให้ พล.ต.จำลอง และ อาจารย์ขวัญดี ถ้าเป็นข้าพเจ้า
คงจะอึกอัก ไม่รู้จะตัดสินใจ อย่างไรดี ด้วยปกติ เคยเห็นพ่อท่านปฏิเสธ เมื่อมีผู้นำดอกไม้
มาใส่บาตร พ่อท่านจะรับ อนุโมทนาทาน แล้วฝากคืนว่า อาตมาเป็นพระ เลิกเล่น
เลิกรับดอกไม้ของหอมแล้ว พระพุทธเจ้าท่านห้าม เป็นศีลของพระ ประการหนึ่ง
แต่วินาทีนั้น พ่อท่านยิ้ม ยกมือไปรับ กระเช้าดอกไม้ ที่ท่านสังฆราชฮินดู
ยื่นมาให้
คุยกันอยู่สักพัก ก็เปลี่ยนย้าย
จากหน้าเวที หรือ อาสน์หิน ไปที่กุฏิ ด้วยเสียงลำโพง จากรายการของ ดร.นิติภูมิดัง
ทำให้คุยกันลำบาก
พ่อท่านเดินนำ ไปที่กุฏิ
เมื่อถึงที่กุฏิ ก็ดูเก้ๆกังๆว่า จะใช้สถานที่นั่ง สนทนาอย่างไร เพราะมีคน
ติดตาม มามาก ตอนแรก ที่ม้านั่งข้างโต๊ะหินอ่อน ซึ่งก็ดูไม่ลงตัว ข้าพเจ้าเสนอ
ให้ไปนั่งคุย บนกุฏิ จะมีที่ลดหลั่น นั่งกันได้หลายชั้น ตอนจะนั่งจริงๆข้าพเจ้ารีบหยิบเสื่อ
คลี่ปูกว้าง คิดจะให้ทั้งพ่อท่าน และท่านสังฆราชฮินดู นั่งบนเสื่อด้วยกัน
ขณะเดียวกัน คนของท่าน สังฆราชฮินดู รีบควักเอาผ้าพรม ที่เตรียมมาปู ข้าพเจ้าเห็น
เป็นผืนกว้าง จึงดึงเสื่อออก เมื่อปูเข้าจริงๆ ท่านสังฆราชฮินดู นั่งแทบเต็มผืน
ครั้นจะเอาเสื่อปู ให้พ่อท่านอีก ก็ดูไม่ดี เพราะเสื่อ หนาเป็นนิ้ว พับครึ่งก็ไม่ได้
ด้วยเป็นเสื่อยาว ใช้ปูนอน ทำจากโรงงาน มีรอยพับเป็น ๒ พับครึ่ง หากพับแล้ว
ก็ไม่เรียบเสมอกันหมด จึงเลยตามเลย ให้พ่อท่านนั่งกับพื้นไม้ ให้ดูเป็นเรียบๆง่ายๆ
ก็แล้วกัน เพราะพื้นไม้ ก็เช็ดถู ทำความสะอาด ทุกวันอยู่แล้ว ไม่เปื้อน ฝุ่นแน่ๆ
จะเหลืออยู่เพียงว่า ไม่สมกับ สมมุติฐานะ หรือเปล่าเท่านั้น ซึ่งในสถานการณ์
อย่างนั้น ถ้าจะหยิบฉวย ผ้ามาปู ให้พ่อท่านนั่งก็ได้ แต่จะดูเป็น มากพิธีไปไหม
เพราะท่านสังฆราชฮินดู ก็นั่งลงแล้ว พ่อท่านก็นั่งแล้ว ซึ่งในหลายๆครั้ง
ที่ผ่านมา การจะบริการอะไรตามหลัง จากที่พ่อท่าน ได้ทำอะไรไปแล้ว มักจะได้รับคำปฏิเสธ...
เอาเถอะ... ไม่ต้องหรอก... อย่าเลย...
ทราบว่าท่านสังฆราชฮินดูอายุ
๕๑ ปี เป็นนักเทศน์ ที่มีคนฟังเป็นแสนคน ฟังจาก การแปลความ ของอาจารย์ขวัญดี
ดูท่านสังฆราชฮินดู จะเป็นคนพูดจาประสาน สมานไมตรี อย่างมาก กล่าวชมพ่อท่าน
ชมอาจารย์ขวัญดี "...เป็นสิ่งมหัศจรรย์บนพื้นโลกแล้ว ที่มาเห็นนี่"
"...สำหรับท่านแล้ว
วันนี้เป็นวันแห่งความทรงจำของท่าน"
"...เวลามองพระคุณเจ้า
มองพ่อท่าน ก็มีความรู้สึกใกล้เคียงกันมาก"
สุดท้าย ท่านสังฆราชฮินดูถามผ่าน
หรืออาจารย์ขวัญดี ถามพ่อท่านเอง ก็ไม่ทราบชัด "...พ่อท่านจะพูดอะไรไหม
เขากำลังจะลาแล้ว "
พ่อท่านมีท่าที ไม่คิดจะพูดอะไร
จึงบอก "ไม่รู้จะพูดอะไร?"
"พูดอะไรสักนิดก็ยังดีครับ"
คุณอโศกคะยั้นคะยอ
"มีความยินดีที่ได้มาพบกัน"
พ่อท่านกล่าวสั้นๆ
ข้าพเจ้าลืมสังเกต เวลาพบกัน
และตอนจากลากัน พ่อท่านและท่านสังฆราชฮินดู ทักทาย วางตัวกันอย่างไร ทราบภายหลัง
จากการบอกเล่าของพ่อท่าน และ เพื่อนสมณะว่า ตอนแรกพบนั้น ท่านสังฆราชฮินดู
ประนมมือนมัสการพ่อท่าน ขณะที่พ่อท่านนั่งนิ่ง มีเพียง รอยยิ้ม ในสีหน้า
และค้อมหัวเล็กน้อย แสดงไมตรี ตอบรับคำทักทาย แต่ตอน จากลานั้น พ่อท่านยกมือไหว้ตอบ
พ่อท่านได้แสดงความเห็นในเรื่องนี้
จากบางส่วนของการแสดงธรรม ทำวัตรเช้า ๑๐ มิ.ย.๔๕ วันอโศกรำลึก ที่สันติอโศก
"....พระพุทธเจ้า
มีอัตตาไหม ไม่มีอัตตา แต่ไม่รับไหว้ใคร คนก็เข้าใจยาก ไม่ถือตัวหรือเนอะ
ฟังก็เหมือน ถือตัวนะ ท่านไม่ลุกรับใคร ไม่ไหว้ใครๆก่อน อย่างนี้เป็นต้น
เอ้! แล้วบอกว่า ท่านไม่มีอัตตา นั่นเป็น ภาวะซับซ้อน ยากแก่การเข้าใจ เมื่อวานนี้
มีหัวหน้ากลุ่ม นักบวชฮินดู ระดับ สังฆราชมา อาตมาสะดุด ตรงที่ท่านมา ท่านก็ไหว้อาตมา
อาตมาก็เต๊ะท่า ไม่ไหว้ตอบอะไร มันสะดุด เอ! เรากระด้าง เราแข็ง เราหยาบ
มันดูไม่ดี ดูๆกรรมกิริยา ที่มนุษยสัมพันธ์ ไม่สอดคล้อง ก็พยายามโค้งรับละนะ
แต่มันแหม ก็ทำไม จะยกมือไหว้ตอบ อย่างนี้ไม่ได้ เป็นอะไร อาตมาสะดุด มานานแล้วเรื่องนี้
แม้แต่ ส.ศิวรักษ์ เขาก็เคยท้วง อาตมา ได้คิดว่า เอ้! เราจะเปลี่ยนท่าที
สมณะพวกเราเนี่ยรับไหว้ ในสิ่งที่ควรรับไหว้ ถือว่าการรับไหว้ หรือ การไหว้เนี่ย
เป็นการแสดงการทักทาย แสดงการนอบน้อมคารวะ เคารพกัน เป็นคารโว ชนิดหนึ่ง
ส่วนการ ที่จะยกเชิดชู เทิดทูลกราบ ก็อีกเรื่องหนึ่ง กราบ คือ เรื่องหนึ่ง
ไหว้คือ เรื่องสามัญ แม้แต่มหายาน เขาไหว้ฆราวาส มันก็ไม่น่า จะเป็นอะไร
อาตมาว่า มันจะสวยนะ เรามืออ่อนไหว้ เหมือนญี่ปุ่นเนี่ยโค้ง แหมอาตมาซาบซึ้ง
ในเรื่องการอ่อนน้อม ถ่อมตน นิวาโต คารโว ก็เคยนำว่า แหม เรามาโค้งกันมั้ย
มันไม่ได้ คนไทยโค้ง ไม่เหมือนญี่ปุ่น เรามาดัดจริต เคยพยายามกัน โค้งไปโค้งมา
ก็เลยอย่างเก่า มันโค้งไม่ลง โค้งมันไม่เหมือนน่ะ มันไม่ใช่ วัฒนธรรมของเรา
แต่ไหว้เนี่ยไปได้ พวกเราฆราวาสเนี่ย ได้รับการอบรม พวกเราไหว้ก่อน ใช่มั้ย
คนแก่ไปไหว้เด็กๆ หนุ่มๆสาวๆ โอ๊ย! เขาประทับใจ เด็กพวกเราเนี่ย แขกเหรื่อมา
ก็ไหว้ เจริญธรรม มันดีนะ ถ้าเราตัดสินซะว่า การทักทาย เหมือนญี่ปุ่น เขาโค้งกัน
หรือ ฝรั่งเขา จับมือกัน มันเป็นการ คารวะกัน ก็ดูดี อาตมาว่าเอ้! เปลี่ยนท่าทีอย่างนี้
ซะทีเถอะ อันนี้มันเป็น รายละเอียด ที่ไม่ใช่ห้ามทีเดียว หรือไม่ห้าม จะเคารพเสียก็ได้
ไม่เคารพเสียก็ได้ ถ้านานาสังวาส เป็นผู้ที่เราต่างนะ แต่ทีนี้จะเคารพ คารวะ
ไหว้ขนาดไหนล่ะ อาตมา ก็เปรยขึ้นมา เมื่อวานนี้ก็พูดทางสมณะ ใครจะเริ่ม ลองประพฤติดูบ้างก็ได้
ผู้ที่สมควรจะไหว้ จะเป็นนักบวช ศาสนาอื่น หรือแม้แต่นักบวช
ในมหายาน นักบวชในนิกาย หลายนิกาย ก็ตาม ก็น่าจะเคารพกันได้ อย่างสิกขมาตุเนี่ย
จะถือแบบสมณะ แล้วอย่างเนี้ย นักบวช ระดับใหญ่ อย่างสังฆราชฮินดู มาไหว้สิกขมาตุเนี่ย
แล้วสิกขมาตุ ก็เลยเต๊ะท่าอย่างนี้เหรอ จะเป็นอย่างไร อาตมาว่า มันควรจะไหว้ก่อน
ด้วยซ้ำไป
เรื่องนิวาโต คารโว ไม่ใช่แต่เฉพาะกายกรรมข้างนอกนะ
ในใจของเรานี่แหละ นิวาโต อ่อนน้อม ถ่อมตน มีสัมมาคารวะ มีความเคารพกัน เคารพในวัยก็ตาม
เคารพในคุณวุฒิ คุณธรรม คนนี้อายุน้อยกว่า แต่เขามี คุณธรรมสูงกว่า อะไรพวกเนี้ย
เราต้องพยายามศึกษา และก็ ประพฤติ ปฏิบัติให้ได้ อย่าไปกระด้าง อย่าไปแข็ง
อย่าไปดื้อ ถ้าเราสามารถ อ่านสิ่งเหล่านี้ แล้วก็ทำตน ให้มันสอดคล้อง
เรื่องของนิวาโต คารโว
อาตมาก็อยากจะให้พวกเราเนี่ย ได้สำนึก และก็พยายาม พัฒนา จุดนี้ให้ดีขึ้น
ให้มากขึ้น แม้แต่สมณะ แม้แต่อาตมา ก็ควรจะต้อง ปรับท่าทีแล้วล่ะ อาตมาว่า
เป็นการดีด้วยซ้ำไป ทั้งสายตา ของข้างนอก ในเรื่องของอ่อนน้อม ถ่อมตน ในการเคารพ
คารวะ ซึ่งมันเป็นวัฒนธรรม ของมนุษยชาติ ทุกชาติ มีวัฒนธรรม อันนี้นะ
นอกจากนี้ อยากจะมาซ้ำในเรื่องของการรู้จักคุณคน
รู้จักขอบคุณ รู้จักคุณค่าของคนน่ะ มันทำให้ลดตัว ลดตนได้ ทำให้เราญาติดี
ถ้าเราระลึกถึงแต่เรื่องโทษ เรื่องสิ่งไม่ดี สิ่งไม่ชอบ มันไม่ประสาน มันไม่เกิด
ความสามัคคี ไม่เกิดความสัมพันธ์ แต่ถ้าเมื่อเรานึกถึงแต่
คุณความดี มันจะเกิด ภาวะที่สัมพันธ์ได้ ไม่ผลัก ไม่แตก ไม่แยกนะ ตอนนี้เราเปิดกว้าง
ไปออกจากเดิมขึ้น เราก็จะมีลักษณะอะไร พวกนี้เพิ่มขึ้น....."
นิสิต มหาวิทยาลัย
มหาจุฬาฯ มาสนทนาธรรม
๑๕ มิ.ย. ๔๕ ที่ปฐมอโศก คณะนิสิตปริญญาโท จากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
๗ คน หลังจากเดินดู กิจกรรมต่างๆ ในชุมชนแล้ว ได้มาสนทนากับพ่อท่าน
"ผมนำคณะ จากมหาวิทยาลัย
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นนิสิตปริญญาโท ฆราวาส ท่านอาจารย์ของผม ในวิชาสังคมมานุษยวิทยา
แนะนำว่า ควรจะมาศึกษา หาข้อมูล เกี่ยวกับ ลักษณะ การปกครอง แบบชุมชนอโศก
ที่มีอยู่ทั่วประเทศไทย ซึ่งได้เป็นชุมชนตัวอย่าง" นิสิตชาย กล่าวนำ
"คืออาจารย์เขามอบงานให้เราทำเป็นกลุ่มๆนี่น่ะค่ะ
ให้เลือกทำน่ะค่ะ และทางกลุ่มเรา ให้เลือก ทำที่นี่ บางกลุ่ม เขาก็เลือกวัด
แถวสามพราน" นิสิตหญิงกล่าวเสริม
นิสิตหญิงอีกคนช่วยเสริมต่อ
"แล้วก็วิธีการก็คือ เราทำเป็น Paper และก็มีการรายงาน
ที่หน้าชั้นค่ะ กลุ่มละ ๑๕-๒๐ นาทีค่ะ"
ช่วงต้นเป็นการซักถามเกี่ยวกับชุมชนอโศก
มีกี่แห่ง อยู่ที่ไหนบ้าง เมื่อพ่อท่านบอกเล่า "....ชุมชนเรา
จะเน้นศาสนา เน้นธรรมะเป็นหลักนำชีวิต...."
นิสิตหญิงคนหนึ่งถาม "แล้วก็ยึดพระไตรปิฎกเป็นหลักใช่ไหมคะ"
"ใช่สิๆ ยึดพระไตรปิฎกเป็นหลัก"
พ่อท่านตอบหนักแน่น
"หลวงพ่อให้ทางสาวกพุทธศาสนิกชน
มาภาวนาไหมคะ" นิสิตหญิงอีกคนซัก เหมือนอยาก จะรู้ว่า เมื่อยึด พระไตรปิฎก
แล้วปฏิบัติกันหรือเปล่า
"หลักภาวนา ใช้หลักธรรมะของพระพุทธเจ้าโดยตรง
ที่พระพุทธเจ้าค้นพบ เรียกว่า โลกุตรธรรม เป็นธรรมะ ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้
หลังจากโลกียธรรม ที่มีฤาษีนั่งหลับตา พวกนี้มันไม่ใช่ ของพุทธทีเดียว มันเป็น
ของเทียม เดี๋ยวนี้มาหานั่งหลับตา เพี้ยนไปหมดแล้ว ศาสนา ของพระพุทธเจ้า
คือ มรรคองค์แปด นั่นแหละ เป็นทางปฏิบัติอันเอก
มีทางหนึ่งทางเดียว เท่านั้นจริงๆ ปฏิบัติมรรคองค์แปดลืมตา
ปฏิบัติสัมมาสมาธิ สมาธิของพระพุทธเจ้า...." พ่อท่านอธิบาย
"เอกายนมรรคโค ใช่ไหมครับ"
นิสิตชายเสริม
"ใช่ สัมมาสมาธิของพระพุทธเจ้าโดยตรง
แต่สมาธิทั่วๆไป มันมีมาเก่าแก่แล้ว ก่อนพระพุทธเจ้า อาฬารดาบส อุทกดาบส
นั่งรูปฌาน อรูปฌาน เดี๋ยวนี้คนกำลังเพี้ยน กลับไปหาสู่ ที่เพี้ยนเดิม สมาธินะเพี้ยน
แล้วพูดกันไม่รู้เรื่อง อาตมาเอาสัมมาสมาธินี้ มาอธิบาย และเอา มหาจัตตารีสกสูตร
เล่ม ๑๔ ข้อ ๒๕๒-๒๘๑" พ่อท่านอธิบาย และ ยกหลักฐานอ้างอิง
นิสิตหญิง เปลี่ยนประเด็นถาม
"แล้วทุกๆสาขานี่ ต้องขึ้นอยู่กับการปกครอง ของท่าน หรือเจ้าคะ หรือว่า
อิสระต่อกัน"
"การปกครองของพวกเรา
เป็นการปกครองอย่างประชาธิปไตย ที่ไร้เผด็จการ...." พ่อท่าน ตอบ
นิสิตหญิง อีกคนเสริมแทรก "เหมือนท่านเป็นอาจารย์ใหญ่ หรือเปล่าเจ้าคะ"
"อาตมาเป็นอาจารย์ใหญ่ได้
แต่ไม่ใช่ผู้เผด็จการเป็นหัวหน้าสั่งการอะไร เป็นผู้ที่เขานับถือ เป็นอาจารย์ใหญ่
หรือเป็นผู้ที่ มีความรู้มากหน่อย"
นิสิตหญิงอีกคนยังคงติดใจเรื่องสมาธิ
"ที่นี่ไม่มีการนั่งสมาธิแบบหลับตา"
"มีมี นั่งสมาธิก็มี
แต่เป็นของรอง ไม่ใช่ทางเอก นั่งสมาธิเป็นเรื่องอุปการะ เป็นเรื่องปลีกย่อย
ไม่ใช่เรื่องหลัก เรื่องหลักคือ มรรคองค์แปด และ โพธิปักขิยธรรม
๓๗ คือทางปฏิบัติ อันเอก ของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้า ท่านตรัส เอาไว้ชัดเจน
เอเสวะ มัคโค นัตถัญโญ มีทางนี้ ทางเดียวเท่านั้น ไม่มีทางอื่น อย่างอื่นไปพูด
กันเอาเอง จะไปเชียงใหม่ ไปเรือบินก็ได้ ไปรถยนต์ก็ได้ ไปรถไฟก็ได้ อะไรก็ได้
มันพูดเล่น พูดตาม ตรรกะของเขา แต่พระพุทธเจ้า ตรัสไว้ เอเสวะ มัคโค นัตถัญโญ
หนึ่งเดียวเท่านั้น ไม่มีทางอื่น คือทาง มรรคองค์แปด
ปฏิบัติเจ็ดข้อนั่น แล้วก็เป็น สัมมาสมาธิ ไม่ใช่ไปนั่งหลับตา ทำสมาธิอย่างนี้ไม่ใช่"
พ่อท่านย้ำ
นิสิตหญิงซัก "ปัจจุบันขณะ
ถ้าเราจดจ่ออยู่ตรงนั้น นั่นคือสมาธิ แล้วใช่ไหมเจ้าคะ"
"สมาธิของพระพุทธเจ้าไม่ได้จดจ่อ...."
พ่อท่านกำลังตอบ
นิสิตหญิงแทรก พยายามบอกถึงความเข้าใจของตน
"เราทำทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว เราเห็นอยู่ และ รู้สิ่งที่กระทำอยู่ อันนั้นทำเหมือนกับทำสมาธิ
และที่สุดที่ทำทุกอย่างนั้น"
พ่อท่านอธิบายแก้ "ไม่ใช่เท่านั้น
อันนั้นเป็นแต่เพียงสมถะ อาจจะเป็นสมาธิสมถะ ไม่ใช่ สัมมาสมาธิ สัมมาสมาธินั้นคือ
สามารถละ สามารถทำให้แข็งแรง สมาธิคือ ความตั้งมั่น มีฌาน ฌานคือ
การเผากิเลส สมาธิของพระพุทธเจ้านั้น คือ การรู้จักกิเลส อ่าน มีญาณ
มีตามอง ฌานคือลืมตา ไม่ใช่มานั่งหลับตา ไม่ใช่ เราต้องอ่าน
อาการของจิตออก วิจัยจิต และ วิจัยกิเลสออก อย่างนี้เป็นสราคะ สโทสะ สโมหะ
แล้วเราก็สามารถ ทำให้มันจางคลายได้ ด้วยสมถะภาวนา และ วิปัสสนาภาวนา ซึ่งเราต้องเรียน
รายละเอียดมากมาย ไม่ใช่เรื่องเล่น ไม่ใช่เรื่องคุยกัน ๕ นาที ๑๐ นาที หรือว่าวันเดียว
มาพูดกัน ๑๐ ปี ๒๐ ปี ๑๐๐ ปี ธรรมะ ของพระพุทธเจ้า ลึกซึ้งมาก เพราะฉะนั้น
ขณะนี้ก็ได้แต่พูด แค่บอกหลักๆ ให้ฟังเท่านั้นเอง สรุปแล้ว พูดได้เลย ในเมืองไทย
ไม่มี มหาจัตตารีสกสูตร ไม่มีสัมมาสมาธิ แต่ไปเรียน สมาธิสามัญ เป็นสมาธิทั่วไป
ไม่ใช่สมาธิ ของพระพุทธเจ้า ที่เรียกว่า สัมมาสมาธิ"
ขณะพ่อท่านบอกให้หยิบหนังสือสมาธิพุทธ
เพื่อเปิดให้ดูหลักฐาน อ้างอิงประกอบ นิสิตชายคนหนึ่ง ยังคงถาม อย่างไม่เข้าใจ
"มหาจัตตารีสกสูตร จะบอกได้ไหมครับว่า เหมือนกับว่า คล้ายๆจะรวมแสงมาตรงนั้นอีกที
ใช่ไหมฮะ"
พ่อท่านเปิดหนังสือสมาธิพุทธ
หาหลักฐานอ้างอิงนั้น แล้วอธิบายไปด้วย
"สมาธิของพุทธนี่นะ
ถ้าไปอ่านไปศึกษาจริงๆแล้ว คุณจะรู้เลยว่า ที่ปฏิบัติกันอยู่ทุกวันนี้ ทั่วประเทศ
ทั่วโลกด้วย มันไม่ใช่สมาธิ ของพระพุทธเจ้า สัมมาสมาธินี้ ไม่มีของคนอื่นหรอก
ของพระพุทธเจ้า ค้นพบ" แล้วพ่อท่านก็อ่าน มหาจัตตารีสกสูตร ให้นิสิตทั้งหมดฟัง
นิสิตหญิงซัก "พระอาจารย์คะ
ตอนที่พระพุทธองค์ตรัสรู้น่ะค่ะ ท่านได้ออกแสวงหา ๖ ปีแล้วนี่คะ"
พ่อท่านตอบ "๖ ปีนั้นคือ
ความผิดทั้ง ๖ ปี แล้วไม่ใช่ทางปฏิบัติ และ พระพุทธเจ้า ก็เคยตรัสไว้ มี....."
แล้วพ่อท่านก็พลิกหาหลักฐาน เพื่อจะยืนยัน
นิสิตหญิงอีกคนแย้ง "ท่านคะ
ตอนที่ท่านบรรล ุก็คือตอนที่ท่านนั่งสมาธิ"
"นั่นท่านใช้เตวิชโช
เตวิชโชคุณจะทำเมื่อไหร่ ที่ไหนก็ได้ เตวิชโช หมายความว่า นั่งทบทวน เตวิชโช
คือ ตรวจสอบผล พระพุทธเจ้าก็นั่งสมาธิ ตรวจสอบผล เหมือนลงบัญชี แล้วท่านก็
นึกถึงอดีต อ้อ อดีตช่วงนั้น ช่วงนี้ แล้วท่านก็เห็นความเกิด ความดับ ความต่างที่อยู่ในอดีต
สรุปผลแล้ว โอ้! เป็นอย่างนี้ จนกระทั่งรู้จัก อาสวะสิ้นดับมา เป็นอย่างไรๆๆ
หมด จบ ท่านก็สรุปได้" พ่อท่านอธิบาย
ต่อจากนี้ไปเป็นคำถามคำตอบบางส่วน
ดังนี้
นิสิตหญิง :
แล้ว ๔๐ วิธี นั้นผิดหมดเหรอคะ
พ่อท่าน :
๔๐ วิธีไหน อันนั่นของธรรมโฆษาจารย์ พูดเอง เรียบเรียงเอง ในวิสุทธิมรรคที่ว่านี้
ผิดจาก อเทวนิยมเยอะแยะ เป็นแบบฤาษี เป็นเทวนิยม ศาสนาพุทธเป็นอเทวนิยม ไปอ่านดูดีดี
วิสุทธิมรรค เป็นเทวนิยม
พระพุทธเจ้าเกิดมา ท่ามกลางศาสนา
เทวนิยม เลยต่อสู้อย่างหนัก นับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ บันดลบันดาล พระพุทธเจ้าสอนเรื่องกรรม
ปฏิบัติกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม และกรรมนี้ มีพลังที่เป็นวิบาก สั่งสมผล
ท่านจะได้เกิดหล่อ เกิดสวย เกิดรวย เกิดจน พระเจ้าบันดาลไม่ใช่
นิสิตหญิง
: ท่านคะ ที่เราทำกิจกรรมนี่นะ อยากทราบว่า อุปสรรคในการเริ่มก่อสร้าง
ปัจจุบัน และ ในอนาคต ปัญหาอุปสรรค ที่ท่านพบน่ะค่ะ
พ่อท่าน :
อุปสรรคก็มีอยู่อย่างเดียว มันเข้าใจกันไม่ถูกต้อง แล้วเขาก็ยึดถือตามเดิม
ตามเก่าๆ ตามที่เชื่อถือมา ซึ่งมันเพี้ยนไปแล้ว อาตมายืนยันว่า มันเพี้ยนไปแล้ว
หรือถึงผิดไปเยอะแยะ อาตมา นำกลับมา มันก็เลยค้าน ไม่ว่าจะเป็นจารีต ประเพณี
วัฒนธรรม เป็นเรื่องที่ยึดถือ กันมาแล้ว มันมาแผกแปลก แตกต่าง ที่เขายึดถือกันไป
มันก็เป็นอุปสรรค
นิสิตหญิง :
พระอาจารย์คะ ปัญหาที่ท่านว่าน่ะค่ะ วิธีการที่จะแก้ปัญหาตรงนี้น่ะค่ะ
พ่อท่าน : ปัญหาจะแก้ไขได้
ไม่ใช่ที่อาตมา เพราะอาตมาไม่มีปัญหา ปัญหามันอยู่ที่ คนอื่น เขามาถืออาตมา
อาตมาก็พากเพียร ทำความจริง ให้ปรากฏเท่านั้นเอง ส่วนปัญหานั้น เขาจะคลาย
หรือไม่คลาย เขาจะเอาตาย หรือไม่เอาตาย ก็อยู่ที่เขาเท่านั้น
นิสิตหญิง :
อยากจะให้ท่านเสนอความคิดเห็นว่า เราควรจะมีวิธีทำอย่างไร ที่ว่า จะให้พวกเรา
ปฏิบัติ หรือ ให้เข้าถึงแก่น ของพระพุทธศาสนา ได้ดีกว่านี้ หรือตื่นตัว แล้วหันมาปฏิบัติ
แบบชาวพุทธจริงๆ
พ่อท่าน : เอ้า
ฟังดีดีนะ ทำอย่างอาตมา ถ้าใครทำดีกว่าอาตมานี้ บอกด้วย เพราะอาตมา ทำไม่หย่อนข้อ
อาตมาทำอย่างดีที่สุดแล้ว แล้วอาตมาอยากรู้ว่า ทำดีกว่าอาตมา ทำที่ไหน อย่างไร
ก็อยากรู้ บอกด้วย แล้วอาตมา จะได้พาพวกเรา ไปทำอย่างนั้นด้วย
นิสิตหญิง :
พระคุณท่านคะ ถ้าเผื่อว่าผู้ที่เป็นโรคเอดส์ ทางนี้ยินดีที่จะรับไหมคะ
พ่อท่าน : ไม่
ผู้ที่เป็นเอดส์ หรือผู้เป็นคนเสียสติ หรือว่านักโทษอะไรพวกนี้เนี่ย
ขออภัยเถอะ เราไม่ได้ทำงาน ระดับนี้ เรากำลังสร้างคน ไปเป็นตัวแทน ของพระพุทธเจ้า
ของศาสนาพุทธ เพราะฉะนั้น เราจึงคัด เอาชั้นคนที่มีภูมิพอ เพื่อที่จะให้คนนั้นไปทำ
เรายังไม่ถึงระดับ ที่จะไปช่วยส่วนนั้น อาตมาทำ จากยอด มาหาล่าง เพราะฉะนั้น
คัดคนที่จะมา เป็นผู้นำ หรือ ผู้ที่จะเอามา ทำงานศาสนา เป็นคนที่จะต้อง แข็งแรงจริงๆ
ที่พวกคุณว่า รั้วที่นี่แข็ง นั่นแหละใช่ เพราะต้อง กลั่นกรอง เอาส่วนนี้มาก่อน
เพราะในส่วนนั้น คนอื่น เขาทำอยู่แล้ว เราไม่ไปแย่ง เราคิดว่า เราไม่มีเวลาพอ
ที่จะไปทำตรงนั้น อันนี้เรารู้ฐานะ ของเราดีว่า ทำอย่างนั้น เราไม่มีเวลาพอ
ที่จะไปเลี้ยงคนได้ เราก็ตายกันพอดี เราไม่มีเวลา
ก่อนจากนิสิตทั้งหมด ขอถ่ายภาพร่วมกับพ่อท่าน
และทาบทาม หากทางมหาจุฬาฯ จะนิมนต์พ่อท่าน ไปบรรยาย โดยมีพระนิสิต ร่วมฟังด้วยจะได้ไหม
"หากสนใจ ต้องการความรู้ก็ได้ แต่ถ้าจะให้ไปเถียงกัน
ก็คงไม่ไหว อาตมาเมื่อย....." พ่อท่านกล่าว
กระบวนทัศน์ และการจัดการกับความยากจน
๒๐ มิ.ย.๔๕ ที่สันติอโศก น.ส.อรศรี
งามวิทยาพงศ์ อาจารย์ประจำ สำนักบัณฑิต อาสาสมัคร ม.ธ. นักศึกษา ปริญญาเอก
สาขาการบริการสังคม คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ กำลังทำ วิทยานิพนธ์
เรื่องกระบวนทัศน์ และการจัดการ กับความยากจน ในชนบทของรัฐ
ศึกษาในช่วง แผนพัฒนา เศรษฐกิจ และ สังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑-๘ (พ.ศ.๒๕๐๔-๒๕๔๐)
ได้มาสนทนา สัมภาษณ์ พ่อท่าน ใช้เวลาเกือบ ๓ ชั่วโมง จากบางส่วน ของการสนทนา
ดังนี้
"...กระบวนทัศน์หลัก
หรือว่าแนวคิด หรือทิฐิหลักที่รัฐใช้อยู่ ณ ขณะนี้นี่ มันไม่สามารถ แก้ไขปัญหา
ความยากจน หรือ พัฒนามนุษย์ได้ ก็เลยสนใจว่า มันมีกระบวนทัศน์ หรือ ทิฐิทางอื่นไหม
ที่เป็นแนวคิด ที่สามารถ เอามาแก้ไข ปัญหาความยากจน ของมนุษย์ แล้วก็ของ
สังคมโดยรวมได้ ก็สนใจแนวคิด ของทาง สันติอโศก ได้ไปดูงานที่ ราชธานีอโศก
แล้วก็ได้คุย แนวคิดด้วย จึงคิดว่า ถ้าได้มีโอกาสคุย กับท่าน สมณะโดยตรง
จะได้ประโยชน์ ตามแนว คำถามน่ะค่ะ ไม่ทราบว่า ทางส่วนของ กระบวนการ ชาวอโศกนี้
เราให้ความหมาย กับคำว่า "ความยากจน" อย่างไร"
คุณอรศรี บอกเล่าความเป็นมา และถามพ่อท่าน
พ่อท่าน :
คำว่า "ความยากจน" ทางรัฐหรือทางสังคม เขาก็หมายถึง จนที่ไม่มีเงินทอง
ไม่มีทรัพย์ ศฤงคาร ไม่มีอยู่มีกิน ไม่มีอะไรบริโภค เขานิยามอย่างนี้ก็ถูก
ทางด้านธรรมะนี่ มีนัยสำคัญ ตรงที่ว่า คนนี่จิตใจ ไปนิยมความรวย มันได้บำเรอกิเลส
อาศัยความร่ำรวย มีข้าวของ เครื่องใช้ บำเรอความสะดวก แต่ศาสนานี่ มาหัดเรียนรู้ลึกเข้าไป
ตรงที่ว่า มันเป็นอุปาทาน แล้วเราก็ไป หลงติด ถือว่าเป็นความสุข
ไปโปรแกรมเอาไว้ พระพุทธเจ้าบอกว่า ไม่ใช่ อันนี้ ลบโปรแกรมได้ ลบความเข้าใจผิด
อันนี้ได้ มันเป็นกิเลส เป็นอุปาทาน แล้วมันก็เกิดเป็นตัณหา เล่นงานมนุษย์
พระพุทธเจ้า ท่านมาศึกษาค้นพบจริงๆว่า สิ่งพวกนี้ มันไม่ใช่ ของเที่ยงแท้
ไม่มีตัวตน อนัตตา จับตัวนี้ได้แล้ว ก็ล้าง จนจางคลาย ดับ ตายสนิทไม่มีเลย
ถึงเห็นว่า อ๋อ มันไม่มีก็ได้ สบายดีด้วยซ้ำ ชีวิตไม่ต้องมีกิเลส ไม่มีตัณหา
ไม่มีสิ่งที่ไปหลงผิด โปรแกรมผิด คนต้องรวย คนต้องมี ไอ้โน่นไอ้นี่ มาบำเรออารมณ์
ไม่ต้องนี่ โอ้ยอดเยี่ยมกว่า แล้วจะเป็นคน มีประโยชน์คุณค่า ท่านก็เอาความรู้นี้
มาเผยแพร่ ให้มนุษย์เรียนรู้ แล้วก็พิสูจน์ เห็นจริง ตามมาได้ทีละคน สองคน
ห้าคน รวมกันเป็นกลุ่ม เป็นสังคมเข้า คนที่มีจิตแบบ ที่ไม่มีกิเลส ตัณหา
อุปาทาน หรือ มีน้อยก็ตาม รู้ทิศทางนี้ ชัดเจนแล้ว ทุกคนก็มาพากเพียร ลดอันนี้
จริงๆเอง แล้วคนที่ลดได้ ก็เกิดเป็นพฤติกรรมใหม่ มีความเห็น อย่างนี้ มีความเชื่ออย่างนี้
เป็นนวัตกรรมมนุษย์ เป็นสังคมใหม่ เป็นสังคม ที่ไม่มีความโลภ ความโกรธ ความหลง
หรือ มีน้อยลง หรือ แม้มีอยู่ ก็ตั้งใจที่จะลด เรามีทฤษฎีของพระพุทธเจ้า
ที่พาให้ลดด้วย เป็นคนที่ เข้าใจว่า เป็นคนจนประเสริฐกว่าคนรวย
มีปัญญารู้อย่างนี้จริงๆ เชื่ออย่างนี้ แล้วทำตน เป็นคนอย่างนี้ อย่างมีความสุข
เบิกบาน ร่าเริง เต็มใจ ก็เกิดเป็นพฤติกรรมใหม่ เป็น innovation
ของสังคมใหม่ขึ้นมา
คนเหล่านี้ก็จะสร้างพฤติกรรม
สร้างกิจกรรม สร้างพิธีกรรม ขึ้นมาใหม่ อาจจะทำ กสิกรรมเหมือนกัน แต่วิธีแชร์ผลผลิต
ไม่เหมือนกัน หรือ ขายไม่เหมือนกัน ธุรกิจ ก็เป็นธุรกิจ แบบใหม่ขึ้นมา แม้แต่ในสังคม
ที่อยู่รวมกัน ก็เป็นสังคมที่ไม่เหมือนกัน เป็นสังคมคนจน เพราะทุกคน
ไม่สะสม ทำไมไม่สะสม เพราะทุกคนมั่นใจ ในตัวเอง มั่นใจว่า ตัวเองนี่มีทรัพย์
ทรัพย์ไม่ใช่เงินทอง ไม่ใช่อะไร ที่เป็นวัตถุโลก ทรัพย์คือ
สมรรถนะกับความขยัน คนทุกคนจนได้ มันเป็นระบบใหม่ มันเป็นสังคมแบบใหม่
ไม่ใช่ คอมมิวนิสต์ ไม่ใช่สังคมนิยม ขอยืนยันว่า ประชาธิปไตยพิเศษ ที่อิสระเสรีภาพจริง
ประชาชนเป็นอำนาจ ประชาชน เป็นผู้สร้าง ผู้สรร จะเป็นคนจนจริงๆ จนอย่างเป็นสุข
จนอย่างมีสมรรถนะ จนอย่างเบิกบาน ร่าเริง สร้างสรร ขยันเพียรทำงาน เจ็บป่วยก็อยู่อย่าง
สาธารณโภคี ส่วนกลางก็รักษาดูแล แม้แต่ข้าวน้ำ คือกินใช้ อยู่ส่วนกลางหมด
ในระบบของสังคมนี่ จะมีรายได้ เข้ามาส่วนกลางหมด บางคน ก็ไม่ไหว ไม่มีส่วนตัวเลยไม่ได้
เอ้าก็มีบ้าง มีส่วนได้ของตัวเองบ้าง แต่ก็รู้ดีว่า ถ้าเราเอามากนี้ เราเป็นคนไม่ดี
ถ้าเราเอาน้อย ดี เอาน้อยได้เท่าไหร่ยิ่งดี ไม่เอาเลยนั่นแหละดีกว่า
เขาจะเข้าใจ ทิศทางนี้อย่างชัดเจน เพราะเราเต็มใจจะจน
เรารู้ว่าความจนนี่ เป็นเศรษฐศาสตร์อย่างยิ่ง เป็นเศรษฐศาสตร์ชั้นสูง
คนมาจนนี่ เป็นผู้ช่วยสังคมช่วยโลก คุณมารวย ตั้งใจจะพยายาม ที่จะทำให้ตนเองรวยนี่
คือคนผลาญโลก คือคน กำลังทำ ให้สังคมโลก เดือดร้อนอยู่ ตลอดเวลา เพราะทุกคน
ก็จะต้องกอบโกย ทุกคนก็จะต้อง หาทาง เอาเปรียบ เอารัด ระบบทุนนิยม จึงเป็นระบบ
ที่เลวร้ายที่สุด ระบบบุญนิยม ที่อาตมาเรียกนี้ เป็นระบบที่ จะต้องสละออก
สละจริงๆ ไม่ใช่เลศเล่ห์ อย่างทุนนิยม ที่แหม ทำเป็นลดราคา แล้วตลบหลัง คุณหมด
สายป่าน นี่สละให้จริงๆ โดยเห็นว่า การให้คนอื่นนี้
คือคุณค่าของเรา การเอาของคนอื่น มาให้แก่ตัวเองนี่ คือ ความเลวของเรา
อรศรี : ทางขบวนการอโศก
เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนนี้ มีศักยภาพเท่ากัน ในการที่จะเข้าถึง บุญนิยม ไหมคะ
หรือว่าเข้าถึงได้ แต่ไม่เท่ากัน
พ่อท่าน : อันนี้ต้องยอมรับความจริง
พวกมหายานนี่ เพ้อฝันว่า ทุกคนมีพุทธะ อยู่ในตัว นี้เป็นความหลงผิด พระพุทธเจ้าท่านสอนถึงบารมี
ถึงกรรมวิบาก บางคน ชาตินี้ทั้งชาติ คุณก็ไม่ได้ แต่ต้องพากเพียรเอา แล้วคุณถึงจะได้
สั่งสมไปได้เรื่อยๆ จนกว่า จะเป็นเวไนยสัตว์ ที่จะรับรู้ โลกุตรธรรมได้ ไม่เท่าเทียมกันหรอก
ไม่เท่าเทียมนี้ ไม่ได้หมายความว่า ศักดินา ของสังคม ไม่เท่าเทียมตามกรรมวิบาก
ไม่เท่าเทียม ตามที่คุณ นี่แหละ สั่งสมมา แต่ชาติไหนๆ ศาสนาพุทธนี้สอน
คนมีวัฏสงสารหมุนเวียน เกิดแล้วเกิดอีก ไม่รู้กี่ชาติกี่ปาง ถ้าคุณมี บารมีเพียงพอ
มีบุญบารมี ในทางโลกุตระ เพียงพอ คุณเกิดมาชาตินี้ คุณก็รับได้ ถ้าคุณ
ยังไม่มี โดยเฉพาะมีแต่ ไอ้กิเลสตัณหา อุปาทานหนาๆ คุณต้องมาสะสมบุญ ขึ้นมาเรื่อยๆ
คนมาเกิด หน้าตา เหมือนกัน ดีไม่ดี มีโลกียกุศล เยอะด้วย อาจจะร่ำรวย เฉลียวฉลาด
แต่ก็ปทปรมะ ปทปรมะ แปลว่า
ฉลาด ศึกษาพุทธพจน์ก็ได้มาก จำไว้ได้ก็มาก สอนคนแจ้วๆ แต่ไม่บรรลุธรรมเลย
ในชาตินี้ ปทปรมะ พระพุทธเจ้า ไม่ได้ขยายความว่า เป็นคนโง่ คนอวิชชา
คนอวิชชานี่ แปลว่า ฉลาดนะ แต่ไม่มีภูมิทางโลกุตรธรรม ศาสนาพุทธนี่ ทวนกระแส
มันเหนือธรรมชาติ มันไม่ใช่สามัญ
อรศรี : ถ้าเขาเกิดชาตินี้เป็นคนจนน่ะค่ะ
แล้วก็มีความเชื่อว่า เป็นเรื่องของ อดีตชาตินี่ เขาควรจะมีท่าที ต่อการใช้ชีวิต
ในปัจจุบันอย่างไร
พ่อท่าน : ต้องมาเรียนรู้
ต้องมาศึกษาตัวเอง คือโลกนี่มันหลอกเรา เกิดมานี่โลก เขาบอกว่า ต้องรวย คนรวยนี้แหละดี
คนจนไม่ดี นี้เป็นโลกโลกียะมันมอมเมา คนที่รู้จัก สัจธรรมแล้วว่า ความจนดีกว่า
เขาก็เต็มใจจน ผู้นั้นถ้ามีบารมีแล้วจริง ก็จะมาจนต่อ แม้มีก็จะสละออกทิ้ง
แล้ว ก็สละง่าย เพราะมีมวล บารมี มีความสามารถ ในการเสียสละ ได้แล้วจริง
อย่างพระพุทธเจ้า อย่างนี้ เดินออกเฉยๆเลย ทรัพย์ ศฤงคาร ท่านไม่ได้แยแส
ไม่ได้ง้ออะไรเลย เดินออกมา ใส่รองเท้าทอง ท่านก็ออกมาเดินพระบาทเปล่า จนกระทั่ง
สิ้นพระชนม์ แล้วก็ไม่ได้ทำเล่นๆ ทำอย่างสบายๆ ทำอย่างเป็นความสุข ไม่ได้ทำมาเป็นหลอกล่อ
เสแสร้งอะไรเลย ศาสนาพุทธนี่ พระพุทธเจ้า ไม่ใช่ลูกพระเจ้า ไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์
พระพุทธเจ้าก็คือ คนคนหนึ่ง เหมือนกันกับ คนทุกคน แต่ท่านมาปฏิบัติ สั่งสมกรรมวิบาก
ทุกชาติๆ จนกระทั่ง ได้สิ่งที่จริง เป็นบุญบารมี ที่แท้จริง เพราะฉะนั้น
จึงยิ่งรวย เกิดมาจะมีเอง ซึ่งเรามองไม่ออก มันเป็นอจินไตย เป็นเรื่อง ที่คิดไม่ออก
เกิดมาคาบช้อนเงิน ช้อนทอง เขามีบุญของเขา ทำไมคนนี้เกิดมาจน อันนี้แหละ
มันเป็น ความซับซ้อน คนจนแต่มีบุญบารมี จนเขาก็ไม่ทุกข์ จนเขาก็ทำมาหาได้
หรือจน เขาก็สามารถ ที่จะมีมา ทยอยมาๆ แล้วเขาก็สละออกอีก อจินไตย หรือว่า
สิ่งที่คิดไม่ถึง เป็นเรื่อง ที่คิดไม่ไหว พระพุทธเจ้าเอง ก็ไม่รู้จะตรัสอย่างไร
เพราะมันเป็นเรื่อง ที่ซับซ้อน ลึกซึ้งมาก
อรศรี : การที่จำนวนคนจนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
เป็นเพราะว่าวิบากกรรมที่เกิดมาแล้วชาตินี้ก็ยังไม่แก้ คนรวยเอง ก็ไม่รู้จัก
สั่งสมบารมี ในทางที่ดี ก็เลยทำให้เกิดเป็นคนจนมากขึ้น ในแง่นั้นด้วยหรือเปล่า
พ่อท่าน : ในแง่นั้นเป็นด้วย
นั่นเป็นโลกียกุศล คนทุกวันนี้ เรียนแค่โลกียกุศล เพราะฉะนั้น ทำบุญทำทาน
ก็เป็นของเขา ชาติหน้าเกิดมา ก็มีมาก แต่ว่าเขาไม่ได้ลดกิเลส ของเขาหรอก
แม้มีมาก เขาก็ยินดีในกิเลส ที่สอนกันว่า สันโดษ คือ ยินดีในสิ่งที่ตนมีอยู่
เศรษฐีแสนล้าน เขาก็ยินดี ในของเขามีอยู่ แต่เขาไม่ให้ใคร ก็เป็นสิทธิของเขา
นี้ไม่ใช่ศาสนาพุทธ พุทธสอน ให้มามักน้อย ให้สละออก ให้รู้จัก"พอ"
แม้เหลือน้อยๆ ก็ใช้ให้พอ แต่ก็ไม่สละ ก็เอาแค่สันโดษ สอนว่า สันโดษคือพึงพอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่
ของฉัน ก็ฉันมี ก็พึงพอใจของฉัน ฉันไม่ให้ใคร ก็ใครจะทำไม สอนกันแบบนี้ เราถึงไปไม่รอด
อรศรี : ถ้าหากว่าชาตินี้เขาเกิดเป็นคนรวย
แล้วก็งกน่ะค่ะ ชาติต่อไป เขาน่าจะมีวิบากกรรม
พ่อท่าน :
แน่นอน มีๆ เป็นคนจน ไม่ใช่จนธรรมดาหรอก อาตมาบอกตอนนี้เลยว่า คนร่ำรวย ที่อยู่ใน
สังคมนี่นะ ชาติหน้าไม่ได้เกิด เป็นคนหรอก เกิดเป็นวัว เป็นควาย ใช้หนี้เขาอีก
ไม่ใช่ชาติเดียวด้วย เพราะละโมบ โลภมาก เอาเปรียบเอารัดเขา เยอะแยะ มหาศาลเลย
พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ในพระไตรปิฎก ชัดเจนว่า คนเรานี่ ตายจากความเป็นคนแล้ว
เกิดมา จะได้เป็นคนอีกนั้น หรือว่าเป็นเทวดา
หมายความว่า จะเสวยสุขนั้น น้อยกว่าน้อยนัก
ส่วนมาก ตกนรก เป็นเดรัจฉาน ถ้าเราเข้าใจว่า ในโลกปุถุชน มีมากกว่า อาริยชนใช่ไหม
เพราะฉะนั้น เมื่อตาย ปุถุชนนั่นแหละ ส่วนมากก็ตกนรก ต่อไปเรื่อยๆ
อรศรี :
มีคนจนอีกประเภทหนึ่งหรือเปล่าคะ ที่จนถูกเอารัดเอาเปรียบ คือเดิมนี้ไม่ได้จน
ก็อยู่พอมี พอกิน มีความสุขในระดับหนึ่ง เสร็จแล้ววันดี คืนดี ก็กลายเป็น
ถูกเอารัด เอาเปรียบ
พ่อท่าน :
ก็ถูกเอารัดเอาเปรียบอยู่ในระบบทุนนิยม เราก็อยู่ภายใต้ระบบ ทุนนิยม ที่เขาเอารัด
เอาเปรียบกัน นี่แหละ แต่เรารู้ เราก็จัดสรรเอา ควรจะแจกจ่าย ควรจะสะพัด
ให้ตรงไหน แก่ใครๆ เราควรจะทำ เรามีปัญญากำหนด
อรศรี : หมายถึงตัวคนจน
คนนั้นเอง หรือ
พ่อท่าน : คนจนนั่นแหละ
คนจนสะพัดได้ คนจนเสียสละ คนจนแจกจ่ายได้นี่ จริงๆ แจกจ่าย ให้คนที่ รวยกว่าด้วย
อโศกทุกวันนี้นี่ แจกจ่ายให้คนที่รวยกว่านะ ไม่ได้แจกจ่าย ให้คนที่จนกว่า
เท่าไหร่หรอก แต่มีอาจจะจนกว่าก็มี แต่ถึงอย่างไร ก็ไม่จนไปกว่า คนที่อยู่ในอโศก
ที่ไม่มีรายได้ เลยสักบาท เพราะฉะนั้น ขอทานหลายคน ยังรวยกว่าคนอโศก
อรศรี
: ถ้าพูดถึงรัฐ ในแง่ที่ว่าไม่ใช่รัฐบาล หรือตัวบุคคลนะคะ นามธรรม
คือรัฐ ซึ่งมีหน้าที่ องค์กร การจัดการ ทรัพยากร ทั้งหลายนี่ แล้วถ้ารัฐฉ้อฉล
คนจนนี่ ควรจะมี ท่าทีอย่างไรกับรัฐ
พ่อท่าน
: ก็เป็นไปตามธรรมชาติที่เป็นอยู่ทุกวันนี้นี่ พยายามต่อสู้ พยายามจะได้สิ่งที่
สมควรได้ พยายาม ที่จะไม่ให้ถูก เอารัดเอาเปรียบเกินไป ซึ่งเป็นเรื่องของธรรมชาติ
ที่มันจะต้องเป็นอยู่ ในสังคมมนุษย์ ห้ามไม่ได้ก็ต้องทำไป อาตมาไม่ต้องไปลงทุน
ลงแรงร่วมด้วย ให้เสียเวลา เสียแรงงาน เราก็มาสร้างคน อีกกลุ่มหนึ่ง เพื่อที่จะเป็นเพื่อนคนจน
นั่นแหละ อาตมา ขอพูดท้าทาย ได้เลยนะว่า ไม่มีกลุ่มคนจนกลุ่มไหน ขณะนี้นี่
จะกลุ่มสมัชชาคนจนไหนๆนี่ จนกว่า กลุ่มชาวอโศกหรอก (คงจริงค่ะ)
จริงๆ เพราะชาวอโศกนี้นะ (ไม่มีทรัพย์) ให้ส่วนกลางหมดจริงๆ
แต่ชาวอโศก มีลักษณะที่ต่างกับ (สวัสดิการ) มีสวัสดิการ
มีระบบ ที่ดีกว่า หมู่บ้านอื่น ในระบบโลกียะแล้ว ก็ทุนนิยม ต่างคนต่างแย่งชิงกันเอง
แล้วก็ไปเป็นทาส ของทุนนิยม รอบนอก ที่เขารีดนาทาเร้นคุณ ตลอดเวลา คุณไม่มาศึกษา
ทางด้านนี้ คุณก็จะเป็นอย่างนั้น ตลอดเวลา แต่ทางนี้ เราศึกษาแล้ว เราลดละแล้ว
เรามีระบบใหม่แล้ว เรามีความเป็นอยู่ ที่ใหม่แล้ว ถ้าจะพูดกัน อย่างละเอียดแล้วนี่
ในฐานะคนจน ไม่มีใครจนกว่าชาวอโศก เพราะไม่รับเงินเดือน รายได้อะไรเลย รับสวัสดิการ
ของชุมชนนี้ เท่านั้นเอง แล้วเขาก็พอ สันโดษ แปลว่า พอ
(ค่ะ) กินวันละมื้อก็พอ แล้วคน ในหมู่บ้านเรา กินวันละมื้อ เยอะแยะ
เสื้อผ้าหน้าแพรของเขามี ๓-๔ ชุด เขาก็ใส่ไปทั้งปี ขาดก็เปลี่ยน ชุดหนึ่งสองชุด
บ้านช่องเรือนชาน นอนที่ไหนก็ได้ เพราะบ้าน ของพวกเราเอง หมดเลย ไม่มีใคร
ไม่ต้องเป็น เจ้าข้าวเจ้าของ เรื่องเพชรนิล จินดาไม่เอา เพราะเขารู้แล้วว่า
เพชรนี่ ไม่ได้สำคัญกว่าเกลือ คนเราขาด เกลือตาย ขาดเพชรไม่ตาย เขารู้แล้วว่า
เป็นสิ่งมอมเมา หลอกกันในโลก เท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น คนพวกนี้ จึงมีวิถีชีวิต
ที่ต่างกับคนจน สังคมอื่น จนอย่างที่ไม่ได้ศึกษา ไม่ได้เป็นคนจนพัฒนา ทุนนิยมทำให้เขาจน
การค้าเสรีนี้ ยิ่งแย่ไปใหญ่เลยนะ เพราะเปิดโอกาส ให้นายทุน ได้เปรียบมากมาย
หนีออกจาก ระบบวงจร ของคนจนทุนนิยม มาอยู่ในวงจรของ
คนจนบุญนิยมนี้ให้ได้ แล้วก็เป็นคนจนบุญนิยม ที่จะมีคุณค่า มีประโยชน์ มีความสุขขึ้นมา
เป็นคนจนที่สร้างสรร เสียสละ
อรศรี :
ปัญหาสังคมไทยขณะนี้คือ คนโดยทั่วไป ไม่ว่าคนจนคนรวย ขาดจิตสำนึกสาธารณะ
คือ ความรู้สึก รับผิดชอบ ต่อส่วนรวม ชาวอโศกขัดเกลาอย่างไร ผ่านขบวนการ
วิถีชีวิตอย่างไร ที่ทำให้ เขารู้สึกว่า ทุกอย่างมันเป็น ของส่วนรวมหมดน่ะค่ะ
พ่อท่าน : แหมถ้าจะพูดแล้ว
อาตมาคำตอบก็เป็นยากลางบ้าน หรือเป็นยาขนานเอก ขนานเดียว ก็คือ ศึกษาธรรมะพระพุทธเจ้า
ให้ถึงขั้นปรมัตถ์ ให้ถึงขั้นโลกุตระ หรือ อย่างศีล สมาธิ ปัญญา นี่มีการศึกษา
๓ เท่านั้น ไม่มีอื่นเลย
ปิดท้ายบันทึกฉบับนี้
จากโอวาทที่พ่อท่านได้กล่าวปิดประชุมชุมชนปฐมอโศก ๑๗ มิ.ย.๔๕
ตอนนี้อะไรๆ ก็ดูดี ความก้าวหน้ากำลังออกผล
ผลก็มาจากพวกเราที่สละ ได้ลดกันมา คนเรา ถ้ายัง ไม่หมดตัว หมดตน ก็ยังเสพ
อย่างน้อย ก็เสพความอยู่เฉยๆ ว่างๆ ไม่ขวนขวาย ขมีขมัน เพราะมันเบาดี มันไม่ยุ่งยากดี
เลยขาดแรงงาน ในส่วนนี้
งานข้างนอก ก็กรูเกรียวเข้ามา
คนดีจะเพิ่มก็ช้า เราจะต้องเติมคุณค่า ของแต่ละคน ให้ยิ่งขึ้น คือ ต้องเพิ่ม
ความขวนขวาย ในคนที่มีอยู่ ให้มากขึ้น
ถ้าเราได้ทั้งงาน ได้ทั้งการลดอัตตา
ลดกิเลส อาตมาก็คิดว่า มันน่าจะดี กระแส
การตอบรับ พวกเรา จากข้างนอก ก็ดีวันดีคืน
ประเทศไทยตอนนี้ ค่าของเศรษฐกิจดีขึ้น
ค่าที่พวกเราได้รับการยอมรับ ก็ดีขึ้นเช่นกัน การสะพัด การค้าขาย แบบทุนนิยมได้ดีขึ้น
ไม่ได้หมายความว่า คนระดับล่าง ได้รับ การช่วยเหลือ เพิ่มขึ้น ลดการถูก เอาเปรียบ
มากขึ้น ไม่ใช่ เศรษฐกิจที่ดีจริง ต้องขึ้นอยู่ที่ การเสียสละ ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับการได้เปรียบ
ได้ตัวเงินที่สูง ตรงนี้ไม่ใช่ ค่าวัดที่แท้จริง
แม้ว่าตัวเงิน ไม่มากขึ้น
การได้เปรียบไม่มากขึ้น แต่การกระจาย ทำให้สังคม ที่เรารับผิดชอบ อยู่ดี
มีส่วนเหลือ ส่วนเกิน ตัวเลขในการสะสม จะมีไม่มากก็ตาม แต่เรามีแรงงาน มีผลผลิต
ที่มากขึ้น แล้วก็หมุนเวียน ใช้จ่ายได้ทั่วถึง เกิดการไม่แก่งแย่ง เอาเปรียบ
แล้วส่วนเกินนั้น เราสะพัดออกไป ให้ข้างนอก เขาได้ยิ่งขึ้นๆ อันนั้นเรียกว่า
เศรษฐกิจที่ดีจริง สมบูรณ์จริง จะกลุ่มเล็ก กลุ่มใหญ่ก็ตาม ประเทศเล็ก ประเทศใหญ่
ก็ตาม ถ้าทำได้อย่างนี้ นั่นคือ สภาพเศรษฐกิจ ที่ดีจริง
เพราะฉะนั้น เราต้องมาฝึกฝน
สัจธรรมข้อนี้ คือเศรษฐกิจที่ถูกต้องที่แท้จริงให้ได้
อาตมา มาปลุกเร้า มาเข็นพวกคุณ
ให้ขยัน ขวนขวายเพิ่มขึ้น เพื่อที่จะได้เติม สร้างสรร สิ่งที่เป็นสาระ สร้างแล้วเราก็สะพัดออกไปให้คนอื่น
ได้ราคาถูกๆลง กระจายไปให้แก่คนอื่น ได้มากขึ้น เราทำอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น
ถ้าเรามาเติมแรงงาน มีผลผลิตขึ้นมา ให้มากขึ้น สิ่งนั้น ก็เกิดตามแน่นอน
เราไม่ได้ใช้ เล่ห์เหลี่ยมอะไร
เมื่อเกิดตาม ก็เป็นการขยายผลสิ่งที่เป็นสัจจะของเรา
โตขึ้น และดีขึ้น คนอื่นก็จะเห็น ได้ชัดขึ้น เพราะคนนั้น จะเป็นผลดี ทั้งโดยตรง
โดยอ้อม ทั้งหมดเลย เราจะเป็นตัวอย่าง ของมนุษยชาติ จริงๆ ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ
ได้มาแค่นี้ ก็ดีแล้ว อะไรบกพร่อง ก็ดูแลปรับปรุง ระมัดระวังกัน
อาตมาก็ขอบคุณทุกคน ที่ได้ขวนขวาย
ก็ยินดีต้อนรับ ผู้ที่มาใหม่ๆ ที่จะเข้ามาช่วยกัน รังสรรค์ ก็ตั้งอก ตั้งใจดีๆ
เพื่อที่จะทำประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน อันจะเป็นเรื่องของ มนุษยชาติ เพราะอโศกนี้
เพื่อมวลมนุษยชาติจริงๆ ไม่ใช่เรื่องเล่นๆหรอก
ก็ขอให้ทุกคน มีกำลังใจ
และตั้งอกตั้งใจให้ดีๆ พากเพียรขึ้น เรื่องของสุขภาพ เราก็จะมี แหล่งดูแล
สุขภาพด้วย
ถ้าสุขภาพก็ดีด้วย และทุกสิ่งทุกอย่างก็ดีด้วย
โดยเฉพาะสุขภาพใจ ถ้าใจเป็นต้นทุน เรื่องอื่นๆ ก็ไม่ค่อย เท่าไหร่ อาตมายังหวังอยู่ว่า
ชาวอโศก จะอายุยืนต่อไป ถ้าชาวอโศกอายุยืน มากๆ ขึ้น กินเนสบุ๊คส์ คงต้องมาบันทึกที่นี่
พวกเราไม่กินสารพิษ และไม่กินมาก
จนล้นเกิน กินได้สัดส่วน คนกินมาก จะตายไว ดูแล เรื่องอารมณ์ อาหาร การออกกำลังกายของเราให้ดีๆ
เมื่อเรามีอิทธิบาท ในสิ่งเหล่านี้ ก็สมบูรณ์
ก็ขอให้ทุกคนสมใจ ตามที่ควรจะเป็นว่ามันดีอะไร
เอาหมด
* อนุจร
๕ ส.ค.๔๕
(สารอโศก
อันดับที่ ๒๕๑ สิงหาคม ๒๕๔๕)
|